วิธีเอาคืนคนที่พูดว่า “เราจะแยกขยะไปทำไม คนเก็บเขาก็ทิ้งรวมกันอยู่ดี” ให้สาสม

Highlights

  • แม้ทุกครั้งที่ได้ยินคำปรามาสว่า "จะแยกขยะไปทำไม คนเก็บเขาก็ทิ้งรวมกันอยู่ดี" จิราภรณ์ วิหวา จะอยากตอบโต้ให้สาสม แต่สุดท้าย ตามประสาชาวติ๋ม เธอจึงพยายามเริ่มต้นลดขยะ แยกขยะ และดำเนินชีวิตแบบรบกวนสิ่งแวดล้อมแต่น้อย เพื่อพิสูจน์ (แบบติ๋มๆ) ให้คนเหล่านั้นเห็นว่าการใช้ชีวิตแบบนี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ทีละนิด ทีละหน่อยก็ยังดี

เมื่อไหร่ที่ได้ยินใครพูดว่า “จะแยกขยะไปทำไม คนเก็บเขาก็ทิ้งรวมกันอยู่ดี” ภาพในหัวคือการเห็นตัวเองถลาเข้าไปเขย่าตัวผู้พูดพร้อมกรีดร้องแบบ FYI “ว้อย… อัพเดตเวอร์ชั่นหน่อยจ้า ลุงเคยเห็นเขาเก็บขยะกันไหม แทนที่เขาจะเก็บง่าย กำจัดคล่อง เขาต้องมานั่งค้นถุงที่ลุงๆ ผูกกันไว้ แยกขวดแก้ว พลาสติก กระดาษใส่ถุงกระสอบแบบเลอะๆ เทอะๆ ถ้าลุงแยกไว้ตั้งแต่ต้น ชีวิตเขาก็ไม่ยากขนาดนี้หรอกโว้ยยยย”

ค่ะ, ฉันไม่ได้ทำอย่างที่ภาพในหัวคิด แต่ก็หาทางต่อบทสนทนาสั้นๆ ว่ามันไม่ใช่แล้วนะจ๊ะ ซึ่งถ้าผลลัพธ์ออกมาว่าเกินจะเยียวยา ฉันก็ทำได้แค่แอบสูดลมหายใจลึก และนึกสงสัยว่ามันเป็นแค่ประโยคติดปากไร้ความหมายแบบ “วันนี้ร้อนนะ” “มาคนเดียวเหรอ” หรือเป็นเพียงเซฟโซนให้รู้สึกเบาใจ เพราะการเชื่ออย่างนั้นทำให้ลุงไม่ต้องทำอะไรนอกจากการทิ้งทุกอย่างชุ่ยๆ เหมือนเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่บางลุงเริ่มวิพากษ์โครงสร้างใหญ่โต เปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วบลา บลา บลา ฉันจะโกรธหนักขมับเต้นตุบๆ เพราะแม้จะเห็นด้วยแหละว่าก็จริงจ้ะ แต่ตัวลุงเองก็ควรพัฒนาด้วยสิจ๊าาา (ลากเสียง)

ก่อนหน้านี้ ฉันค่อนข้างหมกมุ่นกับการ ‘ทำยังไงให้เขารู้ว่าสิ่งที่พูดออกมามันงี่เง่า’ แต่ตามประสาคนติ๋มที่พอคิดไปคิดมาก็มาลงที่ตัวเอง ฉันก็สงสัยขึ้นมาว่าแล้วฉันยังมีอะไรที่ฉันก็เข้าข่ายงี่เง่าจนจะไปด่าใครเขาได้ในเรื่องนี้ ซึ่งนอกจากการแยกขยะรีไซเคิลออกมาก่อนทิ้ง ยังมีการจัดการในจักรวาลขยะอีกมากที่เราทำได้เองโดยไม่ต้องรอใคร ราวๆ ปีสองปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ฉันค่อยๆ ต้วมเตี้ยมทำไปทีละอย่าง พลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ก็รู้สึกได้จัดการกับใจตัวเอง และได้แก้แค้นเจ้าของประโยคเหล่านั้นด้วยวิธีติ๋มให้พี่เขาดู พร้อมหวังลึกๆ ว่ารัฐจะมีมาตรการเชิงนโยบายเร่งให้เกิดปฏิกิริยาไปจนถึงผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้ และจะมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เป็นสมาชิกที่อยู่ในครอบครัวของคนเหล่านั้นเข้าสักวัน

 

ติ๋มเริ่มต้น ลดการใช้ ก่อนหน้านี้ฉันเสพติดชาเขียวในร้านสะดวกซื้อ เข้าร้านกาแฟทุกวัน ชอบสั่งของมาเต็มโต๊ะแล้วต้องขอแพ็กของเหลือกลับบ้านทุกที วันวันหนึ่งจึงมีขยะอายุสั้นจากความนิยมบริโภคของฉันมากมาย แต่พอได้สะกิดตัวเองแรงๆ ฉันก็ลองชงชาใส่ขวดแช่เย็นไว้กินเอง พกแก้วพกขวดในวันที่สัมภาระไม่หนักหนามากและคิดว่าต้องแวะร้านกาแฟแน่ๆ ซึ่งกว่าจะทำจนเป็นนิสัยได้ก็สูญแก้วไว้ตามแกร็บคาร์ ลืมไว้ตามร้านรวง ให้ต้องวิ่งกลับไปเอาคืนจนเจ็บแล้วจำ

ติ๋มล้างเอง ไม่ต้องเกรงใจ สารภาพว่าบ่อยครั้งที่หักห้ามใจไม่ไหว อยากกินชานมไข่มุก สมูทตี้ หรือน้ำชื่นใจในวันที่ไม่พกแก้ว ก็ไม่ได้เอาเป็นเอาตายกับตัวเองขนาดนั้น แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจุดทิ้งขยะรีไซเคิลจะถูกนำไปรีไซเคิลจริง ก็ถือกลับบ้านหรือกลับออฟฟิศมาล้างแล้วรวบรวมทิ้งให้เป็นหมวดหมู่ก็ยังดี ยอมรับว่าพอเริ่มทำสิ่งนี้ได้ จักรวาลก็ขยายตัวกว้างขึ้น เริ่มล้างถุงแกง ถุงพลาสติกใช้แล้ว พอตากให้แห้งก็รวบรวมไว้จนได้จำนวน ส่งรีไซเคิลได้เหมือนกันนะ

 

ติ๋มเสียงแข็ง ไม่เป็นไรจริงๆ จ้ะ การไม่รับถุงยุคนี้อยู่ในหมวดยอมรับได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องยืนยันสองสามครั้งกับเหล่าพ่อค้าแม่ค้าว่าหนูจะถือไปยังไง เดี๋ยวถุงผ้าขาด เดี๋ยวกระเป๋าเปื้อน แต่กับหลอดยังเป็นเรื่องยากเสมอ แถมเมื่อรู้ว่าหลอดเป็นสิ่งถูกนำไปรีไซเคิลยากเพราะไม่มีใครแยกจริงจัง และกระบวนการหลังจากนั้นก็ยุ่งจริงๆ เราก็ต้องย้ำให้ชัด จับตาดูให้ชัวร์ เหมือนเล่นเกมกับพนักงานเสิร์ฟอยู่เหมือนกัน ร้านไหนไม่เสิร์ฟหลอดอัตโนมัติ หรือบางร้านลงทุนใช้หลอดสแตนเลสแบบใช้ซ้ำสำหรับเสิร์ฟในร้าน หรือมีมาตรการจริงจัง เช่น ไม่ขายน้ำเปล่าในขวดพลาสติก ฉันถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องชื่นชมและให้กำลังใจว่าทำต่อไปนะค้า แม้บางร้านจะปรับทุกข์กลับมาว่าลูกค้าไม่ชิน กลัวสกปรกผิดหลักอนามัย นี่ก็ยิ่งชูกำปั้นสู้ๆ ให้อีก 3 รอบ และอยากช่วยยืนยันอีกเสียงว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในห้องปลอดเชื้อกันนะคะ


     

ติ๋มใช้แทน แบนเท่าที่ไหว พอจริงจังเรื่องลดขยะ ชีวิตก็จะพาเราไปสนอกสนใจเรื่องทำนองนี้และอัพเลเวลไปเรื่อยๆ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือเอ๊ะ! ไม่ต้องขนาดนั้นบ้าง เช่น ฉันชอบการใช้ beeswax wrap หรือผ้าเคลือบขี้ผึ้งแทนแรปพลาสติกที่ฉีกง่ายฉีกเร็วในครัว เพราะมันน่ารักกุ๊กกิ๊กดี สีสันสดใส ล้างตากใช้ซ้ำได้ใหม่ หรือฉันพยายามลดการใช้ผ้าอนามัยแบบเดิมๆ ด้วยผ้าอนามัยผ้าที่ซักได้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับต้วมเตี้ยม กล้าใช้แค่วันที่อยู่บ้านเท่านั้น จริงๆ ตั้งใจจะใช้ถ้วยซิลิโคน menstrual cup เหมือนกัน แต่ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ หรือบางครั้งก็อุดมการณ์จัด พกขวดแก้วไปรีฟิลผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ที่บ้าน แต่กว่าจะถึงบ้านก็แบกจนไหล่เอียง ทั้งที่จริงๆ เลือกพลาสติกใช้ซ้ำแทนก็ได้ เพราะพลาสติกก็ไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป แค่ใช้ให้มันคุ้มกับที่เกิดมาและพยายามจัดการส่งมันสู่กระบวนการกำจัดหรือนำไปเกิดใหม่อย่างเหมาะสม

 

ติ๋มสมัครใจ หมักขยะไม่ให้แขยง เรามักคิดกันว่าขยะที่ต้องจัดการคือขยะที่รีไซเคิลได้ แต่อีกปัญหาที่ทำให้ขยะรีไซเคิลไปสู่กระบวนการได้ค่อนข้างยาก เพราะเรามักทิ้งปะปนกับขยะสดจากครัวเรือนที่เหม็นๆ มันๆ เฉอะแฉะ ยากที่จะทำความสะอาด การไม่ทิ้งขยะเศษอาหารปนเปื้อนไปตั้งแต่ต้นจึงดีกว่า ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินการหมักปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร แต่ไม่อาจข้ามผ่านเรื่องกลิ่นไปได้หรือพื้นที่ในบ้านไม่เอื้ออำนวย ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น จนเจอเซตหมักปุ๋ยของ ผัก Done ก็พบทางหมักขยะสดในบ้านให้กลายเป็นปุ๋ยโดยไม่ต้องอี๋กับกลิ่นหรือไส้เดือน แถมจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในพลาสติกที่เฟรนด์ลี่กับบ้านตึกแถวพื้นที่จำกัดของฉันมาก

ติ๋มโหลเล็ก น้ำหมักแบบเด็กน้อย ซึ่งหลังจากสนุกกับการเห็นราสีขาวมากินเศษอาหาร และตำเปลือกไข่เพิ่มแคลเซียมให้ปุ๋ย ฉันก็เริ่มเข้าสู่วงการหมักน้ำชีวภาพจากผลไม้ทีละชนิดในโหลจิ๋วๆ มะเขือเทศน่วมเกินจะกินอร่อยก็เอามาหมักกับน้ำตาลทรายแดง ตะลิงปลิงเหมามาแกงคั่วหนึ่งกำมือ เหลืองอมเกินกินก็เอามาใช้ได้ เปลือกสับปะรด หรืออะไรเปรี้ยวๆ ที่เหลือกินก็ลองเอามาหมักดู จากสูตรที่เขาแชร์ๆ กันว่าต้องทำทีห้าโลสิบโลถึงจะคุ้มค่า แล้วบ้านเล็กๆ อย่างเราจะเอาถังสิบลิตรไปตั้งตรงไหน พอลดสัดส่วนทำน้อยๆ ก็พบว่ายังเป็นน้ำหมักได้ อาจจะไม่คุ้มแรงแต่ก็ไม่เห็นเป็นไรเพราะเราเอามาใช้แค่ในบ้าน ยิ่งพอแยกทำเป็นประเภทไม่หมักรวมกันก็รู้สึกสนุกเหมือนได้ทดลองอะไรบางอย่าง สับปะรดได้ผลดีเยี่ยม มะดันกับตะลิงปลิงสูสี มะเขือเทศออกตัวช้า ก็ว่ากันไป และพอได้หัวเชื้อน้ำหมักเหล่านี้ จะเอาไปผสมทำนำ้ยาล้างห้องน้ำ ฉีดล้างคราบมันในครัว ก็รู้สึกพรีเมียมกว่าน้ำหมักที่ไม่รู้ผสมอะไรมาบ้าง และได้ใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแบบไม่เสียสตางค์ จะล้างห้องน้ำก็ไม่ต้องใส่ถุงมือ ปิดปากปิดจมูกเหมือนน้ำยาเคมีฤทธิ์กัดกร่อนด้วยนะ

หลังจากติ๋มตามหมวดหมู่ที่เล่ามาเพราะอยากจะเอาชนะลุงที่พล่ามไม่เข้าเรื่อง ฉันก็ไม่แน่ใจหรอกว่า ลุงคนเดิมได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้มากขึ้นไหม แต่กับคนรอบตัว ดูเหมือนว่าเราเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และพยายามในแบบของตัวเองมากขึ้น และมันก็ช่วยส่งแรงฮึดให้กันและกันในระดับสาสมใจ

ระหว่างรอนโยบายที่มีประสิทธิภาพ มาเป็นคนที่จัดการขยะที่ตัวเองสร้างอย่างมีประสิทธิภาพกันเถอะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กาแฟดำไม่เผ็ด

เป็นคนวาดภาพประกอบ เขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือสำหรับเด็ก เจ้าของเพจกาแฟดำไม่เผ็ด และ Milo and Me ชอบเดินทาง แต่ก็ชอบอยู่บ้าน ชอบทำอาหาร ชอบดูนก ชอบวาดรูปและเล่าเรื่อง ชอบชีวิต…