Running Insider : เพจเล่าเรื่องวิ่งที่มีความสนุกเป็นแรงขับเคลื่อน

Highlights

  • Running Insider คือเพจเล่าเกี่ยวกับการวิ่งของ บุ๊ย–มนตรี บุญสัตย์ มีข้อมูลเชิงลึก เรื่องราวนักวิ่งที่อ่านสนุก จะชอบวิ่งหรือไม่ค่อยชอบวิ่งก็อ่านสนุก
  • บุ๊ยได้แรงบันดาลใจในการทำเพจจากการอยากเป็นนักเขียนเรื่องวิ่งโดยเฉพาะ และเปิดเพจมาเป็นเวลา 6 เดือนด้วยกัน โดยมียอดผู้ติดตามกว่า 47,000 คน
  • เขาทำงานแบบไม่มีกฎกรอบตายตัว ขับเคลื่อนจากความสนใจในช่วงเวลานั้น เขียนแล้วโพสต์แทบจะในทันที ทำให้เรื่องราวมีความสดใหม่
  • ความสำเร็จของการทำเพจไม่ได้มาจากยอดไลก์ แต่มาจากการมีพื้นที่สำหรับเขียนเรื่องราวที่ชื่นชอบ บุ๊ยเชื่ออย่างนั้น

เมื่อตื่นเช้ามา สามเรื่องที่เราคิดถึงมากที่สุดคืออะไร

การออกเดินทาง ต้นไม้ อาหาร ฟุตบอล เกม ฯลฯ คำตอบที่ได้นั้นหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามความสนใจของแต่ละคน

สำหรับ บุ๊ย–มนตรี บุญสัตย์ นักเขียนฟรีแลนซ์วัยสามสิบปลายๆ หนึ่งในคำตอบที่เขาพูดออกมาได้แทบจะทันทีคือการวิ่ง

เช่นเดียวกับนักวิ่งอีกจำนวนมาก ความสุขในทุกๆ วันของชายหนุ่มคือการออกไปวิ่ง วางแผนการลงแข่งมาราธอนปีละ 3 งาน แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากนักวิ่งคนอื่นคือ การเขียนเรื่องวิ่ง

Running Insider เป็นเพจเฟซบุ๊กที่เกิดจากความอินและแพสชั่นที่แรงกล้าในการวิ่งของบุ๊ย เมื่อเข้าไปในเพจ มีตั้งแต่เรื่องราวบันดาลใจของนักวิ่งทั่วโลก เรื่องเล่าสนุกๆ จากมาราธอนรายการต่างๆ สถานที่ซ้อมวิ่ง เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการวิ่ง ซึ่งเรื่องทั้งหมดถูกเล่าออกมาในภาษาที่อ่านง่าย เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งหรือคนยังไม่เคยวิ่งก็อ่านสนุก การันตีด้วยยอดผู้ติดตามจำนวนกว่า 47,000 คน ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งปี

ด้วยอยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันในการขยันอัพเพจทุกๆ วัน เราจึงชักชวนบุ๊ยมานั่งคุยกันถึงวิธีคิดในการทำเพจ Running Insider กันดูสักที

Create a page

อันที่จริงเพจ Running Insider ไม่ใช่การทำเพจครั้งแรกของบุ๊ย

ก่อนหน้านี้ 2 ปี เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง จากการชักชวนของเพื่อนที่เห็นเขาเขียนเรื่องราวการวิ่งต่างๆ ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวและมีเสียงตอบรับที่ดี แต่เมื่อเพจ ThaiRun เติบโตขึ้นก็มีทิศทางในการเป็นพื้นที่รวบรวมและประชาสัมพันธ์งานวิ่งต่างๆ ในประเทศไทย รวบรวมภาพถ่ายจากงานวิ่ง มีความเป็นองค์กรที่ชัดเจน

แต่ในทีแรก ความคิดที่จะเปิดเพจของตัวเองก็ยังเป็นเรื่องไกลตัว

สิ่งที่สะกิดให้บุ๊ยเริ่มสนใจสร้างพื้นที่ในการเขียนเรื่องวิ่งอย่างจริงจังคือการเดินทางไปทำงานที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับแบรนด์รองเท้าเจ้าหนึ่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา และพบเจอกับสื่อที่ทำเรื่องวิ่งโดยเฉพาะ

“เราเคยทำงานนิตยสารมาก่อน เป็นนักเขียนสายคัลเจอร์ ก็จะต้องเขียนทั้งหนัง เพลง คอนเสิร์ต ไม่เจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง แต่พอเจอสื่อมวลชนอย่างนิตยสาร Runner’s World และอีกหลายสำนักชื่อดังอย่าง LetsRun, iRunFar เราทึ่งว่าเขาเขียนเรื่องวิ่ง ถ่ายภาพวิ่งอย่างเดียวก็ได้ แล้วพอได้ยินสิ่งที่คอลัมนิสต์ด้านวิ่ง เขาคุยกันว่า ตอนโอลิมปิกปีนั้น เขาอยู่ในโมเมนต์การทำลายสถิติของนักวิ่งคนนี้นะ มันทำให้เราขนลุกและตื้นตันใจ บวกกับเราได้เจอและพูดคุยกับ Deena Kastor นักวิ่งมาราธอนหญิงที่เร็วที่สุดของสหรัฐอเมริกา ก็รู้สึกเติมเต็มอย่างประหลาด”

ด้วยความอินในเรื่องวิ่ง และแรงบันดาลใจที่ได้รับ เพจที่ตั้งใจจะเล่าถึงข้อมูลการวิ่งต่างๆ อย่างลงลึก Running Insider จึงถือกำเนิดขึ้น

Write a post…

“โพสต์แรกของเพจเกิดขึ้นในวันที่คุณ John Volanthen พบหมูป่าอะคาเดมี่ทั้ง 13 คน” บุ๊ยเล่า

ท่ามกลางความดีใจจากการค้นพบนักฟุตบอลเยาวชนที่สูญหาย สิ่งที่ดึงดูดให้ชายหนุ่มสนใจสืบค้นข้อมูลและเขียนบทความแรกของเพจเกิดจากการได้ยินว่านักดำน้ำชาวอังกฤษที่ค้นพบตัวเด็กๆ เป็นนักวิ่งอัลตรามาราธอน

“เราเอาชื่อเขาไปค้นในเว็บไซต์รวบรวมรายชื่อนักวิ่งอัลตราเทรลทั่วโลก พบว่าเขาเป็นนักวิ่งอัลตราฯ จริงจังที่เคยวิ่งในรายการ Spartathlon ระยะทาง 246 กิโลเมตร ซึ่งผู้จะวิ่งรายการนี้ได้ต้องเคยผ่านการวิ่ง 100 กิโลเมตร ภายในเวลา 10 ชั่วโมงจากรายการอื่นมาก่อน เราเลยเขียนเรื่องนี้ลงเพจ”

เพราะกระแสของหมูป่าที่กำลังมาแรง โพสต์แรกของ Running Insider เลยดังเปรี้ยงปร้างและถูกแชร์ออกไปมากมาย มีผู้ติดต่อสัมภาษณ์บุ๊ยให้เล่าถึง John ในบทบาทนักวิ่ง ทำให้เขาเริ่มเห็นทิศทางการทำเนื้อหาในเพจมากขึ้น

ชายหนุ่มบอกว่า เขาไม่ได้มีการวางแผนที่ตีกรอบว่าวันไหนจะต้องโพสต์เรื่องอะไร ไม่มีการแบ่งเป็นคอลัมน์หรือหัวข้อ ทุกหัวข้อที่เขียนมาจากสัญชาตญาณความชอบและความสนใจในเวลานั้น เพราะเขารู้สึกว่าเพจคือตัวตนของตัวเอง หากพยายามยึดติดกับรูปแบบก็จะทำให้ฝืน ไม่สนุก ไม่ลื่นไหล ส่วนภาพอาร์ตเวิร์กที่ใช้โพสต์ก็มาจากการทำเองอย่างรวดเร็วผ่านโปรแกรม Keynote ในไอแพดโปร

“เราเคยเขียนตุนเอาไว้ แต่พอทำอย่างนั้นแล้วมันไม่สด ลองมาทุกวิธีแล้วว่าจะเขียนแบบไหน สุดท้ายได้ออกมาสองประเภท อย่างแรกคือเขียนเก็บไว้ใน Notepad ของโทรศัพท์มือถือและไอแพด เอาไปลงในดราฟต์แฟนเพจ ขัดเกลา ตั้งเวลาโพสต์ อย่างที่สองคือเปิดสเตตัสขึ้นมา เขียนให้เสร็จ แล้วโพสต์เลย”

Likes and Shares

จากคนเคยทำงานบนหน้ากระดาษมาสู่แฟนเพจเฟซบุ๊ก บุ๊ยจึงต้องปรับตัว

“เมื่อก่อนเวลาจะเขียนอะไรเราก็จะเปิดไมโครซอฟต์เวิร์ด เขียนพรรณนา กว่าจะเข้าเรื่องก็เป็นย่อหน้าที่สาม แล้วมันไม่เวิร์ก ยอดไลก์ยอดแชร์เปาะแปะ ตอนหลังเริ่มเข้าใจแล้วว่าเนื้อหากับแพลตฟอร์มต้องไปด้วยกัน เราควรเป็นน้ำที่ไหลเวียนไปตามภาชนะต่างๆ ได้ ทำวิดีโอ โฟโต้อัลบั้มบ้าง แล้วก็สนุกไปกับมัน”

หนึ่งในการแหวกรูปแบบเดิมๆ ของเขาคือการถ่ายทอดเฟซบุ๊กไลฟ์พากย์การวิ่งของ Eliud Kipchoge ในการแข่งขัน Berlin Marathon 2019 ที่ในทีแรกบุ๊ยตั้งมือถือเอาไว้ให้คนมาร่วมดูเฉยๆ แต่ด้วยแรงยุและคำขอจากแฟนเพจที่คอมเมนต์มาในไลฟ์ ทำให้เขาตัดสินใจพากย์สดๆ เอาเดี๋ยวนั้น จนทำให้มียอดเข้าชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากไม่กี่สิบคน กระโดดขึ้นไปทีละหลัก จนไปถึงกว่า 12,000 คน

“มีคอมเมนต์มาบอกว่า แอดมินอย่าเงียบสิ พากย์เลย ดูไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราก็ติดไมค์แล้วนั่งพากย์เลย ไม่ได้มีสคริปต์ในมือเพราะเราซึมซับข้อมูลมาหมดแล้วว่าเขาซ้อมที่ไหน โค้ชชื่ออะไร วิ่งงานนี้ปีที่แล้วสถิติเท่าไหร่ ใส่รองเท้าอะไร จะกินอะไรที่จุดพักไหน มีจังหวะหนึ่ง Kipchoge ดื่มน้ำไม่ทัน ขวดตก เราก็ใจหาย เสียงสั่นเครือ สะอื้นตาม อินเหมือนเขาเป็นคนในหมู่บ้าน”

จากเหตุการณ์นั้น เพจ Running Insider มียอดไลก์เพิ่มขึ้นถึง 5,000 กว่าคนภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน

แต่ใช่ว่าจะมีแต่คนนิยม เพราะในบางครั้งบุ๊ยก็เจอกับเสียงตอบรับในทางลบ เช่น การต่อว่าว่าข้อมูลที่เขาเขียนลงเพจสามารถหาอ่านได้จากในวิกิพีเดียหรือการเสิร์ชกูเกิล แต่ชายหนุ่มมองว่าแม้เขาจะค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาจริง แต่ทักษะการร้อยเรียงให้ออกมาเป็นเรื่องราวที่เขียนลงในเพจนั้นเป็นความสามารถของผู้เขียน และหากข้อมูลของเขาผิดพลาดตรงไหน เขาก็พร้อมจะแก้ไขและให้เครดิตแก่ผู้ที่เข้ามาทักท้วง

“เรื่องน่าประทับใจคือ เมื่อทำเพจที่เต็มไปด้วยข้อมูลลึกๆ ก็จะมีสไนเปอร์มายิงในจุดที่เราผิด พอพูดคุยกันบ่อยๆ เราก็ได้เพื่อนใหม่ที่รู้ลึก รู้จริง อินเรื่องเดียวกัน พบว่าคอนเทนต์มันสร้างชุมชนได้จริงๆ”

Insights

ความสำเร็จในการทำเพจไม่ได้อยู่ที่ยอดไลก์ แต่อยู่ที่การมีพื้นที่ให้ตัวเองได้เขียน บุ๊ยคิดอย่างนั้น

“ถ้าเราทำงานแล้วหวังยอดวิวไปเรื่อยๆ หวังให้มีคนแชร์ 200 ครั้งทุกวัน เราก็จะผิดหวังทุกวัน การได้เขียนสิ่งที่อยากเขียนออกไปให้เสร็จ มันเป็นความสุขแล้วเปลาะนึง แต่การได้แบ่งปันสิ่งที่ชอบให้คนที่ชอบเหมือนกัน มันยิ่งทำให้หัวใจพองโต”

ชายหนุ่มเล่าว่า ความฝันของการทำเพจ Running Insider ในเวลานี้คือการพาตัวเองไปงานโอลิมปิก Tokyo 2020 ไม่ว่าจะผ่านการลงทะเบียนผ่านหน่วยงานกลาง หรือไปด้วยตนเองก็ตาม

“ผมอยากไปยืนริมสนาม บอกลูกเพจว่า Yuta Shitara วิ่งมาแล้ว Yuki Kawauchi กำลังจะแซงแล้ว อยากพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ไม่ได้ทำเพราะยอดฟอลโลเวอร์ ยอดไลก์ ยอดแชร์ แต่เป็นความตั้งใจของเราเอง ถ้าทำได้จะรู้สึกดีมาก”


สำหรับบุ๊ย Running Insider เป็นงานหรืองานอดิเรก เราสงสัย

“มันเป็นงานในงานอดิเรก และงานอดิเรกในงานอีกที” เขาบอก ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า สำหรับคนทำคอนเทนต์ที่ค้นพบสิ่งที่รักแล้ว มันจะหลอมรวมไปกับทุกๆ ส่วนของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในตู้รองเท้าของเขาที่มีแต่รองเท้าวิ่ง เสื้อผ้าที่มีแต่สตรีทสปอร์ตใส่วิ่งได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปเที่ยว เขาก็จะเลือกที่พักใกล้สถานที่วิ่งไม่ว่าจะไปคนเดียวหรือไปกับครอบครัว ช่องยูทูบที่เขาติดตาม ผู้คนที่พบ กรุ๊ปไลน์ ทั้งการพักผ่อนและการทำงาน การวางแผนชีวิต 6 เดือนข้างหน้า ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องวิ่งไปเสียหมด

“ผมพิสูจน์กับตัวเองมาว่า 8 ปีที่วิ่งทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้น สุขภาพ ทัศนคติ สถานที่การวิ่งพาผมไป เลยเชื่อว่าการวิ่งเปลี่ยนแปลงคน เปลี่ยนแปลงโลกได้ และเรื่องราวของการวิ่งต้องมีคนเล่าออกไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้”

ไม่ใช่แค่เรื่องที่เขียนเท่านั้นที่ให้แรงบันดาลใจแก่คนอ่าน เพราะเรื่องราวการทำเพจของบุ๊ยก็ส่งต่อพลังได้ไม่แพ้กัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!