5 วิธีเล่าภาพเคลื่อนไหวให้เป็นเรื่องสุดสนุกในสไตล์ พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี

5 วิธีเล่าภาพเคลื่อนไหวให้เป็นเรื่องสุดสนุกในสไตล์ พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี

จะเรียกว่าเป็นปีทองของทีม Hello Filmmaker โปรดักชันเฮ้าส์สุดน่าจับตามองที่เพิ่งมีอายุทางการแค่
2 ปีก็ว่าได้
เพราะหากไล่เรียงคลิปวิดีโอไวรัลที่ถูกแชร์กันในโลกออนไลน์ช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นผลงานคุณภาพฝีมือพวกเขาภายใต้การกำกับของ
พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี
ผู้กำกับหนุ่มมีเคราคนนี้ถึง 2 งานใหญ่ๆ ด้วยกัน อย่างหนังสั้นเรียกน้ำตาฮาปนซึ้งที่สร้างยอดวิวถล่มทลาย
‘The Only One’ หรือมิวสิกวิดีโอประกอบโฆษณาเพลง ‘ตัวปลอม’ ที่เล่าสลับกันทั้งในมุมผู้หญิงและผู้ชาย
โดนใจกันไปทุกฝ่าย

มองจากมุมคนดู
งานของพงศ์มีสไตล์การเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กน้อยแต่แสนจริง
แถมยังสื่อสารกับคนทั่วไปได้ตรงประเด็นจนใครก็อดใจไม่ไหวที่จะกดปุ่มแชร์ต่อ นี่คือเหตุผลที่เราต้องขอไปนั่งคุยกับเขาตัวเป็นๆ
แล้วช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่ากว่าจะได้งานโฆษณาและมิวสิกวิดีโอที่จี๊ดใจคนดูขนาดนี้
ผู้กำกับหนุ่มต้องหาวิธีลองผิดลองถูกจนเจอทางที่ใช่ยังไงบ้าง

TIP 01: ทดลองอย่างบ้าคลั่งที่สุด

จากเด็กหนุ่มที่ชอบวาดรูปแต่ดันจับพลัดจับผลูสอบติดสาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำให้พงศ์เริ่มคลุกคลีกับการวาดสตอรี่บอร์ด
ทำหนังสั้นส่งประกวด และเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่บริษัท ฟีโนมีน่า จำกัด โปรดักชันโฆษณาอันดับหนึ่งซึ่งเป็นสนามทดลองที่ทำให้พงศ์ได้จับงานวิดีโอจริงจัง

งานช่วงแรกของพงศ์เริ่มจากการทดลองเล่นเทคนิคด้านภาพเป็นหลักทั้งการตั้งกล้องหรือสร้างมู้ดให้หม่นๆ
นัวร์ๆ แต่สุดท้ายด้วยความเป็นนักเรียนหนัง พงศ์กลับมาสนใจการเล่าภาพให้เป็นเรื่องมากขึ้น
ในยุคแรก ของการรวมกลุ่ม Hello Filmmaker เขาจึงจับงานทุกอย่างทั้งวิดีโองานแต่งงาน
หรือแม้แต่หนังสารคดีการเมืองเล่าเรื่องเขาพระวิหาร

“งานวิดีโอแบ่งเป็นสองฟากคือภาพและเนื้อหา
ซึ่งงานที่จะเกิดในยุคนี้ได้ต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใหม่ ช่วงแรกที่ทำเทคนิคภาพก็พบว่ามันทำงานได้ประมาณหนึ่ง
แต่อาจสื่อสารกับคนดูได้ไม่เท่าเนื้อหาที่ดี เลยพยายามผสานเข้าด้วยกัน บางเฟรมเราพึ่งงานวิชวลได้
ตั้งกล้องอย่างนี้ดูกวนดีนะ ส่วนของการเล่าเรื่อง เราก็ลองเล่าให้หลากหลาย
ลองเล่าสองเส้นเรื่อง ลองไม่บิ้วไคลแมกซ์ดูไหม สุดท้ายเราจะมีทางเลือกเยอะมากๆ
ในการทำงานว่าจะได้ใช้อันไหน”

TIP 02: สร้างจักรวาลของงานออกมา

วิธีหนึ่งที่พงศ์มักให้เพื่อนในทีมหรือน้องฝึกงานลองทำเวลาได้โจทย์ใหม่มาทั้งงานโฆษณาหรือมิวสิกวิดีโอ
คือการสร้าง Mind Mapping ว่าคิดถึงอะไรบ้างที่ควรจะเป็นจักรวาลของสิ่งนั้นๆ
พอได้ก้อนไอเดียหลักออกมาก็เลือกกันอีกทีว่าไอเดียไหนซ้ำหรือถูกคนอื่นทำไปบ่อยๆ
แล้ว เพื่อหาโครงเรื่องที่ดีพอจะพัฒนาต่อยอดได้ ต่างจากการให้ไปหาเรฟเฟอร์เรนซ์งานเก่าๆ
ที่สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นการเลียนแบบ

“งานมิวสิกวิดีโอ
เราจะชอบเอาเพลงมาฟังหามู้ดดนตรีก่อนแล้วขึ้นมายด์แมพว่านึกถึงอะไรบ้าง อย่างเพลง
ขอ
ของ Lomosonic จะมีการสบตากัน
การกลับมาเจอกัน ความเหงา
เสียงไซเรนในเพลงผมก็นึกไปถึงอะไรที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ
เราก็คิดเลยว่าท่อนที่มีเสียงนี้จะตัดเป็นแฟลชแบ็กทั้งหมด
การทำมายด์แมพสำหรับเราเหมือนการตัดช้อยส์
พอเขียนออกมาเราจะรู้ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วค่อยๆ ฆ่าทิ้ง
เลือกไอเดียที่ใหม่ หรือในตอนนั้นยังไม่มีคนทำจนช้ำเพื่อสื่อสารกับคนดู”

TIP 03: เก็บเรื่องจริงจากสิ่งรอบตัว

เหตุการณ์ธรรมดาหรือมุขฮาๆ แต่ว่าสุดเรียลในงานของพงศ์ได้มาจากนิสัยชอบสังเกตรายละเอียดรอบตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ทั้งประสบการณ์ที่เจอกับตัวเอง เรื่องที่แฟนชอบบ่น
หรือนั่งฟังเพื่อนคุยกันแล้วรู้สึกว่าประโยคนี้ตลกดีจังก็จดเก็บไว้ ไปๆ มาๆ
ก็ได้ลิสต์ไอเดียที่เยอะพอจะหยิบมาพลิกแพลงใช้ในงานได้ว่าจะออกแบบซีนต่างๆ
อย่างไรด้วยวิธีการที่ไม่ต้องบิ้วมาก แต่ว่าเป็นธรรมชาติเพราะว่ามาจากเรื่องใกล้ตัว

TIP 04: อย่าให้คนดูรู้ว่ากำลังจะได้ดูอะไร

ตัวเลขทางการตลาดบอกว่าท่ามกลางคลิปวิดีโอไวรัลมากมายในโลกออนไลน์
5 – 10 วินาทีแรกคือเวลาชี้ขาดว่าคนดูจะอยู่ต่อหรือกดข้ามไปทันที
ถึงไม่เชื่อเรื่องตัวเลขขนาดนั้น แต่ผู้กำกับหนุ่มก็ยอมรับว่าช็อตแรกของหนังโฆษณาจะต้องดึงดูดให้คนสนใจและเดาไม่ออกว่านี่คือเรื่องอะไร
หน้าที่ของคนทำหนังคือต้องก้าวนำคนดูอยู่ตลอดเวลา

“คนดูจะปิดทันทีถ้าเขารู้สึกว่ากำลังดูโฆษณาอยู่
แต่ถ้าสิ่งที่เขากำลังดูให้ความรู้สึกเหมือนหนังทั้งในแง่การเล่าเรื่องหรือเทคนิคภาพที่จริงกว่า
เรื่องเวลาจะยาวสั้นก็ไม่สำคัญแล้ว”

TIP 05: ระวังตกรถไฟ

โจทย์ยากของผู้กำกับหนังโฆษณายุคนี้คือต้องข้ามกำแพงภูมิต้านทานคนดูที่เคยชินกับการดูภาพยนตร์
ซีรีส์ต่างประเทศ โฆษณาไวรัล หรือคลิปวิดีโอฮาๆ ให้ได้ พงศ์บอกว่าสิ่งนี้ทำให้คนเป็นผู้กำกับต้องหาแนวคิดที่จะเข้าถึงคนดูให้ได้ใกล้ชิดขึ้น
เปิดรับสิ่งใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองไปตามกระแสโลก เพราะการยึดติดกับแนวทางการทำงานแบบเดิมๆ
ไม่ลองค้นหาวิธีการใหม่ๆ มาเติมไฟให้งานก็อาจทำให้ตกรถไฟหรือวิ่งตามไม่ทันโดยไม่รู้ตัว

“ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงตอนนี้
เราพยายามมองหาโจทย์หรือวิธีสับขาหลอกอะไรแปลกๆ ทำไปเรื่อยๆ มากกว่ายึดติดว่านี่คือสไตล์งานที่ทุกคนจำได้ว่าเป็นเรา
ลายเซ็นอาจเป็นแค่ทัศนคติก็ได้ เราไปจับประเด็นใหม่ ทัศนคติก็ยังอยู่ในงานเพียงแต่เราไม่รู้ตัว
ผมว่าสิ่งนี้สำคัญและยังพยายามถีบตัวเองเพราะรู้สึกว่าถ้าหยุดอัพเดตปุ๊บ
เราจะตกไปเลย”

“ยุคนี้เราเห็นทุกอย่างผ่านสื่อวิดีโอ
ภาพเคลื่อนไหว มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเราแน่นอน ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันดีนะที่คนได้เห็นสิ่งที่เขาไม่เคยคิดหรือเชื่อมาก่อน
แล้วมีคลิปอะไรต่างๆ ออกมาอธิบายให้ได้ตั้งคำถาม สงสัย
และทำให้เขาได้พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เจอความเป็นไปได้ใหม่ๆ
พอมีอะไรเยอะขึ้นก็ทำให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันกัน
ซึ่งผมว่ามันทำให้วงการสื่อบ้านเราสนุกขึ้นมาก”

อ่านจบแล้วคันไม้คันมืออยากลองเล่าเรื่องราวที่ชอบในแบบของคุณเอง
ก็รีบสร้างสรรค์คลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 5
นาที ในหัวข้อ Connecting Lives ไม่จำกัดรูปแบบทั้งภาพยนตร์สั้น
มิวสิกวิดีโอ หรือแอนิเมชัน ส่งมาร่วมโครงการ AIS THE 5-MIN VIDEO
CHALLENGE ลุ้นเป็น 2 ตัวแทนที่จะเข้าไปประกวดในระดับโลก
พร้อมเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท พร้อมลุ้นต่อที่สองชิงเงินล้านในเวทีระดับโลก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่
www.ais.co.th/The5minvideochallenge และเพจเฟซบุ๊ก AISTHE5MINVIDEOCHALLENGE นะ

www.ais.co.th/The5minvideochallenge

AUTHOR