เบื้องหน้าของ โฟร์-ประทีป สิริอิสสระนันท์ คือมือกีตาร์โปร่งวง 25hours วงอินดี้ที่เราติดตามพวกเขามาร่วม 10 ปี แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าเบื้องหลังจริงๆ ของโฟร์คือโปรดิวเซอร์ผู้สร้างสรรค์บทเพลงหลากแนว แหวกกับภาพลักษณ์เบื้องหน้าที่คนทั่วไปคุ้นเคย
จุดเริ่มต้นอาชีพคนทำเพลงของโฟร์คือการช่วยอัดกีตาร์ให้กับศิลปินชื่อดังในยุคก่อนอย่างลานนา คัมมินส์, พั้นช์ วรกาญจน์, แคล คาโรลิน นักร้องหญิงจากแกรมมี่ หลังจากที่สั่งสมประสบการณ์ในห้องทำเพลง โฟร์ก็ได้เข้าทำงานที่ค่ายอาร์เอส อยู่เบื้องหลังเพลงฮิตของวงขวัญใจวัยรุ่นในยุค (ไม่นาน) ก่อนหน้านี้ เช่น เพลงแค่ที่รัก, มีอีกไหม และรักต้องเปิด (แน่นอก) ของศิลปิน 3.2.1 จากค่ายกามิกาเซ่
โฟร์คือศิลปินรุ่นน้องที่ช่วยประกอบร่างเพลง รอยยิ้ม เพลงฮิตของวงรุ่นใหญ่ใจดีที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างสครับบ หรือเพลงคุ้นหูเราในทุกวันนี้อย่าง รักน้องคนเดียวววว เพลงประกอบภาพยนตร์ น้อง.พี่.ที่รัก รวมถึง จริงๆ มันก็ดี และ ลบ ของสาวจีน่า เดอซูซ่า สาวน้อยสุดจี๊ดจากค่ายเพลงวัยรุ่น MBO เชื่อเถอะว่าถ้าให้เราพูดถึงผลงานเบื้องหลังทั้งหมดของชายคนนี้ คุณอาจจะต้องใช้เวลาอ่านคอลัมน์นี้ทั้งวันเป็นแน่
วันนี้เราอยากไปเยี่ยมเยือนสตูดิโอทำเพลงสักแห่งหนึ่ง ในฐานะที่เป็นแฟนเพลงของ 25hours มาเนิ่นนาน แน่นอนว่า Happy Hippo Studio ห้องทำงานสุดน่ารักของโฟร์ เป็นสตูดิโอทำเพลงที่เรานึกถึงเป็นที่แรก แถมเจ้าบ้านก็ใจดี ยอมเปิดบ้านให้เราเข้ามาเที่ยวเล่นอย่างไม่อิดออด
สตูดิโอที่ผิดหลักการออกแบบ แต่ถูกใจคนทำงาน
แสงธรรมชาติที่ลอดผ่านกระจกบานใหญ่ทำให้ความรู้สึกแรกที่เราก้าวเข้าไปยังห้องทำงานของนักทำเพลงคนนี้แตกต่างจากสตูดิโอเพลงแห่งอื่นที่เราเคยเห็นมาโดยสิ้นเชิง เมื่อมองออกไปด้านนอก เราจะเห็นสวนที่เจ้าของบ้านตั้งใจทำให้เป็นป่าขนาดย่อม มีต้นไม้ให้นกมาทำรัง มีอ่างน้ำให้นกบินลงมากินน้ำ ต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่ตรงนั้นเต็มไปด้วยความตั้งใจของโฟร์และภรรยา ทั้งหมดทำให้เราสงสัยว่าสตูดิโอที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขนาดนี้ส่งผลต่อการทำงานของเขายังไงบ้าง
“วิธีคิดนี้เราได้มาจากโปรดิวเซอร์รุ่นพี่ที่ค่ายอาร์เอส ชื่อพี่ต๋อง พี่เขาเป็นคนทำเพลงให้ปาน ธนพร บ้านพี่ต๋องหลังใหญ่มาก มีห้องอัดเป็นจริงเป็นจังอยู่ชั้นล่าง ทำห้องอัดแยกจากสตูดิโอเลย แล้วพี่ต๋องก็ทำงานอยู่ชั้นบนที่เป็นห้องนอน งงไหม (หัวเราะ) เลยถามแกว่ามีห้องขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่นั่งทำเพลงข้างล่าง พี่ต๋องตอบ ‘ไม่อยากทำข้างล่างเลย เพราะมันจะรู้สึกเหมือนเป็นการทำงาน’ อะไรก็ตามพอมันเป็นงานแล้วมันไม่สนุก
“การทำเพลงมันใช้เวลาเยอะนะ ต้องใช้สมอง ใช้จินตนาการ แล้วยิ่งถ้าเรารู้สึกเหมือนมาทำงานปุ๊บ เราจะรู้สึกว่าบรรยากาศมันไม่สนุก เหมือนตอนที่คุณเป็นเด็กไปดูวงดนตรีเล่นกับตอนที่คุณเป็นสื่อแล้วมาทำงานกับวง ความรู้สึกมันอีกเรื่องหนึ่งแล้วใช่ไหม (หัวเราะ) ทีนี้เลยมีไอเดียว่าถ้าทำบ้านของตัวเองขึ้นมา เราก็อยากตกแต่งบรรยากาศห้องทำงานให้สบายๆ”
‘สบายจริง’ เรานึกในใจ ห้องทำงานของโฟร์เหมือนหลุดจากภาพห้องทำงานที่เรากดปักหมุดในพินเทอร์เรสต์ นอกจากพึ่งพาแสงธรรมชาติแล้ว เรายังรู้สึกอบอุ่นกับแสงจากหลอดไฟสีส้มที่ห้อยอยู่บนเพดานกลางห้อง พื้นและผนังบุด้วยแผ่นไม้สีน้ำตาลอ่อน มีโต๊ะและชั้นไม้วางประกอบ ตัดโทนด้วยโซฟาสีแดงตัวใหญ่
“เราไม่ได้ทำอะไรถูกหลักเลยนะ จริงๆ เราจะเลือกออกแบบห้องให้มันกั้นเสียงร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ได้ แต่คิดดูดีๆ เราต้องใช้ชีวิตในห้องนี้เกินครึ่งวัน แล้วเราอยากจะทำงานอยู่ในห้องเล็กๆ ทึบๆ อย่างงั้นหรอ โอ้โห! ไม่มีจินตนาการแน่นอน อีกอย่างเราเป็นโปรดิวเซอร์ เราต้องทำงานกับศิลปิน เพราะงั้นคนที่จะเข้ามาทำงานกับเรา เขาต้องรู้สึกดี รู้สึกสบายใจไปด้วย เราอยากให้เขานั่งในนี้แล้วไม่เครียด เปิดม่านให้เขามองสวนข้างนอกได้
“จริงๆ เสียงเนี่ยสะท้อนกระจายเลยนะ ตอนอัดเสียงอาจจะไม่ได้เงียบมาก มีเสียงแอร์ เสียงนกบ้าง (หัวเราะ) แต่ถ้าจะให้เราให้น้ำหนักระหว่างเสียงกับฟีลลิ่งในการทำงาน เราให้น้ำหนักไปที่บรรยากาศมากกว่า ถ้าเราซีเรียสเรื่องเสียง เราก็ไปเช่าห้องอัดที่อื่นก็ได้ อย่าง 25hours ชุดล่าสุด เพลงที่ออกไปแล้วก็อัดที่นี่หมด ไม่ได้มีความกดดันอะไรเลย พอไม่เครียด พวกเราก็ทำงานได้เต็มที่
“บางทีไปห้องอัดแล้วต้องนั่งแยกกัน เช่น อัดร้องอีกห้องหนึ่ง มีกระจกกั้น ในมุมจิตวิทยา การนั่งประจันหน้ากันจะทำให้รู้สึกเหมือนเราสู้กันอยู่ แต่ถ้าคุณนั่งข้างๆ กัน มันทำให้คนทำงานด้วยสบายใจกว่า ห้องนี้เลยออกแบบมาแบบนี้ ถ้าร้องก็ร้องข้างๆ กันตรงนี้ มันทำให้เปอร์เซ็นต์ที่เหลือในการร้องมันดี ฟีลลิ่งในการทำงานสำคัญกว่าจริงๆ”
พื้นที่ที่อยู่แล้วแฮปปี้ก็พอ
“เราว่ามุมที่คนชอบเยอะที่สุดน่าจะเป็นกระจกที่เห็นสวนข้างนอก แต่ถ้าเป็นมุมที่เราชอบก็มุมนี้แหละ (ชี้มาที่โซฟาตัวสีแดงที่เรากำลังนั่งอยู่) เวลาเหนื่อยๆ เราก็นั่งตรงนี้ ยกเก้าอี้ไปวางเท้า เอาน้ำแข็งมาประคบ แล้วก็เปิดเพลงที่ตัวเองทำอยู่ เดี๋ยว! ลัคกี้ออกไปก่อน”
โฟร์พูดกับลัคกี้ เจ้าแมวสีดำที่เดินหน้าเฉยเข้ามาในห้อง ขอแอบเล่าหน่อยว่า นอกจากการต้อนรับที่แสนอบอุ่นจากเขาและภรรยาแล้ว บรรดาน้องหมาและน้องแมวของทั้งคู่ก็ทักทายพวกเราอย่างเป็นมิตร คล้ายกับบอกเป็นนัยว่า ใครก็ตามที่แวะมาเยือนบ้านหลังนี้จะต้องทำความรู้จักกับฮิปโป, หมั่นโถว, เอพริล, ลัคกี้, ทอม, อาเธอร์ และเอ็มม่า เจ้าถิ่นแห่ง Happy Hippo Studio กันก่อน
“ฮิปโปนี่ต้องเรียกว่าเป็นซีอีโอเลยนะ จริงๆ ชื่อสตูฯ เรามีความหมาย 2 อย่าง เป็นทั้ง inside out คือมันเป็นหมาของเราและบ้านเราก็รักมันมาก แล้วก็ outside in คำว่าแฮปปี้มันมาจากที่เราบอกตอนแรกเลย ห้องทำงานเราต้องสบาย คนที่เข้ามาต้องแฮปปี้ เรารู้สึกว่าคำนี้ดีที่สุดสำหรับเราแล้ว ทำอะไรก็ได้ที่แม่งแฮปปี้ เนี่ย ทุกคนที่เข้ามาต้องถ่ายรูปกับมาสคอตตัวนี้”
เราแอบสังเกตว่าน้องหมาและน้องแมวแต่ละตัวอ้วนตุ้บ โดยเฉพาะแก๊งแมวที่ดูตัวใหญ่กว่าแมวทั่วไป คงเป็นเพราะเด็กๆ เหล่านี้กินดีอยู่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย
“แมวพวกนี้เราไม่ได้ซื้อมาเลยนะ เริ่มตั้งแต่ไอ้ตัวดำๆ เราไปวิ่งแล้วเจอมันอยู่ตรงท่อเหมือนโดนแม่ทิ้งก็เลยพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่ามีอีกตัวหนึ่งเหมือนเป็นแฝดเลย แต่ไม่มีใครเอาเพราะเป็นแมวดำ เราก็เลยคุยกันว่าเอามาเลี้ยงเป็นคู่กัน เป็นลัคกี้กับเอพริล พอเราเลี้ยงไหว พี่ชายเห็นเราใจบุญเขาก็หยิบอาเธอร์ แมวอ้วนตัวสีขาวมาให้เราเลี้ยง ได้ทอมมาเป็นตัวที่สี่ แล้ววันที่พาฮิปโปไปทำหมันก็เจออีกตัวคือเอ็มม่า พอตอนนี้เรามีแมวเยอะ แมวข้างนอกก็เริ่มเข้ามา (หัวเราะ) ก็เอาอาหารไปให้กิน แต่เราไม่ให้เข้าบ้านแล้วนะ”
บ้านโฟร์เรียกแขกได้ขนาดนี้ ที่นี่เป็นที่รวมตัวของเพื่อนๆ วง 25hours ด้วยไหม – เราถาม
“เป็น เพราะบ้านเราอยู่ตรงกลางของทุกคน เวลาขึ้นรถตู้ คนอื่นเขาจะมาจอดรถบ้านเรากัน มีแหลม (สมพล รุ่งพาณิชย์) ที่บ้านไกลกว่าเพื่อนเลย พักหลังก็ไปซ้อมบ้านแหลมบ้าง จริงๆ จะเริ่มย้ายไปบ้านพี่บัง (เอกศิริ กำบังภัย) แล้ว เพราะว่าถ้ามาบ้านเรา เราเป็นคนระเบียบจัดไง เหมือนใครมาทำตรงนี้รก เราจะเริ่มดุแล้ว เนี่ย! มาทำเบียร์หกในห้องเรางี้ โกรธ (หัวเราะ) แบบนี้เวลาทุกคนมาจะนั่งเฉยๆ แล้ว กลัวโดนดุ แล้วหมาแมวเราเยอะ ไอ้พวกนี้ชอบไม่ปิดประตู หมาแมวก็หนีออกไป เราแม่งเดินเช็กทุกอย่างเหมือนคนบ้าเลย”
นอกจากบทเพลงและไลฟ์ของวง 25hours รวมถึงผลงานโปรดิวซ์เพลงต่างๆ โฟร์ยังเป็นหนึ่งในสี่โปรดิวเซอร์ที่เข้าร่วมโปรเจกต์ Good HOPE Music Academy ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้การทำเพลง ส่งเดโมให้โปรดิวเซอร์คนเก่งทั้งหลายฟัง และคว้าโอกาสในการมีเพลงเป็นของตัวเอง
“ถ้าถามว่าโปรเจกต์นี้จะช่วยคนที่อยากเป็นศิลปินได้ไหม เราว่าไม่ได้ช่วยอะไรขนาดนั้นนะ อย่างที่รู้กันว่าสมัยนี้ใครๆ ก็เป็นศิลปินได้ แต่ Good HOPE Music Academy เป็นเหมือนแสงสว่างอย่างหนึ่ง ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เราเริ่มเล่นดนตรีหรือเริ่มประกวดตามงาน เราไม่รู้เลยว่าใครฟังเพลงเราบ้าง เพลงเราเป็นไง ผ่านเพราะอะไร ไม่ผ่านเพราะอะไร เราอยากรู้เหมือนกันว่า เฮ้ย! เพลงที่เราแต่งมันดีไหมวะ เราอยากหาคนที่มาคุยเรื่องนี้กับเรา”
ชักอยากจะรู้แล้วว่า เดโมของใครบ้างที่จะถูกหยิบมาพัฒนาต่อที่ Happy Hippo Studio ของโฟร์ ขอเดาเลยว่าบรรยากาศการทำงานกับโปรดิวเซอร์คนเก่งคนนี้จะต้องสนุกและ ‘แฮปปี้’ สมกับชื่อห้องทำงานของเขาแน่ๆ
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์