MAIIAM Contemporary Art Museum คือชื่อของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ล่าสุดของจังหวัดเชียงใหม่บนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ที่นอกจากเปิดตัวด้วยนิทรรศการที่แสนจะน่าสนใจอย่าง ‘คนกินแสง’ หรือ ‘Serenity of Madness’ ซึ่งรวบรวมผลงานบางส่วนทั้งภาพยนตร์ขนาดสั้นและงานเบื้องหลังภาพยนตร์ขนาดยาวของเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาจัดแสดง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีสถาปัตยกรรมโดดเด่นจนเราเชื่อว่าจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ทั้งของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย เป็นอาคารที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรผู้คนก็จะยังคงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ‘ใหม่เอี่ยม’
“การทำกำแพงให้เป็นเหมือนรอยพับมันมีประโยชน์อยู่ 2 อย่าง อย่างแรกใช้เป็นแนวในการปูกระจกได้ อย่างที่สองคือพอเป็นรอยพับอย่างนี้ มันจะไม่สะท้อนแสงออกข้างนอกมาก และถ้าลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่ากระจกที่อยู่ด้านบนเราจะติดเป็นแผ่นใหญ่หน่อย แล้วค่อยๆ ไล่ขนาดมาเป็นแผ่นเล็กๆ ด้านล่าง เพราะเราอยากทำให้ส่วนที่ใกล้คนมันเบลอๆ จนเซลฟี่หน้าตัวเองไม่ได้” น้ำเสียงอารมณ์ดีของพี่อ้อน-ผศ. ดร.รชพร ชูช่วย หัวเรือใหญ่ของสตูดิโอออกแบบ all(zone) เจ้าของงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่เรากำลังเดินชม เล่าถึงรายละเอียดและที่มาของกำแพงขนาดยักษ์ด้านหน้าที่แสนสะดุดตาซึ่งผู้สร้างต้องใช้เวลาหาไอเดียในการออกแบบอยู่นาน
“ครั้งแรกที่เรามาดูพื้นที่ สิ่งแรกที่เราเห็นคือต้นไม้ที่ใหญ่มาก เราคิดว่าสร้างอะไรไปตรงนี้มันก็ถูกกลืนหายไปหมด เพราะต้นไม้ที่นี่มันใหญ่และสูงตั้ง 20 เมตร เท่ากับตึก 7 ชั้น ทำยังไงเราก็ไม่มีทางแข่งกับต้นไม้ได้แน่” แต่ถึงอย่างนั้นตัวอาคารก็จำเป็นจะต้องมีอะไรที่โดดเด่นเพื่อให้คนเห็น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรโดดเด้งเกินไปจนแปลกแยกออกจากชุมชนแถวนั้น จากไอเดียที่อยากให้เด่นและไม่เด่นในขณะเดียวกัน สุดท้ายแล้วก็มาลงตัวที่การใช้กระจก “เพราะมันเป็นวัสดุที่มีตัวตน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีตัวตน”
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณฌอง มิเชล เบอร์เดอเลย์ และคุณอีริค บุนนาค บูซ บุตรชาย ที่ต้องการจะแบ่งปันผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สะสมมากว่า 30 ปีให้คนภายนอกได้ชม และอยากให้คนเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเรียนศิลปะ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ ทั้งคู่จึงเริ่มโปรเจกต์พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา
เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าหลักเราจะพบกับเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์และจำหน่ายบัตรเข้าชม พร้อมส่วนที่เป็นร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ ก่อนจะเดินผ่านคาเฟ่เพื่อเข้าสู่ส่วนจัดแสดงงาน
“สิ่งหนึ่งที่เราใส่ใจมากคือพื้นที่ ปกติเวลาจัดงานแสดงศิลปะจะต้องมีภัณฑารักษ์ที่เป็นคนเลือกงานและจัดสรรการวางผลงานต่างๆ ซึ่งเราคิดว่าการจัดสรรตรงนี้มันน่าจะมีอยู่ได้ทุกพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เลยนะ อย่างร้านอาหารเราก็ให้พื้นที่เปล่าๆ ไป เจ้าของพื้นที่อยากจัดยังไงให้จัดเลย อยากให้คนที่ใช้พื้นที่ตรงนี้จริงๆ ได้เต็มที่กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้มันน่าสนใจ” พี่อ้อนเล่า
สิ่งแรกที่เราได้เจอเมื่อเดินเข้าไปถึงส่วนจัดแสดง คือห้องนิทรรศการที่เล่าชีวประวัติของ เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค เจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านชิ้นงานศิลปะต่างๆ โดย อีริค บุนนาค บูซ
ตั้งใจสร้างเพื่ออุทิศให้คุณย่าทวดของตน ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย โดยคำว่า ‘ใหม่’ นั้นหมายถึงจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนคำว่า ‘เอี่ยม’ นั้นก็มาจากชื่อของ เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค นั่นเอง และในบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของห้องฉายหนัง ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ก็มีโครงการที่จะนำหนังทางเลือกที่อาจจะหาดูได้ยากมาฉายในอนาคต
“หนึ่งโจทย์สำคัญของการสร้างพิพิธภัณฑ์คือการที่เราเอางานมาจัดแสดงแล้วทำยังไงให้มันไม่เจ๊ง ซึ่งงานศิลปะนั้นก็มีหลายประเภท บางอย่างก็เปราะบางมาก อยู่ในอุณหภูมิที่ขึ้นลงมากไม่ได้ โดนแสงธรรมชาติไม่ได้ บางอย่างทนมาก อยู่ข้างนอกก็ได้ หรือบางทีก็เป็นเพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ตที่จับต้องไม่ได้ เราอยากให้พื้นที่มันรองรับความหลากหลายของการปฏิบัติการทางศิลปะต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจึงจัดพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน” พี่อ้อนเริ่มต้นอธิบาย
ประเภทแรกคือพื้นที่เปิดที่มีการควบคุมน้อยที่สุด มีแสงสว่างจากธรรมชาติ อุณหภูมิธรรมชาติ ใช้แค่พัดลมดูดอากาศเพื่อให้มีการหมุนเวียน ได้แก่พื้นที่โถงกลางที่สามารถจัดแสดงงานได้หลากหลายตั้งแต่งานภาพพิมพ์ใหญ่ยักษ์ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ไปจนถึงเพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต และลานกลางแจ้งที่ตอนนี้มีรถโฟล์กสีสันสดใส ผลงานของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล จอดแสดงอยู่
ประเภทที่สองคือ มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ยังเปิดใช้แสงธรรมชาติจากด้านนอกได้ ซึ่งก็คือพื้นที่ของนิทรรศการหมุนเวียนชั้นหนึ่งที่มีการออกแบบช่องรับแสงธรรมชาติที่ล้อมรอบห้องไว้ เปิดและปิดได้ตามลักษณะของงานที่นำมาแสดง และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรชั้นสองที่ติดตั้งเพดานด้วยไฟเบอร์กลาสเพื่อใช้กรองแสงจากภายนอก
ประเภทสุดท้ายคือ ห้องแสดงงานที่ต้องทำการควบคุมทุกอย่างอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น
แสงสว่าง รวมไปถึงความปลอดภัย “สมมติว่ามีชิ้นงานมูลค่าสูงมาโชว์ มันจะต้องมีการทำประกันชิ้นงานเอาไว้
ซึ่งบริษัทที่รับประกันเค้าก็จะมีลิสต์มาให้ว่าสถานที่ของเราทำตามข้อตกลงทางด้านความปลอดภัยเหล่านี้ได้หรือไม่ ถามถึงขั้นว่าเรามีที่จอดรถตรงไหน จากที่จอดรถมาถึงห้องแสดงงานจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง และในห้องนั้นมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะทำให้งานเสียหาย ละเอียดมาก ซึ่งเราก็ออกแบบห้องนี้ตามลิสต์นั้น”
จากทั้งหมดที่กล่าวมาน่าจะเรียกได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีพื้นที่ที่ ‘ครบถ้วน’ สำหรับการเป็นพิพิธภัณฑ์สักแห่งแล้ว
แต่ถ้าลองมองหาความน่าสนใจที่มากกว่านั้น เราจะพบว่าความครบถ้วนของส่วนแสดงงานแทบทั้งหมดถูกสร้างและต่อเติมขึ้นภายในโกดังเก่าซึ่งตั้งอยู่แต่เดิมบนที่ผืนนี้ “การต่อเติมจากโกดังเก่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมันมีข้อจำกัดเยอะ ห้ามฟุ้งซ่าน เราเลยออกแบบเร็วมากเพราะพื้นที่มันมีอยู่แค่นี้ ส่วนข้อเสียมันจะไปอยู่ที่ความยากตอนก่อสร้าง เพราะการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีอาคารเดิมอยู่นั้นไม่ง่าย อย่างการเพิ่มชั้นสองต้องลงเสาเข็มใหม่ก็ต้องระวังไม่ให้ไปกระทบของเก่า ยกปั้นจั่นเข้าไปก็ต้องระวังว่าจะชนหลังคามั้ย ต้องระวังเรื่องที่จะไปกระทบให้อาคารเดิมเสียหาย”
หลังจากเดินชมจนครบถ้วนทุกส่วนของพิพิธภัณฑ์แล้ว สิ่งที่เราสังเกตได้อย่างชัดเจนคือความเรียบง่ายของพื้นที่ที่ไม่ได้มีการตกแต่งใดๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากผลงานแต่ละชิ้น ซึ่งนั่นก็ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ “ไอเดียหลักคือตัวสถาปัตยกรรมมันต้องไม่ข่มงานศิลปะ เวลาเราไปพิพิธภัณฑ์บางแห่งในต่างประเทศเราก็จะหงุดหงิดที่เราเห็นตัวอาคารมากกว่างานศิลปะ คือในฐานะสถาปนิกเองยังหงุดหงิดเลย เพราะเราคิดว่างานศิลปะบางชิ้นมันเจ๋งกว่านั้นมาก ตัวสถาปัตยกรรมมันควรจะเป็นที่ที่ทำให้งานศิลปะหรือกิจกรรมทางศิลปะโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เป็นความต้องการของทั้งเจ้าของและทางเราด้วย” พี่อ้อนสรุป
สำหรับเราแล้ว การออกแบบอาคารแห่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่จะไม่ข่มงานศิลปะ แต่งานสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบโดยผู้ที่รักศิลปะอย่างแท้จริงแห่งนี้ หากจะถูกยกให้เป็นงานศิลปะอีกหนึ่งชิ้นก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลย
Facebook l MAIIAM Contemporary Art Museum, www.maiiam.com
Facebook l Allzone , www.allzonedesignall.com