380,000 คนในประเทศไทย หรือกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก คือตัวเลขของคนพิการทางการได้ยินที่พวกเขาบอกกับเรา
“เยอะมาก” เราตอบ แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ ถึงอยากลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น
คณาเนศ เวชวิธี, ปพิชญา ใจปัญญา และ พงศภัค พรหมวังศรี คือกลุ่มคนที่เราพูดถึง พวกเขาคือสามละอ่อนเหนือจากโรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังเคร่งเครียดกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามประสาเด็ก ม.6 แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง พวกเขาก็หาเวลามาปลุกปั้นโปรเจกต์ ภาษามือกระชากใจ เพื่อเข้าร่วมโครงการ ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก (Hack to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching) โดย SCG และเพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศในสาขาไอเดียแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง มาหมาดๆ
ไม่รู้ว่าเหตุผลเบื้องหลังของคณะกรรมการคืออะไร แต่ถ้าให้เราเดา โปรเจกต์ภาษามือกระชากใจคือไอเดียที่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะมันคือเว็บไซต์ที่ช่วยให้คนพิการทางการได้ยินกับคนหูดีได้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น โดยใช้เอไอมาตรวจจับภาษามือแล้วแปรเปลี่ยนเป็นคำพูด ในขณะเดียวกัน คนหูดีก็พูดให้เอไอฟังแล้วเว็บไซต์ก็จะแปลงเป็นภาษามือได้ด้วย
แต่อะไรทำให้คนวัยว้าวุ่นอย่างพวกเขากระโดดลงมาทำโปรเจกต์นี้ เราชวนนั่งลงคุยกับพวกเขาเพื่อหาแรงบันดาลใจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
ภาษามือกระชากใจ
ก่อนที่จะได้เข้าร่วมโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก ปพิชญาเล่าให้เราฟังว่าโปรเจกต์ ‘ภาษามือกระชากใจ’ เป็นโปรเจกต์ที่พวกเขาสามคนพัฒนาไว้อยู่แล้ว
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เกิดขึ้นตอนคณาเนศอยู่ ม.4 เขาได้ไปทำงานช่วยเหลือสังคมกับทางโรงเรียน และได้มีโอกาสเข้าไปมูลนิธิคนพิการในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานดูแลคนที่บกพร่องทางการได้ยิน
“ผมพยายามคุยเล่น แล้วพบว่าเราคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็เลยมานึกได้ว่าถ้าเขาต้องพูดคุยหรือสื่อสารกับคนที่ไม่รู้ภาษามือในชีวิตประจำวัน เขาจะลำบากขนาดไหน”
ความรู้สึกนั้นติดอยู่ในใจคณาเนศมานาน แต่จุดที่กระตุ้นให้เขาได้ลงมือทำบางอย่างกับมันคือการร่วมแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest) ตอน ม.5 ที่เขาชวนสองเพื่อนสนิทอย่างปพิชญาและพงศภัคมาทำด้วยกัน ทั้งสองคนตอบรับในทันที ด้วยสนใจประเด็นสังคมเป็นทุนเดิม จึงอยากใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ตัวเองมีไปแก้ปัญหาในสังคม
การสื่อสารที่ไม่ได้ยิน แต่เห็น
“คนพิการทางการได้ยินไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาลำบากทางการสื่อสารกับคนปกติ เรารู้สึกว่าต้องช่วย” คณาเนศเล่าเพนพอยต์ของการทำโปรเจกต์นี้ให้ฟัง ก่อนปพิชญาจะเสริมต่อว่า
“บางคนเขาด้อยค่าตัวเองเพราะโดนสังคมกดดัน เขารู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ แต่สำหรับหนู เขาก็เป็นคนคนหนึ่งที่เท่าเทียมกับเราทุกคน เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย เขามีทักษะ มีความสามารถเหมือนกัน แต่มันเหมือนขาดนวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการสื่อสารในชีวิตประจำวันของพวกเขา”
ภาษามือกระชากใจเริ่มพัฒนาจากการจินตนาการว่า ‘หากโลกมีตัวกลางที่ทำให้คนพิการทางการได้ยินกับคนหูดีสื่อสารกันได้คงจะดี’ จนในที่สุดก็กลายเป็นเว็บแอปพลิเคชั่นที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารที่จะแคปเจอร์ภาษามือของคนพิการทางการได้ยินและแปลงเป็นข้อความให้คนหูดีได้อ่าน ในขณะเดียวกัน คนหูดีก็สามารถสื่อสารกลับด้วยการพูดให้เว็บไซต์ฟัง แล้วระบบจะแสดงผลข้อความตัวอักษรหรือภาษามือ 3 มิติให้คนพิการได้เห็น
คำถามคือ ทำไมต้องกระชากใจ คณาเนศหัวเราะแล้วตอบว่า “ที่ใช้คำว่ากระชากใจคือมันสะดุดหู ตลกดี แต่อีกความหมายหนึ่งของมันคือการสื่อสารมาจากใจ
“เวลาเราคุยกันจะได้ยินน้ำเสียงที่มีขึ้นลง แต่การสื่อสารกับผู้พิการไม่ได้เป็นแบบนั้น เราจะใช้อารมณ์ ใช้การแสดงออกทางสีหน้าประกอบด้วย ซึ่งต้องใช้ความตั้งใจ เป็นการสื่อสารออกมาจากใจจริงๆ”
สอนเอไอใช้ภาษามือ
เว็บไซต์ภาษามือกระชากใจใช้เวลาพัฒนาราวสามเดือน ซึ่งความท้าทายที่สุดของการทำโปรเจกต์นี้ คณาเนศบอกเราว่ามันคือความแม่นยำ
“เวลาผมสอนเอไอ ผมก็จะใช้พื้นที่ของบ้าน ซึ่งจะมีคนเดินผ่านไปผ่านมาหรือมีของวางไว้ แล้วสมมติว่าเราหยิบของชิ้นหนึ่งออกไป เอไอมันก็จะจำสิ่งที่เราเทรนไปไม่ได้เพราะพื้นหลังเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างมีส่วนหมด แสงธรรมชาติ แสงไฟ เปลี่ยนเสื้อตัวใหม่เอไอก็ไม่รู้จักผมแล้ว”
ชายหนุ่มหัวเราะ แล้วเล่าต่อว่า ณ ตอนนี้พวกเขายังต้องสอนภาษามือให้เอไอใหม่ทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนชุด และหากพัฒนาโปรเจกต์นี้ต่อ พวกเขาหวังว่าจะสามารถหาวิธีป้อนข้อมูลที่เสถียร หรือวิธีเทรนให้เอไอจดจำได้ดีขึ้นในอนาคต
หนึ่งปีหลังจากที่พวกเขาเริ่มพัฒนาเดโมของเว็บไซต์ ปพิชญาก็ไปพบประกาศรับสมัครโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching) โดยบังเอิญ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจ
“หนูเห็นว่ามันคือการประกวดแนวคิด ซึ่งตอนนั้นเราทำเดโมของโปรเจกต์ No One of School กับภาษามือกระชากใจกันเสร็จแล้ว หนูก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจที่จะส่งไปประกวด เพราะของเราก็มีแล้ว หัวข้อที่เขากำหนดก็ค่อนข้างกว้างมาก”
ถึงตรงนี้คณาเนศเสริมว่า “หัวข้อที่เขาให้ส่งประกวดมี 3 หัวข้อคือ Environment (แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม), Governance (แก้ปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรม) และ Social Inequality (แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง) เราเห็นว่าโปรเจกต์ภาษามือกระชากใจตรงกับหัวข้อสุดท้าย เพราะเป็นโปรเจกต์ที่พูดถึงคนพิการ เราเลยส่งเข้าประกวด”
ทั้งสามคนไม่ได้คาดหวังอะไรตอนส่งประกวด ทว่ารู้ตัวอีกที พวกเขาก็ชนะรางวัลชนะเลิศในประเภทไอเดียแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่างไปเรียบร้อย
จินตนาการเปลี่ยนโลก
เมื่อเราถามถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากความสำเร็จครั้งนี้ สามเพื่อนสนิทบอกว่ามันคือการปรับตัว การวางแผน และการสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา
“การพูดตรงของเราไม่ใช่การบอกว่าเราผิดหรือทำไม่ดีนะ แต่เราหวังดี เราเข้าใจว่านี่คืองานของเราทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” พงศภัคบอก “จากประสบการณ์การทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้คือความเด็ดขาด พวกเราค่อนข้างซีเรียสเรื่องเวลา ถ้าจะเลตก็ต้องบอกกันก่อนล่วงหน้า ถ้าไม่ไหวก็ต้องสื่อสารกัน
“นอกจากนี้ ในแง่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำโปรเจกต์ภาษามือกระชากใจ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษามือมากขึ้น แต่ละคำมีความหมายยังไง มันแปลยากแค่ไหน หรือมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากตรงนี้อยู่เยอะแค่ไหน”
“ถ้าเรารอใครสักคนมาเปลี่ยนโลก แล้วเมื่อไหร่โลกจะเปลี่ยน นั่นเป็นข้อความที่เราเน้นย้ำกับตัวเองและทุกคนบ่อยๆ” ปพิชญาเสริม “เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเริ่มเปลี่ยนโลก เราต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน เพราะเมื่อทุกคนเริ่มจากตัวเอง และทุกคนเริ่มเหมือนกัน โลกมันจะเริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
“สำหรับหนู การได้มาประกวดในโครงการนี้คือประสบการณ์ที่หาได้ยากมาก น่าจะเป็นงานใหญ่ที่สุดของชีวิตหนู ณ ตอนนี้เลย สิ่งที่ประทับใจเป็นพิเศษคือตอนที่เราได้รับรางวัลแล้วเดินลงเวทีมา มีพี่พิการมาบอกเราว่าเก่งมาก
“การทำโปรเจกต์นี้เปิดมุมมองของหนู ทำให้หนูได้เห็นว่าคนพิการก็คือคนปกติคนหนึ่งที่อาจจะไม่ได้รับโอกาส ถ้าสมมติว่าเขามีเวทีเหมือนพวกเรา หนูก็เชื่อว่าเขาจะมีไอเดียมานำเสนอที่อาจจะเป็นไอเดียที่ดีกว่าพวกเราก็ได้ การได้ทำเว็บไซต์ภาษามือกระชากใจก็ทำมาเพื่อจุดประสงค์นี้ค่ะ คืออยากให้เรากับเขาคุยกันได้มากขึ้น”
ท้ายที่สุด พวกเขานิยามกับเราว่าโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลกครั้งนี้คือการเปิดโอกาสให้หลายคนที่อาจจะไม่เคยได้รับโอกาส ซึ่งพวกเขาเองก็นับตัวเองอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน
“เมื่อก่อนเวลามีประกวดแบบที่ส่งตัวแทนโรงเรียน โรงเรียนก็อาจจะส่งแต่คนเดิมๆ ไปประกวด แต่เวทีนี้ไม่ได้ฟิกซ์แบบนั้น มันจึงเหมือนการเปิดโอกาสให้ผู้แข่งขันได้มีความหลากหลายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การมีเวทีแบบนี้ก็อาจจะทำให้เด็กคนอื่นได้แรงบันดาลใจว่าวันหนึ่งตัวเองก็สามารถมาโชว์ความสามารถ มาเปลี่ยนโลกได้เหมือนกัน”