Protest หนังสือแบบฝึกหัดที่ชวนให้ผู้อ่านมาออกแบบการประท้วงของตัวเอง 

Highlights

  • Protest คือหนังสือในโปรเจกต์ Anthropology For Kids ของ Nika Dubrovsky และ David Graeber ที่ต้องการผลิตหนังสือเด็กสำหรับผู้ใหญ่ (และเด็ก) ที่เนื้อหาสร้างความท้าทายต่อความคิดทางการเมือง
  • ในแต่ละบทของ Protest จะบอกเล่าเรื่องราวการประท้วงในประเทศต่างๆ ควบคู่ไปกับการชักชวนผู้อ่านทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการประท้วง
  • เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือการนำเสนอให้เห็นความหลากหลายของการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่ต่างก็มีเป้าหมายแตกต่างกันไป

ลองคิดภาพหนังสือแบบฝึกหัดที่เคยเรียนกันสมัยประถมฯ หรือมัธยมฯ นะครับ แต่แทนที่เนื้อหาด้านในจะเป็นโจทย์คณิตศาสตร์หรือไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ กลับเป็นเรื่องราวของการประท้วงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก Anthropology For Kids – Protest คือหนังสือเล่มที่ว่า

ในคอลัมน์ครั้งก่อน ผมได้พูดถึง What Are Kings หนังสือที่ชวนตั้งคำถามผ่านน้ำเสียงของความใคร่รู้สงสัยแบบเด็กๆ ว่าพระราชาคืออะไร? ซึ่ง Protest คือหนังสืออีกเล่มที่ถูกตีพิมพ์ออกมาภายใต้ซีรีส์ชุดเดียวกัน นั่นคือซีรีส์ ‘Anthropology For Kids’ (มานุษยวิทยาสำหรับเด็ก) 

Anthropology For Kids คือโปรเจกต์ที่ศิลปินนามว่า Nika Dubrovsky และ David Graeber นักมานุษยวิทยาผู้เสียชีวิตไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ร่วมมือกันผลิตหนังสือที่ทั้งคู่นิยามว่าเป็น ‘หนังสือเด็กสำหรับผู้ใหญ่ (และเด็ก) ที่เนื้อหาสร้างความท้าทายต่อความคิดทางการเมือง’ โดยที่ Anthropology For Kids เริ่มต้นจากความมุ่งมั่นที่ดูบรอฟสกีและเกรเบอร์อยากจะสร้างพื้นที่สำหรับแบ่งปันความรู้ระหว่าง ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ (expert) กับ ‘คนทั่วไป’ (non-expert) ในเรื่องความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ แม้ว่าหนังสือเล่มต่างๆ ในซีรีส์ Anthropology For Kids จะเขียนขึ้นจาก ‘นักวิชาการ’ ที่เชี่ยวชาญประเด็นที่เฉพาะเจาะจง ทว่าน้ำเสียงและท่าทีของผู้เขียนก็ไม่ได้จะมาสั่งสอน อวดรู้ หรือยกตนข่มผู้อ่านแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หนังสือแต่ละเล่มต่างพยายามอย่างเต็มที่ในการเชิญชวนผู้อ่าน (ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่) ได้ลองคิดตาม ลองเห็นต่าง และลองแสดงทัศนคติของตัวเอง

protest

พูดถึงโครงสร้างของ Protest อย่างที่บอกว่ารูปแบบของหนังสือเล่มนี้คล้ายกับหนังสือแบบฝึกหัดในโรงเรียน นั่นเพราะมันให้ความสำคัญกับการทำแบบฝึกหัดของผู้อ่าน ในแต่ละบทจะเริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างการประท้วงในประเทศหนึ่งๆ อธิบายให้เห็นถึงต้นเหตุของการประท้วง รูปแบบของความรุนแรงที่รัฐและผู้มีอำนาจกระทำต่อผู้ถูกกดขี่ ไปจนถึงบอกเล่ากลยุทธ์ต่างๆ ที่กลุ่มผู้ประท้วงตอบโต้กลับไปสู่ผู้มีอำนาจ 

หลังจากบอกเล่ารายละเอียดการประท้วงในประเทศหนึ่งๆ จนแล้วเสร็จ แบบฝึกหัดคือส่วนที่สองที่จะตามมา โดยที่ผู้เขียนจะหยิบยกประเด็นที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละการประท้วงมาตั้งคำถามเพื่อให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็น ยกตัวอย่างเช่น ในบทหนึ่ง ผู้เขียนเล่าถึงการประท้วงของนักศึกษาในประเทศอังกฤษเมื่อปี 2010 ซึ่งปะทุขึ้นจากการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าเทอมนักศึกษาทั่วประเทศถึงสามเท่าของค่าเทอมเดิม ควบรวมกับความพยายามที่จะตัดงบการสอนของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษร้อยละ 40 นักศึกษาในอังกฤษไม่เพียงแต่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายปรับขึ้นค่าเทอม แต่ยังพุ่งเป้าวิจารณ์ไปยังการใช้จ่ายงบประมาณที่มุ่งไปยังกระเป๋าของกองทัพและนายทุน แทนที่จะสนับสนุนระบบการศึกษา ซึ่งพวกเขามองว่าสำคัญกว่าเป็นไหนๆ 

protest

ความโดดเด่นของการประท้วงครั้งนี้อยู่ที่กลยุทธ์ที่นักศึกษาใช้ตอบโต้กับอำนาจรัฐ โดยพวกเขาได้ประดิษฐ์ ‘โล่แฮนด์เมด’ ขึ้นมา จากการซ้อนแผ่น plexiglass แผ่นโฟมยาง และแผ่นกระดาษแข็ง เจาะรู มัดแผ่นเหล่านี้เข้าด้วยกัน จากนั้นจึงวาดรูปหน้าปกหนังสือหรือเขียนชื่อหนังสือที่จะสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนและอุดมการณ์ทางการเมืองของนักศึกษาผู้ถือโล่ พวกเขาเรียกโล่แฮนด์เมดนี้ว่า ‘book bloc’ นอกจากที่โล่จะคอยปกป้องนักศึกษาในระหว่างการปะทะกับตำรวจแล้ว โล่ยังทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ ทัศนคติ และตัวตนอันหลากหลายที่ไหลเวียนอยู่ในกลุ่มก้อนของผู้ประท้วง ผ่านภาพของนักศึกษานับร้อยพัน เรียงแถวยืนต่อกัน และต่างถือ book bloc ของตัวเอง

จากนั้นในหน้าถัดมา ผู้เขียนก็ได้เชิญชวนให้ผู้อ่านมาออกแบบ book bloc ของตัวเองผ่านโจทย์ว่า ‘จงตั้งชื่อและอธิบายเหตุผลในการประท้วงของคุณ และวาดภาพโล่ book bloc ของคุณ’ โดยที่หนังสือได้เว้นพื้นที่ว่างไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้เขียนคำตอบและวาดภาพโล่ของตัวเอง

protest

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งท่ามกลางสารพัดแบบฝึกหัดที่รวมอยู่ใน Protest ยังมีตัวอย่างแบบฝึกหัดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น ในบทที่พูดถึงขบวนการ ‘Occupy Wall Street’ ในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนก็ให้โจทย์กับผู้อ่านว่า ‘สมมติว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการ คุณจะออกแบบสโลแกนการประท้วงที่สั้น กระชับ และช่วยอธิบายความสำคัญของประเด็นความเท่าเทียมยังไง?’ หรือในบทที่เล่าถึงกลุ่มซาปาติสตาในประเทศเม็กซิโก ผู้เขียนก็ตั้งคำถามกับผู้อ่านว่า ‘สมมติว่าคุณเป็นผู้นำของกลุ่มผู้ถูกกดขี่ในประเทศของคุณ และพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้มีอำนาจ คุณจะออกแบบกิจกรรมที่จะโน้มน้าวให้สื่อหันมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของคุณยังไง?’

ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ ดูบรอฟสกีได้เขียนไว้ว่า “ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้คนต่างพากันเปล่งเสียงและแสดงความคิดเห็นว่าอะไรคือความยุติธรรมผ่านการประท้วง บางครั้งผลลัพธ์ของการประท้วงก็ลงเอยที่ชัยชนะ แต่บางคราวก็เป็นความล้มเหลวและพ่ายแพ้ บางการประท้วงได้ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ เราจึงจดจำเหตุการณ์สำคัญและสาเหตุของการต่อสู้ได้ เช่นเดียวกับที่หลายๆ การประท้วงก็ถูกละเลยและลืมเลือนไป”

protest 

สำหรับดูบรอฟสกีแล้ว Protest คือหนังสือที่ต้องการจะนำเสนอให้เห็นความหลากหลายของการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ภายใต้เป้าหมายของการต่อสู้ที่แตกต่างกันไป เมื่อทุกๆ การประท้วงล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง การจะทำความเข้าใจกับการประท้วงใดๆ ผ่านคำอธิบายรูปแบบเดียวจึงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาผ่านมุมมองใหม่ๆ และคำอธิบายใหม่ๆ ของผู้คนใหม่ๆ อยู่เสมอ ดูบรอฟสกีชี้ว่าเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นความพยายามจะเปิดพื้นที่ให้กับผู้อ่านได้มาร่วมคิดและร่วมออกแบบการประท้วงที่สอดคล้องกับบริบทการต่อสู้กับอำนาจในชีวิตของผู้อ่านแต่ละคนที่ล้วนแตกต่างกันไป 

ดูบรอฟสกีตระหนักดีว่า ไม่มีกลยุทธ์ในการประท้วงใดที่จะแทนที่กับทุกๆ การประท้วงได้อย่างแนบสนิท มันจำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนและคิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ดูบรอฟสกีกล่าวในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า  

“ฉันรวบรวมชุดเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์จนเป็นหนังสือเล่มนี้ เพื่อที่เราจะร่วมกันคิดว่าแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในแต่ละพื้นที่และเวลาถูกพัฒนาขึ้นยังไง ประวัติศาสตร์สอนเราว่าไม่มีคำตอบใดที่จะเป็นคำตอบสำหรับทุกอย่าง พวกเราทุกคนจึงต้องตัดสินสิ่งต่างๆ เพื่อตัวเอง 

“เสมอมา ผู้คนฝันถึงโลกในอุดมคติ และวาดภาพของสรวงสวรรค์อยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริง พวกเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ประหนึ่งว่าเราไม่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย เราต่างเข้าใจว่าแนวคิดเรื่องความยุติธรรม (justice) และความเป็นธรรม (fairness) แตกต่างกันไป คำถามคือ เราจะสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ยังไง เราจะทำมันไปด้วยกันได้ยังไง”

หากจะมีใครสักคนถามว่า Protest คือหนังสือสำหรับใคร ผมคิดว่าประโยคที่ยกมาด้านบนได้ตอบข้อสงสัยนี้อย่างหมดจดแล้ว การประท้วงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่คือภารกิจของผู้ถูกกดขี่ที่ต้องผนึกรวมกันเป็นหนึ่ง ก่อร่างสร้างขึ้นเป็นพลังที่พร้อมจะพุ่งชนผู้มีอำนาจที่คอยแต่จะกดหัวประชาชนจนแบนบี้ ในทางหนึ่ง Protest อาจเป็นหนังสือสำหรับเด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด ผมคิดว่า Protest คือหนังสือสำหรับเหล่าผู้ถูกกดขี่ที่เปล่งเสียงทวงถามอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันว่าความเป็นธรรมคืออะไร ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

 ละอำนาจที่ดูจะยิ่งใหญ่คับฟ้านั้น เสมอมาเป็นอำนาจของประชาชนไม่ใช่หรือ?

AUTHOR