Standard Archives แบรนด์เสื้อผ้าจากเศษด้ายเหลือใช้ที่ตั้งใจเล่าเรื่องความยั่งยืน

Highlights

  • Standard Archives คือแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของ กานต์ กุลอรรฆย์ ทายาทโรงงานผลิตเสื้อผ้าครบวงจรที่ใช้เศษด้ายเหลือใช้มาทอใหม่เป็นเสื้อผ้า
  • เอกลักษณ์ของ Standard Archives คือเสื้อผ้าหน้าตาเรียบง่ายคุณภาพดีที่ใส่ซ้ำได้เรื่อยๆ เพื่อลดขยะจาก fast fashion หรือแฟชั่นแบบมาไวไปไว นอกจากนั้น เขายังร่วมมือกับดีไซเนอร์และนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่เพื่อใช้เศษด้ายทำสินค้าหน้าตาน่ารักๆ ขึ้นมาด้วย และเพราะใช้ด้ายเหลือใช้นี่เอง มันจึงมีหน้าตาไม่เหมือนกันเป๊ะๆ สักชิ้น
  • ถัดจากสินค้าแฟชั่น กานต์ยังขยับขยายแบรนด์ของเขาไปทำสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่เสริมสร้างความยั่งยืนด้านต่างๆ ด้วย เช่น การนำไม้สักเหลือใช้มาทำโต๊ะเพื่อลดขยะ หรือการร่วมมือกับโรงงานเซรามิกเบญจเมธาในปัตตานีเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

เมื่อมองดูเสื้อผ้าสีสันสดใสตรงหน้า น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแต่ละตัวทำมาจากเศษด้ายเหลือใช้ทั้งสิ้น!

Standard Archives

นี่คือแบรนด์ Standard Archives ของ กานต์ กุลอรรฆย์ ที่ไม่เพียงอยากทำเสื้อผ้าที่สวย คุณภาพดี และใส่ได้นานๆ เขายังต้องการสื่อสารเรื่องแฟชั่นยั่งยืนผ่านเส้นสายลายผ้าอีกด้วย

พูดง่ายๆ วิธีการของเขาคือการใช้เศษด้ายเหลือใช้ในโรงงานของที่บ้านมาทอเป็นผืนผ้าที่ดูไม่ออกว่าทำจากของเหลือ ก่อนนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าและทำโปรดักต์อื่นๆ ช่วยลดขยะให้โลกไปในตัว มากไปกว่านั้น กานต์ยังเน้นให้เสื้อผ้าของเขามีความเรียบง่ายเพื่อให้ใส่ซ้ำได้เรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องรีบซื้อ รีบใส่ตามเทรนด์ ก่อนทิ้งให้เป็นขยะก้นตู้เสื้อผ้าเมื่อแวดวงแฟชั่นหันไปฮิตเสื้อผ้าแบบใหม่ๆ ต่อไป

Standard Archives

ระหว่างนั่งคุยกับ กานต์บอกเราว่าแบรนด์ของเขาเกิดขึ้นจากคำว่า Standard ที่แปลว่ามาตรฐาน และ Archive ที่แปลว่าการบันทึก เพื่อให้แบรนด์ทำหน้าที่เป็นบทบันทึกแห่งยุคสมัย ช่วงเวลาที่บางคนไม่ได้โหยหาแฟชั่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่สนใจแฟชั่นที่ยั่งยืน

ในวันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว เสื้อผ้าแบบใหม่ๆ หมุนวนเข้ามาในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่ทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำแบรนด์เสื้อผ้าที่เชื่อมั่นในความยั่งยืนและใส่ได้นาน มากกว่าจะกระตุ้นให้คนซื้อเสื้อผ้าของเขาอยู่บ่อยๆ

กานต์รอเราอยู่พร้อมคำตอบ

 

ลองแล้วรู้

เพราะมีต้นทุนเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าของครอบครัว กานต์จึงตั้งใจเสริมต่อธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วยการศึกษาและสั่งสมประสบการณ์สาขาต่างๆ ตั้งแต่การบัญชี กราฟิกดีไซน์ ไปจนถึงการตัดเย็บเสื้อผ้าจากออสเตรเลีย นอกจากนี้ ก่อนกลับเมืองไทย กานต์ยังลงมือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานเป็นผู้ช่วยนักออกแบบแฟชั่นอีกด้วย

เมื่อกลับมารับช่วงต่อที่โรงงานผลิตครบวงจรของที่บ้าน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่โรงพิมพ์ผ้า โรงทอ และโรงตัดเย็บ สิ่งที่กานต์เห็นจึงเป็นสารพัดของเหลือหลากหลายรูปแบบของอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งม้วนด้าย เศษด้าย สต็อกผ้า และเศษผ้านับตัน

แทนที่จะท้อถอย ปริมาณของเหลือที่ได้เห็นกลับกลายเป็นความท้าทายที่จุดประกายให้เขาเกิดคำถามว่า “เราจะจัดการของเหลือที่เห็นอย่างไร”

และนั่นเองคือที่มาของ Standard Archives

Standard Archives

เริ่มแรกในปี 2017 กานต์นำเศษด้ายที่เหลือในโรงงานมาทอเป็นผืนผ้า และตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าหน้าตาเรียบง่าย ก่อนจะเริ่มชักชวนคนรู้จักในแวดวงดีไซน์มาร่วมสนุกไปกับแบรนด์ของเขาด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Studio Marketing Materials (SMM) ที่เขาชวนหนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่างจารุตม์ จันทร์ประภานนท์ มาออกแบบลายผ้าจากด้ายที่เหลือในโรงงานซึ่งแต่ละสีที่มีจำนวนไม่เท่ากันนั้น เกิดเป็นผ้าที่มีสีแตกต่างกันออกไปเป็นเอกลักษณ์ ส่วนผ้าที่ได้ถูกนำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่หลากหลายตั้งแต่ผ้าพันคอ เก้าอี้บีนแบ็ก ไปจนถึงช่องใส่นิตยสารบนโต๊ะ

นอกจากนี้ กานต์ยังจับมือกับศิลปินที่กำลังมาแรงไม่ว่าจะเป็น Nut.Dao, Bloody Hell Big Head หรือ juli baker and summer นำด้ายเหลือใช้มาผลิตเป็นผ้าลายกราฟิกด้วย

Standard Archives

Standard Archives

“ผมมองการออกแบบเป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นเกม แก้ปัญหา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือสินค้าชิ้นใหม่จากสิ่งที่เหลืออยู่ สิ่งที่เราไม่ได้หยิบมาใช้” กานต์ว่าอย่างนั้น

แม้จะฟังดูง่าย แค่นำด้ายเหลือใช้มาผลิตเป็นผ้าให้หมด แต่กระบวนการจริงๆ นั้นไม่ง่าย ด้วยปริมาณด้ายแต่ละสีที่ไม่ได้เหลืออยู่ในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น บางครั้งเมื่อไม่มีสีที่ต้องการ วิธีแก้คือการนำด้ายสองสีมาทอรวมกันเหมือนการผสมสี เช่น ที่กานต์เคยทดลองทอด้ายสีน้ำเงินและเหลืองรวมกันให้ออกมาเป็นผ้าสีเขียวอมน้ำเงิน แต่เมื่อผ้าโดนดึงยืด ผ้าก็จะเผยสีเหลืองที่อยู่ข้างในออกมา กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่น้อยคนจะรู้ว่าเกิดจากข้อจำกัดมากกว่าความตั้งใจตั้งแต่ต้น

กานต์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่าความท้าทายกลายเป็นความสนุกในที่สุด เพราะผ้าที่ทอออกมาแต่ละชิ้นก็มีหน้าตาไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะโปรเจกต์ที่เขาทำร่วมกับ Studio Marketing Materials

“เราเห็นตรงกันว่าผ้าที่ได้มาไม่เหมือนกันทั้งความยาวและสี เวลาเอาไปทำโปรดักต์ ต่อให้เป็นโปรดักต์เดียวกันก็ออกมาหน้าตาไม่เหมือนกันสักชิ้น ถ้ามองในแง่บวกก็ต้องเรียกว่าเป็นเสน่ห์ของงานแบบนี้”

 

ใส่ซ้ำ แล้วทำให้เก๋

กานต์เล่าต่อว่าหนึ่งในเป้าหมายหลักของแบรนด์คือการทำให้การใส่เสื้อผ้าซ้ำกลายเป็นความธรรมดา เช่นเดียวกับเวลาเรานึกภาพของสตีฟ จ็อบส์ ที่ใส่เสื้อคอเต่าสีดำยี่ห้อ ISSEY MIYAKE และกางเกงยีนส์ Levi’s แบบเดิมทุกครั้ง ซึ่งทำให้เขากับเพื่อนที่เรียนแฟชั่นด้วยกันนั่งถกเถียงเรื่องความสำคัญของเสื้อผ้าและแฟชั่นมาแล้ว

ทำไมสตีฟ จ็อบส์ ถึงตัดสินใจใส่เสื้อผ้าซ้ำ? เขาทำแบบนั้นเพราะอะไร? นี่คือแฟชั่นหรือไม่? เสื้อผ้าซ้ำๆ นั้น ‘เก๋’ หรือเปล่า? คือคำถามที่กานต์และเพื่อนๆ พากันหาคำตอบ

“เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราทำคือความพยายามเปลี่ยนค่านิยมแฟชั่นกระแสหลัก ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้แล้วทิ้ง การเปลี่ยนแปลงที่เราพยายามสร้างอาจดูยากแต่ก็เป็นไปได้ด้วยความร่วมมือหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะจากวงการแฟชั่นของ นิตยสาร สไตลิสต์ ช่างภาพ นักเขียน หรือพีอาร์”

นอกจากผลิตเสื้อผ้า สิ่งที่ Standard Archives ทำจึงเป็นการเผยแพร่แนวคิดนี้ผ่านการทำแบรนดิ้งว่าการใส่เสื้อผ้าแบบเดิมซ้ำๆ คือความเท่และเหมาะสมกับสถานการณ์โลกตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเริ่มหันมาตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรในทุกมิติของการใช้ชีวิต

“ความเรียบง่ายอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำให้คนใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ กันได้ เราเลยพยายามที่จะออกแบบเสื้อผ้าที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้คนได้ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่าความสวยงามอย่างเดียว เช่น เลือกวัตถุดิบที่เหมาะกับสภาพอากาศและวิถีชีวิตของผู้ใส่ เมื่อเสื้อผ้าที่ผลิตออกมาลูกค้าสามารถใช้งานได้จริงและลงตัวกับชีวิต ผมเชื่อว่าพวกเขาจะลดความอยากในการซื้อของใหม่เอง”

Fashion VS. Anti-Fashion

ในช่วงที่กานต์ยังเป็นนักศึกษาด้านออกแบบแฟชั่น Tom Ford และ GUCCI คือชื่อของแบรนด์โปรดในดวงใจของกานต์ จนวันที่เขาได้รับโจทย์ให้ค้นคว้าเกี่ยวกับนักออกแบบฝั่งตะวันออก เขาจึงเริ่มต้นจากนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ISSEY MIYAKE, COMME des GARCONS หรือ YOHJI YAMAMOTO

แบรนด์เหล่านี้ทำให้เขาเข้าใจหลักการออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย รวมถึงเริ่มตั้งคำถามถึงการใช้งานที่แท้จริงของเสื้อผ้า มากกว่าการเน้นที่ความสวยงามเป็นสำคัญ

“พอศึกษาแบรนด์เหล่านี้มากขึ้น เราก็ตั้งคำถามว่าความสำคัญจริงๆ ของเสื้อผ้าคืออะไร เสื้อผ้าต้องเน้นไปที่การใช้งานมากกว่าความสวยงาม การผลิตเสื้อผ้าหนึ่งตัวมีค่าใช้จ่ายมากมาย มีค่าขนส่ง ค่าออกแบบ ดังนั้นเราจึงไม่ควรซื้อเสื้อหนึ่งตัวมาเพื่อใส่ครั้งเดียว นั่นคือเหตุผลที่หน้าของเสื้อผ้าของ Standard Archives ดูเรียบง่ายแบบนี้ เพราะอยากให้มีการสื่อสารเรื่อง anti-fashion อยู่ด้วย”

ไม่เพียงแค่เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น แต่กานต์ยังต่อยอดผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ด้วย เช่น ภาชนะเซรามิก โต๊ะไม้สัก ผ้าพันคอ เก้าอี้บีนแบ็ก ครีมทามือ ไปจนถึงน้ำยาทำความสะอาด โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างยาวนานและเสริมสร้างความยั่งยืนในด้านต่างๆ เช่น การหยิบไม้สักเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบและผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์หน้าตาเก๋ที่ใครๆ ก็อยากได้ หรือการร่วมมือกับโรงงานเซรามิกเบญจเมธาผลิตโปรดักต์เซรามิก เพื่อสนับสนุนธุรกิจชุมชนในปัตตานี

“เราอยากใช้สินค้าอย่างมีความคิด สิ่งที่เราทำจึงเป็นการรื้อค่านิยมและตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริโภคว่าสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้เท่านั้นจริงๆ หรือเปล่า

“ความยั่งยืนเคยเป็นเหมือนเรื่องอนาคต แต่ในวันนี้ มันเป็นเรื่องของตอนนี้ ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้วยังบริโภคเหมือนอย่างที่เราทำมาใน 50 ปีที่ผ่านมา เราจะเจอปัญหาอย่างแน่นอน ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนึกถึง”

ภายใต้เส้นสายของผืนผ้าที่ทอขึ้นมาของ Standard Archives จึงเต็มไปด้วยเนื้อหาอันหนักแน่นที่พยายามบอกให้เรามองหาทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน

หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองหยิบเสื้อผ้าของพวกเขาขึ้นมาใส่ซ้ำๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน