Fox 8 หนังสือว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกพูดได้ และความกังวลใจของสัตว์ต่อการกระทำของมนุษย์

The Lion King น่าจะเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องแรกในชีวิตที่ผมหลงใหลอย่างบ้าคลั่ง จำได้ว่าแม่ต้องคอยซื้อวิดีโอม้วนใหม่มาให้ซ้ำๆ เพราะผมเล่นดูแล้วดูอีกจนวิดีโอพัง แต่ก็ยังไม่รู้สึกสาแกใจ แน่นอนครับ ผมในวัยหกขวบเพียงแค่สนุกไปกับการที่ได้เห็นเหล่าสิงสาราสัตว์มาพูดภาษามนุษย์ให้ได้ฟัง มาร้องเพลงเพราะๆ ให้ได้ยิน ไม่เคยได้คิดอย่างจริงๆ จังๆ หรอกครับว่า หากถ้าวันหนึ่งสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ที่รายล้อมเราอยู่ในโลกใบนี้เกิดจะสื่อสารกับมนุษย์ได้ขึ้นมา พวกเขาจะอยากบอกอะไรกับเราบ้างนะ?

ผมไม่รู้ว่า George Saunders นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัล The Man Booker Prize ประจำปี 2017 คิดอะไรอยู่ขณะที่เขียน Fox 8 หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ผมหยิบมาพูดถึงประจำเดือนนี้ แต่เรื่องสั้นความยาว 47 หน้าที่เล่าเรื่องของสุนัขจิ้งจอกพูดภาษาคนได้เล่มนี้ก็สะท้อนถึงความกังวลใจที่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมีต่อการกระทำของมนุษย์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจและน่าเจ็บปวดหัวใจทีเดียวครับ

bloomsbury.com

Fox 8 เล่าผ่านน้ำเสียงของ ‘Fox 8’ สุนัขจิ้งจอกหมายเลขแปดที่หลงใหลนิทานก่อนนอนของมนุษย์ ทุกๆ ค่ำเขาจะแอบไปนอนเงียบๆ ข้างหน้าต่างบ้านหลังหนึ่ง รอคอยเวลาที่คุณแม่จะมาอ่านนิทานให้ลูกน้อยฟัง Fox 8 เพลิดเพลินกับสิ่งที่ได้ฟัง ค่อยๆ เรียนรู้ภาษาคนจากประโยคที่ได้ยิน และไม่ช้าเขาก็เริ่มหลงรักมนุษย์จากเรื่องที่ได้ยินในนิทาน 

แต่อยู่มาวันหนึ่ง Fox 8 กับ Fox 7 เพื่อนอีกตัวหนึ่งก็ไปเจอป้ายซึ่งเขียนว่า ‘FoxViewCommons เร็วๆ นี้’ แม้ Fox 8 จะอ่านข้อความบนป้ายออก แต่เขาก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าประโยคนั้นหมายความว่าอะไร ลองปรึกษาสุนัขจิ้งจอกตัวไหนก็ไม่มีใครรู้ ถึงที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจจะไปดูให้รู้ว่า FoxViewCommons ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ และก็อย่างที่เราคงจะเดากันได้ครับ ว่าสถานที่แห่งนี้คือห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่มาตั้งอยู่ไม่ไกลจากผืนป่าที่เหล่าสุนัขจิ้งจอกอาศัยอยู่นั่นเอง

ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง Saunders เล่าว่า “เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนหนังสือเด็กพร้อมตอนจบที่มีความสุข แต่บรรณาธิการผมบอกว่า ความยาวของเรื่องไม่เหมาะสม และคุณก็ไม่สามารถมีการสะกดคำแย่ๆ ในหนังสือเด็กได้ ผมรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อย และตัดสินใจว่าตอนจบที่มีความสุขน่ะผิดไปสักหน่อย เพราะมันมีความแตกหักระหว่างน้ำเสียงเปี่ยมสุขของสุนัขจิ้งจอกผู้เล่าเรื่อง และความโหดร้ายที่เขาต้องเผชิญ มันเกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจ การต้องหลบลี้ภัย และการที่โลกของเราอาจเป็นได้ทั้งสถานที่อันอารีหรือโหดร้ายต่อใครๆ ที่กำลังรู้สึกเปราะบาง”

เมื่อผู้เล่าเรื่องเป็นสุนัขจิ้งจอก ‘คำ’ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงสะกดอย่างไม่ค่อยตรงตามหลักภาษานัก เช่น Human ก็สะกดว่า Yuman หรือ fascinated ก็สะกดว่า fast and nated ตามลักษณะการเปล่งเสียงที่ Fox 8 ได้ยินจากคำพูดของมนุษย์ ในทางหนึ่ง การที่ Saunders เลือกใช้ภาษาเช่นนี้ส่งผลให้ผู้อ่านต้องใช้เวลาปรับจูนกับภาษาในเรื่องสั้นอยู่สักหน่อย แต่ขณะเดียวกันวิธีการนี้ก็ช่วยให้เราจินตนาการเสียงของ Fox 8 ได้อย่างสนุกทีเดียว ยิ่งเมื่อ Saunders ได้สอดแทรกสำนวนอเมริกันอย่าง ‘I woslike’ หรือ ‘Dude, check me out’ ก็มีแต่จะแต่งเติมเอกลักษณ์ให้กับ Fox 8 มากยิ่งขึ้น

แต่อย่างที่ Saunders ได้บอกไว้ ว่าถ้าจะให้เรื่องสั้นนี้จบอย่าง happy ending นั้นก็ดูจะผิดไปสักหน่อย ผ่านการลักลอบเข้าไปยัง FoxViewCommons ของ Fox 8 กับ Fox 7 เหตุการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญจึงเป็นการทลายภาพฝันที่ Fox 8 มีต่อมนุษย์โดยสิ้นเชิง ผมขออนุญาตไม่เล่าว่าเกิดอะไรขึ้น หากคำถามที่หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ต่อยอดจากสถานการณ์ที่สุนัขจิ้งจอกทั้งสองต้องเผชิญคือ “จะเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นจะอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

การมาถึงของ FoxViewCommons ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่ของเหล่าสุนัขจิ้งจอก แต่ยังรวมถึงสัตว์สายพันธ์ุต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนั้น เมื่อต้นไม้นับร้อยๆ ถูกโค่นล้มซ้ำๆ และเมื่อลำธารที่เคยสะอาดสวยกลายเป็นสีขุ่นดำ คำถามคือ นอกจากความสะดวกสบายของมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว เราเคยคำนึงถึงความเป็นไปของชีวิตอื่นสักแค่ไหน?

amazon.com

ไม่กี่เดือนก่อน ผมได้อ่านหนังสือ Among the Bone Eaters: Encounters with Hyenas in Harar ของ Marcus Baynes-Rock นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลีย ผู้ลงพื้นที่ไปศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ที่ Harar ประเทศเอธิโอเปียโดย Baynes-Rock ได้อธิบายถึง multispecies commons (พื้นที่หลากหลายสายพันธ์ุ) ว่าคือพื้นที่ซึ่งมนุษย์และสัตว์มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนและสลับซับซ้อน และคือพื้นที่ซึ่งในทางสังคม ชีววิทยา และกระบวนการทางประวัติศาสตร์ (historical process) พัวพันกับกระบวนการทางนิเวศน์วิทยา (ecological process) อย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ผ่านกรอบคิดนี้เองที่ Baynes-Rock ได้นำมาอธิบายความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับไฮยีน่าได้อย่างน่าสนใจทีเดียว 

เมื่อพูดถึงไฮยีน่า เชื่อว่าหลายๆ คนย่อมคิดถึงเสียงหัวเราะแห้งๆ และท่าทางเจ้าเล่ห์ของสามสหาย Sensi Bunsai และ Ed ใน The Lion King เป็นแน่ ทว่าไฮยีน่าที่ Baynes-Rock พบที่เมือง Harar กลับแตกต่างออกไป เพราะไม่เพียงแต่ชาวบ้านในเมืองจะไม่ได้หวาดกลัวไฮยีน่า หรือมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตอันตรายเท่านั้น แต่พวกเขากลับยินดีจะให้ไฮยีน่าได้เข้ามาคุ้ยเขี่ยอาหารในเมืองยามพลบค่ำอย่างเป็นเรื่องปกติ 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ไม่เพียงแค่ชาวบ้านในเมืองจะให้ความเคารพต่อเหล่าไฮยีน่าเท่านั้น แต่น่ามหัศจรรย์ที่สิ่งมีชีวิตสายพันธ์ุนี้ก็คล้ายจะสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างขึ้นมา และเคารพรักษาอย่างเคร่งครัดทีเดียวครับ กฎเกณฑ์ที่ว่าการที่ไฮยีน่าระหว่างฝูงจะงดเว้นการต่อสู้ระหว่างกันเมื่อพวกมันก้าวเข้าสู่พื้นที่ของเมือง Harar ราวกับว่าไฮยีน่าก็พร้อมที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนในทันที น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อ Baynes-Rock ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านเองยังให้ความเคารพไฮยีน่าประหนึ่งมนุษย์ด้วยกัน โดยเขาได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ซึ่งมีไฮยีน่าตัวหนึ่งเกิดถูกสารพิษเข้า แต่แทนที่ชาวบ้านจะปล่อยให้ตายไป พวกเขากลับพยายามจะช่วยเหลือไฮยีน่าตัวนั้นเต็มที่ ผ่านกระบวนการถอนพิษแบบพื้นบ้าน ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการอ่านถ้อยคำจากคัมภีร์อัลกุรอาน (ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม) ซึ่งภาพเหตุการณ์เช่นนี้โดยปกติเราจะพบเห็นแค่กับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น

Baynes อธิบายว่า ชาวบ้านและไฮยีน่าต่างได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน นั่นคือ ไม่เพียงแต่ไฮยีน่าจะช่วยให้เมืองสะอาดผ่านการกินเศษซากอาหารของมนุษย์เท่านั้น แต่พวกเขายังเชื่อว่าไฮยีน่าสามารถมองเห็นและไล่จับ ‘ญิน’ วิญญาณร้ายที่จ้องจะทำร้ายมนุษย์ได้ กล่าวคือ การมีไฮยีน่าเดินท่อมๆ อยู่ในเมืองยามค่ำช่วยให้ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัยขึ้นนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับไฮยีน่าในเมือง Harar แห่งนี้เกิดขึ้นในหลายระดับ ไม่ว่าจะในแง่ของความศรัทธา หรือการที่ไฮยีน่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบเมือง และซึ่งทั้งคนและสัตว์ก็ไม่ได้รู้สึกถึงอันตราย หรือจ้องจะทำร้ายอีกฝ่ายแต่อย่างใด หากยินดีจะใช้พื้นที่ร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์ที่สิ่งมีชีวิตทั้งสองสายพันธ์ุต่างจะเคารพร่วมกัน

ย้อนกลับมาที่ Fox 8 น่าสนใจทีเดียวครับว่าคำถามที่ Saunders ตั้งผ่านหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ ที่ว่า “จะเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นจะอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” กรณีของชาวบ้านแห่งเมือง Harar ได้สะท้อนภาพที่น่าสนใจทีเดียว ลองนึกถึงสภาพอากาศที่ไม่แน่ไม่นอนในทุกวันนี้ นึกถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงทุกปี นึกถึงอุณหภูมิโลกที่พุ่งขึ้นอย่างไม่มีท่าว่าจะหยุด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลกระทบจากการที่มนุษย์เราหมกมุ่นอยู่แต่กับการผลิตเพื่อสนองตัวเราเอง โดยหลงลืมที่จะคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอีกนับไม่ถ้วนสายพันธ์ุบนโลกใบนี้ที่บ้างก็อ่อนแอลง บ้างก็อดตาย และบ้างก็สูญพันธ์ุไปอย่างน่าเศร้า

ลองคิดดูสิครับว่า ในโลกปัจจุบันที่นับวันธรรมชาติมีแต่จะเสื่อมสลายลงไป หากสิ่งมีชีวิตสักชนิดหนึ่งเกิดจะสื่อสารกับมนุษย์ได้ขึ้นมา พวกเขาจะบอกกับเราว่าอะไร หากถามผม ผมเองก็ไม่รู้หรอกครับ แต่อย่างน้อยๆ ก็พอจะเดาได้ว่าคงไม่ใช่เรื่องที่น่าฟัง หรือชวนให้ภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นมนุษย์สักเท่าไหร่

AUTHOR