5 สิ่งเติมความสมจริงให้เรื่องเล่าที่ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร อยากบอกต่อ

5 สิ่งเติมความสมจริงให้เรื่องเล่าที่ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร อยากบอกต่อ

ความดังระดับปรากฏการณ์ของซีรีส์แห่งยุค
ฮอร์โมนส์ เดอะซีรีส์ ทั้ง 3 ซีซั่นที่ทำให้วงการละครโทรทัศน์บ้านเรากลับมาคึกคักอีกครั้ง
น่าจะพอการันตีฝีมือการกำกับและเขียนบทของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ชายหนุ่มใส่กรอบแว่นสี่เหลี่ยมคนนี้ได้บ้าง
สิ่งที่ทำให้เราสนใจปิงไม่ใช่แค่ความสมจริงของเรื่องเล่า หรือการปั้นตัวละครให้เหมือนมีชีวิตจริง
แต่รายละเอียดเล็กน้อยที่เติมให้ประเด็นที่เขาอยากสื่อสารแข็งแรงขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ว่าเขามองมันด้วยสายตาแบบไหน

ก่อนพูดคุยกัน เราคาดหวังว่าปิงจะให้ทางลัดที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ทำงานให้เราเอาไปใช้
แต่เมื่อเครื่องอัดเสียงหมดหน้าที่ลง เราถึงพบว่าทุกอย่างที่ปิงเล่านั้นเกิดจากเขาทดลองทำซ้ำๆ
จนชำนาญ ไม่มีสูตรสำเร็จให้ทำตามนอกจากลงมือทำด้วยตัวเอง

TIP 01: ดูให้รู้มากที่สุด
5 เรื่องต่อวันไม่มีหยุดพัก คือสถิติการนั่งดูหนังแบบมาราธอนของปิงในวัยมัธยม
ในฐานะเด็กที่รู้ตัวเร็วว่าหลงใหลศาสตร์ภาพยนตร์ แถมยังชอบคิดอยากเปลี่ยนแปลงบางฉากในหนังที่ดูแล้วขัดใจ
ทำให้ปิงตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ตอนนั้น และเริ่มปูพื้นฐานตัวเองด้วยการหาหนังหลากหลายแนวมาดูให้หมด
ไม่ใช่เพื่อเอามาลอกเลียนแบบ แต่ยิ่งดูเยอะ ก็ยิ่งขยายขอบเขตของคำว่าภาพยนตร์ในหัวให้กว้างขึ้น
ถ้าบนโลกนี้มีคนทำหนังแปลกๆ มาแล้วมากมาย
ปิงก็ไม่กลัวที่จะคิดพล็อตหนังให้แปลกใหม่ไกลกว่าเดิม

TIP 02: เล่าเรื่องเหมือนในวงเหล้า
ดูหนังมาหลายประเภท แต่พอต้องมาหาแนวทางของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี
ปิงบอกว่าสิ่งที่ทำได้ในช่วงแรกคือทดลองทำหนังหลายๆ แบบ ทั้งหนังอินดี้ หนังผี
หนังแนวอาว็องการ์ดสุดจะดูไม่รู้เรื่อง แล้วคัดกรองเอาจากความรู้สึกตัวเองว่าใจเต้นกับงานแบบไหน
ถ้ากลับมาดูงานของตัวเองแล้วไม่ชอบใจก็น่าจะแปลว่าไม่เหมาะ

งานที่ทำให้ปิงใจเต้นแรงที่สุดคือ ตั๋วรักพลิกล็อก
หนังสั้นโรแมนติกคอมเมดี้ที่เป็นทีสิสจบของเขาเอง วินาทีที่คนดูตื่นเต้นไปกับหนังตอนที่ตัวละครบอกรักกัน
ทำให้ปิงรู้ว่าสิ่งที่เขาชอบและอยากทำ คือการทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร

“การทำหนังก็เหมือนเราเล่าเรื่องบนโต๊ะอาหารหรือในวงเหล้า
คือมีตอนจบที่อยากเฉลยให้เพื่อนรู้อยู่ แต่จะเล่าทางไหนดีที่จะทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตอนจบนั้น
เวลาคิดหนังเราเลยไม่เอาเรื่องที่เราเข้าใจอยู่คนเดียวมาเล่า แต่จะค่อยๆ
หาวิธีจูนคนดูให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกับตัวละครว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้ แล้วค่อยๆ ดูกันต่อไปว่าจะเป็นยังไง”

TIP 03: มีความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ
ตลอดเวลา
การทำหนังหรือซีรีส์สักเรื่องไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ
เพียงไม่กี่เดือน แต่บางเรื่องเราอาจต้องขลุกกับมันแรมปี
คำแนะนำจากผู้กำกับหนุ่มบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็น่าจะเลือกทำเรื่องที่สนใจเพื่อความ ‘อิน’ ส่วนตัว
แล้วความสนใจจะนำไปสู่การตั้งคำถาม อยากรู้อยากเห็น และค้นคว้าเรื่องนั้นๆ
ได้ไม่รู้เบื่อ พอคนทำเข้าใจสิ่งที่อยากเล่าดีพอ ก็น่าจะอยากถ่ายทอดให้คนดูเข้าใจด้วยเช่นกัน

“จะเลือกอินประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปเลยก็ได้
แต่ว่าขอให้มีความคิดเห็น มีทัศนคติใหม่ๆ ต่อเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา คนเราเปลี่ยนแปลงทุกวันนะ
พอเราโตขึ้น ใช้ชีวิตมากขึ้น เราก็จะมองชีวิตหลายแบบมากขึ้น
สิ่งนี้แหละที่จะทำให้เกิดหนังเรื่องใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ”

TIP 04: รีเสิร์ชคือสิ่งสำคัญ
จุดแข็งของฮอร์โมนส์ เดอะซีรีส์
ทั้ง 3 ซีซั่นอยู่ที่บท ซึ่งเกิดจากการทำการบ้านอย่างหนัก (มาก)
ของทีมเขียนบททุกคนที่เชื่อเหมือนกันว่าอยากทำให้เรื่องของเด็กมัธยมกลุ่มนี้ดูสมจริงที่สุด
การรีเสิร์ชทั้งเข้าไปคุยกับแหล่งข้อมูลต่างๆ ค้นคว้าในอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่สัมภาษณ์บุคคลที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาจริงๆ
จะทำให้ตัวละครที่สร้างขึ้นเป็นมนุษย์ที่กลมมากขึ้น รวมไปถึงบทตอนไหนที่ตรรกะดูไม่สมจริง
ก็จะถูกทีมเขียนบทด้วยกันตีตกไปตั้งแต่ยังเป็นแค่ตัวอักษร และทำให้ขั้นตอนถ่ายทำไม่มีปัญหายุ่งยากเพราะบทที่เราทำมาตั้งแต่แรกแข็งแรงดี

“บทที่ดีเป็นหนังที่ดีหรือแย่ก็ได้
แต่บทที่แย่ไม่มีทางเป็นหนังที่ดีได้เลย ขั้นตอน Pre-Production คือขั้นตอนที่จะบอกได้เลยว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี”

TIP 05: กล้าเฉือนสิ่งที่ไม่ใช่
ภาพทุกภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์คือตัวสะท้อนรสนิยมของคนทำ
หน้าที่ของผู้กำกับคือคนควบคุมว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่อยากให้คนดูเห็นมีอะไรบ้าง ซึ่งปิงบอกว่าเป็นขั้นตอนที่ยากอีกอย่างหนึ่ง
นักเล่าเรื่องที่ดีจำเป็นรู้ว่าซีนไหนบ้างที่จะทำให้เรื่องไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
และซีนไหนที่ไม่ช่วยให้เข้าใจเรื่องมากขึ้นก็ต้องกล้าตัดทิ้งไปแม้ว่าจะเป็นซีนที่ดีหรืออยากให้มีก็ตาม
การยอมรับว่าซีนไหนใช่-ไม่ใช่และไม่ตามใจตัวเองทั้งหมดจะทำให้งานของเราตอบโจทย์ในประเด็นที่อยากสื่อสารไปถึงคนดูอย่างไม่ออกนอกลู่นอกทาง

“พอโตขึ้นเราถูกสอนว่าเราไม่ได้ทำหนังแค่เรื่องเดียวหรอกในชีวิตนี้
ยังมีให้ทำอีกหลายเรื่อง ตัดซีนนี้ออกแล้วเรื่องไปถึงเป้าหมายที่หวังไว้สำเร็จ ค่อยเก็บซีนแบบนี้ไว้ใช้กับเรื่องอื่นก็ได้”

“เทคโนโลยีทำให้งานของเรามีโอกาสส่งไปถึงคนตัวเล็กๆ และอาจเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้
เราเชื่ออย่างนั้นและอยากทำงานให้เกิดอิมแพคกับคนเช่นนั้น เราจะอยากทำงานอยู่เรื่อยๆ
ถ้ามีคนมาบอกว่างานที่ทำช่วยชีวิตคนๆ หนึ่งได้
เราเสพติดความรู้สึกนี้และพยายามคิดงานให้เกิดสิ่งนี้อยู่ และทุกคนก็สามารถทำมันได้เหมือนกัน”

อ่านจบแล้วคันไม้คันมืออยากลองเล่าเรื่องราวที่ชอบในแบบของคุณเอง ก็รีบสร้างสรรค์คลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที ในหัวข้อ Connecting Lives ไม่จำกัดรูปแบบทั้งภาพยนตร์สั้น มิวสิกวิดีโอ หรือแอนิเมชัน ส่งมาร่วมโครงการ AIS THE 5-MIN VIDEO CHALLENGE ลุ้นเป็น 2 ตัวแทนที่จะเข้าไปประกวดในระดับโลก พร้อมเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท พร้อมลุ้นต่อที่สองชิงเงินล้านในเวทีระดับโลก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.ais.co.th/The5minvideochallenge และเพจเฟซบุ๊ก AISTHE5MINVIDEOCHALLENGE นะ

www.ais.co.th/The5minvideochallenge

AUTHOR