เคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกับเด็กพิการด้านการเคลื่อนไหวและ Zy Movement Foundation

ตามสถิติที่ วอลเตอร์ ลี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Zy Movement Foundation บอกกับเรา ในประเทศไทยมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหวกว่า 450,000 คน และในอาเซียนมีถึงสิบล้านคน

ฟังดูเป็นตัวเลขที่มากเอาการ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาส่วนใหญ่เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวมาแต่กำเนิด คำถามที่เรานึกขึ้นมาทันทีคือ ‘เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อ? คนรอบตัวทำอะไรได้บ้าง? มีหนทางการเยียวยาไหม? และคนอื่นมองจะมองเขาด้วยสายตาอย่างไร?’

คำถามทั้ง 4 ข้อนี้คือสิ่งที่ Zy Movement Foundation พยายามตอบเสมอมา

Zy Movement Foundation คือมูลนิธิที่จัดตั้งโดย วอลเตอร์ ลี เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มูลนิธินี้เกิดขึ้นเพื่อ 4 จุดประสงค์ คือเน้นให้ความช่วยเหลือเด็กที่พิการด้านการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือครอบครัวของเด็กให้เข้าใจสภาวะที่กำลังเจอ สนับสนุนองค์ความรู้ทางการแพทย์ในการรักษา และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อคนพิการในสังคม

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา Zy Movement Foundation เดินไปข้างหน้าเคียงข้างเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด กิจกรรมรวมถึงผลกระทบที่พวกเขาสร้างได้จุดประกายและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับหลายคน จนเราอยากพาทุกคนกลับไปดูก้าวแรกของ Zy Movement Foundation ที่เราอาจพูดได้ว่านี่คือก้าวแรกของวอลเตอร์และลูกของเขาที่ชื่อว่า ‘น้องซาย’

จุดกำเนิดก่อนก้าวแรกที่มีความหมาย

ถ้ามองดูชายตรงหน้า หลายคนอาจจะคุ้นหน้า วอลเตอร์ ลี อยู่บ้างจากบทบาทการเป็นพิธีกรรายการอาหารในช่อง iTV เมื่อหลายปีก่อน วอลเตอร์เป็นคนมาเลเซียแต่มาใช้ชีวิตและมีครอบครัวที่เมืองไทย วอลเตอร์มีลูกน้อยน่ารัก 3 คน เรื่องราวของ Zy Movement Foundation เกิดขึ้นเพราะลูกคนที่สามของเขานั่นเอง

เสาร์ที่ 30 กันยายน ปี 2006 คือวันที่เด็กชายซาย ลี ลืมตาขึ้นมาดูโลกครั้งแรก ครอบครัวลีต้อนรับการมาถึงของเด็กน้อยคนนี้อย่างดีเยี่ยม ตัววอลเตอร์เองไม่ได้คิดว่าจะมีสิ่งใดผิดปกติจนเมื่อเขาเห็นน้องซายครั้งแรก เขาถึงรับรู้ได้ทันทีว่าชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

“น้องซายเกิดมาพร้อมแขนซ้ายที่สมบูรณ์เพียงข้างเดียว ส่วนแขนขวามีเพียงครึ่งแขน เขาไม่มีขาขวาแต่มีขาซ้ายซึ่งผิดรูปออกไปพร้อมกับมีนิ้วเพียง 3 นิ้ว และมีปัญหาข้อต่อสะโพกหลุดออกจากเบ้า นอกจากนั้นแล้วเขาน่ารักเหมือนเด็กทั่วไป แต่พอเห็นลูกเป็นแบบนี้มันช็อกจนไม่รู้จะช็อกยังไงเลย มันเหมือนโลกแตก พูดไม่ออก ผมร้องไห้หลังจากหมออธิบายอาการอยู่ประมาณ 10 นาทีได้ ผมรู้ตั้งแต่วินาทีนั้นเลยว่าชีวิตครอบครัวผมกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว” วอลเตอร์ย้อนความหลังให้เราฟัง

หลังจากจุดเปลี่ยนในชีวิตวันนั้น วอลเตอร์รู้ตัวว่าความเข้มแข็งจากคนเป็นพ่อเป็นแม่คือสิ่งที่จำเป็นมากในเวลานั้น ทั้งวอลเตอร์และภรรยาผ่านจุดเปลี่ยนนี้ไปอย่างลำบากท่ามกลางการปรับตัวที่มากมายเหลือเกิน แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง 3 เดือนหลังจากน้องซายเกิด เขาก็ได้เริ่มก้าวใหม่ของครอบครัวที่คราวนี้เขาขอกำหนดมันด้วยตัวเอง

“ในตอนนั้นผมจำเป็นต้องเข้มแข็ง ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ภรรยาผมอาจต้องใช้เวลาที่มากกว่า จนประมาณ 3 เดือนผ่านไป อยู่ๆ เขาก็เดินมาบอกผมว่าต่อจากนี้เขาจะไม่ร้องไห้แล้ว เขารู้แล้วว่าจะต้องทำอะไร สิ่งนั้นคือการให้ผมนำทางและซัพพอร์ตผมด้วยความเข้มแข็ง วินาทีนั้นผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะเดินต่อเพื่อรักษาน้องซายอย่างเต็มตัว”

“ผมคิดเพียงอย่างเดียวว่าตอนอยู่ในท้อง ผมไม่สามารถให้น้องซายได้ครบ 32 แต่ตอนนี้ที่น้องซายเกิดขึ้นมาแล้ว ผมไม่สามารถให้เขามีชีวิตบนรถเข็นไปตลอดได้เพราะผมคิดว่ามันเป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผมต้องทำให้เขามีสิทธิในการลุกขึ้นมาเดินหรือคุยในระดับสายตาเดียวกับคนทั่วโลก นี่คือสิ่งที่ผมให้เขาได้และต้องทำให้ได้ด้วย” วอลเตอร์ย้ำถึงความทรงจำในอดีตด้วยถ้อยคำหนักแน่น

อดีตที่นำมาสู่ปัจจุบัน

ก้าวแรกของเด็กชายและ Zy Movement Foundation

“รวมแล้วกว่า 20 ประเทศ ร้อยกว่าโรงพยาบาลที่ผมพาน้องซายไป แต่ละที่ก็พูดคล้ายๆ กันคือโอกาสที่น้องซายจะลุกขึ้นมาเดินเองได้นั้นน้อยมาก ทุกคนต่างแนะนำให้น้องซายเติบโตผ่านการใช้ชีวิตบนรถเข็น ซึ่งฟังมากี่ร้อยรอบยังไง ผมก็ไม่โอเค”

2 ปีแรกหลังจากน้องซายเกิด วอลเตอร์ใช้เวลารีเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวจำนวนมาก ที่ไหนที่เขาเห็นว่ามีโอกาสที่จะรักษาให้น้องซายเติบโตเป็นเด็กที่สามารถเดินเองได้ เขาเดินทางไปทุกหนแห่งบนโลก แต่ความพยายามกว่าร้อยครั้งนั้นก็มักจะมาพร้อมความล้มเหลว โอกาสสำเร็จในการรักษาที่หมอบอกไม่เคยเกิน 40 เปอร์เซ็นต์

การเดินทางอันยาวนานของเขามาจบลงที่ประเทศเยอรมนี

“ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี โดดเด่นมากเรื่องการรักษาด้านกระดูกและกล้ามเนื้อเด็ก ผมพาน้องซายไปเจอศาสตราจารย์ที่บอกกับผมว่าเขาสามารถรักษาให้น้องซายสามารถลุกขึ้นมาเดินได้ด้วยตัวเองในอนาคตโดยมีโอกาสสำเร็จ 80 เปอร์เซ็นต์”

“หลังจากดูเคสการรักษาในอดีตของเขา ผมรู้สึกทันทีว่าอาจจะเป็นคนนี้แหละ เราคุยรายละเอียดและพบว่ามีโอกาสสำเร็จ สุดท้ายก็มาถึงจุดที่ผมต้องตัดสินใจ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากเหมือนกันเพราะด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคิด ทั้งเรื่องเวลา โอกาสที่จะล้มเหลว หรือค่าใช้จ่าย ตอนนั้นผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าความสุขในครอบครัวคืออะไร ผมให้คำตอบว่าความสุขในครอบครัวอาจถูกกำหนดโดยคนที่มีความสุขน้อยที่สุดมั้ง ถ้าทุกคนในครอบครัวเดินแล้วน้องซายต้องนั่งรถเข็น ผมรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ใช่ สุดท้ายเลยตัดสินใจว่าเอาวะ ลุย เริ่มการรักษาได้เลย”

การรักษาที่เป็นก้าวแรกของ Zy Movement Foundation

ทำไมต้องช่วยแค่หนึ่ง ในเมื่อเราช่วยได้ถึงสิบล้าน

หลังจากเริ่มต้นการรักษา เม็ดเงินและเวลาที่วอลเตอร์ต้องแลกเพื่อรักษาน้องซาย บวกกับการรีเสิร์ชเรื่องเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวที่เขาทำตลอดมาและพบว่าในอาเซียนมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหวกว่า 10 ล้านคน ตัวเลขนี้เองที่ทำให้สุดท้ายความคิดที่จะก่อตั้งมูลนิธิเกิดขึ้น

”ผมตั้งคำถามว่าในเมื่อผมต้องทุ่มเทหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือน้องซายแล้ว ทำไมผมไม่เอาสิ่งที่ได้มาช่วยเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวที่ขาดการรักษาคนอื่นด้วยล่ะ ดังนั้นช่วงก่อนไปเยอรมนี ผมเลยติดต่อไปที่โรงพยาบาลหรือพรรคการเมืองหลายแห่งมาก อย่างน้อยให้เขาพาหมอหรือใครสักคนไปรักษาน้องซายกับผมก็ได้ เพราะเขาจะได้นำความรู้เหล่านั้นกลับมาที่ประเทศเพื่อรักษาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวที่ประเทศเรา แต่วันที่ผมไปถึงเมืองไฮเดลเบิร์ก ปรากฏว่าไม่มีใครตามผมมาเลย มีแค่ผม ภรรยา และน้องซาย ตอนนั้นผมคิดว่าในเมื่อไม่มีใครมา ผมจะเก็บข้อมูลทั้งหมดด้วยตัวเอง” วอลเตอร์เล่าให้เราฟัง

ในการรักษาน้องซายที่โรงพยาบาลไฮเดลเบิร์กทุกครั้ง วอลเตอร์จะหยิบกล้องวิดีโอมาบันทึกภาพวิธีรักษาทั้งหมดไว้เสมอ หลังจากจบการรักษาครั้งแรก วอลเตอร์กลับมาไทยพร้อมฟุตเทจที่มีความยาวหลายชั่วโมง เขาเองไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนชีวิตของเด็กผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในประเทศไทยไปตลอดกาล

“มีหมอจากหลายที่ติดต่อมา พวกเขาอยากรู้ว่ามันมหัศจรรย์ขนาดไหนเพราะการรักษาที่เยอรมนีไม่ใช้การผ่าตัดอะไรเลย แต่เป็นการฝึกน้องซายให้ใช้ชีวิตกับแขนขาเทียมไปพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตในช่วงวัยจนน้องซายลุกขึ้นมายืนได้อย่างอัศจรรย์”

“สิ่งนี้แหละคือจุดกำเนิดของมูลนิธิ เพราะผมอยากส่งต่อความรู้นี้ ผมเหนื่อยให้น้องซายแล้ว อย่างน้อยให้ความเหนื่อยของผมช่วยคนอีกสิบล้านคนได้ไหม Zy Movement Foundation จึงเกิดขึ้นมา” วอลเตอร์ย้อนความหลัง

Zy Movement Foundation เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วมาก นับตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อ 8 ปีที่แล้ว พวกเขาทำกิจกรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเรื่อยมา วอลเตอร์เล่าให้ฟังว่าหลายสิ่งที่เขาทำล้วนสร้างผลกระทบที่ตามมามากกว่าที่คิดไว้มาก

ในแง่การแพทย์ Zy Movement Foundation ได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือทางการแพทย์กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กเพื่อส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปศึกษาวิธีการรักษาที่เยอรมนี รวมถึงการจัดประชุมทางการแพทย์เกี่ยวกับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาค วอลเตอร์บอกเราว่าปัจจุบันนี้มีแพทย์กว่าหกร้อยคนที่ได้รับการเทรนศาสตร์ความรู้ด้านนี้และยังมีวิทยาการการรักษาต่างๆ ที่ถูกนำมาต่อยอดที่ประเทศไทยอีกมากมาย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าความพยายามในเวลาไม่ถึง 10 ปีนี้ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกในการรักษาเกี่ยวกับแขนขาพิการไปแล้ว

นอกจากในเชิงการแพทย์ Zy Movement Foundation ยังทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการอีกมากมาย เช่น กิจกรรม Climb to change a life ที่นำคนปกติมาปีนเขากับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหว หรือการจัดคลาสสอนการทำอาหารที่มีทั้งเด็กพิการและเด็กปกติอยู่ในคลาสเรียนเดียวกัน กิจกรรมเหล่านี้มีแกนกลางเหมือนกันคือการให้เด็กพิการทางการเคลื่อนไหวและผู้ปกครองออกมาทำกิจกรรมพร้อมกับเด็กปกติ วิธีการนี้จะเกิดผลดีในระยาวกับตัวเด็กพิการเองและการรับรู้ของคนทั่วไปว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกแตกต่าง ซึ่งความรู้สึกนี้เองคือสิ่งที่เขาอยากให้มันหายไป

“ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เราจะเห็นคนพิการออกมาเดินเต็มไปหมดเลย แต่ถ้าเป็นบ้านเรา ปีนึงเห็นไม่ถึงสองคนเลยมั้ง ทั้งที่จริงๆ แล้วเปอร์เซ็นต์ผู้พิการก็เท่าๆ กันนั่นแหละ แต่ที่เขาไม่ออกมาเดินเพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมถึงคนไม่พิการก็มองผู้พิการว่าแปลกแยก ดังนั้นภาพที่เราอยากเห็นคือการให้สังคมนี้เท่ากันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะคนปกติหรือคนพิการ เราจะรู้สึกต่อคนๆ นั้นเท่ากัน” วอลเตอร์สรุปเกี่ยว Zy Movement Foundation ให้เราฟังด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ก้าวต่อไป พร้อมกัน … ก้าวต่อ ไปพร้อมกัน

เวลา 8 ปีกับมูลนิธิที่สร้างขึ้นมาใหม่ ต้องถือว่าพวกเขาก้าวเดินกันมาไกลมาก นอกจากกิจกรรมมากมายที่มูลนิธิทำแล้ว Zy Movement Foundation ยังเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากสื่อหลายเจ้าที่บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา

“จนถึงวันนี้เรารู้สึกว่าเรามาในทางที่ถูกต้องแล้วล่ะ เราไม่ได้ทำเพื่อหวังผลประโยชน์อะไร เราแค่เอาบทเรียนที่ได้จากน้องซายมาแบ่งปันคนกลุ่มใหญ่ขึ้น สิ่งที่ตามมามันเกิดขึ้นได้หลายอย่างนะ เพราะถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกทำได้ ลูกก็จะทำได้ ชีวิตของเด็กผู้พิการจะต้องไม่ถูกปิดบัง ขอแค่เราให้ความมั่นใจกับเขา เราเชื่อว่าทุกคนจะเซอร์ไพรส์กับสิ่งที่พวกเขาทำได้” วอลเตอร์กล่าว

“ถ้าให้หันกลับไปมองเรื่องราวตั้งแต่น้องซายเกิดขึ้นมา วอลเตอร์คิดว่าอะไรที่ทำให้เราทำมูลนิธิมาได้นานขนาดนี้” เราเอ่ยถาย

“ผมขอบคุณน้องซายเสมอนะ ผมเรียกเขาว่าศาสตราจารย์น้อยของผม เขาสอนให้ผมไม่มืดบอด ผมพบสิ่งที่สามารถทำได้ตลอดชีวิตจนหยุดหายใจ ช่วงแรกอาจมีผิดบ้าง พลาดบ้าง แต่สวดมนต์หนึ่งพันคำก็ยังไม่สู้การขยับมือแค่ครั้งเดียว ถ้าอยากถูกก็ต้องทำผิดก่อน กว่าที่มูลนิธิจะมาถึงวันนี้ผมผิดพลาดมาก็เยอะ แต่ก็ลุยหมด เอาใหม่ จนสุดท้ายมันก็ประสบความสำเร็จ ตอนนี้ผมไม่ต้องเกษียณแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าผมโชคดีนะ กลับมาคิดตอนนี้ ผมทำมาเยอะอยู่เหมือนกันจนไม่รู้ว่าผมเป็นอะไรกันแน่ (หัวเราะ) ผมไม่ได้เป็นหมอ แต่ผมก็สนับสนุนด้านการแพทย์ ผมอาจไม่ใช่คนทำมูลนิธิด้วยซ้ำ แต่ผมก็ทำเรื่อยมา”

“แต่ถ้ามีอะไรสักอย่างที่ผมเป็นเสมอมา ผมคงเป็นพ่อของน้องซายมั้ง”

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR