วีรพร นิติประภา อาหารบ้านๆ คือสิ่งตกทอดและเชื่อมโยงความอบอุ่นใจของคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่เราอ่านเจอในนิยาย อย่างเช่นอาหารสักชนิดหนึ่งนั้น บางครั้งก็อาจเป็นสัญลักษณ์ส่วนตัวมากๆ ของนักเขียน ซึ่งมีเรื่องราวและมีความหมายต่อนักเขียนคนนั้นอย่างที่เรานึกไม่ถึง 

เช่นเดียวกับในนิยายเรื่อง ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ของ วีรพร นิติประภา ที่มีการพูดถึงเมนู ‘ปลาทูต้มมะเขือเทศ’ ซึ่งเป็นอาหารที่เธอผูกพันในฐานะเมนูของพ่อ เหมือนกับตัวเอกในเรื่อง

ในมุมมองของนักเขียนอย่างวีรพร เวลาพูดถึงอาหาร เธอจะคิดถึงมันในเชิงของวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ด้วย

“อาหารเล่าทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นเรา สิ่งที่เราทำอยู่ในบ้านก็คือ กิน นอน ฉะนั้นในนิยายทั้งสองเล่มของตัวเองซึ่งมีส่วนของครอบครัว ของชีวิตในบ้าน การเติบโตของคน ก็จะใส่อาหารไว้เยอะทั้งสองเล่มเลย ในเรื่อง ‘พุทธศักราชฯ’ (พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ) ก็จะมีเมนูจีนๆ อยู่หลายเมนูทีเดียว”

นอกจาก ‘ปลาทูต้มมะเขือเทศ’ แล้ว ‘หมูสามชั้นต้ม’ เป็นอีกหนึ่งเมนูในบ้านที่วีรพรมักนึกถึง และทำกินบ่อยๆ ซึ่งถ้าเข้าครัวทำกับข้าวทั้งที ส่วนใหญ่ก็มักจะทำเมนูที่หากินที่อื่นไม่ได้   

“คำว่าอาหารบ้านๆ ก็คืออาหารที่เราทำกินกันเองในบ้าน ให้ความรู้สึกง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นอาหารที่ตกทอดมาในบ้าน แต่ปลาทูต้มมะเขือเทศอาจจะเป็นเมนูที่ประหลาดสักนิดหนึ่ง เพราะไม่ได้แค่ตกทอดในบ้านเรา แต่เราไปยืมบ้านอื่นมา มันเป็นเมนูที่ต้มปลาทูทอดนี่แหละ กับมะเขือเทศ แล้วก็ใส่เบคอนกับออริกาโน่ คือฝรั่งๆ หน่อย แต่ก็ไม่มีอย่างอื่นที่เป็นฝรั่งอย่างเช่นกลิ่นเนย เคยถามที่บ้านว่า เมนูนี้ได้มายังไง แม่ก็เล่าว่าพ่อเขาไปกินที่บ้านเพื่อน แล้วได้สูตรมาทำ ซึ่งน่ารักดี สมัยก่อนเมนูมันขยายตัวแบบนี้ แล้วมาทีหลังพอพ่อกับแม่เลิกกัน ก็จะเป็นเมนูที่เราเรียกกันว่า ‘ปลาพ่อ’ เป็นเมนูที่พ่อทำอยู่บ่อยๆ เหมือนเป็นอะไรที่มีความทรงจำอยู่ในนั้นด้วย”  

แม่ยังบอกอีกว่าเพื่อนพ่อคนนี้เป็นชาวเวียดนาม ต่อมาภายหลังวีรพรจึงไปสืบค้นดูว่า เวียดนามกินเบคอนกับออริกาโน่ด้วยหรือ ปรากฏว่าไปเจอเมนูเหมือนกันนี้ แต่เปลี่ยนจากเบคอนกับออริกาโน่ เป็นหมูสามชั้นกับใบโหระพา

“บ้านเราจะลื่นไหล เมนูนี้บางวันเราก็จะทำหมูสามชั้น ใบโหระพา บางทีก็ใส่กระเทียม บางทีก็ใส่ผักชี บางวันเราก็กินกับสปาเก็ตตี้ บางวันเราก็กินกับมันบด กินกับขนมปัง หรือกินราดข้าว คิดว่าคำว่าบ้านๆ มันเป็นอะไรแบบนี้ด้วย คือเอาตามความพอใจของสมาชิกในบ้าน ว่าวันนี้อยากจะกินแบบไหน แล้วอีกอย่าง สมัยก่อนมันไม่มีสูตรอาหาร สูตรอาหารนี่เป็นอะไรที่มาทีหลังมากๆ แต่จะเป็นการบอกต่อ มันก็เลยลื่นไหล ตัวมันเองก็ลื่นไหล วิถีการกินก็ลื่นไหล”

อิทธิพลด้านการกินที่มีลักษณะคลี่คลายและลื่นไหล เธอเล่าว่าได้รับมาจากยาย ซึ่งมีวิถีการกินแบบคนโบราณ และเคยทำงานในวัง

“คนสมัยก่อนเวลาเขากิน เขากินกันตามฤดูกาล อย่างที่บ้านตอนเด็กๆ ถ้าสมมติว่าหน้าร้อน ยายจะกินแกงเขียวหวานไก่ใส่ฟัก แล้วหน้าหนาวถึงจะกินแกงไก่ใส่มะเขือเปราะ จะไม่ตายตัวเหมือนคนทำอาหารสมัยนี้ที่ทุกอย่างตายตัวไปหมดเลย เข้าใจว่าเป็นเพราะเรามีตำรากับข้าว พอเรามีตำรากับข้าวปุ๊ป ความครีเอทีฟของเราก็หายไป สัญชาติญาณของการกินอยู่ตามฤดูกาลก็หายไปด้วย คือหน้าร้อนคุณกินมะเขือเปาะคุณจะร้อนไง ก็เลยต้องกินแกงใส่ฟักแทน คือถ้าไม่มีประเพณีการกินแบบนี้มันจะป่วยได้”

อีกเมนูหนึ่งที่กล่าวถึงข้างต้นคือ ‘หมูสามชั้นต้ม’ เมนูนี้เป็นอาหารจากความทรงจำจริงๆ เพราะคนที่ชอบทำคือป้าคนหนึ่งของวีรพร

“เมนูนี้บางทีเราก็จะใส่ผงกระหรี่นิดหนึ่ง บางทีเราก็ไม่ บางทีเราก็จะกินกับโหระพา ผักชี เหมือนกัน บางทีเราก็จะกินกับน้ำพริกข่า ใส่เกลือน้อยหน่อยตอนต้ม บางทีเราก็จะกินกับน้ำพริกกะปิ แล้วก็กินกับขนมจีน ซึ่งอันนี้เป็นเมนูของยาย ซึ่งก็แปลกมาก ไม่เคยเห็นใครทำ เวลายายตำน้ำพริก ยายจะมีขนมจีนส่วนตัวอยู่สักหยิบหนึ่ง หยิบเล็กๆ แล้วก็จะใช้ขนมจีนนี่แหละเช็ดครก คือไม่ให้เหลือทิ้ง พอตำน้ำพริกแล้วส่วนใหญ่น้ำพริกมันจะเหลือก้นครก ก็จะเอาขนมจีนไปเช็ดครก แล้วก็กินกับหมูสามชั้น ที่บ้านเราก็ทำเมนูนี้บ่อยๆ เหมือนกัน บางครั้งก็ทำเพราะว่าคิดถึงป้า กินแล้วมันสบายใจดี คอมฟอร์ตฟู้ดเป็นอย่างนั้น อะไรที่เป็นความทรงจำจะเป็นแบบนั้นเสมอ มันให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกเด็ก รู้สึกร่าเริง กินแล้วมีความสุข ไม่ใช่กินแล้วอร่อย” 

อย่างไรก็ตาม วีรพรคิดว่าตัวเองโชคดีที่ทำงานที่สามารถอยู่บ้านทำกับข้าวได้ และเข้าใจคนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารนอกบ้านเช่นกัน เธอเล่าว่าสำหรับเธอ โต๊ะกินข้าวกับโต๊ะทำงานก็เป็นโต๊ะเดียวกันนี่แหละ ไม่ได้คิดว่าเป็นนักเขียนแล้วต้องมีห้องมีโต๊ะทำงานดีเด่ มองออกไปเห็นทะเลเห็นป่า กินข้าวเสร็จก็เอาคอมฯ มาตั้งนั่งทำงานไป

ส่วนเรื่องการกินอาหารในบ้านนั้น เธอบอกว่าจะกินพร้อมกันตลอด ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ แต่มันเป็นไปเองตามธรรมชาติของคนในครอบครัว

“บนโต๊ะอาหารเป็นโมเมนต์ที่ดี เราก็คุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ คุยเรื่องตัวอาหารเองด้วย ที่บ้านช่างกิน แล้วลูกชายก็เป็นคนช่างกินมาก เขาก็จะชอบกินเมนูที่ตกทอดพวกนี้แหละ ปลาทูต้มมะเขือเทศ หมูสามชั้นต้ม เรากินข้าวด้วยกัน ไม่ค่อยกินข้าวเดี่ยว แล้วตอนที่ลูกยังไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศก็เป็นคนติดบ้าน กลับบ้านกินข้าวทุกวัน ก็กลายเป็นว่าเราได้กินข้าวด้วยกันทุกๆ มื้อ กลางวันเรากับสามีก็กินข้าวด้วยกันทุกวัน ก็จะไม่ได้มีเรื่องพิเศษที่ต้องคุยกันระหว่างมื้อ เพราะว่าอยู่ด้วยกันค่อนข้างเยอะ ลูกเองก็จะเหมือนรายงานประจำวัน วันนี้เขาทำอะไรมา เขาไปไหน มื้อเช้าก่อนไปโรงเรียน เราก็จะทำอาหารเช้าให้เขาด้วย เขาก็จะกินข้าวที่บ้าน ซึ่งเขาก็จะเล่าโน่นเล่านี่ แล้วแต่ เขาอ่านอะไรมา เขาคิดอะไรอยู่ โครงงานอะไร เพื่อนเขาคนไหนเป็นยังไง บ้านนี้ไม่ค่อยแยกกัน เราจะค่อนข้างตัวติดกัน”

วีรพรมองว่า ในชีวิตคนเรา เรื่องอาหารการกินเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวเสมอ โดยเฉพาะเมนูที่แตกต่าง หากินที่อื่นไม่ได้

“พ่อเราไม่อยู่แล้ว แต่เราก็ยังจำเมนูปลาพ่อได้อยู่เลย อาหารมันเป็นตัวแทนด้วย จำได้ว่ากินบะหมี่สำเร็จรูปครั้งแรก พ่อซึ่งกลับจากญี่ปุ่นเป็นคนต้มให้พวกเรากิน แล้วก็เขาต้องไปหาบะหมี่ซองสำเร็จรูปจากห้างไดมารู แล้วตอนหลังเวลาเรากินบะหมี่สำเร็จรูปไม่ว่ายี่ห้ออะไรก็แล้วแต่ เราก็อยากทำแบบที่พ่อเคยทำให้เรากิน เราจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากกินแบบอื่น แล้วเวลาเราเซ็งๆ เบื่อๆ เราก็จะอยากกินสิ่งนี้ขึ้นมา เหมือนกับที่อยากกินหมูสามชั้นของป้าคนนั้น หรือเหมือนที่เราอยากกินปลาทูต้มมะเขือเทศของพ่อ หรือยำใหญ่ของยาย ซึ่งเวลายายทำสมัยก่อน ความที่เครื่องมันเยอะ มันกลายเป็นมหกรรม คือหั่นกันทั้งบ้าน ทุกคนก็จะต้องมานั่งรุม ช่วยกันทำ อาหารบางจานมันจึงเป็นความสุข ไม่ได้สุขโขสโมสรอะไรมากมายขนาดนั้น แต่กินแล้วมันสบายใจ กินแล้วก็รู้สึกเหมือนตอนที่ได้กินครั้งแรกๆ ตอนเป็นเด็ก”

และความทรงจำจากเมื่อครั้งที่เรายังเด็กนั้น ก็จะถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไป แม้ไม่ได้เป็นความทรงจำที่สลักสำคัญหรือยิ่งใหญ่อะไร แต่อย่างน้อยๆ ทุกคนในครอบครัวก็จะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นลึกๆ ที่อยู่ในหัวใจนั้น

AUTHOR