School Town King แรปทะลุฝ้าความเหลื่อมล้ำที่ราชาคลองเตยจะไม่หยุดฝัน

Highlights

  • ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ คือภาพยนตร์สารคดีจากฝีมือการกำกับของ เบสท์–วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และทีมงาน Eyedropper Fill ที่ใช้เวลาถึง 3 ปีในการตามติดชีวิตจริงของเด็กวัยรุ่นสองคนจากสลัมคลองเตยที่มีความฝันจะเป็นแรปเปอร์ชื่อดังท่ามกลางแรงกดดันของสังคมและครอบครัว เดิมพันที่พวกเขามีนั้นมากเกินกว่าที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะรับไหว
  • บุ๊ค–ธนายุทธ ณ อยุธยา a.k.a Elevenfinger หนึ่งในตัวละครหลักของสารคดีเรื่องนี้เคยปรากฏตัวอยู่ใน a day ฉบับ The Rise of Thai Rap ในฐานะแรปเปอร์รุ่นใหม่ที่รันวงการฮิปฮอปคลองเตยด้วยความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงสังคม
  •  ช่วงเวลานั้นเองที่ นนท์–นนทวัฒน์ โตมา a.k.a Crazy Kids อีกตัวละครหลักของสารคดีเริ่มรู้จักกับบุ๊คด้วยความฝันอยากเป็นแรปเปอร์เหมือนกัน ก่อนจะเป็นกระแสไวรัลด้วยเพลง ‘สลัมคลองเตย’ และร่วมทางฝันด้วยความหวังอยากให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
  • นอกจากสารคดีเรื่องนี้จะทำให้เห็นชีวิตของวัยรุ่นทั้งสองบนฝันที่ดูขบถต่อกรอบของผู้ใหญ่แล้ว การตามติดทั้งสองยังเผยให้เห็นถึงชีวิตมากมายที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่กดทับให้พวกเขากลายเป็นคนนอกของทั้งระบบการศึกษาและโครงสร้างสังคม นำไปสู่คำถามปลายเปิดมากมายที่ชวนให้ขบคิด

ปี 2020 ที่ผ่านมาคงเป็นปีที่ยากสำหรับใครหลายๆ คน

ทั้งต้องเผชิญหน้ากับมรสุมที่คาดเดาไม่ได้ จนในใจเต็มไปด้วยคำถามสวนทางกับพลังที่เริ่มมอดลง แต่เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุผลในการเดินทางของมันเสมอ เช่นเดียวกับที่เราได้สวนทางมาเจอแรปเปอร์สองหนุ่มจากคลองเตยอย่างบุ๊ค–ธนายุทธ ณ อยุธยา a.k.a Elevenfinger และ นนท์–นนทวัฒน์ โตมา a.k.a Crazy Kids อีกครั้งใน ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ภาพยนตร์สารคดีที่กำกับโดยเบสท์–วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ร่วมกับทีมงาน Eyedropper Fill

ที่ใช้คำว่าพบกันอีกครั้ง เพราะย้อนกลับไปราวปี 2017 ในช่วงที่เรากำลังฝึกงานในฐานะ a team junior 14 และกำลังลงมือทำเมนคอร์สฉบับ The Rise of Thai Rap เราพบกับบุ๊คเป็นครั้งแรกจากการได้สัมภาษณ์เขาในฐานะแรปเปอร์รุ่นใหม่ผู้มุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง และลบคำตราหน้าว่าชุมชนคลองเตยมีแต่คนไม่เอาไหน

ผ่านไรม์และพลังของเพลงฮิปฮอป แววตาของเด็กหนุ่มเต็มไปด้วยพลังและความฝันตลอดบทสนทนา ดวงตาของเขายิ่งเปล่งประกายขึ้นเมื่อกล่าวถึงนนท์ รุ่นน้องในชุมชนคลองเตยที่เดินมาบอกว่าอยากทำเพลงกับเขาถึงบ้าน แถมไรม์ของนนท์ก็ยังคมเสียจนคลิปเพลง ‘สลัมคลองเตย’ ที่อัดเล่นๆ กลายเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ บุ๊ครู้สึกถูกชะตาและผูกพันราวกับนนท์เป็นน้องชายแท้ๆ ทั้งสองจึงเริ่มออกเดินทางร่วมกันบนเส้นทางเพลงฮิปฮอป ด้วยฝันว่าเส้นทางนี้จะนำพาทั้งคู่ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

3 ปีผ่านไป แม้เวลาจะพัดพาการเปลี่ยนแปลงมามากเพียงใด แต่เมื่อเราได้มาเจอบุ๊คและนนท์อีกครั้ง เราพบว่ามีบางอย่างในตัวเขาสองคนยังคงเดิม สิ่งเหล่านั้นถ่ายทอดผ่านสารคดีที่ผู้กำกับอย่างเบสท์ติดตามบุ๊คและนนท์ถึง 3 ปี กว่าจะออกมาเป็นภาพชีวิตเด็กสลัมคลองเตยกับความฝันอยากเป็นแรปเปอร์ชื่อดังท่ามกลางแรงกดทับของสังคมที่ต้องแลกอะไรไปมากมาย

‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ทำให้เห็นชีวิตของวัยรุ่นทั้งสองบนฝันที่ดูขบถต่อกรอบของผู้ใหญ่ การตามติดทั้งสองยังเผยให้เห็นถึงชีวิตมากมายที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่กดทับให้พวกเขากลายเป็นคนนอกของทั้งระบบการศึกษาและโครงสร้างสังคม และนำไปสู่คำถามปลายเปิดมากมายที่ชวนให้ขบคิด

 

ณ กรงขังล่องหนความเท่าเทียมในสถานศึกษา

สารคดีเริ่มต้นด้วยการแนะนำบุ๊คและนนท์ในฐานะแรปเปอร์ผ่านฉากแรปสดบนรถของทั้งสอง ก่อนที่จะค่อยเผยให้เห็นว่าทั้งสองก็เป็นเพียงวัยรุ่นทั่วไปผ่านกิจวัตรที่วนเวียนอยู่ที่โรงเรียน บ้าน และชุมชนคลองเตย โดยมีเพลงแรปอยู่ในทุกช่วงจังหวะของชีวิตในทุกวัน

ภาพมุมสูงในฉากแรกๆ เป็นเสมือนสายตาของคนนอกซึ่งเผยให้เห็นกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยตึกและสิ่งก่อสร้างมากมาย กึ่งคล้ายภาพมายาแห่งความซิวิไลซ์ หากแต่หลับใหลอยู่ท่ามกลางตึกระฟ้าเหล่านั้นคือ ‘คลองเตย’ ชุมชนแออัดที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย กล้องตัวเดิมพาเราบินลงสู่ชีวิตวุ่นวายใต้หลากหลังคาสังกะสี เปลี่ยนมุมมองจากคนนอกสู่คนในชุมชน เกาะหลังบุ๊คและนนท์ที่เกิดและอาศัยอยู่ที่ชุมชนคลองเตย มุดเข้ามุดออกตามตรอกซอกซอย ส่องมองสองชีวิตที่เผยให้เห็นอีกหลายชีวิตที่รายล้อมอยู่ภายใต้หลังคาสังกะสีซึ่งล้อมกรอบด้วยฝ้าบ้านบางๆ ที่ไม่ว่าจะพยายามเงยหน้ามองหาความหวังสู่ชีวิตที่ดีกว่าเพียงใด พวกเขากลับมองเห็นเพียงแต่สายไฟพะรุงพะรังและเพดานแล้วเพดานเล่าของโครงสร้างสังคมไทยที่กดทับอนาคตเอาไว้

ฉากที่เราอยากพูดถึง คือชีวิตในโรงเรียนของทั้งสองคนที่แม้ภาพในสารคดีจะฉายให้เห็นถึงกิจวัตรทั่วไปของนักเรียนทั้งการเข้าแถวตอนเช้า การตรวจผม และการสอบ แต่สิ่งที่แนบมาในความรู้สึกคือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ และไม่ตอบโจทย์ความสนใจของนักเรียน

เมื่อเสียงท่องจำบทเรียนดังก้อง และเสียงตะโกนของครูที่สั่งให้นักเรียนหุบปากกลบเสียงแรปที่เต็มไปด้วยความฝันของเด็กหนุ่มสองคน สะท้อนออกมาผ่านฉากหนึ่งที่บุ๊คกับนนท์คุยกันว่าอยากให้โรงเรียนลดเวลาบางวิชา เพิ่มเวลาให้วิชาอย่างดนตรีหรือศิลปะ และให้โอกาสนักเรียนได้เลือกลงวิชาตามความสนใจของตัวเอง ทว่าในความเป็นจริง การจะเปลี่ยนระบบการศึกษานั้นยากจนเกินไป เด็กหนุ่มทั้งสองจึงต้องมาเรียนรู้วิชาที่สนใจเอาเองจากอินเทอร์เน็ต ทว่านั่นกลับทำให้ผลการเรียนวิชาหลักของพวกเขาตกลงพรวดพราด เพราะไม่อาจตอบคำถามได้ว่าเนื้อหาเหล่านั้นมีประโยชน์ต่ออาชีพแรปเปอร์ที่พวกเขาอยากทำยังไง

แน่นอนว่ามันนำไปสู่ความขัดแย้งกับที่บ้าน เมื่อความฝันที่จะหาเงินจากไรม์ดูไม่มั่นคงพอที่จะยกฐานะทางบ้านที่หาเช้ากินค่ำหรือแม้กระทั่งตอบสนองความฝันของพ่อแม่ที่อยากเห็นลูกมีชีวิตดีกว่าด้วยการเอาใบปริญญามาเบิกทางออกจากความดิ้นรนที่ต้องเผชิญ

ไม่แปลกเลยที่การเดินทางตามติดบุ๊คและนนท์จะซ้อนทับกับภาพในวัยเด็กของผู้ชมอีกมากมาย ทั้งความคาดหวังจากครอบครัว ความกดดันจากที่โรงเรียน คูณความอึดอัดเข้าไปอีกเมื่อความถนัดทางด้านดนตรีของทั้งสองกลับถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะบุ๊คและนนท์ที่การศึกษาแทบจะเป็นเดิมพันสู่ชีวิตที่ดีกว่าของทั้งครอบครัว

ทว่าระบบการศึกษากลับไม่ใช่พื้นที่สำหรับค้นหาตัวเองและบ่มเพาะความฝัน แต่กลับเป็นกรงขังที่ผลักอีกหลายคนให้ต้องออกจากการศึกษา หรือยอมใช้ดินสอเป่าฝันดับหวังแล้วตายข้างในไปช้าๆ

การเกาะติดชีวิตของบุ๊คและนนท์ในสารคดีช่วยตอกย้ำว่ามนุษย์ล้วนหลากหลายเกินกว่าจะมีสูตรสำเร็จ เช่นฉากหนึ่งที่นนท์ทักไปหาครูใบเตยให้ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้ฟรีหลังเลิกเรียน ก่อนที่ครูใบเตยจะอธิบายให้นนท์ฟังว่าคนแต่ละคนต่างมีวิธีเรียนภาษาอังกฤษที่ไม่เหมือนกัน อย่างนนท์เองก็เรียนภาษาอังกฤษจากเพลงแรปจนมีพัฒนาการขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทว่าฉากที่ถูกแทรกเข้ามาเป็นระยะตลอดทั้งเรื่องคือภาพความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งการกระทำ คำพูด และความคิดที่ถูกกลบปิดด้วยวัฒนธรรมอันดีงาม ทั้งฉากนักเรียนก้มกราบครูและฉากนำท่องค่านิยม 12 ประการที่นอกจากไม่ตอบคำถามด้านการศึกษา กลับยังปิดประตูขังทุกการเงยหน้าขึ้นมาถามหาคำตอบของนักเรียน สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นหนึ่งในชนวนแห่งความอึดอัดที่ค่อยๆ ผลักบุ๊คออกไปจากพื้นที่ทางการศึกษาในท้ายที่สุด 

การเดินทางในระบบการศึกษาของวัยรุ่นทั้งสองคนถูกเผยให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง ในขณะที่นนท์ใช้เพลงแรปเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน บุ๊คที่เคยเรียนดีกลับมีผลการเรียนที่ตกลงเพราะความผิดหวังและหมดศรัทธาในระบบการศึกษา ท่ามกลางความตึงเครียดกับที่บ้านและความกังวลของพ่อถึงอนาคตของบุ๊คที่พร่ำบอกให้ลูกชายล้มเลิกความฝันจะเป็นแรปเปอร์แล้วเลือกทางชีวิตที่มั่นคง ทว่าความภูมิใจของแรปเปอร์นาม Elevenfinger กลับกลายเป็นการติดประกาศนียบัตรในฐานะ Speaker ของเวที TedxBangkok บนฝาบ้าน จากการที่เขาสามารถเล่าเรื่องราวในคลองเคยได้อย่างแหลมคม ย้ำเตือนว่ายังมีใครอีกหลายคนในสังคมที่เปิดพื้นที่ให้เขาฝันได้อย่างเต็มที่และยอมรับฟังในสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ โดยไม่ตัดสิน

แล้วกล้องก็หันไปจับบุ๊คหยิบ a day Magazine ฉบับ The Rise of Thai Rap ออกมาโชว์ด้วยความภูมิใจ โดยส่วนตัวแล้ว ฉากนี้ดึงเรากลับสู่ห้วงอดีตที่การพบกันของเรากับแรปเปอร์หนุ่มในครั้งแรกเกิดขึ้นจากความฝันของแต่ละคนที่สวนทางมาเจอกัน เมื่อเวลาผ่านไป ความฝันของเราที่อยากจะได้เขียนงานในนิตยสาร a day ได้กลายเป็นความจริง ส่วนความฝันของบุ๊คก็กำลังก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับแรงต้านของสังคมที่เหมือนจะกดทับให้ความฝันดับมอดลงตามการเติบโต

รอวันระเบิดออก 

 

ในโลกคู่ขนานที่แมลงถูกเด็ดปีก

จากมุมมองที่เกาะติดทั้งสองหนุ่ม นอกจากสารคดีจะให้เราได้เห็นชีวิตของบุ๊คและนนท์แล้ว ภาพของอีกหลายชีวิตในชุมชนคลองเตยที่ต้องเผชิญกับภาวะไม่กล้าฝันถึงอนาคตและดิ้นรนอยู่รอดไปวันต่อวัน หนำซ้ำยังกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนแทบโงหัวไม่ขึ้น ถูกฉายให้เห็นในแทบจะทุกขณะ โดยเฉพาะในฉากที่นนท์ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต

เมื่อเสียงค้อนเคาะทำลายฝ้าบ้านซอมซ่อปลุกนนท์ให้ตื่น ตรงหน้าของเด็กชายคือพายุลูกใหญ่เมื่อบ้านหลังเล็กที่แออัดไปด้วยคนในครอบครัวเกือบสิบคนซึ่งนอนซ้อนทับกันในทุกตารางวาต้องพบการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ทั้งครอบครัวต้องรีบขนของย้ายออกจากบ้านโดยมีเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้นก่อนที่คนของรัฐจะเข้ามารื้อบ้านกว่า 40 หลังในล็อกนั้นซึ่งรวมถึงบ้านของนนท์ แม้ทางการจะบอกว่าเป็นเพียงการซ่อมแซมก่อนให้ครอบครัวของนนท์ย้ายกลับเข้ามาอยู่ใหม่ แต่ประโยคที่แม่บอกนนท์ว่ายังไม่รู้เลยว่าต่อไปต้องไปอยู่ที่ไหนแสดงให้เห็นถึงความกดดันอย่างหนักเมื่อความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วถูกเขย่าให้พังลงบนความรู้สึกไม่แน่นอนว่าอนาคตจะมีที่ซุกหัวนอนต่อไปหรือไม่ แม้จะอยู่เพียงชั้นมัธยมต้นแต่ในฐานะพี่ชายของน้องๆ อีกหลายคน เรารู้สึกได้ถึงคำถามมากมายและความโกรธต่อชีวิตจากแววตาของนนท์ ภาพของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องแบกรับในทุกทางแจ่มชัด ขณะภาพความสำเร็จในฐานะแรปเปอร์เลือนราง การเปลี่ยนผ่านเริ่มสั่นคลอนความเชื่อเดิมขณะวัยรุ่นถูกผลัดเปลี่ยนสู่หลักสูตรการเป็นผู้ใหญ่อย่างเร่งรัด

“School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน”  นำเราเดินทางสู่ ‘โลกคู่ขนาน’ ที่มีอยู่จริง ภาพความเหลื่อมล้ำถูกฉายขึ้นตลอดการเดินทางไปกับสองหนุ่ม อึดอัดไปกับชีวิตที่ถูกกดทับทั้งฐานะ โอกาสหรือแม้กระทั่งความหวังและความฝัน แทรกด้วยภาพ ‘คุณคนดี’ ที่กำลังมอบสิ่งต่างๆ ซึ่งควรจะเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับ แต่พวกเขากลับเรียกมันว่า ‘ของขวัญ” อย่างการสนับสนุนที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในระหว่างโครงการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่ทั้งครอบครัวต้องไปขออยู่อาศัยบนชั้นสองซึ่งต่อเติมขึ้นมาชั่วคราวบนคานบ้านเล็กๆ ใกล้พังของคนรู้จักในชุมชนหรือแม้กระทั่งการเข้าถึงการศึกษาที่นนท์เผยกับเราภายหลังในวงคุยว่าอาจไม่ได้เรียนต่อเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงอีกหลากหลายฉากที่ทำให้พะอืดพะอมและหนักอึ้งจากฝ่าเท้าล่องหนที่บดขยี้ลงมาจากด้านบน

แปลกแท้ๆ ที่เมื่อแหงนมองขึ้นไป เรากลับพบเพียงท้องฟ้าที่ปราศจากเพดาน

หลายประเด็นถูกขุดขึ้นมาวางกองให้เห็น ทุกประเด็นล้วนเป็นสิ่งที่สังคมพยายามปิดตาหนึ่งข้างเอาเท้ายัดกลับลงใต้พรมเสมอ ในช่วงหนึ่ง สารคดีนำเราไปสนทนากับ “บอล” หนึ่งในเด็กหนุ่มเร่ร่อนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชน บอลเล่าว่าตนเองติดยาเสพติดและเกมอย่างหนัก ประโยคหนึ่งฉุดเราให้ดำดิ่งขณะตื่นขึ้นมองความเป็นจริงตรงหน้า เมื่อเด็กหนุ่มบอกว่าเห็นภาพตัวเองในอีก 15 ปีข้างหน้าไม่อยู่ในคุกก็คงเป็นคนขายยาเสพติดอยู่สักแห่ง คำพูดของเขาชวนให้เราขบคิดว่าผู้ร้ายที่ควรจะถูกตราหน้าไม่ใช่เหยื่อระบบตรงหน้าแต่คือโครงสร้างของระบบสังคมที่ย่ำยีชีวิตมากมายให้กลายเป็นผู้ร้ายจำยอมของสังคมอย่างเลือดเย็น

“School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน”  ค่อยม้วนๆพรมขึ้น เผยให้เห็นสิ่งซ่อนที่อยู่เบื้องล่าง ก่อนจะนำเราลงไปสัมผัสความรู้สึกของทุกชีวิตที่อยู่ใต้การกดทับนั้น แล้วเงยหน้าขึ้นมามองด้านบนพรมเป็นระยะ เห็นความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างทางความเชื่อปรากฏชัด ภาพในฉากต่างๆ ของภาพยนตร์ที่ตัดสลับกันไปมาระหว่างความเชื่อในขั้วตรงข้ามซึ่งในบางช่วงก็ไม่ได้ถูกจัดวางให้ปะติดปะต่อกัน กลับเน้นย้ำให้เห็นถึงความไร้ตัวตนของเส้นเชื่อมความเชื่อราวกับไม่ใครก็ใครคือโลกคู่ขนานที่ควรต้องถูกทำให้หายไป

เช่นเดียวกับหลายพลังความเชื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมของหลายคนที่กำลังมอดดับ

เช่นเดียวกับความฝันถึงชีวิตซึ่งดีกว่าที่ถูกทำให้สูญหาย

ภายใต้ซากปรักหักพัง ช่วงตอนหนึ่งของภาพยนตร์เผยให้เห็นภาพของแมลงสาบเล็กๆที่กำลังลนลานหนีการคุกคามลงไปหลบอยู่ใต้ซากบ้านที่ถูกทุบ ราวกับลืมไปว่าตัวมันเองก็มีปีกบินได้ ตอนนั้นเองสิ่งที่ดังก้องขึ้นมาในหัวบอกเราว่าไม่ว่าจะถูกเด็ดปีกอย่างไรก็ตาม แมลงสาบเป็นเผ่าพันธุ์ที่จะไม่มีวันถูกทำให้ตายได้ง่ายๆ

เช่นเดียวกับทุกความฝันท่ามกลางอีกกี่แรงต้านก็ตามที

 

แม้จะต้องเริ่มต้นจากศูนย์

เสียงเพลงฮิพฮอพเคล้าคลอเข้ากับเสียงจังหวะชีวิตของผู้คนในคลองเตย เจือจางด้วยเสียงท่องบทเรียนของนักเรียนกับเสียงเกรี้ยวกราดจากอำนาจนิยมทางการศึกษา

เป็นเวลาพักใหญ่ที่ผู้ชมถูกสลับจากมุมมองที่ตามติดวัยรุ่นทั้งสองมามองทุกอย่างด้วยสายตาของบุ๊คและนนท์ มวลความรู้สึกอึดอัดก่อกวนรุนแรงขณะคำถามผุดขึ้นมากมาย พาลให้สงสัยว่าแล้วบุ๊คกับนนท์ที่ต้องอยู่กับความรู้สึกนี้มาตลอดทั้งชีวิตผ่านทั้งหมดนี้มาได้อย่างไร ในช่วงท้าย บทสนทนาสุดแสนธรรมดาระหว่างแวะกินส้มตำริมถนนของบุ๊ค นนท์และเพื่อนในโรงเรียนจุดพลุฉายภาพหลากทางฝันของวัยรุ่น ก่อนจะลอกคราบให้เห็นรอยร้าวที่เกิด เมื่อความฝันซึ่งเคยบรรจบกันของทั้งสองเดินทางมาถึงทางแยกที่ต่างคนต่างต้องเลือก

“เคยเริ่มต้นจากศูนย์มาแล้ว จะเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่อีกครั้งก็ไม่เป็นไร”  คำพูดของบุ๊คปรากฏขึ้นในช่วงหนึ่งเมื่อชีวิตเขาเดินทางมาถึงอีกทางแยกสำคัญของชีวิต การเดินต่อไปบนเส้นทางนี้จะรอดมั้ยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครตอบได้ แต่จะเดินต่อไปทางไหนและอย่างไรต่างหากที่เป็นคำถามซึ่งต่างต้องตอบให้ได้ด้วยตนเอง

นั่งอยู่กึ่งกลางระหว่างบทสนทนาบนรถกับบุ๊คและนนท์นำผู้ชมเดินทางมาสู่สิ้นสุดปลายทางของการเดินทางร่วมกันในฉากสุดท้าย ก่อนจะปล่อยผู้ชมทิ้งไว้ตรงทางแยกของมวลอารมณ์นับแสนและคำถามนับล้านที่ผุดขึ้นมาตรงหน้า ขณะเหม่อมองหน้าจอที่ดับสนิทลงพลางเฝ้านึกว่าชีวิตของทั้งบุ๊คและนนท์จะดำเนินต่อไปอย่างไร

เราได้พูดคุยกับบุ๊คอีกครั้งในวงคุยหลังฉายภาพยนตร์จบ ทั้งสองคนเติบโตขึ้นมาก ทว่าแววตาและความเชื่อบางอย่างยังคงเหมือนเดิม มันคือแววตาแห่งความขบถและจะไม่ยอมก้มหัวให้ความอยุติธรรมในชีวิตได้โดยง่าย เป็นแววตาที่ยังคงมีพลังและมุ่งมั่นทำลายเพดานแล้วเพดานเล่าของโครงสร้างที่กดทับในสังคมด้วยความเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งหรืออย่างน้อยก็บางชีวิตได้ 

แววตาของบุ๊คและนนท์ในทุกฉากตอนสะท้อนให้เห็นแววตาของเราเองที่เคยเต็มไปด้วยพลังในช่วงวัยนั้น เปลี่ยนผ่านสู่ตัวเราที่ใกล้จะหมดพลังในวันนี้ และแม้ว่าเราจะยังตอบหลายคำถามที่ภาพยนตร์ทิ้งไว้ให้ไม่ได้ แต่ความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงได้รับการเยียวยา ตอกย้ำว่าทุกการพบกันล้วนมีเหตุผลจริงๆ เพราะทุกชีวิตไม่ใช่โลกคู่ขนาน แต่คือชีวิตที่อาจหรืออาจไม่สวนทางมาเจอกัน

หากว่าสักวัน บางทางแยกจะนำใครและใครกลับมาเจอกันอีกครั้ง ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เราหวังว่าฟ้าในวันจะเป็นฟ้าอย่างที่ควรจะเป็นได้สักที หรืออย่างน้อยๆ หากบางเพดานจะยังคงอยู่ หวังว่าใครที่ว่านั้นจะได้กลับมาเจอกันด้วยแววตาแบบเดียวแบบเดิมกับที่เคยเปล่งประกายฝันและพลังเช่นครั้งวัยเยาว์

เงยหน้ามองขึ้นไปข้างบน นึกสงสัยว่าทำไมคนเราถึงต้องใช้แรงมากมายขนาดนี้เพื่อพังทะลุแต่ละเพดานขึ้นไป เพียงเพื่อจะเจอกับเพดานแล้วเพดานเล่าที่มากมายราวกับไร้ที่สิ้นสุด ก็คงจนกว่าจะถึงวันนั้นนั่นแหละ ที่เราจะขึ้นไปถึงชั้นบนสุด เพื่อบอกกับคนที่อยู่ข้างบนว่า เราต่างก็อยู่ใต้แผ่นฟ้าผืนเดียวกัน

แต่กว่าที่เราจะไปถึงวันนั้น แน่นอนว่า อีกหลายชีวิตจะยังคงต้องเดินตามทางต่อไป เช่นเดียวกับชีวิตจริงของบุ๊คและนนท์

ปี 2020 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ยากสำหรับบางคน

แต่สำหรับใครอีกหลายคน ชีวิตไม่เคยง่ายมาตั้งแต่ต้น

พวกเขาจึงยิ่งต้องสู้ยิบตา

AUTHOR