5 เหตุผลทางสถาปัตยกรรมที่เราควรปฏิเสธทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

หลายคนคงยังจำ ‘วิมานพระอินทร์’ การออกแบบสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำที่คล้ายคลึง Crystal Island ของรัสเซียจนตกเป็นข่าวโด่งดังในปีที่แล้วได้ อาคารแลนด์มาร์กนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การก่อสร้างขนาดยักษ์ที่จะเปลี่ยนแม่น้ำและบริเวณรอบข้างไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเราพูดคุยกับ พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม และ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบผู้เฝ้าระวังโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น คำตอบที่ได้จากพวกเขาทำให้เราเห็นโครงสร้างปัญหาทางเลียบแม่น้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

1. ประชาชนไม่ได้ต้องการ

การสร้างสถาปัตยกรรมที่ใช้งานได้ยั่งยืน ต้องมีจุดประสงค์การก่อสร้างที่ชัดเจน และสร้างสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากความต้องการของภาครัฐ แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้อยากได้ และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเมื่อสร้างเสร็จประชาชนจะมาใช้ แต่ต้องเป็นคนจ่ายภาษีให้สร้าง

2. ไม่เหมาะกับการใช้งาน

ผังแม่บท 14 กม. จากทีมทีปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (สจล. และ มข.) งานประชาสัมพันธ์โครงการฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 59

พื้นที่สาธารณะริมน้ำเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรสร้างให้สอดคล้องกับการใช้งาน โครงการนี้อ้างว่าเป็นทางเลียบแม่น้ำสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สามารถใช้ป้องกันน้ำท่วม เผื่อให้รองรับการสัญจรในอนาคต รวมทั้งป้องกันการรุกล้ำแนวแม่น้ำด้วย มิติทับซ้อนกันอยู่ที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดที่ว่าได้จริง

นอกจากนั้นเส้นทาง 14 กิโลเมตร 2 ฝั่งแม่น้ำ ฝั่งละ 7 กิโลเมตร ถ้าใช้เป็นทางปั่นจักรยานก็สั้นเกินไป ถ้าจะเดินเล่นก็ยาวเกินไป และไม่ได้คำนึงถึงการเข้าถึง ไม่มีรถไฟฟ้า ไม่มีที่จอดรถ และบางช่วงก็เป็นจุดอับที่คนไม่เข้าไปใช้ หรือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ออาชญากรรม พื้นที่หย่อนใจริมน้ำที่ตอบโจทย์อาจไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลียบยาวเท่ากันหมด เช่น The Bund พื้นที่กว้างขวางริมน้ำที่เซี่ยงไฮ้มีความยาวไม่ถึง 2 กิโลเมตร แต่ออกแบบได้ดีจนคนทั้งเมืองสามารถเข้าถึง และเลือกเข้าไปใช้งานจริงๆ

กรณีของกรุงเทพฯ เส้นทางไม่จำเป็นต้องมีขนาดเท่ากันหมด เพราะชุมชนริมน้ำจะมีพื้นที่สาธารณะของตัวเองอยู่แล้ว เช่น วัดวาอารามต่างๆ ป้อมพระอาทิตย์ พื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 เป็นต้น อาจศึกษาการจัดระบบเส้นทางใหม่ ปรับปรุงเส้นทางเดิมที่มีอยู่ให้เชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะเดิม หรือขอแบ่งที่ดินริมน้ำบางส่วนมาทำทางเลียบแม่น้ำ ดีกว่าการตัดถนนลงไปในแม่น้ำซึ่งต้องลงทุนสูง ทำลายธรรมชาติและเสี่ยงต่อการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ริมน้ำมากเกินไป

3. ไม่ถามความเห็นผู้เกี่ยวข้อง

การออกแบบโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ต้องไปสอบถามคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ ว่าต้องการสถาปัตยกรรมแบบไหน คนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีหลายกลุ่ม ถึงบ้านไม่ได้อยู่ริมน้ำ อาจต้องเดินทางข้ามแม่น้ำไปทำงาน แต่ปัจจุบันแบบแปลนของโครงการไม่ได้สร้างขึ้นจากโจทย์ความต้องการหรือการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง ไม่สอดคล้องกับคนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยถึงแผนแม่บทและแบบรายละเอียดที่ทางสถาบัน สจล.ได้ผลิตขึ้นจากงบประมาณที่ได้จากภาษีของประชาชน

Walkway Structure รูปตัดแสดงขนาดโครงสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของโครงการฯ โดย เพื่อนแม่น้ำ (FOR)

ปัจจุบันมีการออกแบบที่เรียกว่า Co-creating หรือ Co-evolving คือการออกแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น โครงการที่ TCDC ทำแถวเจริญกรุง หรืองานของสถาปนิกชุมชน ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ก็ใช้กระบวนการลงพื้นที่และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบ แต่โครงการใหญ่อย่างทางเลียบแม่น้ำฯ ปฏิเสธการออกแบบที่มีส่วนร่วมแบบนี้ เหมือนสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แต่ยังใช้เทคโนโลยีแบบเก่าอยู่

4. รีบร้อนเกินไป

โครงการนี้ไม่ได้มีข้อจำกัดด้านงบประมาณหรือเวลา จะสร้างเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นควรใช้เวลากับกระบวนการศึกษาหาข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่กระบวนการที่เร่งรีบไม่เปิดเผย ใช้เวลาเพียง 6 – 7 เดือนในการศึกษาออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ละเอียดอ่อนเพื่อให้ทันความต้องการของรัฐ โดยไม่ได้สนใจความเหมาะสมสอดคล้องของแบบ มีผลทำให้ไม่อาจได้แบบแปลนที่ถี่ถ้วนสมบูรณ์

ทางเลียบแม่น้ำส่งผลกระทบต่อสถาปัตยกรรมริมน้ำเดิม ทั้งมรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ และชุมชนริมน้ำ ก่อนการสร้างจึงต้องทำความเข้าใจบริบทให้ถ่องแท้ ทั้งในรายละเอียดและในภาพรวม ศึกษาแง่มุมสังคม เศรษฐกิจ วิศวกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ แล้วเปิดโอกาสให้ทางเอกชนและภาครัฐได้ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะริมน้ำที่เหมาะสมกับคนไทยและประเทศไทยจริงๆ

แผนที่ขอบเขตพื้นที่โครงการฯ ซึ่งซ้อนทับกับโครงการส่งเสริมให้เจ้าพระยาเป็นมรดกชาติ โดย เพื่อนแม่น้ำ (FOR)

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือกระบวนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้านใต้ของเกาะแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ความเสียหายจากเฮอริเคนแซนดี้ในช่วงปี 2012 ทำให้เกิดการรวมตัวกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันศึกษาและทำงานกับชุมชนเพื่อหาแนวทางการพัฒนาชายฝั่งขึ้นมานำเสนอต่อรัฐและรัฐบาลกลาง จากนั้นจึงของบประมาณศึกษาออกแบบแผนแม่บทและแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง และนำงบที่ได้รับไปออกแบบโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีการศึกษาและทำประชาพิจารณ์อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆ ก่อนนำแบบไปก่อสร้างจริง

5. มีโครงการที่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องอยู่แล้ว

ก่อนหน้าโครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีโครงการพัฒนาริมน้ำยานนาวาที่สะพานปลา สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้จัดจ้างศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและบริการวิชาการของทางจุฬาฯ มาศึกษาเรื่องผังเมืองและทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ เอกชน วัดและชุมชนริมน้ำต่างๆ ใช้เวลาประชุมกับชาวบ้านเป็นร้อยครั้งในระยะเวลาเกือบ 2 ปีจนได้ผังแม่บทระยะกิโลเมตรกว่าๆ และการยอมรับจากชุมชน แต่ตอนนี้ขาดงบประมาณในการสานต่อ ทั้งที่โครงการนี้ใช้ศึกษาเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้

“ผมว่าเรื่องกระบวนการเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน จะทำงานออกแบบให้ชาวบ้านใช้ คุณก็ต้องรับฟังความคิดเห็นว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย”
พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ

ทุกแรงโหวตของทุกคนมีค่า ร่วมลงชื่อยับยั้งการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ที่นี่ : chn.ge/1tlD153

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR