เมื่อต้อง work from home คุณเลือกใส่ชุดไหนบ่อยที่สุด?
ในช่วง work from home เราอาจได้ยินคำแนะนำว่าต่อให้ทำงานที่บ้านก็ควรใส่ชุดทำงานเต็มที่เสมือนว่าเรากำลังจะออกไปทำงานข้างนอก เช่น ใส่เสื้อเชิ้ต ผูกเน็กไท เพื่อสะกดจิตตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำงานในบรรยากาศน่าพักผ่อนของบ้าน บางคนยังต้องประชุมงานออนไลน์ทาง Zoom ก็อาจแต่งตัวหรือแต่งหน้าเต็มที่ ส่วนบางคนอาจแต่งตัวเต็มแค่ครึ่งท่อนบนที่ปรากฏให้คนอื่นเห็นผ่านกล้อง ท่อนล่างอาจไม่ใส่กางเกงหรือใส่แค่บ็อกเซอร์สบายๆ
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เราอาจสังเกตเห็นว่าเพื่อนร่วมงานบางคนเลือกแต่งตัวสบายๆ ใส่ชุดนอนทำงาน บางคนหยิบชุดที่ไม่ค่อยได้ใส่ออกมาใส่บ่อยขึ้น เริ่มทดลองแต่งกายในแบบที่เราคงไม่ทำหากไปทำงานหรือออกไปนอกบ้าน
ระหว่างช่วงล็อกดาวน์ หลายคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบชีวิตเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือพฤติกรรมหรือรสนิยมการแต่งกาย และเมื่อเกิดพฤติกรรมมนุษย์ใหม่ๆ ขึ้นในโลกก็ไม่พ้นที่จะมีคนพยายามบัญญัติคำหรือสร้างศัพท์ขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายปรากฏการณ์นั้น
Sadwear & hate-wear เมื่อเราเลือกแต่งตัวแปลกๆ ตามอารมณ์และจิตใจ
ในช่วงล็อกดาวน์ปี 2020 คอลัมน์ทั้งใน The New York Times และ Esquire ได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือคำว่า sadwear และ hate-wear ซึ่งไม่ได้แปลตรงตัวว่าเสื้อผ้าที่ใส่แล้วเศร้าหรือชุดที่เราเกลียด แต่ใช้อธิบายการแต่งตัวและแฟชั่นในช่วงเวลาไม่ปกติอย่างน่าสนใจ
sadwear (n.) เสื้อผ้าชุดที่สะท้อนสภาพจิตใจของเราในวันเศร้าหมอง มันอาจเป็นชุดที่เราใส่แล้วสบายใจในวันที่รู้สึกเซ็ง หรืออาจเป็นชุดที่เราเลือกใส่บ่อยๆ ในช่วงล็อกดาวน์ที่ชวนให้กังวล โดยอาจเป็นชุดที่แปลกไปจากชุดที่เราใส่ปกติ
hate-wear (n.) เสื้อผ้าที่หยิบมาใส่บ่อยครั้งแม้เราจะไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ บางทีอาจใส่แล้วรู้สึกแย่ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเพราะลายมันพิลึก สวมแล้วไม่พอดีตัว เนื้อผ้าก็อาจไม่นุ่มสบาย แต่เราดันหยิบมาสวมใส่เรื่อยๆ ในช่วงเวลาไม่ปกติ
ต้องย้ำว่าเสื้อผ้า sadwear และ hate-wear นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อผ้าสบายๆ อยู่บ้าน หรือชุดนอนเสมอไป แต่ครอบคลุมไปถึงตัวเลือกการแต่งกายแปลกๆ ที่ในสถานการณ์ปกติเราอาจมองข้ามไปก็ได้ เช่น
- เสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วไม่กล้าใส่ มันอาจจะมีดีเทล เนื้อผ้า หรือลักษณะแปลกๆ ที่ซื้อมาแล้วแทบไม่ได้ใส่ออกไปไหน
- เสื้อผ้าเก่าที่เชย ตกยุคไปแล้ว ใส่แล้วอาจรู้สึกเด๋อ หรือเสื้อผ้าที่จริงๆ ก็ชอบใส่แต่ใส่แล้วไม่ได้ดูดีมาก ใส่แล้วไม่เข้ากับตัวเองเลยไม่ค่อยได้ใส่แต่ว่าเสื้อผ้ายังคุณภาพดีอยู่เลยหยิบมาใส่บ้างจนกลายเป็นว่าใส่ซ้ำบ่อยๆ
- เสื้อผ้าสำหรับโอกาสพิเศษที่ไม่ใช่ทั้งชุดอยู่บ้านหรือชุดที่ใส่ออกไปนอกบ้าน เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดกีฬา ชุดคลุมอาบน้ำ ชุดแฟนซี ฯลฯ
- เครื่องประดับแปลกๆ เพี้ยนๆ ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ใส่ไปไหน ไม่เข้ากับชุด ก็ถูกหยิบเอามาใส่เมื่อต้องประชุมงานออนไลน์ผ่าน Zoom สร้างสีสันแปลกใหม่
นอกจากพฤติกรรมชอบใส่ชุดแปลกๆ งงๆ ในช่วงโควิด ยังมีเพื่อนเล่าให้ฟังว่าบางวันทำงานอยู่บ้าน ไม่ได้คุยกับใครแล้วรู้สึกเครียดๆ เลยเริ่มทดลองไม่สวมชุดชั้นในเพื่อความสบายกาย บางคนก็ใส่แค่ชุดชั้นในโล่งๆ หรือเปลือยกายนั่งทำงานไปยาวๆ เพราะไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ให้กับวันที่ดำเนินไปอย่างซ้ำซากจำเจ ถือว่าเป็นโบนัสพิเศษของการทำงานอยู่บ้าน ซึ่งถ้าลองแล้วติดใจก็อาจกลายเป็นรสนิยมใหม่ๆ ในชีวิตระยะยาวไปได้
ย้อนกลับไปปีที่แล้ว วันไหนที่เครียดๆ เบื่อๆ ผู้เขียนเองก็ชอบไปหยิบเอารองเท้าคู่ที่ใส่ไม่ค่อยสบาย ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใส่ แต่ชอบรูปทรงและวัสดุมาสวมเล่นขณะนั่งพิมพ์งาน บางทีก็เลือกใส่กระโปรงตัวนั้นที่สั้นเกินไปนิดหนึ่ง เสื้อที่ชอบลายผ้าแต่พอใส่แล้วไม่พอดีตัวหรือไม่มั่นใจ ลองหยิบเสื้อกันหนาวตัวที่คันนิดๆ มาสวมบ้างหลังจากซื้อมาแล้วไม่เคยใส่ไปนอกบ้านเลย แม้พอส่องกระจกแล้วจะไม่ได้รู้สึกว่าเหมาะหรือดูดีแต่ก็รู้สึกดีที่ได้ลองเสื้อผ้าใหม่ๆ โดยไม่ต้องไปหาซื้อ แค่หยิบหาชุดในตู้เสื้อผ้าที่เราลืมไปแล้วแทน
หากคุณลองนึกย้อนไปในช่วง work from home แล้วเจอชุดแปลกๆ ที่คุณใส่ซ้ำๆ อย่างไม่มีต้นสายปลายเหตุ คุณอาจจะพบ sadwear ของตัวเองเข้าให้แล้ว อยู่ๆ ชุดแปลกๆ งงๆ ก็เกิดความหมายใหม่ กลายเป็นชุดที่ใส่แล้วช่างแม่ง เราสบายใจ สวยไหมก็ไม่ แต่เราจะใส่ ใครจะทำไม 🙂
เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ สภาพจิตใจเปลี่ยนไป เสื้อผ้าที่ใส่ก็เปลี่ยนไปด้วย
แน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์ชีวิตเปลี่ยน จิตใจเราไม่ปกติ แถมอยู่ในภาวะที่เจอคนลดลงหรือไม่ได้เจอผู้คนเป็นเวลานาน ชีวิตประจำวันถูกจำกัดอยู่ในสถานที่เดิม มีกิจวัตรเดิมซ้ำๆ ฯลฯ สถานการณ์ชีวิตพวกนี้ล้วนมีผลให้อารมณ์และสภาพจิตใจเราไม่ปกติไปด้วย พอเครียด กังวล และเบื่อหน่ายก็สามารถส่งผลต่อตัวเลือกในการแต่งตัวของเราไปโดยปริยาย
เมื่อต้องอยู่บ้านนานๆ หลายคนก็เริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแต่งกายให้เข้ากับกาลเทศะ ตามเทรนด์ ตามสมัยนิยม หรือต้องเหมาะสมกับสถานที่อีกต่อไป ไม่ต้องแคร์ว่าคนรอบตัวคิดยังไงกับตัวเลือกการแต่งกายของเรา ไม่ต้องกลัวเพื่อนร่วมงานแซวเวลาเราแต่งตัวแปลกๆ จนเราไม่มั่นใจ หรือเราจะทดลองไม่ใส่อะไรเลยก็ทำได้เต็มที่ หากเราใส่แล้วเกิดมั่นใจและพึงพอใจก็อาจจะกลายเป็นรสนิยมใหม่ๆ ในระยะยาวไปได้
sadwear จีงอาจเป็นหนทางใหม่ในการปลดปล่อยตัวเองให้เกิดความพึงพอใจในร่างกายของเรา ไม่ต้องสวย ไม่ต้องเนี้ยบ ไม่ต้องเป๊ะ ไม่ต้องเก๋ชิค การแต่งตัวอะไรก็ได้กลายเป็น statement ของการปล่อยวางช่างแม่ง สบายใจก็ใส่ไป สร้างความพึงพอใจและผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยเรื่องที่น่ากังวลใจมากกว่าเสื้อผ้า เช่น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่ชวนให้เครียดและสิ้นหวัง
ไม่ใช่แค่คนธรรมดาที่มี sadwear แต่คนดังก็ใส่ sadwear กันเต็มไปหมด เช่น Justin Bieber ผู้สวมฮู้ดรูป Emoji แบบไม่สนใจโลก หรือ Harry Style ที่พันผ้าพันคอ Muppet สีเขียวมีขนดูนุ่มสบายไปงานประกาศรางวัลแกรมมี่ เสื้อผ้าเหล่านี้ล้วนแผ่รังสีพลังงานความเพี้ยน ความไม่แคร์โลก คล้ายๆ กับประกาศว่าในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ใครอยากใส่อะไรก็ใส่ไป ไม่ต้องแคร์สายตาสังคม เพราะเราอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสับสนกังวลใจและเครียดมากพอแล้ว ที่สำคัญเมื่อเราหยิบเสื้อผ้าเด๋อๆ แปลกๆ ขึ้นมาใส่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ก็อาจสร้างความหมายใหม่ๆ และมันยังช่วยต่ออายุเสื้อผ้าเหล่านี้อีกด้วย
การทดลองสไตล์ใหม่ๆ ผิดๆ ถูกๆ อาจสร้างความหมายและคุณค่าใหม่ให้กับการแต่งตัวของเรา พอไม่ต้องออกไปเจอใครบ่อยๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีเสื้อผ้าเยอะเท่าเดิม ไม่ต้องแต่งตัวตามสมัยเพื่อออกไปเจอคนอื่นในสังคม ใส่เสื้อซ้ำก็ได้ไม่เป็นไร สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราชะลอการบริโภค ได้หยุดและคิดมากขึ้น ลองพิจารณาตัวเลือกการแต่งกายและการช้อปปิ้งของเราใหม่
นิตยสาร eMarketer ระบุว่าจากแบบสำรวจผู้บริโภค พบว่าในสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนมิถุนายน 2020 หรือในช่วงล็อกดาวน์ ผู้คนเลือกซื้อเสื้อผ้าแนวสบายๆ (leisure wear) มากขึ้น โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวช่วงวัย 18-24 ปี ส่วนอีกแบบสำรวจในสหราชอาณาจักรก็พบว่าคนมากกว่า 3 ใน 5 รู้สึกพึงพอใจที่คนในสังคมแต่งตัวสบายๆ มากขึ้นและรู้สึกมั่นใจที่จะแต่งตัวแนวสบายๆ ขึ้น ซึ่งการแต่งตัวแนวใส่สบาย ใส่ยาวๆ ใส่ซ้ำได้มากขึ้นก็จะลดการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์แฟชั่นและลดการใช้ทรัพยากรในยุคสมัยแห่งฟาสต์แฟชั่น
จากรายงาน A NEW TEXTILES ECONOMY: REDESIGNING FASHION’S FUTURE โดย Ellen Macarthur Foundation สรุปแนวโน้มด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอว่าในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา การผลิตเสื้อผ้านั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว เมื่อเสื้อผ้าถูกผลิตมากขึ้น ไวขึ้น ในราคาที่ต่ำลง อายุการใช้งานเสื้อผ้าก็สั้นลงไปด้วยไม่คุ้มค่ากับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล จนกระทั่งหลังการใช้งาน ฟาสต์แฟชั่นก็สร้างขยะจำนวนมาก หากมีเพียงขยะน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกรีไซเคิลกลับมาใช้งานต่อ
เมื่อแนวทางการแต่งตัวมาทางที่ใส่สบายและใส่ยาวๆ มากขึ้น อาจจะนำไปสู่การแต่งกายแบบใหม่ รายงานสรุปเทรนด์การบริโภคแฟชั่น The State of Fashion 2021 โดย Mckinsey & Company เสนอว่าคนรุ่นใหม่ตื่นรู้ สนใจเรื่องที่มาของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่บริโภค ความโปร่งใส และความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งยังคิดถี่ถ้วนถึงผลกระทบก่อนซื้อมากขึ้น
ถึงอย่างนั้นวงการแฟชั่นเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิดทางอื่นด้วย พฤติกรรม Spendemic ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นคือพฤติกรรมที่คนเริ่มชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้นอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ แฟชั่นโชว์ต้องปรับปรุงให้อยู่ในลักษณะดิจิทัลมากขึ้น แต่ละแบรนด์หันมาแข่งขันการนำเสนอตัวตนแบรนด์ในโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และใช้งานช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์มสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แม้ฟังดูเผินๆ hate-wear และ sadwear อาจจะเป็นเทรนด์การแต่งตัวเฉพาะกาลจากสถานการณ์ไม่ปกติ เพื่อตอบรับสภาพจิตใจในช่วงเวลาทุกข์ยาก ไม่แน่นอนของโรคระบาด แต่ประสบการณ์นี้พาให้เรากลับไปค้นหาเสื้อผ้าเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้วในตู้ นำมาลองใส่ และทำให้มันมีชีวิตใหม่ขึ้นมา อีกไม่นานโลกอาจเข้าสู่ยุคปกติแต่ผลกระทบจากการแต่งกายในช่วงโควิดอาจขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เปลี่ยนไปหลังจากนี้
อ้างอิง
Circular Fashion – A New Textiles Economy: Redesigning fashion’s future
‘Hate-wear’ and ‘sadwear’: fashion’s new names for lockdown dressing
Leisure-wear, pyjamas and even showering less, has COVID accelerated a decline in formality?
Pandemic Dressing Takes a Dark Turn
The Slob-Chic Style of the Coronavirus Pandemic
The State of Fashion 2021: In search of promise in perilous times