เสียงกระซิบของภูเขาไฟ

ทางจักรยานสร้างตรงกลางสะพานยาวหลายกิโลเมตรข้ามแม่น้ำโคลัมเบีย (Columbia River) ขนาบซ้ายขวาด้วยถนนอย่างละ 4 เลนตามแบบฉบับทางด่วนระหว่างรัฐ เสียงรถราดังหึ่งๆ อึงอลเหมือนฝูงแมลงกระพือปีกแข่งกัน ไม่รู้กี่เดซิเบล รู้แค่ว่ากว่าจะข้ามเข้าสู่รัฐวอชิงตัน (Washington State) ซึ่งอยู่ปลายสะพานอีกด้านหูชาไปเลยทีเดียว 

ท้องฟ้าหม่นอึมครึม อากาศค่อนข้างหนาว ละอองฝนร่วงเบาบางจางๆ พบเจอเต็นท์ดูน่าอนาถของคนไร้บ้านตลอดเส้นทางที่นำออกไปนอกเมืองพอร์ตแลนด์ โอเรกอน (Portland, Oregon) สลับกับบ้านเรือนของคนมีอันจะกินปกติทั้งหลาย เป็นภาพขัดแย้งรุนแรงที่ไม่คิดว่าจะพบเจอในประเทศซึ่งมั่งคั่งที่สุดนี้ 

ผมตั้งใจว่าจะไม่กลับลงไปหาทะเล แต่จะมุ่งหน้าสู่ขุนเขาแทน เปลี่ยนบรรยากาศการเดินทางบ้าง ถนนพาดผ่านพื้นที่ชนบท บ้านเรือนอยู่กลางทุ่ง เรือกสวน ทุ่งปศุสัตว์สลับกับป่า หมู่บ้านเล็กประชากรไม่กี่ร้อยคนกระจายตัว ซึ่งมักมีร้านค้าอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ปั๊มน้ำมัน ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีดับเพลิง แล้วก็โบสถ์ ยิ่งไกลชุมชนใหญ่ เสียงรบกวนต่างๆ ยิ่งเจือจางลงเรื่อยๆ กลิ่นป่าหอมเบาบาง ไม้สนเอย เบอร์รี่สุกปลั่งเอย ดอกไม้ริมทางทั้งหลายคลุกเคล้าอโรมาประหลาดสูดดมได้ไม่เคยอิ่ม

ป่าและธรรมชาติหยิบยื่นสิ่งที่ช่างแตกต่างจากเมืองและสังคมเหลือเกิน

การเดินทางด้วยจักรยานคล้ายการติดปีกโบยบินได้อย่างค่อนข้างเสรี แค่ปักหมุดหมายแล้วก็ไป โดยปล่อยให้ถนนนำไปเจออะไรต่างๆ แบกแค่ของที่จำเป็น น้ำดื่มอาศัยกรอกตามสวนสาธารณะหรือหน้าโบสถ์ อาบน้ำก็กระโจนลงบึงหรือลำธารตามแต่จะเจอ ไม่ต้องใช้สบู่หรือแชมพูใดๆ แค่ล้างคราบเหงื่อเค็มกับไคลออกบ้างก็พอ ไม่สะอาดอนามัยครบถ้วนก็ไม่เป็นไร เวลาหยุดพักเหนื่อยก็ถือโอกาสเก็บผลไม้ป่ามากิน อร่อยและเพลินดีด้วย หาสถานที่วิวสวยหลบสายตาผู้คนเพื่อพักแรมไม่ยากและค่อนข้างรู้สึกปลอดภัย สำรับกับข้าวทำกินเองได้ปริมาณมาก ประหยัด ทั้งยังถูกปากเพราะปรุงรสเผ็ดร้อนจัดจ้าน

เบอร์รี่ป่าริมทางหลายชนิด เช่น แบล็คเบอร์รี่ (blackberry) ฮัคเกิลเบอร์รี่ (huckleberry) บลูเบอร์รี่ (blueberry) ธิมเบิลเบอร์รี่ (thimbleberry) รวมถึงแอปเปิ้ลที่คนปลูกแล้วปล่อยให้ร่วงทิ้งคล้ายคนบ้านเราปลูกมะม่วงมะละกอ ปริมาณมากมายชนิดสามารถเด็ดกินประทังชีวิตได้เลย มนุษย์ fruitarian ทั้งหลายน่าจะเห็นเป็นแดนสวรรค์โดยแท้แน่นอน

เราเองก็ใช้ชีวิตเยี่ยงคนไร้บ้านเช่นกัน 

ค่อยๆ ไต่ต้วมเตี้ยมไปตามถนนคดเคี้ยว จุดหมายคือภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ยิ่งเข้าใกล้สังเกตสิ่งรอบตัวยิ่งเงียบมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ป่าสนต้นไม้สองข้างทางนิ่งงัน ลมหยุดพัด เหมือนคุณสายลมหลบนอนกลางวัน ต้นไม้ก็พากันหลับใหลด้วย กระทั่งใบหญ้าและดอกไม้ก็แทบไม่ไหวติง

ขยับเข้าไปใกล้ปล่องภูเขาไฟมากขึ้นแล้ว เริ่มมืดค่ำ จึงต้องหาที่พักแรม ซึ่งไม่พ้นริมทาง ข้อดีของป่าประเภท national forest ของอเมริกา ก็คือเป็นพื้นที่เปิดให้คนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการท่องเที่ยว และทางการอนุญาตให้เลือกที่กางเต็นท์เองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็มีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน แม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้มากำกับดูแล คนที่เข้ามาใช้สถานที่ทั้งหลายก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สยายเต็นท์เสร็จก็เริ่มหุงหาอาหาร เป็นอีกช่วงเวลาซึ่งนับว่าดีที่สุดของวัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง ได้กินอาหารปรุงสุกร้อนๆ จิบเครื่องดื่มเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เคล้าวิวงามเงียบสงบ แสงสาดขึ้นฟ้าหลังอาทิตย์ลับขอบเขาสีแดงชมพูสด สวยสะกดจิต การมีโอกาสได้ซึมซับบรรยากาศเช่นนี้นี่เองที่อาจจะเป็นอีกสาเหตุทำให้เสพติดการเดินทางก็เป็นได้ 

ค่ำคืนเหน็บหนาวพอๆ กับฤดูหนาวบนยอดดอยอินทนนท์ ได้เครื่องนอนหนา จึงผ่านพ้นจนรุ่งสางอย่างหลับเต็มตื่น รูดซิปเต็นท์ออก ทักทายแสงแดดซึ่งทาบลงไปบริเวณยอดภูเขาไฟก่อนเพราะอยู่สูงกว่าใคร คุณเซนต์เฮเลนส์ใส่ก้อนเมฆเป็นหมวกครอบบริเวณยอดของตัวเองไว้คล้ายผู้หญิงสมัยโบราณสวมหมวกปีกกว้าง ทะเลหมอกกระจุกตัวอยู่เหนือหุบกว้าง ในขณะที่สายหมอกพลิ้วเคลื่อนตัวอยู่เหนือยอดสน บ้างก็เลื้อยลอดช่องเขาฉวัดเฉวียนคล้ายงูยักษ์

ช่วงสายวันใหม่ ปั่นเข้าไปใกล้ชิดกันมากแล้ว เช่นเดิม คุณภูเขาไฟยังคงเงียบ ไม่พูดไม่จา ทะเลสาบสปิริต (Spirit Lake) สีน้ำเงินจัดก็ไม่ส่งเสียงใดๆ แต่ในความนิ่งงันนั้น กลับมีภาพอันเป็นร่องรอยปรากฏเด่นชัด เป็นหลักฐานบอกเล่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้น

กลางเดือนมีนาคมเมื่อราว 40 ปีก่อน (ปี 1980) หินร้อนเริ่มดันตัวตรงปากปล่องภูเขาไฟ แรงดันจากข้างในทำให้แมกมาถูกผลักออกมาวันละราว 2 เมตร 2 เดือนต่อมาเกินกว่าจะอัดอั้นทานทนได้อีกต่อไป จึงระเบิดออก เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงกว่า 5 ริกเตอร์ ซึ่งการประทุครั้งนั้นต่างจากภูเขาไฟลูกอื่นๆ เพราะไม่ได้พุ่งตรงขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่ระเบิดด้านข้างแทน ทำให้ปากปล่องฝั่งทิศเหนือกระจุย กระสุนหิน ฝุ่น เถ้าถ่าน ควัน ความร้อนสูงถึง 350 องศาเซลเซียส พร้อมแรงดันประหนึ่งปรมาณูแผ่ไปไกลหลายสิบกิโลเมตรด้วยความเร็ว 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลทำให้ป่าทั้งแถบประมาณ 500 ตารางกิโลเมตรซึ่งหันหน้าประจันภูเขาไฟพังพาบราบเป็นหน้ากลอง ต้นไม้นับล้านต้นล้มทั้งยืนเหมือนกระดานโดมิโน ดินหินถล่มตามไหล่เขาลงสู่ทะเลสาบสปิริต ทำให้ระดับน้ำสูงกว่าเดิมถึงราว 20 เมตร พร้อมกับหอบเอาต้นไม้ร่วมแสนต้นลงไปในนั้นกลายเป็นแพยักษ์ลอยอยู่ที่ผิวน้ำมาจนถึงทุกวันนี้ การระเบิดของภูเขาไฟลูกนี้ยังปลิดชีวิตสัตว์ป่า สัตว์น้ำ และชีวิตคนเกินครึ่งร้อยอีกด้วย เป็นภูเขาไฟที่สร้างผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่มีภูเขาไฟลูกไหนกระทำมาก่อน จึงไม่แปลกที่สถานที่แห่งนี้ได้รับการเรียกขานในฐานะอนุสรณ์ภูเขาไฟแห่งชาติ (National Volcanic Monument)

ก่อนการประทุใหญ่ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์เคยมีรูปทรงสมมาตร สูง 2,950 เมตร ตระหง่านมองเห็นในระยะไกลชัดเจน ได้รับการขนานนามว่า “ภูเขาฟูจิแห่งอเมริกา” ทว่าหลังจากระเบิด มวลสารปริมาณมหาศาลสูญหายไป ยอดเขา ณ ปัจจุบันจึงสูงเพียง 2,549 เมตร  

เราพยายามปั่นเข้าไปให้ใกล้คุณภูเขาไฟลูกนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ใจอยาก จากถนนลาดยาง ไปสู่ทางลูกรังซึ่งพบนักเดินเขาเพียงไม่กี่คน พิงจักรยานคู่ใจไว้กับหินก้อนใหญ่ แล้วยืนจ้องมองเซนต์เฮเลนส์ ยืนอยู่นาน จ้องมองอยู่นาน จนกระทั่งได้ยินเสียงกระซิบแผ่วเบา “อนุสรณ์ที่เจ้าเห็นโดยรอบ พลังมหาศาลซึ่งแสดงหลักฐานจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่นี้ เหล่านี้ทำให้เจ้าลดความลำพองลงได้บ้างไหม หรือว่าใจเจ้ายังคงอหังการอยู่เช่นเดิม?” เป็นคำถามสำคัญหนึ่งที่ภูเขาไฟถามด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนที่สุด

เรากล่าวขอบคุณและหันหลังกลับ ปั่นย้อนทางเดิมที่ขึ้นมา ขณะกำลังจะพ้นโค้งสุดท้ายซึ่งภูเขาไฟจะหายลับตา ลมแรงสายหนึ่งกระโชกพัดใส่ ทำเอาทั้งคนทั้งจักรยานเซ คล้ายคุณสายลมต้องการบอกว่า “ที่ฉันและพวกต้นไม้พากันเงียบนั้นไม่ใช่เพราะอู้งานหรือนอนหลับหรอก แต่พวกฉันต้องการให้เธอได้ยินเสียงภูเขาไฟให้ชัดต่างหากล่ะ เจ้าทึ่มเอ๋ย”

AUTHOR