My Name is Red หนังสือว่าด้วยเสียงเล่า และความไม่สัตย์ซื่อของประวัติศาสตร์

หากใครที่เคยได้อ่าน Game of Thrones ฉบับนิยาย คงจะพอคุ้นเคยกับลักษณะการดำเนินเรื่องที่เล่าผ่านเสียงของตัวละครหลายๆ ตัว ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับมุมมอง น้ำเสียง หรือเรื่องราวของตัวละครใดๆ แค่เพียงหนึ่ง แต่เลือกจะกระโดดไปรับฟังเสียงเล่าของตัวละครอื่นๆ ในเรื่องต่อเหตุการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่

เพียงแต่ใน Game of Thrones George R.R. Martins เลือกจะเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่สาม นั่นคือเขาไม่ได้พาผู้อ่านดำดิ่งไปอยู่ในสำนึกหรือกระแสคิดของตัวละครในเรื่อง เรื่องราวของ Game of Thrones จึงยังเป็นลักษณะของการเล่าให้ฟังมากกว่า ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้อ่านต้องมีส่วนร่วม หรือชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลใดๆ ที่ได้รับจากตัวละคร พูดอีกอย่างคือ ความจริงของ Game of Thrones ปรากฏให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างชัดเจน หรือถ้าตัวละครใดๆ คิดจะโกหกหรือพูดไม่ซื่อ พวกเขาก็จะทำไปโดยไม่ตระหนักว่า ตัวเองเป็นเพียงตัวละครสมมติ ที่กำลังถูกอ่านอยู่อีกทีหนึ่ง

อ่านถึงตรงนี้คุณอาจงงว่าผมพูดถึง Game of Thrones ทำไม นั่นก็เพราะว่า My Name is Red นวนิยายเรื่องสำคัญของ Orhan Pamuk นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลชาวตุรกี ก็ดำเนินเรื่องผ่านกลวิธีคล้ายๆ กันนี้ หากไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก่อนจะไปพูดกันถึงเรื่องนั้น ผมขอเล่าเรื่องราวของ My Name is Red อย่างสั้นๆ เผื่อใครยังลังเลอยู่ว่าจะอ่านนิยายเล่มนี้ดีไหม

My Name is Red พาเราย้อนกลับไปยังจักรวรรดิออตโตมัน ใน .. 1591 ภายใต้การปกครองของสุลต่านมูรัตที่สาม ที่ความเป็นตะวันตกค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในสังคมแห่งนี้ ทว่าไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมอ้าแขนรับความเป็นตะวันตกอย่างยินดี ด้วยหลายๆ สายตา (โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง) มองว่าสิ่งใหม่ที่คืบคลานเข้ามาจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของจักรวรรดิออตโตมัน แต่ไม่เพียงในสนามของนักปกครองเท่านั้นที่เกิดความขัดแย้ง ด้วยในโลกศิลปะเองก็เกิดการปะทะกันระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่อย่างรุนแรง จนนำไปสู่เหตุการณ์ฆาตกรรมซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของนวนิยายเล่มนี้

My Name is Red เริ่มต้นบทแรกด้วยการเล่าเรื่องของศพร่างไร้ชีวิตของศิลปินนาม ‘Elegant Effendiที่ถูกใครสักคนฆ่า ทุบหัวและใบหน้าจนแหลก ก่อนจะโยนเขาลงสู่ก้นบ่อน้ำ เพราะไม่ทันเห็นใบหน้าฆาตกร ศพของ Elegant Effendi จึงไม่รู้ว่าใครคือคนที่ดับชีวิต จากจุดนี้เองที่ปามุกก็ได้พาเราเดินเข้าสู่โลกของการสืบสวน เสาะหาว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าศิลปิน และอะไรคือสาเหตุของการฆาตกรรม

ฟังดูก็เหมือนพล็อตนวนิยายนักสืบดีๆ สักเรื่องหนึ่งนะครับ เพียงแต่เรื่องราวของ My Name is Red นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะเล่าย่อๆ ได้อย่างครบถ้วน ด้วยปามุกไม่เพียงสนใจแค่ประเด็นฆาตกรรมเท่านั้น แต่ผ่านหน้ากระดาษเกือบหกร้อยหน้า สิ่งที่เราได้ซึมซับระหว่างทางคือ การถกเถียงกันระหว่างสองขั้วความคิด ที่ฝั่งหนึ่งก็คิดว่าความเป็นตะวันตกจะนำมาซึ่งอันตราย แต่อีกฝ่ายก็คล้ายจะเชื่อว่า ความรู้ใหม่ๆ จะมาช่วยจุดประกายความคิด และสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมออตโตมัน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจใน My Name is Red คือการถกเถียงกันระหว่างศิลปิน ที่มองว่าเทคนิคทางศิลปะแบบตะวันตกจะเป็นภัยต่ออิสลาม กล่าวคือ ในฝั่งของศิลปินมุสลิมอนุรักษ์นิยม พวกเขามองว่า เทคนิคการจัดวางภาพให้มีทัศนมิติ (linear perspective) ที่พัฒนาขึ้นโดยศิลปินในยุคเรอเนซองซ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมจริงให้กับภาพ จะเป็นการท้าทาย และพยายามจะช่วงชิงอำนาจของพระเจ้าในฐานะของผู้สร้างสรรพสิ่ง พวกเขามองว่า ศิลปินไม่ควรจะพาตัวเองไปทัดเทียมกับพระเจ้าในแง่ของการสร้างสิ่งเสมือนจริง พูดอีกอย่างคือ เทคนิคแบบทัศนมิติ คือตัวอย่างความอหังการของมนุษย์ที่จะไม่เชื่อฟังพระเจ้านั่นเอง

กลับมาเรื่องเทคนิคการเล่าผ่านเสียงของตัวละครหลายๆ ตัวที่ผมได้เกริ่นไป My Name is Red เองก็เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องผ่านคำพูด และความคิดของตัวละครที่หลากหลายเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าความน่าสนใจหนึ่งที่สังเกตได้ทันทีคือ ในบรรดาตัวละครที่ปามุกคัดสรรมาให้เป็นผู้เล่า ไม่ใช่ทุกตัวละครจะเป็นมนุษย์เสมอไป เห็นได้จากการที่เขาเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้จากเสียงของศพ ที่ดูไม่มีประสิทธิภาพในการจะเล่าอะไรได้เลย ทว่าปามุกก็เลือกที่จะหยิบยื่นน้ำเสียงให้กับตัวละครนี้ได้เล่าเรื่องจากพื้นที่หลังความตาย และได้แบ่งปันข้อมูลที่เขามีให้กับคนอ่าน แต่พ้นไปจากศพ นวนิยายเล่มนี้ก็ยังมีผู้เล่าประหลาดๆ อย่างมัจจุราช สุนัข สี หรือกระทั่งเหรียญทอง (ใช่ครับ เหรียญทอง) รวมอยู่ด้วย

หากใช้ศัพท์ทางวรรณกรรม เราสามารถเรียกเทคนิคการสับเปลี่ยนผู้เล่าไปเรื่อยๆ ใน My Name is Red ว่า multiperspectivity (หรือ polyperspectivity) นั่นคือการนำเสนอมุมมองที่หลากหลายให้กับผู้อ่าน โดยไม่ได้ยึดติดอยู่กับเรื่องเล่าของใครเพียงคนเดียว แต่ในขณะที่ Game of Thrones เลือกจะเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่สาม My Name is Red กลับเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ปามุกพาผู้อ่านเข้าไปใกล้ชิดกับตัวละครมากขึ้น ได้รับรู้ และรับฟังเรื่องราวผ่านคำบอกเล่าที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยที่ผู้อ่านเองก็ถูกเรียกร้องให้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว นั่นเพราะไม่ใช่ทุกคำบอกเล่าในนวนิยายเรื่องนี้จะเป็นความจริงเสียทั้งหมด คำโกหก และความไม่สัตย์ซื่อล้วนปรากฏอยู่เรื่อยๆ ในคำพูดของตัวละครต่างๆ และเพราะเหตุนี้เอง เรื่องราวของ My Name is Red จึงยิ่งซับซ้อนขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อใคร เราไม่อาจวางใจได้กับคำพูดของใคร เพราะไม่มีตัวละครใดในเรื่องเป็นเจ้าของเรื่องเล่าที่จริงแท้ หรือรับรู้เรื่องราวทั้งหมดอย่างทะลุปรุโปร่ง พวกเขาต่างเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ของปริศนาฆาตกรรมนี้

จุดหนึ่งที่ทำให้ My Name is Red ต่างไปจาก Game of Thrones คือตัวละครในเรื่องตระหนักว่าพวกเขาเป็นเพียงตัวละคร และกำลังถูกอ่านอยู่โดยคนอื่น ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ (postmodern literature) ที่ตัวบท หรือตัวผู้เล่าจะรับรู้ถึงบทบาท และสถานะของตัวเอง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีอำนาจที่จะต่อรองและตอบโต้กับผู้อ่าน ผ่านคำโกหก เรื่องราวที่วางใจไม่ได้ หรือกระทั่งการที่ตัวละครมีสิทธิตัดสินใจที่จะไม่เล่าในสิ่งที่เขาต้องการจะปกปิดผู้อ่าน

multiperspectivity ยังสอดรับกับโครงสร้างของนวนิยายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะเมื่อ My Name is Red คือการย้อนเวลากลับไปในอดีต การเลือกจะประกอบสร้างเรื่องราวทั้งหมดผ่านน้ำเสียงที่หลากหลายจึงสะท้อนธรรมชาติของการศึกษาประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี นั่นเพราะในกระบวนการขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ใดๆ เราย่อมไม่อาจเชื่อและวางใจแค่กับหลักฐานเพียงชิ้นสองชิ้น หากจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายๆ แหล่งที่มา โดยไม่ปักใจเชื่ออย่างเร่งรีบ หรือตัดสินอะไรอย่างฉาบฉวยจนเกินไป

My Name is Red คือนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ ผ่านการเรียกร้องให้ผู้อ่านใจเย็นๆ กับเนื้อหา อย่างที่แม้สุดท้ายต่อให้พวกเขาพบว่า บางเรื่องที่เข้าใจว่าจริง จะเป็นแค่คำโกหกเท่านั้น หากนั่นก็เป็นเรื่องปกติของการพยายามศึกษาและเข้าใจอดีต พูดอีกอย่างคือปามุกชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการเชื่อเรื่องเล่าใดๆ อย่างสุดใจโดยไม่คิดจะสงสัย หรือตั้งคำถาม และกับดักที่ปามุกวางไว้อย่างแนบเนียนในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการย้ำเตือนให้เราคิดทบทวนว่า บางเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อกันว่าจริง อาจเป็นแค่คำโป้ปดที่ดูสมจริงก็เป็นได้

ไม่ต้องมองไปไหนไกล แค่กับตำราประวัติศาสตร์ที่เราเคยเรียนกันในสมัยประถมมัธยมนี่แหละครับ จำกันได้ไหมว่าเคยได้อ่านอะไรกันไปบ้าง มีกี่เรื่องกันที่ยังคงตกค้างอยู่ในสามัญสำนึกของเราจนถึงทุกวันนี้ ลองนึกดูว่ามีตำนานหรือวีรกรรมอันห้าวหาญของใครบ้างที่เรายังจดจำได้อย่างแม่นยำแม้จะผ่านมาไม่รู้กี่ปี คำถามคือ เรามั่นใจแค่ไหนว่าสิ่งที่รับรู้มานี้ไม่ใช่เรื่องโกหก?

ในทางหนึ่ง แม้ประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบัน และมองเห็นบริบททางสังคมในมุมมองที่กว้างขึ้น แต่เช่นกันที่ประวัติศาสตร์เองก็พร้อมจะกลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจได้ง่ายๆ หากเราไม่ระมัดระวัง ไม่คิดจะไต่ถาม และพร้อมจะปักใจเชื่ออะไรโดยทันที ลองมาเดากันเล่นๆ ไหมครับว่า ในตำราประวัติศาสตร์บ้านเรา จะมีเรื่องเล่าที่ไม่สัตย์ซื่ออยู่สักแค่ไหนกัน?

AUTHOR