โลกอยู่ได้ คนอยู่ดี ประเทศยั่งยืน ชวนดูไอเดีย ESG ทั่วโลกที่บอกว่าใครก็สามารถสร้างความยั่งยืนได้

โลกอยู่ได้ คนอยู่ดี ประเทศยั่งยืน ชวนดูไอเดีย ESG ทั่วโลกที่บอกว่าใครก็สามารถสร้างความยั่งยืนได้

‘เรามักจะเห็นประโยชน์ของมันในวันที่สายไป’ – นี่อาจเป็นประโยคหนึ่งที่สรุปให้เห็นถึงปฏิกิริยาของมนุษย์เราที่มีต่อสภาวะโลกรวน สังคมยุ่งเหยิง และเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ

เพราะเราต่างรู้กันดีว่าโลกกำลังแปรปรวนขึ้นทุกปีๆ หน้าหนาวก็ไม่หนาวบ้างล่ะ ส่วนหน้าร้อนก็หนาวขึ้นมาเสียอย่างนั้น หนำซ้ำไปกว่านั้น ยิ่งโลกรวนมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ เชื้อชาติ และชนชั้นก็ยิ่งชัดเจนกว่าเก่า ยังไม่นับรวมการรวบใต้โต๊ะ กินใต้ดิน ที่ทำให้ปลาใหญ่ได้ประโยชน์แบบไม่อั้น แต่ปลาเล็กปลาน้อยที่ว่ายแบบกระเสือกกระสนในสังคมเริ่มหมดแรงลงทุกวัน

คำถามคือเราจะทำยังไงให้สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ ผู้คนในสังคมก็อยู่ดี แถมธุรกิจน้อยใหญ่ที่ขับเคลื่อนรายรับของประเทศก็เติบโตอย่างยั่งยืน? คำตอบอาจอยู่ที่ ESG หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ

ESG ชื่อนี้มาพร้อมกับความยั่งยืน

ESG (Environment, Social, and Governance) หรือการลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการสังคม และการจัดการธรรมาภิบาลคือกรอบการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคประชาชน สังคม และธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

ที่มาของคำนี้ซับซ้อนและยาวนาน แต่ถ้าจะให้เล่าอย่างย่อๆ ESG เริ่มใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2004 ต่อมาห้างร้านบริษัทต่างๆ ก็เริ่มหันมาใส่ใจมากขึ้นหลังจากผู้ลงทุนทั่วโลกรวมตัวกันในชื่อ UN PRI (Principles for Responsible Investment) โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุน 

เป้าหมายของการรวมตัวคือการสื่อสารให้ธุรกิจต่างๆ หันมาขับเคลื่อนธุรกิจด้วยหลัก ESG มากขึ้นเพื่อสร้างสมดุลระหว่างโลกและสังคมมากกว่าการสร้างผลกำไรอย่างเดียว นั่นหมายความว่ามากกว่าภาพลักษณ์ที่ดี ถ้าธุรกิจนั้นโปร่งใสด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหาร ในทางอ้อม ธุรกิจนั้นก็จะมีผู้สนับสนุนมากขึ้น เพราะปัจจุบันองค์กรด้านการเงินและธุรกิจทั่วโลกต่างก็ใช้หลัก ESG ประเมินความน่าลงทุนของธุรกิจกันทั้งนั้น 

พูดแบบนี้ดูเหมือนเราจะต้องมีเงินทุนสูงและเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่อย่างเดียวเท่านั้นถึงจะทำได้ใช่มั้ยล่ะ แต่ที่จริงแล้ว ESG นั้นใกล้ตัวกว่านั้นมาก ลองมาดูกันว่ารายละเอียดของหลักการที่ว่านั้นเป็นอย่างไร แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยและห้างร้านทั่วโลกใช้ ESG ขับเคลื่อนสังคมยังไง

E-Environment กับไอเดียกำจัดขยะในทะเลและนวัตกรรมฝักบัวลดการใช้น้ำ

เริ่มกันที่ตัวแรกอย่าง E ซึ่งมาจากคำว่า Environment คือการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเน้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยนิดให้เกิดประโยชน์มหาศาล รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และหมั่นดูแลรักษาสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายไปให้กลับมางดงาม

แน่นอนว่ากับคนธรรมดาทั่วไป เราสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการลดการใช้พลาสติก รู้จักแยกขยะ รวมถึงหมักขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย ฯลฯ ส่วนบริษัทห้างร้านก็ควรต้องมีระบบการจัดการของเสียที่มีคุณภาพ แต่นอกจากทำสิ่งพื้นฐานเหล่านี้แล้ว โลกใบนี้ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากที่คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเชิงลึก

กับคนตัวเล็กตัวน้อยที่เห็นได้ชัดเจนคือ Boyan Slat เด็กชายชาวเนเธอแลนด์ที่พบว่าใต้น้ำนั้นเต็มไปด้วยขยะมากกว่าสัตว์ทะเล เขาจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของท้องทะเลและก่อตั้ง The Ocean Cleanup ขึ้นเพื่อระดมทุนสร้างทุ่นลอยน้ำรูปตัววีความยาว 100 กิโลเมตร ที่ดักจับขยะกว่า 42 เปอร์เซ็นต์ในมหาสุมทรแปซิฟิกได้กว่า 70,320,000 กิโลกรัม ในระยะเวลา 10 ปี โดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศ จากโครงการนี้ทำให้ Slat ได้รับทุนด้านการเงินและคนจำนวนมหาศาลจนสามารถพัฒนาเครื่องดักจับขยะชนิดใหม่ๆ ได้หลากหลายขึ้น

อีกนวัตกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือนวัตกรรมจาก Cirrus Shower สตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมจากฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำที่โลกกำลังเผชิญ โดยคิดค้นวิธีการเปลี่ยนให้หัวฝักบัวธรรมดาทั่วไปกลายเป็นหัวฝักบัวแบบใหม่ไฉไลกว่าเดิมที่นอกจากจะเก๋กู้ด ก็ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำได้ดี ที่สำคัญ ยังช่วยลดการใช้น้ำลงถึง 75 เปอร์เซ็นต์และใช้พลังงานความร้อนในการทำให้น้ำร้อนน้อยกว่าฝักบัวทั่วไปด้วย 

เรียกว่าสร้างนวัตกรรมเพียง 1 อย่าง แต่แก้ปัญหาเรื่องพลังงานได้ถึง 2 อย่างเลย!

S-Social กับแพลตฟอร์มเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้านและแบรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับผู้หญิง

สิ่งแวดล้อมจะดีได้ก็สัมพันธ์กับสภาพสังคมที่ดีเช่นกัน ในหลักการนี้ S-Social หรือการจัดการด้านสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้ แล้วการจัดการด้านสังคมนั้นหมายความว่าอะไร? 

การจัดการด้านสังคมนั้นหมายถึงการจัดการเพื่อให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ได้รับสิทธิประโยชน์และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ทุกคนต้องได้รับการจ้างงานที่เป็นธรรมและเพียงพอกับรายจ่าย สภาพความเป็นอยู่ในการทำงานต้องเหมาะสม ผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องไม่ถูกกีดกัน ส่วนผู้ทุพพลภาพก็ควรมีโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพ ปลายทางของความเท่าเทียมในสังคมตรงนี้จะทำให้ผู้คนไม่ต้องปากกัดตีนถีบมากเกินไปจนสามารถใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยากนั่นเอง

แพลตฟอร์มเพื่อการจัดการสังคมที่น่าสนใจคือ Beam จากประเทศอังกฤษซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Alex Stephany ได้รู้จักกับคนไร้บ้านที่ตกงานอยู่นานหลายเดือนจนต้องอาศัยหลับนอนแถวสถานีรถไฟท้องถิ่น Stephany จึงตั้งใจว่าจะช่วยให้คนไร้บ้านเหล่านี้ได้มีงานทำ เขาจึงสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนไร้บ้านมีทักษะการทำงานด้านต่างๆ ทั้งยังช่วยหางานที่ตอบรับทักษะนั้น จนปัจจุบัน Beam ได้เปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้านจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้วกว่า 1,130 คน!

นอกจากการสนับสนุนการจ้างงานของ Beam ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือแบรนด์เสื้อผ้าสมัยใหม่ต่างๆ ไม่เพียงใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมแต่ยังใส่ใจกับคุณภาพชีวิตคนด้วย โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่มักเป็นแรงงานเย็บผ้าที่เน้นปริมาณแต่ไม่เน้นคุณภาพจนคนเหล่านั้นต้องเสียชีวิต 

หนึ่งในแบรนด์ดีที่น่าสนับสนุนคือแบรนด์สัญชาติอเมริกันอย่าง Parker Clay ที่ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร Ellilta เพื่อนำผู้หญิงในเอธิโอเปียออกจากการค้าประเวณีโดยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นช่างเย็บผ้าที่มีรายได้มั่นคง ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีสวัสดิการพนักงานที่มีคุณภาพอย่างกการมีสวัสดิการเครื่องดื่ม อาหาร และค่าเดินทาง

G-Governance กับแพลตฟอร์มรายการการติดสินบนและการคอร์รัปชั่น

ตั้งแต่โรคระบาดโควิด-19 เริ่มต้นขึ้น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ UNDP ก็พบว่าไม่ใช่แค่ในไทย แต่ทั่วโลกก็ยังมีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้น แถมยังมีการหลบเลี่ยงภาษีนิติบุคคลหลายพันล้านดอลลาร์ด้วย

การกินใต้โต๊ะตรงนี้แหละเป็นเหตุผลที่ ESG จะต้องมีคำว่า Governance หรือการจัดการด้านบรรษัทภิบาลเป็นองค์ประกอบสุดท้ายเพราะการที่สิ่งแวดล้อมและสังคมจะดีได้ก็ขึ้นกับความโปร่งใสในการทำงานขององค์กรและภาคส่วนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนสังคมนั่นเอง เพราะทรัพยากรที่สูญเสียไปจากการคอร์รัปชั่นอาจกลายเป็นเงินทุนที่ช่วยพัฒนาชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่านี้

แพลตฟอร์มหนึ่งที่น่าสนใจและได้ผลจริงคือ Bribe Market จากโรมาเนียที่ให้ประชาชนร้องเรียนประสบการณ์การใช้บริการจากภาครัฐว่าหน่วยไหนและใครให้ประชาชนติดสินบนบ้างและจำนวนเงินที่เสียไปเพื่อความสะดวกมากขึ้นนั้นคือเท่าไหร่ ปรากฏว่าภายใน 4 เดือนที่เปิดตัว มีประชาชนร้องเรียนการติดสินบนเจ้าพนักงานเข้ามากว่า 650 ราย!

SCG ผู้เชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนโลกได้ด้วย ESG

ไม่ว่าจะกี่โครงการจากคนตัวเล็กตัวน้อยหรือห้างร้านขนาดใหญ่ เราคงเริ่มเห็นตรงกันแล้วใช่มั้ยล่ะว่าพลังของทุกคนนั้นสำคัญมากแค่ไหน และเชื้อไฟในการสร้างสมดุลให้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมแค่ 1 ดวง จะต่อติดจนเกิดเชื้อไฟได้อีกมาก เห็นได้ชัดๆ ก็ตั้งแต่ที่นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมวัยเด็กอย่าง Greta Thunberg ออกมาเรียกร้องให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ เด็กๆ ทั่วโลกก็เริ่มแสดงความต้องการของตัวเองทันที

แล้วเราในฐานะไฟดวงน้อยอีกดวงจะช่วยพลิกวิกฤตโลกและสังคมให้เป็นโอกาสได้ยังไงบ้าง?

เพราะ SCG เชื่อว่าพลังเพียงเล็กน้อยจะก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้กลับมาสมดุลได้ SCG จึงจัดเวทีความร่วมมือระดับสากล ‘ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability’ เพื่อชวนทุกคนสร้างความยั่งยืนให้โลกไปด้วยกัน

ในงานครั้งนี้ ไม่ได้มาพูดถึง ESG แบบเข้าใจยาก แต่ SCG ชวน 10 ESG ตัวจริงระดับโลกมาเล่าถึงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดง 100 ไอเดียเปลี่ยนโลกจากคนทุกเจน ทั้งการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การผลักดันพลังหญิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน และอีกหลากหลายไอเดียสุดสร้างสรรค์เพื่อจุดให้ไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

งานจัดขึ้นในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 9.00-12.00 น. 

ลงทะเบียนและร่วมงานเต็มรูปแบบ ประสบการณ์เสมือนจริง ได้ที่  www.scgverse.com

สอบถามข้อมูลที่ Facebook: SCG

อ้างอิง : 

AUTHOR