เดินเทรลเพื่อสังคมในงาน 100 Km Oxfam Trailwalker Melbourne

เส้นทาง: Churchill
National Park – Dandenong Ranges National Park – Yarra Ranges National Park
เมือง
: เมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย
ประเทศ
: ประเทศออสเตรเลีย
ระยะทาง: 100กิโลเมตร

100 Km Oxfam Trailwalker Melbourne ฉันได้ยินชื่องานนี้ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2558 จากเพื่อนที่ทำงาน เขาเล่าว่าปีนี้จะไปลงสมัครกับเพื่อนอีก 3
คนที่เคยร่วมงานมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ฉันจำชื่องานได้อย่างแม่นยำโดยเฉพาะคำว่า ‘100 กิโลเมตร’ เมื่อสบโอกาสฉันจึงลองหาข้อมูล ด้วยหวังว่าจะสมัครเข้าร่วมงานนี้กับเขาบ้าง
แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นจึงรู้ว่างานนี้ไม่เหมาะกับนักเดินวิ่งสายสันโดษอย่างฉัน เพราะไหนจะต้องหาเพื่อนร่วมทางอีก
3 คนเพราะเขาให้สมัครเป็นทีม ไหนจะต้องมีทีมพี่เลี้ยง (Support Crew) ที่คอยดูแลส่งข้าวส่งน้ำตาม Checkpoint ในวันเดินจริง ยังไม่นับรวมภารกิจระดมทุนเข้ากองทุน
Oxfam เพื่อนำไปจัดกิจกรรมลดปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาอีก

งานนี้แม้จะมีใจที่มุ่งมั่น
แต่ในฐานะที่เป็นนักเรียนไทยไร้เพื่อนในต่างแดน
ความตั้งใจของฉันจึงต้องพับลงกล่องไปก่อน…แต่ก็ไม่เลวร้ายนัก ในตอนที่ฉันเหลือบไปเห็นที่หน้าเพจของ
Oxfam ว่ารับสมัครอาสาสมัครช่วยงานวันแข่งด้วย
ด้วยความอยากมีส่วนร่วมมาก ฉันจึงได้กรอกใบสมัครเป็นอาสาสมัครและเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสฉันจึงระบุวันว่างไปทุกวันและเวลาทุกเวลาที่มีให้ไม่เกี่ยงแม้จะเป็นกะดึกข้ามคืนก็ตาม

และแล้ววันที่ 8 เมษายน 2559 วันงานของ 100 Km Oxfam Trailwalker Melbourne ก็มาถึง บ่ายวันนี้ฉันนั่งรถจากตัวเมืองเมลเบิร์นพร้อมกับทีม Support Crew ของทีมเพื่อน ‘The Powerful Owls’ (เพื่อนกลุ่มเดียวกันกับที่เล่าเรื่องงานนี้ให้ฟังเมื่อปีที่แล้วนั่นแหละ)
มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่เทือกเขา Dandenong Range รถเราขนอาหารและเสบียงมาเต็มคันรถเพื่อจะไปนัดเจอกับทีมเดินที่ออกตัวตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าที่ Checkpoint #3: Ferntree
Gully
เพื่อกินข้าวเที่ยงกัน นับรวมระยะทางจากจุดปล่อยตัวถึงจุดนี้ได้ประมาณ 31 กิโลเมตร

ถึงจุดนี้ฉันเพิ่งขอยืมคู่มือนักเดินและแผนที่ของเพื่อนมานั่งอ่านอย่างจริงจัง
เส้นทาง 100 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 8 ช่วงตั้งแต่จุดปล่อยตัวถึงเส้นชัย โดยมี 7 Checkpoint ระยะทางแต่ละช่วงยาวประมาณ 8 – 15 กิโลเมตร กินพื้นที่คลอบคุมถึง 3อุทยานแห่งชาติทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐวิคตอเรีย ได้แก่ ChurchillNational Park – Dandenong
Ranges National Park – Yarra Ranges
National Park เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเส้นทางจากจุดปล่อยตัวแรกถึงจุดที่
3 (Start: Wheeler heels, Checkpoint
#1: Churchill NP
& Checkpoint #2: Listerfield lake) นั้นเป็นเส้นทางเดินตามทางรถไฟเก่า
ลัดเลาะสวน เดินผ่านเขตชุมชน และเดินเรียบถนนหลักบ้าง เส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางราบ
จึงทำให้ทำเวลาได้เร็วกว่าที่วางแผนไว้ถึงประมาณครึ่งชั่งโมง แต่อย่างไรก็ตาม
แม้เขาจะบอกว่าทางไม่ยาก แต่ฉันก็เห็นเพื่อนผู้หญิง 2 คนในทีมมีการบาดเจ็บกันบ้างแล้ว
ทำแผลรองเท้ากัดปิดพลาสเตอร์กันยกใหญ่ นั่นคงเพราะเดินมานานถึง 6 ชั่วโมง 30 นาทีแล้ว

พักได้ประมาณหนึ่งชั่วโมงทางทีมก็พร้อมเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่
Checkpoint #4: Olinda Reserve ซึ่งเป็นจุดนัดหมายต่อไปเพื่อแวะจิบชายามบ่ายกันกับ
Support Crew จากจุดที่ 3 ไปจุดที่ 4 แม้จะเป็นช่วงระยะทางที่สั้นแค่ 10.9 กิโลเมตร แต่ความยากนั้นอยู่ใน Rate 5 ซึ่งหมายถึงระดับที่หินที่สุดของเส้นทางทั้งหมด หมายถึงการต้องขึ้นลงเขาชันๆ หลายรอบ สำหรับช่วงเส้นทางนี้ฉันรู้ดีว่ายากและต้องใช้พลังมากขนาดไหน ทั้งนี้เพราะเคย
(หลง) มากับทีมตอนที่เขามาซ้อมขาเดินกันเมื่อเดือนก่อน เส้นทาง Ferntree Gully Creek ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่โบราณและเก่าแก่ที่สุดของเทือกเขา Dandenong จึงไม่แปลกหากจะเจอต้นเฟิร์นยักษ์อยู่มากมาย
พร้อมด้วยต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่น

ถึงเวลาโพล้เพล้ ฉันและ Support Crew ก็ขนเสบียงชากาแฟขึ้นรถเดินทางออกจากที่พักขับรถขึ้นเขาไปยังจุดนัดหมายที่ 2
ระหว่างที่รอเพื่อนนักเดิน ฉันได้เดินไปสำรวจรอบๆ แล้วก็นึกในใจว่า Support Crew
นอกจากจะมีความสำคัญมากต่อนักเดินแล้ว ยังสร้างสีสันและความคึกคักให้กับงานนี้เป็นอย่างมากด้วย
ฉันเพลิดเพลินมากกับการเดินเตร็ดเตร่ตามเต็นท์ของเหล่า Support Crew ยิ่งเดินลึกเข้าไปในลานจอดรถกลางป่าก็ยิ่งพบกับความอลังการของเครื่องบรรณาการต่างๆ
ที่เหล่าญาติมิตรสหายได้จัดมารอรับและให้บริการทีมเพื่อนหรือเหล่าญาติมิตรนักเดินของพวกเขาเมื่อมาถึง
ไม่ว่าจะเป็นชุดนั่งรับแขกแสนสบาย เตียงสปานอนนวด อ่างน้ำอุ่นแช่เท้า ฮีตเตอร์หรู
เตาบาร์บีคิวยักษ์ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมรถบ้านขนาดต่างๆ ที่จอดเรียงรายอยู่มากมายซึ่งดูสะดวกสบายอุปกรณ์ครบครันกว่าห้องเช่าในเมืองของฉันซะอีก
ฉันเดินวนไปสองรอบใหญ่ก่อนเดินกลับมานั่งรอต่อที่เสื่อปิกนิกบ้านๆ ของกลุ่มเรา

17.30 น. เป็นเวลาที่ The Power Owls เดินมาถึงที่ Checkpoint #4: Olinda Reserve ถึงจุดนี้ระยะทางสะสมได้
42.6 กิโลเมตร ใช้เวลาไปแล้วประมาณ 10 ชั่วโมงครึ่ง สภาพเพื่อนนักเดินแต่ละคนตอนนี้เริ่มมีสภาพอิดโรยแล้ว
หนาวปากสั่นเนื่องจากอากาศที่เย็นลงและเสื้อที่เปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ…แต่ฉันเชื่อว่าคำบอกเล่ากึ่งให้กำลังใจที่ว่า
“ยูเดินมาได้ครึ่งทางแล้วนะ” นั้น ได้ต่อแรงใจให้แก่นักเดินได้ไม่มากก็น้อยก่อนที่พวกเขาจะเดินเข้าไปในดงป่ามืดพร้อมกับไฟฉายและเสื้อกันหนาวอีกชั้น

เวลา 21.30 น.Checkpoint #5: Mount Evelyn รอบพักนี้นักเดินตั้งใจใช้เป็นจุดพักใหญ่
Support Crew จึงเสิร์ฟทีมนักเดินด้วยดินเนอร์ร้อนเป็นพาสต้าซอสเห็ดโฮมเมดที่เพิ่งออกจากเตาเมื่อ 5 นาทีที่ผ่านมา
(จุดนี้ใกล้ที่พักพวกเรา ขับรถประมาณ 5 นาที) แต่ด้วยบรรยากาศแห่งความอิดโรย
พวกเราไม่ได้เม้าท์กันมากเพราะรู้ว่านักเดินคงไม่อยากพูดย้อนอดีตกลับไปในเส้นทางมืด
ๆ หนาว ๆ ในป่าบนเขาที่พวกเขาเพิ่งเดินผ่านมาเมื่อ 3 ชั่วโมงที่แล้ว จึงปล่อยให้นักเดินนอนยืดเหยียดร่างกายกันเงียบๆ ตามลำพัง จนเวลา 4 ทุ่มครึ่ง ก่อนที่พวกเราจะแยกย้าย นักเดินเดินทางเข้าป่าไปต่อ
ส่วนฉันมุ่งหน้าไป Finish Line: Wesbern ก่อนโดยมีเพื่อน Support Crew ที่ใจดีขับรถไปส่ง ทั้งนี้เพื่อไปเข้ากะดึกเป็นอาสาสมัครตามที่ได้สมัครไว้ ในตำแหน่งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Checkpoint Operation Support’ หรือชื่อเป็นภาษาไทยคือ ‘เบ๊’ (หมายถึง ทำหน้าที่อะไรก็ได้
แล้วแต่หัวหน้ากะจะสั่ง) นั่นเอง

ตอนเข้ากะงานหน้าทุ่มครึ่ง นาฬิกาที่เส้นชัยบอกเวลา 16 ชั่วโมง 30 นาทีผ่านไปแล้ว ฉันสอบถามได้ความว่ามีทีมเข้าเส้นชัยไปแล้ว
19 ทีม โดยทีมแรก Team 456 Columbia AU representing Columbia & Holiday XP เข้าเส้นชัยไปนานแล้วตั้งแต่ 3 ทุ่ม (ซึ่งเป็นตอนที่เพื่อนนักเดินของฉันเพิ่งถึง
Checkpoint #5) โดยใช้เวลาเพียง 11 ชั่วโมง

จนถึงเวลาประมาณ 01.30 น.ของวันที่ 9 เมษายน 2559 จากข้อความใน group chat ระบุว่า The Power Owls เดินถึง Checkpoint #6: Woori
Yallock
ซึ่งเป็นเวลาที่ฉันกำลังทำหน้าที่ส่งยิ้มสยามทักทายให้กำลังทีมนักเดินที่เดินทางมาถึงในช่วง 100 เมตรสุดท้ายของพวกเขา
หรือไม่ก็กำลังวิ่งไปมอบใบประกาศนียบัตรแก่ทีมต่างๆ งานบริการข้ามคืน
ณ จุดเส้นชัยฉันรับรู้ได้ถึงพลังงานหลายอย่าง จังหวะเข้าเส้นชัยฉันเห็นหลายคนเต็มไปด้วยน้ำตา
น้ำตาแห่งความสำเร็จ น้ำตาแห่งชัยชนะเหนือขีดจำกัด น้ำตาแห่งอิสรภาพ และจำนวนไม่น้อยที่ฉันมองออกว่าเป็นน้ำตาแห่งความเจ็บปวดจากความทรมานของร่างกาย… และประโยค Well Done, Guys.
Congratulation!”
คำที่ฉันพูดและได้ยินมากที่สุดในค่ำคืนนี้

จนเวลา 05.21 น. The Power Owls ได้เดินผ่านช่วงที่ราบที่สุดของเส้นทาง (แต่ไม่ง่ายที่สุดเพราะเป็นช่วงเวลาที่มืดและเหน็บหนาวที่สุดเช่นกัน
ตามคำเล่าของเพื่อนในภายหลัง) ถึง Checkpoint #7: Millgrove และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ฉันกำลังจะเลิกกะ ฉันเดินไปสรุปยอดรวมอีกครั้งก่อนเพื่อนจะแวะมารับกลับที่พัก
นับรวมมีทีมเข้าเส้นชัยไปแล้วกว่าร้อยทีมเท่ากับฉันได้ทำหน้าที่ต้อนรับและบริการทีมนักเดินไปกว่า 80 ทีม Good morning, Guys” คำกล่าวสุดท้ายของฉันกับเพื่อนอาสาสมัครด้วยกันก่อนแยกตัวออกมา…

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น Support Crew และฉันออกจากบ้านพักอีกครั้งพร้อมแซนวิชร้อนๆ
เพื่อไปรอรับ The Power Owls ที่เส้นชัย และเวลานี้เองที่ฉันเพิ่งรู้ว่าเส้นทางไป Finish Line: Wesbern นั้นสวยมากและเพิ่งเห็นว่าที่ที่ฉันทำงานอาสาสมัครอยู่ข้ามคืนนั้นตั้งอยู่ในหุบเขาขนาดย่อม
มีฉากป่ารกทึบอยู่ด้านหลังซึ่งเป็นบริเวณที่ฉันไปรอต้อนรับทีมนักเดินวิ่งออกจากพุ่มไม้เมื่อคืน
เช้านี้มีทีมนักเดินเข้าเส้นชัยถี่กว่าเมื่อคืนมาก จำนวน Support Crew หรือญาติมิตรสหายที่มารอก็เยอะกว่าเมื่อคืน แต่บรรยากาศไม่ต่างกัน เสียงเชียร์และเสียงปรบมือยังคงดังก้องทุกครั้งที่มีทีมเข้ามาถึงเส้นชัยจนเวลา 9.30 น. พวกเรา (ฉันและ Support Crew) ก็ได้ส่งเสียงนั้นแก่ The Power Owls ซึ่งเดินมาแบบเนิบๆ ก้าวต่อก้าว พร้อมรอยยิ้มแห่งอิสรภาพ เข้าเส้นสิ้นสุด อันดับที่ 232 เวลารวม 26
ชั่วโมงคือสถิติของพวกเขาในปีนี้

Effort’ (แปลเป็นไทยตามพจนานุกรมของฉันคล้ายกับความพยายาม + ความตั้งใจ + ความทุ่มเท) ทั้งของทีมนักเดิน ทีมพี่เลี้ยง และเหล่าอาสาสมัคร
คือคำสรุปสั้น ๆ ของฉันจากประสบการณ์ใน 100 Km Oxfam Trailwalker Melbourne ครั้งนี้

ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจค่ะ

ป.ล. เขียนมาถึงบรรทัดนี้
ฉันเริ่มรู้สึกสงสัยว่า ปีหน้ามีใครแถวนี้สนใจไปเดินกันไหมคะ?

note: Oxfam Trailwalker เป็นงานเดินเทรลการกุศลที่จัดโดย Oxfam ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อการพัฒนาไม่หวังผลที่มีเป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาความยากจนของโลก
ผ่านโครงการที่ลงทุนแบบโครงสร้างระยะยาวในกลุ่มประเทศเป้าหมายและการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน
เช่น กรณีภัยพิบัติ กิจกรรมเดินการกุศลระดมทุนนี้จะจัดขึ้นโดย Oxfam สาขาในประเทศต่างๆ (เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง
สหราชอาณาจักร อินเดีย ญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม) โดย Oxfam Australia จะจัดงานนี้ขึ้นทุกปีใน 4 เมือง คือ เมลเบิร์น ซิดนีย์ เพิร์ท และบริสเบน ตามสโลแกนของงาน
‘100 KM |
TEAMS of 4 | 48 HRS’ หมายถึงระยะทาง 100 กิโลเมตร ทีมละ 4 คน เดินในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง

Event clip:

map

gallery

ใครอยากเล่าเรื่องเส้นทางน่าวิ่งบ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR