คุยกับดีไซเนอร์เบื้องหลังตึกทรงกระบอก กระจกใส และดีไซน์ของ Apple Central World

Highlights

  • Apple Central World คือ Apple Store สาขาที่ 2 ของเมืองไทย ซึ่งมีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ด้วยโครงสร้างรูปทรงกระบอก บานกระจก 360 องศาที่มองจากภายในออกมาเห็นความคึกคักของสี่แยกราชประสงค์
  • ที่นี่เป็น Apple Store สาขาแรกของโลกที่ใช้บานกระจกล้อมรอบทั้งอาคาร โดยทีม Apple ได้แรงบันดาลใจจากความมีชีวิตชีวาของสี่แยกแห่งนี้ ทำให้อยากขับเน้นบรรยากาศให้ชัดขึ้นผ่านกระจกใส
  • ตัวร้านยังออกแบบด้วยปรัชญาการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ โดยใช้กระจกบานใหญ่และวัสดุปูพื้นด้านในและด้านนอกร้านเป็นชนิดเดียวกันเพื่อละลายเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่รอบๆ และภายในร้าน

apple central world ไม่กี่วันมานี้อยู่ๆ ตึกทรงกระบอกหน้าตาคล้ายจานบินล้อมรอบด้วยกระจกใส 360 องศา ก็ปรากฏเด่นเป็นสง่าอยู่ที่มุมหนึ่งของลานเซ็นทรัลเวิลด์

พูดให้ถูก–อยู่ๆ ตึกนี้ก็ปรากฏตัวหลังจากห่มผ้าคลุมสีดำมาหลายเดือนระหว่างการก่อสร้าง ปล่อยให้แฟนสินค้ารอคอยอย่างมีความหวัง ทั้งในฐานะของ flagship store แห่งใหม่ สินค้าที่จะวางขาย และที่สำคัญคือดีไซน์ที่ว่ากันว่าต้องสวยสะดุดตา

Apple Central World

ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะสร้างกระแสแบบนี้ได้ตั้งแต่ตึกยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แน่นอนว่าหนึ่งในแบรนด์ที่ทำได้คือ Apple เจ้าของตึกสวยสะดุดตาแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

กระแสที่ว่ายิ่งทวีคูณเมื่อผ้าคลุมถูกเปิดออก เผยให้เห็นฉากกั้นสีดำมีลายแอปเปิลและคำว่ากรุงเทพฯ สีสดใสเป็นสัญญาณว่าร้านกำลังจะเปิดตัวในไม่ช้า ภาพหลุดดีไซน์ตึกถูกแชร์เป็นพันๆ ครั้ง (แม้จะไม่ใช่ภาพออฟฟิเชียล) ถึงอย่างนั้นเบื้องหลังของดีไซน์ตึกก็ยังเป็นปริศนา

โชคดีที่เรามีโอกาสได้คุยกับ Chris Braithwaite ซีเนียร์ไดเรกเตอร์แผนก worldwide retail design ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบ Apple Store ทั่วโลกผ่านอีเมลสั้นๆ ถึงที่มาที่ไปและวิธีคิดที่แฝงอยู่ในงานสถาปัตยกรรมที่ใครๆ ก็พูดถึงในเวลานี้

Find My Location

ก่อนหน้านี้ในปี 2018 Apple เปิด flagship store แห่งแรกในเมืองไทยที่ไอคอนสยาม ซึ่งรู้กันดีว่าไม่เคยเงียบเหงา เพราะนอกจากจะเป็นจุดหมายของคนกรุงเทพฯ ที่อยากซื้อสินค้าของพวกเขา ยังมีเหล่านักท่องเที่ยวแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ไม่นับวันที่เริ่มขายสินค้าใหม่ที่แถวจะยาวไปถึงโซนอื่นของห้างฯ

เมื่อถึงจุดหนึ่งการมีร้านค้าเพียงสาขาเดียวก็ไม่พออีกต่อไป และลานเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ คือจุดหมายใหม่ที่ Apple เลือกปักหมุด

Apple Central World
Apple Central World

“เราอยากสร้าง Apple Store สาขาใหม่ในพื้นที่ใจกลางเมืองเพื่อให้ลูกค้าในกรุงเทพฯ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แยกราชประสงค์จึงเป็นที่ที่เหมาะที่สุดเพราะมันมีชีวิตชีวา มีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ สี่แยกตลอดเวลา ตั้งแต่ที่ศาลท้าวมหาพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ ห้างต่างๆ ที่ล้อมรอบ ไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้า” คริสเล่าย้อนถึงเหตุผลที่ทำให้ชาว Apple เลือกพื้นที่บริเวณนี้ในที่สุด

“ร้านสาขานี้เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และด้วยสถานที่ที่ยอดเยี่ยมแบบนี้คนจะเข้าถึงร้านของเราได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”

ที่จริงคำว่า ‘มีชีวิตชีวา’ ที่คริสว่าอาจน้อยไปด้วยซ้ำเมื่อนึกถึงความคึกคักของแยกแห่งนี้ เพราะแค่ปี 2019 เพียงปีเดียว สถิติก็บอกว่าแยกราชประสงค์มีคนเดินผ่านไปมาถึง 146 ล้านคน

และบริเวณรอบๆ นี่เองที่เป็นที่มาของดีไซน์ ตั้งแต่ฉากกั้น (barricade) ที่ห่อหุ้มตัวตึกไว้ในวันที่ร้านยังไม่เปิดตัว จนถึงตึก Apple Central World ที่ไม่ซ้ำกับ Apple Store สาขาใดในโลก

Apple Central World

Hello Krung Thep

ทุกครั้งที่ Apple เปิด Apple Store สาขาใหม่ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ตึกดีไซน์น้อยแต่มากมักไม่ใช่สิ่งแรกที่คนพูดถึง แต่กลับเป็นฉากกั้นซึ่งตั้งอยู่ไม่กี่วันเท่านั้นที่ได้ซีน นั่นเพราะฉากแต่ละชิ้นถูกดีไซน์โดยเฉพาะสำหรับแต่ละสาขาให้เข้ากับแต่ละเมืองที่ร้านตั้งอยู่

“การใส่รายละเอียดเฉพาะตัวของแต่ละเมืองและแต่ละวัฒนธรรมลงไปในฉากกั้น Apple Store แต่ละสาขาเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก” คริสบอกเรา

ย้อนกลับไปเมื่อพวกเขาเปิดร้านสาขาแรกในกรุงเทพฯ คราวนั้นพวกเขาเล่นสนุกเปลี่ยนลูกแอปเปิลเป็นตัวอักษร อ อ่าง เพื่อทักทายคนไทย แนวคิดคล้ายๆ กับร้านสาขาแรกในกรุงโซล เกาหลีใต้ ที่เลือกเขียนภาษาเกาหลีอ่านได้เป็นคำว่า ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ ส่วนสาขาที่สิงคโปร์เรียบง่ายกว่านั้น ด้วยการใช้กราฟิกรูปแอปเปิล หัวใจ และจุดสีแดง ที่สื่อความหมายว่า Apple loves ‘Red Dot’. ซึ่งเป็นชื่อเล่นของสิงคโปร์

คราวนี้แทนที่จะเปลี่ยนแอปเปิลทั้งลูกเป็นตัวอักษร พวกเขาเลือกใส่ตัวอักษรหลากสีเป็นคำว่ากรุงเทพฯ ลงไปภายใน เชื่อมโยงกับชื่อกรุงเทพฯ ฉบับเต็มที่โอบล้อมรอบตัวตึก

สีสันและตัวอักษรไขว้กันไปมาชวนให้คิดถึงหลากรสชาติรอบสี่แยกราชประสงค์ที่รวมกันเป็นสีฉูดฉาดเฉพาะตัว

“ตัวหนังสือในลูกแอปเปิลเขียนว่ากรุงเทพฯ หรือชื่อที่คนไทยเรียก Bangkok จริงๆ ส่วนที่เราเลือกใช้สีสดใสก็เพื่อเฉลิมฉลองคอนเซปต์การเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน เราอยากให้ฉากกั้นนี้สื่อความหมายว่า Apple และเมืองไทยสามารถดึงเอาความหลากหลายมาผสมผสานกันอย่างสวยงาม”

Apple of My Eye

ครั้งแรกที่เข้าไปสำรวจร้าน เราเดินผ่านประตูใหญ่บนชั้น 2 ซึ่งเชื่อมกับสกายวอล์กและเซ็นทรัลเวิลด์ แทนที่จะถูกดึงดูดด้วยผลิตภัณฑ์นับร้อย สิ่งแรกที่ดึงสายตาคือบานกระจก 360 องศา สูงจากพื้นจรดเพดาน เหมือนจอทีวีฉายภาพชีวิตด้านนอก ฟากหนึ่งเป็นสี่แยกราชประสงค์ ตึกสูง มีผู้คนและรถราขวักไขว่ อีกฟากเป็นอาคารและลานเซ็นทรัลเวิลด์ ทั้งหมดฉายสลับกับสีเขียวของยอดหูกระจงที่เคลื่อนไหวด้านนอก

Apple Central World
Apple Central World

“แยกราชประสงค์คือเหตุผลที่เราออกแบบร้านสาขานี้ให้เป็นทรงกระบอกที่มีโครงสร้างผนังเป็นกระจกทั้งหมด” คริสเล่าพร้อมเสริมว่า นี่คือครั้งแรกที่ Apple ออกแบบทั้งอาคารให้เป็นทรงกระบอกล้อมด้วยผนังตั้งแต่พื้นชั้น 1 จรดเพดานไม้โค้งได้รูป ใจกลางเป็นโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่ เขาเปรียบโครงสร้างนี้ว่าเหมือนต้นไม้ที่ทอดสู่เรือนยอดต้นไม้ในป่า ซึ่งกว่าจะได้ไม้ที่โค้งพอดีขนาดนี้ ทีมงานถึงกับต้องสั่งทำพิเศษจากสวิตเซอร์แลนด์

ในชั้น 2 นอกจากจะมีโต๊ะวางสินค้ากระจายอยู่รอบพื้นที่ มุมหนึ่งคือโซน The Forum พื้นที่จัดกิจกรรม Today at Apple Sessions ที่ชักชวนศิลปินหลากหลายแขนงมาจัดกิจกรรมให้คนทั่วไป เมื่อเดินลงบันไดที่ทอดวนรอบแกนกลางต้นไม้มายังชั้น 1 จะพบโซนขายผลิตภัณฑ์และ accessories ต่างๆ

Apple Central World

หากเดินต่อไปยังชั้นใต้ดินจะพบ The Boardroom ห้องสำหรับผู้ประกอบการที่อยากปรึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการของที่นี่ ตามปกติห้องนี้จะเปิดเฉพาะเวลามีใครมาปรึกษาเรื่องธุรกิจเท่านั้น ความน่าสนใจคือนอกจากจะตกแต่งด้วยสีสันมากกว่าสองชั้นด้านบน ที่นี่ยังซ่อนดีเทลสนุกๆ เอาไว้ ทั้งรูปภาพรอบห้องที่มองให้ดีจะเห็นว่าเป็นแบบแปลนอาคาร ส่วนของประดับที่วางอยู่รอบๆ แท้จริงคือชิ้นไม้ หิน และที่สำคัญคือกระจก ซึ่งเป็นวัสดุหลักของอาคารแห่งนี้

คริสเล่าต่อว่าบานกระจกของพวกเขาไม่ใช่แค่กิมมิกหรือองค์ประกอบเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาการออกแบบ Apple Store ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รอบๆ

“หน้าร้านของเราส่วนใหญ่เป็นกระจกบานใหญ่เพราะมันช่วยละลายเส้นแบ่งระหว่างภายในและภายนอกร้าน ลดระยะห่างระหว่างร้านของเราและชุมชนด้านนอก ส่วนที่ Apple Central World เราเลือกใช้กระจกใสเป็นผนังเพื่อขับเน้นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ร้านด้วย”

นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่พวกเขาออกแบบให้วัสดุปูพื้นชั้น 1 และด้านนอกร้านเป็นหินชนิดเดียวกัน และออกแบบให้ด้านในใช้เฟอร์นิเจอร์หลักเป็นไม้สอดคล้องกับต้นไม้ที่ปลูกไว้รอบนอกเพื่อหวังละลายเส้นแบ่งระหว่างภายนอกและภายใน

“ที่ผ่านมาเราตั้งใจออกแบบร้านให้เป็นพื้นที่สำหรับชุมชนเสมอ เพราะมากกว่าการซื้อสินค้า คนยังมารวมตัวกันเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจได้  เช่น มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ที่ Today at Apple Sessions นอกจากนี้เรายังมีแม้แต่พื้นที่รีแลกซ์ที่ลานด้านนอกร้านด้วย”

ท้ายที่สุดเราถามคริสว่า เขาอยากให้ลูกค้าหรือคนในชุมชนรอบๆ ที่เข้ามาในร้านแห่งนี้รู้สึกยังไง

“เราหวังว่าลูกค้าจะรักร้านที่มีที่เดียวในโลกแห่งนี้มากเท่าๆ กับพวกเรา!”

เขาตอบสั้นๆ แทนความในใจของคนออกแบบ ส่วนในอนาคตร้านแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รอบๆ ได้ตามความตั้งใจไหม อาจต้องยกให้คนที่แวะเวียนมาเป็นผู้ตัดสินใจ

aday

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย