โอ๊ต มณเฑียร : ถอดรหัสมิวเซียมไทย ใกล้ตายจริงหรือ?

บริเวณย่านกรุงเก่าของกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแห่งหนึ่ง เด็กนักเรียนจำนวนเกือบร้อยคนต่อคิวกันเป็นระเบียบเพื่อเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราเห็นย้อนแย้งกับคำถามในใจที่เตรียมมาถกกับ โอ๊ต มณเฑียร ผู้ร่ำเรียนวิชาการศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์มาจาก Institution of Education London เราพบว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวงการพิพิธภัณฑ์ไม่น้อยเลยทีเดียวในสังคม

จากการเรียนรู้ ฝึกงาน และสำรวจพิพิธภัณฑ์ในลอนดอนมาตลอดระยะเวลา 6 ปี ทำให้โอ๊ตได้คำตอบว่าทำไมวงการพิพิธภัณฑ์ที่นั่นจึงสนุกสนาน น่าตื่นตาตื่นใจ และวงการพิพิธภัณฑ์ไทยกำลังเดินมาถึงจุดไหน

คนชอบบอกว่าคนไทยไม่ชอบไปพิพิธภัณฑ์
จริงเหรอ อย่างวันนี้ (ที่มิวเซียมสยาม) เราก็เห็นคณะนักเรียนเป็นร้อยคน บางครั้งเป็นพันด้วยซ้ำ จริงๆ คนไปพิพิธภัณฑ์นะ มองไปเยื้องๆ กัน อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็มีคนตลอด อาจจะไม่เยอะอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่อย่าเพิ่งเหมารวมว่าคนไม่ชอบไปพิพิธภัณฑ์ดีกว่ามั้ง

มันอาจจะเริ่มจากการเปรียบเทียบความนิยมของพิพิธภัณฑ์ในสังคม คือที่อังกฤษดูเขาไปมิวเซียมเยอะกว่าเราใช่มั้ย ล่าสุดตามฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย (ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) มีพิพิธภัณฑ์จดทะเบียนไว้รวม 1,477 แห่งทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ มี 247 แห่ง เทียบกับลอนดอนคือ 250 แห่ง จริงๆ เกือบเท่ากันเลยนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ แต่อย่างที่อังกฤษเวลาเราไปป้ายรถเมล์หรือรถไฟใต้ดิน สิ่งแรกๆ ที่จะเห็นเลยคือโฆษณาพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการใหม่ของหอศิลป์ ของบ้านเรามีแต่โฆษณาผิวขาว โฆษณาอาหารเสริม ฯลฯ

ดังนั้นเราอาจจะถามได้ว่าทำไมมิวเซียมถึงได้อยู่ในกระแสสังคมบริโภคนิยมที่โน่น ตอนเราไปอังกฤษแรกๆ เราตกใจมากที่เราต้องต่อคิวยาวเข้ามิวเซียม หรืออย่าง Victoria and Albert Museum ทำนิทรรศการอะไรตั๋วก็ขายหมดล่วงหน้าสองเดือน หรือ Natural History Museum ต้องไปเตรียมตัวก่อนเวลาเข้า 1 ชั่วโมง ซึ่งเรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วที่เมืองไทยก็มีของเลอค่า น่าตื่นเต้นเหมือนกัน

มีการศึกษาหรือวิจัยมั้ยว่าทำไมพิพิธภัณฑ์ที่ลอนดอนถึงฮิตและป๊อปขนาดนั้น
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากเขียนเรื่อง London Museums เลยนะ มันคล้ายกับตอนที่เราเขียนเรื่อง London Scene ที่เราไปเรียนที่ Central Saint Martins เราตั้งคำถามว่าทำไมสภาพแวดล้อมของเมืองมันสร้างสรรค์ สนุก และหลากหลาย เราก็พยายามถอดรหัสออกมาด้วยการไปที่ต่างๆ สัมภาษณ์คนในวงการสร้างสรรค์ ทั้งศิลปิน แกลเลอรี หรือหน่วยงานต่างๆ เราอยากรู้ว่าอะไรทำให้เกิดความสั่นสะเทือนนี้ เราได้ข้อสรุปมาว่าลอนดอนมีความขบถอยู่ในดีเอ็นเอ เขาหยิบสิ่งที่เห็นที่มีอยู่มาตั้งคำถามใหม่โดยไม่ถูกลงโทษลงทัณฑ์ มันก็จะมีกระแสให้คนถกเถียงกันตลอดตั้งแต่ Mod Style ในยุค 60s หรือ Punk ในยุค 70s New Romantics ในยุค 80s

พอมาวันหนึ่ง เรามีโอกาสได้ไปวาดรูปใน V&A Museum มันชวนให้เราตั้งคำถามคล้ายๆ กันกับวงการพิพิธภัณฑ์ของเขา เราอยากลองถอดรหัสว่าพิพิธภัณฑ์ที่มีมายาวนานหลายร้อยปีแล้วทำไมยังสนุกได้ขนาดนี้ เราก็เลยอยากเรียนต่อด้านนี้ เป็นปริญญาโทใบที่สองคือ Museums and Galleries in Education ที่ Institute of Education (UCL) บวกกับไปขอฝึกงานกับ V&A Museum of Childhood ทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังของงานที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั่วลอนดอน ซึ่งเราก็กลั่นกรองมาเล่าในเล่มนี้

สุดท้ายถอดรหัสได้มั้ยว่าทำไมมิวเซียมที่ลอนดอนถึงได้รับความสนใจ แล้วมันขับเคลื่อนสังคมยังไง
เรื่องนี้แยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้ 3 ประเด็น อย่างแรกคือแนวคิดของมิวเซียม ในหนังสือ London Museums ไม่ใช่การแนะนำพิพิธภัณฑ์ในเชิงหนังสือนำเที่ยว เราเขียนเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของมิวเซียมที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย คิดได้ยังไง เราอาจไม่ได้พูดถึงนิทรรศการโดยตรง แต่เรามีคีย์เวิร์ดหรือประเด็นบางอย่าง เช่น Fan Museum ตัวคอลเลกชั่นดูไม่มีอะไรมาก คือมีแค่พัด แต่มันมีห้องดื่มชา เป็น Orangery ที่สวยงามเวอร์วัง ใครไปก็ฟิน มันสอนให้รู้ว่า พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องคิดแค่เรื่องการจัดแสดงอย่างเดียว แต่คิดถึงประสบการณ์ของคนที่มาทั้งหมด หรือการเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการสแกนมัมมี่ที่ British Museum การใช้ 3D printing ที่ John Soane, การสร้างเส้นทางเดินใน Wellcome Collection ซึ่งคำนึงถึงจิตใจของคนที่มาว่าเขาอยากดูอะไร เช่น ของแปลกๆ หรือของที่ให้แรงบันดาลใจ เขาก็สร้างเส้นทางไปสู่ของที่ได้ประสบการณ์เหล่านั้น เราว่ามันเป็นแนวคิดที่ทำให้ประสบการณ์ในมิวเซียมสนุก

นอกจากนั้นคือเรื่องการเรียนรู้ (learning) ซึ่งเป็นสายเฉพาะทางของเรา เมื่อก่อนเราคิดว่าการเรียนรู้ในมิวเซียมก็คืออ่านป้ายนิทรรศการ พอเรามาเรียนถึงรู้ว่าการตีความหรือการให้ความรู้ในมิวเซียมต้องเป็นสิ่งที่คิดมาแล้วมากกว่านั้น มิวเซียมในลอนดอนสอนให้รู้ว่าต้องมีนักการศึกษา ไม่ใช่ให้ภัณฑารักษ์ทำทุกอย่าง มิวเซียมต้องมีคนที่วางแผนการเรียนรู้ได้ คุณจะมาคาดหวังให้นักโบราณคดีรู้ว่าเด็ก ป.2 ต้องเรียนรู้ยังไงไม่ได้ นักการศึกษาเป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่มคนต่างๆ ที่จะเข้ามาเรียนรู้และช่วยเปลี่ยนวิธีการจัดแสดงหรือเข้าถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มนั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีฝ่ายดูแลทั้งการตลาด ฝ่ายของที่ระลึก ฝ่ายที่ดูแลการเข้าถึงของคน ว่าคนที่เขามองไม่เห็นหรือคนที่นั่งรถเข็นจะเข้าอย่างไร หรือฝ่ายทำงานชุมชนที่ต้องออกไปหาคนนอกมิวเซียม ฯลฯ คือมันหลายฝ่ายจริงๆ นะ

ประเด็นสุดท้ายคือเขาทำสิ่งเหล่านี้ทำไม ต้องยอมรับก่อนว่าพิพิธภัณฑ์คือขั้วอำนาจ ของอะไรก็ตามที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์คือการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งนั้น มิวเซียมสร้างขึ้นเพื่อโชว์อารยะมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถือเป็นสถาบันที่บอกได้ว่าอะไรดี อะไรสวย อะไรคือมาตรฐานของสังคม พอเวลาผ่านไปสังคมก็เปลี่ยนไป

อย่างที่อังกฤษ ตอนปี 2009 DCMS (Department for Digital, Culture, Media & Sport) ตัดงบประมาณมิวเซียมในอังกฤษ เพราะเห็นว่ามิวเซียมไม่ได้ตอบโจทย์สังคม ตอนนั้นนักประวัติศาสตร์ก็ออกมาดิ้นกัน รัฐบาลก็บอกว่าโชว์ให้ได้สิว่าคุณให้อะไรกับสังคม เข้าถึงทุกคนที่จ่ายภาษี มิวเซียมทั้งหลายจึงมีไกด์ไลน์ใหม่ (new museology) หลังจากนั้นมิวเซียมก็ต้องลุกขึ้นมาทำยังไงก็ได้ให้สังคมเห็นค่า ไม่อย่างนั้นก็ต้องปิด มีการปรับตัวโดยใช้สื่อใหม่ๆ ให้ทันยุคสมัย แต่ไม่ใช่จะเปิดตลาดคนเดินอะไรแบบนั้นนะ เพราะเขารู้ว่ามูลค่าที่เขามีคืออะไร มูลค่าของพิพิธภัณฑ์คือประวัติศาสตร์ เขาเริ่มจากตรงนี้ ฉันมีภาพเขียนระดับโลก ออกมาบอกสิว่ามันระดับโลกยังไง แล้วกระจายให้คนเอาไปดาวน์โหลด ไปพรินต์ที่บ้านได้ มันก็กลายเป็นของมีค่า แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

เห็นผลที่ออกมาได้ชัดเลยมั้ย
เห็นได้ชัด สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการที่คนต่อคิว ตั๋วขายหมด จริงๆ ก่อนหน้านี้มิวเซียมที่โน่นก็ซบเซาเหมือนกัน เมื่อก่อนถ่ายรูปไม่ได้ แต่ตอนนี้ให้ถ่ายรูปได้ ซึ่งทั่วโลกก็กำลังทำตาม อย่างการจัด Night at the Museum การทำเส้นทางเดิน ในฐานะนักพิพิธภัณฑ์เราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นในงานเขียนหรือการอบรมของเราเองที่เมืองไทยด้วย

ดูเหมือนว่าที่พิพิธภัณฑ์ในไทยก็กำลังจะเดินไปในแนวทางนี้เหมือนกัน แต่เรามีข้อจำกัดอะไรมั้ย
ลอนดอนอาจจะเร็วกว่าที่อื่นด้วยความขบถ เขามีวัฒนธรรมที่สามารถเอาสิ่งที่เป็นหอคอยงาช้างมาฉีกใหม่ให้น่าตื่นเต้น ซึ่งเวลาเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยไปหมด แต่มันไม่ได้มีการลงโทษทางกฎหมายหรือโดนอุ้มอะไรแบบนั้นเลยทำให้เร็วกว่าที่อื่น แม้แต่ยุโรปประเทศอื่นๆ ก็ยังมีความอนุรักษ์นิยมกว่า

ที่เมืองไทยก็คล้ายกัน ถามว่ามีสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นกำลังจะเกิดขึ้นมั้ย มี และเรากำลังสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ เราก็พยายามจะผลักดันให้คนนอกวงการเห็นว่ามิวเซียมไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และเป็นเรื่องของคนทุกวัย ที่มิวเซียมสยามเองเป็นตัวอย่างของความพยายามก้าวข้ามขอบเขตเดิมๆ ของคำว่ามิวเซียมไป หรือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็มีการจัดแสดงและเปิดห้องนิทรรศการใหม่ ตอนนี้เราอยากให้คนจับตาดูพิพิธภัณฑ์ในไทยว่ามันไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิดนะ มันมีอะไรสนุกๆ อยู่เยอะ เล่มหน้าเราอาจจะเขียนถึง Bangkok Museum ก็ได้

คุณเคยเขียนไว้ว่ามิวเซียมที่ลอนดอนพยายามให้ประโยชน์กับสังคมหรือเมืองนั้น อยากรู้ว่าที่เมืองไทยมีเหมือนกันมั้ย
มีนะ แต่เป็นคนละแรงผลักกัน ที่นี่เราทำเพราะพิพิธภัณฑ์เห็นคุณค่ากันในกลุ่มเล็กๆ มันอาจจะไม่ได้มาจากวิสัยทัศน์ผู้บริหารหรือเป็นนโยบายการพัฒนาชาติเหมือนที่นู่น ตามหลักแล้วมิวเซียมทั่วโลกพยายามจะผลักดันให้ตนเป็นพื้นที่ประชาธิปไตย คนต้องสามารถคิดต่างและอยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้ได้ พิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ แต่มันต้องไม่ถูกเล่าจากด้านเดียว ชุดคำที่มีความชี้นำ เช่น ‘สวยงาม’ ‘ดีงาม’ ‘เลวทราม’ จะไม่นำมาใช้ มันต้องเป็นกลางและให้คนสร้างความหมายของเขาเองได้ แต่ที่ไทยอาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น

วงการพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษมีเรื่องดีๆ มากมาย แล้วมีอะไรที่คนพิพิธภัณฑ์กังวลมั้ย
ก็เรื่องงบประมาณนั่นแหละ พิพิธภัณฑ์จะได้งบประมาณจากรัฐบาลมาส่วนหนึ่งซึ่งโดนตัดทุกปี เขาต้องหาสปอนเซอร์ซึ่งมาในหลายรูปแบบ เช่น สปอนเซอร์การศึกษาหรือสปอนเซอร์ตึก มีการจัดบริจาคจากครอบครัวที่ร่ำรวย และคนทั่วไปที่ทั้งบริจาคและซื้อของ พอคนเห็นความสำคัญมันจึงอยู่ได้ แต่ก็ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนกัน นอกจากนั้นเท่าที่รู้ก็จะเป็นเรื่องการเมือง ว่าคุณโชว์อะไร อย่างไร พูดแบบนี้ได้มั้ย เรื่อง political correctness หรือเรื่องจริยธรรม มนุษยธรรม อย่างเรื่องมัมมี่ที่เป็นร่างคนที่เก่าแก่มาก เราต้องขออนุญาตใคร ขอยังไง เพราะเมื่อพิพิธภัณฑ์ตระหนักว่าตัวเองเป็นขั้วอำนาจหนึ่งของสังคม เขาก็ต้องรู้ถึงความรับผิดชอบของเขาด้วย

คิดว่าเรื่องไหนที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยควรจะทำมากที่สุดในตอนนี้
พิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้ต้องตอบรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ตอนนี้มีกระแสละคร บุพเพสันนิวาส คนก็ลุกขึ้นมาแต่งตัวย้อนยุค เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก หรืออย่างตอนละคร พิษสวาท คนก็แห่กันไปพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาที่อยุธยา ดังนั้นถามว่าคนไทยไม่สนใจประวัติศาสตร์เหรอ อาจจะไม่จริงหรอก ประเด็นน่าจะอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ว่าสามารถต่อยอดความสนใจ หรือตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมได้ยังไง ทำไมไม่มีใครในหน่วยงานพิพิธภัณฑ์ไทยที่พยายามจะปรับตัวให้ฮิตติดกระแส หรือเรากลัวว่าพิพิธภัณฑ์จะเสียความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ไปถ้ามันร่วมสมัยขึ้นมา เราก็หวังว่าเมื่อคนได้อ่านเรื่องราวของลอนดอนในงานเขียนของเรา มันจะชวนให้เขาย้อนคิดคำถามเหล่านี้ และช่วยผลักดันวงการพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยต่อไปไม่มากก็น้อย

ภาพ ลักษิกา แซ่เหงี่ยม

AUTHOR