หนังเรื่องนี้มีชื่อว่าความทุกข์: คุยกับ วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ กับความทุกข์ที่คนเขียนบทหนังเท่านั้นที่รู้

หนังเรื่องนี้มีชื่อว่าความทุกข์: คุยกับ วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ กับความทุกข์ที่คนเขียนบทหนังเท่านั้นที่รู้

เคยสังเกตไหมว่า เวลาภาพยนตร์สักเรื่องออกมาดี ทีมงานทุกคนที่ทำหนังเรื่องนั้นมักจะได้รับเสียงชื่นชมเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท ไปจนถึงทีมโปรดักชัน

แต่เวลาหนังออกมาแย่ บทมักเป็นสิ่งที่คนดูโจมตีก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งตำหนิว่าบทหนังห่วย ไม่มีชั้นเชิง ไม่มีอะไรใหม่ คนเขียนบทขี้เกียจ ฯลฯ จนไม่น่าแปลกใจหากคนเขียนบทจะบอบช้ำทางจิตใจที่สุดในบรรดานักทำหนังทั้งมวล

คนเขียนบทหนัง ต้องทำหนังด้วยความชอกช้ำจริงหรือไม่ เรื่องดีๆ จากการเขียนบทหนังมีบ้างหรือเปล่า? a day ได้พูดคุยกับ บอลรูม-วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ มือเขียนบทที่แจ้งเกิดจากหนังเรื่อง สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า..รัก (2553) 30+ โสด On Sale (2554) ไม่เพียงแค่นั้นยังเป็นอาจารย์สอนด้านภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเขียนบท ให้กับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และเปิดเพจ อาชีพเขียนบทเท่าที่รู้ เพื่อบอกเล่าถึงประสบการณ์ด้านดีและด้านที่บอบช้ำในการทำงาน รวมถึงบอกเล่าเกร็ดความรู้น่าสนใจของงานเขียนบทที่เธอได้วิจัยศึกษาให้ได้อ่านกันด้วย

บางทีบทสัมภาษณ์นี้น่าจะทำให้ได้เข้าใจถึงมิติของการเขียนบทหนัง รวมถึงความทุกข์ของคนเขียนบทมากขึ้นว่า พวกเขาหรือเธอต้องเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง เพื่อสร้างสรรค์งานชั้นยอดออกมา ท่ามกลางความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่เคยหยุดยั้ง

คุณชอบดูหนังมาตั้งแต่ตอนไหน อยากเป็นนักเขียนบทมาตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า

ชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กเลยค่ะ แต่เรื่องการทำเป็นอาชีพ ต้องบอกว่าไม่รู้จักสายงานภาพยนตร์เลย สมัยก่อนเราไม่รู้ว่ามีงานเขียนบทหรือมีตำแหน่งอะไรให้ทำบ้าง เราแค่ชอบดูหนังแล้วก็ชอบเขียน ตอนนั้นเลยอยากเป็นนักเขียนมากกว่า

พอโตขึ้นก็เพิ่งมารู้ตอนเรียนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีวิชาเขียนบทภาพยนตร์ มีเอกภาพยนตร์ด้วย เขาทำงานอย่างนี้นี่เอง พอได้เรียนก็รู้สึกว่าโอเค เราก็เลยฝึกเขียนบทมาเรื่อยๆ และเขียนบทเป็นธีสิสจบค่ะ หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านเขียนบทที่อเมริกา

พอเรียนจบแล้ว ได้งานด้านการเขียนบทหนังเลยไหม

ตอนจบมายังไม่ได้ทำงานด้านการเขียนบทค่ะ ต้องบอกว่ามันไม่มีช่องทาง ไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไงถึงจะเข้าไปได้ เรามีเพื่อนฝึกงานทำหนังนะ แต่เหมือนอารมณ์ของเราตอนนั้นยังไม่มั่นใจในตัวเองมั้ง เราอาจเคยทำหนังสั้น ส่งประกวดหนังสั้นบ้าง รุ่นพี่ก็ถามว่า ทำไมถึงไม่ทำด้านนี้จริงจังไปเลยล่ะ แต่ก็นั่นแหละ คิดว่ามันไม่มีคอนเนกชันมากกว่าค่ะ

สมัยเรียนจบ เพื่อนที่เรียนด้วยกันย้ายไปทำงานสายโทรทัศน์กันหมดเลย ส่วนใหญ่ไปทำงานที่ Workpoint ไม่มีใครไปด้านภาพยนตร์เลย เราเองไม่รู้ช่องทางว่าจะไปเขียนบทหนังได้ยังไง ก็เลยไปทำงานสายโทรทัศน์ ช่วงแรกทำรายการชื่อ เมดอินไทยแลนด์ เป็นรายการสัมภาษณ์เจ้าของกิจการต่างๆ ของช่อง Thailand Outlook Channel ในเครือ ASTV จากนั้นก็ไปทำงานนิตยสารท่องเที่ยวภาษาอังกฤษ เพราะว่าชอบเที่ยวก็เลยไปทำ แต่พอทำได้สักพักเขาก็ปิดตัว รุ่นพี่เลยชวนไปทำงานที่ Workpoint หลังจากเคยชวนมานานแล้วแต่เรายังไม่พร้อมสักที

แล้วตอนไหนที่เข้าสู่วงการทำหนังอย่างเป็นทางการ

บังเอิญว่าตอนนั้นมีโครงการประกวดบทภาพยนตร์ จริงๆ ก่อนหน้านั้นมีการประกวดทำหนังสั้นอยู่บ้าง แต่เราไม่ได้สนใจเพราะเราไม่ได้เรื่องโปรดักชันเท่าไหร่เลย พอมีโครงการชื่อ ‘Thailand Script Project 2007’ เป็นเวทีประกวดบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครั้งแรก มีพี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร) กับ พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) เป็นโต้โผ แล้วเรามีเรื่องที่อยากทำพอดีก็เลยส่งประกวด ผลคือได้เข้ารอบ ได้เข้าร่วมอบรม ได้ลองพิทชิ่งบทครั้งแรก

ตอนนั้นได้เข้าไปถึงรอบ 15 เรื่องสุดท้าย แม้จะไม่ได้รางวัล แต่กลับเป็นเรื่องที่มีสตูดิโอติดต่อมาพูดคุยด้วยมากที่สุด

เรื่องนั้นคือ สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก ใช่ไหม

ไม่ใช่ค่ะ ตอนนั้นเป็นหนังแนว Road Movie เกี่ยวกับสึนามิ ที่เลือกทางนี้เพราะเราชอบเที่ยวก็เลยอยากเอามาทำหนัง อยากพาคนเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ของไทย เล่าเรื่องราวของ 2 พี่น้องที่ไม่ถูกกันแล้วต้องเดินทางไปด้วยกัน จนไปเจอสึนามิที่เกาะพีพี เท่าที่รู้มาคือพี่อุ๋ยเป็นคนเลือกเรื่องนี้ เลยได้เข้าไปพิทช์บทกับพี่อุ๋ยเป็นคนแรก

หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ ก็มีผู้กำกับคนหนึ่งชวนไปเขียนบท เขาอยากทำทีมบทจริงจังเลย จะตั้งบริษัทขึ้นมาผลิตบท ถ้าค่ายไหนสนใจอยากได้บทก็ให้มาซื้อต่อ แต่จังหวะชีวิตตอนนั้นเราเพิ่งทำงานประจำที่ Workpoint ได้เดือนเดียวเอง เพิ่งตอบตกลงรุ่นพี่ที่ชวนมาหลายครั้งแล้ว ก็คิดว่าเราจะลาออกตั้งแต่เดือนแรกเลยเหรอ ตอนนั้นรู้สึกว่าการเป็นฟรีแลนซ์มันไม่เหมาะกับเราด้วย สุดท้ายเลยไม่ได้ออก

พอย้อนกลับไปก็คิดว่าตัดสินใจถูกนะที่ไม่ลาออก เพราะถ้าไม่ได้ทำงานที่ Workpoint ก็ไม่ได้เขียนบท สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า..รัก ซึ่งกว่าจะได้เขียนก็ต้องใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะใน Workpoint ทีมหนังกับทีมละครจะแยกกันชัดเจน เราอยู่ในทีมละคร ทำซิตคอมเรื่อง รักต้องซ่อม กับ ตลก 6 ฉาก ซึ่งดีที่ได้ทำซิตคอม เพราะก่อนหน้านั้นเรามีไอเดียแต่ไม่เคยพัฒนาจนจบ การทำรายการซิตคอมจึงฝึกให้ต้องคิดพล็อตเรื่องที่จบในตอนได้เสมอ

อย่างรายการตลก 6 ฉาก ตอนนึงต้องมี 6 พล็อต 1 เดือนต้องคิดทั้งหมด 24 พล็อต ต้องคิดเยอะมาก ช่วยฝึกการคิด ฝึกเอาสถานการณ์แต่ละรูปแบบมาใช้ได้เต็มที่มากค่ะ

พอปัจจุบันได้เข้ามาทำงานนี้เต็มตัว และมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว คิดว่าวงการเขียนบทแตกต่างออกไปจากในปัจจุบันอย่างไร ยังเข้ายากอยู่ไหม

สมัยนั้นรู้สึกว่าเข้ายาก โอกาสหรือช่องทางมันจำกัด อันนี้พูดแบบทั่วๆ ไปนะ อย่างการประกวดเขียนบทต้องรอ 4 ปีถึงจะจัดสักครั้ง ประตูที่จะเปิดให้ได้ลองทำมันน้อยมาก

กว่าจะได้เขียนบท สิ่งเล็กเล็กฯ เราต้องทำงาน Workpoint 2 ปี พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ถึงชวน “บอล อยากเขียนเรื่องนี้ไหม” แต่ตอนนี้รู้สึกว่าโอกาสมันเยอะขึ้น ช่องทางที่เด็กรุ่นใหม่เรียนจบแล้วอยากเป็นคนเขียนบทเยอะกว่า เพราะตอนนี้เรามีช่องทางรับสื่อเยอะมาก นอกจากค่ายหนังที่มีอยู่แล้ว ยังมีผู้ผลิตหน้าใหม่ เช่น กลุ่มผู้สร้างซีรีส์วายที่คึกคักกันมาก เป็นช่องทางให้ได้เข้าไปทดลองหรือเริ่มต้น แล้วเขาเปิดโอกาสให้กับคนเขียนบทหน้าใหม่เยอะจริงๆ

ส่วนแพลตฟอร์มสตรีมมิง ก็มองหาคนรุ่นใหม่เยอะด้วย อย่างโครงการ Thailand Content Lab (จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ ปตท.) ไม่รับผู้สมัครที่อายุเกิน 45 ปีนะ เหมือนทุกที่อยากได้คนรุ่นใหม่ อยากได้คนเจนใหม่ที่ตรงกับกลุ่มคนดู Young Adult อายุ 18-30 ปีประมาณนี้ค่ะ แต่อีกมุมหนึ่งก็รู้สึกว่าคนรุ่นเรา ก็จะเป็นวัยที่กำลังโอเคเลย กำลังมีประสบการณ์เพียงพอ เป็นที่ต้องการของแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาใหม่ๆ เช่นกัน

เพราะเหตุนี้คุณถึงเคยให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันเป็นยุคทองของคนเขียนบท ใช่ไหม

ที่บอกว่าเป็นยุคทองเพราะเปรียบเทียบกับตัวเองและคนเขียนบทรอบตัวแหละ อย่างปีที่แล้วมีคนติดต่อมาให้เขียนบทประมาณ 12-13 เรื่อง ซึ่งเท่ากับติดต่อมาเดือนละบริษัท เมื่อก่อนไม่เยอะขนาดนี้นะ หรือช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ก็มีคนติดต่อมาแล้ว 3 บริษัท แต่เราไม่สามารถทำงานเยอะขนาดนั้นได้ อย่างดีก็ได้แค่เรื่องเดียวต่อปี เลยรู้สึกว่าความต้องการคนเขียนบทของสตูดิโอมันเยอะขึ้น

และนักเขียนบทที่ทำงานเขียนบทอย่างเดียวแล้วสามารถอยู่ได้ก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ 10-15 ปี แต่ว่ามันมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น บริษัทที่เลือก ถ้ารู้ว่าบริษัทไหนจ่ายเงินเราเป็นรายเดือนได้ หรือพูดคุยตกลงเงื่อนไขกันได้ เราก็จะวางแผนถูกว่า ใน 1 ปีนี้จะทำหนัง 2 เรื่อง ทำกับที่นั่นที่นี่ เราจะอยู่ได้แบบโดยไม่ต้องมีงานประจำอย่างอื่น

แต่มันจะมีความแบบผิดแผนบางอย่าง เช่น เราคิดว่าเราทำงานให้บริษัทนี้แล้วโอเค แต่กลายเป็นว่าตลอดทั้งปียังไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว พอเป็นแบบนี้ก็จะอยู่ยากแล้ว ถ้าไม่มีงานประจำจะแย่เลย เพราะการเขียนบทหนังมันคือการทำโปรเจกต์ที่ต้องหาข้อมูล ต้องใช้เวลาอยู่กับมันนาน

ผู้กำกับระดับตำนาน อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก เคยพูดว่าสิ่งที่จะทำให้หนังดีคือ บทหนัง บทหนัง และบทหนัง ในฐานะคนเขียนบทคิดว่าสำคัญที่สุดจริงไหม แต่ถ้าไม่ เราควรจะตัดสินจากอะไรบ้าง

บทสำคัญค่ะ แต่มันไม่ได้สำคัญเพียงอย่างเดียว เพราะองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งช่วงโปรดักชัน และโพสต์โปรดักชันสำคัญพอกัน เราเคยมีประสบการณ์ตรงที่หนังเรื่องหนึ่งถูกช่วยไว้ด้วยการตัดต่อ ดังนั้นจึงมองว่าทุกอย่างมันสำคัญหมด

ต้องบอกว่าบทเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญนะ ทำให้เกิดตัวละครหรือว่าเรื่องราวที่อยู่ในเรื่อง และ Execution ต่างๆ แต่ตอนถ่ายทำก็เป็นหน้าที่ของผู้กำกับ บางทีบทเขียนมาแบบนี้ แต่ตอนถ่ายทำจริงมีเงื่อนไขแทรกซ้อน เช่น เวลาหรืองบในการถ่ายทำ ทำให้ผู้กำกับต้องเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่อง เลยกลายเป็นการแก้ปัญหาหน้ากอง ซึ่งจริงๆ งานหน้ากองมันก็สำคัญเหมือนกัน

คนเขียนบทอาจคิดเรื่องขึ้นมาคนแรก แต่เวลาทำงานจริงเคยโดนแก้งาน โดยไม่ฟังความเห็นบ้างไหม แล้วถ้าเกิดพบว่าโดนแก้จนแย่กว่าเดิม จะรับมืออย่างไร

เคยแน่นอน แต่ส่วนใหญ่เขาก็ต้องฟังความเห็นเราเพราะเขาจ้างเรามาคิดบท จากประสบการณ์ของเรานะ ตอนทำงานที่ Workpoint เขาจะให้ไปกองถ่ายด้วย เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ แล้วก็ไปนั่งในห้องตัดต่อด้วย เราจะได้เข้าใจว่าบทมันต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีการใส่อะไรไปเพิ่มบ้าง

แต่ในขั้นตอนถ่ายทำจริง มันจะมีปัจจัยมากมายทำให้ต้องปรับหรือเปลี่ยนบทเสมอ ซึ่งบางครั้งมันก็ดีกว่า บางครั้งมันก็แย่กว่า แต่ถ้าไปถึงช่วงตัดต่อแล้ว เราจะทำอะไรไม่ได้มากนอกจากทำใจ ตอนที่บทยังอยู่ในมือเรา ตอนที่เรายังมีอำนาจควบคุมมันได้ เราจึงต้องพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด

บางครั้งเราเคยไปกองถ่ายแล้วเจอผู้กำกับตีความผิด เรารู้ว่าอารมณ์ตัวละครไม่ใช่แบบนั้นแบบนี้ ตัวละครยังไม่สนิทกันขนาดนั้นในฉากนี้ ฯลฯ แต่เราก็เข้าไปแทรกแซงอะไรไม่ได้ บางที่ผู้กำกับจะคุยกับคนเขียนบทนะ จะปรึกษากันว่าถ้าทำแบบนั้นแทนโอเคไหม แต่กับผู้กำกับบางคนเราไม่สามารถไปบอกได้ มันจะเป็นการข้ามเส้น ซึ่งถ้าเจออย่างนั้นก็ต้องทำใจ

ทุกวันนี้เจอจนชินแล้วหรือยัง

ก็ยังไม่ชินนะ ทุกวันนี้เวลาคุยเรื่องบทกับผู้กำกับ ก็ยังปกป้องบทของตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่าเราทำการบ้านหรือหาข้อมูลมาแน่นแล้วกว่าจะเขียนได้แบบนี้ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่คนเขียนบททุกคนต้องเคยเจอ ตอนประชุมบทจะต้องมีไอเดียที่ไม่ตรงกัน ต้องปะทะกันเสมอ เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับบรรยากาศในการคุยมากกว่า ถ้าบรรยากาศในทีมดี เราขายไอเดียไปแต่เขาไม่ซื้อ ก็ไม่เป็นไร คิดใหม่ ไม่ติดใจอะไรเลย เราจะรู้ว่าถ้าโปรดิวเซอร์ไม่ซื้อ ผู้กำกับไม่ซื้อ หรือคนในทีมไม่ซื้อ แสดงว่าคนดูก็จะไม่ซื้อเหมือนกัน

แต่มันก็อยู่ที่เหตุผลด้วยว่า สาเหตุที่เขาซื้อหรือไม่ซื้อมันโอเคไหม และสุดท้ายทุกคนในทีมก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดกับงานชิ้นนั้น

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าขั้นตอนในการรีเสิร์ชบทเป็นอย่างไรบ้าง มีคนครหาเยอะว่าคนเขียนบทหนังไทยหรือซีรีส์ไทยไม่ค่อยทำการบ้าน ไม่ค่อยรีเสิร์ชข้อมูล ทำให้บางทีก็นำเสนอแบบผิดข้อเท็จจริง เป็นอย่างนั้นจริงไหม

อันนี้ก็เป็นปัญหาที่หลายคนเจอ ขออนุญาตพูดแบบรวมๆ นะ ตอนนี้หลายแห่งให้ค่าหาข้อมูลรวมอยู่ในค่าบท ซึ่งกว่าเราจะได้ค่าบทก็ต้องเขียนทรีตเมนต์ (Treatment – เรื่องย่ออย่างละเอียด) จบแล้ว หรือบางคนต้องเขียนบทจบไปแล้วด้วย ถ้าจะไปสัมภาษณ์เพิ่มเติม ซื้อหนังสือ หรือว่าไปสำรวจโลเคชันก็ต้องออกเงินเอง บางทีถ้าค่าบทเยอะเราก็อาจจะทำได้เต็มที่มากขึ้น แต่ถ้าเกิดค่าบทไม่ได้เยอะ แล้วยังต้องออกค่าหาข้อมูลเองอีกก็จะเริ่มคิดหนักเหมือนกัน

อีกปัจจัยคือเวลา บางเรื่องมีเวลาหาข้อมูลจำกัด ถ้ามีเวลาเต็มที่ คนเขียนบททุกคนย่อมสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้สถานการณ์หรือได้ตัวละครที่สมจริง แต่ปกติแล้วพอขายโปรเจกต์ผ่าน ทุกคนก็จะรีบเอาบท เร่งให้เขียนบทเสร็จภายใน 2-3 เดือน พอทุกอย่างเร่ง เลยทำให้นักเขียนบทไม่สามารถลงรายละเอียดเชิงลึกได้

แล้วอย่างนี้ขั้นตอนจริงๆ มันควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้บทเสร็จสมบูรณ์

จริงๆ เราต้องหาข้อมูลตั้งแต่ก่อนขายโปรเจกต์ ถ้ามีงบพัฒนาบทก็จะเริ่มคุยตั้งแต่ไอเดียได้เลยว่า จะทำเรื่องอะไร สมมติจะทำเรื่องเกี่ยวกับหมอ ก็จะได้รู้ว่าต้องหาข้อมูลตรงไหน ต้องสัมภาษณ์ใครบ้าง ต้องไปดูสถานที่จริงไหม ใช้เวลากับมันมากน้อยแค่ไหน พอมีข้อมูลเหล่านี้ตั้งแต่ขั้นพัฒนาบท พัฒนาตัวละคร ก็จะได้ตัวละครที่แข็งแรงสมจริง มีรายละเอียดที่สามารถเอามาคิดฉากคิดสถานการณ์ได้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นจะทำให้ตัวละครหรือสถานการณ์ซ้ำซาก ไม่ได้ใหม่หรือต่างจากเรื่องอื่น

แต่ที่ไทยเราไม่ค่อยมีค่าพัฒนาบท พอเราไม่มีข้อมูลอะไรเลย เราก็จะใช้ข้อมูลจากคลังเดิม จากวัตถุดิบที่เคยดูมา ซึ่งจริงๆ ในกระบวนการขายบท เราต้องคิดให้เรียบร้อยทุกอย่าง ทั้งเรื่องย่อทั้งหมด ตัวละครสำคัญๆ บางที่ต้องมีทรีตเมนต์ สมมติเขียนบทซีรีส์ความยาว 8 ตอน เราต้องมีรายละเอียดแต่ละตอนครบแล้วว่าจะเล่าอะไรบ้าง ถ้าเกิดหาข้อมูลไม่ดี มันก็จะทำให้ทรีตเมนต์ไม่แข็งแรงหรือไม่น่าสนใจพอ

อย่างแพลตฟอร์มสตรีมมิงของต่างประเทศจะมีค่าพัฒนาโปรเจกต์ (Development Budget) เขาจ่ายค่าพัฒนาบทเมื่อเขาสนใจไอเดียและเซ็นสัญญากับเราแล้ว แล้วก็จะให้เวลาในการทำ บางที่ก็เร่งนะ แต่จะมีเวลาในการทำมากกว่าของไทยอยู่ดี ส่วนเรื่องสัญญา มีค่ายที่เซ็นสัญญาด้วยแล้ว เรารู้สึกว่ามันใช้เวลาไม่นานในการทำสัญญา แต่ก็มีบางที่ที่ต้องรอเป็นปียังไม่ได้เซ็นสัญญาเลย แล้วพอไม่เซ็นสักทีเขากลับมาทวงงานเรา ก็เลยต้องยอมตัดใจ ขอไม่ทำโปรเจกต์นี้นะ ยกเว้นว่าถ้าได้เซ็นสัญญาแล้ว เราค่อยกลับมาเริ่มต้นกันอีก

เวลาไปรีเสิร์ชต้องไปหาข้อมูลกับผู้คนที่มีอาชีพหลากหลาย แตกต่างกันไป เคยเจออาชีพไหนที่แปลกที่สุด หรือเคยเจอสถานการณ์ที่ไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากผู้รู้จริงที่ไหนบ้างไหม

เคยค่ะ แต่บอกไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะเซ็นสัญญารักษาความลับไว้

คือช่วงพัฒนาโปรเจกต์ มันจะมีทั้งแบบที่คนเขียนบทเอาบท เอาโปรเจกต์ไปขาย และจะมีแบบที่โปรดิวเซอร์เป็นคนตั้งต้น เขามีเรื่องที่อยากทำอยู่แล้ว ก็มาจ้างให้เราไปอยู่ในทีมพัฒนาบท เราก็ต้องคุยว่าเขาจะทำเรื่องอะไรแล้วถึงตกลงทำงานร่วมกัน ก็จะเซ็นสัญญารักษาความลับว่า ข้อมูลทุกอย่างห้ามเผยแพร่

จริงๆ เรื่องของทุกอาชีพ เราสามารถหาข้อมูลได้อยู่แล้ว ถ้ารู้ว่าจะต้องไปถามใคร หรือรู้ว่าจะเข้าช่องทางไหน อีกอย่างคือมันมีงานวิจัยที่นักวิจัยสัมภาษณ์คนที่ทำอาชีพแปลกๆ หรืออาชีพที่เราไม่ได้พบเจอทั่วไปเอาไว้แล้ว เราก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาใช้ได้เช่นกัน เพราะบางโปรเจกต์เราไม่มีโอกาสได้พูดกับคนที่เขาทำอาชีพนั้นจริงๆ จนกว่าบทตอนที่ 1 ต้องผ่านก่อน ถ้าผ่านก็จะได้งบสำหรับทำตอนที่เหลือ แล้วค่อยไปหาข้อมูล ไปคุยกับเขาตัวเป็นๆ

คือแต่ละบริษัทจะมีวิธีทำงานต่างกัน ถ้าเป็นค่ายที่ให้ความสำคัญกับบท เขาจะมีกระบวนการชัดเจน แต่ตอนนี้พอแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเริ่มเข้ามา ข้อดีก็คือทำให้หลายบริษัทในไทยต้องตื่นตัว ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเหมือนกัน คนเขียนบทสามารถเสนอหรือเรียกร้องได้ว่า มันต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง ต้องขอเวลารีเสิร์ชเรื่องนี้ถ้าอยากให้มันสมจริง หรือจะขอที่ปรึกษาสำหรับปรึกษาบทโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน

การเขียนบท การรีเสิร์ชบทดูเป็นขั้นตอนที่ดูดเวลาชีวิตเยอะมาก แล้วหาเวลาดูแลตัวเอง หาเวลาเติมไอเดียให้ตัวเอง ออกไปเปิดโลกมากแค่ไหน

มีเวลาให้ตัวเองน้อยมาก และเท่าที่คุยกับน้องๆ นักเขียนบทก็พบว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรในชีวิต คนทวงบทก็จะทวงบทเสมอ ถ้ามีเดดไลน์ส่งบท เราก็ต้องทำงานให้ได้ภายในเวลานั้น

อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 ต่อให้น้ำท่วมแค่ไหนก็ยังต้องเขียนบท หรือช่วงโควิด คนเขียนบทจะยิ่งไม่ว่างเลย เพราะว่าเราสามารถคุยงานผ่าน Zoom ได้ ทำงานที่บ้านได้ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร แถมงานเยอะขึ้นด้วยเพราะว่าพอไม่สามารถเปิดกล้องได้ กระบวนการเดียวที่ยังทำงานกันต่อได้ก็คืองานเขียนบท บทจึงต้องพร้อมเผื่อสถานการณ์ดีขึ้น สามารถกลับมาถ่ายทำได้

เท่าที่รู้มา มีคนเขียนบทที่เป็นโรคซึมเศร้าเยอะเหมือนกันนะ เพราะว่าเครียดมาก เบิร์นเอาต์ ไม่ได้ดูแลตัวเอง

คุณเป็นหนึ่งในนั้นด้วยไหม ที่รู้สึกเบิร์นเอาต์ เพราะต้องเขียนงานอย่างเดียว ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ออกไปเปิดโลก

จะไม่ค่อยเป็นกับเรื่องงานเขียนค่ะ แต่จะรู้สึกหมดไฟจากระบบ จากปัญหาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเขียนบท จนเคยรู้สึกว่าเราออกจากวงการนี้ดีกว่า ไม่อยากทำแล้ว เราเคยถอดใจเลิกเขียนไป 2 ปีเลยนะช่วงก่อนหน้านี้

ช่วงก่อนอายุ 40 ปี เราเขียนๆๆ เยอะมาก แล้วโปรเจกต์ก็ล่มๆๆ อันนี้ส่งผลกระทบโดยตรง เพราะปกติแล้วเรื่องที่เราเขียนก็มักจะเอามาจากชีวิตตัวเอง ซึ่งเราก็คาดหวังไง เราจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ได้ทำแน่ ทุกอย่างโอเค แล้วพอโปรเจกต์ล่มติดกัน ความรู้สึกมันเหมือน…อกหักอะ ฉันไม่อยากมีแฟนอีกแล้วในชีวิตนี้ ช่วงนั้นตื่นมาร้องไห้ทุกวันนาน 3 เดือน จนไม่อยากเขียนบทไปเลย 2 ปี

นี่ขนาดว่าเราเองอายุเยอะแล้วนะ แต่ก็ยังรู้สึกแบบนี้ แล้วเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาแล้ว มีเคสแบบทำงานตลอด 5 ปีแรก แต่โปรเจกต์มันไม่เกิดเลย เขาก็คงท้อเหมือนกัน

แล้วอะไรที่ทำให้มีแรงฮึดกลับมาเขียนบทอีกครั้ง 2 ปีที่หายไปได้ดูหนังอะไร หรือได้เจอประสบการณ์อะไรมากระตุ้นให้อยากกลับมา

น่าจะเป็นโครงการเวิร์กช็อปคนเขียนบทของพี่จุ๊ก (อาทิตย์ อัสสรัตน์) จาก Pop Picture กับ Netflix ค่ะ ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด ทาง Pop Pictures เปิดรับไอเดียให้คนเขียนบทหรือใครก็ได้ส่งไอเดียเข้าไป แล้วเขาจะเลือกไอเดียที่ถูกใจเพื่อให้เข้าไปอบรมต่อ โปรเจกต์จะถูกพัฒนาตอนเวิร์กช็อป ซึ่งจะขายผ่านหรือไม่ผ่านก็แล้วแต่ว่า Netflix จะซื้อไหม นี่คือจุดที่ทำให้กลับมาเขียนอีกรอบ แต่บอกไม่ได้นะว่าส่งไอเดียเรื่องอะไรไป

แต่ตอนนั้นพอได้พักไป 2 ปี ก็ได้ออกไปใช้ชีวิต ได้ทำอะไรหลายอย่าง ยังสอนหนังสือ สอนเขียนบทอยู่นะ ไม่ได้ทิ้งไปเลยเสียทีเดียว เรายังต้องอัปเดตตัวเองเรื่อยๆ เพราะต้องเอาความรู้ไปสอนเด็กอยู่ดี เพียงแต่เรามีเวลาดู มีเวลาเสพงานมากขึ้น

หนังหลายๆ เรื่องมักโดนวิจารณ์บทแย่ ตำหนิค่อนข้างรุนแรง คุณเคยโดนวิจารณ์บทแบบนั้นบ้างไหม เห็นด้วยหรือที่ไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ออกมาอย่างไร

เคยเจอค่ะ และยอมรับว่าเขียนไม่ดีจริง บอกเรื่องเลยได้นะคือเรื่อง 30+ โสด On Sale

ตอนนั้นเราอยากเล่าหลายอย่างมาก Message มันเลยกระจัดกระจาย แต่ตอนเขียนบทเรารู้สึกว่าโอเคแล้ว ความผิดพลาดของเรื่องนี้อยู่ที่เราตกหลุมรักบทเร็วเกินไป มันเหมือนเราแก้แค่ไม่กี่ร่างแล้วรู้สึกว่าดีแล้ว เขียนแค่ 6 ร่างเองมั้ง ทั้งที่จริงๆ มันควรต้องแก้เยอะกว่านั้น หรือน่าจะมีทางเลือกอื่นที่คิดให้ดีกว่านี้

ผลสุดท้าย โดนด่าเยอะมาก แล้วมันเหมือนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนเขียนบท สิ่งเล็กเล็กฯ จะรู้สึกว่าคนชมเวอร์ ชมในระดับเยอะเกิ๊น แต่สิ่งเล็กเล็กฯ เขียนไป 13 ร่างนะ ก็กลายเป็นการเจอกับ 2 สภาวะที่อยู่คนละคนขั้วกันเลย

พอเจอฟีดแบ็กด้านลบตอนนั้น มีวิธีเยียวยาตัวเองอย่างไร

ไปเข้าวัด ปฏิบัติธรรมเลยค่ะ ตอนนั้นมีรุ่นพี่สอนวิปัสสนาอยู่ที่พิษณุโลก เราไม่ได้ไปวิปัสสนากับเขานะ แค่ไปพักอยู่กับเขา แล้วคืนหนึ่งนอนไม่หลับ จะคิดวนเวียนในหัวว่า เรารู้สึกว่าเราทำเต็มที่แล้ว ต้องโดนด่าขนาดนี้เลยเหรอ แล้วพี่เขารู้ว่าเรามีภาวะแบบนี้อยู่ ก็เลยเอาหนังสือ ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา ของพระไพศาล วิสาโล วางไว้ให้อ่าน จำได้ว่าเราลุกขึ้นมาอ่านตอนตี 3 จนจบเลย แล้วมันช่วยให้ปล่อยวางได้ทันที

แต่หลังจากนั้นก็มีโปรเจกต์อีกเรื่องล่มแล้วเราร้องไห้แบบอะไรก็เอาไม่อยู่จริงๆ ร้องอยู่นาน 3 เดือนเลยนะ พูดถึงทุกวันนี้ยังจะร้องไห้อยู่เลย (น้ำตาเริ่มคลอ)

ความช้ำใจอีกอย่างหนึ่งของคนเขียนบทก็คือ เวลาเราเขียนบทหนัง พอเซ็นสัญญารับเงินมาแล้ว ลิขสิทธิ์มันตกไปเป็นของค่าย ไม่ใช่ของเรา

ทุกวันนี้มีอะไรที่เป็นลิขสิทธิ์ของตัวเองบ้าง

ไม่มีเลย! ซึ่งเรื่องนั้นมันเหมือนรวมช่วงเวลา 20 ปีในชีวิตของเราอยู่ในนั้น บางสถานการณ์มันเกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต แล้วเราก็เขียนมันใส่ไปในนั้น แล้วมันไม่สามารถเอากลับมาใช้ในบทเรื่องอื่นๆ ได้อีกแล้ว (ร้องไห้)…

เราก็นึกว่ามันต้องถูกสร้างแน่นอน มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ว่าใครอ่านบทเรื่องนี้ ฉากนี้เป็นฉากที่ทุกคนชอบตรงกัน ไม่ติดไม่แก้ เขียนครั้งเดียวผ่าน

ปัจจุบันเรื่องนี้เลยยังไม่ได้สร้าง เพราะว่าไอเดียมันผสมกันระหว่างโปรดิวเซอร์กับของเรา มันไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ แล้วเราก็เซ็นสัญญาแบบขายบท ยกลิขสิทธิ์ให้เขาไปแล้วด้วย

กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองไว้เหรอ

ใช่ ตามกฏหมายของไทย งานเขียนบทคืองานรับจ้างเขียน สัญญาก็จะเป็นสัญญาว่าจ้างให้พัฒนาบทเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเราทำเสร็จ สตูดิโอจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ 100%

เวลาเราพัฒนาบทจะมีการแชร์ไอเดียกับโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ มันจะไม่ใช่ไอเดียของเรา 100% พอคนนั้นโยนไอเดียมา คนนี้โยนไอเดียมา มันจะถูกผสมอยู่ในบทอันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเคลมว่าเป็นลิขสิทธิ์ของเราเลยยาก เรารู้สึกว่าเราต้องแฟร์กับคนอื่นที่ใส่ไอเดียลงมาในบทนี้ด้วย ถ้าเป็นนิยายมันยังชัดเจนว่าคุณทำงานนี้ คุณเป็นเจ้าของความคิดนี้ แต่บทหนังบางทีมีหัวหน้าทีมบท มีสคริปต์ด็อกเตอร์อีก เลยเกิดคำถามว่าใครคือเจ้าของผลงานกันแน่ ก็คงต้องแบ่งกันตามสัดส่วนการทำงาน

วิธีแก้ปัญหาในตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าเราอยากให้ลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง เราก็เขียนเป็นนิยายก่อน แล้วค่อยเอาไปเสนอ ดัดแปลงเป็นบทหนัง แต่ก็ต้องมาลุ้นอีกว่าเป็นนิยายแล้วมันจะปังหรือไม่ปัง จะได้สร้างเป็นหนังด้วยไหม

ถ้าเกิดว่าเจอสถานการณ์แบบนี้ เราสามารถต่อรองกับสตูดิโอ ต่อรองกับค่ายยังไงได้บ้าง

เท่าที่เคยรู้ ในเมืองไทยมีคนเขียนบทหนังที่ต่อรองได้ว่าตัวพล็อตยังเป็นลิขสิทธิ์ของเขา แต่ว่าตัวบทภาพยนตร์เป็นของสตูดิโอ เพียงแต่ว่าเรายังไม่เคยทำแบบนั้น เคยคิดเรื่องขอเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ขอส่วนแบ่งถ้าเกิดมีการรีเมก แต่ก็ได้แค่คิด ยังไม่เคยทำ เพราะเราไม่เก่งเรื่องการเจรจาต่อรอง ซึ่งจริงๆ อันนี้เป็นทักษะที่สำคัญมาก ถือเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนเขียนบทเหมือนกัน

อย่างในต่างประเทศจะมีเอเจนต์ มีตัวแทนที่เขาถนัดในการต่อรองเรื่องพวกนี้คอยทำหน้าที่แทนเรา เราก็จะได้ทำงานของเราไป แต่พอไม่มีคนเจรจาให้ แล้วเราเองก็ไม่ได้มีทักษะในการเจรจาอยู่แล้ว ถ้าเจอสตูดิโอหรือโปรดิวเซอร์ที่ดี มันก็วินวิน จะออกมาโอเค ทั้งเรื่องของค่าบท การจ่ายเงิน การทำสัญญา

แต่ถ้าไปเจอโปรดิวเซอร์ที่ไม่โอเค ให้ค่าบทได้แค่นั้นแค่นี้ มีงบเพียงเท่านี้ เราก็จะเสียเปรียบ การเจอโปรดิวเซอร์ที่ไม่โอเค ชีวิตก็จะทรมานมาก แทนที่เราจะได้เอาเวลาไปใช้ในการทำงาน คิดบท ต้องเอาเวลามาทวงค่าบท ท้วงว่าทำไมไม่ทำสัญญาเสียที

แล้วพอไม่มีสัญญา พอเกิดการแก้ เปลี่ยนแปลง หรือโปรเจกต์เปลี่ยนมือ เขาก็จะไม่ยอมจ่าย หรือจ่ายในราคาที่หักคอเรา คิดแบบเรตต่ำที่สุดเท่าที่จะรับได้ เพราะคนชอบคิดว่า เราไม่ได้ลงทุนอะไร ต้องจ่ายด้วยเหรอ

การเจอโปรดิวเซอร์ที่โอเค ทำงานแบบมืออาชีพ คิดถึงใจเขาใจเรา วินวินกันทั้งคู่ ทำให้เราประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ อยากบอกให้โลกรู้ว่าทำงานกับคนนี้เถอะ ตอนนี้พอเราทำงานมาพอประมาณแล้วก็จะเริ่มรู้ว่ามีโปรดิวเซอร์คนไหนบ้างที่ทำงานด้วยแล้วสบายใจ รู้ว่าทำงานกับคนนี้ปลอดภัยแน่นอน

แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะทำงานกับใคร เราก็พยายามเปลี่ยน mindset ตัวเอง ปกป้องรักษาสิทธิของตัวเองมากขึ้น แล้วก็พยายามรวมตัวกับคนเขียนบทหนังคนอื่นๆ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่คนเขียนบทหนังต้องเจอร่วมกัน  

ขอถามเรื่องนี้บ้าง ไม่นานมานี้ เห็นมีคนเขียนว่าความเหลื่อมล้ำในเมืองไทย เรื่องเงินเดือน ค่าครองชีพ ทำให้คนไม่อยากไปดูหนังกัน ในฐานะที่เป็นคนทำงานอยู่ในวงการหนัง ในฐานะที่เป็นคนเขียนบท คิดยังไงกับประเด็นนี้

ก็เห็นด้วยนะว่าค่าตั๋วหนัง ทำให้คนไม่สามารถไปดูหนังในโรงได้ ขนาดเพื่อนที่มีฐานะพอสมควรยังบ่นเลยว่าการออกไปดูหนัง 1 ครั้ง ไม่เพียงต้องจ่ายค่าตั๋วแพง แต่ยังมีค่าอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่ากิน และอะไรอีกสารพัด

อย่างเวลาสอนนักศึกษา แต่ละเทอมจะชอบให้นักศึกษาเอาตั๋วหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้มาแลกคะแนน และจะได้มาคุยกันในชั้นเรียนด้วย แต่ก็มีนักศึกษาที่มาบอกตรงๆ เลยว่า ค่าตั๋วหนังมันคือข้าวของเขาหลายมื้อเลยนะ เขาไม่เอาคะแนนตรงนี้ได้ไหม พอมีนักศึกษามาบอก เราก็เข้าใจ ก็ไม่ได้บังคับแล้ว จะดูหรือไม่ดูก็ได้

การที่คนไม่ไปดูหนังไทยในโรง คิดว่ามันส่งผลกระทบถึงวงการหนัง และส่งผลกระทบถึงคนเขียนบทอย่างไรบ้าง

ที่เห็นได้ชัดเลยคือพอหนังไม่ทำเงิน ค่ายหนังก็ไม่กล้าลงทุน เพราะว่าไม่แน่ใจว่าทำออกไปแล้วมันจะมีคนมาดูไหม จะได้เงินหรือเปล่า โปรเจกต์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีก็ลดลง

เคยเจอเหมือนกันที่เขียนบทหนังจนเสร็จแล้ว แต่โปรเจกต์กลับล้มเพราะนายทุนเห็นรายได้ของหนังเรื่องอื่นที่เข้าฉายแล้วกลัว ไม่กล้าทำต่อ กรณีที่ไม่ล้ม เขาก็จะไม่กล้าลงทุนเยอะ งบประมาณในการทำหนังก็จะลดลง กลายเป็นว่าพองบมันจำกัด บางทีผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ หรือทีมงานก็ไม่อยากทำ เพราะรู้สึกว่าด้วยงบแค่นี้ทำออกมาก็คุณภาพไม่ดี ไม่คุ้ม เหนื่อยด้วย แล้วถ้าคุณภาพได้แค่นี้ คนดูก็จะด่าอีก เลยตัดปัญหา ไม่ทำ

คิดว่าวิธีแก้ปัญหาที่คิดว่าดีที่สุดมันควรจะเป็นอย่างไร เพื่อช่วยให้ทุกคนในวงการไปต่อได้

น่าจะต้องแก้หลายอย่างมากๆ แต่ถ้าคิดแบบเร็วๆ  ก็คือถ้ามีหนังที่คุณภาพโอเค มีความหลากหลาย และโรงหนังให้พื้นที่ฉายและเวลากับหนังไทยแต่ละเรื่องมากพอ ก็น่าจะเรียกคนให้ออกมาดูในโรงได้ เลยรู้สึกว่าอาจจะไม่ต้องเน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพดีไหม ทีมงานควรมีงบประมาณในการทำงานที่เหมาะสมกับเวลาและความเป็นจริง ทำให้องค์ประกอบทุกอย่างโอเค แล้วก็เรียกคนดูให้แบบเข้าไปดูในโรงได้ อย่างปีนี้ เธอกับฉันกับฉัน หรือว่า ขุนพันธ์ 3 คนก็ยังคนก็ยังไปดูในโรงเยอะอยู่

ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ถ้ามีพื้นที่ฉายและเวลามากกว่านี้ ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมที่นายทุนและทีมงานได้รับมันก็จะดีกว่านี้ และทุกฝ่ายก็ไปต่อได้

ถ้าเน้นที่คุณภาพ ค่ายหนังอาจอนุมัติสร้างหนังน้อยลง แต่จำนวนงานก็จะลดลงด้วยไหม

ถ้าเกิดทำหนัง 10 เรื่องแล้วคุณภาพมันแย่หมด มันก็จะกลายเป็นภาพจำของคนดูด้วย กลายเป็นทัศนคติที่มีต่อหนังไทยโดยรวมว่ามันแย่ แม้ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเกิดทำแค่ 4 เรื่อง แต่มีความหลากหลาย มีคุณภาพ มันก็เปลี่ยนทัศนคติของผู้คนได้

แต่โอเค คนทำงานบางคนก็อาจคิดว่าทำงานเยอะ มีเงินเลี้ยงชีพ เขาก็อาจจะชอบอย่างแรกมากกว่าก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าในระยะยาวเขาก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดีถ้าเกิดยังผลิตงานด้วยทัศนคติแบบนั้น

เราคุยกันเรื่องความทุกข์ของผู้เขียนบทมาเยอะแล้ว แล้วความสุขของคนเขียนบทมีบ้างไหม

มี ไม่งั้นก็เลิกอาชีพนี้ไปแล้ว (หัวเราะ) คือค้นพบว่าชอบกระบวนการคุยบท ถ้าพูดในภาพรวม คือคนเขียนบทน่าจะแฮปปี้กับการที่เรามีไอเดียหรือเราอยากพูดอะไร หรือเรามีเรื่องอะไรที่เราอยากเล่า แล้วมันแบบถูกพัฒนาไปเป็นงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่าที่ยังอดทนกันอยู่น่าจะเป็นเพราะช่วงพัฒนาบทนี่แหละที่ทำให้ได้เจอผู้คนที่หลากหลาย ได้เจอทีมเขียนบท ยิ่งถ้าเกิดทีมคุยกันถูกคอ ได้แลกเปลี่ยนไอเดียสนุกๆ ด้วยกัน ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง

หรือเวลาเรานั่งเขียนบทคนเดียว เวลาที่มีสมาธิประมาณหนึ่ง แล้วคิดออกว่าต้องเขียนยังไง ช่วงเวลาที่รู้สึกว่า เห้ย ซีนนี้เราคิดได้ยังไงวะ เราจะเขียนไปยิ้มไปหัวเราะไปนู่นนี่นั่น รู้สึกว่ามันโอเค

ตลอดอาชีพที่ทำงานด้านการเขียนบทมานะครับ ด้านสุขกับด้านทุกข์อันไหนมากกว่ากัน

ถ้าตอนนี้ก็รู้สึกว่าด้านสุขยังเยอะกว่า จริงๆ ก็อยากเลิกเขียนแล้วเหมือนกัน (อ้าว) อยากเลิกเขียนเรื่อยๆ นะ แต่ว่าเวลามีใครชวนหรือมาคุยไอเดียกันหน่อย พอได้คุยทุกครั้งไฟในตัวก็จะลุกโชนทุกครั้งเสมอเลย

ถ้าย้อนกลับไปตอนทำงาน Workpoint ตอนที่ยังทำรายการ ตลก 6 ฉาก ถ้าไม่ส่งบทเข้าประกวด คิดว่าชีวิตจะแตกต่างจากตอนนี้ไหม

คิดว่าไม่แตกต่าง ก็น่าจะอยู่ในเส้นทางของคนเขียนบทนี่แหละ เพียงแค่ประสบการณ์หรือความมั่นใจตอนเขียนบท สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก อาจจะน้อยลง เพราะตอนที่บทเข้ารอบสุดท้าย มันทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่าสิ่งที่เราเรียนมา เราเอามาใช้ได้จริง

ถ้าเกิดว่ามีโอกาสย้อนอดีตกลับไปแก้ไขได้ จะแก้ไขอะไร

ถ้าแก้ได้จริง ๆ ก็อยากเขียนนิยายก่อนที่จะเขียนบท เพราะเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ขนาดตอนนี้ที่เรารู้อยู่แล้วนะ เราก็ยังไปเส้นทางเดิมอยู่ดี เรายังกลับไปเขียน แล้วก็เซ็นสัญญา แล้วลิขสิทธิ์ก็เป็นของสตูดิโออยู่ดี อ้าวทำไมถึงเป็นอย่างนั้น (หัวเราะ) แต่ถ้าเกิดย้อนกลับไปได้ ก็จะอยากแก้ตรงนี้

คิดว่าในอนาคตสักประมาณ 10 ปีข้างหน้า วงการเขียนบทของวงการหนังไทยจะแตกต่างไปจากตอนนี้อย่างไรบ้าง

ยากเลย น่าจะตกงานเพราะ AI กันหมดแล้ว (หัวเราะ) ถ้ามองโลกในแง่ดี ตอนนี้มันมีความหลากหลาย มีทางเลือกมากขึ้น ตัวสตูดิโอเองเขาก็มีทางเลือกที่จะไม่ต้องลงทุนเองแบบ 100% เพราะว่าเขาสามารถหาผู้ร่วมทุนจากประเทศอื่น จากแพลตฟอร์มอื่นมาร่วมความเสี่ยงด้วยกันได้ ก็น่าจะทำให้เกิดโปรเจกต์ขึ้นมามากขึ้น มีช่องทางในการฉายเพิ่มขึ้น มีฐานคนดูทั่วโลก

แต่แน่นอนว่าเรื่องลิขสิทธิ์ก็คงต้องต่อรองกัน หาจุดที่ลงตัวให้ได้ในอนาคต ช่วงแรกอาจเสียเปรียบหน่อย แต่อย่างเกาหลีใต้สุดท้ายเขาก็ต่อรองกันได้ และวินวินกันทั้งคู่ ของไทยเราก็มองในแง่ดีว่าเราก็น่าจะทำแบบนั้นได้ คนเขียนบทเองก็มีทางเลือกมากขึ้น แล้วแพลตฟอร์มที่เขาจ้างเรา เขาไม่ได้มาจ้างเราอย่างเดียว แต่ว่าเขาสอนเราด้วย มีเวิร์กช็อปมีอบรมให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วย

เพราะฉะนั้นตอนนี้คนที่มีโอกาสได้ทำไปแล้ว เขาก็ได้ upskill ซึ่งประโยชน์ก็จะไม่ได้อยู่แค่ที่เขา แต่เขาก็จะได้ต่อยอด หาทีม หรือสร้างทีมขึ้นมา หรือเวิร์กช็อปอบรมคนอื่นต่อไปด้วย องค์ความรู้ที่อาจเคยจำกัดก็จะขยายมากขึ้น

เรื่องสุดท้ายที่อยากเห็นในอนาคตข้างหน้าคือ การมีสมาคมผู้เขียนบทภาพยนตร์ฯ ที่แข็งแรง และอำนาจในการต่อรองแบบ WGA ของอเมริกาค่ะ

พูดถึงการขยายองค์ความรู้ คุณเปิดเพจชื่อ อาชีพเขียนบทเท่าที่รู้ อยากให้เล่าถึงเพจนี้เป็นการทิ้งท้ายหน่อย

ที่เปิดเพจนี้เพราะว่าเจอ pain point ของอาชีพเขียนบทนี่แหละค่ะ พอไปสอน เป็นวิทยากรนอกมหาลัย แล้วพบว่าองค์ความรู้ด้านการเขียนบท หรือความรู้เกี่ยวกับอาชีพนี้ จริงๆ มีคนอยากรู้เยอะนะ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลจากไหน จะเป็นคนเขียนบทได้ยังไง ต้องเริ่มต้นจากตรงไหนบ้าง

อย่างฟอร์แมตของบทหนัง ก็เป็นสิ่งที่หลายคนไม่รู้และขอหลังไมค์มาเยอะมาก เราเคยโพสต์ภาพฟอร์แมตบทหนัง ให้เห็นว่าใช้ฟอนต์อะไร จัดหน้ายังไง องค์ประกอบต่างๆ อยู่ตรงไหน โพสต์นั้นมียอดแชร์เยอะสุดเลยนะ ทั้งๆ ที่ในมุมเราอาจรู้สึกว่าหาอ่านจากที่ไหนก็ได้ แต่มันกลับหายากจริงๆ และมันไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ หรือทำเป็นเล่มออกมาขาย คนอาจเคยเห็นบทภาษาอังกฤษกัน แต่ว่าบทหนังไทยมันไม่ได้มีให้อ่าน

ก็เลยคิดว่าเปิดเพจ แชร์ความรู้ดีกว่า บางทีอาจมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพนี้ ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีข้อมูลว่าอาชีพนี้ต้องทรมานแค่ไหน พอเข้ามาจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ (หัวเราะ) 


เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย

AUTHOR