Rompboy Flagship Store ช็อปสตรีทแวร์ที่ทำ ‘หนุ่มสาวรอมพ์บอย’ ใจเต้นกับการซื้อของได้อีกครั้ง

Highlights

  • เดินขึ้นไปยังชั้น 2 ของ Lido Connect เยือน Rompboy Flagship Store หน้าร้านแห่งแรกของรอมพ์บอย สตรีทแวร์ขวัญใจวัยรุ่น 
  • คุยเรื่องเบื้องหลังการทำร้านกับ บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ และ แยม-ศณา ศิริศักดิ์วัฒนา สองหนุ่มสาวที่ช่วยกันลงไม้ลงมือปลุกปั้นแบรนด์ Rompboy ด้วยกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
  • บู้และแยมคิดเรื่องการทำร้านละเอียดไม่แพ้กับโปรดักซ์ของแบรนด์ ไล่ตั้งแต่การตกแต่งร้าน คู่สีที่ใช้ เพลงที่เปิด กลิ่นในร้าน วิธีบริการของพนักงาน รวมทั้งการออกไอเท็มพิเศษที่วางขายเฉพาะที่นี่

หลังรู้ว่า Rompboy แบรนด์สตรีทแวร์ที่วัยรุ่นไทยคุ้นชื่อกันดี เปิด flagship store หรือช็อปแรกของตัวเองบนชั้น 2 ของ Lido Connect เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ในฐานะอดีตเด็ก ม.ปลายที่เคยตามกรี๊ดวง Slur กับเพื่อนและติดตามการเติบโตของแบรนด์ Rompboy แบบห่างๆ ในวันที่เข้าสู่วัยทำงาน นี่เป็นโอกาสเหมาะเหม็งมากๆ ที่จะหาเรื่องคุยกับมือเบสวงดนตรีขวัญใจสมัยวัยรุ่น ถามไถ่เรื่องแบรนด์ของเขาแบบตัวต่อตัวสักที

“Rompboy สวัสดีครับ”

นี่คือคำทักทายจากปาก บู้–ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ เจ้าของร้าน เคียงข้างด้วย แยม–ศณา ศิริศักดิ์วัฒนา แฟนสาวที่ช่วยกันลงไม้ลงมือปลุกปั้นแบรนด์ Rompboy ด้วยกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่เราชอบมากๆ ของร้าน Rompboy คือป้ายโลโก้สีขาวลายเส้นสีดำที่ดูน้อยๆ เรียบๆ หน้าร้าน สัญลักษณ์ที่บอกแฟนๆ ว่า ช็อปแบรนด์โปรดของพวกเขาตั้งอยู่ตรงนี้ เรายิงคำถามที่คาใจมานานไปยังคนตรงหน้าว่า โลโก้ของแบรนด์มีความหมายว่าอะไร

“Rompboy หมายถึงเด็กผู้ชายที่วิ่งเล่น ตอนคิดโลโก้เราอยากได้อะไรที่ไม่ซับซ้อนเลยนึกถึงรูปลู่วิ่ง มีแสงอาทิตย์อยู่ด้านหลัง เหมือนเด็กคนนั้นกำลังวิ่งไปข้างหน้า วิ่งไปสู่ดวงอาทิตย์อะไรอย่างนั้น”

คำตอบของบู้ฉุกเราคิดว่า แบรนด์สตรีทแวร์ที่คนลือลั่นกันว่าประสบความสำเร็จสุดๆ ในการขายออนไลน์ จู่ๆ ก็ตัดสินใจเปิดหน้าร้านขายของแบบออฟไลน์ การต่อยอดธุรกิจแนวนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับนักวิ่งมือสมัครเล่นที่เปลี่ยนมาวิ่งบนลู่วิ่งลู่ใหม่ แถมเส้นทางที่ว่าก็มีอุปสรรคใหม่ๆ ให้นักวิ่งคนนี้ได้หัดกระโดดข้าม

การวิ่งบนลู่วิ่งใหม่ของเด็กหนุ่ม Rompboy จะเป็นอย่างไร ผลักประตูเดินเข้าร้าน ฟังบู้และแยมเล่าดีกว่า

ก้าวแรกของร้าน Rompboy

“ทำไมจู่ๆ Rompboy ถึงลุกขึ้นมาเปิดหน้าร้านของตัวเอง” เราถามคนหนุ่มสาวตรงหน้า

ผมรู้สึกว่าเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ สักวันหนึ่งเราก็อยากโต ตอนนี้ผมไม่ได้มองว่า Rompboy จะต้องโกอินเตอร์หรือว่าอะไร บนออนไลน์ไม่ได้มีอะไรใหม่สำหรับเราแล้วด้วย เลยอยากจะมีพื้นที่ที่เราทำอะไรได้มากกว่าเดิม

“ปกติทุกอย่างของ Rompboy คือความลับหมดเลย ก่อนปล่อยอะไรเราจะหวงมาก ไม่อยากให้ใครเห็นจนกว่าเราจะเปิดตัว ขาย เฮ จบแล้วแยกย้ายกลับอะไรอย่างนี้ แต่การมีหน้าร้านคือเราอยากให้ลูกค้ามีโอกาสได้เจอของก่อน ให้เขาเห็นก่อนว่าเร็ววันนี้เราจะทำอะไรออกมาบ้าง”

บู้เสริมด้วยว่า หน้าร้านเป็นเหมือนพื้นที่สำหรับการทำไอเทมที่แบรนด์ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ถุงเท้า ของกระจุกกระจิก หรือว่า mini sacoche กระเป๋าผ้าใบเล็กๆ ที่เพิ่งปิดรับออร์เดอร์ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

“ผมมองว่าของเล็กๆ พวกนี้ไม่เหมาะกับการส่ง หมายถึงว่าถ้าเขาสั่งชิ้นเดียวมันไม่คุ้มกับค่าส่ง อย่างถุงเท้าคู่นี้ เราขาย 100 กว่าบาท บวกค่าส่งอีก 50 บาท ผมว่ามันทำให้ลูกค้าจ่ายแพงเกินไป เดินมาซื้อเองที่ร้านเลยน่าจะดีและประหยัดเงินกว่า นอกจากนี้ก็ดีกับลูกค้าจากต่างประเทศด้วย มาเดินสยาม ได้ซื้อ Rompboy หิ้วกลับบ้านแบบไม่ต้องเสียค่า shipping ที่เกินเหตุ”

ที่น่าสนใจคือ บู้และแยมให้ความสำคัญกับข้อมูลหลังบ้านที่พวกเขาเก็บมาตลอดหลายปีของการทำงาน อย่างเหตุผลที่เลือก Lido Connect เป็นที่ตั้งร้านก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขตปทุมวันและเขตดินแดง เพื่อให้ใกล้ลูกค้าของแบรนด์มากที่สุด ทุกอย่างจึงลงเอยที่สยาม

เพราะอยากพบเจอลูกค้าตัวจริงเสียงจริง

บู้ส่งสายตาให้กับแฟนสาว ยื่นไมค์ให้พาร์ตเนอร์คนสำคัญเล่าความตั้งใจส่วนตัวบ้าง

“เหมือนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราทำกันเองแค่สองคน เวลาที่มีคนมาบอกว่า เนี่ย แบรนด์เราดังมากในหมู่เด็ก เพื่อนที่คณะใส่กันเต็มเลย เราตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ยินนะ แต่เราไม่เคยมองว่าแบรนด์เราเป็นแบรนด์ดังอะไรเลย เหมือนเราอยู่กับเขามานานมาก เรามองเขาเป็นแค่คนธรรมดาเพราะเราทำแบรนด์กันแบบธรรมดามาก ส่วนตัวเรามองว่าการมีหน้าร้านมันทำให้เราออกมาเปิดหูเปิดตา เห็นอะไรที่ชัดเจนมากขึ้นว่า เฮ้ย มีคนให้ความสนใจเราขนาดนี้เลยเหรอ”

“เหมือนเป็นที่ที่ได้เจอลูกค้าและเห็นว่าจริงๆ แล้วแบรนด์เรามันเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เราคาดหวังไหม” บู้ช่วยย้ำ

กลับกัน หากคิดในแง่มุมของแฟนๆ พื้นที่แห่งนี้ก็เหมือนที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้พบเจอกับคนที่เราชื่นชอบ อย่างช่วงที่ร้านเปิดใหม่ๆ หากไม่ติดธุระอื่นใด บู้และแยมจะเข้ามาประจำการที่ร้านกับพนักงาน คอยแนะนำหรือตอบคำถามลูกค้าที่ตั้งใจเข้ามาอุดหนุนของในร้านพวกเขาอย่างเป็นกันเอง

“อีกอย่างคือเป็นเหมือนที่ที่ให้ลูกค้าเข้าใจคาแร็กเตอร์ของ Rompboy แบบจริงจังมากขึ้นผ่านการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า ร้านเราไม่ใช่ร้านที่ขายของ จ่ายเงินแล้วจบ แต่มันคือการให้ลูกค้ามาเจอว่ากลิ่นร้านเราจะประมาณนี้นะ ได้ยินเพลงที่เราเปิด พนักงานร้านเราต้อนรับและบริการลูกค้ายังไงบ้าง ก่อนหน้านี้ Rompboy เป็นนามธรรมมาตลอด ตอนนี้ทุกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จับได้ ลองได้ ถุงเราเป็นแบบนี้นะ เทปกาวเราเป็นยังไง ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวตนจริงๆ ของเราเป็นแบบไหน” บู้ช่วยย้ำ

“Rompboy สวัสดีครับ”

เชื่อว่าใครหลายคนที่ติดตามอ่านบนสัมภาษณ์ที่บู้เล่าถึงแบรนด์ Rompboy คงรู้กันดีว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ๆ นี้โดดเด่นจากแบรนด์อื่นคือการที่บู้ให้ความใส่ใจกับทุกรายละเอียดไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม

คำทักทายแรกและบริการของพนักงาน คือสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับคุณภาพของโปรดักต์หรือความสวยงามของร้าน

“ผมชอบขายของเลยอยากให้เด็กที่มาขายของให้ผมมีอินเนอร์เดียวกับผม เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่คุยกับน้องๆ ก็จะพยายามให้เขาเห็นว่าเราพูดกับลูกค้ายังไง หรือตอนพูดเราพูดด้วยความรู้สึกแบบไหนบ้าง เวลาพูดกับลูกค้ามันมีไดเรกชั่นในการพูดนะ เหมือนได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยเรียนแอ็กติ้งกับครูเงาะมาใช้ในการส่งพลังงานให้กับลูกค้าเลย” บู้เล่าพลางหัวเราะ

ไม่ใช่ร้าน แต่เป็นบ้าน

ในบรรดาร้านรวงในอาณาบริเวณเดียวกันนี้ ร้านที่คาแร็กเตอร์สะดุดตาที่สุดเรายกให้ Rompboy ทั้งสีสันที่เลือกใช้ การจัดแสง รวมทั้งเสียงเพลงที่เปิดคลอเบาๆ แม้จะกั้นด้านนอกด้วยกระจกใสบวกกับความกว้างของหน้าร้านที่ไม่ได้กว้างมากมาย แต่เมื่อได้ย่างเท้าเข้าไป เชื่อเถอะว่า มู้ดด้านในร้านให้ความรู้สึกต่างจากตอนยืนอยู่ด้านนอกโดยสิ้นเชิง

อย่างที่เรารู้กันดีว่าบู้และแยมเริ่มต้นทำแบรนด์แบบที่เริ่มคิดกันเอง ทำกันเอง ไอเดียการตกแต่งร้านคงเริ่มต้นจากคนทั้งคู่ ไม่ผิดแน่นอน

“หลักๆ เราชอบบรรยากาศร้านแบบไหน เราจะพยายามทำร้านเราให้ออกมาแบบนั้น คือเราสองคนชอบไปเที่ยวตามแหล่งช้อปปิ้งในต่างประเทศมาก เวลาไปเราก็ชอบเดินดูร้าน สังเกตว่าเรารู้สึกดีกับร้านแบบไหน พอจะทำร้านเราก็อยากให้ลูกค้าที่เข้ามารู้สึกดีในแบบเดียวกับที่เราเคยรู้สึก โจทย์อย่างแรกที่ตั้งไว้คือ เข้ามาแล้วเขาต้องไม่รู้สึกเขินหรือเกร็ง เหมือนเวลาเข้าร้านแพงๆ แล้วตัวแข็งอะไรแบบนั้น

“สอง เราอยากให้ร้านดูอบอุ่นเป็นกันเองค่ะ เลยพยายามทำคอนเซปต์ให้เหมือนห้องๆ หนึ่งในบ้านที่มีต้นไม้ เปิดเพลง มีกลิ่นที่สะอาด ลูกค้าเข้ามาจะได้รู้สึกสบาย กล้าที่จะหยิบของขึ้นมาดู อีกอย่างคือเราเป็นคนชอบเก็บรูป เก็บแจกัน ของแต่งบ้านอยู่แล้ว เราก็เอาของที่เราเก็บๆ มาลงที่ร้านได้อย่างเต็มที่” แยมเล่า

ส่วนของผมเนี่ย ผมรีเควสต์กับ interior designer ว่าใช้วัสดุอะไรก็ได้ แต่ขออย่างเดียวว่าต้องไม่มีเหล็กเลย ผมไม่ชอบอะไรที่เป็นโครงสร้างเหล็ก สังเกตว่าเหล็กในร้านจะน้อยมากเลยยกเว้นตัวราวแขวนเสื้อที่เป็นเหล็กเลยขอให้เขาพ่นสีดำทับอีกทีหนึ่ง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ก็เน้นไม้เป็นหลัก พื้นก็เป็นสีฟ้า พี่สาวผมบอกว่าผมเป็นคนธาตุดินอยู่กับน้ำกับไม้แล้วจะแฮปปี้ พออินทีเรียร์เอาสีฟ้า สีไม้ และสีขาวมาวางด้วยกัน ผมว่ามันดูอบอุ่น ดูลงตัวกับความเป็นบ้านดี”

“มีมุมไหนที่ภูมิอกภูมิใจเป็นพิเศษไหม” เราถามกลับ

ผมชอบแคชเชียร์ รู้สึกว่าแคชเชียร์เป็นอย่างที่จินตนาการไว้เป๊ะมาก ผมว่าร้านที่มีแคชเชียร์แบบนี้มันคลาสสิกและให้มู้ดที่น่ารักดีนะ ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า เวลาที่ผมยืนอยู่ตรงนั้นผมรู้สึกภูมิใจ แล้วก็อยากให้คนที่มาเป็นพนักงานของเรารู้สึกภูมิใจที่ได้มาเป็นพนักงานร้านเราเหมือนกัน”

 

คู่รักหนุ่มสาวที่ใช้ตู้เสื้อผ้าอันเดียวกัน

บู้กระซิบบอกเราว่า อีกหนึ่งความตั้งใจของการเปิดหน้าร้านคืออยากพรีเซนต์ Rompboy’s Girlfriend อีกหนึ่งไลน์โปรดักต์ที่แฟนสาวเป็นคนออกไอเดียและดูแลทุกอย่างด้วยตัวเธอเอง ในเมื่อเรามีโอกาสได้คุยกับแยมออกสื่อทั้งทีเลยแอบไถ่ถามเรื่องแบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้เสียเลย

“Rompboy’s Girlfriend มีมาได้ประมาณหนึ่งปีแล้ว คือเราอยู่เบื้องหลัง Rompboy มาพร้อมๆ กับพี่บู้ ทีนี้เราก็เริ่มสังเกตเห็นว่า Rompboy มีลูกค้าผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ เลย เผลอๆ ครึ่งหนึ่งเลยด้วยซ้ำ แต่พี่บู้ติดทำเสื้อผ้าไซส์ผู้ชายเพราะเขาขายผู้ชายเป็นหลัก อย่างผู้หญิงที่เขาซื้อไปใส่เองก็ต้องเอาไปเก็บเอว ตัดความยาวเอง เราเลยขอพี่บู้ลองทำเสื้อผ้าผู้หญิงสักคอลเลกชั่นขายใน Rompboy แล้วกระแสตอบรับดี มีผู้ชายมาซื้อของเราด้วยเหมือนกัน

“เรามีคาแร็กเตอร์ชัดเจนมากๆ ว่าเราคือผู้หญิงที่ชอบอะไรเหมือนกับหนุ่มๆ Rompboy เราไม่อยากใช้คำว่า Rompgirl ก็เลยพยายามใส่คอนเซปต์ไปว่าเราเห็นคนซื้อ Rompboy ไปใส่เป็นคู่กันเยอะ เลยเลือกคำว่า Rompboy’s Girlfriend แฟนสาวของหนุ่ม Rompboy น่าจะดีกว่า”

ความเป็นหนุ่มสาวรอมพ์บอยที่แบ่งปันพื้นที่ตู้เสื้อผ้าด้วยกันถูกสื่อออกมากับราวแขวนเสื้อในร้าน

“คือเราไม่อยากจำกัดว่าอันนี้เสื้อผ้าผู้ชาย อันนี้เสื้อผ้าผู้หญิง หากเขาลองแบบไหนแล้วชอบก็ซื้อกลับไปได้เลย Rompboy และ Rompboy’s Girlfriend มีความคล้ายกันอีกหนึ่งอย่างตรงที่เราเป็นเสื้อผ้าโอเวอร์ไซส์ ผู้ชายตัวเล็กก็ใส่ของผู้หญิงได้ หรือผู้หญิงก็ใส่ของผู้ชายได้” หญิงสาวเล่าด้วยยิ้ม

ลู่วิ่งใหม่ที่ทำให้เด็กหนุ่มใจเต้นอีกครั้ง

“การทำร้านมันทำให้เราได้รู้ว่าเรายังใหม่กับทุกอย่าง อย่างที่ผมบอกว่าการทำแบรนด์ในอินเทอร์เน็ตทุกอย่างมันเป็นอากาศไปหมดเลย เงินที่เรารับก็เป็นเงินอากาศ ทำอะไรออกมาลูกค้ายังไม่เห็นของก็ซื้อกันแล้ว แต่สิ่งนี้ช่วยให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการทำธุรกิจจริงๆ มันเป็นอย่างนี้นะ สิ่งที่เราต้องคิดมันมีมากมายขนาดไหน”

อีกเรื่องหนึ่งที่ร้านค้าออนไลน์ให้ไม่ได้ คือความรู้สึกใจเต้นที่ลอง หรือความรู้สึกของการที่ได้จ่ายเงินแล้วถือถุงที่บรรจุไอเทมชิ้นใหม่เดินเฉิดฉายออกมาจากร้าน จะว่าไปแล้วสิ่งที่ Rompboy ทำตอนนี้คือการเรียกความรู้สึกแบบนั้นกลับคืนมาอยู่กลายๆ 

“เราไม่ได้มองว่าเราทำจะร้าน Rompboy เพียงแค่สาขาเดียว ผมอยากให้ร้านเราเป็นเหมือนขนมหม้อแกงของเมืองนครปฐม เป็นน้ำพริกกุ้งเสียบของภูเก็ต สมมติว่าถ้า Rompboy จะมีหน้าร้านที่เชียงใหม่ หน้าร้านนั้นต้องมีโปรดักต์ที่ขายที่เชียงใหม่อย่างเดียว

“ถ้าอยากได้ของพิเศษชิ้นนี้ก็มาเจอกันที่ร้านนะ” ชายหนุ่มทิ้งท้าย


Rompboy Flagship Store

address: ชั้น 2 Lido Connect
hours: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12:00 – 21:00 น.
facebook: Rompboy

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน