Amsterdam เมืองเยียวยาใจที่คืนชีวิตให้เฮเซลและออกัสตัสใน The Fault in Our Stars

ภาพยนตร์โรแมนติกหลายเรื่องมักจบลงที่การลงเอยของคนรักสองคน แต่บางเรื่องหนังก็ตั้งใจบอกคนดูว่าต่อให้ไม่ได้อยู่ด้วยกันนานเท่านาน แต่ความสัมพันธ์และเรื่องราวมากมายที่คนสองคนเผชิญมาด้วยกันนั้นจะยังอยู่ตลอดไป The Fault in Our Stars ภาพยนตร์อเมริกันที่ผู้กำกับ Josh Boone ดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีของ John Green เป็นหนึ่งในนั้น

The Fault in Our Stars ฉบับภาพยนตร์นำแสดงโดย Shailene Woodley รับบทเป็น Hazel เด็กสาวอายุ 16 ปีที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งและต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากด้วยการต่อท่อหายใจตลอดเวลา และ Ansel Elgort รับบทเป็น Augustus เด็กหนุ่มอายุ 17 ผู้สูญเสียขาไปเพราะโรคมะเร็งเช่นกัน การโคจรมาเจอกันของหนุ่มสาวที่มีบาดแผลในชีวิตกลับช่วยให้ทั้งคู่กล้าหาญ แข็งแกร่ง และได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหวัง

เหตุการณ์สำคัญที่พลิกผันเรื่องราวของเฮเซลและออกัสตัส เกิดขึ้นเมื่อเฮเซลต้องการเดินทางไปหานักเขียนเจ้าของหนังสือเล่มโปรดที่อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์

ถึงโลเคชั่นที่ใช้ถ่ายทำในอัมสเตอร์ดัมจะมีแค่ไม่กี่แห่ง แถมโปรดักชั่นการถ่ายทำก็ใช้เวลาแค่ 3 วัน (โลเคชั่นหลักของหนังถ่ายที่รัฐเพนซิลเวเนีย อเมริกา) แต่ภาพของอัมสเตอร์ดัมก็ถูกฉายให้เห็นเสน่ห์และความโรแมนติกชัดเจนมากๆ ในภาพยนตร์ จนแฟนหนังหลายคนอยากเดินทางไปตามรอยทันที ไม่ว่าจะบรรยากาศที่แสนมีชีวิตชีวาของบ้านเมืองที่เฮเซลและออกัสตัสได้ชมตอนล่องเรือในคลองอัมสเตอร์ดัม รถราง (Amsterdam’s trams) ขนส่งสาธารณะที่ชาวเมืองยังใช้กันเป็นปกติ เสียงบรรเลงไวโอลินเพลง L’inverno ของ Vivaldi ที่นักดนตรีกล่อมให้เมืองอัมสเตอร์ดัมยามค่ำคืนไม่เงียบเหงา หรือ Anne Frank House ที่ทำให้เกิดซีนโรแมนติกของทั้งคู่ (แต่เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในสถานที่จริง ทีมโปรดักชั่นจึงจำลองบ้านของแอนน์ แฟรงก์ ขึ้นมาใหม่) รวมไปถึงม้านั่งริมคลองที่กลายมาเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองหลังหนังออกฉาย

ทริปอัมสเตอร์ดัมเพียงแค่สั้นๆ ทว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายใน The Fault in Our Stars ก็เกิดขึ้นที่นี่ ในบรรยากาศเมืองที่เพียบพร้อมไปด้วยชีวิตชีวา ศิลปะ และสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจมากมายที่ไม่เพียงส่งผลต่อความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่คนดูอย่างเราก็ได้อิ่มเอมไปกับเมืองแห่งคูคลองและเมืองหลวงแห่งจักรยานเมืองนี้ ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสรเสรี เหมือนอย่างที่เฮเซลและออกัสตัสได้ใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาอยากจะเป็นตลอดมา โดยไม่ต้องใส่ใจสายตาคนรอบข้างเลย

เมืองแห่งคลองที่เป็นต้นแบบของผังเมืองทั่วโลก

อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มต่ำและอยู่ริมแม่น้ำหลายสายรวมถึงทะเลทางเหนือของเมือง ทำให้การออกแบบผังเมืองแตกต่างไปจากหลายเมืองในยุโรป ความยากคือต้องคิดให้เมืองอยู่ร่วมกับน้ำให้ได้ ลักษณะผังเมืองปัจจุบันของอัมสเตอร์ดัมเป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ในช่วงที่เมืองขยายดินแดนตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13

พื้นที่เดิมของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ซึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อนทีละช้าๆ ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งใหญ่ครั้งสุดท้าย (The Last Glacial Maximum) เมื่อราว 20,000 ปีก่อน จนเกิดเป็นภูมิประเทศพื้นที่ต่ำริมชายฝั่งทะเล และได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำไรน์ (Rhine River) แม่น้ำเมิส (Meuse River) และแม่น้ำสเกลต์ (Scheldt River) ทางตอนใต้ของประเทศ รวมถึงอิทธิพลของทะเลวัดเดน (Wadden Sea) ทางตอนเหนือที่ค่อยๆ กัดเซาะจนเกิดเป็นเมืองที่มีทางน้ำ ลำคลอง และทะเลสาบ เป็นภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์

เมื่อพื้นที่เมืองเป็นที่ราบลุ่มติดทะเล กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักๆ ของชาวเมืองจึงหนีไม่พ้นการประมงและพาณิชยกรรม พื้นที่เมืองอัมสเตอร์ดัมในปัจจุบันเองก็พัฒนามาจากการเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ในช่วงปี 1275 จนมาเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าทางทะเลของยุโรปเหนือที่สร้างเม็ดเงินให้กับชาวดัตช์ได้มหาศาล การพัฒนาเมืองอัมสเตอร์อัมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 จึงล้วนเป็นการขยายเมืองและเชื่อมต่อคูคลองเข้าด้วยกันทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของเมือง เพื่อให้มีพื้นที่ตอบโจทย์ทั้งการขยายตัวของประชากร และเพื่อประโยชน์ด้านพาณิชยกรรมและเศรษฐกิจ

ผังเมืองอัมสเตอร์ดัมยุคเก่า ภาพจาก lindekin.com

ภาพเมืองอัมสเตอร์ดัมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มีเครือข่ายคลองขนาดใหญ่ชื่อว่า Singelgracht เป็นวงแหวนล้อมทั้งเมืองไว้ ถือเป็นตัวอย่างการออกแบบเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในยุคนั้น จน UNESCO ยกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลกเมื่อปี 2010 เจ้าวงแหวนคลองนี้ยังถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองให้อัมสเตอร์ดัมที่ต้องอยู่กับน้ำให้ได้และให้ดีตลอดเวลา และเป็นผังเมืองอ้างอิงให้กับอีกหลายๆ เมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ความรุ่งเรืองของผังเมืองอัมสเตอร์ดัมที่มีการจัดการน้ำดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถือเป็นมรดกตกทอดจากประวัติศาสตร์ที่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวเมือง นึกถึงอัมสเตอร์ดัมเมื่อไหร่ ภาพการล่องเรือในคลองเที่ยวชมบรรยากาศบ้านเรือนก็เป็นกิจกรรมโรแมนติกที่เมืองไหนๆ ยากจะเลียนแบบได้

นอกจากการจัดการทางน้ำ อัมสเตอร์ดัมยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาภูมิทัศน์เมืองให้น่าชมและน่าใช้ชีวิต เช่น กฎหมายเพื่อสนับสนุนที่อยู่อาศัยอย่าง The Housing Act ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1901 ระบุคุณสมบัติและข้อกำหนดขั้นพื้นฐานของที่อยู่อาศัยว่าต้องออกแบบแบบไหนถึงจะมีคุณภาพและปลอดภัย ช่วยให้บ้าน อาคาร และสถาปัตยกรรมในอัมสเตอร์ดัมมีเอกลักษณ์น่ามอง หน้าตาของบ้านริมคลองที่เราคุ้นตาเลยมักจะเป็นอาคารสูงทรงแคบ มีหน้าต่างที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงามจำนวนมาก

The Fault in Our Stars

ถึงจะมองดูคล้ายๆ กันไปหมดแต่ก็ทำให้เมืองเป็นระเบียบ มองแล้วอารม์ดี และเห็นทีไรก็รู้ได้ทันทีว่านี่แหละอัมสเตอร์ดัม แต่จะมีข้อเสียอยู่บ้างก็ตรงที่บ้านแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีบันไดที่สูงและชัน เห็นได้ชัดจากบ้านของแอนน์ แฟรงก์ ในภาพยนตร์ ที่เฮเซลต้องนั่งพักอยู่นานหลังจากปีนบันไดหลังชั้นหนังสือขึ้นไปถึงชั้น 2 ของบ้านได้

อัมสเตอร์ดัมยังมีนโยบายพัฒนาเมืองฉบับแรกที่ใช้เมื่อปี 1915-1917 ชื่อว่า Plan Zuid (ที่แปลว่า south plan เพราะเน้นการปรับผังเมืองทางทิศใต้) โดยต้นคิดแผนคือสถาปนิกชาวดัตช์ Hendrik Petrus Berlage นโยบายนี้หลักๆ ก็ถูกใช้เพื่อขยาย social housing ในเมือง และแบ่งถนนในเมืองออกเป็นบล็อกย่อยๆ ให้ชาวเมืองอยากเดิน แถมบล็อกเล็กๆ ยังเชื่อมต่อถนนเส้นต่างๆ ให้เป็นโครงข่ายที่สะดวกมากขึ้น บ้านพักในยุคนี้ออกแบบโดยสถาปนิกจาก The Amsterdam School ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่ใช้อิฐบล็อกเป็นหลัก ทำให้ดูมั่นคง อาคารรัฐบาลหรือโรงเรียนหลายแห่งในเมืองก็เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะนี้

นอกจากนี้ยังมีแนวคิด finger city ที่เมืองเอามาใช้เพิ่มพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ตามย่านชุมชนต่างๆ กว่า 800 แห่ง เพื่อให้ชาวเมืองเข้าถึงได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของเมือง เหมือนเวลาเรากางนิ้วแล้วสามารถเดินไปออกกำลังในสวนใกล้บ้านที่มีอยู่ทุกทิศทางได้

เมืองแห่งจักรยานและรถรางแสนโรแมนติก

พูดถึงอัมสเตอร์ดัมแล้วไม่พูดถึงจักรยานก็คงไม่ได้ ด้วยผังเมืองที่พัฒนามาเป็นถนนใยแมงมุม ทำให้เมืองนี้เป็นมิตรต่อนักปั่นจักรยานมากๆ จนรถยนต์ไม่ใช่ทางเลือกของชาวดัตช์ส่วนใหญ่ ด้วยโครงสร้างเมืองที่มีเส้นทางจักรยานระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร พร้อมจุดจอดจักรยานทั่วเมืองที่เชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะ ผลลัพธ์คือเมืองนี้มีจำนวนจักรยานกว่า 22 ล้านคัน มากกว่าประชากรเมืองทั้งหมดเสียอีก 

จะพูดว่าชาวอัมสเตอร์ดัมปั่นจักรยานกันในชีวิตประจำวันจนเป็นปกติก็ว่าได้ มากกว่านั้นจักรยานยังถือเป็นเครื่องมือสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้ชาวเมืองได้ใช้ชีวิตเสรีบนยานพาหนะสองล้อนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวหรือคู่รัก การเช่าจักรยานปั่นรอบเมืองอัมสเตอร์ดัมเป็นกิจกรรมโรแมนติกที่คล้ายเป็นข้อบังคับกลายๆ ว่าต้องทำ

The Fault in Our Stars

แต่ถ้าใครไม่ถนัดปั่นจักรยาน ขนส่งสาธารณะที่จะพาให้ทุกคนไปสำรวจอัมสเตอร์ดัมได้สะดวกสบายยังมีอีกมากมาย ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟใต้ดิน และรถรางอย่างที่เฮเซลกับออกัสตัสนั่งสาย Tran 1 ไปยังร้านอาหาร Oranjee restaurant ด้วยกัน หลายคนพอพูดถึงรถรางแล้วอาจนึกถึงภาพรถเก่าๆ ที่เคลื่อนที่ไปช้าๆ แต่ขอบอกว่ารถรางในอัมสเตอร์ดัมนั้นโมเดิร์นสุดๆ ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋ว เช็กเส้นทาง ตารางเวลา และจุดที่จะลงได้ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น แถมยังสะดวกด้วยการจ่ายเงินผ่านบัตร OV-chipkaart ที่ชาวเมืองมีกันทุกคน สำหรับนักท่องเที่ยวก็สามารถใช้บัตรท่องเที่ยว I amsterdam City Card ที่ใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทุกประเภท 

เส้นทางรถรางในอัมสเตอร์ดัมมีถึง 14 สาย กระจายจากสถานีกลาง Amsterdam Centraal Station ไปยังย่านต่างๆ กว่า 500 จุด ถือเป็นโครงข่ายรถรางที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเหนือ ตัวระบบยังออกแบบมาตามหลัก Universal Design ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ หรือแม้แต่คนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอย่างเฮเซลและออกัสตัสก็ใช้งานได้สบาย

ลองนึกภาพรถรางที่ไปได้ทุกที่ในเมือง แถมยังสะดวก ปลอดภัย แล้วทำไมคนในเมืองจะไม่อยากใช้กันล่ะ?

The Fault in Our Stars

เมืองที่ส่งเสริมความรู้ด้วยพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรม

นอกจากผังเมืองดี ขนส่งสาธารณะก็มีมากมาย อัมสเตอร์ดัมยังเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมของเนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่แค่คลองสวยๆ ที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาให้คนอัมสเตอร์ดัม แต่ในเมืองยังมีมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปะที่ซุกซ่อนอยู่แทบทุกมุม สถิติที่น่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมกันคืออัมสเตอร์ดัมมีอาคาร สถาปัตยกรรม อนุสาวรีย์ และอนุสรณ์สถานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั้งระดับชาติและระดับเมืองถึงเกือบ 9,000 แห่ง พูดได้ว่าแค่ก้าวเท้าออกมานอกบ้าน มองไปมุมไหนก็เจอแต่สิ่งสวยงามและสร้างแรงบันดาลใจ ที่ช่วยเติมความคึกคักและความมีชีวิตชีวาให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑ์เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านศิลปวัฒนธรรมให้กับชาวเมืองทุกเพศทุกวัย ที่อัมสเตอร์ดัมมีพิพิธภัณฑ์มากกว่า 50 แห่งกระจายอยู่ทั่วเมืองและเนื้อหาก็ไม่ได้จำกัดแค่ด้านอาร์ตๆ อย่าง Rijksmuseum พิพิธภัณฑ์ชื่อดังที่เป็นแลนด์มาร์กบังคับสำหรับคนรักงานศิลป์, Huis Marseille พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายแห่งแรกของอัมสเตอร์ดัม หรือ Amsterdam Centre for Architecture สำหรับสายสถาปัตยกรรม แต่ใครที่เป็นคอประวัติศาสตร์จริงจัง นอกจาก Anne Frank House แล้วยังมี Joods Historisch Museum ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับชาวยิวมากขึ้น แม้แต่ในท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล (Amsterdam Airport Schiphol) ก็ยังมี NEMO Science Museum สาขาย่อยเอาไว้ให้เด็กๆ เยี่ยมชมระหว่างรอเที่ยวบิน (เผื่อพ่อแม่ไม่มีเวลาพาลูกๆ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หลักในเมือง) ไปจนถึง Erotic Museum ชวนสยิวที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านโคมแดงหรือย่านค้าบริการทางเพศ (Red Light District) ของเมือง ถ้าใครจะปักหมุดไว้เป็นสถานที่เดตเราก็ไม่ห้ามแต่อย่างใด

Rijksmuseum

แนวคิดการพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อกิจกรรมทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างจริงจังเพราะโต้โผหลักอย่างรัฐบาลและเทศบาลเมือง ผ่านแผน Arts and Culture Memorandum 2017-2020 ที่มีเป้าหมายคือต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงศิลปะได้อย่างเท่าเทียมกัน (Inclusive for all ages and backgrounds.) ตัวเมืองมีกองทุนหลักเพื่องานศิลปะแยกออกมาชัดเจนคือ Amsterdam Fund for the Arts โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม ในช่วงปี 2017-2020 ของแผน เมืองทุ่มงบกว่า 31.5 ล้านยูโรไปกับโครงการด้านศิลปะล้วนๆ เห็นแล้วก็น่าดีใจที่เงินจำนวนนี้ถูกใช้เพื่อต่อยอดการเรียนรู้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับทุกคนในเมืองจริงๆ

หลายๆ โครงการวัฒนธรรม ภาครัฐยังชวนพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดในเมืองมาร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการกระจายพื้นที่ศิลปะไปในย่านเล็กๆ ตามนโยบาย Art throughout the city ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่น การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ Cultural Centers (Cultuurhuizen) ในเมืองไปทั่วทุกทิศ พอทุกโซนได้รับการสนับสนุนเท่าๆ กัน คนในละแวกนั้นก็มีโอกาสเสพศิลปะและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไกลจากที่พักอาศัย และยังเป็นการช่วยสนับสนุนให้ศิลปินและผู้ประกอบการตัวเล็กๆ เติบโตได้ในชุมชนของตัวเองด้วย

The Fault in Our Stars

เมืองที่ไม่หยุดพัฒนาไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโลกร้อนในปัจจุบันส่งผลให้อัมสเตอร์ดัมยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและต้องปรับตัวที่จะอยู่กับน้ำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากหลายเมืองที่มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ต่ำและใกล้แหล่งน้ำ (กรุงเทพฯ ก็เช่นกัน) ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา อัมสเตอร์ดัมจึงมุ่งขยายวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองไปด้านความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หนึ่งในแผนพัฒนาระยะยาวที่ทางเทศบาลเมืองวางไว้คือ ‘Structural Vision: Amsterdam 2040’ ที่เริ่มลงมือกันตั้งแต่ปี 2011 โดยมีนโยบายที่ต้องเร่งแก้ไขด่วนๆ เช่น การจัดสรรที่ดินและใช้ประโยชน์พื้นที่เมืองให้คุ้มค่าด้วยโครงการ mixed-use building ขยายโครงข่ายขนส่งสาธารณะจากในเมืองไปสู่ระดับภูมิภาค การเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพและหลากหลาย ทั้งพื้นที่สีเขียวและพื้นที่นันทนาการริมน้ำ และที่สำคัญคือการหันมาใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานชีวมวล

ชาวอัมสเตอร์ดัมตั้งเป้าว่าสัดส่วนของระยะทางที่รถยนต์ขับในเมืองจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดมากถึง 60-90 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2040 ส่วนขนส่งสาธารณะอย่างเรือท่องเที่ยวที่เฮเซลกับออกัสตัสนั่งล่องในคลองก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทั้งควันและเสียงที่กระทบกับชุมชน

Roboat เรือพลังงานไฟฟ้าไร้คนขับ ภาพจาก domusweb.it

ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าอัมสเตอร์ดัมจะพยายามรักษาแต่มรดกวัฒนธรรมเก่าๆ โดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไร แนวคิด Amsterdam 2040 ยังมีเป้าหมายเพื่อให้เมืองมุ่งไปสู่สมาร์ตซิตี้ ที่หยิบเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้การอยู่อาศัยในเมืองจากที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ตัวอย่างโปรเจกต์ทดลอง เช่น City-zen โครงการระดมไอเดียเพื่อหาแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมที่จะตอบโจทย์การเป็น zero carbon city (เมืองที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์) และล่าสุดคือ Roboat เรือพลังงานไฟฟ้าไร้คนขับที่เพิ่งทดลองใช้ล่องในคลองอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผลงานของ Amsterdam Institute for Advanced Metropolitan Solutions ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวอัมสเตอร์ดัมไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อชาวเมืองเลยจริงๆ

อัมสเตอร์ดัมในความทรงจำของเฮเซลที่มีกับออกัสตัสคือเมืองแห่งคลอง จักรยาน รถราง บ้านของแอนน์ แฟรงก์ และเสียงไวโอลินที่ทั้งคู่ได้ใช้เวลาร่วมกัน แต่ชาวเมืองและเทศบาลอัมสเตอร์ดัมก็ไม่ได้หยุดเมืองของพวกเขาไว้เพียงแค่มรดกทางภูมิประเทศ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมจากอดีตที่ทุกคนมีภาพจำเท่านั้น แต่ยังตั้งใจมุ่งมั่นพัฒนาเมืองนี้ให้เต็มไปด้วยพื้นที่ที่เปิดรับความหลากหลายและเป็นเมืองของทุกคนจริงๆ

ความโรแมนติกในเมืองอัมสเตอร์ดัมอาจไม่ได้แสดงออกผ่านความหรูหราฟู่ฟ่า แต่ซ่อนตัวอยู่ในบรรยากาศน่ารักที่ทำให้ช่วงที่ได้ใช้เวลาร่วมกันมีคุณภาพ และน่าจะทำให้ทุกคนสัมผัสถึงนิยามของคำว่าชีวิตที่ดีและมีหวังเสมอ เหมือนอย่างที่เฮเซลและออกัสตัสได้สิ่งนั้นกลับไปเต็มเปี่ยมเช่นกัน


Recommended Romantic Places in Amsterdam

The Fault in Our Stars Bench

ม้านั่งสีเขียวธรรมดาริมคลองที่ตัดกันระหว่างคลอง Herengracht และคลอง Leidsegracht ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองทันที เกร็ดสนุกๆ คือหลังจากหนังฉายไม่นาน ม้านั่งนี้ก็ถูกขโมยไป จนเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมต้องเร่งหาม้านั่งตัวใหม่มาตั้งแทน โดยอ้างว่าเป็นตัวเดิมกับที่สองนักแสดงหลักในเรื่องได้นั่งจริงๆ แน่นอนว่าถ้าใครเป็นแฟนหนังเรื่องนี้ก็ควรค่าที่จะไปถ่ายภาพบนม้านั่งเป็นที่ระลึกสักครั้ง แต่ถ้ามีเวลามากกว่านั้น เราแนะนำให้นั่งชมบรรยากาศวิถีชีวิตริมคลองแบบชาวอัมสเตอร์ดัมแท้ๆ ด้วยนะ คำแนะนำคืออย่าไปขีดเขียนข้อความบนเก้าอี้แบบที่คนอื่นๆ เขาทำกันเพิ่มอีกเลย เพราะจะเสียมู้ดโรแมนติกเอา

ดูพิกัดม้านั่งได้ที่นี่

The Fault in Our Stars
independent.co.uk

Vondelpark

อัมสเตอร์ดัมมีพื้นที่สาธารณะมากมายให้ออกไปเลือกทำกิจกรรมได้ตามใจชอบ แต่จะมีอะไรดีไปกว่าการชวนแฟนไปนั่งปิกนิกกันใต้ต้นไม้ในสวน Vondelpark ใจกลางเมือง วันที่อากาศเป็นใจ พกเสื่อปิกนิก อาหาร และเครื่องดื่มไปใช้เวลายามบ่ายฟังเสียงนกร้องและให้แดดอุ่นๆ ส่องด้วยกัน ถึงสวนนี้จะเป็นสวนท็อปฮิตของชาวอัมสเตอร์ดัม แต่ก็ไม่ได้พลุกพล่านและยังมี hidden spot ให้ได้ใช้เวลาด้วยกันสองต่อสองอยู่บ้าง

De Ceuvel

คู่รักสายอินดี้ที่อยากหลีกหนีจากจุดท่องเที่ยวฮิตๆ ในอัมสเตอร์ดัม De Ceuvel คือที่ที่เหมาะกับคุณ เดิมที่นี่เป็นอู่ต่อเรือที่เหล่าสถาปนิกเข้ามาฟื้นฟูให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นทั้งที่ทำงานของชาวครีเอทีฟในอัมสเตอร์ดัม คาเฟ่ และพื้นที่ส่วนกลางไว้ใช้จัดอีเวนต์ทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เช่น งานฉายหนัง เวิร์กช็อป หรือนิทรรศการภาพถ่าย จะมาเที่ยวสำรวจความฮิปเก๋ในตอนเย็นๆ พลางจิบเบียร์ชมวิวพระอาทิตย์ตกก็ได้ หรือถ้าอยากเพิ่มดีกรีความโรแมนติกมากขึ้น จะลองพักในโรงแรมลอยน้ำ Hotel Asile Flottant ที่เปลี่ยนเรือเก่าเป็นห้องพักสุดหรูก็ได้ การได้ตื่นเช้าแล้วเห็นแสงอาทิตย์ลอยบนขอบน้ำเต็มๆ ตา คงเป็นบรรยากาศสวรรค์บนน้ำที่ยากจะลืมจริงๆ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของสถานที่นี้ได้ที่ deceuvel.nl และ asileflottant.com


อ้างอิง

Amsterdam: a different energy 2040 Energy Strategy (City of Amsterdam)
amsterdam.nl
amsterdamtips.com
en.wikipedia.org
ew.com
iamexpat.nl
iamsterdam.com
linkedin.com
overmorgen.nl
tcdc.or.th
theguardian.com
theguardian.com
variety.com

AUTHOR