Reach for the SKY : สารคดีตีแผ่การศึกษาเกาหลีใต้ที่แค่ตั้งใจเรียนอาจยังไม่พอ

Director: Steven Dhoedt, Wooyoung Choi
Genre: Documentary
Region: South Korea

ยังจำความรู้สึกในปีที่เตรียมตัวสอบแอดมิชชันเข้ามหาวิทยาลัยกันได้อยู่ไหมครับ (ขออภัยหากใครต้องย้อนเวลาไปไกลหลายปีหน่อย ขนาดผู้เขียนเองยังผ่านช่วงเวลานั้นมาเกือบ 10 ปีแล้วเลย)

เท่าที่ยังพอจำได้ลางๆ ความทรงจำในช่วง ม.6 ของผมไม่ได้ถูกบดบังด้วยกองหนังสือเล่มหนาหรือภาพที่ไปนั่งติวเข้มเข้ามหาวิทยาลัยอย่างหนัก ผมยังคงเรียนๆ เล่นๆ ไปเที่ยวกับเพื่อน และเจียดเวลาแค่ช่วงใกล้สอบเก็บตัวอ่านหนังสือมากหน่อย
(เมื่อพบว่าสุดท้ายอ่านไม่ทัน) ช่วงเวลาที่ลุ้นพอให้หัวใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ก็เป็นแค่ช่วงประกาศคะแนนสอบว่าจะเกินคาดหรือต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แอบเครียดบ้างพอให้หัวใจกระชุ่มกระชวย หรือสับสนกับเส้นทางที่จะเลือกว่าเป็นทางที่ใช่จริงไหม

แต่นั่นแหละ พอผ่านมาได้เกือบ 10 ปี การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กวัยรุ่นก็เป็นแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง

ทว่าความรู้สึกนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับนักเรียนมัธยมปลายชาวเกาหลีใต้ ที่การสอบซูนึง (수능) หรือการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นปีละครั้งนั้นเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และอาจหมายถึงตัวกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

Reach for the SKY คือสารคดีตามติดชีวิตเด็กเอนท์ภาคเกาหลีใต้ที่แสนจะดุเดือด เข้มข้น และพาเราลุ้นจนเหมือนกับกำลังอยู่ในสนามสอบซูนึงครั้งนี้ไปด้วย เด็กเกาหลีใต้แสนกว่าคนต่างต้องแข่งขันเพื่อพาตัวเองไปเป็นหนึ่งใน 0.01 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำกลุ่ม SKY คือ Seoul National University, Korean University และ Yonsei University ให้ได้ ซึ่งหากใครสอบไม่ผ่านและไม่มีเป้าหมายที่จะเข้ามหาวิทยาลัยระดับรองลงมา ก็ถึงขั้นยอมใช้เวลาอีกหนึ่งปีเพื่อรอสอบซูนึงใหม่อีกครั้ง (และบางคนก็มากกว่าหนึ่งปี) เพื่อให้ขึ้นไปอยู่บนฟากฟ้าแสนสดใสนี้ได้

สารคดีโฟกัสไปที่ 4 ตัวละครหลักคือ ฮยอนอา-เด็กสาวหน้าตาดีที่รอสอบซูนึงใหม่อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้เธอไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ ฮเยอิน-เด็กสาวม.6 ที่จะสอบซูนึงเป็นครั้งแรก และแบกความกดดันจากครอบครัวที่มองว่าเธอเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด มินจุน-หนุ่มตี๋ที่สอบซูนึงไม่ผ่านครั้งแรกและใช้เวลาหนึ่งปีก่อนสอบใหม่เข้าโรงเรียนประจำสำหรับติวเข้มที่โหดไม่แพ้การเข้าค่ายเตรียมทหาร และคิม คีฮุน-ติวเตอร์ภาษาอังกฤษสุดป๊อปที่ไม่ต่างจากไอดอลของนักเรียนมัธยมและผู้ปกครองทั่วเกาหลีใต้ ผู้อาศัยช่องว่างของการเตรียมสอบซูนึงของเด็กๆ เป็นโอกาสของตัวเอง

หนังเลือกเล่าด้วยวิธีเรียบง่ายไม่แปลกประหลาด คือนับถอยหลังจาก 300 วันก่อนการสอบซูนึงในปี 2014 จนถึงวันสอบและช่วงประกาศผล ค่อยๆ พาไปรู้จักซับเจกต์ทีละคนอย่างน่าสนใจ เราชื่นชมที่ผู้กำกับสามารถเข้าไปถ่ายทำชีวิตของเด็กๆ และคนในครอบครัวได้อย่างใกล้ชิด (นับถือความใจกว้างของตัวซับเจกต์ด้วย) แม้ว่าบางเหตุการณ์อาจทำให้ตัวเด็กหรือพ่อแม่ของพวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความคิดไปบ้างก็ตาม

สิ่งที่ดีเหลือเกินและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้สนุกมากๆ คือจังหวะการเล่าที่ร้อยเรียงฟุตเทจตลอด 1 ปีของการถ่ายทำมาจัดวางซีนต่างๆ ให้คนดูได้อินไปกับเรื่องราวที่มีรสชาติครบครัน ทั้งมุกตลกๆ อย่างซีนที่แม่ของฮยอนอาพาไปหาหมอดู ซีนดราม่าที่ชวนเราเห็นความกดดันของเด็กๆ ในช่วงก่อนสอบ หรือตอนประกาศผลที่ลุ้นจนเหมือนเราเป็นคนสอบเอง และความตื่นเต้นในเช้าวันสอบซูนึงที่จริงจังระดับที่ไม่เคยเห็นในประเทศไหนมาก่อน ตั้งแต่การขออนุญาตให้ห้างร้านกิจการต่างๆ เปิดสายกว่าปกติหนึ่งชั่วโมงเพื่ออำนวยความสะดวกให้เด็กนักเรียนไปสอบ ไปจนถึงงดให้เครื่องบินทุกลำขึ้นในช่วงที่มีการสอบฟังภาษาอังกฤษ! องค์ประกอบทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ Reach for the Sky สนุก ตื่นเต้น และไม่เบื่อเลย ตลอดชั่วโมงครึ่งของหนัง

หนังเล่าให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่โอบล้อมระบอบการศึกษาเกาหลีใต้ได้อย่างสุดขั้วซึ่งเป็นมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ที่เซอร์ไพรส์จนถึงขั้นเซอร์เรียลก็คือการพึ่งพาไสยศาสตร์ เข้าวัด เข้าโบสถ์ เดินขึ้นเขาเพื่อร้องขอความหวังจากพระเจ้าของเหล่าพ่อแม่ที่สวดภาวนาให้ลูกๆ สิ่งนี้สะท้อนชัดเจนว่าการสอบนี้ไม่ได้กดดันแค่ตัวเด็กเท่านั้น แต่มีผลต่อหน้าตา ฐานะทางสังคมของพ่อแม่เองเช่นกัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้ครอบงำสังคมมายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้วนั่นเอง

สำหรับเรา ฉากสะเทือนใจที่สุดหนีไม่พ้นฉากกิจวัตรประจำวันของมินจุนในโรงเรียนประจำที่ไม่ต่างจากการฝึกคนให้กลายไปเป็นหุ่นยนต์หรือทาสรับใช้ระบอบสังคม มินจุนและเพื่อนๆ ถูกกดดันตั้งแต่เวลาตื่นและเข้านอน การอาบน้ำ เวลาในการอ่านหนังสือ
ถูกจับตามองจากกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ในทุกห้องเรียนที่ไม่ต่างจากการเป็นนักโทษคุมขัง จนเราตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้คุ้มค่าแล้วหรือกับการที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่พวกเขาใฝ่ฝันจะไปถึง ผลลัพธ์ที่จะได้จากการแลกช่วงเวลาสดใสของวัยรุ่นนี้คุ้มค่าจริงไหม การสอบที่เดิมพันด้วยชีวิตของเด็กนักเรียนมัธยมปลายทั้งประเทศ กำลังทำหน้าที่ช่วยพัฒนาสังคมอย่างที่มันควรจะเป็นจริงหรือเปล่า

ในฐานะคนนอก เราคงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ถูกควรหรือไม่ (แม้จะมีคำตอบในใจที่ผุดขึ้นมาระหว่างดูสารคดีเรื่องนี้อยู่แล้วก็ตาม) แต่ Reach for the Sky โยนคำถามกลับมาให้เราถกเถียงต่อระบอบการศึกษาของไทยที่ถึงจะเข้มข้นจริงจังน้อยกว่าเกาหลีใต้ แต่ก็ยังมีปัญหาให้เราคอยติดตามอยู่ทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นระบบการสอบที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือค่านิยมที่การเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ย่อมหมายถึงการมีอนาคตที่สดใสรอพวกเขาอยู่

ผมยอมรับว่าระหว่างที่ดูก็เผลอคิดไปว่าเราโชคดีที่การสอบแอดมิชชันของไทยไม่ได้จริงจังบ้าเลือดเท่าเกาหลีใต้ พ่อแม่ของผมไม่ต้องไปเฝ้าอ้อนวอนหรือไหว้พระให้ผมสอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ ถ้าใครสอบไม่ติดหรือพลาดไปบ้างก็ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนรองรับ
(หลายแห่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนดีกว่ามหาวิทยาลัยรัฐบาลด้วยซ้ำ) และเท่าที่ประเมิน ค่านิยมของเด็กสมัยนี้ก็เริ่มมองว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ใช่คำตอบเดียว

แต่นี่ก็เป็นแค่ความคิดของเด็กไทยคนหนึ่งที่เติบโตมาในระบบการศึกษาไทยขั้นพื้นฐาน ถูกปลูกฝังค่านิยมบางอย่างมาไม่ต่างกัน และอาจเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สลัดอุดมการณ์บางอย่างของสังคมไปไม่พ้น ผมไม่แน่ใจแล้วว่าเราโชคดีจริงหรือเปล่า

Reach for the SKY เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในเครือ SF แล้ววันนี้ ดูรอบฉายได้ที่เพจ Documentary Club

AUTHOR