คนเกาหลีใต้ (ตอนนี้) คิดยังไงกับเกาหลีเหนือ

เราคุยกับคนที่สนใจเกาหลีเหมือนกันบ่อยๆ ว่าทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เป็นขั้วการเมืองสำคัญของโลกด้วยหลายเหตุผล หลักๆ คือสองชาติเคยเป็นพี่น้องกันมาก่อน มีประวัติศาสตร์ร่วมกันนับพันปี แต่กลับเป็นโลกขั้วตรงข้าม เกาหลีเหนือเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ทุกวันนี้จีนเข้ามามีบทบาท ส่วนเกาหลีใต้คือโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนมานาน แน่นอนว่าผู้สนับสนุนต่างกดดันให้ฝ่ายตนทำตาม ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์เป็นแบบไหนก็ล้วนสั่นสะเทือนโลก

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทุกสำนักข่าวล้วนรายงานข่าวสองผู้นำเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือหันมาจับมือกันในรอบ 12 ปี นี่คือการสร้างข้อตกลงให้ชาติสงบสุขครั้งสำคัญ แต่ละสื่อจับตาที่ภาพการเจรจาของ คิม จอง-อึน และ มุน แจ-อิน แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือประชาชนที่หลายสื่อไม่ค่อยพูดถึงว่าพวกเขามองเหตุการณ์นี้อย่างไร อยากมีส่วนร่วมแบบไหน นั่นคือสิ่งที่เราอยากชวนมาหาคำตอบกัน เพราะนอกจากรัฐบาลแล้ว เกาหลีใต้เป็นประเทศได้เพราะคนในสังคม หัวใจและความคิดเห็นของพวกเขาจึงไม่อาจละเลยได้

คนแต่ละรุ่นไม่เคยคิดเหมือนกัน

มุมมองคนนอกอาจคิดว่าชาวเกาหลีใต้ทุกคนพอใจกับการเจรจาที่หมู่บ้านปันมุนจอม แต่ถึงจะยินดีแค่ไหน เมื่อมองให้ลึก ความพอใจของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

หนึ่งปัจจัยสำคัญคือช่วงวัยที่แต่ละคนเกิดและเติบโตมา พวกเขารับรู้อุดมการณ์รัฐบาลคนละอย่าง ส่งผลให้ทัศนคติและความรู้สึกของคนแตกต่างกัน เราแบ่งคนเกาหลีใต้ในปัจจุบันเป็น 3 กลุ่ม และสำรวจว่าพวกเขารู้สึกกับคนเกาหลีเหนือต่างกันยังไง

01 คนเกาหลีใต้ยุคสงคราม เกลียดคอมมิวนิสต์

คนเกาหลีใต้ยุคสงครามที่เกิดในช่วงสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-1953) ส่วนมากเกลียดและกลัวเกาหลีเหนือ พวกเขาโตมากับรัฐบาลใต้ที่ตอบโต้รัฐเหนือด้วยความรุนแรง เห็นด้วยกับการแสดงออกอันแข็งกร้าวของรัฐบาลเมื่อเกาหลีเหนือก้าวร้าว

ตัวอย่างคนยุคสงครามที่สุดโต่งคือในช่วงปี 2011 หญิงสกุลปาร์ควัย 60 กว่าชอบออกมาทำร้ายนักการเมืองฝ่ายซ้ายจนเป็นข่าวบ่อยๆ วิธีหลักๆ ที่ทำให้คนในชาติกลัวคนเกาหลีเหนือคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) ทำให้คนเกาหลีเหนือถูกมองเป็นคนนอก คนเถื่อน หรือแม้กระทั่งเป็นปีศาจแดง ทำให้คนยุคนี้คอยจับจ้องคนหัวคอมมิวนิสต์ให้หมดไปจากสังคม

เรามีโอกาสได้คุยกับ ลี บุงฮุน บรรณาธิการนิตยสาร Bangkok Madam วัย 47 ปี คนเกาหลีที่ติดตามข่าวสารของบ้านเมืองตัวเองเสมอ เขาเล่าถึงมุมมองของคนสูงอายุให้ฟังว่าถึง มุน แจ-อิน จะสามารถเจรจากับคิมได้จริง คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นผลผลิตของยุคสงครามก็ยังตั้งแง่ร้ายกับแจ-อินว่าไม่มีความจริงใจและทำไปส่งๆ ตามหน้าที่เท่านั้น

02 คนรุ่น 386 พลพรรคเบบี้บูมเมอร์

คนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ (ช่วงทศวรรษ 1960) ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพี่น้องที่พลัดพรากในเปียงยาง แม้นักเรียนนักศึกษาจะโตมากับการที่อาจารย์สอนว่าเกาหลีเหนือคือปีศาจแดงที่ทุกคนควรระวัง คำว่า ‘ผู้ปลุกระดมคอมมิวนิสต์’ เป็นคำที่น่าหวาดกลัว มีกฎหมายความมั่นคงต่อต้านคอมมิวนิสต์ หรือป้ายประกาศตามรถเมล์และรถไฟเพื่อเสนอรางวัลให้คนที่ชี้เบาะแสกิจกรรมซ้ายจัด

คนเกิดช่วง 1960 กลายเป็นหนุ่มสาวในช่วงทศวรรษ 1980 พวกเขาเบื่อระบอบเผด็จการ ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นหลักล้าน ดังนั้นในทศวรรษ 1990 คนยุคนี้เลยได้รับฉายาว่า ‘คนรุ่น 386’ เพราะว่าพวกเขาเกิดปี 1960 เป็นนักศึกษาช่วง 1980 และมีอายุหลักเลขสามในทศวรรษ 1990 นักวิเคราะห์บอกว่ากลุ่มคน 386 มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุด เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และด้วยความที่เกิดในยุคเสรีชนก็มีส่วนหล่อหลอมความคิดเสรีภาพของพวกเขา

ลี บุงฮุน ตัวแทนของคนรุ่น 386 บอกเราว่าเมื่อประเทศเริ่มสงบ คนเกาหลีใต้รุ่นเก่าที่มีญาติอยู่ทางเหนือจะคิดถึงพี่น้องที่ตกยากในเปียงยาง ทำให้พวกเขาอยากรวมชาติ ซึ่งจำนวนครอบครัวที่พลัดพรากมีมากถึง 230,000 ครัวเรือน แต่ในทางกลับกัน เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องคนอีกฝั่งมากนัก เพราะสังคมเมืองทำให้เด็กและวัยรุ่นมีความเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ

03 คนรุ่นใหม่ หัวใจเสรี

คนที่เกิดตั้งแต่ทศวรรษ 1970 – 1980 ถือเป็นคนรุ่นใหม่ เกิดมาในยุคที่เกาหลีใต้พัฒนาก้าวกระโดด ไม่ชอบการทะเลาะ พร้อมมีสันติภาพ โตมากับความสงบ ปลอดภัย สุขสบาย และไม่มีคอมมิวนิสต์ แดนกิมจิกลายเป็นโลกทุนนิยมที่มั่งคั่ง พวกเขารักสบายมากกว่าคนสองยุคก่อนหน้าที่คอยเฝ้าระวังภัยคอมมิวนิสต์ คนในเกาหลีใต้หลายคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการรวมชาติ หรือเรื่องราวของคนเกาหลีเหนือ แต่ถึงยังไงคนรุ่นใหม่ๆ ก็สนับสนุนให้เกาหลีใต้ประนีประนอมกับเกาหลีเหนือพอๆ กับคนรุ่น 386 ไม่แพ้กัน

ยงจิ คิม ศิลปินสาววัย 37 จากเมืองปูซานที่เกิดรุ่นนี้เล่าให้ฟังว่าค่อนข้างช็อกที่ได้เห็นภาพการเจรจาของสองผู้นำ เธอคิดว่าถึงยังไงก็เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ เและส่วนตัวไม่ได้รู้สึกร่วมกับความเศร้าที่ต้องแบ่งแยกประเทศเพราะเกิดมาในยุคหลังๆ แต่ก็เคยร้องไห้ให้กับเรื่องเศร้าของเพื่อนชาวเกาหลีเหนือที่รู้จักกันซึ่งหนีผ่านจีนเข้ามาเกาหลีใต้อย่างยากลำบาก ความคิดของยงจิคล้ายกับ โกดา ชอย คุณครูชาวโซลวัย 27 ปีที่คิดว่าการรวมชาติเป็นเรื่องยากและซับซ้อน แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็จะทำให้เกาหลีมีความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวที่หลากหลายของประเทศ

ในแต่ละเจเนอเรชั่นมีเลเยอร์ของความรู้สึกย่อยตามประสบการณ์ในระดับที่เราเดาไม่ได้ ขึ้นอยู่กับภูมิหลังที่แต่ละคนเจอ หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และบางครั้งถึงจะเอากรอบของอายุมาอธิบายภาพที่คนมองเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนแต่ละรุ่นจะคิดแบบนั้นเสมอไป

เมื่อคนเกาหลีเหนือเริ่มเป็นคนอื่นในสายตาเกาหลีใต้

ช่วงปี 1970 และ 1980 ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือถูกยกย่องเป็นวีรบุรุษที่กล้าหาญ แต่เมื่อปี 1990 เกิดภัยแล้งใหญ่ในเกาหลีเหนือ จึงมีคนมากมายอพยพมาเกาหลีใต้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนเกาหลีใต้มองคนเกาหลีเหนือต่างออกไป เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลดูแลพวกเขา เกิดความรู้สึกว่าคนเกาหลีเหนือมีทักษะไม่พอต่อการทำงานยุคใหม่ คนเกาหลีใต้หลายคนมองคนเกาหลีเหนือด้วยอคติทำให้เกิดการว่างงานของคนเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์จำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะเวลาหลายสิบปีทำให้พวกเขาไม่มีสำนึกร่วมของความเป็นชาติอีกต่อไป หนำซ้ำญาติพี่น้องที่พลัดพรากยังถูกลืมหรือต่างล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ และนี่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญว่าก่อนจะจับมือกันได้จริง พวกเขาจะละอคติที่มีต่อกันได้มากแค่ไหนกัน

เมื่อชาวเกาหลีใต้ให้เรตติ้งที่ดีต่อผู้นำเกาหลีเหนือมากขึ้น

สำนักข่าว The Washington Post รายงานว่าในปี 2013 มีชาวกิมจิแค่ร้อยละ 4 เท่านั้นที่มองคิม จอง-อึนในเชิงบวก จนกระทั่งเดือนมกราคม 2018 ร้อยละ 90 ของคนเกาหลีใต้ก็ยังคงไม่เชื่อว่าเกาหลีเหนือจะเลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก่อนหน้าการเจรจาสงบศึกที่หมู่บ้านปันมุนจอมไม่นาน Gallup Korea เผยว่ามีชาวเกาหลีใต้เพียงร้อยละ 10 ที่บอกว่าการเจรจานี้จะมีประโยชน์กับบ้านเมือง แต่หลังการเจรจา ผลสำรวจจากสถานีโทรทัศน์ชื่อดัง MBC รายงานว่าความรู้สึกของชาวเกาหลีใต้ที่มีต่อคิมก็ดีขึ้น เพราะกว่าร้อยละ 78 มองว่าคิมไว้ใจได้

สาเหตุที่คนเกาหลีใต้ไม่ค่อยไว้ใจคิมเพราะเขาฆ่าญาติหรือคนที่ขัดผลประโยชน์ตัวเองอยู่หลายครั้ง และทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นประจำ การที่คนเกาหลีใต้ไม่เคยเห็นคิมเป็นตัวเป็นตนทำให้พวกเขาจินตนาการว่าคิมคือวายร้ายเหนือจินตนาการ แต่หลังได้พบคิมตามสื่อต่างๆ คิมก็คือชายหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่พวกเขาคาดกันไว้

เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐฯ ยังคงไม่หยุดซ้อมรบประจำปีกับกองทัพอากาศเกาหลีใต้ ทางเกาหลีเหนือเลยขู่ว่าจะยกเลิกประชุมสุดยอดระหว่างคิมกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ที่สิงคโปร์ กลายเป็นว่าทรัมป์เองก็ดูไม่พอใจและระงับการประชุมนี้ไปในที่สุด

ทีนี้เราก็ต้องมาตามกันต่อว่าที่ทั้งสองชาติพยายามเจรจากันมาทั้งหมดจะสูญเปล่าหรือไม่ รวมถึงคำถามที่น่าสนใจอีกว่าแล้วชาวเกาหลีใต้จะยังรู้สึกดีกับผู้นำเกาหลีเหนืออยู่หรือเปล่า นั่นเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบกันอีกยาว

เรื่องรวมชาติเอาไว้ทีหลังก็ได้

ปี 2014 สำนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล (Seoul National University) เผยแพร่ข้อมูลว่าร้อยละ 44.3 ของกลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีใต้ไม่อยากรับภาระทางเศรษฐกิจเพิ่ม ถ้าหากเกิดการรวมชาติกับเกาหลีเหนือในอนาคต ซึ่งถ้ามีการรวมชาติจริง คนส่วนใหญ่พร้อมจะจ่ายเงินภาษีเพิ่มเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลใต้ในจำนวนไม่เกินคนละ 50,000 วอน/ปี (ประมาณ 1,580 บาท) เท่านั้น จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับการรวมชาติ แต่ก็ยังเห็นประโยชน์ของเกาหลีใต้มากกว่าการรวมเกาหลีเหนือเข้ามา ด้วยสาเหตุที่ว่าพวกเขาต้องแบกรับภาระมากมาย เพราะฉะนั้นการรวมชาติจึงเป็นเรื่องที่รอได้ และเอาไว้ดำเนินการในขั้นตอนพัฒนาประเทศขั้นหลังสุดเลยก็ไม่มีปัญหา

การรวมชาติคือภาระหนักของเกาหลีใต้

เรื่องการรวมชาติเกาหลีเหนือและใต้เป็นเรื่องที่กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้และสมาชิกในประชาคมโลกครุ่นคิดกันอยู่เสมอมา จากการประเมินเมื่อปี 2017 ของ The Economist สำนักข่าวดังของอังกฤษรายงานว่าถ้าเกิดการรวมชาติจริง เกาหลีใต้ต้องใช้งบประมาณขั้นต่ำมากถึงหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3 ใน 4 ของ GDP ของประเทศ เรื่องเงินจึงน่าจะเป็นเรื่องหนักมาก ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องสร้างระบบการศึกษาขนาดใหญ่มารองรับและพัฒนาประชากรจากเกาหลีเหนือให้มีคุณภาพรองรับทักษะโลกยุคใหม่ แถมยังต้องใช้ทรัพยากรเวลาอีกมหาศาลในการกล่อมเกลาอุดมการณ์ของเกาหลีเหนือให้พวกเขาเข้ากับสังคมใหม่ได้โดยไม่เกิดปัญหาทางสังคม เช่น อาชญากรรมอย่างการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายคนอื่น

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ทั้งเกาหลีเหนือและใต้ต้องทำความเข้าใจกันขนานใหญ่เพื่อจะรวมชาติให้ได้ แต่จะไปถึงขั้นนั้นได้เราต้องจับตากลุ่มอำนาจของเกาหลีเหนือในปัจจุบันที่ไม่น่าจะปล่อยมือหรือละอุดมการณ์ของตัวเองไปง่ายๆ รวมไปถึงการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอยกันอยู่หลายประเด็น แต่ถึงอย่างนั้นถ้าพวกเขาทำได้จริง เกาหลีจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแถวหน้าของโลก เพราะเทคโนโลยีล้ำสมัยของเกาหลีใต้ที่ผสานเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ของเกาหลีเหนือจะช่วยหล่อเลี้ยงสังคมได้มหาศาล

จึง มินวู ชาวเกาหลีใต้วัย 27 จากเมืองซุนชอนเล่าว่าการรวมชาติอาจเกิดขึ้นได้แต่ต้องแก้ไขปัญหายิบย่อยมากมาย ตอนนี้ประเด็นนี้จึงเป็นแค่ฝันที่ลอยลมนอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างระดับรัฐ มินวูเชื่อว่าคนเจเนอเรชั่นเก่าๆ ต้องอาศัยเวลาในการยอมรับคนเกาหลีเหนือ เพราะพวกเขาเกลียดและกลัวเกาหลีเหนือมากเกินเยียวยาได้

เมื่อเกมการเมืองโลกยังคงไม่นิ่ง เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังอยู่ภายใต้ภาวะสงครามนานนับ 7 ทศวรรษ สหรัฐอเมริกาและจีนยังคงเป็นขั้วสำคัญในการคานอำนาจผ่านดินแดนสองกิมจิเป็นว่าเล่น ความหวังในการรวมชาติและความรู้สึกของคนเกาหลีใต้จึงยังเป็นเหมือนความฝันกลางวัน อีกมุมหนึ่ง ในเมื่อชีวิตของพวกตนสุขสบายดีแล้วเลยดูเหมือนว่าชาวเกาหลีใต้รุ่นใหม่ๆ ไม่ได้โหยหาการรวมชาติหรือพยายามเข้าอกเข้าใจอดีตพี่น้องอย่างคนเกาหลีเหนืออีกต่อไป

อ้างอิง

KOREA: THE IMPOSSIBLE COUNTRY (Tuttle Publishing – Daniel Tudor)

washingtonpost.com, quora.com, the101.world, prachatai.com, mgronline.com

ภาพประกอบ พนิดา มีเดช

AUTHOR