Crema เมืองอบอุ่นใน Call Me By Your Name ที่ชวนให้หลงรักธรรมชาติและบรรยากาศชนบท

หากพูดถึงภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดบรรยากาศและกลิ่นอายชนบทประเทศอิตาลีได้ชัดเจน ทั้งแสงแดดอุ่นที่ตกกระทบแม่น้ำระยิบระยับในฤดูร้อน สายลมเบาๆ ที่พัดผ่านทุ่งหญ้าสีเขียวระหว่างทางปั่นจักรยาน เสียงนกร้องและแมลงก้องกังวานในสนามหญ้าหลังบ้าน รวมถึงสถาปัตยกรรมกลางเมืองที่ได้อิทธิพลจากยุคกลาง เชื่อว่า Call Me By Your Name ผลงานของผู้กำกับชาวอิตาลี Luca Guadagnino น่าจะเป็นชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในใจใครหลายคน

เกริ่นสั้นๆ สำหรับใครที่ยังไม่เคยดู Call Me By Your Name คือภาพยนตร์โรแมนติก-ดราม่า-coming of age ที่นำเสนอความรักระหว่างชายหนุ่มสองคนในฤดูร้อนของอิตาลีเมื่อปี 1983 เอลิโอ (รับบทโดย Timothée Chalamet) เด็กชายวัย 17 ที่ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยในคฤหาสน์เก่าแก่กับครอบครัว และโอลิเวอร์ (รับบทโดย Armie Hammer) นักศึกษาหนุ่มชาวอเมริกันผู้เดินทางมาช่วยทำงานวิจัยของพ่อเอลิโอซึ่งเป็นศาสตราจารย์ การปรากฏตัวของโอลิเวอร์ในฤดูร้อนครั้งนั้นได้มอบบทเรียนล้ำค่าในชีวิตเอลิโอ ผ่านการสำรวจพื้นที่ใหม่ในจิตใจตัวเองที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อน

นอกจากเส้นเรื่องความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความปรารถนา อารมณ์ร้อนรุ่ม สับสน แต่ก็เซ็กซี่ระหว่างเอลิโอและโอลิเวอร์ที่ชวนให้คนดูอย่างเราติดตามแล้ว อีกพาร์ตหนึ่งที่ตัวหนังทำไว้ได้ดีมากๆ คือการใช้ภาษาภาพถ่ายทอดบรรยากาศของอิตาลีตอนเหนือ เสริมให้มู้ดและโทนของหนังมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ซึ่งต้องยกความดีความชอบนี้ให้กับธรรมชาติอันสวยงามที่รายล้อมในแคว้นลอมบาร์เดียที่เต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์สะกดคนดูไว้อยู่หมัด

บ่อเก็บน้ำ Fontanile Quarantina สถานที่ที่เป็นเหมือนจุดเปิดใจให้เอลิโอและโอลิเวอร์เรียนรู้กันพร้อมกับจูบแรก, ทะเลสาบ Laghetto dei Riflessi ที่เอลิโอไปว่ายน้ำเล่นกับเพื่อน และฉากภาพจำที่โอลิเวอร์ยื่นแขนรูปปั้นผุพังให้เอลิโอจับ ก็ถ่ายทำที่ Grotte di Catullo โบราณสถานแถวๆ Lake Garda ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี หรือเทือกเขาที่ทั้งคู่เดินขึ้นไปยังน้ำตกเซริโอ (Cascate del Serio) เพื่อส่งท้ายความทรงจำกันที่นั่น ทุกสถานที่ถูกใช้เป็น ‘ตัวละคร’ ที่เสริมความสัมพันธ์และความสับสนให้กับทั้งคู่ในฤดูร้อนปีนั้นไว้อย่างแจ่มชัด จึงไม่แปลกที่เมื่อดูจบ ใครหลายคนก็คงอยากแพ็กกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปสัมผัสเสน่ห์ของอิตาลีตอนเหนือทันทีเหมือนเรา

Call Me By Your Name

แม้ว่าในต้นฉบับนวนิยายที่เขียนโดยนักเขียนชาวอเมริกัน André Aciman จะระบุไว้คร่าวๆ ถึงสถานที่ในเรื่องว่าอยู่ที่แคว้นลิกูเรีย ประเทศอิตาลีในแถบชายฝั่งริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ลูก้าก็เลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำหลักมาที่แคว้นลอมบาร์เดียในอิตาลีตอนเหนือ ซึ่งครอบคลุมหลายๆ เมืองที่เราคนไทยอาจไม่คุ้นชื่อ อย่างเมืองปันดิโน, เครมา, เบอร์กาโม และมอสกัซซาโน สาเหตุที่ลูก้าเลือกถ่ายทำในแคว้นลอมบาร์เดียก็เพราะตัวเขาคุ้นเคยกับสภาพบ้านเมืองและบรรยากาศแถวนี้ซึ่งไม่ไกลจากที่ที่เขาอยู่ แถมยังมองว่าเมืองเล็กๆ เหล่านี้ยังคงมีกลิ่นอายของอิตาลีแท้ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอออกไปผ่านสื่อเหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ที่เราเห็นกันจนชิน

ถึงคฤหาสน์ Villa Albergoni (บ้านของตระกูลเพิร์ลแมน) ในยุคศตวรรษที่ 16 ที่ถูกใช้เป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำหลักจะอยู่ในเมืองมอสกัซซาโน (และไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมแล้ว) แต่สถานที่ที่ตัวละครหลักทั้งสองคนใช้เวลาร่วมกันส่วนใหญ่ก็ถ่ายทำที่เมืองเครมา ซึ่งห่างจากเมืองมิลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียงแค่ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น บทความนี้เราเลยจะโฟกัสที่เมืองเครมาเป็นหลัก เพื่อดูว่าบรรยากาศและนโยบายพัฒนาเมืองแบบไหนที่ชวนให้เอลิโอและโอลิเวอร์ ผู้ใช้เวลาร่วมกันเพียงแค่สั้นๆ ตกหลุมรักและมีความปรารถนาต่อกันขนาดนี้

เมืองเล็กๆ ที่เป็นมิตรกับทุกคน

เครมาเป็นแค่เมืองเล็กๆ ในจังหวัดเครโมนา มีประชากรอาศัยแค่ 35,000 คน บรรยากาศเงียบสงบเช่นนี้เลยเหมาะสำหรับการมาพักผ่อนตากอากาศและหาแรงบันดาลใจ ย้อนไปในประวัติศาสตร์ เมืองนี้เคยถูกปกครองโดย Gian Galeazzo Visconti ดยุกแห่งมิลานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่มีชื่อเสียงด้านกิจกรรมทางการเกษตร หลังจากนั้นเครมาก็ถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวนิส (Republic of Venice ในยุคนั้น) ตั้งแต่ปี 1449 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เครมาได้รับอิทธิพลในการพัฒนาหลายๆ อย่าง ทั้งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อย่างป้อมกำแพงเมืองที่ล้อมรอบเมืองไว้ในช่วงการขยายเมืองในศตวรรษที่ 14 (ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างแม้จะถูกทำลายไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20) หรือพื้นที่สาธารณะอย่างจัตุรัส Palazzo Comunale (1525-1533) และ Palace of Notaries ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น Bishop’s Palace ที่เปิดให้เข้าชมได้

การอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐเวนิสยังช่วยให้เครมารอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจจากการรุกรานของอาณาจักรสเปนและได้ประโยชน์ด้านการค้าขาย ทำให้เศรษฐกิจของเมืองเฟื่องฟู หลังจากนั้นในปี 1861 เครมาก็ได้รับอิสระและเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy) ในยุคนั้น

ผังเมืองและสถาปัตยกรรมในเครมาก็ได้อิทธิพลมาจากการปกครองของชาวเวนิสเช่นกัน จัตุรัส Piazza Duomo เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนและร้านค้า เชื่อมต่อกับอนุสาวรีย์ Arco del Torrazzo ใกล้ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นโค้งประตูเข้าเมืองมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และยังมีศาลาว่าการเมือง Comune di Crema กับโบสถ์ Crema Cathedral โบสถ์ใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมสไตล์กอทิกมาจากยุคกลางอยู่รอบๆ จัตุรัสแลนด์มาร์กแห่งนี้ และหากสังเกตดีๆ เราจะเห็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจอย่างสิงโตที่ชาวเวนิสแอบใส่ไว้ตามจุดต่างๆ ในเมืองด้วย

Call Me By Your Name

พูดกันตามตรง หากใครอยากเดินทางมาตามรอยโลเคชั่นหนังในเมืองเครมาก็สามารถไปได้ครบโดยไม่ต้องใช้เวลานานนัก เพราะสถานที่หลักๆ ทั้งหมดอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก Piazza Duomo แต่เสน่ห์ที่เราคิดว่าเป็นจุดเด่นของเครมาคือบรรยากาศเมืองที่อบอุ่น ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากอิตาลีเมืองอื่นๆ บวกกับวิถีชีวิตเรียบง่ายและแช่มช้าของชาวเมืองที่ยังคงใช้จักรยานเป็นพาหนะสัญจรหลักไม่ต่างจากภาพที่เราเห็นในหนังเลย แถมเมืองเองก็ยังสะอาดสะอ้าน เดินได้ง่าย และผู้คนเป็นมิตรพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากที่ Call Me By Your Name ออกฉายทั่วโลกในช่วงปี 2017-2018 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเครมาเพื่อมาสัมผัสเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างคาดเดาได้ (ในเดือนธันวาคม ปี 2017 หลังหนังฉายที่ยุโรป เครมามีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์)

Image by Cremasco

แน่นอนว่าชาวเมืองเองก็พร้อมที่จะปรับตัวเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว อย่างร้านค้าที่เป็นโลเคชั่นถ่ายทำในหนังบริเวณ Piazza Duomo ก็แทบจะเซตจุดมาร์กไว้ให้คนที่อยากถ่ายรูปเลียนแบบซีนในหนัง ไปจนถึงมีทัวร์ที่จัดโปรแกรมตามรอยหนังเรื่องนี้ทั่วแคว้นลอมบาร์เดียโดยเฉพาะ มองในแง่ดีก็เท่ากับช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เมืองเล็กๆ นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่รวดเร็วก็ควรควบคู่ไปกับนโยบายของเมืองที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าที่เครมามีมาตั้งแต่ยุคกลางเช่นกัน

เมืองชนบทอย่างเครมารวมถึงเมืองอื่นๆ ในแคว้นลอมบาร์เดียที่สภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยธรรมชาติ ผืนป่า เทือกเขา แม่น้ำ ที่เป็นทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมหาศาล ทำให้เราตั้งคำถามว่ารัฐบาลอิตาลีจะรักษาภูมิภาคตอนเหนือของอิตาลีนี้ให้ยั่งยืนได้ยังไง เพราะในช่วงปี 2000 จังหวัดเครโมนาเองก็ได้รับผลกระทบจากการแผ่ขยายของเมือง การเติบโตของประชากรอิตาลี ประกอบกับภาคเกษตรกรรมของประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก เทคโนโลยี รวมไปถึงนโยบายของสหภาพยุโรปที่เข้มงวดเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

Scenic ruins in the rays of sunset of Grottoes of Catullus, roman villa in Sirmione city, Lake Garda, Italy. Winter time.

อิตาลีมีกฎหมายผังเมืองที่หยิบเรื่องภูมิทัศน์เมืองและสิ่งแวดล้อมมาเป็นประเด็นถกเถียงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1990 ทำให้พื้นที่ธรรมชาติในจังหวัดเครโมนาได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะไม่เพียงเป็นพื้นที่ธรรมชาติหลักในประเทศ แต่ยังรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมที่เฉพาะตัวทั้งในแง่สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว กีฬา และอาหาร เมืองเครมาเองก็ถือเป็นศูนย์กลางทางการเกษตรของจังหวัดที่ชาวเมืองยังประกอบอาชีพทางการเกษตรและการแปรรูปอาหาร มีการจ้างงานในสเกลระดับย่อย เช่น ในครัวเรือนหรือโรงงานเล็กๆ ซึ่งรัฐบาลอิตาลีเองก็มองว่าสินทรัพย์และความเฉพาะตัวเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาไว้ โดยกระจายอำนาจหน้าที่ให้เทศบาลจังหวัดดูแลจัดการได้อย่างเต็มที่

เมื่อรัฐบาลกลางมีแนวคิดการพัฒนานี้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ผลลัพธ์คือเมืองต่างๆ มีทิศทางการพัฒนาชัดเจนมากขึ้น ในจังหวัดเครโมนาก็มีแผน Cremona Plan ที่เริ่มใช้ในปี 1994-1998 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมทุกอย่างจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นหลัก ตัวอย่างที่อยากเล่าถึงคือการเชื่อมโยงเครือข่ายทางนิเวศ (ecological network) ในแคว้นลอมบาร์เดียทั้งหมดเข้าด้วยกัน เช่น เชื่อมต่อพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติ แม่น้ำลำธาร หรือพื้นที่นันทนาการในเขตเข้าด้วยกัน ประโยชน์ของมันคือเพื่อให้เกิดพื้นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติของสัตว์ป่าที่กว้างขวางขึ้น เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศ โดยพื้นที่เหล่านี้ยังถือเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติเวลาเกิดภัยพิบัติด้วย

Call Me By Your Name

เมืองที่ชวนให้หลงรักธรรมชาติและบรรยากาศชนบท

มองออกไปให้เห็นภาพกว้างถึงประโยชน์ของผู้คนในเมือง นอกจากจะได้พื้นที่ธรรมชาติไว้พักผ่อนหย่อนใจใกล้เมืองอย่างที่เราเห็นเอลิโอกับโอลิเวอร์ใช้เวลายามบ่ายออกไปขี่จักรยานเล่นผ่านทุ่งหญ้าและแปลงเกษตรของชาวบ้าน นั่งแช่ขาในบ่อเก็บน้ำและลำธารใกล้ๆ หรือแม้แต่ออกทริปไปปีนเขาแล้ว ในอีกทาง ธรรมชาติเหล่านี้ยังช่วยให้ชาวเมืองมีสุขภาวะที่ดีขึ้นทั้งกายภาพและจิตใจ

สรุปอย่างสั้น เครมาเป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติจนชวนให้เรามีสุขภาพดี มีสถานที่ใกล้ๆ ให้ออกไปใช้เวลาร่วมกันกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง และยังมีเวลาว่างมากพอที่จะออกไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ สังสรรค์กันในเทศกาลต่างๆ ที่คงกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศโรแมนติกขึ้นไม่น้อย สารภาพตามตรงว่าระหว่างที่เราดูหนัง เรายิ่งอิจฉาชีวิตของเอลิโอที่เขามีปิดเทอมฤดูร้อนที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากพูดคุยเรื่อยเปื่อยกับเพื่อนๆ ว่ายน้ำในสระหลังบ้าน อ่านหนังสือ กินอาหารดีๆ และมีเวลาไปสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ทั้งภายนอกและภายในจิตใจตัวเอง

อีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันว่าเครมาเป็นเมืองที่ส่งเสริมชีวิตสาธารณะนอกบ้านขนาดไหน ก็เห็นได้จากการที่เมืองนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน European City of Sport เมื่อปี 2016 ร่วมกับอีกหลายๆ เมืองในภูมิภาคยุโรป เพราะเขามองว่ากีฬาไม่ใช่เพียงกิจกรรมสันทนาการเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง แต่ยังจัดเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สร้างรายได้เข้าเมืองมหาศาล และเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยให้คนในชุมชนใกล้ชิด มีปฏิสัมพันธ์ และต่อยอดไปถึงความสัมพันธ์ดีๆ ที่อาจตามมา

เครมามีดีด้านกีฬายังไง? คำตอบคือเมื่อเมืองมีพร้อมทั้งวัฒนธรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื้อเชิญผู้มาเยือนแล้ว เมืองก็เริ่มต้นจากการชักชวนทุกภาคส่วนมาร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่สนับสนุนให้เยาวชนได้ออกกำลังกายและใส่ใจสุขภาพตั้งแต่ยังเด็ก ภาคประชาสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการมาเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยจัดการ ในแง่กายภาพและภูมิทัศน์เมืองก็ออกแบบพื้นที่สนับสนุนให้คนทุกเพศทุกวัยได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬากัน ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่กีฬาในร่ม แต่ยังส่งเสริมพื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้งและกิจกรรมนันทนาการต่างๆ เช่น เส้นทางวิ่งมาราธอนหรือปั่นจักรยานรอบเมืองเก่า หรือเส้นทางปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำเซริโอก็เป็นกิจกรรมในวันหยุดที่ชาวเมืองมักทำกัน ส่วนใครที่รักการผจญภัย การไปพายเรือคายักล่องแม่น้ำก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง จนเราสามารถยืนยันได้เลยว่าไลฟ์สไตล์นอกบ้านที่ได้สัมผัสธรรมชาติถือเป็นดีเอ็นเอของชาวเมืองเครมาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ภาพความโรแมนติกและกิจกรรมสาธารณะในเมืองเครมาอาจจะดูแจ่มชัดสำหรับคู่รักต่างเพศเท่านั้น แม้ใน Call Me By Your Name จะฉายภาพความรักของเกย์ไว้อย่างชัดเจน แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ความรักที่สมหวัง เครมาและเมืองอื่นๆ ในแคว้นลอมบาร์เดียเองก็ยังไม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQ+ เท่าไหร่นัก ด้วยสภาพแวดล้อมชนบท บวกกับการที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนยังมีแนวคิดอนุรักษนิยม การเปิดรับคนและแนวคิดใหม่ๆ ยังเป็นเรื่องไม่ง่าย หากเทียบกับเมืองท่องเที่ยวในอิตาลีอย่างปุลยา เนเปิลส์ หรือซิซิลี ที่บรรยากาศเมืองอาจสนับสนุนให้คนมีแนวคิดเปิดกว้างจนติดลิสต์เมืองที่เฟรนด์ลี่กับชาว LGBTQ+ เช่นกันกับมิลานและโรม เมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม ในปี 2016 อิตาลีอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต (Same-Sex Civil Unions) ได้เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันจะยังเป็นประเด็นที่ชาวอิตาลีต้องช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันกันต่อไป

เครมาเป็นเมืองเล็กๆ ในอิตาลีที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป เพราะที่นี่ไม่ได้มีดีแค่พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมให้เราสำรวจได้ในเวลาสั้นๆ หากมีเวลาจำกัด แต่ถ้าอยากซึมซับเสน่ห์และความโรแมนติกแบบอิตาลีที่ให้รสชาติใหม่ๆ ต่างจากการไปเยือนมิลานเมืองแฟชั่น หรือเมืองอาร์ตๆ อย่างโรมหรือเวนิส เราเชื่อว่าแสงแดดอุ่นที่ลอดผ่านร่มไม้ ความเงียบสงบและร่มเย็นเมื่อได้นั่งมองลำธารและเทือกเขาที่ห้อมล้อม และความมีชีวิตชีวากับความเป็นมิตรของชาวเมืองที่ได้หยิบยื่นให้ ล้วนเป็นคำตอบว่าทำไมเครมาถึงได้มีความโรแมนติกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถูกถ่ายทอดมาอย่างงดงามผ่าน Call Me By Your Name จนเราหลงรักหัวปักหัวปำ ไม่ต่างจากความรักที่เอลิโอมอบให้โอลิเวอร์ในฤดูร้อนปี 1983 เลย


Recommended Romantic Places in Crema

Call Me By Your Name

Piazza Duomo

ถ้าคุณทั้งคู่ (หรือจะแค่แฟนหนุ่ม-แฟนสาวของคุณ) เป็นแฟนคลับ Call Me By Your Name ตัวจริง Piazza Duomo ก็ถือเป็นเช็กลิสต์ที่ยังไงก็พลาดไม่ได้ จะเดินเล่นชมสถาปัตยกรรมยุคกลางหรือตั้งใจมาตามรอยถ่ายรูปคู่กับประตูเมือง Arco del Torrazzo ในมุมที่เอลิโอกับโอลิเวอร์นั่งคุยกันก็ได้ ใกล้ๆ Piazza Duomo ยังมีร้านไอศครีม G Glace ที่สามารถเข้าไปนั่งพักชิมไอศครีมเจลาโต้หรืออาหารมื้อเบาๆ สั่งมากินเป็น brunch dating พลางมองชมโบสถ์ประจำเมืองได้ จากตรงนี้ยังสามารถเดินจับมือกันหรือขี่จักรยานเที่ยวรอบเมืองเครมาไปยังมุมฮิตๆ ที่ปรากฏในหนังได้อีกเยอะ ทั้งจัตุรัส Piazza Gambazocchi จัตุรัส Palazzo Premoli ไปจนถึง Circolo Arci San Bernardino ซึ่งเป็นศูนย์วัฒนธรรมของเมืองเครมา

เว็บไซต์นี้รวมโลเคชั่นที่ถ่ายทำหนังไว้ทั้งหมด ถ้ามีเวลายาวๆ จะไปเที่ยวเมืองอื่นๆ นอกจากเครมาก็ได้นะ

Call Me By Your Name

Kayak – Parco del Serio

สำหรับคู่รักที่รักการผจญภัยแนะนำให้ลองหาเวลาช่วงเช้าๆ ออกไปพายเรือคายักล่องไปตามแม่น้ำเซริโอ แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมืองเครมา ดื่มด่ำกับแสงอาทิตย์และลมเย็นๆ ไปด้วยกันทั้งวัน ซึ่งสามารถเลือกระดับความเอกซ์ตรีมได้ตามเส้นทางต่างๆ สนนราคาเบื้องต้นสำหรับ 2 คนอยู่ที่ 160 ยูโร รวมค่าอุปกรณ์ อาหารกลางวัน และประกันภัยหมดแล้วนะ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ turismocrema.com

Fontanile Quarantina

อีกหนึ่งโลเคชั่นหลักในหนังที่ต้องขี่จักรยานออกมาทางเหนือจากตัวเมืองเครมา แต่เราก็แนะนำมากๆ เพราะที่นี่คือโลเคชั่นหลักในหนังอีกจุด บ่อเก็บน้ำเล็กๆ ที่เอลิโอพาโอลิเวอร์มายัง ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของเขา ซึ่งสำหรับคู่รัก ที่นี่ก็เหมาะมากหากอยากหาพื้นที่สงบๆ สำหรับใช้เวลาด้วยกันสองต่อสอง แค่ได้นั่งพักขาหรือเดินไปมาในลำธารตื้นๆ พกหนังสือ เครื่องดื่ม อาหาร แล้วมาปิกนิกกันบนพื้นหญ้าใต้เงาไม้และฟ้าใสๆ ในฤดูร้อน สวมบทเป็นเอลิโอและโอลิเวอร์ ก็เป็นไอเดียที่ช่วยเติมความโรแมนติกได้ไม่เบา


อ้างอิง

Treu, M.C & Magoni, Marcello & Steiner, Frederick & Palazzo, Danilo. (2000). Sustainable landscape planning for Cremona, Italy. Landscape and Urban Planning. 47. 79-98.

Magoni, Marcello & Steiner, Frederick. (2001). The Environment in the Provincial Plan of Cremona, Italy. Environmental management. 27. 639-54.

adaymagazine.com

adaymagazine.com #2

almostginger.com

cntraveller.com

crema2016.eu

en.wikipedia.org

italythisway.com

lareviewofbooks.org

nydailynews.com

quiiky.com

somewhereinnorthernitaly.com

thelocal.it

turismocrema.com

AUTHOR