BananaRun : ร้านขายของวิ่งที่ทำให้การวิ่งเป็นเรื่องง่ายเหมือน ‘ปอกกล้วยเข้าปาก’

‘ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก’

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 สุภาษิต ‘ปอกกล้วยเข้าปาก’ หมายความว่า ง่าย สะดวก กล้วยเป็นผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ง่าย ปอกกล้วยเข้าปากจึงหมายถึงการทำอะไรที่ง่ายมากๆ เหมือนกับการปอกเปลือกกล้วย

การทดสอบสมรรถภาพร่างกายในวิชาพลศึกษาตอนมัธยมต้น เมื่อถูกบังคับให้วิ่งถึง 4 รอบสนามใหญ่ๆ เรามีอาการใจเต้นเร็ว หน้าแดง เหงื่อออก และเหนื่อยหอบจนไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ กลายเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจยามลองออกตัววิ่ง

เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าสุภาษิตไทยนี้จะนำมาใช้กับเรื่อง ‘วิ่ง’ ได้จริงๆ อย่างนั้นเหรอ

ย้ง–กำธร นทีธนสาร เป็นผู้ก่อตั้งเพจ เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย เพจให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิ่งที่ทำขึ้นมาตั้งแต่วันที่วงการวิ่งยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากเหมือนในตอนนี้ ย้งยังเป็นเจ้าของร้าน BananaRun : เรื่องอุปกรณ์วิ่ง เป็นเรื่องกล้วยๆ ร้านขายสารพัดอุปกรณ์สำหรับนักวิ่งอีกด้วย

การเริ่มต้นอาจจะยากเหมือนตอนตัดเครือกล้วยอันใหญ่ๆ ลงมาจากต้น แต่พอยกมันลงมาได้แล้วการจะหยิบกล้วยสักลูกมาปอกเปลือกกินก็คงไม่ยาก เหมือนกับการวิ่งที่ย้งตอบคำถามเราว่าทำไมเขาถึงมองว่ามันเป็นแค่เรื่องกล้วยๆ

ย้งเล่าให้เราฟังว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน แต่จุดที่ทำให้ย้งเลือกพาตัวเองออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเป็นเพราะเริ่มมีปัญหาสุขภาพ จากที่ตั้งใจจะวิ่งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ย้งกลับหลงใหลการวิ่งอย่างบ้าคลั่ง เขาหันมาสนใจอุปกรณ์การวิ่งอย่างนาฬิกาจีพีเอสที่ในตอนนั้นยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับนักวิ่งในบ้านเรา และนำพาตัวเขาเองเข้ามาสู่วงการวิ่งอย่างจริงจัง

เรื่องวิ่ง เรื่องกล้วย

“เมื่อ 8-9 ปีที่แล้วในเว็บบอร์ดมันมีข้อมูลเรื่องวิ่งอยู่น้อยมาก ต้องหาข้อมูลเอาจากหนังสือต่างประเทศ ผมก็ซื้อหนังสือต่างประเทศอะไรพวกนี้มาอ่าน จนไปเจอว่ามีโค้ชนักวิ่งคนหนึ่งอยู่ก็คือ
ครูดิน–สถาวร จันทร์ผ่องศรี ตอนนั้นก็เลยรวมกลุ่มที่เป็นเพื่อนๆ กัน ชวนครูดินมาเป็นโค้ชให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็เป็นทีมเริ่มต้นของสถาวรรันนิ่งคลับ พอเราเริ่มเรียนวิ่งอย่างจริงจังเราก็เลยคิดว่าอยากจะถ่ายทอดความรู้ออกไปให้คนอื่นๆ ด้วย

“เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย เป็นเพจแรกที่ทำกันขึ้นมากับกลุ่มเพื่อนนักวิ่ง คำว่ากล้วยมันมาจากเรื่องกล้วยๆ เราอยากให้คนรู้สึกว่าเรื่องวิ่งเป็นเรื่องกล้วยๆ เราทำพวกอินโฟกราฟิกสอนเรื่องวิ่ง ยุคนั้นในวงการวิ่งยังไม่มีข้อมูลอะไรพวกนี้เลย โพสต์หนึ่งของเรื่องวิ่งเรื่องกล้วยเคยเล่าว่าระยะมาราธอนมันไกลแค่ไหน ปกติคนเรารู้ว่า 42 กิโลเมตร แต่นึกภาพไม่ออกว่าจริงๆ แล้วมันไกลแค่ไหนล่ะ เราก็เลยทำภาพให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้าคุณออกจากสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงวิ่งตามทางบีทีเอสไปจนถึงหมอชิต นั่นคือ 10 กิโลเมตร แล้วถ้าวิ่งไปต่อจนถึงห้าแยกลาดพร้าวแล้ววิ่งตามถนนวิภาวดีไปจนถึงดอนเมือง นั่นคือ 21 กิโลเมตร แล้วถ้าวิ่งต่อไปจนถึงธรรมศาสตร์รังสิต อันนั้นคือ 42 กิโลเมตร คนก็จะมองภาพออกว่าระยะทางจากศาลาแดงไปถึงรังสิตคือ 42 กิโลเมตรนะ

“พอเรามีโอกาสได้จัดงานวิ่งก็เลยเลือกเส้นทางนี้ ใช้ชื่องานว่า Banana2U Run วิ่งจากจุฬาฯ ไปธรรมศาสตร์รังสิต หลังจากงานวิ่งงานนั้นก็เริ่มมีสินค้าเข้ามาเรื่อยๆ เราก็เลยทำร้านอุปกรณ์การวิ่งขึ้นมา จากขายออนไลน์ในตอนแรกก็ขยับมาทำหน้าร้าน ซึ่งก็คือ BananaRun : เรื่องอุปกรณ์วิ่ง เป็นเรื่องกล้วยๆ

“แต่ตอนนี้ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องวิ่งน้อยลง ผมมองว่าการให้ความรู้ที่ผิดร้ายแรงกว่าการไม่ทำอะไรเลย ในยุคนั้นความรู้เรื่องวิ่งมันน้อยมากๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเคยหาแล้วรวบรวมกันมามันเป็นความรู้ในวันนั้น แต่พอระยะหนึ่งที่วงการวิ่งเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ มีผู้เชี่ยวชาญที่เขารู้จริงมากขึ้น เรื่องที่เคยโพสต์ไปพอเราย้อนกลับไปอ่าน เราก็จะรู้ว่าบางอันมันไม่อัพเดตแล้ว บางอันเป็นความรู้ในวันนั้นแต่วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ผมก็เลือกที่จะไม่ลงไปแตะมันเท่าไหร่ อาจจะมีแชร์ความรู้จากอาจารย์ท่านนี้ท่านนั้นบ้าง ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องอุปกรณ์การวิ่งที่เราเชี่ยวชาญมากกว่า”

มองจากมุมของคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน แม้จะแอบกลัวแต่ก็อยากจะลองออกไปเริ่มต้นวิ่งดูบ้าง ตามความเข้าใจของเราอุปกรณ์การวิ่งหนึ่งที่สำคัญคือรองเท้า เราจึงอดถามย้งไม่ได้ว่ารองเท้าที่ดีสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นวิ่งอย่างเราต้องเป็นแบบไหน แต่คำตอบของย้งกลับทำให้เรารู้ว่ารองเท้าไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมองหาเป็นสิ่งแรก


หัวใจของการวิ่งคือต้องมีใจ

“ผมเพิ่งคุยเรื่องนี้เหมือนกันตอนไปเทรนนิงเวิร์กช็อป มีคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อนเข้ามาถามคำถามประมาณนี้แหละ ว่าต้องซื้อรองเท้าที่ดีที่สุดไหม จริงๆ หัวใจสำคัญที่สุดของการวิ่งคือคุณต้องมีใจที่ทำให้คุณรักในการวิ่งให้ได้ก่อน ถ้าคุณไม่รักในการวิ่งต่อให้คุณมีอุปกรณ์อะไรก็ตามคุณจะเลิกวิ่ง แต่ถ้าสมมติว่าคุณรักในการวิ่งเมื่อไหร่ต่อให้คุณยุ่งแทบตายยังไงคุณก็ต้องหาเวลาเพื่อมาวิ่งให้ได้

“ต้องบอกคนที่เริ่มต้นวิ่งก่อนเลยว่า 5 กิโลเมตรแรกในการวิ่งครั้งแรกของชีวิตคุณ จะใส่อะไรก็ได้ จะใส่รองเท้าผ้าใบนันยางมาวิ่งก็ยังได้ คุณไม่บาดเจ็บแน่นอน อย่าเพิ่งไปสนใจว่าจะใส่รองเท้าแบบไหน วิ่งตอนเช้าหรือตอนเย็น ออกไปวิ่งเถอะ อย่าเพิ่งไปสนใจอะไรแค่ออกไปวิ่งให้ได้ คอนเซปต์ของการเริ่มต้นวิ่งคือห้ามเหนื่อยเกินไป เพราะถ้าคุณเหนื่อยเกินไปเมื่อไหร่คุณจะเบื่อแล้วก็จะไม่วิ่ง ปวดเมื่อยเกินไปเมื่อไหร่ก็จะไม่วิ่ง คือยังไม่ต้องไปคิดอะไรมากแค่ไปลองเดินช้าสลับเดินเร็วดูก่อน

“ผมได้คอนเซปต์นี้มาจากหนังสือวิ่งสู่ชีวิตใหม่ของนายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เขาพูดว่าถ้าคุณเริ่มต้นวิ่งโดยไปวิ่งคือผิดเลยนะ ตอนที่ผมเริ่มวิ่งคือตอนที่อายุ 40 แล้ว ก็เลยไปเดินช้าสลับเดินเร็วดูก่อน แต่ต้องจับเวลา เดินช้า 2 นาที เดินเร็ว 2 นาที แล้วพอรู้สึกว่า เฮ้ย ไหวเว้ย ก็เปลี่ยนจากเดินเร็วเป็นจ็อกกิง ทำสลับกันไป วันหนึ่งทำให้ได้ 40-45 นาที พอเหงื่อออกนิดหน่อยค่อยกลับบ้าน ไม่จำเป็นต้องเหงื่อออกเยอะๆ หรือไม่ต้องคิดว่าฉันจะมาลดไขมัน ไม่ต้องสนใจ คุณทำแค่นี้แล้วคุณรู้สึกสดชื่นก็พอ ห้ามทำทุกวัน ทำวันเว้นวัน ทำทุกวันคุณก็จะเบื่อเหมือนกัน คุณทำอย่างนี้สัก 3 อาทิตย์ คุณจะมีความสุขมากกับการที่คุณออกไปวิ่งเพราะกลับมาคุณจะสดชื่น แล้วคุณจะเข้าใจว่า อ๋อ ทำไมคนถึงติดการวิ่ง

“วันหนึ่งพอคุณวิ่ง 5 กิโลเมตรได้ต่อเนื่อง มันจะเหมือนคุณพิชิตอะไรได้บางอย่าง พอวิ่ง 10 กิโลเมตรได้ก็จะเหมือนพิชิตยอดเขาอะไรได้สักอัน นั่นคือจุดนั้น พอคุณวิ่ง 5 กิโลเมตรได้ค่อยมานั่งคุยกันเรื่องเสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา เพราะตอนแรกผมก็ใช้นาฬิกาเข็มธรรมดา รองเท้าซื้อลดราคามา ไม่รู้เรื่องรองเท้าเลย แต่พอคุณเริ่มวิ่งแล้วคุณวิ่ง 5 กิโลเมตรได้ คุณจะเริ่มจับทางได้แล้วว่าเอาจริงๆ คุณอยากได้อะไรแบบไหน”

ถ้าย้อนกลับไปในปี 2530 งานวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดสะพานพระราม 9 นับเป็นจุดเริ่มต้นของ running boom ในประเทศไทย ต่อมาในปี 2555 ก็เกิดกระแสที่ทำให้ผู้คนมากมายออกตัววิ่งอีกครั้ง เพราะอยากจะเป็นเหมือนนิชคุณและสู่ขวัญ นักแสดงผู้รับบทเป็นนักวิ่งในภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน และเมื่อไม่นานมานี้กับโครงการก้าวคนละก้าวที่ปลุกให้วงการตื่นตัวขึ้นมากกว่าเดิม ดูเหมือนว่ากราฟกระแสความนิยมนี้จะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เลยทีเดียว

รันวงการ Running Boom

“ถ้าดูลูปของคนที่เข้ามาวิ่งแล้วมันเริ่มเฟดออกไปก็จะประมาณ 4-5 ปี นี่คือลูปของคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน พอการวิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว เขาอาจจะไม่ตื่นเต้นอะไรมาก วิ่งจนเป็นกิจวัตรเหมือนกินข้าวเหมือนไปดูหนังอะไรอย่างนี้ ก็มีทั้งคนที่เริ่มจะเฟดตัวกลับไปสู่ชีวิตปกติของเขาหรืออีกสายที่เข้าไปสู่อะไรที่จริงจังมากขึ้น

“กลุ่มนักวิ่งที่เคยอยู่มานานแล้วก็มองว่าวงการวิ่งมันบูมมากขึ้น ลองมองว่าเหมือนคนที่เข้าไปทำอะไรสักอย่างเป็นทีมแรกๆ แล้วพอวันหนึ่งมีคนตามเข้ามาอีกขบวน วัฒนธรรมหลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไป เขาก็อาจจะมีความเห็นกับบางเรื่องที่มันไม่โอเคเหมือนสมัยก่อน แต่กลุ่มนักวิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มากในตอนนี้ก็เป็นธรรมดาที่วัฒนธรรมบางอย่างจะเปลี่ยนไป

“จริงๆ ต้องบอกว่าผมเข้าใจในภาพรวมทั้งหมดนะเพราะว่าเด็กๆ ในร้านก็เป็นนักวิ่งรุ่นใหม่ แต่เราก็พยายามที่จะบาลานซ์ อย่างงานวิ่งที่เขาให้สมัครออนไลน์แล้วนักวิ่งรุ่นเก่าบางคนสมัครไม่ทัน เราก็พยายามอาสาว่าเราขอเป็นออฟไลน์ให้ได้ไหม นักวิ่งรุ่นเก่าจะได้มีโอกาสสมัครงานวิ่งใหม่ๆ บ้าง แต่ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็เข้าใจแหละ แล้วก็คงปรับตัวกันไป

“สำหรับ BananaRun เราคิดว่าจังหวะมันพอดีกับช่วงที่กระแสมันมาด้วย จริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเพราะจังหวะด้วยหรือเปล่า สมมติว่าเปิดมาแล้วมันไม่บูมเราก็ปิด แต่พอดีเปิดแล้วมันไปได้มันก็ไปต่อ ก็แค่นั้นเอง

“คือทุกๆ ธุรกิจมันมีกระแสขึ้นลงเป็นธรรมดาเหมือนน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าถามผมเองถึงกระแสของการวิ่ง มันจะลงก็ลง ไม่มีใครทันจริงๆ นะ กระแสมันขึ้นมันก็ขึ้น กระแสมันลงมันก็ลง ก็ตามนั้น เราก็ปรับตัวไปตามธุรกิจปกติ”

เราถามถึงวิธีการขายสินค้าและคำแนะนำในเรื่องวิ่งของย้ง มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยเดินเข้ามาที่ร้านเพื่อซื้ออุปกรณ์อะไรบางอย่างแต่ไม่ได้สิ่งนั้นติดมือกลับไป ย้งเล่าว่าเคยมีลูกค้ามาขอซื้อที่รัดเข่าเพราะกลัววิ่งแล้วจะเจ็บ ซึ่งจริงๆ ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเขา อาการเจ็บเป็นเรื่องปกติเมื่อเริ่มต้นวิ่งแต่ใช้เวลาไม่กี่วันก็จะหายได้เอง ไม่ได้บาดเจ็บ แต่ร่างกายกำลังมีการพัฒนา ย้งเลือกที่จะแนะนำลูกค้าให้เหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขาและไม่ได้ขายที่รัดเข่าชิ้นนั้นไป

เราเป็นเหมือนเพื่อนที่เดินเข้ามาตบบ่าแล้วชวนกันไปวิ่ง

“เรามีลูกค้าที่อยู่มาด้วยกันตั้งแต่เริ่มวิ่งจนถึงตอนนี้ออกไปวิ่งงานใหญ่ๆ ได้ ผมเองก็มีคอนเนกชั่นกับโค้ชหลายๆ คน นักวิ่งคนไหนที่เราเห็นว่าเขาจะมาสายจริงจังเราก็ pass ไปให้โค้ชเลย โลกมันแคบนะครับ บางคนจากที่เป็นลูกค้าก็กลายมาเป็นคนที่เข้าเทรนนิงในคลาสเดียวกัน

“เราซัพพอร์ตนักวิ่งที่ขาดแคลนอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ต้องบอกว่าในอดีตของวงการนักวิ่งเนี่ย คนที่เป็นตัวหลักๆ ชีวิตเขาซัฟเฟอร์ทั้งนั้น ซัพพอร์ตได้เราก็จะซัพพอร์ตคนพวกนี้ ถ้าเข้ามาในร้านจะเห็นถ้วยรางวัลวางอยู่เต็มชั้น อันนี้มาจากนักวิ่งที่เราเคยช่วยเขาเรื่องอุปกรณ์การวิ่งหรือให้คำแนะนำต่างๆ พอเขาวิ่งได้เขาก็มามอบถ้วยให้เราเก็บไว้เพราะรู้สึกว่าอยากจะให้

“ผมเคยผ่านมาแล้วถึงรู้ว่าการวิ่งมันไม่ยาก ไม่ได้รู้สึกว่าการที่ผมแนะนำเรื่องการวิ่งจะเป็นเหมือนอาจารย์สอนนักเรียน ผมแค่อยู่ข้างๆ ตั้งแต่วิ่งมาผมรู้สึกตลอดว่าไม่ใช่โค้ช ไม่ใช่คนที่ให้ความรู้ได้ขนาดนั้น เหมือนเพื่อนชวนกันไปวิ่ง ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนที่จะทำหน้าที่นั้น ผมทำหน้าที่เป็นแค่คนกลาง พาคนนี้มาเจอคนนี้ เรามีความรู้เพื่อรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน พาใครมาเจอกับใคร เราเป็นคนตรงนั้นมากกว่า”

จากที่ได้คุยกับย้ง ทำให้เราตอบคำถามที่สงสัยในตอนแรกได้แล้วว่าสุภาษิตไทย ‘ปอกกล้วยเข้าปาก’ สามารถใช้กับเรื่องวิ่งได้จริงๆ แต่อะไรที่ทำให้ย้งเสพติดการวิ่งมากถึงขนาดนี้กันนะ

“ผมติดเอ็นโดฟินส์ วิ่งไปสัก 30 นาทีมันจะเริ่มมา เพราะงั้นบางคนวิ่งไม่ถึง 30 นาทีมันจะไม่เจอ มันจะอยู่ระหว่างช่วง 20-30 นาที โดยห้ามเหนื่อยเกินไปด้วยนะ มันจะเจอฟีลลิ่งนี้ จะรู้สึกมีความสุข ที่ผมชอบก็คือระหว่างวิ่งมันจะเกิดไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา มีโพสต์หลายๆ โพสต์ที่ผมโพสต์ไปเนี่ยเกิดจากการวิ่ง งานดีไซน์หลายๆ อย่างที่ทำก็เกิดจากการวิ่ง

“เหมือนอย่างคุณ ผมอยากให้ลองดู ถ้าไปทำอย่างที่ผมบอกก็จะวิ่งได้” ย้งหันมาบอกกับเราด้วยแววตาที่เราเองก็อธิบายไม่ถูก ดูเหมือนถูกคาดหวังกลายๆ แต่กลับเต็มไปด้วยความจริงใจ

แม้ความกลัวที่เกิดขึ้นมาตั้งตอนมัธยมต้นจะยังไม่ได้หายไปทั้งหมด แต่มันกลับลดลงอย่างเหลือเชื่อ ทำให้ตอนนี้เราอยากจะลองออกตัวเดินไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่มากกว่าการเดินปกติอีกครั้ง

และการวิ่ง 5 กิโลเมตรแรกในชีวิต กำลังจะเริ่ม ณ บัดนี้

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด