J Fabric : ร้านขายผ้านำเข้าที่ไม่ได้แค่ขาย แต่ยังตั้งใจสร้างคอมมิวนิตี้คนรักผ้าและงานฝีมือ

Highlights

  • J Fabric คือร้านขายผ้าย่านสำเพ็งที่ขายผ้านำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และอเมริกา โดยมีจุดเด่นคือการไปเลือกผ้าเองจากต่างประเทศ และผ้าหลายแบรนด์ที่พวกเขาวางขายหาได้ที่นี่ที่เดียวในเมืองไทย เช่น แบรนด์ Kokka ของญี่ปุ่น ซึ่งคนรักผ้ารู้จักกันดี
  • แม้จะเป็นร้านขายผ้านำเข้าแต่หัวใจของ J Fabric คือการเลือกผ้าที่ถูกจริตของคนไทย ผ้าที่พวกเขาให้ความสำคัญจึงเป็นผ้าพิมพ์ลายที่คนไทยชอบ เช่น ลายดอก หรือลายสัตว์ สำหรับแม่ๆ ที่อยากเย็บของใช้ให้ลูก ที่สำคัญ พวกเขายังรับฟังฟีดแบ็กและความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอเพื่อหาผ้าที่ถูกใจคนไทยมาเพิ่มเติมในร้านด้วย
  • นอกจากการขายผ้านำเข้าคุณภาพดี J Fabric ยังเปิดพื้นที่เป็นคอมมิวนิตี้ของคนรักผ้าอีกด้วย พวกเขาจึงสร้างร้านที่มีบรรยากาศสบายๆ มีโต๊ะให้ใช้เวลานั่งเลือกผ้าแบบไม่ใจร้อน และเพื่อให้คนรักผ้าได้มีบทสนทนากัน รวมถึงยังเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหรือคนทำงานฝีมือได้มาจัดเวิร์กช็อปอีกด้วย

สมัยเด็กๆ กิจกรรมพิเศษช่วงปิดเทอมของฉันคือการไปเดินซื้อผ้าที่พาหุรัด-สำเพ็งกับแม่ ร้านขายผ้า J Fabric

ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีใจให้งานฝีมือหรือชอบงานเย็บปักถักร้อยเป็นพิเศษ (เหตุการณ์ทำเข็มหักคามือก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว) แต่การไปเดินเลือกผ้า ดูกระดุม เลือกสีซิป และแวะซื้อขนมไข่ก่อนกลับบ้านก็เป็นเรื่องสนุกสำหรับฉันอยู่ดี ร้านขายผ้า J Fabric

ถึงอย่างนั้น ฉันก็มีปัญหาเล็กๆ ที่ไปสำเพ็งกี่ครั้งก็ยังแก้ไม่ได้สักที

หนึ่ง คือร้านส่วนใหญ่ในสำเพ็งไม่ติดแอร์ ร้านที่มีเครื่องปรับอากาศจึงถือเป็นแรร์ไอเท็มที่อยากจะเข้าไปเดินเลือกผ้านานๆ ให้หายเหนอะหนะ และสอง คือความเมื่อยล้าจากการเดินมาราธอน จากซอยนั้น ทะลุออกซอยนี้ เลี้ยวเข้าตรอกอีกแห่ง โดยไม่มีที่นั่งพักขาเลย

แต่ปัญหาสองอย่างนี้แก้ได้ ทันทีที่ฉันได้รู้จักกับร้าน J Fabric

แวบแรก ร้านสีขาวสะอาด ติดกันสาดสีน้ำเงิน และมีหน้าต่างรับแสงบานใหญ่ดูเหมือนคาเฟ่เสียมากกว่า กระทั่งเราเปิดประตูเข้าไปถึงพบว่าที่นี่คือร้านขายผ้าที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ มีที่นั่งพักเผื่อเดินมาเหนื่อยๆ ด้วย

ไม่ทันไร ออย–พรฤดี เจนเจษฎา และ เอ็ม–ธนกร เจนเจษฎา สองพี่น้องเจ้าของร้านก็เข้ามาแนะนำว่าร้านขายผ้าแห่งนี้มีทั้งผ้าจากญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และอเมริกา วางขาย และมีเป้าหมายไกลกว่าแค่การขายผ้าดีๆ แต่ยังอยากเป็นคอมมิวนิตี้คนรักผ้าและงานฝีมือ

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ พวกเขาก็เริ่มต้นที่จุดเดียวกับร้านขายผ้าอื่นๆ เช่นกัน

จากสำเพ็งสู่ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และอเมริกา

“ที่บ้านเรามีธุรกิจผ้าเปิดมา 30-40 ปีแล้ว ทำหน้าที่เป็นคนกลางสั่งโรงงานทอผ้าแล้วเอามาขาย”​ ออยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของพวกเขาให้เราฟัง

เช่นเดียวกับร้านขายส่งผ้าบ้านใกล้เรือนเคียง ธุรกิจของพวกเขาคือการขายส่งผ้าล็อตใหญ่ให้แบรนด์เสื้อผ้า แต่เมื่อแบรนด์ใหญ่ต่างประเทศเริ่มตีตลาดในไทยได้ ลูกค้าของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบ นำมาสู่การซื้อผ้าที่น้อยลง

“เราว่าเอฟเฟกต์หลักคือแบรนด์ออนไลน์” เอ็มผู้เป็นน้องชายเสริมขึ้น “ลูกค้าเก่าเราคือลูกค้าแบรนด์ที่ขายในห้าง พอการขายออนไลน์เกิดขึ้นทุกอย่างในห้างตายหมด เพราะผู้ผลิตออนไลน์ใช้ผ้าดี คุณภาพตัดเย็บดีกว่าหรือพอๆ กับในห้างมาขายในราคาที่ถูกกว่าทำให้แบรนด์ในห้างจบเลย”

โชคดีที่ในขณะที่ลูกค้าเก่าเริ่มหายไป 3 ปีที่แล้วโอกาสใหม่ก็เดินทางเข้ามา และเป็นจุดเริ่มต้นของ J Fabric ในปัจจุบัน

“ตอนนั้นมีลูกค้าของเราชวนไปพบผู้ผลิตผ้าชาวญี่ปุ่นที่กำลังหาตัวแทนจำหน่ายในไทย พอไปพบเราก็ได้รับผ้าคอลเลกชั่นหนึ่งให้มาลองเปิดตลาดในประเทศไทย ปรากฏว่าขายได้ มีผลตอบรับที่ดี แต่เราเริ่มรู้สึกว่าเรารับมาขายแบรนด์เดียวมันไม่เพียงพอ เราก็ตามหาต่อ เป็นที่มาของการบินไปเลือกผ้าเองที่ญี่ปุ่น เริ่มไปเกาหลี ไปเดินงานแฟร์ผ้าที่ต่างประเทศ เหมือนเราติดลมในการหาแบรนด์ใหม่ๆ มาเติมเรื่อยๆ”

ออยเล่าว่า แรกเริ่มพวกเขาขายทางออนไลน์เป็นหลัก แต่เพราะผ้าที่พวกเขาขายเป็นผ้าคุณภาพดีจากญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่ามีราคาสูงกว่าผ้าในตลาดทั่วไปทำให้ลูกค้าอยากเดินทางมาดูผ้าก่อนตัดสินใจซื้อ แต่หน้าร้านเก่าของพวกเขาซึ่งเคยเป็นร้านขายส่งมาก่อนก็ไม่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้เอาเสียเลย

“แต่ก่อนเราเป็นร้านขายส่ง ข้างล่างเป็นโกดัง เราก็ทำโชว์รูมผ้าต่างประเทศบนชั้น 2 ไม่ได้ตกแต่งเยอะ มีโต๊ะตรงกลางห้องแล้วก็วางผ้าโชว์ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะมาโดยการนัด เพราะว่าร้านหายาก ทุกคนก็จะโทรมาถามทางก่อน บางคนก็หลงทาง มาด่าเราในเพจก็มี พอมาถึงเราพาเขาขึ้นไปดูผ้าแล้วก็ต้องนั่งรอเขา บางคนก็เครียดจนไม่ซื้อเลย (หัวเราะ)”

นั่นจึงเป็นที่มาของการย้ายร้านออกมาอยู่ติดถนนจักรวรรดิเพื่อให้ลูกค้าหาร้านได้ง่าย รวมถึงพวกเขายังทำร้านให้กว้างขวาง มีสเปซสำหรับให้คนที่มาด้วยได้นั่งรอ มีโต๊ะให้นั่งเลือกผ้า และสร้างบรรยากาศสบายๆ ไม่กดดันเหมือนร้านเก่าอีกต่อไป

ผ้าต่างประเทศที่ตรงใจคนไทย

เพียงกวาดตามองผ้ารอบๆ ห้องโชว์รูม เราก็พบว่าพวกเขามีผ้าจากสี่ประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และอเมริกา ละลานตาจนเราต้องขอให้เอ็มช่วยอธิบายว่าผ้าแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างไร

เขาชี้ไปที่ผ้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ J Fabric

“ผ้าญี่ปุ่นที่เราขาย หลักๆ มีสองแบรนด์คือ Lecien กับ Kokka แบรนด์ Lecien จะค่อนข้างมีชื่อเสียงในประเทศไทย ลูกค้าที่ชอบทำงาน quilt จะรู้จัก Lecien เหมือนเรารู้จักกระเป๋าแบรนด์เนมนั่นแหละ ส่วน Kokka เป็นแบรนด์ดังอีกแบรนด์ของญี่ปุ่น มีดีไซเนอร์ออกแบบผ้าแต่ละคอลเลกชั่น มีเรื่องราว เช่น คอลเลกชั่นนี้ดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจมาจากสีสันดอกไม้ที่ฮาวาย ซึ่งคนที่สะสมผ้า เล่นผ้าเขามักจะซื้อกลับมาจากญี่ปุ่นมาขายเป็นจำนวนน้อย แต่คนที่นำเข้ามาขายในไทยมีแค่ที่เราที่เดียว”

คิดเร็วๆ ผ้าที่ถูกหิ้วมาขายกับผ้าที่ J Fabric นำเข้าอาจดูไม่ต่างกันนัก แต่เอ็มอธิบายว่าการนำเข้าจากผู้ผลิตโดยตรงนั้นดีกับลูกค้ามากที่สุด เพราะพวกเขาได้ไปเลือกผ้าตั้งแต่ก่อนเปิดตัวคอลเลกชั่น ทำให้วางขายได้พร้อมกับญี่ปุ่นเป๊ะๆ ในราคาที่บางครั้งถูกกว่าของญี่ปุ่นด้วยซ้ำเพราะเสียค่าหน้าร้านถูกกว่า ส่วนใครซื้อผ้าคอลเลกชั่นพิเศษหรือผ้าออร์แกนิก ทางร้านก็มี certificate ยืนยันจากผู้ผลิตให้ด้วย

ถัดจากผ้าญี่ปุ่น เอ็มชี้ให้เราดูผ้าเกาหลีที่เขาบอกว่าเป็นขวัญใจของลูกค้ากลุ่มแม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลายการ์ตูนสีสดใสที่สุด คล้ายกับผ้าจากอเมริกา แต่ผ้าเกาหลีที่พวกเขานำเข้ามามีผ้าออร์แกนิกด้วยจึงถูกใจแม่ๆ เป็นพิเศษ ส่วนผ้าฝรั่งเศสที่เอาเข้ามาเป็นผ้าออร์แกนิกเช่นกัน ย้อมสีจากเปลือกไม้โดยเฉพาะและมีราคาสูงจึงเหมาะกับคนที่จะตัดชุดสวยๆ ไปงานมากกว่า

ถึงอย่างนั้น แม้จะขายผ้าจากต่างประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดคือความชอบของลูกค้าคนไทย

“จุดเริ่มต้นของร้านเรามาจากการขายผ้าพิมพ์ เพราะเรารู้สึกว่าผ้าพิมพ์ไม่มีคำว่าเอาต์ ผ้าตารางยังมีกระแส ผ้าพื้นเป็นของที่ลูกค้าดูด้วยตาจากภาพที่เราโพสต์ออนไลน์แล้วไม่เห็นคุณภาพ ต้องเดินทางมาจับ แต่พอเราขายผ้าพิมพ์ที่พิมพ์สวย คนก็สามารถตัดสินใจจากลายผ้าได้เลย

“หรือเรื่องของสีผ้า เราจะเจอเห็นว่าคนญี่ปุ่นใส่เขียว ใส่สีเหลืองมัสตาร์ดเดินถนนแล้วสวย แต่พอเข้าเอาเข้ามาเมืองไทย จะมีลูกค้าหลายคนที่ไม่ชอบสีส้ม สีเหลือง สีเขียว ผ้าสีเหลืองม้วนหนึ่งเราขายได้เฉพาะคนญี่ปุ่นที่มาที่ร้านด้วยซ้ำ”

ความใส่ใจลูกค้าของ J Fabric ยังไม่หยุดอยู่ที่การเลือกผ้า แต่เอ็มกับออยเล่าว่าเมื่อเปิดร้านไปได้สักพัก ความต้องการของลูกค้าก็ทำให้พวกเขาต้องหาผ้ามาเพิ่มเรื่อยๆ กระทั่งทุกวันนี้ พวกเขาก็ยังมีไอเดียผ้าใหม่ๆ เสมอ

“ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราว่าทำไมไม่เอาผ้าแบบนี้แบบนั้นมา” เอ็มเล่า​ “บางคนบอกว่าไม่ชอบลายหมู หมา กาไก่ บนกระเป๋าเลย ขอลายกราฟิก บางคนบอกว่าไม่ชอบลายกราฟิกเลย จะเอาแต่หมู หมา กา ไก่ สุดท้ายคือเรามีทุกอย่างเลยแล้วกัน เรามีลายดอกไม้ มีกราฟิก พอมีคนพูดเรื่องเทกซ์เจอร์ เราก็เลยมีผ้านุ่ม ผ้าหนา ผ้าบาง กลายเป็นไปตามหาผ้าฝรั่งเศสมาเพิ่ม ดังนั้นผ้าในร้านเราไม่ได้ได้มาในทีเดียว แต่ตลอดสามปีเราเดินทางอยู่ตลอด เราได้อยากได้ผ้าฝรั่งเศสเราก็ไปเดินงานแฟร์ที่ปารีส ไปโตเกียว เพื่อดูว่าผ้าแบบไหนเหมาะกับคนไทย”

ออยเล่าให้เราฟังว่าล่าสุด J Fabric เพิ่งจับมือกับ อั้น–เกวลิน พิมพ์สอน ศิลปินเจ้าของเพจ Did you see any pattern? ออกแบบลายผ้าและส่งไปทำที่เกาหลีเรียบร้อย ออกมาเป็นผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากของไทยๆ เช่น สับปะรดในรถเข็นผลไม้ หรือดอกไม้ที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวัน

“ดีไซเนอร์คนนี้นำสับปะรดในรถเข็น ฝรั่งในรถเข็น ผลไม้ไทยๆ หรือดอกเฟื่องฟ้า และสิ่งที่อยู่ในความเป็นไทยออกมา เราก็เลยร่วมกับดีไซเนอร์คนนี้ผลิต พิมพ์ผ้าลายของเขาโดยมีแค่เฉพาะที่เราและผลิตที่เกาหลีทั้งหมด

“ที่ผ่านมาเราเอาดีไซน์ต่างประเทศมาขายในไทย แต่วันนี้เราทำผ้าเกาหลีลายไทยๆ เพราะบางคนเป็นคนไทยก็ชอบดอกไม้ไทย ชอบอะไรไทยๆ มากกว่าลายดอกแบบเกาหลีซึ่งบางทีก็เป็นลายที่คนไทยไม่รู้จัก อย่างลายที่เราทำร่วมกันจะมีการนำสับปะรดในรถเข็น ฝรั่งในรถเข็น ผลไม้ไทยๆ หรือดอกเฟื่องฟ้ามาออกแบบลาย”

จากร้านขายผ้าสู่คอมมิวนิตี้คนรักผ้า

เดินดูผ้ากันอยู่นานสองนาน ออยและเอ็มจึงชวนเรานั่งลงที่โต๊ะไม้ขนาดใหญ่กลางห้อง ก่อนเล่าคอนเซปต์ร้านต่อว่า ที่นี่พวกเขาไม่ได้อยากแค่ ‘ขายผ้า’ แต่ยังอยากเป็นพื้นที่ให้ ‘คอมมิวนิตี้’ คนรักผ้าและงานฝีมืออีกด้วย พวกเขาจึงเปิดร้านเป็นพื้นที่เวิร์กช็อปอยู่เสมอ เพื่อชักชวนคนรักงานฝีมือมาพบปะกัน

“บางคนที่ทำงานฝีมือ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับผ้าโดยตรง เขาไม่มีสถานที่จัดเวิร์กช็อป ไม่มีสเปซ เราก็เปิดพื้นที่ของเราให้มาทำเวิร์กช็อปได้ เพราะเราอยากให้ที่นี่เป็นคอมมิวนิตี้ ไม่ใช่เป็นแค่ร้านผ้า อยากให้เป็นที่ที่มานั่งคุยกันเรื่องผ้าได้ หรือบางทีถ้าลูกค้าอยากเริ่มต้นทำงานเย็บปักแต่ไม่รู้จักช่างเลย เราก็จะแนะนำให้ หรือถ้าลูกค้าซื้อผ้าไปทำแบรนด์แล้วไม่มีที่วางขาย เราก็มีที่ให้ขายด้วย

สินค้าจากลูกค้าของ J Fabric ที่วางขายในร้าน

เอ็มพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนเพิ่มเติมให้พี่สาวว่า “นั่นคือเหตุผลที่เราทำร้านให้มีสัดส่วน มีที่นั่ง และไม่เหมือนร้านผ้าทั่วไปในตลาด เพราะเราอยากให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านเราแล้วผ่อนคลาย ได้แลกเปลี่ยนกัน เวลาลูกค้ามาเจอกันในบรรยากาศสบายๆ ลูกค้าคนนี้อาจจะแนะนำลูกค้าอีกคนเรื่องการเย็บ ลูกค้าอีกคนอาจจะแนะนำลูกค้าคนอื่นเรื่องการปักได้ เราพยายามทำร้านให้ลูกค้ามานั่งรู้จักกัน”

ที่ผ่านมา คนที่แวะเวียนมาทำเวิร์กช็อปที่ J Fabric มีไม่น้อย ตั้งแต่เวิร์กช็อปทำผ้าพิมพ์ลายแพตเทิร์นโดย Did you see any pattern? ไปจนถึงเวิร์กช็อปทำเสื้อผ้าตุ๊กตาของกลุ่มคนรักตุ๊กตา แถมช่วง Bangkok Design Week 2019 ที่ผ่านมา ทางร้านยังมีเวิร์กช็อปทำกระเป๋าผ้าอีกด้วย

คุยกันไปมา เราก็คิดว่าไอเดียของออยและเอ็มดูจะเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชอบใจจนน่าจะไปตั้งอยู่ในย่านที่อุดมด้วยคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าสำเพ็งด้วยซ้ำ

ทำไมพวกเขาถึงยังเลือกอยู่ที่นี่ เราสงสัย

“เรายังอยู่ในสำเพ็งเพราะไอเดียความเป็นคอมมินิตี้นี่แหละ” ออยตอบอย่างรวดเร็ว “สำเพ็งโซนนี้เป็นร้านผ้าขายส่งก็จริง คนที่ซื้อปลีกอาจจะไม่ค่อยได้มา แต่ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งที่ต่างชาติมาเวลาจะมาซื้อผ้า ยังไงมันก็จะมีคนที่มาซื้อผ้าที่ไชน่าเวิลด์ มาซื้อผ้าที่สำเพ็ง อย่างลูกค้าเราพอซื้อผ้าเสร็จก็ต้องเดินไปซื้อกระดุม ซื้อซิปในย่านนี้อยู่ดี ตอนแรกเราก็คิดว่าออกไปอยู่ย่านอื่นดีกว่า ตรงนี้ค่าเช่าก็แพง ที่จอดรถก็ไม่มี แต่สุดท้ายที่นี่ก็ครบวงจรที่สุดอยู่ดี”


J Fabric ตั้งอยู่บนถนนจักรวรรดิ กรุงเทพฯ เยื้องๆ กับสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ร้านเปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 9:00-17:00 น. (วันเสาร์เปิด 9:30 น.)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก