‘สติ’ มูลนิธิที่อยากบอกเด็กขาดโอกาสว่าทุกคนมีคุณค่าและมีทางเลือก

สติ

เกรท–เสกสรร รวยภิรมย์ คือชายหนุ่มผู้เกิดและเติบโตที่ประเทศอเมริกาในครอบครัวที่มีพร้อมแทบทุกอย่าง ย้อนกลับไปสมัยยังเด็ก เขาฝันอยากมีมูลนิธิช่วยเหลือคนตั้งแต่อายุ 12 แต่เพราะสังคมหล่อหลอมว่าหมอเป็นอาชีพเดียวที่จะช่วยเหลือคนได้ เขาจึงตัดสินใจเรียนคณะแพทยศาสตร์จนถึงปริญญาเอก 

แทนที่จะเลือกใช้ชีวิตเป็นคุณหมอไฟแรงในประเทศโลกที่หนึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษา เขาเลือกกลับมาบวชที่เมืองไทยเพื่อพิจารณาทางเดินชีวิตของตนและตัดสินใจทำมูลนิธิ ‘สติ’ มูลนิธิที่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีทางเลือกแม้จะเติบโตในสังคมที่ไม่เอื้อให้เลือกเท่าไหร่ 

เกรทเข้าไปพัฒนาสุขภาพ การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ให้เด็กต่างจังหวัดและเด็กกรุงเทพ โดยใช้กิจกรรมเสริมทักษะอาชีพและสุขอนามัยจากอาสาสมัครหลายแขนงเพื่อสร้างคุณค่าและทางเลือกให้เด็กเหล่านั้น

สติ

เล่าถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่าโลกแบบไหนกันที่ทำให้เด็กอายุ 12 ขวบในวันนั้นฝันอยากก่อตั้งมูลนิธิเพื่อผู้อื่น โลกแบบไหนกันที่เกรทอยากสร้างให้เด็กที่ขาดโอกาสด้วยวิธีการแบบสติ และโลกแบบไหนกันที่เกรทได้เรียนรู้หลังก่อตั้งสติมาได้กว่า 10 ปี

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลให้เรามาพบเขาที่นี่ Na Cafe at Bangkok 1899 หนึ่งในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสังคมที่เขาสร้างขึ้นเพื่อหาทุนมาสร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาส

อะไรที่ทำให้เกรทมี ‘สติ’

เขาเล่าคำตอบของคำถามทั้งหมดในบรรทัดถัดไป

สติ

กว่าจะมีสติ

“เราอยากมีมูลนิธิของตัวเองตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เพราะเราโตมาในครอบครัวที่คุณแม่จะพูดแค่
สองเรื่องคือศาสนาและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกวันหยุดเขาจะพาเราและน้องชาย
ไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทั้งที่ไทยและอเมริกา พอขึ้นมัธยมก็เริ่มเป็นอาสาสมัครตามโรงพยาบาล
สมัยมหาวิทยาลัยก็ไปเป็นอาสาสมัครเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อน 

“จริงๆ เราสนใจหลายอย่างทั้งกีฬา ถ่ายภาพ อาหาร แต่เราเลือกเรียนหมอจนถึงปริญญาเอก
เพราะเคยคิดว่าคนเดียวที่ช่วยคนได้คือหมอ ทั้งที่จริงแล้วเราต่างก็ช่วยสังคมได้ตามทางที่ถนัด

“แต่ช่วงที่เรียนปริญญาตรี เรากลับมาบวชเรียนที่ไทย 1 ครั้งเพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่แม่พูดตลอดนั้น
เป็นยังไง พอใกล้จบปริญญาเอกก็ลงมาบวชอีกครั้งเพื่อค้นหาว่าเราจะไปต่อทางไหน จะไปเป็นหมอ
ให้มีเงินก่อนแล้วค่อยกลับมาทำมูลนิธิ หรือเรียนจบแล้วทำเลย

“พอดีช่วงนั้นเป็นปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เราได้ไปเป็นอาสาช่วยเหลือคนประสบภัย จากการนั่งสมาธิช่วงบวชเรียนกับสิ่งที่เห็นเลยคิดว่าวันที่เรารวยคงมาไม่ถึง แม้ตอนนี้เราไม่มีเงินแต่มีแรง พอคิดแบบนั้นก็บอกพ่อแม่ว่าเราจะไม่เป็นหมอแต่จะมาเปิดมูลนิธิช่วยเหลือเด็กที่ไทย 

“เขาก็แค่ถามว่าแน่ใจใช่ไหมเพราะค่าเรียนหมอแพงมากๆ (หัวเราะ) 

“แต่เขาไม่ได้แปลกใจเพราะรู้อยู่ตลอดว่าเราจะต้องมาทางนี้”

สติ

ตั้งสติก่อนสตาร์ต

“ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจเวลาพ่อแม่บอกว่าเราโชคดีที่อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน เรียกว่าเป็นครอบครัวที่มีความสุขมากๆ แต่พอทำงานอาสาก็ได้เห็นว่าเราเกิดมาในโลกที่พร้อม แต่เด็กที่โตมาใน
สังคมที่ต่างจากเราเขาเลือกไม่ได้เลย สติจึงเป็นมูลนิธิที่เข้าไปพัฒนาเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเข้าไปบอกว่าเขามีทางเลือกแต่ไม่รู้ตัว 

“เด็กที่เราดูแลจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือหนึ่ง เด็กต่างจังหวัดที่ขาดโอกาสเพราะครอบครัว
มีรายได้น้อย พ่อแม่อาจทำนาซึ่งไม่ได้เป็นอาชีพที่ผิดแต่เขามองไม่เห็นทางเลือกอื่นในชีวิต และสอง
คือเด็กในกรุงเทพฯ ที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงซึ่งอยู่ในแวดวงสังคมที่คนรอบตัวค้ายาหรือทำอาชีพไม่สุจริต เด็กสองกลุ่มนี้เชื่อมกันอยู่คือเด็กกลุ่มแรกอาจกลายเป็นเด็กกลุ่มที่สอง 

“เด็กต่างจังหวัดเป็นเด็กที่ขาดโอกาส เราจึงต้องเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและทักษะอาชีพเพื่อไม่ให้เขากลายเป็นเด็กกลุ่มที่สอง ช่วงแรกเน้นเข้าไปสอนโภชนาการให้ครูและนักเรียน ครั้งหนึ่งเชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ผู้ชนะรายการ Top Chef Thailand เข้าไปสอนวิธีทำอาหาร มีช่างภาพมาสอนวิธีถ่ายรูปเพื่อให้เด็กนำทุกอย่างมาบูรณาการร่วมกันเป็น Cookbook นอกจากนั้น ยังทำกิจกรรมทักษะอาชีพให้เขารู้ว่าถ้าเขาอยากเป็นนักเขียนจะต้องทำยังไงต่อ ต้องเรียนภาษาอังกฤษ หรือเรียนวิชาอะไร 

สติ
สติ

“ส่วนเด็กในกรุงเทพเราเน้นเข้าไปแก้ไขและดึงเขาออกจากวงจรนี้ผ่านกิจกรรมสร้างทักษะอาชีพโดยมีอาสาสมัครจากหลายสาขาอาชีพมาสอนเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าตัวเองและเห็นทางเลือกในชีวิต รวมถึงมีทุนการศึกษาให้เด็ก 10 คนตั้งแต่ช่วงที่มูลนิธิยังก่อตั้งไม่เรียบร้อยซึ่งโคตรสำเร็จเลยเพราะเมื่อปีที่แล้วเด็กทุนคนแรกซึ่งได้รับทุนตอนอยู่ม.4 เพิ่งเรียนจบและทำงานเป็นเภสัชกรจนมีเงินเดือนเลี้ยงดูครอบครัวได้

“และเมื่อไม่นานมานี้กศน.เพิ่งอนุญาตให้สติเป็นที่แรกในเมืองไทยที่เปิดการศึกษานอกห้องเรียนให้เด็กเร่ร่อนที่ไม่มีบัตรประชาชนและเขตรองรับ เราดีใจมากเพราะเด็กทุนและเด็กคนอื่นๆ  ที่เราดูแเลเขายังมีโอกาสเรียนแต่เด็กเร่ร่อนเหล่านี้แค่กศน.ยังเรียนไม่ได้เลย”

คุณค่าที่ทุกคนคู่ควร

“จากการทำมูลนิธิมา เราได้เห็นเด็กหลายคนที่โตมาในสังคมที่มีแต่คำพูดลบๆ ว่าทำไมนิสัยแบบนี้ ทำไมสกปรกจัง ทำไมไม่เรียนหนังสือซึ่งมันไปกดใจเขาจนไม่เหลืออะไรเลย เขาจึงไปใช้ยา หรือไปทำอะไรแย่ๆ ได้เพราะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง 

“ดังนั้นถ้าให้เลือกระหว่างเป็นแคชเชียร์ 10 ชั่วโมงได้เงิน 340 บาทกับหลับตาขายบริการ 15 นาทีแล้วได้เงิน 1,000 บาทเขาก็เลือกอย่างหลังเพราะเคยโดนทำร้ายร่างกายและจิตใจมาแล้ว 

“เพราะเหตุนี้เราจึงไม่บอกน้องที่ขายบริการว่าสิ่งที่ทำมันผิดเพราะคงเปลี่ยนใจเขาไม่ได้แต่จะถามว่ารู้ไหมว่าอาชีพนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง พอเขาเข้าใจและสบายใจที่จะคุยมากขึ้น เราจะถามว่า
อยากทำต่อไหม ถ้าไม่อยากแต่ไม่รู้จะหาเงินยังไงก็จะถามว่าชอบอะไรแล้วค่อยต่อยอด หรือถ้าเขาบอกว่าชอบเต้น ซึ่งในตอนนั้นเขาอาจเป็นนักเต้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยเรามองว่าเขาก็จะได้เห็นคุณค่าว่าตัวเองเต้นแล้วสวย ได้เข้าใจว่าร่างกายเขามีคุณค่าก็พอแล้ว

“อย่างครั้งหนึ่งเราจัดกิจกรรมสอนถ่ายรูป มีเด็กคนหนึ่งถ่ายภาพสวยมากจนทุกคนชมแต่เขาก็ไม่เชื่อและถามซ้ำๆ ว่าจริงเหรอ หรืออีกครั้งที่เราให้เด็กมาเป็นนายแบบ มีคนมาแต่งหน้าให้ มีช่างภาพมาถ่ายเขา ตาเขาเป็นประกายมากเพราะไม่เคยมีใครให้ความสนใจเขามาก่อน 

“ไอ้คำชมเล็กๆ น้อยๆ นี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีคุณค่าแต่พวกเรากลับลืมมันไป เพราะเราได้รับกันมาตลอดชีวิต”

ความสำเร็จที่ไม่สำเร็จรูป 

“ครั้งหนึ่งเคยมีช่างภาพอาสาสมัครคนหนึ่งเครียดมากว่าเด็กไม่ฟังเขาเลย เราก็ถามว่าคุณมาทำอะไร คุณมาทำเพื่อตัวเองหรือทำเพื่อน้อง ดูสิ เขามีความสุขนะ เขาไม่ได้ออกไปใช้ยา เราต้องไม่ยึดติดกับความต้องการของตัวเองเพราะเราแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้ แต่สิ่งที่มูลนิธิทำได้คือการเอาความทุกข์ของเด็กๆ ออกไปแล้วทำให้เขาหาความสุขได้ด้วยตัวเอง 

“อย่างน้องผู้ชายคนหนึ่งที่ทำงานที่ Na Cafe ก็เคยอยู่ในสถานพินิจมาหลายปี แต่เขาอยากเปลี่ยนชีวิต เราเลยให้มาทำงานแล้วเขาก็ทำงานดีมากๆ จนวันหนึ่งเขามาขอลาออกเพื่อไปทำงานข้างนอก ตอนนั้นเขากลัวเราโกรธแต่เราไม่โกรธเลยเพราะเราคิดว่าเขาไม่ได้จะออกไปทำอาชีพไม่ดี แต่เราขอแค่อย่างเดียวคือขอให้เขาเป็นคนดี เราต้องการแค่นั้นซึ่งเขาก็ทำสำเร็จ

“หรืออย่างน้องส้มที่อยู่กับเรามาได้ 3 ปีแล้ว เขาเปลี่ยนจากเด็กกลุ่มเสี่ยงมาเป็นเพียงวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่คนในวงการช่างภาพรู้จัก ปีที่แล้วก็เพิ่งจัดแสดงภาพถ่ายที่ CASE Space Revolution และขายภาพได้ด้วยฝีมือเขาเองด้วย ถึงอย่างนี้ คนภายนอกก็อาจมองว่าส้มไม่ประสบความสำเร็จเพราะเอาสังคมภายนอกมาวัดว่าเด็กจะต้องมีการศึกษาที่ดี มีครอบครัวที่พร้อม แต่สำหรับเราเขาสำเร็จนะ เพราะเรามองจากสภาพสังคมที่เขาอยู่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงแต่ตอนนี้เขาไม่ได้ไปใช้ยา ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น

“นี่เป็นตัวอย่างว่าทำไมเราถึงเป็นมูลนิธิที่เน้นการทำกิจกรรมสร้างทักษะอาชีพ เราไม่ได้ต้องการให้เด็กๆ ไปเป็นหมอหรือเรียนมหาวิทยาลัยที่จบมาก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินยังไง เขาจะไปขายครีม ขายของออนไลน์ หรือทำอะไรก็ได้ แต่เราต้องการให้เขาหยุดทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น และอยู่ได้ด้วยความดีของเขา แค่นั้นเลย”

ระบบที่ดีจะทำให้มูลนิธิอยู่ได้

“เราเชื่อในการจัดการระบบที่ดี สติจึงเป็นมูลนิธิแบบ Skilled Volunteer ที่มีพนักงานประจำแค่ 2 คน ส่วนเราและคนอื่นๆ ที่จัดกิจกรรมเป็นแค่อาสาสมัครเพื่อตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกและพยายามทำธุรกิจอื่นๆ เพื่อบริหารจัดการเงินให้มูลนิธิอยู่ได้

 “เรามี CASE Space Revolution แกลเลอรีที่จัดแสดงผลงานศิลปินซึ่งทุก 5 เปอร์เซ็นต์จากการขายผลงานศิลปะจะนำเข้ามูลนิธิสติ ส่วนงานของน้องๆ ในมูลนิธิที่ได้จัดแสดงที่นี่อย่างน้องส้มจะได้รับเงินจากภาพถ่ายของตัวเองเต็มจำนวน

“เรายังมีร้านอาหารสุขภาพ Broccoli ที่ทุกๆ 9 บาทจากการขายน้ำจะนำเข้ามูลนิธิสติ รวมถึงพยายามทำงานร่วมกับคนท้องถิ่นและธุรกิจช่วยเหลือสังคมด้วยกันอย่างการซื้อผักจากชุมชนที่อาจราคาสูงกว่าตามห้างแต่เราสร้างอาชีพให้เขา และการรับมาขนมจาก Theera ที่สอนเด็กพิเศษทำขนม

สติ

“ส่วนร้านอาหาร Na Cafe at Bangkok 1899 ที่เราอยู่ตอนนี้จะขายอาหารที่หลากหลายกว่าที่ Broccoli และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของมูลนิธิทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เช่น สอนทำอาหารจากอาหารเหลือของโรงแรม สอนย้อมผ้าโดยใช้น้ำหวานเหลือทิ้งแทนน้ำตาลเพื่อลดขยะให้มากที่สุด 

“ช่องทางการหารายได้อีกแบบหนึ่งคือการทำ Crowdfunding ให้คนร่วมบริจาคซึ่งถึงแม้จะได้ไม่มากแต่ก็ได้เรื่อยๆ พอให้นำมาบริหารจัดการกิจกรรมได้ และบางครั้งเราก็จัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิ อย่างการขายหมวกและเสื้อตัวนี้ที่สกรีนรูปถ่ายของน้องส้ม”

โควิด-19 ที่ยังมีความหวัง

“ถึงจะพยายามบริหารจัดการมูลนิธิให้ดีที่สุดแต่เราก็ประสบปัญหาช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเหมือนคนอื่นๆ แต่เราเป็นคนที่มีความหวังเยอะมาก แม้หลายอย่างในช่วงนี้จะพังแต่เราเริ่มต้นใหม่จากศูนย์และร่วมสร้างอะไรที่ดีด้วยกันได้ซึ่งง่ายกว่าการแก้ไขระบบรัฐที่มีมาตลอดหลายร้อยปี 

“ทั้งที่สติไม่ชอบแจกของแต่คนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้ไปวันๆ เขาทำงานไม่ได้เลย เราจึงร่วมมือกับมูลนิธิ FREC หรือ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมบริเวณ Na Cafe ซึ่งมีมูลนิธิ
หลายแห่งทำงานร่วม ทั้ง SOS (Scholars of Sustenance Foundation) ที่ดูแลอาหารส่วนเกิน และ USL (Urban Studies Lab) นำข้อมูลผู้สูงวัย พื้นที่แออัด และรายได้ต่ำมาทำเป็นแผนที่กรุงเทพ
เพื่อดูว่าจะนำของไปแจกที่ไหน 

สติ

“จาก 300 ครัวเรือนในสัปดาห์แรก 2,500 ครัวเรือนในเดือนที่สาม กลายเป็นมื้ออาหารล้านกว่ามื้อเมื่อครบห้าเดือนในช่วงการระบาดระลอกแรก 

“เราจึงเชื่อว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำให้เม็ดเงินหายไปไหน แต่มันวนเวียนอยู่ในคนกลุ่มน้อยอย่างนายทุนใหญ่ๆ ซึ่งเอาเปรียบคนจนที่เขาเลือกไม่ได้ หน้าที่มูลนิธิและประชาชนบางส่วนจึงคือการพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้คนที่ถูกเอาเปรียบเพราะแม้เราจะแก้ปัญหาไม่ได้มากแต่เราเปิดประเด็นได้”

ก้าวที่ 10 ของสติ 

“ตลอดเวลาการทำงานหลายปีของสติ เราได้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่รอบตัวเราและยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ทั้งหมดนี้มันเกิดจากการที่เราที่ไม่สนใจมันเอง 

“เราจึงสะท้อนชีวิตตัวเองตลอดว่าเราเกิดมาโชคดีแต่ชีวิตของเด็กๆ มันโหดมากจริงๆ โหดเกินกว่าจะจินตนาการ โหดแบบที่มนุษย์คนหนึ่งไม่ควรเจอ จากเคยคิดว่าละครไทยน้ำเน่ามาก มาเจอของจริงมันยิ่งกว่านั้น พ่อแม่เลิกกัน พ่อทำร้ายร่างกาย โดนแฟนใหม่แม่ข่มขืน แต่เรากลับยิ่งเชื่อในความเท่าเทียมเพราะแม้เด็กของเราไม่มีโอกาสเลยแต่เราก็เชื่อว่าเขาทำอะไรได้

“ตอนเริ่มทำมูลนิธิเราใจร้อนอยากรีบแก้ปัญหาแต่พอโตขึ้นและจนวันนที่สติมีอายุได้ 10 ปีก็เข้าใจว่าปัญหามันมีอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ การทำมูลนิธิมันสอนว่าเราเป็นแค่ Nobody ที่ไม่ได้สำคัญอะไรเพราะทุกครั้งที่มั่นใจว่าน้องทำได้ มันก็จะพังทันทีเมื่อเขากลับไปใช้ยา 

จริงๆ ไม่รู้ว่ามาถึงจุดนี้ได้ยังไง แต่รู้ไหมนี่คือการทำสัญญากับตัวเองว่าจะช่วยเหลือคนไปตลอดชีวิต ทุกครั้งที่ตั้งคำถามกับงานว่ามันเวิร์กไหม ชีวิตที่ผ่านมาของเราตอน 12 ขวบก็เตือนตลอดว่ามันเวิร์กในทางของมันและแม้เราไม่มีชีวิตอยู่ถึงอีกร้อยปีที่โลกจะเปลี่ยน

“แต่อย่างน้อยเราก็ถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกกลมๆ ใบนี้เริ่มหมุน”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย