แสงดาว สำนักพิมพ์รุ่นเก๋าที่นำงานเก่ามาออกแบบใหม่จนได้ใจนักอ่าน

ความรักในหนังสือน่าจะเป็นสารตั้งต้นในการถือกำเนิดของหลายๆ สำนักพิมพ์ แม้กระทั่งสำนักพิมพ์ที่ดำรงมานานกว่า 40 ปี อย่าง ‘แสงดาว’ ของ จรัญ หอมเทียนทอง เองก็มีจุดเริ่มต้นมาแบบนั้น

เพราะมีปณิธานที่จะส่งเสริมรากฐานทางความคิดของสังคมให้เกิดความตระหนักรักการอ่าน จรัญจึงยึดมั่นในอาชีพนี้มาโดยตลอด พิสูจน์ได้จากจำนวนหนังสือหลักร้อยเล่มที่แสงดาวจัดพิมพ์มาตั้งแต่ก่อตั้ง

นอกจากภาพลักษณ์การผลิตหนังสือที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมหมวดและยุคสมัยทั้งงานภาษาไทยและงานแปลภาษาต่างประเทศ ตั้งแต่งานคลาสสิกอย่าง นิทานกริมม์ จนมาถึงงานเขียนว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แสงดาวยังถือว่าเป็นสำนักพิมพ์รุ่นเก๋าที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างโดดเด่น เห็นได้จากการดีไซน์ปกและรูปเล่มที่ทั้งสวยและร่วมสมัย ทำเอานักอ่านหลายคน (รวมถึงเรา) เสียเงินอุดหนุนหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ไปไม่น้อย

แต่ต่อให้เริ่มมาก่อนและอยู่มานานก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางการทำหนังสือของจรัญจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ในธุรกิจสำคัญที่มีส่วนสร้างคน สร้างชาตินี้ ในฐานะคนรักหนังสือ คนทำสำนักพิมพ์ และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยอย่างเขา มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรตามยุคสมัยบ้าง ให้บทสนทนานี้ช่วยตอบ

แสงดาว

นอกจากความรักในหนังสือ มีเหตุผลใดอีกที่ช่วยขับเคลื่อนคุณให้ทำสำนักพิมพ์แสงดาวขึ้นมา

ต้องบอกก่อนว่า เราเป็นผลผลิตของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ตอนนั้นเราเพิ่งเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 บรรยากาศบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ใครๆ ก็ทำหนังสือกัน เราเองก็เป็นคนทำหนังสือให้พรรคสัจธรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่แล้ว พอได้มาทำงานในสำนักพิมพ์ปุถุชน ก็เริ่มอยากทำของตัวเองบ้าง เลยชักชวนเพื่อนๆ มาทำหนังสือกัน

ส่วนที่ใช้ชื่อแสงดาว เพราะสมัยก่อนมีรุ่นพี่ทำสำนักพิมพ์ชื่อแสงตะวัน ของนิสิต จิรโสภณ และสำนักพิมพ์แสงจันทร์ ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ด้วยความที่เราเป็นเด็ก ก็ขอใช้ชื่อแสงดาวล้อไป ซึ่งเราเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์แบบเล่นๆ ทุกครั้งที่เงินหมดก็เลิก พอหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เราโดนจับก็หยุดทำไป พ้นจากนั้นก็เอาเงินจากงานประจำมาทำหนังสือใหม่ จนกระทั่งมาทำจริงจังในปี 2530 แบบที่จดทะเบียนเป็นบริษัท เพราะคิดว่าถ้ายังทำแบบเดิมอยู่เจ๊งแน่ ก็เลยจ้างพนักงานและทำเป็นเรื่องเป็นราวมาจนถึงตอนนี้

ช่วงเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ คุณใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกหนังสือ

ช่วงนั้นเราทำหนังสือพวกวรรณกรรมแปลของ Roald Dahl ทำวรรณกรรมคลาสสิก รอพ่อยามยาก ของ E. Nesbit และงานเขียนงานแปลของอมราวดี เพราะรู้จักกัน แต่มันขายไม่ได้ เลยหันมาทำหนังสือหมอดู ปรากฏว่าขายดี หลังจากนั้นก็ทำหนังสือพวกฮวงจุ้ย โหราศาสตร์อยู่พักหนึ่ง แสงดาวจึงมีหนังสือประเภทนี้เยอะที่สุด ทำจนกระทั่งมันหมดตลาดไป พูดง่ายๆ ว่าไม่มีอะไรเป็นหลักเกณฑ์แน่ชัด เพราะอิงตามความพอใจตัวเองและเพื่อนที่เป็นนักแปลเป็นหลัก

ปัจจุบันเกณฑ์ของแสงดาวในการเลือกพิมพ์หนังสือสักเล่มเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนบ้างไหม

เรามักจะเลือกหนังสือมาทำเป็นซีรีส์ เช่น สามเกลอ ที่มี 46 เล่ม หรือชุดของจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ที่มี 5 เล่ม ส่วนใหญ่จะเอาของเก่ามาทำใหม่ให้สวยขึ้น ปีหน้าเราก็วางแผนกับคณะทำงานแล้วว่า จะทำหนังสือภายใต้หัวข้อ ‘90 ปี อภิวัฒน์สยาม’ ตีพิมพ์งานทั้งหมดที่เกี่ยวกับปี 2475 เริ่มด้วยกบฏ ร.ศ. 130 คิดว่าทั้งปีน่าจะได้สิบกว่าเล่ม พยายามหาต้นฉบับอยู่

แสงดาว

เท่าที่เห็น คุณเอางานเขียนเก่าๆ กระทั่งงานคลาสสิกที่คนรู้จักกันอยู่แล้วมาพิมพ์ใหม่ แต่ทำไมยังขายดีอยู่

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเราเปลี่ยนรูปเล่มหนังสือให้ทันสมัย มีแพ็กเกจจิ้งที่สวย เราลงทุนกับตรงนี้มาก เพราะคนสมัยนี้ซื้อหนังสือเป็นของสะสม ถ้าจะทำหนังสือ อย่าประหยัดค่าปก ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก อย่างเราให้ Wrongdesign (กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล) ออกแบบและเลือกวัสดุมาเลย

มีคนบอกว่าเราบ้า อย่างปกชุด สามเกลอ คุณเห็นภาพขาว-ดำไม่มีอะไร แต่ภาพพวกนั้นเราซื้อลิขสิทธิ์เก่ามาภาพละ 3,000 บาท กระดาษสีที่ใช้เป็นกระดาษสีญี่ปุ่น ไม่ใช่กระดาษมาพิมพ์สีทีหลัง เพราะฉะนั้นเวลาจะผลิตหนังสือ 46 เล่ม เราต้องเอากระดาษสีทั้งหมดมาดูก่อนแล้วจัดพิมพ์ คนขายเองก็ต้องสต็อกกระดาษให้เรา ฉะนั้น ถ้าคุณเปิดดูแจ็กเก็ตปกของ สามเกลอ จะเจอเบอร์กระดาษสีที่ด้านล่างขวามือของปกหลัง ราคาแพงนะ แต่มันผ่านกระบวนการคิดของนักออกแบบมาแล้ว วางเล่มเดียวอาจจะไม่สวยมาก แต่พอออกมาเป็นเซตแล้วสวยเลย คนอยากเก็บ ซึ่งถ้าเราทำแบบเดิมก็ไม่เกิดความแตกต่าง

แปลว่าแสงดาวให้ความสำคัญกับการออกแบบปกและรูปเล่มไม่แพ้เนื้อหา

ถ้าให้พูดแบบตรงไปตรงมา เวลาเจอคนหน้าตาดีเราก็อยากคุยด้วยใช่ไหม ฉะนั้น ต่อให้หนังสือดีแทบตายแต่ปกไม่สวยมันก็ไม่มีใครซื้อ ต้องยอมรับว่ายุคสมัยนี้ปกหนังสือเป็นตัวดึงดูดให้คนสนใจ แต่ขณะเดียวกัน ค่าออกแบบกับจัดพิมพ์ก็จะทำให้หนังสือราคาสูงขึ้น ซึ่งถึงเป็นแบบนั้นเราก็ยังทำอยู่ดี 

ดูอย่างนิทานกริมม์ ที่มีหลายสำนักพิมพ์ขาย แต่ทำไมเราขายได้ ทั้งที่ชุดละเป็นพัน เพราะกล่องมันสวย คนอยากสะสมไง หรืออย่างเล่ม ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) เราทำปกใหม่เป็นลายเซนเซอร์ ล้อไปกับเทรนด์สัญญา AstraZeneca ในช่วงนั้น คนก็อยากซื้อ ยิ่งเราประกาศพิมพ์ครั้งเดียว หมดแล้วหมดเลย ไม่พิมพ์อีก คนก็ยิ่งอยากได้ เพราะมันมีคุณค่า

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณมุ่งมั่นจัดพิมพ์งานเขียนและงานแปลเก่าๆ

เพราะด้วยความที่เราเป็นคนแก่ เรารู้สึกว่างานไทยสมัยก่อนมีความรุ่มรวยทางภาษากว่าปัจจุบัน คนแปลหนังสือสมัยนี้กับสมัยก่อนก็ต่างกัน เราชอบภาษาแปลสมัยก่อนมากกว่า อีกอย่างคนรุ่นใหม่ก็ทำหนังสือแปลเยอะแล้ว เราเลยอยากทำหนังสือเก่าไว้ เพราะอ่านแล้วมีความสุข คืนวันที่ไม่รู้จะทำอะไรก็หยิบหนังสือที่เคยอ่านมาอ่าน อย่างเราหยิบ สี่แผ่นดิน มาอ่านบ่อย ทั้งที่เป็นนิยายขวา แต่ก็อ่านเพราะเรื่องที่ดำเนิน เหมือนเวลาอ่าน คู่กรรม ก็น้ำตาไหลตอนโกโบริตาย ซึ่งเราว่าหนังสือที่ทำให้คนน้ำตาไหลได้นี่เก่งนะ คนเขียนต้องเก่งมากที่สร้างบรรยากาศขึ้นมาได้ เทียบกับการดูหนังที่มีแสง มีดนตรี มีองค์ประกอบช่วย 

ปัจจัยใดที่ทำให้แสงดาวยืนระยะมาได้นานขนาดนี้

หลักๆ คือเพราะคิดว่าหนังสือคือชีวิต เราอยู่กับมันมานาน อายุเราก็มากขึ้น จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นคงไมได้แล้วด้วย พ้นวาระช่วงก่อร่างสร้างตัวมาแล้ว (หัวเราะ) เราอยากบอกว่า หนังสือให้อะไรเยอะมากในชีวิตนี้ อย่างน้อยๆ ก็ให้ความคิด เราเป็นหนี้บุญคุณหนังสือนะ เพราะทำให้เรามองเห็นอะไรมากขึ้น ทำให้มีสมาธิ ต่อให้ทำหนังสือแล้วขาดทุนก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่มีหนังสือ คงไม่มีเราในวันนี้ ยิ่งในวันที่เราอายุ 68 ท่ามกลางสถานการณ์คืนวันที่ต้องเก็บตัวในบ้าน หนังสือคือเพื่อนเรา

ในฐานะที่ทำหนังสือและคลุกคลีกับวงการการอ่านมานาน คุณมองวัฒนธรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่ยังไง

เรายอมรับว่าคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือเยอะมาก ใครบอกว่าคนสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือไม่ได้นะ พวกเขาอ่านมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าอ่านจากแพลตฟอร์มอะไร อีบุ๊ก เว็บไซต์ เป็นต้น นักเขียนจำนวนมากก็เกิดจากการเขียนออนไลน์ พอพิมพ์หนังสือก็มีคนซื้อ พูดง่ายๆ ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้สร้างทั้งนักอ่านและนักเขียนหน้าใหม่

แล้วคิดยังไงกับการมีสำนักพิมพ์เกิดใหม่มากมายในยุคที่คนบอกว่าสิ่งพิมพ์จะตายแล้ว

เราว่าหนังสือมันไม่ตายหรอก ช่องทางเดี๋ยวนี้มันเยอะ สำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือวัยรุ่นๆ เขาก็ไม่วางร้านหนังสือแล้ว ขายออนไลน์อย่างเดียวก็อยู่ได้ ตอนนี้เป็นยุคของลูกค้าใครลูกค้ามัน แต่ละสำนักพิมพ์ก็มีฐานลูกค้าของตัวเอง ไม่มีการออกหนังสือแข่งกันแล้ว เพราะไม่มีใครแปลหนังสือเรื่องเดียวกันชนกันเหมือนสมัยก่อน มีแต่ทำยังไงให้คนมาซื้อหนังสือของคุณ

ตอนที่ได้ทำหน้าที่นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คุณได้เห็นอะไรที่ตอนทำสำนักพิมพ์ไม่ได้เห็นบ้างไหม

พอไปอยู่ตรงนั้นแล้วเรามีความคิดทั้งบวกและลบ ความคิดที่เป็นบวกคือหนังสือยังมีอนาคต แต่ความรู้สึกที่เป็นลบและปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้นเลยคือ ภาครัฐให้ความสำคัญกับหนังสือน้อยมาก เรียกว่าไม่เคยคิดถึงเลยดีกว่า ช่วงโควิด-19 รัฐยังชดเชยผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายบ้าง แต่ไม่พูดถึงคนทำหนังสือเลย รัฐบาลที่เคยให้เงินสนับสนุนเรื่องหนังสือสมัยเราทำหน้าที่นายกสมาคมฯ มีรัฐบาลเดียว คือรัฐบาลสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนั้นไม่มี

ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยทำนโยบายเรื่องหนังสืออย่างจริงจัง กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกก็เป็นแค่อีเวนต์ เรามีรางวัลวรรณกรรมแห่งชาติ รางวัลซีไรต์ รัฐก็ไม่เคยสนับสนุน พอจะผลักดันโครงการอะไรก็ไม่ค่อยผ่าน และที่สำคัญคือ หน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนงานหนังสือก็ไม่มี นักเขียนจะโด่งดังก็ต้องขายตัวเอง จัดกิจกรรม เอาง่ายๆ แค่ห้องสมุดรัฐยังไม่เคยซื้อหนังสือเอง ต้องมาขอรับบริจาค ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ส่วนหนึ่งที่สังคมไทยวนอยู่ที่เก่าเพราะคนขาดความคิด ซึ่งความคิดมาจากความรู้ และความรู้ก็มาจากการอ่าน พอไม่อ่านก็หมดกัน

แล้วทำยังไงทั้งๆ ที่รัฐไม่ซัพพอร์ต แต่วงการหนังสือไทยก็อยู่มาได้

คำถามนี้ฝรั่งก็ถาม เพราะบ้านเขาจัด book fair รัฐบาลก็ช่วย แต่บ้านเราจัดได้เพราะคนอ่านล้วนๆ เราก็ทำเท่าที่ทำได้

แสงดาว

ถ้าเป็นไปได้ คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไหนเกิดขึ้นกับสังคมการอ่านไทย

อยากเห็นที่สุดและเสนอมาหลายปีแล้ว คือรัฐต้องมีสถาบันหนังสือเพื่อดูแลการอ่านอย่างเดียว ในเมื่อคุณมีสถาบันภาพยนตร์ได้ ทำไมสถาบันหนังสือจะมีไม่ได้ บ้านเราในกระทรวง ในสถานที่ราชการ ไม่มีห้องสมุด แต่ที่เกาหลีมีทั้งห้องสมุด มีทั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ปัญหาเรื่องการอ่านและหนังสือจะแก้ได้ถ้ามีสถาบันหนังสือ หรืออย่างน้อยสถานการณ์หนังสือไทยจะดีขึ้นแน่นอน แล้วประเทศไทยจะดีกว่านี้เยอะ

แสงดาวมีเป้าหมายใดที่อยากไปให้ถึง

เราขอเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็พอ แค่ให้คนเหลียวมามอง ไม่ต้องชี้นำสังคมก็ได้ แต่ความปรารถนาสูงสุดของเราคือ อยากให้คนอ่านหนังสือ เวลาเห็นคนอ่านหนังสือเราจะดีใจ เราอยากเห็นคนซื้อหนังสือให้กัน ซึ่งเรามีความหวังกับคนรุ่นใหม่มาก หวังว่าอนาคตการอ่านของไทยจะดีกว่านี้


3 เล่มที่จรัญอยากแนะนำให้อ่าน

เพราะหนังสือที่แสงดาวเลือกมาจัดพิมพ์ล้วนมาจากความชอบของจรัญเป็นหลัก เราจึงเอ่ยปากขอให้เขาเลือกหนังสือ 3 เล่มที่นำเสนอความเป็นสำนักพิมพ์แสงดาวมากที่สุด และนี่คือเหล่าหนังสือที่เขาอยากแนะนำให้ทุกคนอ่าน

แสงดาว

สามเกลอ

พล นิกร กิมหงวน

“หนังสือชุดนี้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน เขียนตั้งแต่ปี 2480-2510 เป็นบันทึกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไทย คุณจะเห็นภาพเมืองไทยเหมือนเวลาดูหนังไทยเก่า อ่านเสร็จแล้วจะรู้ว่าทำไมคนถึงชอบหนังสือเขา เพราะมุกเขาทันสมัย ยังใช้ได้อยู่ อ่านแล้วจะคิดว่า คิดได้ไงวะ”

แสงดาว

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์)

สุพจน์ ด่านตระกูล

“ช่วงหลังเราทำงานเกี่ยวกับคณะราษฎร เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไปศึกษาประวัติศาสตร์ อยากเชิดชูปรีดี พนมยงค์ เพราะประวัติศาสตร์ไทยไม่ให้พื้นที่ท่าน ท่านจึงกลายเป็นคนผิด บวกกับมีกระแสที่คนพูดถึงคดีลอบปลงพระชนม์ เราก็เลยเอาหนังสือเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งนี่เป็นเล่มที่ดีที่สุดมาให้คนอ่าน เพราะในขณะที่หลายคนพูดถึงคดีว่าอย่างนั้นอย่างนี้ คุณก็ควรต้องไถ่บาป ต้องคืนความเป็นธรรมให้สามคนที่ตายไปจากการตัดสินคดีครั้งนั้นด้วย มันเป็นไปได้ยังไงที่คนระดับนี้ตายแล้วประวัติศาสตร์บอกสาเหตุไม่ได้ กลายเป็นเรื่องที่ต้องแอบพูดกัน เราก็เอาข้อเท็จจริงมากางให้ดูว่าเป็นอย่างนี้ๆ”

แสงดาว

นิทานกริมม์

JacobGrimm&WilhelmGrimm

ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์

“นี่คือต้นฉบับทั้งหมดของ นิทานกริมม์ ซึ่งเป็นผลงานแปลของอาษา ขอจิตต์เมตต์ มันน่ารักมาก เขาแปลเพราะลูกไม่มีนิทานอ่าน แปลให้ลูกอ่านเมื่อ 70 ปีที่แล้ว นี่คืองานออริจินอลที่ควรอ่าน เพราะมีทั้งโหดและน่ารัก แปลก็ดี เป็นหนังสือคลาสสิกของโลก”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย