NO SOUND IN SPACE สตูดิโอทำเพลง ความสุขที่ดีไซน์เองของตั้ม โมโนโทน

Highlights

  • NO SOUND IN SPACE สตูดิโอทำเพลงของตั้ม-สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ สมาชิกวงโมโนโทน นอกจากงานเบื้องหน้า ตั้มยังเป็นคนเบื้องหลังให้กับศิลปินอีกหลายคน
  • ตั้มได้ไอเดียการตกแต่งห้องทำงานจากความชอบที่มีต่อภาพยนตร์อวกาศ บวกกับความชอบของเก่าเก็บจากยุค 60s-80s ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ หลอมรวมให้สตูดิโอของเขามีบรรยากาศเหมือนทำงานอยู่ในห้องบัญชาการของยานอวกาศในยุคก่อน

การที่ศิลปินจะมีโฮมสตูดิโอเป็นของตัวเองก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก กับ ตั้ม–สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ สมาชิกวงวงดนตรีรุ่นใหญ่ในวงการอย่างโมโนโทน ยิ่งไม่แปลก

คนในแวดวงดนตรีรู้จักตั้มในมุมคนทำเบื้องหลังงานเพลงให้กับศิลปินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิงโต นำโชค, ชาติ สุชาติ และอดีตสมาชิก BNK48 อย่าง JANCHAN และสร้างสรรค์เพลงในงานโฆษณาหลากหลายชิ้น นอกจากนี้ตั้มกับเพื่อนๆ โมโนโทน ยังเคยทำ ‘สตู-เฟ่’ ร้านที่เปิดเป็นสตูดิโอทำเพลงในตอนเช้า และปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารให้คนมาสังสรรค์ยามเย็นมาก่อนอีกด้วย

เมื่อตั้มย้ายมาลงหลักปักฐาน และสร้างสตูดิโอในพื้นที่ชั้นล่างของบ้านหลังใหม่ที่เปรียบเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่กับเปิ้ลหน่อย–วรัษฐา ภรรยาสาว ภาพห้องทำงานสุดเท่ที่เขาตั้งชื่อว่า NO SOUND IN SPACE ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียของเพื่อนนักดนตรีและดาราดังมากหน้าหลายตา เราจึงไม่รอช้ารีบติดต่อขอเยี่ยมเยียนสตูดิโอทำเพลงแห่งใหม่ของตั้มทันที

นั่งรอในโถงกลางของสตูดิโอมาพักใหญ่ ตอนนี้ได้เวลาออกไปสำรวจพื้นที่ความสุขของเขาแล้ว

ห้องทำงานที่เหมือนนั่งอยู่ในฐานบัญชาการนาซ่า

ห้องอัดหรือสตูดิโอปกติคงไม่มีอะไรมากมายไปกว่าเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ด้านเสียง แต่ที่ NO SOUND IN SPACE เพียงแค่ก้าวเท้าเข้าไปในห้องอัดก็รู้ได้เลยว่าตั้มตั้งใจออกแบบไว้เหมือนให้ตัวเองได้นั่งทำงานอยู่ในฉากภาพยนตร์อวกาศ

“เราอยากทำให้มันเหมือนกับนาซ่าแหละ เลยตกแต่งออกมาแบบนี้ ตามสไตล์เด็กผู้ชายที่ชอบพวก Star Wars, Star Trek”

สิ่งของทุกอย่างที่อยู่ในสเปซแห่งนี้ดูคุมโทนไปด้วยกันหมด เริ่มจากโต๊ะทำงานสีฟ้าอมเขียวตุ่นๆ ที่รูปร่างเหมือนกับแผงควบคุมยานอวกาศ จอคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ที่ตั้งภาพพักไว้เป็นแผนที่สีพาสเทลน่ารัก บวกกับพร็อพสุดเก๋อย่างโทรศัพท์สีเหลืองมะนาว บรรยากาศของห้องทำงานแห่งนี้ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเราคิดว่าเจ้าบ้านกำลังจะพาออกไปสำรวจอวกาศอยู่จริงๆ

“เราชอบของเก่าอยู่แล้ว ของในสตูดิโอเราเลยเป็นของเก่าแนว 60s ซะส่วนใหญ่ เครื่องไม้เครื่องมือก็เป็นของที่เก็บสะสมมา บางอันยังเป็นของโมโนโทนอยู่เลย คือส่วนใหญ่คนทั่วไปจะมองของเชยๆ ในแง่ลบ แต่เรารู้สึกว่าของเชยมันมีแง่บวกอยู่เต็มไปหมด อะไรที่เราชอบกันอยู่ตอนนี้ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็เชย เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาของที่เชยอยู่แล้วมาใช้งาน มาตกแต่ง เวลาผ่านไปแค่ไหนมันก็คงจะอยู่อย่างนั้น

“จริงๆ การสร้าง การออกแบบห้องอัดทั่วๆ ไปเนี่ย เขาจะไม่ได้เน้นเรื่องสไตล์นะ แต่เราก็คุยกับเพื่อนว่า เฮ้ย ของเราเอาสไตล์เลย คิดถึงสไตล์ก่อนคุณภาพเสียงด้วยซ้ำ (หัวเราะ) คือไหนๆ ก็ทำทั้งที และเราก็คงไม่ย้ายไปไหนแล้ว เพราะงั้นก็ทำในแบบที่ชอบ แบบที่เราอยากเห็นดีกว่า”

ขอเห็นเดือนเห็นตะวัน

นอกจากทุกมุมของสตูดิโอจะสไตล์จัดและเต็มไปด้วยสิ่งของที่เขาชอบจริงๆ แล้ว ตั้มพาเราไปดูห้องอัดอีกห้องที่ตั้มตั้งใจจะสร้างให้เป็นห้องทำงานส่วนตัวของตัวเอง กระจกบานกว้างสำหรับมองต้นไม้และสนามหญ้านอกตัวบ้านคือสิ่งที่ตั้มเรียกว่า ‘ของมันต้องมี’

“จริงๆ ทำแบบนี้เสียงมันก็มีสะท้อนบ้างนั่นแหละ แต่ทั้งชีวิตเราอยู่แต่ในห้องอัดที่ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันอะไรเลยมาตลอด ยังไงก็ต้องขอมีกระจกให้มนุษย์อย่างเราเห็นวิวต้นไม้ชิลล์ๆ บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้อยู่ทำงานได้นานขึ้นนิดนึง”

ตั้มชวนเราดูต้นมะขามเทศที่แตกใบอ่อนดูคล้ายดอกซากุระที่ริมกระจก ก่อนที่ชายรวยอารมณ์ขันอย่างเขาจะนั่งทำท่ายกแก้วชา ขึ้นมาสูดดมกลิ่นหอมเลียนแบบอาจารย์ริวอิจิ ซากาโมโต้ คอมโพสเซอร์ดนตรีร่วมสมัยชื่อดังให้เราดูเพื่อยืนยันว่าห้องนี้ชิลล์จริงอย่างที่พูดไว้

มีบรรยากาศที่ตรงตามใจขนาดนี้ นี่คงถือเป็นห้องอัดในฝันของตั้มเลยใช่ไหม เราถาม

“ใช่” เขาตอบอย่างทันที

“ห้องอัดในฝันก็น่าจะประมาณนี้แหละ แต่ว่ามันก็แล้วแต่ด้วยนะว่าเป็นฝันระดับไหน ถ้าฝันแบบโคตรรวย ก็คงอยากให้เป็นแบบเวลาเราดูในยูทูบ ที่มีแต่ของดีในตำนานวางเรียงเป็นกำแพง แต่ถ้าเป็นฝันในปัจจุบัน เราขอแค่ของไม่เสียก็พอแล้ว (หัวเราะ) ให้พวกเครื่องมืออย่างซินธิไซเซอร์เปิดติด ใช้งานง่ายก็พอ เรื่องความงามมันเพียงพอแล้ว”

ของโปรด ในห้องโปรด

พูดถึงซินธิไซเซอร์ นี่เป็นเสมือนหนึ่งในเครื่องมือทำมาหากินของตั้มที่เขาเก็บสะสมเอาไว้ เพราะถึงแม้ภายในสตูดิโอห้องนี้จะไม่ได้มีซินธิไซเซอร์วางเรียงรายเต็มกำแพงอย่างที่ฝัน แต่ซินธิไซเซอร์ที่ตั้งอยู่ทั่วทุกมุมห้องอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยนี้ก็ดูจะเติมเต็มความสุขให้เขาได้ไม่น้อย

“ของพวกนี้มันต้องรื้อมาเสียบ มาเช็กตลอด เวลาจะใช้ทีต้องเอามาต่อสาย เสียบปลั๊ก เป็นชั่วโมงๆ บางทีเล่นเสร็จ ห้องรก ต้องเก็บเป็นชั่วโมงอีกเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็จะทิ้งไว้เละๆ ไม่เก็บ ห้องนี้เราเลยตั้งใจทำให้มันอยู่ประจำที่ เสียบปลั๊กไว้แล้ว แค่เปิดก็เดินไปเล่นได้เลย

“ถ้าเล่นบ่อยๆ มันก็เหมือนคนที่เรารู้จักเขา ได้คุยกับเขาแล้วรู้ว่าคนนี้ชอบเล่าเรื่องนี้ มีคาแร็กเตอร์แบบนี้ ยิ่งเล่นก็ยิ่งรู้จักมากขึ้น เวลาใช้งานก็จะเลือกได้ถูกตัว เพราะรู้ว่าเขาทำได้ รู้ว่าควรจะไปหาใครในวันที่เราต้องการความช่วยเหลือ ตัวที่ขาดไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ได้เอามาใช้ทุกครั้ง ทุกงานหรอก เพราะเดี๋ยวนี้ในคอมพ์ก็มีเสียงแบบที่ต้องการแล้ว แต่ถ้างานไหนยังพอมีเวลา เราก็จะใช้แบบนี้นี่แหละ สนุกกว่า”

ตั้มเล่าอย่างกระตือรือร้น พร้อมกดเปิดเครื่องเพื่อสาธิตวิธีการเล่นให้ดู ก่อนจะบิดตรงนั้น หมุนตรงนี้ ค่อยๆ โยกหัวไปตามจังหวะ และด่ำดิ่งเข้าสู่โลกของเสียงเพลงหลังเอ่ยประโยค “เราอยู่ในนี้ได้เป็นชั่วโมงเลย ชอบมาเล่นแล้วก็เปิดเสียงดังๆ เหมือนว่ากำลังอยู่ในคอนเสิร์ต” จบ

ไม่มีมุมไหนที่ชอบเป็นพิเศษ เพราะเราชอบทุกมุม

“พอสร้างบ้านมาให้เป็นแบบนี้ สร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นแบบที่ชอบ เราเลยไม่เบื่อที่จะมาทำงาน” ตั้มบอกให้ฟังขณะพาเราไปเยี่ยมชม VARA CAFÉ คาเฟ่เล็กๆ ที่เป็นอีกหนึ่งความชิลล์ที่สัมผัสได้จากโฮมสตูดิโอแห่งนี้

“การมีโฮมสตูดิโอมันเป็นความฝันของนักดนตรีอยู่แล้ว เราเคยคุยกับเปิ้ลหน่อยเหมือนกันว่าเราก็คงทำอย่างอื่นได้แหละ งานกราฟิกเราก็ชอบ แต่ถ้าจะทำกราฟิกเฮาส์ก็เหมือนต้องเริ่มใหม่หมด และมันก็ไม่ใช่สนามของเรา เราก็คิดว่า งั้นทำตรงนี้ให้ดีที่สุดแล้วกัน ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดบริษัท มีพาร์ตเนอร์ มีผู้ช่วยที่เข้าใจ และมีแอตทิจูดเหมือนกัน

“การทำงานมันก็อาจจะไม่ได้ดีทุกวันหรอก มีเหนื่อย มีท้อ คิดงานไม่ออก แก้งานกันดึกดื่นเหมือนกันนั่นแหละ มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดไว้ แต่เราก็พยายามจัดสรรตารางทำงานให้ดี ถ้าอยากพักก็มาทำกาแฟ วันไหนขี้เกียจก็ไปนอน แล้วค่อยตื่นมาลุยใหม่พรุ่งนี้”

“พยายามจะออกแบบสตูดิโอให้ตอบโจทย์กับทุกคนที่มาใช้ มีห้องประชุมไว้คุยงาน มีที่นั่งพักผ่อน มีอาหารไว้ให้กิน ถามว่ามันเป็นสตูดิโอที่สะดวกสบายเบอร์นั้นไหมก็อาจจะยังไม่ใช่ มันก็เป็นสไตล์บ้านๆ เป็นวิถีของเราแบบนี้แหละ อย่างคาเฟ่นี้ก็ตั้งใจจะให้เป็นเซลฟ์เซอร์วิส ถ้าลูกค้าชอบทำอยู่แล้วก็ให้ดูแลไปเลย

“ถ้าคนมาที่นี่แล้วแฮปปี้ เราก็รับรู้ความรู้สึกพวกนั้นได้ เพราะงั้นพวกเรื่องสถานที่ หรือมุมที่ชอบเวลาทำงานสำหรับเราแล้วมักจะขึ้นอยู่กับแต่ละงานมากกว่า ถ้ารีบก็ต้องเข้าห้องอัดเลย หรือบางทีถ้าต้องทำหลายคนก็จะถามเพื่อนๆ ก่อนว่าวันนี้อยากทำที่ไหน คือเราชอบหมดอยู่แล้ว ที่เหลือก็น่าจะต้องถามคนอื่นว่าชอบส่วนไหนของสตูดิโอนี้”

NO SOUND IN SPACE ไม่เพียงแต่จะเป็นสตูดิโอที่สร้างขึ้นมาเพื่อความสุขของตั้ม แต่ดูแล้วที่นี่เหมือนจะเป็นศูนย์รวม และกระจายความสุขให้กับทุกคนที่มาเยือนด้วยเหมือนกัน

ใช่ เราสนุกจนไม่อยากกลับบ้านเลยจริงๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย