ช่วยโลกใบเดิมให้ดีขึ้นได้ด้วยแนวคิด ESG กับโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)

ช่วยโลกใบเดิมให้ดีขึ้นได้ด้วยแนวคิด ESG กับโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching)

โลกยุคใหม่มีอะไรให้มนุษย์ค้นหาและท้าทายอยู่เสมอ ปัญหาใหญ่ที่เราทุกคนเผชิญหน้าร่วมกันคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน การขาดแคลนอาหาร การเอาตัวรอดจากสภาพอากาศแปรปรวนถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม หรือมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าคนทั่วไป ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะยิ่งถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น

ผลกระทบจาก Climate Change เลวร้ายมากขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา การทำลายทรัพยากรเพียงเล็กน้อยจากซีกโลกหนึ่งกลับทำมนุษย์อีกฝั่งโลกแย่ไปด้วย เห็นได้ชัดจากคลื่นความเย็น Polar Votex ในยุโรปที่ทำคนตายหลายร้อยคน ไม่เพียงแต่โจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติยังแก้ไม่ตก ปัญหาโครงสร้างทางสังคม จิตสำนึกสาธารณะ การต่อต้านคอร์รัปชั่นภายในประเทศเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วย ไม่สามารถแยกขาดได้เพราะทั้งหมดล้วนทำให้โลกและสังคมของเราเลวร้ายลงไปทุกวัน  เหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสำคัญ เพื่อพยุงให้โลกใบเดิมของเรายังคงอยู่ 

ในโอกาสที่ SCG เล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและความเหลื่อมล้ำจึงผุดไอเดียแก้ปัญหาด้วยแนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาความแปรปรวนทั้งหลายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดยเปิดโอกาสให้เหล่านักสร้างสรรค์มาผสานพลังร่วมกันผ่านโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก (Hacks to Heal Our Planet:a Pitching) เปิดโอกาสให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เสนอไอเดียแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ในงาน  ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability เวทีความร่วมมือระดับสากล 

เราชวนฟังจากมุมมองของผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และเป็นกรรมการโครงการ ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ รศ. ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยรองศาสตราจารย์ สาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ คณะกรรมการตัดสินผลงานด้านสิ่งแวดล้อม, ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กลุ่มสังคมและกำลังคน กรรมการตัดสินผลงานด้านสังคม และดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กรรมการตัดสินผลงานด้านบรรษัทภิบาล พวกเขาช่วยโลกอย่างไรในฐานะคณะกรรมการตัดสินผลงานเวที มาฟังกัน

แนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) จะมีส่วนช่วยให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางใดสำหรับคุณและองค์กรของคุณ

 รศ. ดร.กฤตินีเล่าถึงความคิดของเธอต่อความสำคัญของการนำแนวคิด ESG ว่ามาจากการจัดการอย่างยั่งยืน ฐานคิดสำคัญคือโลกเรามีทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เราไม่สามารถสร้างสมมติฐานว่าทรัพยากรที่มีรอบตัวจะมีอยู่ตลอด ไม่มีวันหมดสิ้นไป ถ้าเราจะใช้มันให้เกิดความยั่งยืน เพื่อคนรุ่นถัดไปยังสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดนี้ เราควรจะปรับตัวอย่างไร นี่คือที่มาของแนวคิด ESG แน่นอนว่าบริษัทใดที่นำแนวคิดนี้ไปใช้จะส่งผลกับระดับองค์กร ปัจจุบันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราไม่ได้มีแค่ลูกค้าหรือคู่ค้าเท่านั้น อาจหมายถึงประชากรโลกที่อยู่อีกทวีปหนึ่ง เพราะเราส่งผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยทั้งที่บางครั้งเราไม่รู้ตัว

ดร.รัฐศาสตร์เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขาเสริมว่าสมัยก่อนเวลาพูดถึงเรื่องความยั่งยืน ในบางมุมมองของแต่ละคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องนามธรรม ทำตามได้ยาก การเกิดขึ้นของแนวคิด ESG เข้ามาทำให้สิ่งต่างๆ ที่ดูนามธรรมจับต้องได้มากขึ้น 

“ผมคิดว่าโลกของเราใบนี้เดินทางมาจุดที่องค์กรธุรกิจและทุกๆ คนนั้นไม่สามารถคิดเฉพาะการทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียวได้แล้ว แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ คำนึงถึงวิธีการที่จะให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราไม่ได้เกิดความเสียหายไปกว่านี้ และสุดท้ายการให้เกิดการฟื้นฟูและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนในด้านของสังคม การคำนึงถึงการที่ทำให้โลกเรามีความเท่าเทียมขึ้นหรืออย่างน้อย การช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนให้แคบลง ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่แนวคิด ESG เข้ามาเติมเต็ม โดยภาพรวมแล้วแนวคิด ESG นั้นเข้ามาทำให้สิ่งที่อาจจะเคยเป็นนามธรรมนั้นมีภาพชัดเจนขึ้น มีแนวทางและคำแนะนำให้แต่ละคนแต่ละองค์กรเดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ดียิ่งขึ้น”

ดร.รัฐศาสตร์ ทำงานในสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำหน้าที่ส่งเสริมการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมคืองานของเขา การให้ทุนและสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการทั่วประเทศให้เข้าไปทำงานร่วมกันกับชุมชน เติบโตและชุมชนก็ได้ประโยชน์ ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตไปพร้อมกัน แล้ว GDP ของประเทศก็จะเติบโตตามไปด้วย

“อีกส่วนที่เราดูแลโดยตรงคือการพัฒนาคน โลกเราจริงๆ ส่วนประกอบหลักไม่ใช่น้ำแต่คือ คน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกเราเดินทางไปทิศทางไหน สิ่งที่เราพยายามทำนอกจากการเพิ่มทักษะเรื่องของดิจิทัลแล้ว เรายังส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัลให้เกิดความยั่งยืนเรื่อง Smart City ซึ่งหนึ่งในด้านสำคัญคือ Smart Environment ทำอย่างไรให้ผังเมือง การจราจร การศึกษา หรือพลังงานเป็นพลังงานสะอาด ทำให้ชุมชนหรือสังคมเกิดสภาพแวดล้อมที่ดี หรืออย่างน้อยไม่ได้เสียไป นี่เป็นสิ่งที่สำนักงานเราทำมาตลอด 5 ปี”

รศ. ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยรองศาสตราจารย์ สาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ คณะกรรมการตัดสินผลงานด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทที่สามารถสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในการดำเนินธุรกิจได้ จะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

รศ. ดร.กฤตินี บอกกับเราว่าสิ่งสำคัญรองลงมาจากคุณภาพสินค้าและบริการแล้ว ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์องค์กรด้วย พวกเขาสนใจว่าบริษัทนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไรบ้าง ภาพลักษณ์ที่ดีส่งผลต่อการรับรู้เชิงบวกในการตลาด ผู้บริโภคยุคใหม่จะสนับสนุนเพราะเขารู้สึกดีกับองค์กรที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพราะมีผลกระทบกับตัวเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในทางธุรกิจ เราแข่งขันแย่ง Market Share เพียง 5% ของบางอย่างไม่เท่ากับการเห็นว่าโลกเรามีปัญหาขาดแคลนอาหาร ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาระดับใหญ่ที่สุด ถ้าเราเห็นโอกาสการจัดการด้วยสินค้าและบริการ นี่คือโมเดลธุรกิจใหม่ของโลกยุคนี้ 

ดร.รัฐศาสตร์เห็นด้วยกับความเห็นนี้ เขาเชื่อว่าธุรกิจยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่คนไม่ได้บริโภคสินค้าด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการเท่านั้น มันเป็นเรื่องของจิตวิทยา เรื่องของความนิยมชมชอบ ดังนั้นบริษัทใดก็ตามแต่ที่แสดงตัวตน แสดงจุดยืนรักษาสิ่งแวดล้อม หรือปฏิบัติตามแนวคิด ESG จะได้รับการจดจำจากผู้บริโภค 

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กลุ่มสังคมและกำลังคน กรรมการตัดสินผลงานด้านสังคม

บรรษัทภิบาล (Governance) สำคัญกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอย่างไร 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กรรมการตัดสินผลงานด้านบรรษัทภิบาล อธิบายง่ายๆ ให้เราเข้าใจว่า การทำในสิ่งที่ถูกต้องตามบทบาทที่ตัวเองเป็นอยู่คือใจความสำคัญของบรรษัทภิบาล ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของทุกคน ในสิ่งที่ทุกคนคาดหวังตามบทบาทหน้าที่ของทุกคนในสังคม 

ปัญหาคอร์รัปชั่นในไทยตอนนี้เราอธิบายแค่ความถูกต้องทางกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เป็นเรื่องที่ยากและมีข้อโต้แย้งมากมาย ถ้าเราเอาความถูกต้อง หรือวัดกันด้วยผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือความรับผิดชอบ จะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า และคนที่อยู่ในอำนาจถ้าเราพูดด้วยเหตุผล เขาจะยอมรับง่ายกว่า

“วันนี้อะไรที่ไม่ถูกต้อง อย่าหยุดที่จะพูด อย่าหยุดที่จะทำความเข้าใจกัน อย่ายอมแพ้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

ในฐานะกรรมการตัดสินโครงการ “ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก” (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching) แต่ละท่านให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

รศ. ดร.กฤตินี บอกกับเราด้วยแววตามุ่งมั่นว่าหลักเกณฑ์ 4 ข้อที่ SCG มอบให้นั้นดีอยู่แล้ว คือ หนึ่งแนวทางแก้ปัญหา (Solution) ที่แต่ละคนมองเห็นและอยากแก้ไข สอง การคิดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creativity) หรือกระบวนการใหม่ๆ เพื่อจัดการปัญหานั้นเป็นอย่างไร สามความเป็นไปได้ของความคิดสร้างสรรค์ จากไอเดียนั้นนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน และสี่ ผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้นจากไอเดียของผู้เข้าร่วมโครงการนั้นส่งผลต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนกันนะ

ดร.รัฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับความตั้งใจ และเส้นทางพัฒนาไอเดียของเหล่านักสร้างสรรค์ที่ส่งประกวดเข้ามาว่า Final Product ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ก่อนที่จะมาถึงบทสรุปของไอเดียนี้เขาทำมันอย่างไร สุดท้ายแล้วมันเกิดการสังเคราะห์สิ่งใหม่โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเขาอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ดร.รัฐศาสตร์ให้ความสำคัญ 

“ความจริงใจและความตั้งใจต่อสิ่งที่เขาอยากแก้ไขนั้นมีมากน้อยเพียงใด เราเห็นผ่านผลิตผล ผ่านกระบวนการทำงานของเขา เขาทำขนาดไหนนั้นบอกเราได้เยอะพอสมควร จากสิ่งที่เขานำเสนอ ผมในฐานะกรรมการให้คะแนนไปก็รู้สึกดีใจว่าเด็กสมัยนี้เขาคิดอะไรได้หลากหลาย พยายามหาทางออกสำหรับปัญหาที่เขามองเห็น และเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่อยากให้จบแค่นี้ อยากให้เกิดการกระจาย เกิดการรับรู้หรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นทำตาม ผมเชื่อว่าการส่งพลังบวกแบบนี้ทำให้โลกเราเกิดการพัฒนาและเกิดความคิดทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น”

สิ่งที่ ดร.มานะ มองหาจากไอเดียในสนามประลองความคิดครั้งนี้คือความแปลกใหม่ และแอปพลิเคชั่นที่ดึงดูดให้คนใช้จริง

“ผมอยากเห็นไอเดียที่แปลกใหม่ สิ่งที่นำเสนอมาควรเป็นเรื่องที่สนุก คนดูรู้สึกอยากใช้ อยากเอาชนะข้อมูลหรือเกมที่ออกแบบมา ต้องชวนให้ใช้แอปแล้วรู้สึกว้าว” 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กรรมการตัดสินผลงานด้านบรรษัทภิบาล

อยากให้คุณเชิญชวนผู้อ่านของเราร่วมทำแนวคิด ESG ในชีวิตประจำวันและปรับใช้กับองค์กรของพวกเขากัน

รศ. ดร.กฤตินี เชื่อมั่นในพลังเล็กที่เปลี่ยนแปลงโลกได้มากกว่า เพราะเรื่องราวรอบตัวสร้างแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ได้ เธอเชื่อเช่นนั้น

“ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว แต่การต่อไปถึงแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่มันไม่เกิดแค่การคิดอย่างเดียว แต่ต้องคิดต่อว่าทำอย่างไรให้คนอยากใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ชวนสังเกตสิ่งรอบตัวว่ามีปัญหาหรือโอกาสอะไรไหมที่เราปรับได้ในระดับที่ตัวเราทำได้ แล้วไปกระตุ้นในองค์กร เช่น SCG ที่ทำเรื่องนวัตกรรมอยู่แล้วก็เอาความคิดเหล่านี้มาพูดคุยต่อยอดเพื่อตอบโจทย์สิ่งรอบตัวของเรา” 

เช่นเดียวกันกับ ดร.รัฐศาสตร์ที่อยากชวนทุกคนในฐานะสมาชิกของโลกใบนี้มาเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่หรือไม่แย่ไปมากกว่าที่เป็นอยู่

“ผมเชื่อว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถมีส่วนเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมของเราได้ แนวคิด ESG มี 3 ด้าน แต่เราไม่ต้องทำทั้งสามด้านก็ได้ อาจจะให้ความสำคัญกับด้านที่เราสนใจที่สุด มันไม่ใช่เรื่องของคนใดคนนึงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน 

อยากเชิญชวนทุกคนที่เป็นสมาชิกของประเทศและโลกใบนี้ได้มาร่วมกันสร้าง ESG ในสิ่งที่เราสามารถทำได้และเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้มันเกิดขึ้น” 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ฝากชวนผู้อ่านทุกคนทิ้งท้ายว่า “สมัยก่อนการทำธุรกิจมักคิดว่าต้องทำให้ได้กำไรมากที่สุด แต่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการทำงานภายใต้องค์กรมากขึ้น สิ่งที่เราทำมันควรอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้ภาวะสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ธุรกิจเล็กใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมานานแล้วควรหันมาทำความเข้าใจวิถีใหม่ของโลกธุรกิจทุกวันนี้”


งาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability เวทีความร่วมมือระดับสากล ชวนทุกคนขับเคลื่อน ESG เพื่อความยั่งยืน จัดขึ้นวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 9.00-12.00 น. ลงทะเบียนและร่วมงานเต็มรูปแบบ ประสบการณ์เสมือนจริง ได้ที่  www.scgverse.com หรือสอบถามข้อมูลที่ Facebook: SCG

AUTHOR