วิธีคิดน่าศึกษาของ ‘วิ่งด้วยกัน’ งานที่พาคนนับพันมาเป็นเพื่อนกับคนพิการได้สำเร็จ

ถ้าถามถึงเหตุผลที่ออกมาวิ่ง เราเชื่อว่าเกือบทุกคนจะตอบว่าวิ่งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้หุ่นดี เพื่อเอาชนะตัวเอง ฯลฯ แต่สำหรับกลุ่ม วิ่งด้วยกัน กรุ๊ปวิ่งที่มีสมาชิกกว่า 16,000 คนในเวลานี้ เหตุผลที่หลายคนในนั้นเริ่มวิ่งคือ ‘พวกเขาอยากเป็น Guide Runner ให้คนพิการ’

จุดเริ่มต้นของกลุ่มวิ่งด้วยกันคือความปรารถนาดี อยากให้คนตาบอดได้ออกกำลังกายเพื่อเป็นเจ้าของสุขภาพดีเหมือนกับเรา แต่หลังจากวันนั้น 4 ปี จากกิจกรรมเพื่อคนตาบอด กลับกลายเป็นกิจกรรมเพื่อคนพิการอีกหลากหลายประเภท จากงานวิ่งเล็กๆ สัญชาติไทย กำลังจะกลายเป็นงานวิ่งที่มีเครือข่ายกว้างไกลถึงยุโรป

เราไม่แปลกใจถ้าวันนึงเครือข่ายนี้ขยายกว้างไกลไปเกือบทุกทวีปทั่วโลก เพราะสัมผัสได้ถึงพลังพิเศษบางอย่างผ่านคำบอกเล่าของ ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิ่งด้วยกัน และบริษัท กล่องดินสอ บริษัทสร้างสื่อการศึกษาสำหรับคนตาบอดอย่างปากกาเล่นเส้น หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชัน พรรณนา ที่ทำให้คนตาบอดดูหนังได้พร้อมคำบรรยาย บริษัทนี้อยากให้คนตาบอดและคนพิการได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เท่าเทียมกับทุกคน

งานวิ่งด้วยกันไม่ใช่งานแรกที่คนพิการออกมาวิ่ง แล้ววิธีคิดอะไรที่ทำให้การ ‘วิ่งด้วยกัน’ มีพลังถึงขนาดนั้น มาฟังเรื่องเล่าของพวกเขาไปพร้อมกัน

หลายปีก่อน โลกของเรากับโลกของคนพิการห่างเหินกันประมาณนึง อะไรทำให้คุณหันมาสนใจคนกลุ่มนี้

ผมเคยเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ พอไปสอนก็พบว่าลำพังแค่เราสอนยังยากเลย เวลาคุณครูสอนมันต้องยากกว่านี้อีก มนุษย์เราเป็น visual learner เราใช้การมองในการเรียนรู้ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ พอเด็กตาบอดสูญเสียตรงนี้ไป สื่อที่มาทดแทนจึงสำคัญมากๆ แต่ขนาดโรงเรียนสอนคนตาบอดที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่ค่อยมีสื่อ ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่คุณครูทำขึ้นเอง เราอยากช่วยตรงนี้เพราะคิดว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตได้ เลยเริ่มทำปากกาเล่นเส้นไปแจก เขาก็ถูกใจ แต่ถ้าจะทำให้ยั่งยืนได้ บริจาคอย่างเดียวคงไม่ดี เราเลยตั้งบริษัทขึ้นมาชื่อบริษัทกล่องดินสอ ตั้งใจจะทำสื่อการศึกษา

จุดเปลี่ยนคือตอนจบคลาสมัธยม เราถามน้องๆ ว่าโตขึ้นอยากไปเป็นอะไร ไม่มีใครตอบได้เลย เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาจะเป็นอะไร สิ่งที่เขาตอบคืออยากเป็นคอลเซนเตอร์ อยากขายล็อตเตอรี่ อยากเป็นหมอนวด นี่คือ 3 อาชีพหลักที่เขามีจริงๆ มาลองคิดดู การทำสื่อการศึกษาไปไม่มีประโยชน์เลย เพราะจบไปเขาก็ไม่มีงานทำอยู่ดี เราจึงวางโจทย์ว่าจะทำ 3 ด้านคือเรื่องการศึกษา การสร้างอาชีพ และสร้างความตระหนักเรื่องคนพิการต่อคนในสังคม ถ้าทำ 3 ด้านนี้ สังคมนี้อาจเป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้

กลุ่มวิ่งด้วยกันเริ่มจากการที่ว่า พอเราทำงานกับคนตาบอดจากปากกาเล่นเส้น เราเห็นคนตาบอดหลายคนอ้วนลงพุง ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดเขานะ คิดดูว่าลำพังแค่เขาเดินยังอันตราย จะให้เขามาออกกำลังกายมันเป็นเรื่องยากมาก จะทำยังไงที่จะออกแบบกิจกรรมให้คนตาบอดออกกำลังกายได้ เราก็นึกถึงการวิ่ง การวิ่งเป็นกีฬาที่ง่ายที่สุด มีรองเท้าคู่เดียวก็วิ่งได้แล้ว ใช้ต้นทุนไม่เยอะ

ตอนนั้นคุณวิ่งอยู่แล้วรึเปล่า

ไม่ได้วิ่งครับ ปกติตีเทนนิส วิ่งไม่เป็น ก็ใช้วิธีเรียกคนตาบอดที่รู้จักกันมาวิ่งกัน โพสต์หาอาสาสมัคร หาอาจารย์และนักวิ่งมาช่วยสอนคนตาบอดวิ่ง เรียกเพื่อนมาช่วยจัดอีเวนต์ จัดกันตรงหน้าห้องสมุดประชาชนในสวนลุมฯ นี่แหละ ครั้งแรกมีคนตาบอดมา 12 คนเอง ไกด์รันเนอร์ก็มา 12 คนเหมือนกัน ต้องโทรตามกันวุ่นวาย

ถือว่าชวนยาก ไม่มีใครอยากออกมา

คนตาบอดเขากลัวว่าเขาจะวิ่งได้เหรอ ไอ้นี่เป็นใครทำไมถึงมาชวนฉันวิ่ง ไกด์รันเนอร์รู้เรื่องไหมก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้จักกัน ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย แต่เขาก็ยังมากัน เดิมเราตั้งใจว่ามันจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายของคนพิการ แต่พอเขาวิ่งด้วยกัน มันเกิดความเป็นเพื่อน ในเวลาที่วิ่ง 30-40 นาที เขาได้ใช้เวลาร่วมกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จนกลายเป็นเพื่อนกัน ทุกอย่างก็เปลี่ยนเลยนะ จากเดิมเราไม่เคยสังเกตว่าอันนี้เป็นปัญหาของคนพิการ แต่พอเขาเป็นเพื่อน อันนี้ปัญหาเพื่อนเรา เพื่อนเรามาไม่ได้ ขึ้นบีทีเอสไม่ได้ เข้าร้านอาหารไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าโครงการนี้มันดีนะ แต่ก่อนมีโฆษณาเกี่ยวกับคนพิการอันนั้นอันนี้ แต่นี่เจอของจริงเลย

การวิ่งมันมหัศจรรย์อย่างนึงคือเหมือนการเอาชนะตัวเอง แล้วนี่เขาชนะไปพร้อมกัน นี่คือสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดเลย พอจัดงานอีกเดือนถัดมา คนพิการมาเยอะขึ้นประมาณ 20 คน แต่ไกด์รันเนอร์มาเป็นพัน

คิดว่าทำไมถึงมีคนอยากมาช่วยเยอะขนาดนั้น

มันเป็นงานอาสาที่สนุก ส่วนใหญ่ก็เป็นนักวิ่งกันอยู่แล้ว คุณไม่ได้ทำอะไร คุณแค่พาเพื่อนอีกคนวิ่งด้วยกัน ภาพที่เกิดขึ้นมันสวยงามมาก เราเลยจัดต่อไปเรื่อยๆ คนก็มากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณครั้งที่ 4 หรือ 5 เริ่มมีคนพิการด้านอื่นเข้ามา เขาอยากมีเพื่อน แล้วสังคมตรงนี้ก็เป็นสังคมที่ชีวิตเขาเท่าเทียมกัน พอจัดเกือบครบปี เราเลยจัดงานใหญ่ครั้งแรกชื่อ ‘วิ่งด้วยกัน มินิมาราธอน’ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ท้าทายมาก เป็นงานที่มีคนพิการมาประมาณ 300 กว่าคน

การจัดงานวิ่งครั้งใหญ่สำคัญยังไง ในเมื่อกิจกรรมย่อยก็ได้รับผลตอบรับดีอยู่แล้ว

งานใหญ่ประจำปีมันเป็นเป้าหมาย ถ้าคุณจะวิ่ง 10 กิโลฯ ได้ ซ้อมเดือนละครั้งมันไม่พอ วิธีการที่จะทำให้คุณได้ซ้อมมากกว่านั้นก็คือ เรามีเฟซบุ๊กกรุ๊ปวิ่งด้วยกัน ถ้าอยากวิ่งวันไหน เรามีไกด์รันเนอร์รอเป็นหมื่น ถามลงไปว่าวันนี้มีใครวิ่งสวนลุมฯ บ้าง พาวิ่งหน่อย แล้วจะมีไกด์รันเนอร์มาตอบรับ งานใหญ่เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้กลุ่มแอคทีฟมากขึ้น แต่ความพิเศษก็คือมันเป็นงานวิ่งสำหรับคนพิการจริงๆ มันไม่เหมือนงานอื่นที่เขาเป็นคนร่วมวิ่ง

งานวิ่งของคนพิการต้องออกแบบยังไง

มันเริ่มตั้งแต่งานวิ่งย่อยของเราที่จะไม่ค่อยโอนงาน เราให้คนพิการและไกด์รันเนอร์ที่มาประจำเป็นคนรันงานเลย เราแค่นัดว่าวันนี้มาเจอกันนะ ทีมเขาพร้อมทำกันหมดอยู่แล้ว จัดระบบกันเอง รับคนใหม่เอง เพราะมันเป็นงานของเขา งานของทุกคน งานของการวิ่งร่วมกัน

แล้วพอมันเป็นงานเพื่อเขา ถ้วยรางวัลนี่สำคัญมาก เพราะมันจะมีกี่งานเหรอที่คนพิการจะได้ถ้วยรางวัล เรามีถ้วยเยอะมากคือ 42 ถ้วย แบ่งถ้วยตามประเภทคนพิการเลย เป็นคนตาบอด หูหนวก พิการทางสติปัญญา เป็นวีลแชร์ วีลแชร์แบบท่อนบนแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง มันไม่เหมือนกัน เราอยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ได้ลุ้นถ้วย ช่วงแจกก็แจกกันนานมาก

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ งานวิ่งอื่นที่มีคนพิการเขามักจ่ายเงินเป็นเบี้ยเลี้ยงให้คนพิการ มีรถ เสื้อ อาหารให้ คนพิการจะมาเซ็นชื่อรับเงินไป แต่ของเราไม่มี เราไม่อยากทำเพราะมันยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์สังคมสงเคราะห์ เขาจะติดนิสัย เราพยายามบอกงานวิ่งอื่นว่าอย่าทำแบบนั้น เราไม่ใช่งานวิ่งคนพิการงานแรก แต่เป็นงานวิ่งแรกที่เก็บเงินคนพิการ คนพิการจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ไม่เกิน 300 บาท ส่วนนึงเขาจะจ่าย 300 เพราะรู้สึกว่าทำไมต้องจ่ายน้อยกว่าด้วย แต่บางส่วนเราก็เข้าใจฐานะทางเศรษฐกิจ โอกาสในการทำงานของเขาไม่เท่าเรา ถ้าคุณมี 20 บาทก็จ่าย 20 บาท แต่การที่เขาจ่าย มันคือเขาเลือกแล้วว่าเขาอยากมาเพราะงานจริงๆ ไม่ใช่เพราะเงิน

ผ่านมา 4 ปี งานวิ่งด้วยกันเติบโตไปยังไงบ้าง

ปีที่แล้วเราพร้อมแล้วที่จะออกต่างจังหวัด เราเริ่มที่ 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ อุดรธานี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไกด์รันเนอร์ของเรานี่แหละที่อยากจัดที่นู่น มันเลยเข้มแข็ง ปีนี้เราก็จะขยายไปอีก อยากให้คนพิการไม่ต้องรองานวิ่งเราแล้ว แต่ทำยังไงให้คนพิการวิ่งงานอื่นได้ทุกงาน คืองานอื่นเขาก็เริ่มอยากรับนะ แต่ไม่รู้ว่าจะให้คนพิการมาต้องทำยังไง คนพิการก็ไม่รู้ว่าไปได้ไหม อันตรายรึเปล่า เราเลยทำเช็คลิสต์ง่ายๆ ขึ้นมาอันนึง สมมติว่าคุณจะรับคนพิการคุณต้องทำตามนี้ๆ เสร็จปั๊บประกาศเลยว่ารับคนพิการ คนพิการก็สมัครเองได้ ตอนนี้บางงานเริ่มเอาไปทดลองใช้แล้ว

อีกอย่างคือเรากำลังขยายไปต่างประเทศที่บัลแกเรีย ปีที่แล้วผมไปรันเวิร์กช็อปที่เกาหลี เจอคนที่มาจากบัลแกเรียซึ่งทำงานเรื่องเด็กออทิสติกอยู่ เขาก็คิดว่าอันนี้มันดีที่สร้างการตระหนักมากกว่าแค่ไปประชาสัมพันธ์ ขอเอาไปใช้บ้าง เรามาสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศกัน เป็นงานวิ่งใหญ่มาก ปิดเมืองเลย ถ้าบัลแกเรียเวิร์กก็จะมีที่อื่นตามมา

ให้คนพิการไปเล่นกีฬาอื่นไม่ได้เหรอ สุดท้ายแล้วความพิเศษของการวิ่งคืออะไร

กีฬาทุกอย่างมันดีหมดเลย แต่ไม่ได้คุยกันเยอะ การวิ่งคือการใช้เวลาร่วมกันจริงๆ มันอยู่ข้างกัน วิ่งไปด้วยกัน ต้องเอาชนะไปเรื่อยๆ เหนื่อยๆ ก็อีกนิดเดียวหน่า จะถึงแล้ว ทำให้กลายเป็นเพื่อนที่แน่นแฟ้นกันมาก หลายๆ คู่ก็เป็นมากกว่าเพื่อนไป

แต่งงานกันเลย?

ยังไม่แต่ง (หัวเราะ) คนพิการกลุ่มเราได้แฟนมาเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นแฟนกันเอง ไกด์กับคนพิการก็มี พอเขามาวิ่งด้วยกัน เขาไม่ได้รู้สึกว่าอีกคนด้อยกว่าใครก็เลยคบกันเป็นแฟน เป็นแก๊งหาคู่มาก (หัวเราะ) สโลแกนเราคือ Friendship beyond difference แต่บางคนนี่ beyond friendship ไปแล้ว

เคยเก็บข้อมูลไหมว่าการที่คนพิการมาร่วมวิ่งกับเราส่งผลต่อทัศนคติอะไรของเขาบ้าง

ไม่เคยเก็บข้อมูลเป็นสถิติแต่เคยสัมภาษณ์ เช่น พี่หนึ่งที่เป็นคนตาบอด ชีวิตเขาคือไปที่ทำงานแล้วกลับบ้าน ไม่ไปที่อื่นเลย ไปไหนก็จะไปกับแม่ ตอนมาร่วมกับเราแรกๆ แม่ก็พามาเหมือนกัน พี่หนึ่งเขาวิ่งเก่ง พอเริ่มคุ้นกับการมาหลายๆ เดือนเขาก็เริ่มมาเองได้ พอวิ่งเสร็จก็ไปเที่ยวกับเพื่อนต่อ เขากล้าที่จะออกไปใช้ชีวิตมากขึ้น หรือน้องวีลแชร์หลายๆ คนแต่ก่อนอ่อนแอ กล้ามเนื้อลีบ ให้มาปั่นวีลแชร์ก็ปั่นไม่ไหว แต่เดี๋ยวนี้แข็งแรงขึ้นเยอะ ไม่ต้องหาหมอแล้ว

เคยมีคนไปถึงมาราธอนไหม

เยอะ ฟูลมาราธอนนี่เบสิกๆ ในกลุ่มเราเลย จบอัลตร้ามาราธอนก็มี

แล้วกับคนทั่วไป การมาร่วมกิจกรรมนี้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราบ้าง

มันเปลี่ยนมุมมองมากกว่า ถ้าเราไม่เคยเจอคนพิการเลย เวลาพูดถึงเราจะรู้สึกว่าน่าสงสาร คนไทยหน่อยก็จะบอกว่านี่ทำบาปมาเมื่อชาติที่แล้ว การคิดแบบนั้นอาจจะจริงแต่มันไม่มีประโยชน์ ดังนั้นคุณไม่ต้องคิดอย่างนั้นก็ได้ พอคุณมีเพื่อนเป็นคนพิการแล้วมาวิ่ง คุณจะรู้สึกว่าคนพิการวิ่งเก่งกว่าเราอีกว่ะ เราไปสงสารเขาทำไมเนี่ย เขาใช้ชีวิตเหมือนเราเลย ไปไหนมาไหน กินอะไรเหมือนเรา ไปทำงานเหมือนเรา วิ่งได้เหมือนเรา บริษัทเรามีความเชื่ออยู่ว่า คนพิการไม่มีอยู่จริง มีแค่สิ่งแวดล้อมที่พิการ

ระหว่างทำกิจกรรมนี้ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปบ้างไหม

เปลี่ยนครับ ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะพวกผมรึเปล่านะ แต่สวนลุมฯ ปรับสภาพแวดล้อมใหม่ มีห้องน้ำที่เซ็นทรัลมาทำใหม่ให้รองรับคนพิการได้ ส่วนนึงแน่ๆ คือเขาเห็นว่ามีคนพิการออกมาใช้ เขาเลยต้องทำ มันเป็นไก่กับไข่ ถ้าไม่ทำ คนพิการก็ไม่ออกมา เราเลยบอกว่าไม่เป็นไร ออกมาก่อน ไม่มีทางลาดเราช่วยกันยกได้ จะได้เห็นว่ามันมีความต้องการ หลายๆ งานวิ่งก็เริ่มปรับมากขึ้น ไกด์รันเนอร์เราก็เป็นคนทั่วไปที่ทำงานบริษัทหรือเป็นเจ้าของ mind set พวกนี้มันจะปลูกฝังเข้าไปว่า เวลาเขาทำงานออกมา เพื่อนเขาใช้ได้รึเปล่า

จากเป้าหมายแรกที่อยากให้คนพิการสุขภาพดีขึ้น ตอนนี้เป้าหมายในใจเราเปลี่ยนไปจากตอนแรกมากน้อยแค่ไหน

มันเป็นเรื่องสเกลและการขยายผลมากกว่า เราไม่ได้จัดงานวิ่งอย่างเดียว แต่เราอยากกระตุ้นให้ผู้จัดคนอื่นรองรับคนพิการ สิ่งที่เราคาดหวังก็คือในวันหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่ากี่ปี ต่อไปไม่จำเป็นต้องมีงานวิ่งด้วยกันแล้ว เพราะคนพิการวิ่งได้ทุกงาน ไม่ต้องมีบริษัทกล่องดินสอ เพราะทุกอย่างมัน Universal Design มาแล้ว เมื่อนั้นงานเราก็เสร็จ การจะถึงจุดนั้นมันไม่ได้มีแค่เราทำคนเดียว ต้องสร้าง Know How กระจายไปสู่ที่อื่นๆ

คำถามสุดท้ายที่หลายคนน่าจะอยากรู้คือ ถ้าอยากเป็นไกด์รันเนอร์บ้างต้องทำยังไง

ถ้าไม่อยากวิ่งก็มาได้ มีคนช่วยเสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร มาได้เลย ขอให้มาเถอะ ถ้าอยากวิ่งจะมีคนคอยเทรนด์ให้ ไกด์ประจำเราส่วนใหญ่ก็ไม่เคยวิ่งนะ แต่คนเป็นไกด์ต้องวิ่งเก่งกว่าคนพิการ ต้องปรับเข้าหาคนพิการได้ พอเขามาแล้วก็รู้สึกว่าถ้าไม่วิ่ง เขาเป็นไกด์ไม่ได้ เขาอยากวิ่งกับเพื่อนก็เลยฝึกวิ่ง

มันเป็นอีกเหตุผลนึงของการวิ่งที่ไม่ใช่วิ่งเพื่อตัวเอง แต่วิ่งเพื่อให้คนอื่นวิ่งไปด้วยกัน

*บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม See Saw Zine เทศกาล Make a Zine ตอน Extraordinary ที่พาผู้อ่านไปร่วมวิ่งกับกลุ่มวิ่งด้วยกันในกิจกรรมย่อย Blind Date Run ก้าวไปกับนักวิ่งตาบอดเพื่อรู้จักโลกอีกใบ วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน ที่สวนลุมพินี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องทำซีน 1 เล่มมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ดูรายละเอียดเทศกาลที่ www.adaymagazine.com/news/make-a-zine-extraordinary

Facebook | วิ่งด้วยกัน

ภาพ นิติพงษ์ การดี

AUTHOR