Hawaii เกาะสวรรค์ใน 50 First Dates ที่ดึงดูดใจชาวเมืองด้วยธรรมชาติและคุณภาพชีวิตติดอันดับโลก

ถ้าให้จินตนาการบรรยากาศสุดจะโรแมนติกในความคิดของทุกคน เราเชื่อว่าภาพพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า สาดแสงสีส้มอ่อนๆ ลงบนน้ำทะเลระยิบระยับกับหาดทรายขาวละมุน และกลิ่นของลมทะเลแสนสดชื่นที่พัดมาเบาๆ น่าจะเป็นภาพหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคน บรรยากาศโรแมนติกที่เราจะได้ใช้เวลาร่วมกับคนรักนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเราที่เป็นมนุษย์เมืองที่ใช้ชีวิตเร่งรีบจนแทบไม่มีเวลาหายใจ

เป็นไปได้ไหมที่เราจะอยู่ในเมืองที่สะดวกสบาย คึกคัก มีชีวิตชีวา แต่ก็รายล้อมไปด้วยทะเลสวย น้ำใส หาดทรายขาว และธรรมชาติสมบูรณ์ครบถ้วน คำตอบของเราคือเป็นไปได้ และสถานที่นั้นคือฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้สุดคลาสสิกอย่าง 50 First Dates ผลงานของผู้กำกับ Peter Segal ในปี 2004 เป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้บรรยากาศของเกาะฮาวายช่วยเล่าเรื่องให้กลมกล่อม เรื่องราวของเฮนรี่ (รับบทโดย Adam Sandler) สัตวแพทย์สัตว์น้ำที่ทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบนเกาะโอวาฮู (Oahu) รัฐฮาวาย ที่ดันไปตกหลุมรักครูสอนศิลปะสาวอย่างลูซี่ (รับบทโดย Drew Barrymore) แต่ในวันถัดมาหลังจากที่ทั้งคู่เจอกัน เฮนรี่กลับพบว่าลูซี่จำอะไรเกี่ยวกับตัวเขาไม่ได้เลย เพราะเธอประสบอุบัติเหตุจนเป็นโรคความจำเสื่อมชั่วคราว ทำให้เธอจำอะไรได้แค่หนึ่งวัน และความทรงจำจะถูกรีเซตใหม่ทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น และนั่นก็ทำให้เฮนรี่ต้องพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้เธอจำเขาให้ได้ แม้จะต้องเริ่มต้นจีบลูซี่ใหม่ในทุกๆ วัน

ตอนที่ดูสมัยเด็กๆ เราอดคิดไม่ได้ว่าหากเป็นเรื่องจริง การพยายามทำให้คนคนเดิมตกหลุมรักเราซ้ำๆ ในทุกวันคงไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ แต่ซีกัลก็ถ่ายทอดพล็อตโรแมนติกน่าเอาใจช่วยนี้ผ่านมุกตลกแบบอเมริกันสุดๆ และการแสดงที่เข้าขากันดีของสองนักแสดงนำ มากกว่านั้น หนังยังใช้สถานที่ดังๆ บนเกาะโอวาฮูจริงๆ เพื่อให้เห็นบรรยากาศของชายเกาะ ทะเล คลื่นลม และความบันเทิงแบบอโลฮ่าของชาวฮาวายพื้นถิ่น ที่ยิ่งช่วยเสริมให้ 50 First Dates เป็นหนังที่ดูสนุกและครองใจทุกคนมากว่า 20 ปี

Hukilau Cafe คาเฟ่ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่เฮนรี่และลูซี่เจอกัน คือร้านอาหารเช้าที่มีอยู่จริงในเกาะโอวาฮู, อควาเรียม Sea Life Park สถานที่ทำงานของเฮนรี่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของเกาะ, Makapuu Lighthouse ประภาคารบนยอดเขาที่ลูซี่และเฮนรี่จุมพิตกันก็เป็นทางเดินเขาที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมวิวสวยหลักล้าน หรือแม้แต่สวนสับปะรด Dole Plantation ที่ลูซี่กับพ่อเดินทางไปด้วยกัน และเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทำลายความทรงจำของเธอก็อยู่บนเกาะโอวาฮู

ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่ถ่ายทำบนเกาะแห่งนี้ ก็เหมือนว่า 50 First Dates ได้นำเสนอภาพของฮาวายไว้ครบถ้วน และชวนให้คู่รักหลายคนตั้งใจจะมาฮันนีมูนและสัมผัสบรรยากาศโรแมนติกริมทะเลฮาวายเหมือนอย่างเฮนรี่และลูซี่ จึงไม่แปลกที่หมู่เกาะฮาวายในภาพจำของใครหลายคนจะเป็นภาพเมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงาม มีกิจกรรมเอาต์ดอร์สนุกสนานให้ทำ ทั้งดำน้ำ เล่นเซิร์ฟบอร์ด หรือปีนเขา แม้แต่ในเมืองหลวงอย่างโฮโนลูลู (Honolulu) เองก็แสนจะมีชีวิตชีวาสุดๆ 

เพราะเป็นรัฐที่แทบจะอุดมสมบูรณ์ทั้งธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวก ฮาวายจึงครองตำแหน่งรัฐที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีเป็นอันดับต้นๆ ของอเมริกาตลอดมา จนน่าสนใจว่าฮาวายคิดและทำยังไงให้เกาะที่ไม่มีอะไรในดินแดนไกลโพ้น กลายมาเป็นเมืองหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงชาวอเมริกันที่อยากย้ายมาปักหลักชีวิตกันที่นี่ด้วย

britannica.com

เมืองที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในอเมริกา

หมู่เกาะฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อชาว Polynesians ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งอาศัยอยู่บนหมู่เกาะมาร์เคซัส ย้ายมาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยยุคกลาง (Medieval Period: 400 CE) โดยอาศัยอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ ดำรงชีพด้วยการประมงและการเกษตร ก่อนที่ในปี 1778 James Cook จะล่องเรือมาถึงเกาะโอวาฮูระหว่างที่ออกสำรวจมหาสมุทร กัปตันคุกรวมถึงชาวตะวันตกได้เข้ามาสร้างความรุ่งเรืองและเผยแพร่แนวคิดแบบซิวิไลซ์ให้กับชาวฮาวาย ภายหลังที่อาณาจักรฮาวายถูกปกครองโดยราชวงศ์คาเมฮาเมฮา (Kamehameha) ก็เป็นยุคที่มิชชันนารีจากยุโรปเข้ามาเผยแพร่ศาสนา จนในปี 1893 ชาวอเมริกันได้หลั่งไหลเข้ามาประกอบอาชีพต่างๆ กิจกรรมเศรษฐกิจสำคัญที่หล่อเลี้ยงฮาวายมาตั้งแต่อดีตและอเมริกาก็เข้ามาหวังประโยชน์ตั้งแต่แรก คือการแปรรูปอ้อยเพื่อใช้ผลิตน้ำตาลในระดับอุตสาหกรรม ในที่สุดฮาวายก็ถูกควบรวมเป็นดินแดนของอเมริกาเมื่อปี 1898 ด้วยเหตุผลทั้งทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ และในปี 1959 อเมริกาก็ตั้งฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของประเทศ

ในทางภูมิศาสตร์ หมู่เกาะฮาวายประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ 137 เกาะ สำหรับโอวาฮู โลเคชั่นหลักของ 50 First Dates ถือเป็นเกาะสำคัญที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ได้ชื่อว่าเป็นหัวใจของฮาวาย (The Heart of Hawaii) เพราะเป็นที่ตั้งเมืองหลวงโฮโนลูลู โอวาฮูถูกเรียกว่าเป็นสวรรค์บนดินของใครหลายคน เพราะมีชายหาดทางใต้ของเกาะอย่าง Waikiki Beach ที่เด่นดังเรื่องการเล่นเซิร์ฟบอร์ด หรือ Lanikai Beach ที่ขึ้นชื่อเรื่องความโรแมนติก ส่วนสายผจญภัยชอบปีนเขาก็มีภูเขาไฟที่สงบแล้วหลายลูกและพื้นที่ป่าธรรมชาติมากมายรอให้ไปสำรวจ รวมถึงวัฒนธรรมของชาวฮาวายพื้นบ้านอย่างการเต้นฮูล่า (Hula) และเทศกาลศิลปะ ดนตรี หรือแม้แต่เทศกาลภาพยนตร์ที่จัดไว้เอาใจหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจเดินทางมาเรียนรู้และสนุกไปกับประสบการณ์พิเศษที่ฮาวายมอบให้

Lanikai Beach ภาพจาก best-of-th.hotels.com

แต่ฮาวายก็ไม่ใช่เมืองที่มุ่งพัฒนาเอาใจแต่นักท่องเที่ยว เพราะสำหรับประชากรกว่า 1.4 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในฮาวาย พวกเขาก็ใช้ชีวิตบนเกาะแห่งนี้ไม่ต่างจากการอยู่บนสวรรค์เช่นกัน

จากการจัดอันดับของหลายสื่อหลากสำนัก ฮาวายติดท็อปลิสต์เมืองที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในอเมริกามาตลอด เช่นผลสำรวจ U.S. Well-Being Index 2019 โดย Gallup ฮาวายก็ครองแชมป์มาถึง 7 ครั้งตั้งแต่มีการสำรวจนี้ในปี 2008 หรือการจัดอันดับ Top States for Business โดยสำนักข่าว CNBC ที่จัดอันดับเมืองที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต ฮาวายก็ติดอันดับ 1-3 มาตลอด ล่าสุดในปี 2021 ฮาวายอยู่อันดับ 2 เป็นรองแค่รัฐเวอร์มอนต์เท่านั้น

ปัจจัยที่ฮาวายมีคะแนนนำรัฐอื่นๆ คือดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม อย่างคุณภาพอากาศที่ฮาวายได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อากาศสะอาดและบริสุทธิ์ที่สุดในอเมริกามาตลอด รวมถึงเรื่องสาธารณสุข และอัตราการจ้างงานที่สูงซึ่งสะท้อนว่าฮาวายเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ถือเป็นข้อดีหลักๆ ที่ชูความน่าอยู่ของฮาวายจนใครๆ ก็อยากย้ายมาที่นี่

ด้วยทำเลที่ตั้งเป็นเกาะล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ทำให้ฮาวายมีลมทะเลพัดให้อากาศปลอดโปร่งไร้ฝุ่นควัน แถมสภาพอากาศบนเกาะตลอดทั้งปียังเรียกว่าสบายๆ ไม่หนาวไม่ร้อนเกินไป ในฤดูร้อน แสงแดดอุ่นๆ อุณหภูมิประมาณ 31 องศาเซลเซียสก็ไม่จ้าจนแสบผิว ส่วนอากาศในฤดูหนาวระหว่างกลางวันและกลางคืนก็ไม่แตกต่างมากนัก (ประมาณ 18-28 องศาเซลเซียส) ภูมิอากาศที่สมบูรณ์บวกกับทรัพยากรธรรมชาติที่ถือเป็นของขวัญจากบรรพบุรุษของชาวฮาวายแบบนี้ทำให้ชาวเมืองพอใจที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ท่ามกลางธรรมชาติได้เต็มที่ ผลลัพธ์คือคนมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ครองตำแหน่งรัฐที่ประชากรมีอายุยืนที่สุดในอเมริกาได้อีกหนึ่ง คือ 81 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันที่อยู่ที่ 78.7 ปี 

gohawaii.com

ดินแดนที่มีธรรมชาติเป็นของขวัญ

เพราะธรรมชาติเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งในฮาวาย จึงมีประโยคภาษาฮาวายที่ว่า ‘Mālama ka ‘aina’ แปลว่า จงดูแลผืนดินของเรา (take care of the land) คำนี้เป็นเหมือนค่านิยมร่วมของชาวฮาวายที่มีหน้าที่ปกป้องดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมในฮาวายนั้นจริงจังมากๆ และมีเป้าหมายที่อยากให้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่ในหมู่เกาะฮาวายมีสูงถึง 435 สายพันธุ์

ความเปราะบางของระบบนิเวศทำให้ฮาวายเป็นเมืองต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ไม่ว่าจะโปรแกรมทัวร์หรือสถานที่ท่องเที่ยวไหนๆ ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติเป็นสำคัญ เช่น โปรแกรมทัวร์สวนพฤกษศาสตร์หรือพื้นที่อนุรักษ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมพันธุ์พืชท้องถิ่น หรือการชมวาฬที่สามารถแทรกความสำคัญของธรรมชาติให้ผู้มาเยือนเข้าใจและประทับใจไปพร้อมกัน

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐฮาวายไม่เพียงแค่รับเอากฎหมายหรือข้อบังคับทางสิ่งแวดล้อมอย่างกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) กฎหมายน้ำบริสุทธิ์ (Clean Water Act) หรือกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร (The Resource Conservation and Recovery Act) ที่รัฐสภาประกาศใช้กับทุกรัฐมาทำไปส่งๆ แต่หลักฐานที่บอกว่ารัฐบาลท้องถิ่นและชาวฮาวายจริงจังถึงขั้นไหน ดูได้จากการที่ Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลกยกตำแหน่งให้โฮโนลูลูเป็นอันดับหนึ่งด้านการจัดการสุขอนามัยในเมืองเมื่อปี 2018 ซึ่งประเมินจากศักยภาพในการจัดการขยะ ของเสีย และโครงสร้างการจัดการน้ำเสียในเมือง รวมไปถึงคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ฮาวายไม่เคยเป็นรองใครอยู่แล้วด้วย

50 First Dates

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ปัญหาหนึ่งของฮาวายที่ต้องวางรากฐานตั้งแต่เริ่มขยายเมืองเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นคือ ทำยังไงที่จะมีน้ำสำหรับดื่มกินและใช้ในครัวเรือนได้เพียงพอ ฮาวายพัฒนาโครงสร้างระบบประปาไว้พร้อม รวมถึงระบบการบำบัดและผันแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งน้ำฝนหรือน้ำจากเทือกเขา

ถึงอย่างนั้นความไม่แน่นอนก็อาจเกิดขึ้นได้ ในปี 2013 Hawaii Community Foundation (HCF) จึงก่อตั้งโปรเจกต์ชื่อว่า Hawaii Fresh Water Initiative เพื่อสนับสนุนและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา ทั้งเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่นักลงทุนที่ดินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการขาดแคลนน้ำและภาวะแล้งในอนาคต เป้าหมายที่ HCF วางไว้ภายในปี 2030 คือหมู่เกาะฮาวายจะต้องกักเก็บน้ำไว้ได้ถึง 40 ล้านแกลลอนต่อวัน (แปลว่าประชาชนต้องประหยัดน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 15 เปอร์เซ็นต์) ต้องจัดการระบบหมุนเวียนน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ให้ได้มากกว่าวันละ 30 ล้านแกลลอน รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ก็มีตัวเลขเป้าหมายที่วันละ 30 ล้านแกลลอนเช่นกัน แผนปฏิบัติการนี้อาจฟังดูยากและเต็มไปด้วยความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความร่วมมือจากชาวเมือง แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ทำให้ชาวฮาวายต้องตระหนักรู้และไม่ประมาทกับอนาคตที่คงมาถึงในสักวัน

ภาพเมืองท่องเที่ยวเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและสะดวกสบายของฮาวายที่เราเห็น จึงเป็นผลลัพธ์มาจากทิศทางการพัฒนาเมืองที่ตั้งต้นจากการพิจารณาถึงต้นทุนทางทรัพยากรที่มี พ่วงด้วยความใส่ใจที่จะอนุรักษ์ให้ยั่งยืนผ่านการพัฒนาโครงสร้างเมืองให้มีระบบสาธารณูปโภคและนโยบายเมืองที่พร้อม และสุดท้ายคือการปลูกฝังการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติไปนานๆ ให้ทั้งชาวเมืองและผู้มาเยือน

50 First Dates
gohawaii.com

เกาะสวรรค์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปิน

ความคึกคักและชีวิตชีวาที่เราเจอได้ในฮาวายไม่ได้มาจากธรรมชาติที่สวยงามทั่วทั้งเกาะอย่างเดียวเท่านั้น ด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นจุดเด่นของชาวฮาวายเช่นกัน การเต้นรำฮูล่า พิธีกรรมชนเผ่าที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษชาวพอลินีเซียน เทศกาลสนุกสนาน ดนตรี อาหาร และวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวฮาวายคือเสน่ห์ที่ดึงดูดคนจำนวนมากให้ตกหลุมรักที่นี่ เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ฮาวายไม่เหมือนเกาะไหนๆ อย่างในภาพยนตร์ 50 First Dates เราก็ได้เห็นฉากเต้นฮูล่าริมทะเลและเสียงดนตรีแบบฮาวายแท้ๆ รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองก็ได้ถูกนำเสนอในหนังด้วย

หนึ่งในเทศกาลเฉลิมฉลองที่ทั้งสำคัญและคึกคักของฮาวายคือเทศกาลลูอาว (Luau) สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ปี 1819 ที่ฮาวายยังอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์คาเมฮาเมฮา หนุ่มสาวชาวเมืองจะออกมาแต่งชุดฮาวาย มีสร้อยดอกไม้แขวนอยู่ที่คอ และเต้นระบำไปกับดนตรีพื้นเมือง ความพิเศษอยู่ที่มื้ออาหารแบบดั้งเดิมอย่างเผือกที่ถูกกวนจนข้น (Poi) หรือหมูย่างที่กินพร้อมกับใบเผือก (Kālua) เทศกาลลูอาวสุดครื้นเครงนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ชาวเมือง (และนักท่องเที่ยว) จะได้มาเจอกัน ทำความรู้จักและสังสรรค์ในบรรยากาศสนุกสนานเคล้าความโรแมนติกที่ไม่เหมือนที่ไหนบนโลก

50 First Dates
Luau Festival

ฮาวายยังเป็นรัฐที่ถูกใช้เป็นโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูด ละคร และซีรีส์อีกมากมาย นอกจาก 50 First Dates ยังมีภาพยนตร์ดังๆ อย่าง Jurassic Park และ Jurassic World ที่มาถ่ายทำบนเกาะคาไว (Kauai) และเกาะโอวาฮู หรือแม้แต่ The Hunger Games: Catching Fire และ Pirates of the Caribbean เพราะเป็นเมืองที่ต้อนรับนักแสดงและทีมโปรดักชั่นดังๆ จากทั่วโลก บวกกับเสน่ห์ของชายหาดและทะเล ทำให้ฮาวายเหมาะกับการจัดเทศกาลภาพยนตร์มากมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเหล่าคนในวงการภาพยนตร์ให้มาเยือน ทั้งเทศกาลหลักอย่าง Hawaii International Film Festival (HIFF) ที่จัดมาตั้งแต่ปี 1981 ซึ่งมีคนร่วมงานมากถึงปีละ 70,000 คน รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์ขนาดย่อมๆ อย่าง Made in Hawaii Film Festival ที่ฉายหนังโดยใช้หมู่เกาะฮาวายเป็นสถานที่ถ่ายทำ (เพื่อโชว์ให้เห็นว่าฮาวายเหมาะที่จะใช้ถ่ายหนังมากขนาดไหน), Waimea Ocean Film Festival และ Honolulu Rainbow Film Festival ซึ่งฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาว LGBTQ+ โดยเฉพาะ เป้าหมายของเทศกาลภาพยนตร์ในฮาวายคือการสนับสนุนให้คนทำหนังท้องถิ่นได้มีโอกาสแสดงฝีมือ และเป็นโอกาสดีที่คนทำงานสร้างสรรค์จากทั่วโลกจะได้มาพบปะเจอกันบนเกาะสวรรค์สุดโรแมนติกแห่งนี้นั่นแหละ

50 First Dates
hellotravel.com

ฮาวายยังเป็นเมืองในฝันของศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ เพราะพวกเขาสามารถหาแรงบันดาลใจทำงานได้จากธรรมชาติรอบตัว ลูซี่ นางเอกในเรื่องเองก็เป็นครูสอนศิลปะ ซึ่งแปลว่าคนที่นี่ให้ความสำคัญกับศิลปะมาก ชาวเมืองฮาวายยังรักษาศิลปะพื้นถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีต อย่างงานฝีมือที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือขนนก งานแกะสลัก ประติมากรรม รวมไปถึงการสัก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อ วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันศิลปะร่วมสมัยทั้งงานภาพวาด ภาพถ่าย ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและขับเคลื่อนโดยศิลปินชาวฮาวายรุ่นใหม่จำนวนมาก

Kauai Museum ภาพจาก hawaiimagazine.com

การสนับสนุนเรื่องศิลปะและความรู้ของคนในรัฐฮาวายดีขนาดไหน เราอาจเห็นได้จากพิพิธภัณฑ์ในฮาวายที่มีมากกว่า 90 แห่งและยังหลากหลาย อย่าง Bishop Museum บนเกาะโอวาฮูที่เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่สุดที่รวบรวมประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติของชาวพอลินีเซียนและชาวฮาวายพื้นถิ่นไว้ครบถ้วนที่สุด, Kauai Museum พิพิธภัณฑ์งานคราฟต์พื้นถิ่นของชาวฮาวาย รวมไปถึง Honolulu Museum of Art ที่จัดแสดงคอลเลกชั่นงานศิลปะร่วมสมัยจากเอเชียขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกา

เทศกาลศิลปะ Maoli Arts Month (MAMo) ยังเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของคนสายอาร์ตให้ได้มาพบปะเจอกันที่จัดทั่วทั้งหมู่เกาะตลอดเดือนพฤษภาคมมาตั้งแต่ปี 2005 ก่อนที่จะขยายมาเป็นเทศกาล Maoli Arts Movement ในปี 2015 หรืออย่าง Honolulu Biennial ก็เป็นงานที่ศิลปินฮาวายกับศิลปินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมาสร้างงานร่วมสมัยร่วมกัน ความคึกคักของแวดวงสร้างสรรค์ในฮาวายไม่เคยหยุดนิ่งและทำให้ชาวฮาวายเห็นคุณค่าและความหมายของศิลปะ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมใครก็ตามที่ได้มาสัมผัสเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาขนาดนี้แล้วจะต้องตกหลุมรักทั้งเมืองและคนที่นี่ไปพร้อมกัน

Honolulu Biennial ภาพจาก teamlab.art

เมืองที่เราเห็นสายรุ้งพาดผ่าน

ฉากจบของภาพยนตร์ 50 First Dates ถูกบรรเลงด้วยเพลงประกอบสุดคลาสสิกอย่าง Somewhere Over the Rainbow ผลงานของนักร้อง-นักแต่งเพลงชาวฮาวาย Israel Kamakawiwoʻole ที่เราได้ยินทีไรก็เหมือนได้วาร์ปไปนั่งจิบเครื่องดื่มเย็นๆ อยู่ริมทะเลฮาวายทุกที แต่เพราะชื่อเพลงเป็นใจ เราเลยนึกสงสัยขึ้นมาว่าสุดปลายของสายรุ้งนั้นพาดผ่านเกาะฮาวายแห่งนี้ด้วยหรือเปล่า

เรื่องน่ายินดีก็คือฮาวายไม่ใช่เพียงเกาะสวรรค์ของคู่รักต่างเพศเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้กับความรักของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ฮาวายเป็นรัฐแรกๆ ในอเมริกาที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตั้งแต่ปี 2013 และได้สิทธิไม่ต่างจากการแต่งงานของคู่รักต่างเพศทั้งเรื่องของกฎหมายหรือการรับบุตรบุญธรรม (อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องเสนอให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ถูกเสนอต่อศาล Supreme Court of the State of Hawaii มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1993 แล้ว)

Honolulu Pride ภาพจาก staradvertiser.com

เราอาจบอกได้ว่าฮาวายเปิดกว้างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมากขนาดไหนได้จากศัพท์ภาษาฮาวายที่มีมาตั้งแต่อดีต อย่างคำว่า aikāne ที่หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งได้รับการยอมรับมาตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคมเสียอีก รวมถึงคำว่า māhū ที่หมายถึงสถานะของเพศที่สาม (third gender) ซึ่งไม่ใช่เพศชายและเพศหญิง (ในขณะนั้นใช้เรียกพวกนักบุญ)

ปัจจุบันฮาวายจึงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาว LGBTQ+ ไม่แพ้ที่อื่น ธรรมชาติที่เป็นใจและบรรยากาศสุดคึกคักจากเสียงดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมมากมายบนเกาะ เป็นเครื่องสนับสนุนให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอิสระในแบบที่ใจอยากโดยไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะมองยังไง ผลสำรวจล่าสุดของ Public Religion Research Institute ในปี 2019 ยังบอกว่าชาวฮาวายกว่า 73 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนการยุติความไม่เท่าเทียมกันทางเพศและพร้อมที่จะปกป้องสิทธิของชาว LGBTQ+ เต็มที่

ฮาวายเองยังมีหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนสิทธิของชาว LGBTQ+ โดยเฉพาะ อย่าง Hawaii LGBT Legacy Foundation ผู้ริเริ่มจัดงาน Honolulu Pride เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยเป็นมูลนิธิที่ตั้งใจสนับสนุนให้ชาวเพศหลากหลายใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและได้สิทธิเท่าเทียมกับทุกคน หรืออย่าง Honolulu Gay and Lesbian Cultural Foundation (HGLCF) ที่ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจเรื่องราวของชาว LGBTQ+ แก่คนวงกว้างผ่านกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม (เทศกาลภาพยนตร์ HRFF คือหนึ่งในงานของกลุ่มนี้) ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นเมืองใดเมืองหนึ่งที่มีหน่วยงานขับเคลื่อนสิทธิของเพศหลากหลายจากภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง จนเราคิดว่าสายรุ้งน่าจะพาดผ่านเกาะฮาวายเรียบร้อยแล้ว

50 First Dates

เราอาจสรุปได้ว่าฮาวายเป็นมากกว่าแค่จุดหมายปลายทางของคู่รักที่อยากมาฮันนีมูนหรือท่องเที่ยวพักผ่อน เพราะสำหรับชาวเมืองเองแล้ว คุณภาพชีวิตดีๆ ที่พวกเขามีต่างหากคือนิยามของเกาะสวรรค์แห่งนี้ที่แท้จริง และเมืองที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ มีบรรยากาศแสนโรแมนติกเป็นใจแบบนี้ก็ไม่ทำให้เฮนรี่เหนื่อยเกินไปนักที่จะบอกเล่าเรื่องราวเดิมๆ ซ้ำๆ ให้ลูซี่ฟังใหม่ทุกวัน

ถ้าเราตกหลุมรักคนเดิมได้ซ้ำๆ ฮาวายก็พร้อมที่จะให้เราตกหลุมรักเมืองนี้ได้ทุกวันเช่นกัน


Recommended Romantic Places in Hawaii

Lanikai Beach

ชายหาดที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดบนเกาะโอวาฮู คำว่า Lanikai มีความหมายว่าทะเลแห่งสวรรค์ (heavenly sea) เป็นเพราะหาดทรายที่นี่ขาวละมุนและทอดตัวยาว คลื่นลมทะเลไม่แรง เหมาะกับการแหวกว่ายในน้ำทะเลสีฟ้าเข้มหรือเล่นแพดเดิลบอร์ด และบรรยากาศที่เงียบสงบจนเหมือนถูกโอบกอดด้วยธรรมชาติที่แท้จริง ความพิเศษของหาดลานิไกคือค่อนข้างลึกลับ นอกจากจะไม่มีป้ายบอกทางชัดเจนและที่จอดรถใกล้ๆ แล้ว ทางเข้าที่จะไปได้ยังต้องเดินผ่านบ้านพักอาศัยของชาวฮาวาย ทำให้ชายหาดแห่งนี้เหมาะมากสำหรับคู่รักที่อยากได้บรรยากาศส่วนตัวยามที่นั่งมองพระอาทิตย์ขึ้นด้วยกัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

50 First Dates
best-of-oahu.com

The ARTS at Marks Garage

สำหรับคู่รักสายติสท์ที่ไปฮาวายแล้วยังอยากเดินชมงานนิทรรศการศิลปะ ที่นี่คือแกลเลอรีในย่านไชน่าทาวน์ใจกลางเมืองโฮโนลูลูที่ขยันจัดนิทรรศการและการแสดงต่างๆ ตลอดทั้งปี และยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวครีเอทีฟในฮาวายที่จัดเวิร์กช็อปและคอร์สเรียนต่างๆ เปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงผลงาน ถ้าในโปรแกรมทัวร์ฮาวายของคุณมีวันไหนที่ยังว่างๆ และอยู่ในตัวเมืองโฮโนลูลู เราคิดว่าการเดินเล่นชมงานศิลปะในย่านดาวน์ทาวน์พลางดูชีวิตของชาวฮาวายในเมืองหลวง ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าลองทำและโรแมนติกไม่แพ้กัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ภาพจากเพจ The ARTS at Marks Garage

Mauna Kea

Mauna Kea คือภูเขาไฟอายุกว่าล้านปีบนเกาะฮาวาย (เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะฮาวาย) นอกจากจะเด่นดังในฐานะยอดเขาที่สูงที่สุดในอเมริกา และเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ดีที่สุดเพราะสามารถเห็นวิวทั้งเกาะและมหาสมุทรแปซิฟิกได้แล้ว ไฮไลต์ที่คู่รักหลายคู่เลือกที่จะมาเสพบรรยากาศโรแมนติกสุดพิเศษที่นี่คือการชมดาวบนยอดเขาความสูงกว่า 1,400 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลแบบเต็มตา ยิ่งในวันที่ท้องฟ้าเป็นใจเราอาจได้เห็นทางช้างเผือกพาดผ่านท้องฟ้าเช่นกัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Telescopes set on volcanic landscape

อ้างอิง

A Blueprint for Action Water Security for an Uncertain Future 2016-2018, Hawai‘i Fresh Water Initiative

ballotpedia.org

dwellhawaii.com

gohawaii.com

hawaiicommunityfoundation.org

hawaiiliving.com

hawaiiqualityoflife.org

republicworld.com

silpa-mag.com

smithsonianmag.com

teleport.org

AUTHOR