คุยกับทีม ‘รู้ สู้ โควิด-19’ แอนิเมชั่นสุดเป็นมิตรที่ทำให้อยู่กับโควิดอย่างมีสติมากขึ้น

Highlights

  • รู้ สู้ โควิด-19 คือคลิปวิดีโอโมชั่นกราฟิกเข้าใจง่ายที่อัดแน่นด้วยความรู้เรื่องไวรัสโควิด-19 และวิธีรับมืออย่างมีสติ
  • คลิปวิดีโอนี้ทำขึ้นโดยทีมงานเจ้าเดียวกับรู้ สู้! Flood ที่เคยสร้างกระแสไวรัลในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยยึดหลักเดิมคือการกรองข้อมูลที่ท่วมทะลักให้เหลือแต่ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ เล่าในท่าทีเป็นมิตรเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง
  • และเพราะไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตระดับโลก นอกจากเสียงบรรยายและซับไตเติลภาษาไทย พวกเขายังระดมจิตอาสาแปลซับไตเติลเป็นภาษาอื่นๆ อีกเกือบ 10 ภาษาด้วย

‘เล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย’ ไม่ใช่สกิลง่ายๆ ที่ใครก็มี

ย้อนกลับไปช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพื่อนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจรวมตัวกันทำงานจิตอาสาภายใต้ชื่อ รู้ สู้! Flood งานที่ว่าไม่ใช่การทำกระสอบทรายหรือแพ็กถุงยังชีพ แต่พวกเขาเลือกใช้ทักษะการเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเป็นเครื่องมือ รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายมาเล่าใหม่ในรูปแบบโมชั่นกราฟิกวิดีโอหน้าตาเป็นมิตร แถมยังเข้าใจง่าย สำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย จนมียอดวิวรวมกว่า 4 ล้านครั้งบนยูทูบ

“ตอนแรกทุกคนในทีมพยายามจะช่วยทำงานอาสาสมัครเท่าที่จะทำได้ วันหนึ่งเราไปช่วยกันทำกระสอบทราย ทำให้พบว่าชายผู้เรียนนิเทศศาสตร์และมีร่างกายบอบบางนั้นไม่เหมาะกับการตักทรายอย่างยิ่งเลย” อู๋–ธวัชชัย แสงธรรมชัย ผู้ก่อตั้ง Why Not บริษัทสื่อเพื่อสังคม และครีเอทีฟประจำทีมเล่าติดตลก

ว่ากันตามตรง รู้ สู้! Flood ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วม พวกเขาทุกคนเข้าใจดีว่าการผลิตสื่อโมชั่นกราฟิกไม่มีทางช่วยให้ระดับน้ำลดลง แต่สิ่งที่พวกเขาอยากจัดการจริงๆ คือการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ข้อมูลข่าวสารล้นทะลักต่างหาก 

“ยุคนั้นเป็นยุคแรกๆ ที่เรามีโซเชียลมีเดีย คนแชร์ทุกอย่าง สถานการณ์ที่น่ากลัวมากก็คือการตื่นกลัวกับข่าวลือว่าไข่หมดประเทศหรือประตูน้ำแตก ทุกอย่างวุ่นวายไปหมดและเราไม่รู้ว่าอะไรที่เชื่อได้หรือไม่ได้” อู๋อธิบายความตั้งใจแรกเริ่มของพวกเขา ซึ่งคือการช่วยให้คนดูหายใจเข้าลึกๆ ตั้งสติ และเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น เขาจึงเริ่มชักชวนเพื่อนๆ ในแวดวงคนทำสื่อ ทั้งสายโฆษณา ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ให้มาเริ่มทำโปรเจกต์นี้ร่วมกัน ก่อนจะกลายเป็นคลิปที่ไม่มีใครไม่รู้จักในช่วงนั้น

เวลาผ่านไป 9 ปี หลังเหตุการณ์น้ำท่วมสิ้นสุดทุกคนในทีมต่างแยกย้ายกันไปเติบโตตามสายอาชีพของตน กระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มหนักข้อขึ้นพร้อมกับวิกฤตการณ์ข้อมูลที่เริ่มไหลบ่าจนยากจะตัดสินว่าอะไรคือข่าวจริงหรือข่าวปลอม ทีมงาน รู้ สู้! Flood จึงตัดสินใจรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อผลิตคลิป ‘รู้ สู้ โควิด-19’ 

เช่นเคย คลิปนี้ไม่สามารถชะลออัตราการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้แต่อย่างใด หากมันกลับเกิดขึ้นเพื่อให้คนดูเข้าใจและไม่วิตกกังวลเกินเหตุกับสถานการณ์ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่เท่านั้นเอง

เมื่อดูจบ เราอดไม่ได้ที่จะตามไปพูดคุยกับทีมงานผู้ผลิต อย่าง อู๋–ธวัชชัย แสงธรรมชัย ครีเอทีฟประจำทีม, ไก่–ณฐพล บุญประกอบ อาร์ตไดเรกเตอร์, เยเมน–ศิววุฒิ เสวตานนท์ โปรดักชั่นเมเนเจอร์ และ บอม–วรรธนะ รุจิโรจน์สกุล โปรดักชั่นเมเนเจอร์ เพื่อสอบถามเบื้องหลังการทำงานในครั้งนี้ (และบางส่วนเมื่อครั้งโน้น) พร้อมฟังเรื่องราวการต่อยอดน้องวาฬสีฟ้าในวันนั้นให้กลายมาเป็นน้องวัวโควิด-19 ในวันนี้

 

การกลับมารวมตัวกันครั้งนี้เกิดขึ้นได้ยังไง

อู๋ : ส่วนหนึ่งคือมีกระแสรบเร้าจากหลายทาง ทั้งอาจารย์ที่คณะบ้าง คุณหมอที่โรงพยาบาลบ้าง ว่าอยากให้ทำรู้ สู้! Flood เวอร์ชั่นโควิด ซึ่งเราก็อยากทำแหละ แต่พออายุเยอะขึ้นก็ยุ่งมากขึ้น มีลูกต้องเลี้ยงอีก ถึงจะอยากทำแต่ก็ไม่มีกำลัง ก็เลยได้แค่ลิสต์ข้อมูลทำเป็นบันทึกเก็บเอาไว้ 

 

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้พวกคุณตัดสินใจทำมันในที่สุด

บอม : ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) เล่าถึงตอนที่เขาได้คุยกับรองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้ฟัง ทำให้ได้รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้คือภาวะที่อาจจะอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปีเลยก็ได้ จากที่เคยเข้าใจว่าไวรัสระบาดอีกสัก 2-3 เดือนก็คงซาลง แต่ความจริงคือเราจะต้องรอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีน

ดังนั้นงานนี้จึงไม่ใช่การบอกคนดูว่าโควิด-19 คืออะไร แต่มันคือการบอกให้คนเตรียมรับมือ เพราะเราไม่สามารถแก้ไขด้วยการปิดประเทศนานเป็นปีแน่ๆ ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจก็คงพังพินาศกันหมด คำถามคือแล้วเราจะอยู่ร่วมกับมันยังไง นี่คือเรื่องที่ควรต้องพูด

อู๋ : อีกส่วนที่ทำให้เราอยากทำคลิปคือปัญหาเรื่องข้อมูลเหมือนช่วงน้ำท่วม พอคนเริ่มกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มแชร์ข้อมูลเยอะไปหมด อย่างกรุ๊ปไลน์ครอบครัวนี่เป็นตัวชี้วัดสำคัญเลยเพราะสิ่งที่ส่งกันในนั้นแทบจะไม่เป็นความจริงสักอัน เกือบทั้งหมดเราไปย้อนดูแหล่งข้อมูลอ้างอิงไม่ได้ด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว เราอยู่ในจุดที่คนแพนิกจนเชื่อไปหมดทุกอย่าง ซึ่งเราคิดว่าตอนนี้แหละที่ต้องเริ่มทำอะไร

คุณตรวจสอบยังไงว่าข้อมูลในรู้ สู้ โควิด-19 เป็นข้อมูลที่คนดูเชื่อถือได้จริงๆ

อู๋ : เราใช้วิธีเดียวกับตอนรู้ สู้! Flood คือการเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิให้ได้มากที่สุด เช่น คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือมีความชำนาญในด้านนั้นจริงๆ ขั้นแรกเราก็เริ่มหาจากอินเทอร์เน็ตแหละ แต่หลังจากนั้นเราจะครอสเช็กกับแหล่งข้อมูลเชิงบุคคลอีกที เราเช็กข้อมูลจาก 2 แหล่งเป็นอย่างน้อย หลักๆ คือกรมควบคุมโรคกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บอม : แต่สิ่งที่เราพยายามบอกเสมอคือ ด้วยความที่โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ดังนั้นสถานการณ์ข้อมูลตอนนี้มันไม่มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ดังนั้นเราจึงระบุไว้ในคลิปว่าในอนาคตข้างหน้าอาจมีการค้นพบ มีงานวิจัยใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงข้อมูลตรงนี้ก็ได้ แต่นี่คือสิ่งที่เรารู้มากที่สุดและถูกต้องที่สุดในตอนนี้เท่านั้นเอง

 

เมื่อมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลแล้ว คุณจัดการข้อมูลยังไงให้คนดูเข้าใจง่ายที่สุด

อู๋ : หนึ่งในปรัชญาที่เรายึดถือและทำมาตลอดคือต้องดูคลิปนี้แล้วจบในตัว ดูคลิปนี้แล้วต้องเข้าใจ เพราะในสถานการณ์ภัยพิบัติแบบนี้ข่าวมักจะเสนอข้อมูลที่บอกแค่ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แต่รู้แล้วก็ยังไม่เข้าใจว่าอัตราการเสียชีวิตตอนนี้มันแปลว่าอะไร หรือถ้าเชื้อสามารถแพร่ผ่าน airborne (ละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน) ได้แล้วต้องทำยังไง 

ดังนั้นรู้ สู้ โควิด-19 จึงพยายามอธิบายตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานเพื่อสร้างความเข้าใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เราเชื่อว่านี่คือสิ่งสำคัญมากในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่การบอกแค่ว่า ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ต้องไม่ไปทำงาน ต้องล้างมือบ่อยๆ โดยที่คนไม่รู้ว่าทั้งหมดนี้มีความสำคัญและเชื่อมโยงกันยังไง  

บอม : อีกอย่างที่เราตั้งใจมาตลอดก็คือ เราจะไม่ชี้นำว่าคุณต้องอพยพหรือไม่ หรือคุณต้องกักตัวอยู่แต่บ้านเท่านั้น เราจะไม่บอกว่าคนที่ไม่อยู่บ้านคือผู้ร้าย เพราะคนที่มีความจำเป็นเขาก็ยังต้องออกไปข้างนอกอยู่ ดังนั้นเราจึงพยายามอธิบายว่านโยบาย social distancing เกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วถ้าคุณยังต้องออกไปข้างนอกคุณต้องทำยังไง

แปลว่าเราเน้นการทำความเข้าใจภาพรวมเป็นหลักถูกไหม

อู๋ : ใช่ มันเหมือนเพื่อนที่อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วเอามาเล่าให้เราฟังว่ามันเป็นแบบนี้เพราะอย่างนี้นะ มันไม่เหมือนกับภาษาที่นายกฯ หรือหมอมาพูดให้เราฟัง

บอม : ในกรณีโควิด-19 เราก็จะอธิบายว่าวิธีการรับมือที่ง่ายที่สุดคือการปฏิบัติตัวเสมือนว่าเราติดไวรัสไว้ก่อน เราก็จะได้ไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงให้ชาวบ้านด้วย

 

อะไรทำให้คุณยังยึดมั่นกับการใช้โมชั่นกราฟิกเล่าเรื่อง ไม่อยากลองเปลี่ยนไปทำสื่อแนวอื่นบ้างเหรอ

อู๋ : ตอนที่รวมตัวกันรอบนี้เราคุยกันเยอะมากเกี่ยวกับวิธีการเล่าเรื่องว่าจะทำรูปแบบอื่นไหม 9 ปีที่แล้วโมชั่นกราฟิกมันก็ตื่นตาตื่นใจสำหรับคนดูแหละ แต่วันนี้มันอาจจะไม่ใช่แล้วก็ได้ แต่ด้วยหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งคือตอนนั้นเริ่มมีคำสั่งปิดห้างและสถานที่ต่างๆ แล้ว ถ้าเราจะออกไปถ่ายทำก็คงยาก ดังนั้นไอเดียที่เคยคิดก็เลยถูกจำกัดตีวงแคบลงเรื่อยๆ 

สุดท้ายเราเลยได้ข้อสรุปว่าการทำโมชั่นกราฟิกในวันนี้ ถ้าเปรียบเป็นอาหารมันอาจจะไม่ใช่เมนูที่ว้าวที่สุด แต่ถ้าเรามีไข่อยู่แล้วมีคนหิวก็ต้องทำไข่เจียวนี่แหละ มันเป็นการตัดสินใจบนฐานที่ว่าเรามีอะไรอยู่ในมือ ด้วยความเร่งด่วนของมันนี่คือเรื่องจำเป็นที่คนจะต้องรู้ 

บอม : เราเคยทำสื่อรูปแบบนี้กันมาก่อน เรารู้กระบวนการทั้งหมดแล้ว และเราก็มีทีมงาน มีไฟล์ภาพที่สต็อกไว้ มีแบรนดิ้งของรู้ สู้! Flood และฐานคนติดตาม ทรัพยากรเหล่านี้พร้อมให้เราขุดขึ้นมาทำงานได้เร็วที่สุดแล้ว เร็วกว่าการทำสื่อแบบอื่นที่เราไม่เคยทำ

 

เร็วแค่ไหน

เยเมน : หลังจากที่มีบทแล้วและได้ทีมงานครบ เราใช้เวลา 6 วันในการทำคลิป 13 นาที

 

ถือว่าไวมากเลยนะ

ทุกคน : โห ไวมาก (หัวเราะ)

อู๋ : ไวอย่างกับไฟเผา 

ที่จบงานได้เร็วขนาดนี้เป็นเพราะทุกคนเป็นคนทำสื่ออยู่แล้วหรือเปล่า

อู๋ : ก็ด้วยครับ เราอาสาทำในสิ่งที่เป็นความถนัดของเรา เหมือนกับที่วิศวกรออกมาคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ ในตอนน้ำท่วมหรือโควิด-19 พวกนี้ผมคิดว่ามันเป็น skills-based volunteer หรือจิตอาสาที่อยู่บนพื้นฐานความถนัดของแต่ละคน

 

การที่แต่ละคนไม่ใช่คนทำแอนิเมชั่นมืออาชีพสร้างข้อจำกัดในการทำงานบ้างไหม

ไก่ : ด้วยความที่เรามีทักษะด้านแอนิเมชั่นน้อยก็เลยต้องพยายามทำอะไรที่เรียบง่ายและ effective ที่สุด เลยออกมาเป็นแบบที่เห็น คือเราอยากทำอะไรยากๆ อยากทำ 3 มิติ อยากทำทรานส์ฟอร์เมอร์ แต่มันทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง 

ถ้ามองให้เป็นข้อดี นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้คนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เราได้รู้ประเด็นนี้หลังจากที่เริ่มปล่อยรู้ สู้! Flood ออกไปหนึ่งตอน ว่าความเรียบง่ายของเรามันก็ดีเหมือนกัน เพราะทำให้ทุกคนรู้สึกต่อติด ดูไม่ยากเกินไปสำหรับเขา

 

กลายเป็นว่าเอกลักษณ์ของรู้ สู้! Flood คือความเรียบง่าย

ไก่ : รู้ สู้! Flood เป็นการเปรียบเปรยแบบกำปั้นทุบดิน ในครั้งนี้ก็เช่นกัน คนแข็งแรงคือคนมีกล้าม โควิด-19 ก็เป็นวัว มันไม่ใช่การมองหาลีลาที่ซับซ้อนเพราะคนดูเขาไม่ได้ต้องการความซับซ้อนในงานแบบนี้ เราก็เลยพยายามทำให้มันง่ายที่สุดทั้งต่อการเข้าใจและสำหรับเราในการผลิตด้วย เพราะทุกครั้งงานของรู้ สู้! Flood จะเป็นงานฉุกเฉินเสมอ (หัวเราะ)

 

ในแง่การเล่าเรื่อง เรามักจะเห็นการเล่าเป็นฉากๆ คล้ายแอนิเมชั่นมากกว่าอินโฟกราฟิก

ไก่ : เราว่ามันมาจากสคริปต์แหละ เพราะส่วนใหญ่อินโฟกราฟิกคือการเอาสถิติเป็นพื้นฐานในการอธิบาย แต่สคริปต์ของเราพูดสิ่งที่เป็นวิธีปฏิบัติหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมหน่อย โดยมีสถิติเป็นแค่ส่วนประกอบเฉยๆ ดังนั้นพอเราต้องหาวิธีเล่าด้วยภาพมันก็เลยออกมาเป็นแอนิเมชั่นโดยไม่รู้ตัว

อู๋ : พอเราตั้งธงไว้ว่าจะเป็นเหมือนเพื่อนที่มาอธิบายให้ฟังเราเลยไม่ได้พยายามจะเท่เท่าไหร่ คิดแค่ว่าเอาให้มันเข้าใจง่ายๆ เช่น พูดถึงนโยบายเหลื่อมเวลาทำงานเพื่อที่คนจะได้ไม่ต้องแออัดกันในลิฟต์ แทนที่เราจะอธิบายว่าเพื่อให้ผู้คนได้หลีกเลี่ยงการจราจรที่คับคั่งในช่วงเวลาจำกัด เราก็ทำภาพพี่ยามเตะตะกร้อในลิฟต์แทน ให้คนดูแล้วเห็นว่า เออ มันว่างขนาดนั้นแหละ

เห็นว่าพวกคุณเปิดรับอาสาสมัครฝ่ายกราฟิกเพิ่มเติมด้วย เพราะงานเร่งใช่ไหม

เยเมน : เริ่มจากตอนแรกเรามีอาสาสมัครทีมเก่าที่เคยทำงานด้วยกันและรู้ทางกันอยู่แล้ว ทำให้จูนกันง่ายแม้ว่าจะต้อง work from home แต่ด้วยความที่ทุกคนก็มีงานของตัวเอง จำนวนคนที่ได้มายังไม่พอ เราก็เลยประกาศตามหาอาสาสมัครเพิ่มเติม ทำให้เราได้อาสาสมัครจากเป็ดไทยสู้ภัย ซึ่งเป็นฮับที่ทำกราฟิกงานอาสาเหมือนกัน

 

การ work from home ในสภาวะงานเร่งทำให้ทำงานยากขึ้นไหม

ไก่ : การคอมเมนต์งานกลายเป็นความยากเหมือนกัน ต้องเข้าใจก่อนว่างานโปรดักชั่นไม่ว่าจะเป็นหนังหรือแอนิเมชั่นมันมีความเผด็จการอยู่เพราะมันคืองานศิลปะที่เราไม่มีมาตรวัดว่าได้มาตรฐานแล้วหรือยัง ทั้งหมดจึงอยู่ที่ผู้กำกับเป็นคนตัดสินใจ ดังนั้นพอมันกลายเป็นงานอาสาที่ทุกคนมาด้วยใจ แล้วถ้าเราจะให้เขาแก้แปลว่าเขาจะต้องทำงานหนักขึ้น 

ยิ่งพอมันเป็นการ work from home ทุกครั้งที่มีคนทำซีนใดซีนหนึ่งเสร็จมันคือการ export ส่งมาให้ผม แล้วผมก็คอมเมนต์กลับไป เขาก็จะไปแก้กลับมา การคอมเมนต์กลับไปกลับมาร้อยรอบมันเป็นเรื่องน่าหนักใจแน่นอน ซึ่งผมก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ เพราะนี่คืองานอาสา เราต้องบาลานซ์ตรงนี้ให้ดี เราไม่สามารถเอามาตรฐานการทำงานทั่วไปในสถานการณ์ปกติมาใช้กับสิ่งนี้ได้

 

เราเห็นว่าครั้งนี้คลิปของพวกคุณแอดวานซ์ มีซับไตเติลหลายภาษาด้วย

บอม : ด้วยความที่เรื่องคราวนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก เนื้อหาในคลิปก็ใช้ได้กับทุกประเทศ เราเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ถ้ามีซับไตเติลหลายภาษา

เยเมน : ถ้าเข้าไปดูในยูทูบตอนนี้จะเห็นว่ามีซับไตเติลภาษาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราทยอยแปลเพิ่มอยู่ตลอด ล่าสุดตอนนี้เรามีภาษาอังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และกำลังเตรียมภาษาสเปนอยู่ ก็มีชาวต่างชาติที่เข้ามาดูบอกว่าเข้าใจง่ายดีนะ ชอบ

และด้วยความที่เราอยากกระจายข้อมูลให้ไปถึงคนจริงๆ เราก็เลยลองหาวิธีกระจายคอนเทนต์แบบต่างๆ ทดลองเขียนแคปชั่นด้วยภาษาฟอร์เวิร์ดแชตในไลน์เหมือนเวลาคนส่งมาในกรุ๊ปครอบครัว แล้วเราก็ปรับฟอร์แมตคลิป ใส่คำอธิบายข้างบนกับข้างล่างตัวใหญ่ๆ แล้วส่งไปเป็นวิดีโอ คนจะได้ไม่ต้องกดลิงก์

สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไหม

ไก่ : เอาจริงๆ เราเริ่มทำรู้ สู้ โควิด-19 ค่อนข้างช้า คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อโรคนี้เยอะพอสมควรแล้ว เราเลยมาคุยกันว่าตกลงแล้วความคาดหวังของเราต่องานนี้คืออะไร ถ้าย้อนกลับไปตอนแรกที่เราเห็นข้อมูลเยอะเกินไปเลยอยากทำสื่อที่ทำให้พ่อ แม่ เพื่อนเราเข้าใจ ไม่ต้องแพนิก ความคาดหวังเราจึงไม่ควรมากกว่านั้น

เราไม่รู้หรอกว่าคลิปมันจะไปถึงไหน ถ้าไปถึงคนที่เขาอยากรู้มันก็ดี แต่ถ้าไม่ถึงก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องวิตกกังวล เราแค่พยายามพามันไปต่อให้ถึงคนดูเท่านั้นเอง

AUTHOR