Taipei เมืองชุบชูใจใน Au Revoir Taipei ที่เอื้อให้ทุกคนใช้ชีวิตและมีสิทธิตกหลุมรัก

คุณเคยตกหลุมรักใครที่ร้านหนังสือไหม? หรือบังเอิญเจอใครซ้ำๆ ในสถานที่เดิมๆ จนเรารู้สึกได้ถึงพรหมลิขิตบันดาลชักพา แล้วโชคชะตาก็พาให้ได้รู้จักกันท่ามกลางบรรยากาศเมืองในยามค่ำคืน

Au Revoir Taipei (一页台北, First Page Taipei) ภาพยนตร์แนวโรแมนติกตลกร้ายตามสไตล์ไต้หวันที่ออกฉายในปี 2010 เป็นเรื่องราวอย่างนั้น ผลงานกำกับของ Arvin Chen ผู้กำกับชาวไต้หวัน-อเมริกันที่เล่าเรื่องราวของ Xiao Kai (รับบทโดย Yao Chun-yao) ชายหนุ่มผู้มาอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่ร้านหนังสือทุกวัน เพราะอยากไปหาแฟนสาวที่กำลังเรียนต่ออยู่ปารีส กับ Susie (รับบทโดย Amber Kuo) พนักงานพาร์ตไทม์ในร้านหนังสือที่ได้เจอกับไคทุกๆ วัน

โชคร้ายที่ความสัมพันธ์ทางไกลทำให้ไคกับแฟนสาวระหองระแหง แต่ไคยังพยายามจะเดินทางไปปารีสให้ได้ผ่านการรับจ้าง ‘ส่งของ’ ให้กับมาเฟียลึกลับใต้ดินเพื่อแลกกับเงินค่าตั๋วเครื่องบิน จากนั้นเหตุการณ์ลักพาตัว วิ่งหนีไล่ล่ากันแบบลุ้นระทึกปนขบขันก็เกิดขึ้น ท่ามกลางฉากหลังของตลาดกลางคืนและตรอกซอกซอยในไทเปที่ทั้งไคและซูซี่ได้ผจญภัยเล็กๆ ร่วมกัน และทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสเรียนรู้กันมากขึ้น

Au Revoir Taipei เป็นภาพยนตร์ไต้หวันที่สร้างทั้งรายได้และชื่อเสียง หนังชนะรางวัล Best Asian Film Award จาก The Network for the Promotion of Asian Cinema (NETPAC) ในเทศกาล Berlin International Film Festival 2010 มากกว่านั้นนี่ยังเป็นภาพยนตร์ที่ฉายภาพเมืองไทเปยามค่ำคืนไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้เห็นเสน่ห์ของเมืองที่แตกต่าง และตอบคำถามว่าเมืองส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนได้ยังไง

ตลาดกลางคืนที่ทอดตัวยาวเต็มไปด้วยผู้คนและควันโขมงจากของกินอร่อยๆ ร้านเกี๊ยวตรงหัวมุมถนนของครอบครัวไคที่เปิดต้อนรับผู้หิวโหยในยามค่ำคืน ตรอกซอยแคบๆ แต่ก็ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย พื้นที่ริมแม่น้ำที่ชาวเมืองมาใช้ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน หรือเป็นแหล่งแฮงเอาต์ง่ายๆ ของวัยรุ่น ลานกว้างในสวนสาธารณะที่ผู้สูงอายุออกมาเต้นรำพื้นเมืองกัน รวมไปถึงโลเคชั่นสำคัญของหนังที่ทำให้ไคและซูซี่ได้เจอกันอย่างร้านหนังสือที่เปิด 24 ชั่วโมง นี่คือไทเปในหน้าแรกที่ Au Revoir Taipei เปิดให้เราเห็น และรอคอยให้ทุกคนมาพลิกหน้าถัดๆ ไปด้วยกัน

เมืองแห่งภูเขาและแม่น้ำที่วางรากฐานอย่างดี

ไทเปคือเมืองหลวงของไต้หวัน ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะในพื้นที่แอ่งกระทะเล็กๆ ล้อมรอบด้วยภูเขาหยางหมิงซานและแม่น้ำตั้นสุ่ย ประวัติศาสตร์ของเมืองเริ่มต้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เมื่อชาติอาณานิคมอย่างชาวดัตช์และชาวสเปนสำรวจพบเกาะฟอร์โมซา (ชื่อเดิมของเกาะไต้หวัน) และเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ด้วยโลเคชั่นใกล้แม่น้ำและทะเลจึงเหมาะกับการทำธุรกิจ ติดต่อค้าขาย และส่งออกสินค้า 

ไต้หวันถูกประกาศเป็นหนึ่งในมณฑลใต้ปกครองของจีนในปี 1885 และไทเปถูกเลือกให้เป็นเมืองหลวงในปี 1894 แทนที่จะเป็นเมืองทางใต้อย่างไถหนาน ด้วยเหตุผลว่าภูมิศาสตร์เหมาะแก่การป้องกันการโจมตีจากศัตรูต่างชาติและการติดต่อค้าขายมากกว่า ในช่วงการปกครองของราชวงศ์ชิงของจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มมีการพัฒนากำแพงเมืองไทเป รวมถึงพัฒนาถนนหนทางและสถาปัตยกรรมในเมือง ซึ่งเรายังสามารถเห็นได้ในย่านต้าเต้าเฉิง ย่านริมน้ำที่เก่าที่สุดในไทเป

ในช่วงปี 1896-1945 ที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นยาวนานกว่า 50 ปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ส่งผลต่อรูปแบบอาคารในไทเป ซึ่งญี่ปุ่นได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกมาใช้ผสมกับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นโบราณ เห็นได้จากทำเนียบประธานาธิบดีในปัจจุบันที่สร้างจากอิฐบล็อก ทางเข้าประตูทรงโค้ง มีบันไดหินอ่อนหรือแม้แต่หัวเสาโครินเธียนสไตล์กรีก หรือห้องสมุดในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (The National Taiwan University Library) ที่รูปแบบอาคารดูสมมาตรและมีหน้าต่างโค้งทรงสวยงาม ไหนจะการออกแบบถนนและผังเมืองไทเปที่เป็นตารางกริดแสนเป็นระเบียบ ก็ได้มาจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่นำอิทธิพลจากชาติตะวันตกเข้ามาใช้กับไต้หวันเหมือนกัน

รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมากมายเพื่อใช้วางรากฐานการพัฒนาเมืองไทเป แผนพัฒนาที่สำคัญคือ City Planning of Inner Taipei City ในปี 1900 ที่เน้นพัฒนาไทเปในเขตกำแพงเมือง และ The Great Taipei City Plan ในปี 1932 ที่เน้นการพัฒนาเมืองเขตรอบนอกเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรและเมือง

ผลลัพธ์ที่ได้คือการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างระบบประปา ไฟฟ้า การจัดการขยะ ระบบถนนแบบบล็อกที่ขยายซอยแคบๆ และเชื่อมต่อตรอกซอกซอยต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงทำให้ชาวเมืองเดินได้สะดวกขึ้น แต่ยังเหมาะแก่การระบายน้ำขังน้ำท่วมในเมืองด้วย นอกจากนี้ยังเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น การปลูกต้นไม้บริเวณฟุตพาทกึ่งกลางถนน และเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนสาธารณะทั้งในเขตกำแพงเมืองและรอบนอกเมือง

จะเรียกว่าไทเปเป็นหนึ่งในเมืองที่มีผังเมืองดีเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียก็คงไม่ผิด เป็นผลจากการวางแผนพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อร่างสร้างเมือง และคำนึงถึงการเดินได้เดินดีมากกว่าการเอื้อประโยชน์ให้รถยนต์ ในด้านการจัดการที่ดินเป็นโซนที่อยู่อาศัยและโซนพาณิชยกรรมก็ระบุรายละเอียดยิบย่อยไว้ชัดเจน เช่น ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมใจกลางเมือง ย่านช้อปปิ้ง หรือย่านเพื่อกิจกรรมนันทนาการ ส่วนพื้นที่สาธารณะในไทเปตามย่านที่อยู่อาศัยก็มีทั้งสวนชุมชนขนาดย่อม และสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ มาเจอเพื่อนๆ หลังเลิกเรียน ส่วนพ่อแม่หรือผู้สูงอายุก็ได้ใช้เวลานั่งพูดคุยกัน และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นวัดหรือศาลเจ้าเล็กๆ เป็นศูนย์รวมของชุมชนตั้งอยู่กลางซอยเหมือนอย่างที่เห็นในหนัง

Yangmingshan National Park ภาพจาก en.infoglobe.cz

เมืองที่เอื้อให้คนออกไปใช้ชีวิตสาธารณะ

ล่าสุดใน Quality of Life Survey 2021 โดยนิตยสาร Monocle ไทเปเพิ่งถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีเป็นอันดับ 9 เป็นครั้งแรกที่ไทเปได้เข้าลิสต์นี้เพราะเหตุผลเรื่องการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ค่าครองชีพไม่แพงแต่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานนั้นครบครัน และเท่าที่เราสังเกตในฐานะผู้อยู่อาศัย ชาวไทเปเป็นคนที่มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านเข้มแข็งไม่แพ้ชาวยุโรปเลย

อาจฟังเป็นเรื่องตลกร้าย ที่ในปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทเปพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับขนาดของห้องที่เล็กลงหรือต้องแชร์ร่วมกับคนอื่น (ราคาคอนโดมิเนียมในไทเปเฉลี่ยสูงถึง 41 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ส่วนค่าเช่ารายเดือนสำหรับอพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอนใจกลางเมืองอยู่ที่ 11,000-35,000 ดอลลาร์ไต้หวัน) ทำให้ชาวไทเปไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน รัฐบาลจึงต้องยิ่งเพิ่มความสำคัญในการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะส่วนรวม เพื่อเชิญชวนให้คนออกมาใช้ชีวิตโดยไม่เฉาหรือเหงาไปเสียก่อน

เพราะเหตุนี้ในวันหยุดสุปสัปดาห์ โดยเฉพาะวันที่อากาศดีๆ คู่รักหรือกลุ่มเพื่อนในไทเปเลยมักชวนกันไปเริงร่านอกบ้าน ไม่ว่าจะไปปั่นจักรยานในเส้นทางเลียบแม่น้ำตั้นสุ่ย ที่ตลอดทั้งสายจะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะและลานกีฬาให้ชาวเมืองพักผ่อนหย่อนใจ หากเกิดน้ำท่วม พื้นที่โล่งริมแม่น้ำในไทเปยังทำหน้าที่รองรับน้ำไม่ให้เข้าสู่ย่านที่อยู่อาศัยหรือชุมชนได้ เช่นที่ Yanping Riverside Park บริเวณเมืองเก่าต้าเต้าเฉิงจะมีกำแพงสูงๆ และประตูน้ำไว้กั้นน้ำออกจากเขตบ้านเรือน 

ส่วนถ้าใครเป็นสายธรรมชาติบวกกับชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์นิดๆ การนั่งรถบัสขึ้นไปวิ่งเทรลบนภูเขาหยางหมิงซานก็เป็นตัวเลือกที่คนไทเปทุกเพศทุกวัยมักใช้เวลาร่วมกัน หรือถ้าไม่ถนัด จะปีนเขาใกล้ๆ ในเมืองอย่างภูเขา Xiangshan (หรือภูเขาช้างที่คนไทยรู้จักกันดี) ที่สามารถมองเห็นวิวตึกไทเป 101 แบบโรแมนติกสุดๆ จนถือเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งของเมือง

เมืองที่สร้างสรรค์ในทุกตารางเมตร

พื้นที่นอกบ้านที่เราว่าน่าสนใจเพราะไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้คนออกมาใช้เวลาว่าง แต่ยังสะท้อนถึงการส่งเสริมความรู้ของชาวเมืองไปในตัว คือร้านหนังสือซึ่งถือเป็นโลเคชั่นสำคัญของหนัง ใครที่เป็นแฟนประเทศไต้หวันน่าจะเคยได้ยินชื่อ Eslite Bookstore เชนสโตร์ที่มีสาขากระจายไปทั่วไต้หวัน ใน Au Revoir Taipei ถ่ายทำที่สาขาตุนหนาน (Dunnan) ซึ่งเป็นสาขาสแตนด์อโลนบนตึกขนาด 2 ชั้น (และยังมีชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น) ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 และเริ่มให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในปี 1995 เรียกได้ว่า Eslite Bookstore ถือเป็นตัวแทนของการเสนอภาพวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่เข้มแข็งของไต้หวัน แต่ที่น่าเสียดายคือปัจจุบัน Eslite Bookstore สาขาตุนหนานปิดตัวไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 เพราะหมดสัญญาเช่า แต่ยังมีสาขาซินอี้ (Xinyi Store) ในห้างสรรพสินค้าที่เปิด 24 ชั่วโมงแทน

Eslite Bookstore สาขาซินอี้ ภาพจาก rojakdaily.com

อีกตัวอย่างที่ยืนยันว่าไทเปใส่ใจเรื่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในเมืองของเขาแค่ไหน คือการมีเครือข่ายห้องสมุดสาธารณะ Taipei Public Library ที่เข้มแข็งกว่า 50 แห่ง ไม่ว่าจะอยู่เขตไหนของเมืองก็จะมีห้องสมุดชุมชนซึ่งจัดการไว้อย่างดี คุ้มค่ากับภาษีที่จ่ายไป โดยแต่ละสาขาจะเน้นหนังสือแต่ละหมวดแตกต่างกัน รวมถึงยังมี National Central Library อยู่ใจกลางเมือง ซึ่งทุกที่เข้าได้ฟรีรวมถึงชาวต่างชาติอย่างเราด้วย

สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของไทเปคือเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงละคร หอแสดงดนตรี และพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งเด่นเรื่องการดัดแปลงพื้นที่มาจากอาคารเก่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Urban Regeneration) อย่าง Songshan Cultural and Creative Park ที่ใช้พื้นที่โรงงานยาสูบเก่าแปลงเป็นห้องนิทรรศการและร้านขายของดีไซน์เก๋, Huashan 1914 Creative Park ก็เปลี่ยนโรงบ่มไวน์เป็นสวนศิลปวัฒนธรรมที่ขยันจัดนิทรรศการดีๆ ตลอดทั้งปี แถมยังเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่ตั้งใจทำให้ทุกคนเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายๆ ไม่ต้องปีนบันไดดู หรือการจัดสรรพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ใช้เป็นสตูดิโอและแสดงผลงานของตัวเองอย่างที่ Treasure Hill ในย่านกงก่วน (Gongguan) ก็เป็นการใช้ศักยภาพเมืองที่เต็มไปด้วยภูเขา มาต่อยอดวัฒนธรรมได้อย่างมีเอกลักษณ์และคุ้มค่ามาก

ไทเปยังพยายามใส่งานดีไซน์เข้าไปในการออกแบบเมืองผ่านพื้นที่สาธารณะ ถนนในย่านชุมชน รวมถึง street furniture ต่างๆ ที่ชาวเมืองได้ใช้ได้เห็นทั่วไป เช่น ถนนบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน Zhongshan ซึ่งมี installation art กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป การปรับพื้นที่ทางเดินเชื่อมระหว่างสถานี Zhongshan กับ Shuanglian ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่รองรับกิจกรรมหลากหลาย เช่น ตลาดนัดสินค้าทำมือในวันหยุดสุดสัปดาห์ ฉายหนังกลางแปลง หรือให้ศิลปินโชว์การแสดงเปิดหมวก หรือแม้แต่ในสถานีรถไฟใต้ดิน Nangang ก็ประดับตกแต่งด้วยผลงานของนักวาดภาพประกอบชื่อดัง Jimmy Liao นี่คือผลลัพธ์จากการที่ไทเปได้รับเลือกให้เป็น World Design Capital ในปี 2016 ซึ่งเทศบาลเมืองไทเปก็ตั้งใจใส่เรื่อง Urban Transformation เข้าไปเป็นนโยบายหลัก โดยทำงานร่วมกับศิลปินและนักออกแบบกว่า 800 คน ถือเป็นโครงการพัฒนาเมืองที่รัฐดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม และผลประโยชน์ก็ตกมาอยู่ที่ชาวเมืองเต็มๆ

Treasure Hill

เมืองที่ขนส่งสาธารณะถูกและดี

อีกหนึ่งคุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัวในไทเปคือระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพและราคาประหยัดมาก ซึ่งพัฒนาขึ้นผ่านแนวคิด Green Mobility ที่เชื่อมโยงระบบรถเมล์ รถไฟ จักรยาน และการเดินเท้าเข้าด้วยกันอย่างครอบคลุมและไร้รอยต่อ (seamless system) จนชาวไทเปแทบไม่ต้องพะวงเรื่องการเดินทางในแต่ละวัน เพราะสามารถจัดการเวลาได้และมีทางเลือกมากมาย

ใน Au Revoir Taipei เราจะเห็นฉากที่ไคกับซูซี่วิ่งหนีลูกน้องมาเฟียลงไปในสถานีรถไฟใต้ดินเพื่อซ่อนตัวไปกับฝูงชนจนถึงสถานีปลายทาง ระบบรถไฟใต้ดินของไทเป (Taipei Metro) ถือเป็นเครือข่ายรถไฟใต้ดินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชีย เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1996 ปัจจุบันมีถึง 6 สาย 131 สถานี ระยะทางครอบคลุมกว่า 146 กิโลเมตรทั้งในเขตเมืองไทเปและนิวไทเป แถมค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 ดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งถือว่าถูกมากๆ

รถไฟใต้ดินยังเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ (TRA) รถไฟความเร็วสูง (THSR) รถไฟสาย Airport Link และป้ายรถเมล์มากมาย ซึ่งในไทเปมีสายรถเมล์กว่า 300 สายครอบคลุมทุกย่าน นอกจากนี้เมืองยังเอาใจให้คนหันมาใช้รถไฟใต้ดินมากขึ้นด้วยการออกบัตรโดยสารรายเดือน มีโปรโมชั่นคืนเงิน 10-30 เปอร์เซ็นต์ตามจำนวนรอบที่นั่งในแต่ละเดือน หรือถ้านั่งรถไฟใต้ดินแล้วต่อรถเมล์ก็จะได้ส่วนลดอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่ายิ่งใช้ก็ยิ่งคุ้ม และการใช้ขนส่งสาธารณะก็ช่วยเปิดโอกาสให้เราได้เจอคนมากมาย เผื่อได้ปิ๊งใครที่บังเอิญเจอกันในสถานีรถไฟใต้ดิน แทนที่จะใช้เวลาอยู่แต่ในรถยนต์ส่วนตัว

ระบบเช่าจักรยาน YouBike ที่ครอบคลุมทั่วไทเปยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ชาวไทเปชอบปั่นจากสถานีรถไฟใต้ดินไปยังตรอกซอยใกล้ๆ หรือจะเช่าขี่เล่นในเมืองเฉยๆ ก็ไม่ผิด โดยนักปั่นไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะฟุตพาทในไทเปจะมีเลนจักรยานแยกต่างหากที่สามารถขี่ไปพร้อมๆ กับคนเดินเท้าได้เลย

YouBike ภาพจาก tunneltime.io

เมืองที่ไม่หยุดวิ่งไปสู่อนาคต

อย่างไรก็ตาม มอเตอร์ไซค์ยังคงเป็นยานพาหนะคู่ใจของชาวไทเปเพราะสะดวกสบายกว่าถ้าจะขับทะลุตรอกซอยย่อยๆ ในเมือง ในไต้หวันมีจำนวนมอเตอร์ไซค์มากถึง 14 ล้านคัน จากจำนวนประชากรไต้หวันทั้งหมด 23 ล้านคน เรียกว่าคนไต้หวันแทบจะเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์กันคนละคัน ภาพถนนหรือสะพานข้ามแม่น้ำที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ในยามเช้าและหลังเลิกงานคือภาพที่เราเห็นจนชินตา เฉพาะในไทเปเองก็มีจำนวนมอเตอร์ไซค์สูงเกือบ 1 ล้านคันแล้ว

แน่นอนว่ารัฐบาลไต้หวันมองเห็นว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดทั้งปัญหาการจราจรและมลพิษในอากาศ กฎหมาย Greenhouse Gas Reduction and Management Act ที่ออกมาในปี 2015 เลยตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานยนต์ให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050

แต่ในเมื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนเลิกใช้มอเตอร์ไซค์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไต้หวันก็หันมาส่งเสริมให้คนเปลี่ยนมาใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าแทน ผ่านการสร้างสถานีเปลี่ยนถ่ายและชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้ากระจายทั่วเมืองกว่า 1,825 จุด (และมีแผนที่จะไปให้ถึง 5,000 จุดภายในสิ้นปี 2022) ที่คนขี่สามารถเข้ามาชาร์จแบตเตอรี่อันเก่าไว้ แล้วเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ไปได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลารอ

ผู้เล่นคนสำคัญคือ Gogoro สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งเมื่อปี 2011 ที่ลงเล่นในตลาดสกูตเตอร์ไฟฟ้าจริงจังแถมยังได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนของรัฐบาล ในปี 2019 Gogoro ขยับจากการให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่มาพัฒนาระบบเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า GoShare ของตัวเอง แข่งกับเจ้าเดิมอย่าง WeMo ให้ผู้ใช้งานสามารถจองสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่จอดกระจายอยู่ทั่วเมืองได้จากแอพพลิเคชั่น โดยชาวไทเปอาจไม่ต้องซื้อมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเองอีกต่อไป ถือเป็นการทำธุรกิจในแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและส่งเสริมภาพลักษณ์เมืองที่มุ่งไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนจนเราเอาใจช่วย

เรายืนยันว่าการได้ขี่มอเตอร์ไซค์ (หรือนั่งซ้อนท้ายใครสักคน) ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำระหว่างเมืองไทเปกับนิวไทเปตอนค่ำคืนให้ลมเย็นๆ พัดผ่านตัวไปนั้น ถือเป็นกิจกรรมโรแมนติกที่เฉพาะตัวแบบไทเปมากๆ ถ้าใครมีโอกาสก็ขอแนะนำให้มาลองกันสักครั้ง

และถ้าอยากสัมผัสวิถีชีวิตคนไทเปแท้ๆ อีกอย่าง เราแนะนำว่าตลาดกลางคืนก็เป็นเสน่ห์ของเมืองที่จะเปิดโลกให้เราเห็นว่าคนที่นี่เขากิน อยู่ และเป็นแบบไหนกันจริงๆ ใน Au Revoir Taipei เราจะเห็นฉากวิ่งหนีไล่จับกันในพื้นที่ตลาดกลางคืนไทเปที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย สะท้อนให้เห็นว่าไทเปเป็นเมืองที่คึกคักในยามค่ำคืนขนาดไหน (แถมยังเป็นเมืองตื่นสาย เพราะไม่ค่อยมีตลาดเช้าเท่าไหร่นัก) จุดเริ่มต้นของตลาดกลางคืนเกิดในยุคปี 50s-60s ซึ่งแรกเริ่มมันเป็นเหมือนแหล่งพึ่งพิงของแรงงานต่างชาติที่ต้องการหาของกินเล่นราคาถูก จนพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มอบความอิ่มท้องและเพลิดเพลินให้ทั้งคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้ไทเปมหาศาล มากกว่าของกินเล่นที่เดินซื้อได้เพลินๆ ยังมีโซนช้อปปิ้งและเกมการละเล่นเก่าๆ อย่างปาลูกดอกชิงตุ๊กตา หรือโซนขายของแปลกๆ (เช่นที่ Huaxi Night Market ใกล้วัดหลงซานมีโซนขายงูตัวเป็นๆ) ตลาดกลางคืนเลยเป็นพื้นที่ในไทเปที่ชวนให้เราเห็นความคึกคัก บ้านๆ และอาจจะดูโช้งเช้งตามสไตล์คนไต้หวันไปบ้าง แต่ก็เป็นธรรมชาติของคนไทเปจริงๆ

klook.com

เมืองแรกในเอเชียที่เราทุกคนได้เป็นตัวเอง

ประเด็นสุดท้ายที่เราอยากเล่าในฐานะเมืองโรแมนติก คือการขับเคลื่อนสิทธิของชาว LGBTQ+ ที่ไต้หวันรุดหน้าไปไกลเพราะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตั้งแต่ปี 2019

ในปี 2020 มีจำนวนคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสแล้วกว่า 2,387 คู่ และคนไต้หวันยังมีความคิดเปิดกว้างเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศค่อนข้างสูง ผลสำรวจเมื่อปี 2020 โดยองค์กรที่ชื่อว่า Equal Love Taiwan ระบุว่า 65 เปอร์เซ็นต์รับได้หากสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเพื่อนร่วมงานเป็นคนรักเพศเดียวกัน และเกือบครึ่งบอกว่ารับได้หากคู่รักเพศเดียวกันจะจูบกันในพื้นที่สาธารณะ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคู่รักชาวไต้หวันมากๆ)

การเติบโตของงาน Taiwan Pride ในไทเปที่รัฐบาลไต้หวันและเทศบาลเมืองไทเปจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2003 ที่มีคนร่วมงานเพียงแค่หลักพัน สู่ปี 2019 ที่คนรวมงานสูงถึง 170,000 คน ก็ยืนยันได้ว่าพื้นที่ของชาว LGBTQ+ ในไต้หวันถูกเปิดออกแล้ว และยิ่งส่งเสริมให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงตัวตนของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

ในไทเปเองมีสถานที่หลายแห่งที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาว LGBTQ+ อย่างสวนสาธารณะ 228 Peace Memorial Park ที่เป็นจุดนัดพบเจอกันของชาวเกย์ในสมัยที่ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้, ร้านหนังสือ GinGin Store ที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับ LGBTQ+ และ Gender Studies โดยเฉพาะ ในช่วงไม่กี่ปีหลังไทเปยังประดับตกแต่งเมืองด้วยสัญลักษณ์สีรุ้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในเดือนมิถุนายน (pride month) และอีเวนต์ Taiwan Pride ช่วงเดือนตุลาคมไปด้วยกัน เช่นที่ทางเดินหน้า Taipei City Hall Square และทางข้ามถนนย่านช้อปปิ้งซีเหมินติง ซึ่งกลายเป็นย่านใจกลางเมืองที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ไปแล้ว เพราะเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และผับบาร์ที่เป็นคอมมิวนิตี้ย่อมๆ ให้ได้แสดงความรักซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ชาว LGBTQ+ ในไต้หวันก็ยังต้องต่อสู้กับสิทธิของพวกเขาเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไปถึงจุดที่เรียกว่าเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง

ไทเปเป็นตัวอย่างเมืองโรแมนติกในแถบเอเชียที่เราเห็นได้จากวิถีชีวิตเรียบง่ายแต่มีคุณภาพ ถึงจะเป็นเมืองหลวงของไต้หวัน แต่คนไทเปก็ยังมีจังหวะชีวิตที่เนิบช้า ไม่ได้เร่งรีบ ความสบายๆ และเป็นมิตรของคนไทเป (และคนไต้หวัน) ที่เราสัมผัสมา อาจเป็นผลมาจากเมืองที่ถูกจัดการและออกแบบมาอย่างดีจนคนที่นี่ไม่มีเรื่องใดๆ ให้หงุดหงิดในชีวิตประจำวัน เพราะอย่างนี้เราถึงอิจฉาคนไทเปที่มีรัฐบาลและเทศบาลเมืองที่เอาจริงเอาจังและตั้งใจพัฒนาเมืองอย่างคุ้มค่าภาษี จนเราสามารถสัมผัสคำว่าชีวิตดีๆ ที่ลงตัวได้ไม่เกินจริงที่ไทเป 

และก็เพราะชีวิตดีๆ ที่มีเวลาว่างให้ออกไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะแบบนี้เอง เราอาจได้พบเจอคนที่เป็นเนื้อคู่กันในร้านหนังสือ สวนสาธารณะ ตลาดกลางคืน หรือแม้แต่ในขบวนรถไฟใต้ดิน โดยไม่ต้องหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากวัดดังอีกต่อไป (แต่ใครจะไปไหว้ก็ไม่ขัดศรัทธานะ)


Recommended Romantic Places in Taipei

Dadaocheng (大稻埕)

ย่านต้าเต้าเฉิงเป็นย่านเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ปัจจุบันเทศบาลเมืองไทเปฟื้นฟูให้เป็นย่านสร้างสรรค์ หยิบเอาธุรกิจของคนรุ่นใหม่แทรกตัวไปกับร้านค้ายาจีนในอาคารเก่าไว้อย่างลงตัว นอกจากถนน Dihua Street ที่เดินสนุกได้ทั้งวัน ยังมีพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ Yanping Riverside Park และ PIER 5 ไลฟ์คอมมิวนิตี้ขนาดย่อมตรงท่าเรือที่เปิดขายเบียร์และของกินเล่นจุกจิก ในวันอากาศดี มีแดดและเมฆพอประมาณ ที่นี่เหมาะมากสำหรับการพาแฟนมาเดต เดินเล่น กินขนมเบาๆ แล้วรอช่วงเวลาเมจิกโมเมนต์ที่พระอาทิตย์จะตกลงแม่น้ำตั้นสุ่ย หนึ่งในจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในไทเป

Daan Forest Park (大安森林公園)

สวนสาธารณะใจกลางไทเปที่ให้บรรยากาศน้องๆ Central Park ในนิวยอร์กไม่น้อย นอกจากจะเป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ธรรมชาติและต้นไม้มากมายแล้ว ยังมีพื้นที่อเนกประสงค์ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งครอบครัว อย่างลานออกกำลังกาย ลานเล่นสเก็ตบอร์ดขนาดย่อม สนามเด็กเล่น สเตจสำหรับกิจกรรมการแสดงหรือโชว์ดนตรี พื้นที่กว้างขวางของสวนยังเหมาะสำหรับการเป็นสถานที่แรกของคู่เดตที่จะใช้เวลาเดินเล่นและพูดคุยทำความรู้จักกัน แล้วก็พากันไปกินของอร่อยๆ แถวนั้นต่อ

Beitou Hot Spring

อีกหนึ่งกิจกรรมห้ามพลาดในฤดูหนาวของไต้หวันและเป็นกิจกรรมโรแมนติกจนชวนหน้าแดงมากๆ คือการพาไปแช่น้ำร้อนธรรมชาติที่เขตเป่ยโถว ถึงจะไม่ได้อยู่ในตัวเมืองไทเปแต่ก็สามารถเดินทางไปง่ายๆ ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่นี่มีทั้งบ่อน้ำร้อนสาธารณะ หรือถ้าใครเขินอายและอยากได้ความโรแมนติกส่วนตัวก็มีโรงแรมและรีสอร์ตน้ำพุร้อนมากมายให้เราจองห้องแช่น้ำร้อนแบบส่วนตัวสำหรับ 2 คน พร้อมเซตอาหารที่ขายเป็นแพ็กเกจในหลายระดับราคา อาจฟังดูเป็นกิจกรรมธรรมดาๆ แต่เราเชื่อว่าถ้าได้แช่น้ำร้อน พูดคุย และพักผ่อนร่วมกัน แค่นี้ก็ช่วยเยียวยาจิตใจและได้ชุบชูความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้วล่ะ


อ้างอิง

Ping-Sheng Wu, (2010). Walking in Colonial Taiwan: A Study on Urban Modernization of Taipei, 1895-1945, Journal of Asian Architecture and Building Engineering, 9:2, 307-314.

adaymagazine.com

blakestephenanderson.medium.com

english.tpml.gov.taipei

english.udd.gov.taipei

goingthewholehogg.com

ngthai.com

taipeitimes.com

taipeitimes.com 2

taiwannews.com

toolkit.culture.tw

travel.taipei

wdc2016.taipei

worldcitiescultureforum.com

AUTHOR