แนะนำ 8 Creative Park ไม่ลับแต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้ทั่วไต้หวัน

Highlights

  • ต้นกำเนิดของสวนศิลปวัฒนธรรมในไต้หวัน เกิดจากคณะละครที่ลักลอบเข้าไปเปิดการแสดงในพื้นที่โรงบ่มไวน์ที่ถูกทิ้งร้างของรัฐบาล จากนั้นศิลปินถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดทรัพย์สินของรัฐ จึงเกิดเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปินให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่ร้างนั้นมาใช้ประโยชน์ในฐานะพื้นที่เพื่อศิลปะ
  • หลังจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้นรัฐบาลได้นำไอเดียการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาชาติจนถึงปัจจุบัน
  • เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของไต้หวันก็จะเจอสวนศิลปวัฒนธรรมได้ไม่ยาก คอลัมน์ ‘made in Taiwan’ โดยวรรษมน โฆษะวิวัฒน์เลยรวบรวมสวนศิลปวัฒนธรรมทั่วไต้หวันที่โดดเด่นและน่าสนใจมาฝาก

ไต้หวันขึ้นชื่อมากในเรื่อง Cultural and Creative Park หรือในภาษาไทยก็คงเรียกว่า ‘สวนศิลปวัฒนธรรม’ ซึ่งเกือบทั้งหมดได้นำพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างเก่าในอดีตที่หมดประโยชน์และถูกทอดทิ้งในปัจจุบันให้กลับมามีสีสันขึ้นอีกครั้งในฐานะพื้นที่สาธารณะที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ของไต้หวัน

เชื่อว่าหลายคนที่เคยมาไต้หวันแล้วก็คงไม่พลาดไปเยี่ยมสวนศิลปวัฒนธรรมสักแห่ง ที่ได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็เช่น Huashan 1914 Creative Park, Songshan Cultural and Creative Park และ Si Si Nan Cun Village เพราะทั้งสามแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางไทเป ติดรถไฟฟ้า แต่นอกจากในไทเปแล้ว ไต้หวันยังมีพื้นที่สาธารณะในลักษณะของสวนศิลปวัฒนธรรมกระจายตัวอยู่ทั่วเกาะ

ต้นกำเนิดของสวนศิลปวัฒนธรรมอาจเริ่มขึ้นเมื่อปี 1997 ที่คณะละคร Golden Bough Theatre ลักลอบเข้าไปเปิดการแสดงในพื้นที่โรงบ่มไวน์ที่ถูกทิ้งร้างของรัฐบาล หลังจากนั้นศิลปินก็ถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดทรัพย์สินของรัฐ จึงเกิดเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปินให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่ร้างนั้นมาใช้ประโยชน์ในฐานะพื้นที่เพื่อศิลปะ

และพื้นที่ตรงนั้นก็ได้กลายมาเป็น Huashan 1914 Creative Park ในปัจจุบัน

หลังการเคลื่อนไหวครั้งนั้น นอกจากรัฐบาลไต้หวันจะรับฟังความเห็น เข้าปรับปรุงพื้นที่ Huashan ให้เป็นสวนศิลปวัฒนธรรมแล้ว ไอเดียการนำพื้นที่ร้างที่รัฐบาลครอบครอง 5 แห่ง (รวม Huashan) มาใช้เป็นสวนศิลปวัฒนธรรมยังถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาชาติเป็นครั้งแรกในปี 2002 ด้วยงบประมาณ 5.7 พันล้านเหรียญไต้หวัน และปัจจุบัน พ.ร.บ.การพัฒนาวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ยังได้ระบุถึงการปล่อยเช่าพื้นที่ที่รัฐเป็นเจ้าของแต่ไม่ได้มีการใช้งานเพื่อสาธารณะให้เป็นพื้นที่เพื่อศิลปวัฒนธรรม

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของไต้หวันก็จะเจอสวนศิลปวัฒนธรรมได้ไม่ยาก เราเลยรวบรวมสวนศิลปวัฒนธรรมทั่วไต้หวันที่โดดเด่นและน่าสนใจมาไว้ในที่เดียว หมดโควิดเมื่อไหร่ไปเที่ยวไต้หวันอีกครั้งจะออกไปดูงานศิลปะที่เมืองอื่นนอกไทเปบ้างก็ได้

 

1. Huashan 1914 Creative Park (ไทเป)

ตัวเลข 1914 บนชื่อก็คือปีที่อาคารเริ่มถูกใช้ในฐานะโรงบ่มไวน์เอกชน จนเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศผูกขาดสินค้าแอลกอฮอล์ก็ได้เข้ายึดครองเป็นเจ้าของรายที่ 2 จนกระทั่งปี 1987 เมื่อมีการสร้างโรงบ่มไวน์แห่งใหม่ ที่นี่ก็ถูกทิ้งร้างไป สุดท้ายด้วยการเรียกร้องจากภาคประชาชนและโชคดีที่รัฐบาลก็ให้ความสนับสนุน พื้นที่ตรงนี้จึงได้กลายเป็น Huashan 1914 Creative Park สวนศิลปวัฒนธรรมที่สามารถสร้างกำไรขึ้นจากการบริหารพื้นที่อย่างในปัจจุบัน ที่นี่มีทั้งพื้นที่ร้านค้า ร้านกาแฟ พื้นที่จัดนิทรรศการ ฮอลล์คอนเสิร์ต และโรงภาพยนตร์นอกกระแส

 

2. Songshan Cultural and Creative Park (ไทเป)

ประวัติของที่นี่คล้ายกับที่ Huashan 1914 คือสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นเป็นโรงงานยาสูบสมัยใหม่แห่งแรกของไต้หวันก่อนจะถูกรัฐบาลเข้าผูกขาดเช่นกัน สถาปัตยกรรมของที่นี่ถือว่าโดดเด่นมากในสมัยนั้น พอหมดสมัยของโรงงานยาสูบก็เปิดบริการเป็นสวนศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011 ตัวอาคารเก่าถูกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและร้านค้าต่างๆ บางส่วนแม้จะไม่เปิดให้บริการแต่ก็ยังสามารถเดินไปเยี่ยมชมจากด้านนอกได้ ที่นี่มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก มีสระน้ำที่อุดมสมบูรณ์อยู่ข้างใน และเป็นที่ตั้งของ Eslite Spectrum ร้านหนังสือชื่อดังด้วย

 

3. Si Si Nan Cun Village (ไทเป)

อดีตหมู่บ้านทหารที่อพยพมาไต้หวันพร้อมกับรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ผู้อยู่อาศัยที่หมู่บ้านนี้เป็นกองทหารจากเมืองชิงเต่าที่เมื่อขึ้นฝั่งที่ไต้หวันแล้วก็ไม่คิดว่าจะต้องตั้งรกรากอยู่ยาวนาน พวกเขาคิดว่าจะเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์และกลับบ้านเกิดได้ในไม่กี่ปี จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตกแต่งตัวอาคารนัก ภายหลังเมื่อไม่ได้กลับไปยังบ้านเกิด รัฐบาลไต้หวันก็สนับสนุนให้ครอบครัวทหารเหล่านี้ย้ายออกไปในย่านที่ดีกว่าเดิม หลังชาวบ้านย้ายออกหมดในปี 1999 ก็ได้ยื่นเรื่องให้รัฐบาลอนุรักษ์กลุ่มอาคารเก่าเหล่านี้ไว้ Si Si Nan Cun Village เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะในปี 2003 มีส่วนจัดแสดงนิทรรศการชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านทหาร หอประชุม ร้านค้า ร้านอาหาร และตลาดนัดของทำมือทุกวันเสาร์-อาทิตย์

 

4. Banqiao 435 Art Zone (นิวไทเป)

พื้นที่สร้างสรรค์ในเมืองนิวไทเป อดีตเคยเป็นที่ทำการของสำนักงานทหารผ่านศึกโดยมีอาคารหลักสไตล์นีโอคลาสสิกเป็นจุดเด่น เมื่อสำนักงานย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่เมื่อปี 1985 ก็ถูกทิ้งร้างไป จนปี 1996 สำนักงานเขตป่านเฉียวเข้าไปปรับปรุงและเปิดเป็นสวนศิลปวัฒนธรรม ที่นี่โด่งดังในเรื่องพื้นที่สำหรับครอบครัว มีลานให้เด็กวิ่งเล่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บนทางเดินด้านนอกอาคารก็จะมีเด็กๆ ใช้ชอล์กมาวาดรูประบายสีบนพื้นเป็นสีสันตลอดทาง ส่วนจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ จะอยู่ด้านในตัวอาคาร

 

5. The Pier-2 Art Center (เกาสง)

ที่ชื่อเป็นท่าเรือเพราะว่าในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นท่าเรือพาณิชย์ของเมืองเกาสงมาก่อน บรรดาสิ่งปลูกสร้างเก่าตรงนี้จึงทำหน้าที่เป็นโกดังเก็บสินค้า และเช่นเคยที่มันถูกทิ้งร้างมาหลายปีเมื่อหน้าที่ดั้งเดิมหมดความสำคัญ จนเมื่อปี 2006 กิจการวัฒนธรรมของสำนักงานเมืองเกาสงก็เข้าปรับปรุง จัดนิทรรศการศิลปะและการแสดงต่างๆ ขึ้นในบริเวณพื้นที่โกดังสินค้าเก่าจนกลายเป็นสวนศิลปวัฒนธรรมประจำเมือง หนึ่งในสถานที่สำคัญของเกาสง และเป็นสถานที่สำคัญสำหรับวงการศิลปะทางภาคใต้ของไต้หวัน

 

6. Hualien Cultural and Creative Industries Park (ฮวาเหลียน)

เมืองฮวาเหลียน—ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติทาโรโกะก็มีสวนศิลปวัฒนธรรม โดยที่นี่เคยเป็นโรงบ่มไวน์เหมือนกันกับที่ Huashan 1914 ลักษณะสถาปัตยกรรมก็เลยจะคล้ายๆ กัน แต่จะมีลานกว้างที่ทำให้มองเห็นอาคารรอบๆ ชัดเจน ตรงนี้เราชอบกว่าในไทเปเพราะมันชวนให้รู้สึกปลอดโปร่งกว่า ที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเข้าปรับปรุงในปี 2002 และล่าสุดปีนี้ก็กำลังจะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยทางทีมบริหารได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยว่าต้องการให้มีอะไรเพิ่มเติมหรืออยากให้พื้นที่แห่งนี้ปรับปรุงอะไรเป็นพิเศษ

 

7. Shenji New Village (ไถจง)

Shenji ในภาษาจีนคือพนักงานตรวจสอบบัญชี ในอดีตที่นี่เป็นบ้านพักของพนักงานตรวจสอบบัญชีที่ถูกสร้างขึ้นเสร็จสมบูรณ์ในปี 1969 ถูกทิ้งร้าง (อีกแล้ว!) ในปี 1998 ก่อนจะกลับมาในฐานะพื้นที่สร้างสรรค์เมื่อปี 2014 ด้วยความร่วมมือระหว่างกลุ่มศิลปิน ผู้ประกอบการท้องถิ่น และรัฐบาลท้องถิ่นไถจง ตัวบ้านพักของพนักงานบัญชีจะมีลักษณะเล็กกะทัดรัดและทาด้วยสีเหลืองอ่อนสบายตา พอถูกเปลี่ยนโฉมเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ความน่ารักนี้เลยกลายเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่นๆ ภายในหมู่บ้านเล็กๆ นี้อัดแน่นไปด้วยร้านค้าจากศิลปินท้องถิ่นที่ต้องค่อยๆ สำรวจไปทีละห้อง และยังมีตลาดนัดของทำมือจัดที่ด้านนอกอาคารด้วย

 

8. Hinoki Village (จยาอี้)

ที่สุดท้ายโดดเด่นด้วยกลุ่มอาคารแบบญี่ปุ่นสร้างจากไม้ฮิโนกิ 28 หลัง อดีตหมู่บ้านของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาวญี่ปุ่น ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟที่สมัยก่อนวิ่งขึ้น-ลงเขาอาลีซานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมป่าไม้ กลุ่มอาคารเหล่านี้สร้างขึ้นในปี 1914 ประกอบไปด้วยบ้านพักเดี่ยว บ้านพักสำหรับครอบครัว รวมไปถึงโรงอาบน้ำ แน่นอนว่าบทบาทของมันจบลงพร้อมกับการเลือนหายไปของอุตสาหกรรมผลิตไม้ แต่เพราะมันเป็นกลุ่มอาคารสไตล์ญี่ปุ่นที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในไต้หวัน จึงได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2005 เริ่มปรับปรุงในปี 2009 จนแล้วเสร็จในปี 2012 ก็ได้เผยโฉมใหม่ในฐานะพื้นที่สาธารณะ ที่เป็นทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ ร้านค้าท้องถิ่น ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ที่ยังคงอบอวลกลิ่นหอมของไม้สนญี่ปุ่นฮิโนกิจนกระทั่งปัจจุบัน

 

อ้างอิง

law.moj.gov.tw

taiwantoday.tw

ภาพ

facebook.com/1914CP

435.culture.ntpc.gov.tw

facebook.com/pier2art

travel.taichung.gov.tw

travel.chiayi.gov.tw

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ