หวานเป็นลม แต่ขมเป็นไอศครีม Jinta Homemade Icecream แบรนด์ไอศครีมที่อยากดูแลสุขภาพผู้กิน

Highlights

  • เมื่อเอ่ยถึงไอศครีม หลายคนมักนึกถึงความหวานเย็นที่มาพร้อมกับความอร่อยและทำร้ายสุขภาพ แต่ Jinta Homemade Icecream มีความตั้งใจที่อยากทำไอศครีมไม่ทำลายสุขภาพ ทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยาด้วย
  • นอกจากรสชาติไอศครีมที่ทำจากผักกับผลไม้ อย่างมะเกี๋ยง ตะลิงปลิง ข้าวไทย และมะระ เพื่อรักสุขภาพคุณแล้ว แพ็กเกจจิ้งจากวัสดุธรรมชาติก็ยังรักโลกอีก
  • ตรงกับปรัชญา homemade happiness ที่ หนุ่ม–เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล เจ้าของแบรนด์ยึดถือ เป็นความสุขที่ทำเองและอยากส่งต่อให้คนอื่น

‘หวานเป็นลม ขมเป็นยา’ คือประโยคที่เราคุ้นชินมาแต่อ้อนแต่ออก เวลาต้องกินผัก สมุนไพร หรือยาใดๆ ที่รสชาติขมปี๋ชวนหยีตา ผู้ใหญ่ในบ้านมักเอ่ยประโยคเด็ดนี้สำทับเรา

ส่วนอะไรที่หวานอร่อย กินแล้วชื่นใจ มักถูกจัดประเภทเป็นตัวร้าย เพราะส่วนประกอบสำคัญอย่างน้ำตาลและไขมันนั้นช่างทำลายสุขภาพเหลือเกิน

แต่รู้ไหมว่าของหวานเย็นชื่นใจและเป็นที่โปรดปรานของใครหลายคนอย่าง ‘ไอศครีม’ ก็เป็นของกินที่ไม่ทำร้ายคุณได้ ทั้งยังไปไกลกว่านั้นด้วยการเป็น ‘ยา’

แบรนด์ที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมามีชื่อว่า Jinta Homemade Icecream

ไอศครีมรสฟักทองผักโขมที่ไม่ขม ไอศครีมกะทิสดแท้กับกล้วยเชื่อมทำเอง ไอศครีมสับปะรดพริกสดที่จับความเปรี้ยวหวานมาตัดด้วยรสเผ็ดนิดหน่อย กินแล้วสดชื่นไม่น้อย นี่ยังไม่นับรวมไอศครีมรสล่าสุดอย่างมะระชีสเค้กที่ได้แรงบันดาลใจจากรายการ MasterChef Thailand อีก กินแล้วอร่อยอย่าบอกใครเชียว แถมแพ็กเกจจิ้งที่ใช้ก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รักตัวเองและโลกไปได้ในทีเดียวเลย

ก่อนจะข้ามขั้นไปสั่งไอศครีม ฉันอยากให้คุณทำความรู้จักกับ หนุ่ม–เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล เจ้าของแบรนด์เพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพื่อที่เวลากินจะได้เอร็ดอร่อยไปกับรสชาติและอิ่มหนำไปกับความตั้งใจของชายคนนี้

เจ้าของไอศครีมตัวจริงคือลูกสาว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้หนุ่มทำไอศครีมคือลูกสาวคนแรก

ย้อนไป 6-7 ปีที่แล้ว ด้วยความที่ต้องการหารายได้เสริมในช่วงที่ภรรยากำลังท้องลูกคนแรก บวกกับตัวเองชอบกินไอศครีมอยู่แล้ว ว่าที่คุณพ่อจึงตัดสินใจลงเรียนและทำไอศครีมคุณภาพดีแข่งขันในตลาด ทว่าผลตอบรับไม่ดีนักเนื่องจากเป็นผู้ผลิตหน้าใหม่และยังไม่มีอะไรแตกต่างจากคนอื่น

จนกระทั่งเมื่อ 2-3 ปีก่อน เขาไปออกบูทในกลุ่มตลาดสีเขียวและได้รู้จักกับกลุ่มเกษตรกรผู้รู้จริงรู้รอบ

พอได้พูดคุยสนิทสนมกัน พวกเขาก็แนะนำให้หนุ่มลองใช้ผลไม้สดทำไอศครีม ซึ่งกระบวนการทำไอศครีมทั่วไปมักใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการนำนมมาปั่นกับน้ำตาลและรสชาติที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แล้วเติมเนื้อผลไม้จริงเข้าไปนิดหน่อย ก่อนปรุงแต่งสีกับกลิ่น

“พอเอาผลไม้สดมาทำ มันยากตรงของแต่ละรอบมาไม่เหมือนกัน บางทีมาเปรี้ยว บางทีมาหวาน ต้องปรับตลอด และมีเรื่องอายุของผลไม้สดที่สั้นกว่าตัวที่ผ่านโพรเซสมาแล้ว แต่เราก็ลองทำจากง่ายๆ ก่อน อย่างเสาวรส พอทำเสร็จ ลูกค้าชอบมากกว่าของที่ผ่านโพรเซสเพราะรสชัดกว่า ก็เริ่มติดใจกัน”

หลังจากนั้น หนุ่มจึงเปลี่ยนวิธีการทำไอศครีมใหม่ทั้งหมดโดยทดลองนำผลไม้อื่นๆ ในตลาดสีเขียวมาใช้ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร และคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น

จากการคลุกคลีในแวดวงตลาดสีเขียวนี้นี่เองทำให้เขารู้ว่าใครมีอะไรมาขาย นิสัยใจคอเป็นอย่างไร หนุ่มจึงเชื่อใจผลิตผลที่เขาซื้อมาทำไอศครีมได้ว่าจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนแน่นอน ส่วนในกรรมวิธีการทำ ถึงแม้ไม่สามารถใช้วัตุดิบจากธรรมชาติมาทำไอศครีมได้ทั้งหมด แต่หนุ่มก็พยายามปรับลดสารเคมีที่ต้องใช้ให้น้อยที่สุด

“เราลดสารให้ความคงตัวจากสูตรที่เรียนมาให้ต่ำที่สุด เลเวลที่รับได้ ไม่ต้องให้ไอศครีมอยู่นานหลายเดือนก็ได้ เราก็พยายามรันให้ไอศครีมออกไม่เกิน 2 เดือน หมดแล้วค่อยทำใหม่ ไม่จำเป็นต้องใส่สารให้ความคงตัวเยอะ เพียงแต่ต้องบอกตามตรงว่าต้องใส่ ไม่ใส่ก็ไม่เป็นไอศครีม ไม่งั้นต้องปั่นแล้วทานเลยหน้าเครื่องถึงจะอร่อย”

และเพราะเหตุผลที่เขาลุกขึ้นมาทำไอศครีมคือลูกสาวคนแรกชื่อจินตา ชื่อของลูกสาวจึงกลายเป็นชื่อแบรนด์ไอศครีม โดยคุณพ่อคนนี้ตั้งใจทำไอศครีมให้ออกมาอร่อยและดีที่สุด เพราะหากมีลูกค้าว่าไอศครีมก็เหมือนว่าลูกสาวของเขาไปด้วย

ไอศครีมที่ทำจากตะลิงปลิง มะเกี๋ยง และข้าวไทย

สารพัดรสชาติไอศครีมที่หนุ่มทำเริ่มจากการใช้ผลไม้ทั่วๆ ไปอย่างเสาวรส กล้วย มะยม ฯลฯ ก่อนขยับไปทำรสชาติอื่นๆ จากผลไม้ไทยพื้นถิ่นที่มีคนรู้จักส่งมาให้ เช่น มะยม ตะลิงปลิง และมะเกี๋ยง

“เรามัวแต่ไปเห่อกับบลูเบอร์รี ราสป์เบอร์รี แต่ไม่เคยรู้เลยว่าไทยก็มีเบอร์รีอยู่ อย่างมะยม มะเกี๋ยง มีพี่คนหนึ่งปลูกที่เชียงใหม่ลองส่งมาให้ผมทำไอศครีม ผมก็เอามาทำเป็นแยมแล้วราดบนช็อกโกแลต กลายเป็นคล้ายๆ แบล็กฟอเรสต์ แต่แทนที่เราจะใช้พวกแยมบลูเบอร์รี เต็มที่เราก็ต้องเอามาจากแยมกระป๋อง นี่เราสามารถนำผลไม้มาทำแยมเอง แล้วปั่นผสมกับช็อกโกแลตได้เลย”

ยังไม่หมดแค่นั้น เคยมีคนส่งข้าวมาให้หนุ่มสร้างสรรค์เมนู เกิดเป็นไอศครีมรสชาติที่ฉันเองก็คาดไม่ถึงมาก่อน

“รอบนั้นภูมิใจมาก เป็นข้าวของชาวนาไทอีสาน เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าพันธุ์ข้าวบ้านเรามีเป็นหมื่นสายพันธุ์ แต่เรากินแค่ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวอื่นๆ อีกนิดหน่อย แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีข้าวที่เป็นข้าวพื้นถิ่นและคนไม่ค่อยกิน ซึ่งจริงๆ แล้วข้าวที่ขายตามท้องตลาด เวลาทำให้แมสมันจะผ่านกระบวนการเยอะ คุณประโยชน์หายไปค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เรากินข้าวตามท้องตลาด ได้แต่แป้ง คาร์โบไฮเดรต กับน้ำตาล มันเลยอ้วน”

“แต่ถ้าเรากินข้าวพื้นถิ่น สิ่งที่ได้มากกว่าคาร์โบไฮเดรตกับน้ำตาลคือ ได้พวกวิตามิน เกลือแร่ หรือแร่ธาตุต่างๆ สูงกว่า แถมมีไฟเบอร์ กินแล้วไม่อ้วนด้วย แถมสุขภาพดีอีก ข้าวที่เราเอามาทำชื่อข้าวเหนียวดำอสิตะกับข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ เราลองซื้อมาหุงกินก่อน กลายเป็นว่าข้าวเหนียวเขาไม่เหนียวซะทีเดียว เป็นข้าวเหนียวที่เหนียวๆ นุ่มๆ หอมๆ กึ่งข้าวเหนียวปนข้าวสวย จะคล้ายๆ ข้าวญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อก่อนเราบ้าข้าวญี่ปุ่นมาก แต่พอมากิน ข้าวบ้านเราอร่อย แทนที่ข้าวเจ้าจะนุ่มๆ มันก็มีความหนึบๆ เหนียวๆ รสชาติไม่เหมือนกันเลย เราก็เลยเอาข้าวเขามาทำเป็นไอศครีมข้าวเหนียวดำปั่นกับกะทิ ออกมาเป็นคล้ายๆ ไอศครีมข้าวเหนียวเปียก ส่วนข้าวหอมเวสสันตะระเป็นข้าวสีขาวมาปั่นกับน้ำลำไย น้ำมะพร้าว และใส่ลำไยลงไป กลายเป็นไอศครีมข้าวเหนียวเปียกลำไย”

ทั้งหมดนี้นอกจากเป็นการสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ตัวเองแล้ว หนุ่มยังอยากส่งเสริมเกษตรกรด้วย

“ชาวนาชาวสวนหลายคนปลูกเก่งแต่ขายไม่เก่ง คือเขาทำของดีของเจ๋งแต่ไม่รู้จักวิธีขาย เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ให้เขาอยู่รอดด้วย เราได้ของดีด้วย และอยากให้เขามีแรงทำของดีๆ ส่งมาให้เราต่อ เลยคิดว่าควรเอาวัตถุดิบของเขามาโชว์”

ทำไอศครีมให้เป็นยา

ตอนเห็นแพ็กเกจจิ้งที่ใส่ไอศครีม ฉันถึงกับอุทานคำว่า “น่ารัก” ออกมาอย่างอดไม่ได้ เพราะด้วยสีไอศครีมอ่อนๆ บนกาบหมากสีน้ำตาลเข้ม เคียงด้วยช้อนไม้ และมีผักใบเขียวแนมมา มันดูเข้ากันไปหมด

หนุ่มเลือกใช้เข่งก๋วยเตี๋ยวหลอดและกาบหมากเพราะอยากดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่อยากสร้างขยะเพิ่มด้วยถ้วยกระดาษเคลือบพลาสติกที่ใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้คนทั่วไปเห็นแล้วจดจำเขาได้

หลังจากที่ Jinta Homemade Icecream อยู่ตัวแล้ว ไม่นานมานี้ครอบครัวของเขาก็ได้ต้อนรับลูกสาวคนที่ 2 ซึ่งหนุ่มตั้งใจแล้วว่าจะทำไอศครีมแท่งที่มีสรรพคุณเป็นยา และตั้งชื่อว่า ‘ชีวา’ ตามชื่อลูกสาวคนเล็ก

เนื่องจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาได้ไปนั่งฟังคนในแวดวงอาหารและสุขภาพคุยกันเรื่องการนำสมุนไพรมาเป็นอาหาร หนุ่มจึงปรึกษาว่าแล้วไอศครีมที่ทั้งหวานและเย็นสามารถนำมาทำเป็นยาได้ไหม คำตอบคือได้

“ลูกคนแรกเราทำไอศครีมชื่อจินตะ ก็คิดว่าเราทำอะไรให้ลูกคนที่ 2 ดี ถ้าทำสายไอศครีมอยู่แล้วก็ลองเปลี่ยนเป็นไอศครีมแท่งดู แต่จะมาทำรสช็อกโกแลตหรือวานิลลาทั่วไปก็ไม่ได้ เพราะเราผ่านตลาดมาเยอะแล้ว ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เลยอยากทำไอศครีมแท่งให้เป็นยา โดยเริ่มสองรสแรกเป็นไอศครีมสีดำชื่อแบล็กแคลเซียม เป็นงาดำ และใส่ตัวชาร์โคลไปด้วย ช่วยเรื่องบำรุงแคลเซียม พอดีช่วงนั้นแฟนป่วยเป็นโรคกระดูกทรุด เพิ่งรู้ว่าเขาขาดแคลเซียม เลยทำไอศครีมรสนี้เพื่อเสริมแคลเซียมให้แฟน แทนที่จะกินงาดำตรงๆ ก็น่าเบื่อ ส่วนอีกรสหนึ่งเป็นโกลเดนจิงเจอร์ ขิงขมิ้น เป็นไอศครีมสีเหลือง ช่วยเรื่องการขับลมกับเคลือบกระเพาะ”

นอกจากไอศครีมแสนอร่อยและแพ็กเกจจิ้งสุดน่ารักแล้ว อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้ลูกค้าหลงรัก Jinta Homemade Icecream น่าจะเป็นอัธยาศัยใจคอของชายผู้เป็นเจ้าของ

ฉันสังเกตว่าเวลามีลูกค้ามาซื้อไอศครีมกับหนุ่ม เขามักแถมรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบทสนทนาดีๆ ไปด้วยเสมอ ทำให้นึกถึงปรัชญา homemade happiness ที่เขายึดถือ

“มันเหมือนความสุขที่สร้างเองที่บ้าน เรามองว่าเราทำไอศครีมให้คนที่บ้านกิน ลูกเราแฮปปี้ เรามีชีวิตที่ดี พอเรากินแล้วมันไม่ทำร้ายตัวเรา คนรอบข้างกินเขาก็มีความสุข คนมากินไอศครีมเราไม่ได้แค่ตัวไอศครีม แต่ได้ความสุขกลับไป ได้แลกเปลี่ยนความคิด และได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากัน”

ก่อนจากกัน หนุ่มตักไอศครีมรสมะระชีสเค้กที่เพิ่งวางขายครั้งแรกให้ฉันกิน สารภาพว่าตอนแรกรู้สึกไม่ค่อยกล้า แต่พอลองชิมไปคำแรกก็ติดใจจนไม่น่าเชื่อว่าผักขมๆ จะทำเป็นไอศครีมได้อร่อยขนาดนี้ แถมผักก็กรอบอร่อยกินแล้วเข้ากันเป็นที่สุด

เห็นทีคราวหน้า ฉันต้องตามมากินให้ครบทุกรสซะแล้ว


เนื่องจากหนุ่มทำไอศครีมมาแล้วถึง 60-70 รส ฉันจึงขอให้เขาเลือกรสที่ทำแล้วภูมิใจที่สุดสัก 3 รสมาแนะนำทุกคนด้วย

1. รส greenery เป็นคะน้ากับสะระแหน่ คนส่วนใหญ่คิดว่าจะเหม็นเขียวหรือเปล่า อี๋ไหมอะไรไหม ปกติเรากินกันอยู่แล้ว แต่ไม่เคยกินเย็น กินแบบร้อนตลอด พอมาปั่นกับนมปุ๊บก็ทานได้ อร่อย เพราะสะระแหน่ก็คือมินต์ แต่มินต์สีฟ้าเป็นมินต์สังเคราะห์ น้ำมันสังเคราะห์กับนมและใส่สีลงไป สีเขียวหรือฟ้าก็แล้วแต่คน แต่สะระแหน่มันอาจไม่ได้มินต์จ๋าแบบมินต์เคมี แต่มันก็เป็นมินต์อ่อนๆ จะอร่อย เย็นๆ เบาๆ ทำเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเพื่อมาออกตลาด greenery

2. รสแบล็กฟอเรสต์ เราใช้ช็อกโกแลตกับแยมมะเกี๋ยงทำเอง ซึ่งเป็นมะเกี๋ยงออร์แกนิกที่ได้มาจากเชียงใหม่ แล้วโรยโอรีโอครัมเบิลลงไปนิดหน่อย จึงมีเทกซ์เจอร์ของโอรีโอ ความขมของช็อกโกแลต และความเปรี้ยวของมะเกี๋ยง

3) รสเชอร์เบตดอกดาหลา จริงๆ คนในตลาดจะเอาดอกดาหลามาซอยใส่ข้าวยำ เป็นตระกูลเดียวกับขิง รสชาติมีความขิงนิดๆ เปรี้ยวหน่อยๆ ตอนต้มออกมาเป็นน้ำสีชมพู เลยเอามาทำเป็นไอติมเชอร์เบต เอาเกสรดอกดาหลามาเชื่อมแล้วใส่ลงไปด้วย มีความกรุบๆ นิดหนึ่ง

เฟซบุ๊ก : Jinta Homemade Icecream

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน