โลงต่อความตาย : พิธีศพจำลองที่เยียวยาคนเกาหลีใต้จากความเครียดและการฆ่าตัวตาย

เคยสงสัยมั้ยว่าความเจริญของเกาหลีใต้ทำให้คนในประเทศต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง?

จริงอยู่ที่ความเจริญและวัฒนธรรมสร้างใหม่ของแดนกิมจิเติบโตเร็วมากในเวลาเพียงแค่ไม่กี่สิบปี พวกเขามีเศรษฐกิจมั่งคั่ง การศึกษาระดับโลก มีวัฒนธรรมป๊อปส่งออกมากมาย แถมนักท่องเที่ยวทั่วโลกยังยกให้เป็นประเทศน่าเที่ยว ไม่เว้นแม้แต่เราที่ตกหลุมรักสินค้า หนัง และเพลงสนุกๆ ของคนในชาตินี้หัวปักหัวปำ

แต่อีกด้านของภาพลักษณ์ความเจ๋งบนเวทีโลก ชาวกิมจิต้องแลกความสำเร็จด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว เด็กๆ ชาวเกาหลีโตมาพร้อมค่านิยมและความกดดันว่าต้องเรียนดี ทำงานเด่น ร่ำรวย มีเกียรติ และมีครอบครัวสมบูรณ์แบบ ขณะที่คนตัวเล็กพยายามดิ้นรน รัฐก็พยายามก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลกตลอดมา นั่นทำให้ความกดดันส่วนบุคคลยิ่งหนักขึ้นเมื่อพวกเขาต้องพบกับความกลัดกลุ้มของโครงสร้างสังคมส่วนบนที่บีบให้ตัวเองทำงานหนัก สร้างชีวิตที่เพอร์เฟกต์และเป็นกำลังสำคัญของชาติที่ต้องการเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรม

คนส่วนหนึ่งจึงเลือกหาทางลงของความเครียดจากทุกทิศทางด้วยการฆ่าตัวตายให้จบๆ ไป

Photo: Jean Chuang

สิบกว่าปีที่ประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือสิบปีที่คนเกาหลีฆ่าตัวตายมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราเฉลี่ยการตายอยู่ที่ 43 คนต่อวัน หรือมีการฆ่าตัวตายในทุกๆ 33 นาทีต่อวัน การตัดสินใจฆ่าตัวตายของคนเกาหลีมีตั้งแต่คนดังในวงการบันเทิงที่เราคุ้นหน้า นักการเมือง ข้าราชการ ไปจนถึงคนทั่วไป โดยเฉพาะในสังคมเมืองอย่างโซลถือเป็นพื้นที่ที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุด

ล่าสุดดัชนีวัดความสุขทำให้เราเห็นว่าชาวกิมจิเป็นชาติที่มีความสุขน้อยที่สุดในทวีปเอเชีย เกาหลีใต้กลายเป็นเมืองหลวงของการฆ่าตัวตายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปี 2015 นั่นเป็นเพราะว่าคนแก่ ซึ่งเป็นประชากรกว่าครึ่งของประเทศรู้สึกไม่อยากเป็นตัวถ่วงใคร ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากเป็นไอ้ขี้แพ้ในสายตาคนอื่น

เมื่อคนในชาติกำลังต่อสู้กับพายุอารมณ์ด้านลบ รัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาก่อตั้งศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายเกาหลี (Korea Suicide Prevention Centre) และสายด่วนหลายคู่สายเพื่อรับมือกับวิกฤตินี้ ในปี 2018 รัฐบาลทุ่มเงินถึง 10.5 พันล้านวอน (เกือบ 45 ล้านบาท) เพื่อแก้ไขให้คนฆ่าตัวตายน้อยลง เงินส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเพิ่มที่ปรึกษาด้านจิตใจในศูนย์สวัสดิการสุขภาพจิตของประชาชนมากกว่า 500 คน ถ้ามองดูดีๆ เงินส่วนนี้ไม่น้อยเลยถ้าถูกนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่น แต่จำเป็นต้องลงทุนเพราะการฆ่าตัวตายกลายเป็นปัญหาน่ากุมขมับระดับชาติไปเสียแล้ว

Photo: CNN

Photo: ibtimes.co.uk

นอกจากการหาทางออกของชีวิตแบบสุดโต่งด้วยการตาย หรือการแก้ปัญหาแบบประนีประนอมกับตัวเองอย่างการพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ยังมีหนทางหนึ่งที่เรียบง่าย สอดแทรกด้วยปรัชญาล้ำลึกและเป็นเทรนด์ที่บูมมากของประเทศเกาหลีตั้งแต่ปี 2016 ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เรากำลังพูดถึง การจัดงานศพปลอม (fake funeral) งานศพนี้ไม่เหมือนกับการนอนโลงสะเดาะเคราะห์เพียงเพื่อหวังให้เรื่องร้ายๆ กลายเป็นดีแบบสังคมไทย แต่งานศพปลอมๆ ของคนเกาหลีใต้มีชั้นเชิงกว่ากว่าที่คุณคาดคิด

เจ้า fake funeral ของแดนกิมจินี้จะช่วยกระตุ้นคนเข้าร่วมค้นหาจิตวิญญาณของตัวเอง ผ่านการเตรียมตัวตายอย่างดี พิธีกรรมนี้จะทำให้พวกเขาได้เข้าใกล้ความตายในระดับที่ชีวิตปกติไม่มีทางได้ทำ ด้วยเป้าหมายว่าการให้คนได้ลิ้มรสความตายเพียงเล็กน้อย จะเติมเต็มความกระหายให้อยากมีชีวิตอยู่อีกครั้งหนึ่งโดยไม่จำกัดช่วงวัยของคนใช้บริการ

Photo: ibtimes.co.uk

บริการนี้มีทั้งฟรีและเสียเงิน พวกเขาต้องเลือกภาพหน้าศพของตัวเองเพื่อความสมจริงของพิธีกรรม ใส่ชุดผ้าลินินแบบประเพณีที่ใช้ในพิธีศพดั้งเดิม ขั้นตอนถัดมา ผู้เข้าร่วมจะได้ฟังบรรยายจากนักปรัชญาที่เชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับการมีชีวิต การดำรงอยู่จนถึงการลาจากโลกใบนี้ไป เสมือนโอวาทกระตุ้นให้ฉุกคิดถึงความหวังบนทางข้างหน้าของชีวิต

หลังจากนั้นคือขั้นตอนการสารภาพหรือการระบายความรู้สึกผ่านการเขียนจดหมายลาตายในบรรยากาศแสงสลัวจากเชิงเทียน ภายในห้องที่ตกแต่งด้วยดอกเบญจมาศ ขั้นตอนนี้แหละที่ผู้เข้าร่วมหลายคนร้องไห้ฟูมฟายอย่างหนัก ซึ่งเรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการระบายอารมณ์ที่เกิดจากความกดดันและความเครียดจากปมปัญหา ความพ่ายแพ้ และบาดแผลที่พวกเขาต้องแบกรับมาทั้งชีวิต บางคนเลือกที่จะขอโทษครอบครัว คนรัก ลูกหลาน หรือข้ามผ่านความรู้สึกครั้งสำคัญอย่างการให้อภัยความผิดพลาดของตัวเอง

Photo: ibtimes.co.uk

Photo: nytimes

ส่วนสำคัญที่สุดของพิธีคือการเอนตัวลงนอนในโลงไม้ ตอกโลงปิดเป็นเวลา 10 – 30 นาที (แล้วแต่บริษัทผู้ให้บริการแต่ละเจ้า) ผู้เข้าร่วมต้องอยู่ในความมืด ความเงียบสงบ ตัดขาดจากโลกภายนอกที่วุ่นวาย ช่วงเวลานี้พวกเขาจะได้ครุ่นคิด ทบทวนและทำสมาธิกับตัวเองอย่างแท้จริง

จริงๆ แล้วไอเดียเรื่องการเข้าใกล้ความตายเพื่อระลึกถึงการมีชีวิตบนโลกไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ในโลกสมัยใหม่ถูกหยิบยกมาทำในเชิงธุรกิจมากขึ้น เช่น คาเฟ่ความตายในยุโรปที่เปิดพื้นที่ให้คนมานั่งพูดคุยเรื่องความตายอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านระดับของการสื่อสารด้วยการคิด การพูด และการฟัง แต่ในเกาหลีใต้มาในฟอร์มของการลงมือทำเหมือนจริง มีทั้งการคิด การฟัง การเขียน และกระตุ้นประสาทสัมผัสบนเนื้อตัว ด้วยการสวมใส่ชุดที่คนตายใส่ การนอนในโลง เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ ด้วยการสร้างพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ในความคิดให้จับต้องได้ในโลกความเป็นจริงด้วย

Photo: ibtimes.co.uk

หลัง 30 นาทีในโลงศพ ทุกคนที่เข้าร่วมจะรู้สึกราวกับว่าพวกเขาโล่งอก สดชื่น เหมือนได้เกิดใหม่ เพราะได้ปรับมุมมองของตัวเองให้สมดุลกว่าเดิม บางคนถึงกับยิ้มแย้ม หัวเราะ และนำสมาร์ตโฟนของตัวเองมาเก็บภาพที่ระลึกกับโลงศพที่ตัวเองเพิ่งนอนมาเมื่อครู่ และเกิดบทสนทนาเล็กๆ กับเพื่อนร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ ส่วนเรื่องหลังจากพิธีกรรมน่าจะเป็นการจัดการกับความคิด ความรู้สึกและการต่อสู้ในโลกแห่งความจริงของทุกคนต่อด้วยหนทางของตัวเองให้ดีที่สุด

เมื่อเรามองสังคมเกาหลีใต้ในภาพรวม แม้ว่าพวกเขาจะเอาชนะความยากจนในหลายสิบปีก่อนหน้า ต่อสู้เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย สร้างสรรค์วัฒนธรรมสีสันฉูดฉาดที่น่าประทับใจได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ดูเหมือนว่าก้าวถัดมาที่พวกเขาต้องรับมืออย่างจริงจังคือจิตใจของคนยุคใหม่ที่กำลังอ่อนไหวและเปราะบาง และนี่อาจเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยเงินและชื่อเสียงที่พวกเขาสร้างมาเสมอไป

Photo: nytimes

Photo: Jean Chuang

DID YOU KNOW

  • แม้จะมีบริการจัดงานศพปลอมของศูนย์บำบัด Hyowon ให้บริการฟรีกับคนทั่วไป แต่ยังมีกลุ่มผู้ให้บริการเอกชนให้บริการแบบเสียเงินเกือบ 43,000 วอน (ประมาณเกือบ 1,300 บาท) สำหรับการจัดงานศพแต่ละครั้งที่กินเวลาตั้งแต่ต้นจนจบถึง 4 ชั่วโมง
  • ศูนย์บำบัด Hyowon เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2012 มีผู้เข้าใช้บริการงานศพจำลองที่เป็นโปรแกรมฟรีมาแล้วกว่า 15,000 คน
  • บริษัทเอกชนในเกาหลีบางแห่งเลือกใช้พิธีศพปลอมให้พนักงานของตัวเองได้คลายความตึงเครียด
  • ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลว่างานศพปลอมช่วยเยียวยาผู้เข้าร่วมในระยะยาวได้จริงหรือไม่
  • ถึงคุณจะยังไม่อยากตาย แต่ถ้าอยากลองใกล้ชิดความตาย บริการนี้ก็ต้อนรับคนทุกคนด้วย
  • นอกจากสายด่วนสุขภาพจิต สถาบันป้องกันการฆ่าตัวตายของเกาหลี ใช้วิธีเปิดเพลงให้กำลังใจมนุษย์เงินเดือนในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และตู้หยอดเหรียญขายกล่องแห่งความหวังราคาไม่แพง ซึ่งบรรจุภาพยนตร์ที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านจิตใจ รวมถึงลูกอม และแผนที่สำหรับเดินเพื่อสุขภาพ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศด้วย

อ้างอิง

koreaherald.com, sbs.com.au, worldatlas.com, vice.com, nytimes.com

AUTHOR