ปี 2018 ยังคงเป็นปีที่ทั่วโลกจับตามองความเคลื่อนไหวของชาวบริการสตรีมมิงต่างๆ อย่างใกล้ชิด และประเด็นของปีนี้มันไม่ใช่เรื่องสตรีมมิงจะมาแย่งคนดูหนังโรงหรือไม่อีกต่อไป แต่มันคือปัญหาใหม่ของบรรดาชาวสตรีมมิงที่ขอบเขตของพวกเขานั้นจบได้แค่ที่จอทีวี และคนดูอาจจะกลับไปหาโรงภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่งด้วยการดูหนังที่ชาวสตรีมมิงผลิตเองนั่นแหละ
กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดและน่าสนใจที่สุดก็คือ Netflix และหนังเรื่อง Roma (2018) ของผู้กำกับ Alfonso Cuarón ซึ่งถูกปฏิเสธจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เพราะเจ้าของโรงหนังในฝรั่งเศสไม่ยอมรับที่หนังของบริการสตรีมมิงมาฟาดแข้งกับหนังโรงปกติ แต่แล้วการถูกปฏิเสธนั้นนำมาสู่การยอมรับที่ยิ่งใหญ่ เพราะ Roma กลับไปคว้ารางวัลใหญ่ที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ที่สำคัญ หลังจากนั้นชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้ก็ไปไกลทะลุเทศกาลหนังไหนๆ เพราะตอนนี้มันคือตัวเก็งรางวัลออสการ์ สาขา Best Picture ที่กำลังจะประกาศในอีกไม่กี่เดือน ซึ่งนั่นอาจจะให้ผลดีกับ Netflix มากกว่าความหวังแรกที่พวกเขาตั้งไว้กับเทศกาลเมืองคานส์ด้วยซ้ำ เพราะออสการ์นั้นแมสกว่า กว้างกว่า และจะทำให้แบรนดิ้งของ Netflix ดีที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่ประเด็นสำคัญในตอนนี้อาจไม่ใช่เรื่องการหาทางสร้างชื่อเสียงนั้นอีกต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นโดยที่ Netflix อาจไม่รู้ตัวคือพวกเขากำลังสร้างหนังที่ใหญ่เกินตัว ผมหมายถึงหนังมันใหญ่เกินกว่าจอทีวี 60 นิ้วที่บ้านของทุกคนจะรับได้ ทั้งในแง่เชิงเทคนิคและเชิงแบรนดิ้ง
ผมเพิ่งได้ชม Roma ในโรงภาพยนตร์มา หนังกำกับโดยอัลฟองโซ กัวรอง อดีตผู้ปั้นภาพยนตร์เรื่อง Gravity (2013) ที่เรียกร้องผู้ชมให้ดูหนังในโรง IMAX เท่านั้นเพื่อประสบการณ์ที่เต็มประสิทธิภาพ ปีนี้เขาเดินทางกลับบ้านเกิดที่เม็กซิโกเพื่อทำหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ว่าด้วยชีวิตสาวใช้ธรรมดาๆ คนหนึ่งในครอบครัวคุณหมอ ฟังดูเป็นหนังเล็กๆ เรียบง่ายๆ เหมาะกับ Netflix แต่แท้จริงเมื่อเข้าไปดูในโรงนั้น ผมถึงกับตั้งคำถามว่าจะเราดูหนังเรื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ในจอทีวี (ไม่ต้องพูดถึงจอมือถือเลย) ได้อย่างไร เพราะแม้ว่าซีนหลายซีนจะธรรมดา แต่มันประกอบไปด้วยรายละเอียดอันยิ่งใหญ่ เช่น บรรยากาศด้านหลังตัวละครที่ช่วยเล่าเรื่องอีกครึ่งหนึ่ง ดีเทลการกำกับที่ต้องสังเกตกันเอาเองขณะดูเพราะผู้กำกับไม่ได้ close up เข้าไปให้ดูใกล้ๆ รวมถึงการที่จริงๆ แล้วหนังค่อนข้างไม่มีพล็อตชัดเจนและเรียกร้องสมาธิคนดูค่อนข้างมาก เพราะคอนเซปต์หนังคือการสร้างบรรยากาศของช่วงเวลาในอดีต ณ เม็กซิโกออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ผู้คนปัจจุบันได้ดู เหมือนเป็นงานเพนติ้งของตัวกัวรองเองที่วาดถึงช่วงโมเมนต์ในอดีตที่เขารัก เมื่อฟังดูแล้ว มันแทบไม่มีคุณสมบัติของการเป็นหนังดูสนุกหรือเป็นซีรีส์ที่น่าตื่นเต้นระทึกขวัญแต่อย่างใด แต่มันก็ยังคงเป็นหนังที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง (ถ้าเราได้ดูในโรงภาพยนตร์น่ะนะ)
จนสุดท้ายทาง Netflix ก็ต้องพยายามหาทางฉายหนังเรื่องนี้ในโรงให้ได้ (แม้ว่าหลักๆ อาจจะเป็นไปเพื่อให้ผ่านคุณสมบัติการได้เข้าชิงออสการ์เฉยๆ) ผู้กำกับคนอื่นๆ และนักวิจารณ์เมืองนอกก็พยายามเชียร์ให้ทุกคนได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรง นั่นแปลว่าจริงๆ แล้ว Roma มันควรจะได้ฉายโรงเพื่อให้มันได้แสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่จริงๆ ด้วย
นี่เรายังไม่นับหนังใหม่จาก Netflix ที่กำกับโดย Martin Scorsese งบหลายร้อยล้านดอลลาร์ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้ควรต้องดูในโรงอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ Netflix กำลังสร้างภาพยนตร์ที่ใหญ่เกินตัว และความใหญ่นั้นทำให้คนอาจจะเริ่มกลับไปคิดถึงการดูหนังในโรงอีกครั้ง เพราะคนดูก็เห็นอยู่ว่าตัวหนังมันใหญ่เกินกว่าที่พวกเราจะรับได้จากการดูทีวีจริงๆ นั่นแปลว่าหนังที่ Netflix สร้างเองเพื่อเรียกคนเข้าบริการสตรีมมิงและไม่ต้องไปโรงหนัง กลับเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นให้คนคิดถึงโรงหนังอีกครั้ง
ส่วนในเชิงแบรนดิ้งนั้น แม้ว่าผู้กำกับหนังดังๆ หลายคนจะถูกชักชวนและระดมพลมาทำหนังให้กับที่นี่ เช่น Coen brothers หรือ Paul Greengrass แต่ที่สุดแล้วเมื่อหนังของผู้กำกับดังๆ นั้นถูกแบรนดิ้งว่าเป็นเพียงหนัง Netflix มันก็ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ไกลนัก อาจจะเป็นเพราะแบรนดิ้งหนัง Netflix มันดูเป็นหนังเล็กๆ โดยอัตโนมัติ (แม้ตัวหนังจริงๆ นั้นจะใหญ่) ประกอบกับการที่มันต้องถูกจำกัดฉายในตัวแพลตฟอร์มของ Netflix เป็นหลัก ทำให้หนังไม่สามารถเดินทางออกไปสู่สายตาผู้ชมทั่วไปได้มากเท่าที่คิด หนังบางอย่างเรื่องอย่าง The Ballad of Buster Scruggs (2018) ของพี่น้องโคเอน ก็เหมือนจะหายไปกับสายลมอยู่ประมาณนึง ทั้งที่เป็นหนังของพี่น้องผู้กำกับที่ตัวใหญ่ที่สุดคู่หนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
แน่นอนว่าคนทำหนังหลายคนย่อมไม่แคร์เรื่องเหล่านี้ เพราะสุดท้าย Netflix ก็ให้อิสระพวกเขาในการทำหนังมากกว่าเวลาที่พวกเขาทำกับสตูดิโอ แต่พวกเขาจะรู้ตัวไหมว่า สิ่งที่พวกเขาทำออกมา มันใหญ่โตกว่าแพลตฟอร์มจะรองรับได้ และสุดท้ายเราก็ต้องมารณรงค์ให้ดูหนัง Netflix ในโรงหนังกันอีกที อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งที่น่าสนใจ
จึงทำให้ปี 2019 เป็นอีกปีที่น่าติดตามว่าภาวะกึ่งกลางคร่อมเล็กคร่อมใหญ่แบบนี้ จะคลี่คลายอย่างไรต่อไป
สวัสดีปีใหม่ทุกท่าน