ลองคิดภาพตามนะครับ สมมติว่านวนิยายเรื่องดังอย่าง The Lord of the Rings ไม่ได้มีฉากหลังเป็นยุโรปหรือนิวซีแลนด์อย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่กลับเป็นในผืนแผ่นดินรกร้างห่างไกล และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง ‘แอฟริกา’ คุณคิดว่าเรื่องราวของ The Lord of the Rings จะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน
Black Leopard Red Wolf คือนวนิยายเรื่องล่าสุดของ Marlon James นักเขียนชาวจาเมกา เจ้าของรางวัล Man Booker Prize ประจำปี 2015 จาก A Brief History of Seven Killings หนังสือที่เล่าถึงแผนการพยายามลอบสังหาร ‘Bob Marley’ ศิลปินเร็กเก้ผู้โด่งดัง สี่ปีผ่านไป เจมส์กลับมาอีกครั้งพร้อมงานเขียนเล่มใหม่ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากผลงานที่ผ่านมา ด้วยเพราะ Black Leopard Red Wolf เล่มนี้คือวรรณกรรมผจญภัย–แฟนตาซี ที่มีแอฟริกาเป็นฉากหลังนั่นเองครับ
Black Leopard Red Wolf เริ่มต้นเรื่องราวด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “เด็กตายไปแล้ว ไม่มีอะไรต้องรู้ไปมากกว่านี้” ทว่าตลอดความหนากว่า 620 หน้าของหนังสือเล่มนี้ เจมส์ก็ได้พาเราไปพบคำตอบว่า เด็กที่ตายไปแล้วคนนี้คือใคร มีความสำคัญอย่างไร แล้วทำไมเราถึงไม่ควรรู้อะไรมากไปกว่าข้อเท็จจริงนี้ ผ่านตัวละครเอกนาม ‘Tracker’ (นักสะกดรอย) เด็กหนุ่มผู้มีจมูกวิเศษ ที่แค่เพียงได้ดมกลิ่นตัวของใครสักครั้ง ก็สามารถติดตามค้นหาเจ้าของกลิ่นตัวนั้นได้ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลสักแค่ไหน ซึ่งเจมส์ได้บอกเล่าเรื่องราวของภารกิจในการค้นหา ‘เด็กคนหนึ่ง’ ผู้หายสาบสูญไปเมื่อสามปีก่อน
Tracker ไม่ได้ดำเนินภารกิจนี้โดยลำพัง เพราะก็คล้ายๆ กับ The Lord of the Rings หรือนวนิยายแฟนตาซีในอดีตหลายๆ เรื่องที่เราคุ้นเคย คือภารกิจนี้ได้รวบรวมกลุ่มตัวละครประหลาดๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น ชายผู้สามารถแปลงร่างเป็นเสือดาวได้ เพียงแต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า แม้ตัวละครต่างๆ จะล้วนมีเป้าหมายในการค้นหาเด็กคนนี้ให้พบ ทว่าความสำคัญของเด็กคนนี้กลับไม่เคยถูกพูดถึงอย่างชัดเจน กล่าวคือ ตัวละครในเรื่องต่างก็ไม่แน่ใจว่าเด็กคนนี้เป็นใคร ไม่รู้ว่าเขาหายตัวไปได้อย่างไร หรือถ้ามีตัวละครที่พอจะรู้อะไรเกี่ยวกับเด็กคนนี้บ้าง เขาก็เลือกจะปิดบังความลับนี้ไว้ นี่เองจึงเป็นจุดเด่นแรกที่ทำให้ Black Leopard Red Wolf ต่างออกไปจากนวนิยายแฟนตาซีหลายๆ เรื่อง นั่นคือ ‘ความไม่ชัดเจนในภารกิจ’ เจมส์ยั่วล้อคนอ่านผ่านความสับสนของ Tracker เอง ที่แม้ว่าเขาจะเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ทว่าเขาเองก็สับสนไม่ต่างกับคนอื่นๆ เขามีเป้าหมายที่ต้องบรรลุภารกิจให้ลุล่วง แต่ในขณะเดียวกันเขากลับไม่รู้เลยว่า เขาทำสิ่งนี้ไปเพื่อจุดประสงค์อะไร
อย่างที่ได้เล่าไว้ว่า Black Leopard Red Wolf เริ่มต้นด้วยประโยคที่บอกคนอ่านอย่างชัดเจนว่า “เด็กตายไปแล้ว” ใช่ครับ ‘เด็ก’ ในที่นี้คือคนเดียวกับ ‘เด็ก’ ในภารกิจของ Tracker นั่นเท่ากับว่า นิยายจงใจบอกคนอ่านตั้งแต่ต้นว่า ภารกิจของ Tracker จะไม่สำเร็จ และเด็กผู้หายสาบสูญไปคนนี้ ไม่ว่าจะถูกค้นพบหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เขาได้ตายไปแล้ว นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ส่งให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างออกไป ลองนึกดูสิครับว่า มีนวนิยายแฟนตาซีสักแค่ไหนกันเชียว ที่เลือกจะบอกตอนจบกับคนอ่านตั้งแต่ประโยคแรก แถมยังเป็นตอนจบที่ประกาศชัดกันโต้งๆ ว่า พระเอกของเราจะล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ แล้วอย่างนี้จะควรค่าอะไรต่อการอ่านอีกล่ะ
ตรงนี้เองที่เจมส์ได้ท้าทายต่อขนบที่ว่า ‘ทุกๆ การผจญภัยจะสิ้นสุดลงที่ความสำเร็จ’ และ ‘ฮีโร่ในเรื่องจะค้นพบตัวเองผ่านการเดินทางอันยาวนานนี้’ แต่ Black Leopard Red Wolf กลับเสนอความเป็นไปได้อื่นที่ต่างออกไป เพราะไม่เพียงแค่ภารกิจในเรื่องจะล้มเหลวไม่เป็นท่าเท่านั้น แต่ Tracker เองยังเป็นตัวละครที่ไม่ได้ก้าวข้ามหรือพัฒนาไปสู่ตัวตนที่ดีกว่าอะไรพวกนั้น เขากลับพบแต่ความล้มเหลว สับสน สิ้นหวัง และโทสะ Tracker ไม่ได้ค้นพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และแม้ว่าภารกิจจะสิ้นสุดลง แต่ชีวิตของเขาก็จะยังมืดมิด มอดหวัง และน่าเศร้าต่อไป พูดอีกอย่างคือเจมส์ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกการทุ่มเทในชีวิตจะนำมาซึ่งความสำเร็จอันสวยสดงดงาม แต่อาจเป็นความพังพินาศที่เฝ้ารออยู่ ณ จุดสิ้นสุดของความพยายามแทบเป็นแทบตายของเรา
อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงจะเริ่มสงสัยว่า แล้วหนังสือเล่มนี้น่าอ่านตรงไหน? ทำไมถึงต้องมาเสียเวลาอ่านนวนิยายที่ชวนจะหดหู่แบบนี้กัน? แต่ผ่านเรื่องราวการผจญภัยของ Tracker ที่เจมส์ได้สอดแทรกตำนานและปกรณัมแอฟริกันอยู่เรื่อยๆ และซึ่งความน่าสนใจไม่เพียงจะอยู่แค่กับตำนานของภูมิภาคที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รับรู้เท่านั้น แต่เจมส์ยังเขียน Black Leopard Red Wolf ในลักษณะโครงสร้างภาษาแบบมุขปาฐะ กล่าวคือ เขาให้ความสำคัญกับจังหวะ ท่วงทำนอง และการร้อยเรียงประโยคในระดับที่ว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้เงียบๆ ในใจ กับการอ่านโดยเปล่งเสียงออกมา จะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะ Black Leopard Red Wolf ถูกเขียนขึ้นภายใต้วิธีคิด และไวยากรณ์ของการอ่านออกเสียงนั่นเอง
สำหรับเจมส์ แอฟริกาคือดินแดนชายขอบที่มักจะถูกหลงลืม โดยเฉพาะในโลกของวรรณกรรมผจญภัย–แฟนตาซี ที่มักจะหยุดนิ่งอยู่กับฉากหลังของทวีปยุโรปเท่านั้น Black Leopard Red Wolf จึงคือความพยายามที่จะถางพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับนวนิยายแนวนี้ เพื่อจะไม่ยึดติดอยู่แต่กับคติความเชื่อแบบยุโรป โยกย้ายความสนใจมาสู่ภูมิภาคอื่นที่มักจะถูกมองข้ามอยู่บ่อยๆ ทั้งที่แอฟริกาเองก็รุ่มรวยไปด้วยตำนาน และประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนซึ่งพร้อมจะมอบลมหายใจและจินตนาการใหม่ๆ ต่อโลกของวรรณกรรมแฟนตาซี ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง เจมส์กล่าวไว้ว่า
“ในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนผิวสีพลัดถิ่น ผมสนใจเป็นพิเศษกับเรื่องราวที่พ้นไปจากความเป็นทาส ผมเหนื่อยที่ประเด็นนี้มักถูกมองในฐานะของอดีตที่ห่างไกลที่สุดที่เราจะไปถึงได้ ประหนึ่งว่าเรื่องราวของการต่อสู้ และผู้วิเศษไม่ใช่สิ่งที่เราจะเข้าถึงได้เลย”
แต่พ้นไปจากเรื่องนี้ อีกประเด็นอันเป็นความปวดหัวอันน่ารื่นรมย์ของหนังสือเล่มนี้ คือสถานะของ ‘ความจริง’ ในเรื่องที่เลื่อนไหลเรื่อยไป และไม่เคยจะหยุดนิ่งตายตัวครับ ความจริงใน Black Leopard Red Wolf เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างประโยคที่ว่า “ความจริงจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อชายคนเดิมพูดถึงเรื่องเดิม เป็นครั้งที่สอง” เช่นกันที่บางครั้ง ‘ความจริง’ ที่ตัวละครหนึ่งๆ เชื่อว่ากำลังเผชิญอยู่นั้น อาจเป็นสภาพความเป็นจริงที่เป็นผลลัพธ์จากอาการจิตหลอนชั่วขณะหนึ่งซึ่งเขาอาจไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เมื่อเจมส์ท้าทายกับ ‘ความพยายามที่จะประกอบสร้างความจริง’ ภายใต้บริบท พื้นที่ สถานะ และอคติของตัวละครที่ย่อมจะแตกต่างกันไป คำถามคือ เช่นนี้แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่ความจริงจะคือสภาวะที่จะหยุดนิ่ง ตายตัว และไม่เปลี่ยนแปลง? และกับความจริงที่เราเชื่อต่อๆ กันมาว่าจริง ก็อาจเป็นเพียงแค่คำโป้ปดของใครสักคนหนึ่งที่อาจเพราะอำนาจหรือแค่ความบังเอิญ ก็เลยถูกยอมรับและจดจำมากกว่าความจริงอื่นๆ ก็เท่านั้น
Black Leopard Red Wolf เป็นเพียงนวนิยายเล่มแรกในไตรภาค ‘Dark Star Trilogy’ ซึ่งความน่าสนใจก็คือ อีกสองเล่มที่จะตามมาไม่ได้เป็นการขยายไปสู่การเดินทางใหม่ๆ แต่อย่างใด หากเลือกจะบอกเล่าเรื่องราวเดิมๆ ในเล่มแรก เพียงแต่เปลี่ยนจากคนเล่าคนเดิม ไปสู่คนเล่าคนอื่น คล้ายๆ กับเรื่องสั้น ในป่าละเมาะ หรือ ราโชมอน นั่นแหละครับ ที่แค่เปลี่ยนผู้เล่าใหม่ เรื่องราวก็กลับจะตาลปัตรไปคนละทิศละทาง
สำหรับผม นี่เองถือเป็นอีกความพยายามหนึ่งของเจมส์ที่จะท้าทายขนบธรรมเนียมของการเขียนนวนิยายผจญภัย–แฟนตาซีที่มักจะมองว่า ‘การเปลี่ยนเล่ม’ คือการนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้อนเล่าถึงอดีตที่ไม่เคยปรากฏ หรือผลักพาเนื้อเรื่องให้ดำเนินต่อไป หากทั้งหมดต่างวางอยู่บนฐานคิดที่เชื่อว่า ‘หนังสือเล่มใหม่ จะต้องมาพร้อมเรื่องราวใหม่ๆ’ และแม้ว่าตอนนี้เจมส์จะเริ่มเขียนเล่มสองไปแล้ว ทว่าอย่างน้อยๆ คงอีก 2-3 ปีกว่าที่เราจะได้พิสูจน์กันว่า ‘การเล่าเรื่องเดิมผ่านตัวละครใหม่’ จะเวิร์กหรือเปล่า แต่จนกว่าจะถึงวันนั้น ใครที่อยากลองรสชาติใหม่ๆ ของวรรณกรรมผจญภัย–แฟนตาซี ลองหา Black Leopard Red Wolf มาอ่านดูสิครับ รับรองว่านวนิยายเล่มนี้จะอัดแน่นไปด้วยความแปลกใหม่ที่ไม่น่าจะมีใครคุ้นเคยแน่นอน