“วันนี้วันพุธเองเหรอ” Blursday อาการหลงวันลืมคืนเมื่อวันหยุดและวันทำงานหลอมเป็นหนึ่งเดียว

“วันนี้วันพุธเองเหรอ” Blursday อาการหลงวันลืมคืนเมื่อวันหยุดและวันทำงานหลอมเป็นหนึ่งเดียว

Highlights

  • Blursday คือคำที่บัญญัติขึ้นโดย Oxford Dictionary ในปี 2020 มีความหมายว่า 'วันใดๆ ที่ไม่สามารถระบุแยกได้จากวันอื่นๆ ในสัปดาห์' เช่น เวลาเราหลงๆ ลืมๆ ว่าวันนี้เป็นวันจันทร์ วันอังคาร หรือถึงวันหยุดแล้วกันแน่นะ
  • อาการนี้มีที่มาจากความซ้ำซากจำเจในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลากักตัวนานๆ ที่ตื่นมาก็ทำงานอยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปไหนจนทุกวันดูเหมือนๆ กันไปหมด หรืออาจเกิดในช่วงที่ทำงานหนักจนวันทำงานกับวันหยุดหลอมรวมเป็นหนึ่ง ไม่สามารถแยกวันคืนได้อีกต่อไป
  • คำว่า Blursday ชวนให้คิดต่อถึงเรื่องการรับรู้เวลาของมนุษย์ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าปัจจัยที่แตกต่างกันทำให้มนุษย์รับรู้เรื่องเวลาช้า-เร็วไม่เท่ากัน เช่น เคสคลาสสิกที่ว่าเวลามักผ่านไปเร็วยามมีความสุข ส่วนตอนกักตัวเบื่อๆ อยู่บ้านนั้นเวลาดันผ่านไปช้าเต็มทน!

คุณรู้สึกว่าปี 2020 ผ่านไปเร็วหรือช้า? เกิดการสับสนในวันเวลาบ้างไหม?

หากคุณรู้สึกว่าทุกๆ วันช่างเหมือนกันจนรู้สึกหลงเวลา ลืมวันลืมคืน คุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ หนึ่งในคำที่น่าสนใจในรายชื่อคำประจำปีของ Oxford คือคำว่า Blursday

ก่อนจะรู้จักคำใหม่ เราขอชวนย้อนกลับไปมองเรื่องราวไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นมากมายในปี 2020 ก่อน ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าที่รุนแรงไปจนถึงโรคระบาดที่แทบจะทำให้ทั้งโลกหยุดลงชั่วคราว เพื่อให้มี ‘คำ’ ที่ตอบรับกับสถานการณ์ สภาพสังคม พฤติกรรม และกิจกรรมที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะเจาะจงที่สุด นักพจนานุกรมจึงต้องคอยสังเกตการณ์และวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในภาษาอังกฤษที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนแบบเกือบจะเรียลไทม์

จากเหตุการณ์มากมายมหาศาลที่เกิดขึ้น รายงาน Word of the Year 2020 โดย Oxford Dictionary พบว่ามีการใช้คำใหม่ๆ เกิดขึ้นในปีที่แล้วเยอะมากจนไม่สามารถเลือกแค่หนึ่งคำให้เป็นคำแห่งปีได้ ดังตัวอย่างคำในลิสต์ด้านล่างนี้

  • Covidiot (n.) ผู้ที่ไม่ยอมทำตามข้อปฏิบัติที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไม่ยอมใส่หน้ากาก ไม่ยอมล้างมือ ไม่เชื่อในการ social distancing ไม่ว่าจะด้วยความขี้เกียจ ความไม่รู้ หรือไม่เชื่อว่าโควิด-19 เป็นเรื่องจริงซึ่งเป็นทฤษฎีสมคบคิดระดับโลก
  • Mask Shaming (n.) การประณามหยามเหยียดคนที่ไม่ยอมใส่หน้ากากหรือเหยียดคนที่ใส่หน้ากากเพื่อให้รู้สึกอับอาย คำนี้มีความน่าสนใจเพราะมีความหมายตรงกันข้ามจากคนสองฝั่ง แล้วแต่ว่าอยู่ฝั่งไหน
  • Infit (n.) ชุดนอกบ้านที่เราต้องใส่อยู่บ้านให้เรียบร้อยเพื่อประชุมทางออนไลน์ ทำให้เกิดพฤติกรรมการแต่งชุดทำงานหรือชุดสุภาพแค่ท่อนบนเท่านั้น
  • Infodemic (n.) ภาวะการระบาดของข่าวปลอมที่กระจายไปทั่วในช่วงที่มีโรคระบาด
  • Doomscrolling (n.) อาการเลื่อนหน้าจอไถฟีดไปเรื่อยๆ อย่างหมดหวังในช่วงเวลาเลวร้ายเหมือนจะสิ้นโลก
  • Zoombomb (n.) พฤติกรรมก่อกวนการประชุมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom โดยตั้งใจเปิดภาพที่สร้างความรำคาญ กระอักกระอ่วนใจ เช่น เปิดเสียงดังรบกวน ส่งภาพวาบหวิว ฯลฯ

 

Blursday อาการสับสนในการรับรู้เวลาจนจำวันผิด

หนึ่งในคำที่เกิดขึ้นในปี 2020 ที่น่าสนใจคือคำว่า Blursday ที่เกิดจากคำว่า Blur (เบลอ พร่ามัว ไม่ชัดเจน) + Day (วัน) รวมกันได้คำที่หมายความว่า วันใดๆ ที่ไม่สามารถระบุแยกได้จากวันอื่นๆ ในสัปดาห์’

Oxford อธิบายสาเหตุไว้เพิ่มเติมว่าอาการนี้ …เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงกักตัวที่บ้านจนเกิดอาการไม่รู้วันไม่รู้คืน สับสนว่าวันนี้เป็นวันอะไร ชีวิตแต่ละวันซ้ำซากจำเจอยู่ในสถานที่เดียวจนแยกแต่ละวันที่ผ่านไปให้แตกต่างจากกันได้ยาก วันหยุดและวันทำงานได้หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ฯลฯ” 

เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ในปีนี้ หลายๆ คนอาจเริ่มปรับตัวกับชีวิตทำงานทางไกลได้แล้ว แต่เมื่อผู้เขียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนชีวิตกับคนรอบตัวก็พบว่า Blursday ยังเป็นสิ่งที่เราประสบร่วมกัน เช่น เมื่อคุยงานนัดหมายกันแล้วจำวันผิด คิดว่าวันที่คุยกันเป็นวันพฤหัสบดีทั้งที่เป็นวันอังคาร หรือบางทีทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องตกใจเมื่อถึงวันศุกร์โดยไม่รู้ตัว หรือต่อให้ไม่ถึงหลักวัน หลายคนก็ทำงานไปเรื่อยๆ จนดึกโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่ต้องเดินทางกลับบ้าน

ในช่วงเวลาไม่ปกติเช่นนี้ที่คนจำนวนมากต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนชีวิตประจำวัน เป็นโอกาสอันดีของนักวิทยาศาสตร์ที่จะสำรวจการรับรู้เวลาของคนในวงกว้าง Philip Gable นักวิชาการด้านจิตวิทยาจาก The University of Alabama at Birmingham ทำแบบสำรวจในคำถามนี้เหมือนกันโดยไปสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,100 คน พบว่าในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ส่วนคนอีกประมาณ​ 25 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าเวลาในช่วงโรคระบาดผ่านไปไวกว่าที่ควรจะเป็น

Sophie Herbst นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาจากเบอร์ลินให้ความเห็นว่า ผู้คนได้สูญเสีย ‘temporal cues’ หรือ ‘ตัวชี้นำในการรับรู้เวลา’ โดยทั่วไป ชีวิตของคนยุคปัจจุบันมักถูกแบ่งประเภทเป็นวันธรรมดาและวันหยุดซึ่งช่วยให้เราสามารถรับรู้ถึงเวลาที่ผ่านไปได้ แต่ในช่วงเวลากักตัวหลายคนอาจทำงานข้ามไปวันเสาร์-อาทิตย์จนทำให้เส้นแบ่งเวลาผิดเพี้ยนไปจากปกติ ทำให้รู้สึกว่าเวลาที่ผ่านไปไม่กี่เดือนนั้นเหมือนเกิดขึ้นแสนนาน นอกจากนี้ความเบื่อหน่าย ความกังวล หรือความกลัวก็ทำให้เรารู้สึกว่าเวลานั้นยาวนานมากขึ้น

การอยากหลุดจากภาวะ Blursday อาจทำได้ด้วยการพยายามเรียก temporal cues กลับคืนมาด้วยการสร้างเส้นแบ่งของเวลาในแต่ละวันให้ตัวเอง สร้างความแตกต่างหลากหลายในแต่ละวัน สร้างกิจวัตรใหม่ๆ ให้เช้า กลางวัน เย็นแตกต่างกัน กำหนดวันพักผ่อนให้ตัวเอง หรือกำหนดวันที่จะทำกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น จะวิ่งทุกๆ วันเสาร์ จะออกไปเดินข้างนอกทุกเย็น หรือจะออกกำลังกายวันเว้นวัน เพื่อให้จดจำและแยกแยะวันต่างๆ ได้ดีขึ้น

 

รับรู้เวลาด้วยเรื่องราวรอบตัว

แม้เราจะรู้สึกว่า ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้และแน่นอน หากแต่การรับรู้เวลาของมนุษย์นั้นไม่แม่นยำและมีความรู้สึกมาเกี่ยวข้องเสมอ นอกจากความรู้สึกส่วนตัว การรับรู้ถึงเวลายังข้องเกี่ยวกับปัจจัยทางสถานที่และวัฒนธรรมด้วย

ในหนังสือ A Geography Of Time นักสังคมจิตวิทยา Robert V. Levine ได้พาเราไปสำรวจการรับรู้ของผู้คนในต่างประเทศ ต่างวัฒนธรรม และต่างยุคสมัย เช่น ยุคก่อนที่จะมีนาฬิกาเป็นมาตรฐานสากลในการวัดเวลา จากการสำรวจ เลวีนสรุปว่าตัวแปรที่มีผลต่อ psychological time หรือเวลาทางจิตวิทยามี 5 ปัจจัย คือ

  • Pleasantness (ความพึงพอใจ) หากเรารู้สึกมีความสุข อิ่มเอม เวลามักจะผ่านไปไวกว่าปกติเสมอ ความเบื่อหน่ายหรือกิจกรรมที่ซ้ำซากทำให้เรารับรู้ระยะเวลาได้ช้ากว่าปกติ
  • Urgency (ความรีบเร่งฉุกเฉิน) หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรีบก็ดูเหมือนเวลาจะเดินช้าลงไปอีก เช่น หากต้องนำคนที่เรารักส่งโรงพยาบาลด้วยเหตุฉุกเฉิน เวลาไม่กี่นาทีก่อนจะถึงแผนกฉุกเฉินนั้นช่างยาวนานเหลือเกิน 
  • Amount of activity (ปริมาณของกิจกรรมในแต่ละวัน) หากเรามีกิจกรรมต้องทำมากมาย เราย่อมรู้สึกว่าเวลานั้นน้อย เดินไว และไม่เพียงพอ
  • Variety (ความหลากหลาย) หากเผชิญชีวิตที่ซ้ำซากจำเจจนแยกแต่ละชั่วโมงและวันออกจากกันได้ยาก เวลาอาจเดินช้าในความรู้สึก เช่น คนที่ชีวิตที่คุ้นชินกับความไวและความหลากหลายในเมือง เมื่อเข้าสู่โหมดชีวิตช่วงกักตัวอยู่บ้าน กินอาหารเมนูเดิมทุกวันในสภาพแวดล้อมที่จำกัดอาจรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าลงจนแทบทนไม่ได้
  • Time-free tasks (งานประเภทที่ไม่กำหนดเวลา) งานบางประเภทไม่อาจทำตามกำหนดเดดไลน์ได้โดยง่าย โดยเฉพาะงานสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพสักภาพหรือการเขียนหนังสือสักเล่ม เมื่อศิลปินจดจ่อกับงานจนตัดขาดจากโลกจึงบิดเบือนการรับรู้เวลาของเขาไป เช่นที่นักจิตวิทยา Mihaly Csikszentmihalyi กล่าวว่า “ชั่วโมงหนึ่งๆ ผ่านไปราวกับนาที แต่บางที หนึ่งวินาทีก็ดูเหมือนจะยืดยาวเป็นนิรันดร์”

ภาพ amazon.com

Oliver Sacks นักประสาทวิทยาผู้ล่วงลับเล่าถึงประสบการณ์การรักษาคนไข้ลงในความเรียงชื่อ ‘Speed’ หรือ ‘ความไว’ จากหนังสือ The River of Consciousness เขาสังเกตว่าคนเราต่างมีนาฬิกาการรับรู้เวลาฝังอยู่ในร่างโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น คนไข้ผู้เคลื่อนไหวช้าจนแทบหยุดนิ่งรู้สึกว่าเวลานาฬิกาบนผนังผ่านไปเร็วผิดปกติ กลับกันบางโรคทำให้คนไข้รับรู้เวลาผิดเพี้ยนถึงขนาดที่สามารถจับแมลงวันได้ด้วยมือเปล่าเพราะเขารู้สึกว่าแมลงวันบินช้าเหลือเกิน

แม้คนจะบอกว่าเวลานั้นผ่านไปเร็วขึ้นเมื่อเราแก่ชราลง แซกส์กลับยืนยันว่าเมื่ออายุมากขึ้น แต่ละวินาที แต่ละนาทียังให้ความรู้สึกเหมือนเดิม หนึ่งชั่วโมงยังยาวเท่าเดิมเมื่อเราเบื่อหน่าย หรืออาจรวดเร็วผ่านไปไวในห้วงที่เรากระตือรือร้นสนใจ และบางครั้งเวลาเพียงชั่วครู่ก็ถูกยืดขยายขึ้นในความทรงจำ เช่น ในวินาทีใกล้ตายสมองของเราจะยืดขยายรายละเอียดที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงชั่ววูบได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ภาพ amazon.com

 

อย่าหวาดกลัวที่จะหลงทางในเวลา เพราะเราต่างรับรู้เวลาต่างกัน

เมื่อได้อยู่บ้านนานๆ และได้ประสบอาการ Blursday เข้ากับตัว ผู้เขียนรู้สึกเหมือนได้รับประสบการณ์ชีวิตที่แปลกใหม่หลังใช้ชีวิตที่แยกวันธรรมดาและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์อย่างชัดเจนมาตลอด ทำงานในสายอาชีพที่ถูกวัดด้วยเวลาอยู่เสมอจนเวลาที่เสียไปคือความสูญเสียทางโอกาสและรายได้

การใช้ชีวิตแบบเบลอๆ แยกวันธรรมดากับสุดสัปดาห์ไม่ออกทำเอาหลายคนเครียด พานคิดไปว่าชีวิตตัวเองไม่มีคุณภาพอย่างใครๆ หากที่จริงแล้วชีวิตรูปแบบนี้เป็นผลพลอยได้หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่การใช้ชีวิตเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง และการมีวันหยุด 2 วันให้พักต่อสัปดาห์ก็เกิดจากการเรียกร้องของการเคลื่อนไหวทางแรงงานที่ทำให้มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของมนุษย์มาแต่โบร่ำโบราณ

หากมองออกไปจากชีวิตตัวเอง ยังมีคนอีกมากที่อยู่บ้านสม่ำเสมอตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จะระบาด เช่น คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกที่บ้าน คนที่เกษียณอายุ คนที่ว่างงาน หรือผู้ป่วยเรื้อรัง ความรู้สึกสับสนว่าเป็นวันอะไรนี้จึงอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนเหล่านี้เช่นกัน

หรือหากมองดูคนในวัฒนธรรมอื่นๆ ที่อยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่างออกไป ‘เวลา’ สำหรับผู้คนในสังคมเกษตรกรรม สังคมที่อยู่ในป่าหรือบนเกาะอาจข้องเกี่ยวกับฤดูกาล สภาพอากาศ มากกว่าสนใจว่าวันนั้นคือวันจันทร์หรืออังคาร วัฒนธรรมที่ต่างไปเหล่านี้ทำให้เขาอาจรับรู้เวลาและดำเนินชีวิตโดยอาศัยตัวแปรจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ปริมาณแสงอาทิตย์ น้ำขึ้น-น้ำลง ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ฯลฯ หากเรายึดติดกับคติที่ว่าการไม่รับรู้เวลาแบบในสังคมสมัยใหม่คือการไร้ความสามารถก็อาจเป็นการตีกรอบเวลาที่แคบเกินไป

 

เมื่อลองพิจารณาดู ‘เวลา’ ที่เรารับรู้อาจไม่ได้เป็นเส้นตรงหรือเที่ยงตรงสม่ำเสมอตลอดไปจนวันตาย แต่เป็นเหมือนการเดินทางบนถนนที่บางครั้งเรียบลื่น บางช่วงก็ขรุขระ บางช่วงอาจรู้สึกเร็ว บางช่วงอาจรู้สึกช้าจนทนไม่ไหว ที่สำคัญ ในแต่ละช่วงชีวิตเราอาจให้คุณค่าและความหมายกับเวลาต่างกันไปก็ได้

เมื่อมองไปให้ไกลจากตัวเอง อาการ Blursday จึงอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก หรือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขขนาดนั้น แค่เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนจำนวนมากพร้อมๆ กันในช่วงโควิด-19

ดังนั้นเมื่อประสบกับอาการ Blursday ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้สำรวจและทำความเข้าใจว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการรับรู้เวลาของเรา รวมถึงลองออกไปสำรวจผู้คนที่รับรู้เวลาต่างจากเรา ไม่แน่เราอาจเจอวิธีรับรู้และใช้เวลาแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจก็ได้


A Geography Of Time: The Temporal Misadventures of a Social Psychologist

languages.oup.com

The River of Consciousness: Sacks, Oliver: 9780385352567

What Day Is It? This Is Your Brain on Quarantine

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย