PARASOL ม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยากให้คนใช้ไฟฟ้าแบบประหยัดและรักษ์โลก

PARASOL ม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยากให้คนใช้ไฟฟ้าแบบประหยัดและรักษ์โลก

หลายปีที่ผ่านมา เราอาจได้ยินคำว่าพลังงานแสงอาทิตย์กันจนชิน เรารู้ว่าโซลาร์เซลล์สร้างพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะลองนำแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ แต่ไม่รู้ทำไม คำคำนี้ก็ยังฟังดูไกลตัวเราอยู่ดี จนสุดท้ายก็หมดความสนใจไปในที่สุด

ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็ประสบปัญหาเดียวกัน แม้หลายหน่วยงานจะมีการรณรงค์ให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เกิดการปลูกฝังให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน แต่พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นเรื่องของคนมีตังค์ เพราะราคาของแผงโซลาร์เซลล์ที่นั่นสูงลิบ แถมยังต้องใช้พื้นที่เยอะ โอกาสในการเข้าถึงจึงน้อยลงไปทุกที

แต่ในยุคที่โลกส่งเสียงว่าไม่ไหว Tiffany Liuvinia, Afra Moeda Adadi, Yosep Dhimas Sinaga คือหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยในจาร์กาตาที่ประกาศออกมาว่าไม่ไหวแล้วเหมือนกัน พวกเขามองเห็นเพนพอยต์ที่ว่า และอยากใช้ความรู้ที่ตัวเองมีแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาของโลก-และปัญหาการเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ของคนอินโดฯ

พวกเขาจึงตั้งต้นไอเดียของ PARASOL ม้วนฟิล์มสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ราคาย่อมเยาว์ที่จับต้องได้ ไม่ต้องลงทุนในเงินและพื้นที่เยอะ เพื่อชวนทุกคนมาเซฟโลกด้วยกัน

โปรเจกต์ของพวกเขาเพิ่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาชนะรางวัลในโครงการ ‘ปล่อยแสง ไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)’ ในงาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability ที่จัดโดย SCG ในประเภทไอเดียแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าไอเดียม้วนฟิล์มไกลจากคำว่าธรรมดาแค่ไหน

เบื้องหลังไอเดียแสนพิเศษนี้จะเป็นอย่างไร เขยิบมาใกล้ๆ แล้วฟังคำตอบของพวกเขาไปพร้อมกัน

พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อคนรายได้น้อย

ทิฟฟานี่ อัฟรา และโยเซพเรียนคือกลุ่มเพื่อนที่มารู้จักกันได้เพราะเรียนคณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองหลวงของอินโดนีเซีย นอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักร สร้างโรงงาน เปลี่ยนสารเคมีให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่คณะแห่งนั้นยังปลูกฝังให้พวกเขาให้เห็นความสำคัญของประเด็นสิ่งแวดล้อม จนในที่สุดก็กลายมาเป็นความสนใจร่วมกันของทั้งสาม

“เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องภาวะโลกร้อนและอื่นๆ และรู้สึกสนใจมากจนเริ่มจะศึกษาอย่างลงลึกค่ะ” ทิฟฟานี่เล่าให้เราฟัง ก่อนโยเซพจะเสริมต่อ

“อีกอย่างคือเราเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับโลกว่ามันแย่ขึ้นทุกวันด้วยครับ ตอนนี้โลกกำลังประสบกับปัญหาขยะที่ล้นหลาม ไหนจะเรื่องมลพิษต่างๆ ที่ผมว่าเราควรมีมูฟเมนต์บางอย่างเพื่อเปลี่ยนโลกของเราให้ดีขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่มูฟเมนท์ที่ยิ่งใหญ่ระดับสังคม แต่เป็นสิ่งที่พวกเราช่วยกันทำคนละนิดคนละหน่อยได้ และเราก็คิดว่าความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่พวกเราได้เรียนรู้มาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้ครับ”

อันที่จริง ภาวะโลกร้อนนี้เองที่เป็นเพนพอยต์สำคัญสำหรับโปรเจกต์ PARASOL อัฟราเล่าให้เราฟังว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้คนในกลุ่มอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ประจวบกับจากการศึกษาเรื่องโลกร้อนและพลังงาน ทั้งสามคนเห็นว่าเทรนด์ของพลังงานหมุนเวียนกำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

“เราได้เห็นว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในสังคม โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์

“ยังไงก็ตาม หลังจากที่ได้อ่านเปเปอร์หลายๆ ชิ้น เราพบว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอินโดนีเซียยังมีอัตราที่น้อยอยู่ค่ะ ด้วยเพราะว่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีในปัจจุบันนั้นมีราคาสูง การจะนำมาใช้ในบ้านหลังหนึ่งนั้นต้องใช้การลงทุนเยอะมาก นั่นทำให้บ้านที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อไปใช้ได้ พวกเขาจึงยังต้องใช้พลังงานจากถ่านหิน ซึ่งไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไร” มากกว่านั้น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ยังต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก ทำให้บ้านที่มีพื้นที่น้อยไม่สามารถติดตั้งได้

และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาคิดนวัตกรรมชื่อว่า PARASOL

ม้วนฟิล์มผลิตไฟฟ้าเพื่อคนในชนบท

PARASOL ไม่ใช่แผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบที่ทุกคนคุ้นเคย

ความจริงแล้ว PARASOL หรือ Printable Alternative Solar Roll คือม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์ทางเลือกที่ทำจาก ‘เพอรอฟสไกต์’ วัสดุผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดหนึ่ง ประกอบร่างกับพลาสติก PET ซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกมาเป็นส่วนประกอบของม้วนฟิล์ม

เอกลักษณ์ของ PARASOL คือน้ำหนักเบากว่า ราคาถูกกว่าโซลาร์เซลล์แบบอื่นๆ แต่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แถมยังติดตั้งง่ายกว่า ไม่เปลืองพื้นที่มากแบบแผงโซลาร์เซลล์จากซิลิคอน เพราะฉะนั้น คนในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลจะสามารถเอาไปใช้แปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแบบง่ายๆ ได้เลย

เมื่อเราถามถึงวิธีการสร้างสรรค์ม้วนฟิล์มชิ้นนี้ ทั้งสามคนเล่าไอเดียในการทำให้ฟังว่าเริ่มจากการคัดแยกขยะพลาสติก นำขยะที่แยกแล้วไปล้างให้สะอาด ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการพิเศษเพื่อแปรรูปขยะพลาสติกให้อยู่ในรูปแบบของเรซิ่น และเปลี่ยนเรซิ่นให้เป็นฟิล์มอีกที

“ความท้าทายของโปรเจกต์ PARASOL คืออะไร” เราสงสัย

“สำหรับฉัน มันคือเดดไลน์ในการส่งใบสมัครของการประกวดนี้แหละค่ะ” ทิฟฟานี่หัวเราะ “พวกเรามีเวลาน้อยมากในการทำ เราต้องอ่านงานวิจัยอย่างบ้าคลั่ง แถมยังต้องเบรนด์สตรอมกันหลังจากนั้นอีก ขั้นตอนการศึกษาและประชุมกันนี่แหละที่ฉันว่ายากที่สุด”

“เรายังรู้สึกหวั่นๆ เพราะเราเป็นแค่นักศึกษาด้วยค่ะ” อัฟราสมทบ “คนอื่นในการประกวดดูเป็นวัยทำงานแล้วกันหมด”

แต่ใครจะรู้ งานของนักศึกษาจากอินโดนีเซียนี้แหละที่ชนะนวัตกรรมเปลี่ยนโลกบนเวที ‘ปล่อยแสง ไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)’ ในประเภทแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

“เราไม่ได้คาดหวังเลย เรื่องตลกคือตอนเรารู้ผล เราก็ซูมข้ามประเทศไปร่วมการประกาศรางวัล ซึ่งทุกคนในงานประกาศรางวัลเห็นพวกเขาหมด แต่พวกเราไม่เห็นพวกเขาเพราะเราอยู่ในซูม” อัฟราบอก

“เราเซอร์ไพร์สกันมาก แต่ก็ดีใจมากๆ ด้วยค่ะ เรารู้สึกว่าการประกวดนี้เป็นการประกวดที่สำคัญสำหรับเรามาก เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้บอกต่อไอเดียของเราต่อสาธารณะ โดยเฉพาะผู้คนในทวีปเอเชียตะวันออกเชียงใหม่ เราจึงรู้สึกซาบซึ้งใจมากเลยค่ะที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้”

ไอเดียเปลี่ยนโลกเพื่อโลก

ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็บอกว่าไอเดียที่ชนะการประกวดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของทีม PARASOL เท่านั้น

“เรายังต้องเรียนรู้เพิ่มเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการผลิต ประเด็นสิ่งแวดล้อม เราอยากได้เงินทุน รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดขึ้นจริง และเราอยากได้ฟีดแบ็กจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เพิ่มด้วยครับ” โยเซพบอกกับเรา เขายังเล่าว่าถ้ามีโอกาส ก็หวังว่าจะเปิดได้สตาร์ทอัพเพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ตัวนี้กับเพื่อนๆ ต่อในอนาคต

แต่เหนืออื่นใด เขาหวังว่าไอเดียเหล่านี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ไอเดียของพวกเขา-แต่หมายความรวมถึงไอเดียเปลี่ยนโลกจากเหล่าคนรุ่นใหม่ทุกคน

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรเจกต์ของเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาหันมาใส่ใจกับโลกรอบตัวเราที่ตอนนี้ป่วยเหลือเกิน เราอยากส่งแรงใจให้พวกเขาไปเรียนในสิ่งที่พวกเขาสนใจ และหาวิถีทางใหม่ๆ ในการช่วยกันสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมจากสิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญนั้น” โยเซพบอก

“และเราหวังเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมีความกล้าหาญในการบอกต่อไอเดียของตัวเอง เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ให้ดีขึ้น และสร้างโลกให้ดีขึ้น” ทิฟฟานี่เสริม

“ถ้าจะมีอะไรที่ฉันบอกคนรุ่นใหม่ได้ ก็คงเป็นคำว่า ‘อย่ากลัวที่จะพยายาม’ ค่ะ” อัฟราทิ้งท้าย

AUTHOR