เมื่อมีเวลาคุณให้ค่ากับอะไร ‘ธนาคารเวลาวัยสุขและปันสุข’ ธนาคารที่ให้ค่ากับความสัมพันธ์

Highlights

  • บอม–ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ รับบทเป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์โครงการธนาคารเวลา ที่หยิบแนวคิดการช่วยเหลือกันโดยได้เครดิตเวลาเป็นค่าตอบแทน และสามารถนำเครดิตเวลานั้นไปใช้ได้
  • ธนาคารเวลาของบอมค่อนข้างแตกต่าง ที่อื่นจะมีเรื่องการแลกเวลาเป็นยอดเป้า แต่ที่เขาทำนั้น เบื้องหลังการแลกเปลี่ยนเวลาคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
  • เขาเชื่อว่าคนเรามีทักษะในการช่วยเหลือคนได้โดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างการหลับง่ายก็อาจเป็นทักษะให้คำปรึกษากับคนที่นอนไม่หลับก็ยังได้ 

ธนาคารโดยทั่วไปมีเงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

ธนาคารเวลาจึงเดาได้ไม่ยากว่ามีเวลาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนบริการ

ธนาคารเวลาเป็นนโยบายของประเทศไทยที่กำลังศึกษา ทดลอง และปลุกปั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายที่ทั่วโลกกับหลายกลุ่มผู้ใช้บริการ

เมื่อ บอม–ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ รับบทเป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์ของธนาคารเวลาภายใต้ สสส. ที่อยากเห็นคนช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน เขาจึงตีความว่าการแลกเครดิตเวลาและปฏิบัติตามหลักของธนาคารเวลาได้จะต้องเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันก่อน

ก่อนที่จะตัดสินใจว่าอยากร่วมเปิดบัญชีและเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารเวลาแห่งนี้หรือไม่ โปรดศึกษารายละเอียดธนาคารแห่งนี้ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

ธนาคารเวลาในประเทศไทย 101

โดยส่วนใหญ่ธนาคารเวลาในประเทศไทยสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการธนาคารเวลานี้หยิบแนวคิดการช่วยเหลือกันโดยได้เครดิตเวลาเป็นค่าตอบแทน และสามารถนำเครดิตเวลานั้นไปใช้ได้ต่อเมื่อตนถึงคราวต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทดลองทำที่ 42 จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ แต่ละที่เป็นพื้นที่ในชุมชน ทำกับคนบ้านใกล้เรือนเคียง แถมยังเคยทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุร่วมกันอยู่แล้ว

ธนาคารเวลาของ สสส.หรือธนาคารเวลาในบทสัมภาษณ์นี้คือการทดลองคู่ขนานอีกชิ้นที่ทดลองสอดคล้องกันไป โดยทำในมุมของการสร้างเสริมสุขภาวะตามสิ่งที่องค์กรเชื่อว่า สุขภาพของคนเราจะดีได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่แค่สุขภาพกาย แต่เกิดจากสุขภาพใจด้วย

ธนาคารเวลาของ สสส.ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ใช้พื้นที่ชุมชนจริง ธนาคารเวลากลุ่มนี้ใช้สวนโมกข์ฯ เป็นพื้นที่กลางในการทำงาน 

ขณะนี้ ธนาคารเวลาทุกที่ทั่วไทยมีสถานะอยู่ในขั้นศึกษาทดลอง ถอดหลักการ ปรับแนวคิดจากต่างประเทศ และสิ่งที่ได้จากการศึกษาวิจัยในตำราให้อยู่ในภาคปฏิบัติและสอดคล้องกับบริบทของเมืองไทย ธนาคารเวลาแต่ละแห่งจึงไม่ได้มีรูปแบบเหมือนกันหมด แต่คือการเรียนรู้ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละธนาคารเพื่อนำไปใช้จริงต่อไป

“หัวใจของธนาคารเวลาที่เราทำคือ เบื้องหลังการแลกเปลี่ยนน่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” บอมเล่าว่าที่สวนโมกข์ฯ มีธนาคารเวลา 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือธนาคารเวลาวัยสุข–กลุ่มผู้สูงอายุ ที่บอมทำกิจกรรมร่วมอยู่แล้วและนำธนาคารเวลามาต่อยอด ส่วนอีกกลุ่มคือธนาคารเวลาปันสุข–กลุ่มคนราวๆ 40-50 ปีที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เคยลงทะเบียนว่าสนใจเรื่องธนาคารเวลากับทาง ผส. 

“ธนาคารเวลาของเราค่อนข้างแตกต่าง ที่อื่นจะมีเรื่องการแลกเวลาเป็นยอดเป้า แต่ทีมเราคุยตรงกันว่าถ้าธนาคารเวลาไม่เกิดขึ้น แต่ความสนิทกันของคณะกรรมการธนาคารเกิด ก็คือความสำเร็จแล้ว ถ้าเราหาเจอว่าอะไรทำให้คนต่างพื้นที่มาทำงานด้วยกัน คิดเห็นร่วมกัน ไม่ทะเลาะกัน รักกันมากขึ้น แปลว่ามันน่าจะต่อยอดได้”

ก่อตั้งธนาคารเวลา สาขาสวนโมกข์ฯ

ธนาคารเวลาปันสุขและวัยสุขไม่ได้เริ่มต้นจากการทดลองแลกบริการและจ่ายเครดิตเวลาเป็นค่าตอบแทน แต่พวกเขาทำกันตั้งแต่ขั้นตอนเซตระบบ พูดคุยกันว่าจะสมัครสมาชิกกันแบบไหน และจะเริ่มจากกิจกรรมอะไร

สุดท้ายธนาคารเวลา สาขาสวนโมกข์ฯ ตกลงกำหนดกรอบออกมาเป็น 3 กิจกรรมหลักคือ กิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก กิจกรรมอาสาพาสมาชิกไปช่วยคนภายนอก ที่การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นผลพลอยได้ ส่วนเป้าหมายหลักอยู่ที่การตอบโจทย์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก และเป้าหมายสุดท้ายอยากให้เกิดผลตามงานวิจัยซึ่งคือการแลกเปลี่ยนบริการและคะแนน

“ถ้าไม่มีข้อหนึ่ง ไม่มีข้อสอง มันจะไม่เกิดข้อสามเลย เราคิดอย่างงั้น”

กระชับมิตร

พอธนาคารนี้ตั้งโจทย์ไว้ที่ความสัมพันธ์ กิจกรรมกระชับมิตรที่เลือกใช้และทำกันอย่างสม่ำเสมอคือการฟัง

“เราสร้างสัมพันธ์ผ่านการรับฟัง มีกิจกรรมการ์ดเกมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนได้ฝึกสกิล deep listening หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง” บอมขยายความว่าการฟังอย่างลึกซึ้งผุดขึ้นในหัวทันทีพอตีโจทย์ได้ว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ไอเดียนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของบอมที่ใช้เครื่องมือนี้กับแม่ จากที่เมื่อก่อนมีปากเสียงกันบ่อย พอตั้งใจพยายามฟังแม่แล้วก็พบว่าแม่ก็พยายามฟังเขามากขึ้นเช่นกัน

“เราเลยเชื่อแล้วว่าการฟังมันเยียวยาความสัมพันธ์ได้จริงๆ เราเชื่อแล้วว่าคุณภาพการรับฟังเป็นยังไง ทันทีที่คุณเปิดรับฟังคนอื่น เราจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ปกติเรามักจะได้ยินแต่เสียงตัวเอง อย่างเช่นเวลาเราคุยงานกัน อีกคนบอกอันนี้ไม่ดี เราก็คิดตอบโต้ในใจแล้วว่ามันไม่ดียังไง เราว่ามันดี แล้วเราก็จะไม่ได้ฟังที่เหลือเลย แต่ถ้าเราถามเขาว่าไม่ดียังไงแล้วตั้งใจฟัง สิ่งที่ได้คือแทนที่เราจะค้าน เราจะเข้าใจเขามากขึ้น พอเข้าใจภาพเดียวกันมันจะสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น การฟังจึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการดูแลความสัมพันธ์”

“เช่นกันกับธนาคารเวลา เราเห็นในใจตั้งแต่แรกเลยว่าเบื้องหลังมันคือความสัมพันธ์ เครื่องมือนี้เลยเด้งขึ้นมา แล้วเชื่อไหมตอนที่คุยเรื่องธนาคารเวลากับภาครัฐยังไม่มีการพูดเรื่องนี้เลย แต่ทุกวันนี้ที่ไปประชุมก็พูดตลอดว่าจะต้องมีการทำกิจกรรมรับฟังกันในผู้สูงอายุ เรายิ้มในใจเลยว่าเราจัดอยู่แล้ว”

ความหวังของผู้จัดการ (โครงการ) ธนาคาร

แม้การวัดผลที่จับต้องได้ของธนาคารเวลาจะเป็นการแลกเครดิตเวลา แต่สำหรับบอมนั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่สุด

“เราไม่สนใจเรื่องคะแนนเลย เราสนใจวิธีการได้คะแนนและวิธีได้กติกามามากกว่า เราแฮปปี้มากเวลาเขาถกกันเรื่องคะแนนว่าจะแลกกันยังไง จากที่แรกๆ ทะเลาะกัน ตอนนี้มันเกื้อกูลกันมาก กระบวนการมันสำคัญกว่าผลลัพธ์ ถ้ากระบวนการดียังไงผลลัพธ์ก็ดี

หากโฟกัสอยู่ที่เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ ทำไมต้องทำกับธนาคารเวลา เราถาม

“เราอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น เรารู้สึกดีที่คนมานั่งคุย นั่งฟังกัน บางคนอาจเถียงว่าเราก็มีเพื่อนหลายกลุ่มอยู่แล้ว มีสมาคมศิษย์เก่าอยู่แล้ว ทำไมต้องมานั่งทำอะไรแบบนี้ คือเวลาเพื่อนกลุ่มเดิมๆ ป่วยหรือตาย มันก็ทยอยจากไปพร้อมๆ กัน แต่กับธนาคารเวลามันมีน้องรุ่นใหม่ๆ มาคุยกัน เราก็จะได้เรียนรู้ว่าไอเดียเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างนี้ เรามีเพื่อนเป็นเด็ก เราฉลาดขึ้น เหงาน้อยลง นี่แหละคือธนาคารเวลา มันให้ความสัมพันธ์ใหม่ๆ 

“อีกอย่างคือเราว่าธนาคารเวลาตอบโจทย์ตรงที่เวลาคุณเหม่อๆ ไม่ได้ทำไร มันอาจมีคนต้องการเวลาของคุณ หลายๆ ครั้งเรามีทักษะอะไรที่พอช่วยเหลือคนได้บ้างโดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัว ต้องรอให้คนมาถาม อย่างการหลับง่ายก็อาจเป็นทักษะให้คำปรึกษากับคนที่นอนไม่หลับ ทุกสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรามีประโยชน์ทั้งนั้น เราแค่ต้องเอาศักยภาพที่มีไปใช้ให้ถูกที่”

ความเป็นไปได้ของธนาคารเวลา

ในฐานะของผู้จัดการโครงการธนาคารเวลาแห่งหนึ่ง สิ่งที่เขาอยากเห็นจากธนาคารเวลาคือความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

“เราชอบธนาคารเวลาตรงที่มันเป็นนโยบายของรัฐ แต่มันเกิดขึ้นได้โดยภาคประชาชน คือบางคนอาจบอกว่ารัฐน่าจะก่อตั้งเลย แต่เราตั้งคำถามว่าถ้ารัฐไม่ตั้งแล้วเราทำอะไรได้บ้าง นี่ไง โอกาสมาถึงแล้ว มันเป็นโอกาสให้แต่ละคนได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา

“เราอยากเห็นความหลากหลายของการเอาธนาคารเวลาไปใช้ เหมือนเวลาพูดถึงสตาร์ทอัพมันมีหลายแบบมาก มันไปไกลมาก เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่เอาธนาคารเวลาไปต่อยอดทำธุรกิจหรืออะไรก็ได้ เหมือนธนาคารเวลาเป็นพื้นฐานที่สนับสนุนให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แล้วถึงจุดหนึ่งรัฐก็อาจเข้ามาสนับสนุนได้ในหลายรูปแบบ” บอมบอก


สนใจเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารเวลาปันสุขและวัยสุขสมัครสมาชิกได้ที่เพจ ธนาคารเวลา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด