“คนญี่ปุ่นเองยังไม่ค่อยมีคนรู้เลยว่ามีธงปลาคาร์ปแบบวาดมือด้วย”
Takeshi Takada ผู้สืบทอดวิชาวาดธงปลาคาร์ปรุ่นที่ 6 แห่งสตูดิโอ Takagi พูดถึงงานคราฟต์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นงานฝีมือเก่าแก่ของโอซาก้าอย่างอารมณ์ดี
ธงปลาคาร์ปหรือ Koinobori หลากสีสันจะถูกประดับบนธงสูง แหวกว่ายปลิวไสวอยู่บนน่านฟ้าญี่ปุ่นทุกๆ วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันเด็กผู้ชาย เพื่อขอพรให้เด็กผู้ชายสุขภาพแข็งแรง ธรรมเนียมนี้ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากจีนอีกที ชาวแผ่นดินใหญ่เชื่อกันว่า การประดับธงปลาคาร์ปจะทำให้ลูกชายที่จะเป็นคนรับช่วงต่อของตระกูลรุ่งเรืองและสุขภาพแข็งแรง ในสมัยเอโดะเหล่าซามูไรจะเอาดาบและเสื้อเกราะที่ได้รับมรดกตกทอดมาประดับหน้าบ้านคู่กับธง เพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณของนักสู้ในตัวเด็ก
แล้วทำไมต้องเป็นปลาคาร์ป?
ตำนานจีนเล่าว่า ปลาใดที่ว่ายไปถึงน้ำตกใหญ่บนภูเขาได้จะกลายเป็นมังกรและบินสู่สวรรค์ เหล่าปลาทั้งหลายที่ใฝ่ฝันอยากเป็นมังกรแห่กันว่ายไปจำนวนมาก แต่ไม่สำเร็จ มีเพียงปลาคาร์ปตัวเดียวเท่านั้นที่ทำได้ การประดับธงปลาคาร์ปไว้ที่สูงเลยกลายเป็นเรื่องมงคลและสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
ทาคาดะรุ่นที่ 6 คนนี้คงสืบทอดจิตวิญญาณนักสู้ของปลาคาร์ปตัวนั้นมาพร้อมๆ กับทักษะการวาด เพราะเขาคือช่างคนสุดท้ายในคันไซที่ยังวาดปลาคาร์ปด้วยมือ และเป็นคนเดียวในประเทศที่สามารถยึดงานฝีมือนี้เป็นอาชีพหลัก
“ผมเรียนจากพ่อโดยตรงตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะงานฝีมือแบบไหนก็คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีนะกว่าจะคล่อง” ชายวัย 63 ปีเล่าให้ฟังพลางเดินนำเราไปยังสตูดิโอที่ทำงานซึ่งเต็มไปด้วยปลาคาร์ปน้อยใหญ่ทั้งบนพื้นและผนัง ราวกับเป็นอลิซที่หลงเข้าไปในบ่อปลาวันเดอร์แลนด์
เมื่อเห็นเราตกใจกับปลาคาร์ปตัวเขื่องขนาด 9 เมตรที่แขวนอยู่ริมผนัง เซียนพู่กันเลยหันมาให้ความรู้เบื้องต้น
“ธงมีหลายไซส์ เช่น 3.2 เมตร 4.5 เมตร 9 เมตร จริงๆ แล้วใช้หน่วยวัดเป็นหน่วยแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘ชาคุ’ (shaku)ไม้บรรทัดที่ใช้ก็เป็นหน่วยแบบนั้น สีปลาคาร์ปหลักๆ มี 3 สี คือ ดำ แดง น้ำเงิน สมัยเอโดะมีแค่สีดำ ส่วนสีเหลืองและสีน้ำเงินค่อยๆ ถูกเพิ่มเข้ามาทีหลัง จนตอนนี้มีประมาณ 8 สีแล้ว สมัยก่อนเขาประดับสีดำกันตัวเดียว แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไปทำให้กลายเป็นเซตครอบครัว 3 ตัว พ่อแม่ลูก”
จุดเด่นของธงภายใต้แบรนด์ทาคางิคือ เจ้าหนุ่มคินทาโร่ตัวสีแดงที่ขี่ปลาคาร์ป ถึงธงจากจังหวัดอื่นจะหน้าตาและลวดลายต่างกันหมด แต่มีแค่ที่นี่เท่านั้นที่มีคนขี่ และลำตัวที่ตั้งใจให้อวบเป็นพิเศษ เมื่อลอยรับลมไว้เต็มท้องจะดูสมจริงขึ้น
ตระเตรียมอุปกรณ์อยู่สักพัก ทาคาดะไม่รอช้าสาธิตวิธีการวาดธงปลาคาร์ปให้เราดูอย่างกระฉับกระเฉง เขาบอกว่า เริ่มจากการวาดตาปลาก่อน ต่อด้วยตราประจำตระกูล (ถ้าลูกค้ารีเควสต์มา) วาดคินทาโร่แล้วค่อยวาดตัวปลา วาดทีละพาร์ตไปเรื่อยๆ พอเสร็จทั้งตัวก็ปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากใช้เวลา 4-5 วันในการวาดปลาคาร์ปขนาด 4.5 เมตร 1 ตัว และต้องรอให้แห้งอีก 1 วัน สีปลาคาร์ปสไตล์ทาคางิจะเน้นสีสดที่ไม่มีประกายเงินประกายทอง จุดเดียวบนตัวปลาที่มีความวิ้งคือ ดวงตาปลาที่ทำจากอะลูมิเนียมซึ่งก็ทำด้วยมืออีกเหมือนกัน
“จุดเด่นของการวาดมือคือโบคาชิ (bokashi) หรือการไล่สีฟุ้งๆ ตรงกระพุ้งแก้มปลา การระบายสีจุดนี้ ในพู่กันจะมีสีครึ่งหนึ่ง น้ำครึ่งหนึ่งผสมกัน การแสดงสีหน้าทางอารมณ์ของปลาหรือของคินทาโร่ที่ละเอียดอ่อนเป็นสิ่งที่เครื่องพิมพ์ทำไม่ได้” ทาคาดะสลับพู่กันมาไล่สีให้เราดูอย่างคล่องแคล่ว
แปรงที่ใช้ก็ไม่ธรรมดา นอกจากแปรงที่ทำเองเพื่อปรับให้เข้ามือกับแปรงสมัยใหม่นิดๆ หน่อยๆ แปรงส่วนมากของเขาสั่งจากช่างทำแปรงเก่าแก่ของเกียวโตที่ทำต่อเนื่องมา 16 รุ่นแล้ว แถมไม่ขายให้ลูกค้าทั่วไป ทำส่งให้เฉพาะลูกค้าเก่าที่คบค้ากันมานานเท่านั้น ความดีงามของแปรงเจ้านี้คือ เส้นแน่นไม่แตก วาดทีเดียวสวยคม เคล็ดลับอยู่ที่ขนแปรงซึ่งเป็น ‘ขนกวางในช่วงฤดูร้อน’
“จุดที่วัดฝีมือคนทำคือฝีแปรงตรงปลายเส้น การตวัดหลังจากลงเส้นหนึ่งครั้ง เส้นต้องไม่แตก ปลายสวย ตรงนี้แหละยากที่สุด แต่สิ่งสำคัญของการเป็นช่างวาดภาพคือห้ามพลาด เพราะลบไม่ได้ ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก” พูดจบช่างฝีมือผู้มีอารมณ์ขันก็หัวเราะพร้อมชี้ให้ดูความผิดพลาดบนปลาขนาด 9 เมตรที่ทำให้เขาต้องเหนื่อยอีกรอบ
นักสู้ผมสีดอกเลาคนนี้บอกว่าการวาดใหม่ยังไม่เหนื่อยเท่าการว่ายน้ำท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี เขารับช่วงต่อกิจการในยุคที่ปลาจากโรงพิมพ์กำลังเฟื่องฟู คนซื้อปลาตัวใหญ่น้อยลงและหันไปซื้อปลาพิมพ์ขนาดกะทัดรัดจากร้านร้อยเยนมากขึ้น งานของเขาจึงเพิ่มขึ้นมาอีก 2 อย่างคือ สร้างการรับรู้ และออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
“นี่เป็นเซตธงปลาคาร์ปแบบไว้ตั้งประดับในบ้าน คนสมัยนี้ไม่ค่อยแขวนธงกันแล้ว เราก็ปรับให้เข้ากับยุคสมัย ถึงจะเป็นธงขนาดเล็ก เราก็ยังวาดด้วยมืออยู่ จะใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกยังไงก็ได้ แต่งานวาดเท่านั้นที่ยังต้องใช้มือจรดพู่กันเอง” ทาคาดะอธิบายพลางพาไปดูสินค้ารูปแบบอื่นๆ ที่ลูกสาวของเขาเป็นคนช่วยขยายไลน์โปรดักต์ ตอนนี้ชาวต่างชาติเริ่มสนใจมากขึ้น ปีที่แล้วก็มีชาวเวียดนามมาขอซื้อปลาคาร์ปตัวเดียวไปแขวนประดับห้อง
“ตอนนี้ลูกค้าส่วนมากเป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่ในวงการทีวี โฆษณา เขาจะเห็นคุณค่าของงานทำมือ ใช้เป็นของขวัญให้คนสำคัญ ปู่ย่าตายายก็มักซื้อให้หลานชายคนแรก คนแก่ดีใจที่ได้ซื้อของดีๆ รับขวัญหลาน คนพวกนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ผมรู้สึกขอบคุณ เพราะเราตั้งใจวาด เขาตั้งใจนำไปมอบให้คนที่รัก ยิ่งคนที่ได้รับชอบแล้วลูกค้ากลับมาขอบคุณเราอีกครั้งยิ่งทำให้รู้สึกดี เป็นความทรงจำดีๆ เราก็เหมือนได้อวยพรให้เด็กที่ได้รับธงเติบโตอย่างแข็งแรงสดใสด้วย”
ของดีๆ ใครกันจะไม่อยากได้ แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนหันไปซื้อธงแบบพิมพ์เยอะขึ้นคือ ราคาที่สูงตามจุดที่แขวน เช่น เซตธงปลาตั้งโต๊ะ 70,000 เยน เซตครอบครัว 3 ตัว ไม่รวมเสาประมาณ 220,000 เยน ทาคาดะยอมรับว่าราคาแพงจริงเมื่อเทียบกับของที่ผลิตจากโรงงาน แต่เขาเชื่อว่ายังมีคนเห็นคุณค่าของงานแฮนด์เมด แค่บางคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจ
“ผมจัดเวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้คนรู้จักงานฝีมือธงปลาคาร์ปมากขึ้น และใช้โอกาสนี้ทำให้เขาเข้าใจคุณค่าของงานฝีมือ เข้าใจที่มาของราคาว่าช่างฝีมือใช้เวลาทำชิ้นงานนาน เรื่องแบบนี้ต้องลองสัมผัสด้วยมือตัวเองถึงจะเข้าใจ อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้หรอก เราต้องทำให้คำพูดจับต้องได้”
ความยากยังไม่จบแค่นั้น ธุรกิจธงปลาคาร์ปยังมีคลื่นอุปสรรคอีกหลายลูกที่ต้องว่ายฝ่าไป ข้อแรก เนื่องจากเป็นของที่ใช้แค่ปีละ 1 วัน ช่วงระยะเวลาที่ขายของได้จริงๆ มีแค่ประมาณ 2 เดือนก่อนวันเด็ก ข้อสอง ธงขายได้เฉพาะครอบครัวที่เพิ่งมีลูกชายคนแรกเท่านั้น เท่ากับโอกาสขายคือบ้านละตัว จำนวนของขายถูกกำหนดไว้ด้วยขนบธรรมเนียม ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดน้อยลง โอกาสลุ้นให้เด็กผู้ชายเกิดยิ่งน้อยลงไปอีก พอไม่ได้เป็นของที่คนซื้อฝากกันทั่วไปเลยลำบาก ถือเป็นสินค้าที่ใช้กันแป๊บเดียวและใช้ในวงแคบมาก ช่างวาดปลาคาร์ปที่จังหวัดอื่นจึงต้องทำอาชีพหลักอย่างอื่นกัน
“ถึงจะลำบาก แต่ผมไม่เคยคิดจะเลิกนะ มันเป็นกิจการของที่บ้าน เป็นความรับผิดชอบของผมที่ต้องทำต่อ จริงๆ แล้วจะมองการเป็นตระกูลเดียวที่หลงเหลืออยู่เป็นจุดแข็งก็ได้มั้ง เพราะเราคือเจ้าเดียวเลยต้องทำให้รอด ไม่งั้นจะไม่เหลือใครอีกแล้ว ถ้ายังมีลูกค้าอยู่ ผมก็ยังอยากทำต่อไป” ทาคาดะพูดเรื่องจริงจังด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยพลังงานบวก
“สิ่งที่ผมบอกลูกอยู่เสมอคือ ขั้นตอนอะไรที่ทำเองได้ เราควรทำเองทั้งหมด เพราะเรารู้ดีที่สุดเลยสบายใจกว่าที่จะปล่อยให้ผู้รับเหมาข้างนอกจัดการ ซึ่งนี่แหละจะทำให้เราอยู่รอด ถ้าเราไม่ทำเองทั้งหมด สุดท้ายแล้วช่างฝีมือก็จะหายไป”
พ่อคาร์ปสอนลูกคราฟต์ไว้เช่นนั้น