ตัดคานส์ คบเวนิส : ความสำเร็จในการชุบทองของ Netflix

Highlights

  • เป็นที่รู้กันว่าคานส์มีปัญหากับหนังของ Netflix มาสองปีรวด โดยปีล่าสุด Netflix ถอนหนังของตัวเองทั้งหมดออกจากเทศกาลเมืองคานส์ และไปปรากฏบนเวทีของเทศกาลหนังของเวนิสแทน
  • ในสถานะเทศกาลภาพยนตร์ เวนิสถือเป็นเทศกาลอันดับที่สองรองจากคานส์ การรับหนังของ Netflix มาฉายนั้น หากมองแบบคิดมาก มันอาจเป็นกลยุทธ์การสร้างแบรนดิ้งของตัวเทศกาลในแง่ที่ว่า 'ฉันใจกว้างนะ ฉายหนังทุกแบบจริงๆ ไม่เหมือนพวกฝรั่งเศสนั่น'
  • ที่จริงปัจจุบัน Netflix ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นความหวังใหม่ของการผลิตหนังไปอย่างเรียบร้อยแล้วแม้จะไม่ต้องฉายที่คานส์ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นกำไรของคนดูอย่างเราๆ ที่จะได้ดูหนัง Netflix Original Films ที่มักให้ผู้กำกับดังมาทำหนังคุณภาพ

ความน่าสนใจของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสปีนี้ไม่ใช่ไลน์อัพหนังใหม่ แต่กลับเป็นไลน์อัพหนังที่เราเคยได้ยินมาก่อนมากกว่า

อย่างที่รู้กันว่าคานส์มีปัญหากับหนังของ Netflix มาสองปีรวด โดยปีล่าสุดที่ผ่านมา Netflix ถอนหนังของตัวเองทั้งหมดออกจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เนื่องจากเทศกาลห้ามหนัง Netflix เข้าสายประกวด ซึ่งถือเป็นความน่าเสียดายสุดๆ เพราะหนัง Netflix Original Films ในปีนี้ มีตั้งแต่หนังอินดี้เรื่องใหม่ของ Alfonso Cuarón (ผู้กำกับจาก Children of Men และ Gravity) ที่ชื่อ Roma หนังของ Paul Greengrass เรื่อง 22 July ที่ว่าด้วยเหตุการณ์กราดยิงแคมป์เด็กที่นอร์เวย์ในปี 2011 หรือหนังเรื่องสุดท้ายของปรมาจารย์ภาพยนตร์อย่าง George Orson Welles

ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของหนังเหล่านั้นว่าเป็นอย่างไรต่อไป จนเรามาพบว่าหนังเซตนั้นทั้งชุดมารวมตัวกันอยู่ที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิสปีนี้

ในสถานะของเทศกาลภาพยนตร์ เวนิสถือเป็นเทศกาลอันดับสอง รองจากคานส์ การรับหนังของ Netflix มาฉายนั้น หากจะมองในแง่ความที่เวนิสเป็นเทศกาลเล็กกว่าและไม่เรื่องมากก็ดูจะเป็นไปได้ แต่หากมองแบบคิดมาก มันอาจจะเป็นกลยุทธ์การสร้างแบรนดิ้งของตัวเทศกาลด้วยเช่นกันในแง่ที่ว่า ‘ฉันใจกว้างนะ ฉายหนังทุกแบบจริงๆ ไม่เหมือนพวกฝรั่งเศสนั่น’ ถือเป็นการตอบโต้เทศกาลใหญ่ด้วยหมัดหนัก และอาจทำให้เทศกาลอย่างคานส์ดูติดลบนิดๆ ไปโดยอัตโนมัติ กลายเป็นเทศกาลหยิ่งๆ โดยฉับพลัน

สิ่งที่ผมเฝ้ามองต่อไปคือ สมมติว่าหนัง Netflix Original Films เหล่านี้ได้ฉายตามเทศกาลภาพยนตร์จริงๆ ก่อนจะส่งตรงสู่ระบบสตรีมมิ่งโดยไม่เข้าโรงภาพยนตร์ การรับรู้และความรู้สึกของคนดูอย่างเราๆ จะเป็นอย่างไร

Roma ของอัลฟองโซ กัวรอง ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจนมีสิทธิ์ที่จะได้เข้าชิงออสการ์ปีนี้อย่างง่ายดาย ในฟีลลิ่งของคนดูอย่างเราๆ เสียงชื่นชมเหล่านั้นทำให้เราลืมว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนัง Netflix กันไปช่วงหนึ่งเลยทีเดียว (อาจเป็นเพราะรอบนี้ตัว Netflix เองก็ไม่ได้โปรโมตแบบยิ่งใหญ่ว่านี่คือหนัง Netflix Original นะจ๊ะด้วย แต่เน้นไปที่การกลับมาทำหนังเล็กๆ ด้วยตัวเองของอัลฟองโซมากกว่า แตกต่างจากสมัย Okja ที่เคลมยับว่านี่คือหนัง Netflix)

แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่าหากหนัง Netflix เน้นโปรโมตให้ดูเป็นหนังปกติ ส่งเข้าเทศกาลปกติ มันก็จะกลายเป็นหนังปกติได้เลย แม้ว่าสุดท้ายคนดูจะมารู้ตัวอีกทีว่าไม่ใช่หนังโรงตอนที่มันปล่อยฉายในระบบ Netflix ถ้าอะไรแบบนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ Netflix ก็จะกลายเป็นเหมือนค่ายหนังคุณภาพไปอย่างกลายๆ และค่อยๆ กลายเป็นสตูดิโอหนังที่มีระบบจัดจำหน่ายเป็นของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องผ่านโรง (ซึ่งนั่นแหละคือสิ่งที่ฝรั่งเศสไม่ชอบและกลัว)

ว่าง่ายๆ คือรอบนี้ดู Netflix เล่นเกมเนียนมากขึ้น ไม่กระโตกกระตากประกาศสู่ชาวโลกเท่าสมัยคานส์

ส่วนที่ว่าเรื่องกลยุทธ์เอาหนังสตรีมมิ่งไปชุบทองตามเทศกาลหนังต่างๆ ก่อนจะกลับมาขายอีกรอบในช่องทางของตัวเองนั้น ยังถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือไม่ สำหรับผมแล้วในเวลานี้ ไม่ว่า Netflix จะได้ฉายในคานส์หรือไม่ก็ตาม Netflix ก็ได้รับความสนใจจากคนดูและคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปเรียบร้อยแล้ว คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของหนัง Netflix Original Films ที่มักให้ผู้กำกับดังมาทำหนังคุณภาพ (ในเชิงแบรนดิ้งและภาพลักษณ์) จึงกลายเป็นว่าหากเทศกาลไหนรับหนังกลุ่มนี้ไปฉาย ก็จะกลายเป็นเทศกาลหนังที่ดูทันสมัยและเปิดรับหนังทุกประเภทไปเสียอย่างนั้น

Netflix ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นความหวังใหม่ของการผลิตหนังไปอย่างเรียบร้อยแล้วแม้จะไม่ต้องฉายที่คานส์ และถ้าหากมันได้เข้าชิงออสการ์ (หรือได้รางวัล) ก็คิดว่าน่าจะก้าวข้ามคานส์ไปได้อย่างง่ายดาย

ไม่รู้ว่านี่เป็นความแยบยลในการวางกลยุทธ์ หรือเป็นการแก้เกมเฉพาะหน้าของ Netflix แต่หากถามในแง่ของคนดู เราก็ได้ดูหนังใหม่ของอัลฟองโซ กัวรอง ซึ่งกลับมาทำหนังหัวข้อเล็กๆ ในสไตล์ที่ทำให้เขาแจ้งเกิดในโลกภาพยนตร์ หากไม่ติดว่าจะต้องดูในโรงหรือไม่ ทั้งหมดเป็นกำไรของคนดูทั้งนั้น

ส่วนกำไรของ Netflix นั้นก็…เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนดูไม่เกี่ยวแต่อย่างใด

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา