เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ กับ แม่ตั้ม อาหารบ้านๆ คือภาษารักของคนในครอบครัวที่ส่งต่อให้กัน

เป็นคู่แม่ลูกที่มักจะมีโมเมนต์น่ารักๆ ออกมาให้เราเห็นกันเป็นประจำอยู่แล้ว สำหรับ ‘หมวยเขื่อน’ ภัทรดนัย เสตสุวรรณ กับคุณแม่ตั้ม – วรรณาดาลักษณ์ เสตสุวรรณ ไม่ว่าจะเป็นใส่ชุดว่ายน้ำถ่ายรูปคู่กัน หรือไปสักด้วยกัน

ถือเป็นการแสดงออกที่บ่งบอกความเป็น แม่ = เพื่อนสนิท อย่างแท้จริง

และเมื่อพูดถึงอาหารประจำบ้านที่จะมาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ทั้งคู่เลือก 3 เมนูอย่าง สตูว์หมูก้อน, ไก่อบ, สปาเกตตีทูน่า ซึ่งยังเชื่อมโยงไปถึงสายใยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวใหญ่ ที่การกินอาหารมื้อเย็นร่วมกันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนรอคอยด้วย   

แม่ = เพื่อนสนิท

การที่เขื่อนกับคุณแม่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างลงตัวนั้น ทำให้หลายคนมองว่า คุณแม่กับคุณลูกจะต้องคลิกกันมากแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วเขื่อนบอกว่า สิ่งนี้ต้องเกิดจากการมีทัศนคติที่ดีก่อน

“เขื่อนกับคุณแม่ก็มีเรื่อง generation gap มีมุมมองต่อโลก อะไรดีไม่ดี แตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่เรามีให้กันร้อยเปอร์เซ็นต์เลยคือ การเคารพและฟังกัน เราจูนกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คลิกเลย พอมีอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ ที่เขื่อนกำลังเรียนรู้ หรือคุณแม่กำลังเรียนรู้ เราจะมีพื้นที่ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นให้กัน ทำให้สามารถปรับความเข้าใจกัน และอยู่ด้วยกันได้”

คุณแม่ตั้มบอกว่า ด้วยความที่สนิทกันมาก เขื่อนจะปรึกษาแม่ทุกเรื่องตั้งแต่เด็กๆ แต่พอเขื่อนโตเป็นผู้ใหญ่ ก็กลายเป็นคุณแม่ปรึกษาเขื่อนทุกเรื่องเหมือนกัน

“อย่างเช่นตอนมีโควิดมา คุณแม่ทำธุรกิจโฮสเทล ธุรกิจก็ล่มเลย เพราะว่าไม่มีชาวต่างชาติ แล้วเป็นจังหวะที่เขื่อนกลับมาจากอังกฤษพอดี เขื่อนก็บอก แม่ เปลี่ยนลูกค้าเลย จากฝรั่งเป็นคนไทย แม่ก็ดื้อทันที ไม่ได้ คนไทยไม่เข้าใจวัฒนธรรมโฮสเทล ยังมีกลุ่มน้อยคนที่เข้าใจ แค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ เขื่อนก็บอก แม่ทำ เชื่อเขื่อน เดี๋ยวเขื่อนช่วย เขื่อนก็มาช่วยตกแต่งใหม่ แล้วก็ให้แนวคิดใหม่ ปรากฏว่าเราก็ฟื้นกลับคืนมาได้ คือตอนแรกแม่ไม่ฟังเลย เพราะแม่ถือว่าธุรกิจนี้แม่ทำมา แม่สำเร็จ แม่อยู่ของแม่มาอย่างนี้ เขื่อนจะมาเปลี่ยนแปลงได้ยังไง แต่ว่าเมื่อเราหยุดแล้วฟังเขา เพราะเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็กลายเป็นเขาซัพพอร์ตเรา” 

แม้ว่าความสัมพันธ์ของเขื่อนกับคุณแม่จะแข็งแรงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ใช่แข็งแรงแล้วอยู่อย่างนั้นตลอดไป เพราะคนย่อมเปลี่ยนแปลง

“เขื่อนว่ามันเหมือนความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ อะไรที่เราบอกว่าดี ดีในวันนี้กับดีในอีกสิบปี มันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เขื่อนกับคุณแม่สนิทกันตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ในความสนิทนี้ ต่างคนก็ต่างเติบโตในฐานะมนุษย์ แต่เราก็จะหาจุดยืนที่สามารถร่วมกันได้เรื่อยๆ เช่น พอไปเรียนโรงเรียนประจำต่างจังหวัด กลับมากรุงเทพฯ มุมมองก็เปลี่ยน ไปทำงานเป็นนักร้องก็เปลี่ยนอีก ไปเรียนต่างประเทศก็เปลี่ยนอีก แต่เราก็สามารถหาจุดที่จูนกันได้ เพราะแน่นอนถ้าเกิดสนิทแล้วแช่แข็งไว้ตั้งแต่เด็กเลย มันก็จะติดอยู่ในลูปนั้น ว่าความสัมพันธ์ต้องเป็นแบบนี้”

“ใช่ คือแม่จะมองเขาเป็นลูกเล็กตลอดก็ไม่ได้” คุณแม่เสริม “อย่าง ณ เวลานี้ กลายเป็นว่าเรา respect เขาค่อนข้างมาก เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ และอยู่ในโลกสมัยใหม่มากกว่าเรา มีอะไรเราถามเขา อยากทำอย่างนี้ ทำยังไงไม่ให้มันโบราณ ก็ต้องกลับมาเข้าหาเขา”

ความรักที่ส่งผ่านมาในเมนูอาหาร

ปัจจุบัน เขื่อนในวัย 30 ซึ่งผ่านช่วงชีวิตวัย 20 ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มากมาย ตั้งแต่เปลี่ยนอาชีพ ไปเรียนต่างประเทศ เปลี่ยนสายที่เรียน แต่งงาน กลับมาใช้ชีวิตโสด ตอนนี้เขื่อนตัดสินใจกลับบ้านมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย โดยยังเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษผ่านออนไลน์ พร้อมกับทำงานเป็นนักจิตบำบัดให้กับคลินิกที่อังกฤษผ่านออนไลน์ไปด้วยเช่นกัน เขื่อนตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบอยากเปิดคลินิกที่ไทย

เมื่อมาอยู่บ้าน เขื่อนกับแม่เหมือนกันอยู่อย่างคือ ติดบ้าน ไม่ค่อยอยากออกไปไหน และชอบทานข้าวที่บ้าน

โดยเฉพาะมื้อเย็นนั้น เป็นมื้อที่ทุกคนในครอบครัวต่างรอคอย

“บ้านเรามื้อเย็นเป็นเรื่องใหญ่มาก” คุณแม่ตั้มเล่า “Sit down dinner ทุกวัน อยู่ทานข้าวกันครบทุกคน เป็นแบบนี้มาตั้งแต่คุณแม่จำความได้ เพราะว่า ณ ปัจจุบัน คุณตา 91 คุณยาย 88 ก็ยังนั่งโต๊ะกินข้าวด้วยกันทุกวัน มีคุณแม่ เขื่อน พี่สาวของเขื่อน และพี่ชายอีกสองคนของคุณแม่ คือคุณลุงของเขื่อน ซึ่งแยกบ้านไปแล้ว ถ้าว่างปุ๊ปเขาก็จะมา เพราะเราจะทานข้าวด้วยกันทุกวันจริงๆ”

“แล้วที่บ้านจะมี Culture หนึ่งซึ่งน่ารักมาก” เขื่อนเล่าบ้าง “เขื่อนโตมาก็โต๊ะกินข้าวโต๊ะกลมตัวนี้จนถึงเขื่อน 30 ที่นั่งคือเปลี่ยนไม่ได้นะคะ เขื่อนไม่อยู่ไทย 7 ปี ไม่มีใครนั่งตรงนั้น เพราะว่านั่นที่นั่งเขื่อน คุณลุงทั้งสองคนไม่ได้เข้ามาทุกวัน ก็คือเป็นที่นั่งของเขา จะไม่มีการสับเปลี่ยนที่นั่ง ทุกคนจะมี position ของตัวเอง นั่งที่เดิมทุกวัน แล้ววุ่นวายนะ เวลามีใครนั่งผิดที่ หรือเวลามีแขกมา จะให้ใครนั่งตรงไหน วุ่นวายมาก สนุกมาก”

สำหรับเขื่อน โมเมนต์บนโต๊ะคือความรู้สึกดีๆ ที่เขาอยากมีส่วนร่วมเสมอ ตั้งแต่จำความได้

“บ้านเราจะค่อนข้างอบอุ่น คุยได้ทุกเรื่องจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องแฟน เรื่องทุกข์เรื่องสุข บนโต๊ะกินข้าวจะเหมือนกึ่ง therapy เบาๆ ใครมีอะไรก็มาแชร์ ใครมีปัญหาอะไรก็มาปรึกษา มันจะเป็นความรู้สึกอยู่ในอก เวลาไม่ได้ไปกินข้าวเย็นที่บ้าน ก็อาจจะส่งข้อความไปหา ว่าวันนี้ไม่ได้เข้าไปนะ แต่ไม่ได้ส่งไปเพราะว่ารู้สึกผิดหรืออะไร ส่งเข้าไปเพราะว่าเราอยากอยู่ตรงนั้น แต่วันนี้มาไม่ได้” เขื่อนเล่า

เรื่องเมนูอาหารนั้น ถึงแม้จะมีแม่ครัว แต่ปัจจุบันคุณยายซึ่งอายุ 88 แล้ว ก็ยังเป็นคนดูแล คุณแม่ตั้มอาจจะทำบ้างเป็นบางมื้อ แต่อาหารก็จะเหมือนๆ กัน เพราะว่าคุณแม่ก็โตมากับอาหารของคุณยาย

“บ้านเขื่อน อาหารจะค่อนข้างหลากหลาย คือคุณยายเป็นคนไอริช เพราะฉะนั้นที่บ้านอาหารจะค่อนข้าง westernized หน่อย บางทีก็มาทาง southeast asian บ้าง ผสมผสาน การทำอาหารเหมือนเป็น love language ของคุณยาย ซึ่งก็เรียนรู้มาถึงรุ่นคุณแม่ รุ่นเขื่อนด้วยว่า love language ของบ้านเราคือ ผ่านอาหาร มีช่วงหนึ่ง ทุกคนพยายามจะบอกคุณยายว่า อย่าไปทำเลย อายุเยอะแล้ว จนเขื่อนต้องบอกว่า คุณยาย 88 จริง แต่สิ่งนี้เหมือนเป็นความสุขของท่าน คุณยายท่านทำจากความรักครอบครัว เราต้องปล่อย และเคารพสิ่งที่คุณยายทำให้ครอบครัว ”

คุณแม่เสริมว่า “ถึงแม้ว่าวันไหนคุณแม่ทำกับข้าว คุณยายก็ยังจะเป็นคนดู คือคุณยายจะรู้สึกว่าต้องทำ และต้องเห็นทุกคนอิ่ม มีความสุข คอยถาม อร่อยมั้ยๆ ทั้งๆ ที่ก็ทานเป็นรสชาติประจำ รู้อยู่แล้วว่าอร่อย (หัวเราะ)”

ทั้งสตูว์หมูก้อน ไก่อบ และสปาเกตตีทูน่านั้น เป็นเมนูที่ตกทอดมาถึงเขื่อน และเป็นเมนูที่เขื่อนชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ถ้ากลับมาบ้านแล้วได้กลิ่นเมนูเหล่านี้ เขื่อนจะรู้เลยว่าเป็น good day วันนี้อาหารถูกปากเราจังเลย

“เราจะพูดมาตั้งแต่เด็กเลยว่า อาหารที่บ้านคืออาหารที่อร่อยที่สุด จนโตมาเพิ่งมาเข้าใจว่า อ๋อ มันเป็น love language ของที่บ้านจริงๆ แล้วมันมาชัดที่สุดเลยก็คือ ตอนไปอยู่อังกฤษ home sick เราจะเข้าใจว่า home sick คือการโหยหาการกลับบ้าน แต่ของเขื่อนมันกลายเป็นว่า home sick คือ คิดถึงอาหารฝีมือคุณแม่กับคุณยาย จากที่เป็นคนไม่ค่อยเข้าครัว เขื่อนพิมพ์ไปขอสูตรว่า คุณยาย ขอสูตรสปาเกตตีทูน่าหน่อยได้ไหม คุณยายกับคุณแม่ก็พิมพ์มาให้ คือเขื่อนเชื่อเลยว่ากินไปแล้วรสชาติมันไม่เหมือนเลย (หัวเราะ) แต่กินแล้วสบายใจ เลยมารู้ว่า เมนูพวกนี้สำหรับเรามันคือ comfort food เด็กๆ เราเลยคิดว่าอาหารที่บ้านอร่อยที่สุด เพราะเราทานแล้วเราชื่นใจ เรามีความสุข”

อาหารบ้านๆ

“พอพูดคำว่า อาหารบ้านๆ สิ่งที่ขึ้นมาในหัวเขื่อนคือ คำว่า homey คือความรู้สึก comfort ความสบายใจ ความรู้สึกปลอดภัย ทานแล้วรู้สึกว่าอันนี้คือรสชาติที่คุ้นเคย ทานแล้วมากกว่าโภชนาการที่ได้ก็คือ ความสุข ความใกล้ชิดกับครอบครัว” เขื่อนกล่าว 

ส่วนคุณแม่ให้นิยามว่า “อาหารบ้านๆ คือสิ่งที่ตกทอดกันมาในครอบครัว ในบ้านเรา เป็นความรักที่ให้กันลงมา เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่คุณทวด คุณตาคุณยายลงมา เพราะว่าอาหารเราก็มาแนวเดิมๆ กันลงมาจนถึงทุกวันนี้ และก็เป็นความสุขของเรา มื้ออาหารเป็นเวลาที่เราแสดงความรักซึ่งกันและกันในครอบครัว เพราะว่าทุกคนจะเอาใจใส่กันว่า มีน้ำทานหรือยัง วันนี้แกงจืดอันนี้คนนี้ชอบนะ วันนี้ทอดปลาทูนะ เรารู้ว่าคนนี้ชอบ แกะก้างให้แล้วด้วย เป็นการแสดงความรักซึ่งกันและกัน คุณหลานก็จะตักข้าวให้คุณตา คุณตาก็จะชี้ชวนให้คุณหลานทานโน่นทานนี่ แล้วเรารอมื้ออาหาร ทุกวันนั่งรอ ได้เวลาหรือยังนะ แม่ครัวจะมาเรียกหรือยัง”

 เมื่อถามว่า การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวมีความหมายและมีความสำคัญกับทั้งสองคนอย่างไร หมวยเขื่อนกับคุณแม่ตั้มผลัดกันให้คำตอบในมุมมองของตัวเอง

“คุณแม่ก็ต้องพูดว่าคุณแม่โชคดีที่เกิดมามีคุณพ่อคุณแม่ คือคุณตาคุณยายของเขื่อน ที่อบอุ่นมากๆ แล้วก็ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่จน ณ ปัจจุบันนี้ และก็ยังรักกันดี แล้วทุกวันเราก็ยังคุยกันทุกเรื่องคุยถึงเรื่องประจำวัน เรื่องอดีต อนาคตเราจะทำอะไร เหมือนสมุดบันทึกเล่มหนึ่งที่รวบรวมทุกอย่างของทุกคนเอาไว้ แล้วเมื่อไหร่ที่เปิดอ่านก็จะเจอเรื่องที่มีความสุขทั้งนั้น เพราะฉะนั้นครอบครัวคือความผูกพัน”

“ของเขื่อนเห็นใน text book เห็นในหนังสือมาตลอดเลยว่า unconditional love คืออะไร คนพยายามจะหาความหมายของ unconditional love ต้องเป็นแบบนี้ๆ นะ แต่สำหรับเขื่อน ครอบครัวนี่แหละ คุณแม่ทำให้เข้าใจความหมายของคำๆ หนึ่งโดยที่ไม่ต้องอ่านคำแปล เข้าใจผ่านการรู้สึก ผ่านประสบการณ์ ผ่านเวลา สำหรับเขื่อนครอบครัวคือทุกอย่างจริงๆ และเป็นตัวอย่างของ unconditional love ที่เรารักคนในแบบที่เขาเป็น โดยไม่ตัดสินใจ ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไง ทำอะไรก็ตาม”

และนี่ก็ทำให้เราได้เห็นว่า พลังและมุมมองในเชิงบวกที่เราได้รับจากความผูกพันของเขื่อนกับคุณแม่อยู่เสมอนั้น ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากครอบครัวที่มีความรักให้แก่กันอย่างเต็มเปี่ยม โดยมีอาหารเป็นเครื่องมือในการสื่อรักอย่างหนึ่งนั่นเอง  

AUTHOR