ชีวิตของชารีฟ ลอนา นักออกแบบที่เชื่อในการผสมจักรวาลความคราฟต์กับงานสถาปัตย์

ชารีฟ ลอนา

ไม่ไกลจากสถานี BTS ทองหล่อ ท่ามกลางย่านคนจีน ตึกแถวสูง และหน้าต่างเหล็กดัดที่เห็นจนชินตา มีสตูดิโอออกแบบที่ชื่อ Studio Act of Kindness ตั้งอยู่

จะว่าแนบเนียนก็ใช่ ที่นี่ไม่ได้ดัดแปลงโครงสร้างอะไรใหญ่โตจนเรียกร้องความสนใจจากคนที่เดินผ่านไปมา แต่จะว่าโดดเด่นก็ได้ เพราะเจ้าของตกแต่งด้านหน้าด้วยปูนเปลือย แต่งเติมกระจกใส ประตู และกรอบหน้าต่างสีดำสนิท จากดีเทลเล็กๆ น้อยๆ แต่ด้วยความพิถีพิถันในการออกแบบทำให้เก็บเสน่ห์ของตึกแถวเก่า และปลุกชีวิตอาคารให้โมเดิร์นขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

ผู้ที่ตกแต่งสตูดิโอให้กลมกลืนแต่โดดเด่นไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก ชารีฟ ลอนา ดีไซเนอร์และเจ้าของ Studio Act of Kindness สตูดิโอที่เชื่อในการผสมผสานศาสตร์ที่หลากหลายจนเกิดเป็นงานหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานโปรดักต์ เฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบภายใน และสถาปัตยกรรม เช่น งานออกแบบตกแต่งธนาคารเกียรตินาคินภัทร สาขาทองหล่อ ที่ตีความธนาคารให้ไม่เคร่งขรึมน่าเบื่อ หรือมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ Sretsis Parlour คาเฟ่สีชมพูแสนแฟนตาซีบนชั้น 2 ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

พ้นไปจากงานดีไซน์สถานที่ เรายังแอบเห็นม้วนผ้าและตัวอย่างกระเป๋าในสตูดิโอของเขา รอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นใหม่ที่คาดว่าจะเป็นสินค้าในแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่ชื่อ One’s Essentials ด้วย

สารภาพตามตรงว่าก่อนมาถึง เราตั้งใจจะคุยกับชารีฟถึงวิธีคิดงานออกแบบภายในของเขาเท่านั้น แต่หลังจากนั่งบนโซฟาสีขาวนุ่มฟูบนชั้น 3 บทสนทนากลับยาวไปถึงชีวิตที่ตั้งอยู่บนการพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เส้นทางการเรียนด้านออกแบบ ไปจนถึงความสนใจในพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่งานสถาปัตยกรรม แต่ยังรวมไปถึงเมืองที่ประกอบสร้างเขาขึ้นมา

เริ่มสนใจในงานดีไซน์ตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมโชคดีที่รู้ตัวตั้งแต่เด็กๆ เลยว่าชอบศิลปะ แต่มันอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นดีไซน์หรือเป็นอะไร

ผมโตมาในจังหวัดยะลา ยุคที่ผมโตผงขาว (ยาเสพติด) กำลังเข้ามาในสามจังหวัด ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคุณครูเขาก็พยายามจะเอาลูกออกไปจากอันตราย แกก็ออกไปสร้างบ้านใหม่อยู่ในหมู่บ้านนี่แหละ แต่ไม่มีใครเลยรอบๆ บ้านเรา ข้างหลังเป็นภูเขา ข้างหน้าเป็นคลอง มีสวนมะพร้าว กลายเป็นว่าชีวิตวัยเด็กเรามีเพื่อนน้อย เท่าที่จำได้คือผมโตมากับการวาดรูป เป็นเด็กที่ค่อนข้างเก็บตัวและชอบศิลปะ พอเข้าประถมก็เริ่มแข่งขัน ประกวดทุกอย่างที่เป็นศิลปะ ร้องเพลง ดนตรี แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ได้มีทุนมากพอที่จะไปติว ก็อาศัยลักษณะการทำซ้ำๆ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าถูกหรือผิด พอมาถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราวาดได้ วาดคนเหมือนตั้งแต่ประถมฯ

พอถึงมัธยมฯ ทั้งๆ ที่ที่บ้านเห็นว่าเรามีความสามารถทางศิลปะแต่เขาก็อยากให้เข้าสายวิทย์และเรียนหมอ เพราะคนต่างจังหวัดไม่ได้รับรู้ว่าอาชีพดีไซน์มันจะมีทางรอดไหมในประเทศนี้ แต่ใจผมคือรู้ตั้งแต่แรกว่าอยากเรียนดีไซน์

พอ ม.ปลายผมก็ได้โควตามาเรียนโรงเรียนในตัวเมืองและออกจากบ้านมาอยู่กับน้าซึ่งเป็นสถาปนิกมาก่อน แต่เจอวิกฤตต้มยำกุ้งเลยต้องกลับมาเป็นอาจารย์อยู่ต่างจังหวัด เราก็ได้แอบอ่านหนังสือที่เขาขนกลับมาจากกรุงเทพฯ เห็นหนังสือดีไซน์ อารมณ์เหมือนครูพักลักจำ​ เป็นช่วงที่เราได้โลดแล่น ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นมากๆ อยู่นอกสายตาของพ่อแม่ (หัวเราะ)

การอยู่ในสามจังหวัดส่งผลกับงานดีไซน์ไหม

ส่งผล เหมือนว่าการเกิดมาเป็นกลุ่มคนชายขอบ (minority) ที่โดนกดทับด้วยอะไรบางอย่าง มันทำให้เรารู้สึกคาดหวังสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง อยากจะดีกว่าเดิม และพอเราอยู่ในจุดนั้นมันทำให้เราเปิดรับวัฒนธรรมอื่นๆ หรืองานอื่นๆ ได้กว้าง เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่เหนือใคร เราเป็นนักฟังมากกว่าเพราะเราอยู่ในฐานะที่พูดอะไรได้น้อย มันทำให้เรามองคนได้ขาดขึ้น

การโตในยะลาตอนนั้นสนุกมาก ผมมีความทรงจำที่ดีมากเพราะว่ายะลาติดมาเลเซีย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ผมโตมากับเพลงฝรั่ง ละครฝรั่ง ไม่ฟังเพลงไทยเลย คนในหมู่บ้านพูดไทยกลางยังไม่ชัดเลยแต่ฟังเพลงฝรั่ง ลุงฟัง Bee Gees กินข้าวหมกไก่ ป้าที่กลับจากตัดยางมาเปิดเพลงของ Celine Dion ฟัง เพื่อนๆ ผมโตมากับวง Nevada ทุกคนไว้ผมยาว ใส่เสื้อหนังเป็นพู่ๆ นี่มันแคลิฟอร์เนียหรือว่าอะไร

ด้วยความที่พ่อแม่ส่งผมไปเรียนโรงเรียนคริสต์ตั้งแต่เด็กเพราะอยากให้ผมได้ภาษาอังกฤษ เสาร์-อาทิตย์ผมก็มาเรียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ต้องเรียนภาษาอาหรับด้วย มันทำให้ผมเปิดกว้าง มันอาจจะทำให้เราทนกับความต่าง เข้าได้กับทุกคน และทำให้เราเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องไปอยู่เหนือใคร ต้องเป็นคนที่กำหนดให้คนอื่นทำตามไม่ว่าเรื่องดีไซน์หรือความคิด ดีไซน์เราเลยเปิดกว้างกับสิ่งต่างๆ มาโดยตลอด

ทำยังไงถึงได้เรียนด้านดีไซน์ในระดับมหาวิทยาลัย

พอต้องไปสอบเอนทรานซ์ผมได้คะแนนดีไซน์ดี แทบจะติดคณะสถาปัตย์ทุกมหาวิทยาลัยเลย แต่ว่าพ่อกับแม่ไม่ให้เรียน สุดท้ายถึงจะซิ่วผมก็ไม่ติดหมออยู่ดี แล้วก็รู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ จนทะเลาะกันถึงขั้นผิดใจ บ้านผมค่อนข้างจะเคร่งศาสนานิดหนึ่ง พี่สาวกับพี่เขยที่เป็นหมอก็เลยพูดกับพ่อแม่ว่าน้องน่าจะมีพรสวรรค์ที่พระเจ้าให้มา พ่อแม่ก็เลยให้ลองดู เลยได้เรียนอินทีเรียร์ที่ ม.กรุงเทพ

ได้ยินว่าคุณไม่ได้มีแค่ความขบถต่อพ่อแม่ แต่ตอนที่ทำทีสิสระดับมหาวิทยาลัยก็ขบถกับงานดีไซน์จนโดนวิจารณ์หนัก ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม

ผมอาจจะเรียกความขบถของตัวเองตอนนั้นว่าความครีเอทีฟก็ได้มั้ง ตอนเรียนผมมีความคิดว่าทำไมงานดีไซน์บ้านเราถึงถูกจำกัดอยู่แค่นิยามไม่กี่อย่าง ผมเลยทำหัวข้อทีสิสที่สเกลใหญ่และยากสำหรับเด็กปริญญาตรีมาก เพราะเหมือนมันเปลี่ยนแปลงบริบทของประวัติศาสตร์ผ่านงานอินทีเรียร์ผสมกับแลนด์สเคป

ทีสิสของผมชื่อ The Block Six Contemporary Performing Arts Center and Workshop Studio ผมศึกษาว่าโรงละคร ศูนย์การแสดง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติมักจะเป็นสถานที่ที่ศิลปะชั้นสูงหรือออร์เคสตราจะไปเล่นโชว์เท่านั้น ขณะเดียวกันเด็กที่เรียนการแสดงหรือนักแสดงอิสระไม่มีพื้นที่ให้โชว์เลย

เพราะโรงละครเหมือนมีการจำกัดชนชั้น เราเลยทลายกำแพงโรงละครด้วยการใช้คอนเซปต์ความถ่อมตนแบบไทยๆ ตีความคำนี้ออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้มากขึ้น โดยใช้โรงงานยาสูบเก่ามาดัดแปลง ลดระดับอาคารลง ดึงเอาธรรมชาติอย่างแม่น้ำเข้ามาอยู่ในโรงละคร หรือแม้แต่เปลี่ยนบันไดเป็นสโลปเพื่อไม่ให้เกิดเสียงเวลาเดินเพื่อให้เข้ากับบริบทคนไทยที่ชอบมาสาย หลายคนที่ได้เห็นงานของเราเขาก็เกิดคำถามว่าทำอะไรวะ ในขณะที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำคือการเปลี่ยนความหมายสเปซกับฟังก์ชั่นของอินทีเรียร์ของโรงละครเลยนะ ทำไมไม่มีใครเก็ตเรา โชคดีที่อาจารย์และมหาวิทยาลัยซัพพอร์ตเราเต็มที่ คนที่ชอบก็ชอบ แต่คนที่ไม่ชอบก็คือด่าเลย

คนที่วิจารณ์ในแง่ลบ เขาวิจารณ์ว่ายังไงบ้าง

ทำไมทำตัวแบบนี้ คิดว่าเจ๋งเหรอ ความคิดที่อยากจะเปลี่ยนอะไรแบบนี้มันเป็นไปได้ยากนะ คุณจะทำงานกับคนอื่นยาก คนอย่างคุณไปทำงานบริษัทไหนก็ไม่มีใครรับหรอก เราเฟลนะ เพราะเราเชื่อในสิ่งที่ทำว่าเรามีเหตุผลซัพพอร์ตมากพอ

งานนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันที่ทำให้ผมสงสัยว่าทำไมประเทศอื่นถึงทำอะไรเจ๋งๆ นอกกรอบได้ ทำไมทุกคนถึงยังจำกัดกับฟอร์ม ระเบียบ ทั้งๆ ที่เราทำอาชีพที่กำลังนำพาสังคมไปสู่อะไรที่มันสร้างสรรค์มากๆ ผมเลยไปเรียนต่อที่ The Glasgow School of Art เพราะชอบวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ให้สองคณะอย่างดีไซน์และสถาปัตย์มาเรียนแลกเปลี่ยนกัน เพราะเขาเชื่อว่าการมีความรู้รอบตัวทำให้เราถือไพ่เหนือกว่า เขาอยากจะผลิตเด็กที่ไปท้าทายอุตสาหกรรมดีไซน์ ไม่ได้อยากจะผลิตสถาปนิกที่เป็นงานสถาปัตย์อย่างเดียว

การเรียนที่นั่นเปลี่ยนมุมมองต่องานดีไซน์ของคุณไหม

เปลี่ยนเยอะเลย มันเป็นช่วงชีวิตที่เปลี่ยนเราเป็นคนละคน จากเดิมที่ไม่มั่นใจในตัวเองเพราะไม่มีทุนที่จะเสพงานดีไซน์ที่ดีเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ต้องอาศัยครูพักลักจำเอา แต่พอเราไปอยู่ที่นั่น อันดับแรกคือมันทำให้ผมรู้สึกว่าดีไซน์เป็นเรื่องของทุกคนที่เท่าเทียมกัน ทุกคนเข้าถึงได้ เขามีมิวเซียมที่เข้าได้ฟรีเยอะมาก ยิ่งเด็กนักเรียนจะเข้าไปไหนก็ได้ ผมถือบัตรนักศึกษาเข้าไปค้น archive ของเมือง เอาแบบตึกในยุควิกตอเรียนออกมาอ่านได้เลย เรารู้สึกว่าการศึกษาที่ดีมันต้องเป็นแบบนี้สิวะ (หัวเราะ) การได้เรียนดีไซน์ที่ดีในเมืองที่มันมีพร้อมทุกอย่างมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เขาสอนเราตั้งแต่วันแรกๆ ว่าพอมาอยู่ที่โรงเรียนต้องทำตัวเหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว ทิ้งอีโก้ของตัวเองออกไป และสอนให้เราตั้งคำถาม ดีไซน์ที่ดีในโลกนี้มันเกิดจากการตั้งคำถาม เช่น เราไม่เคยมองเห็นพระเจ้าแต่เราจะทำให้พระเจ้าอยู่ในสถานะอาคารได้ยังไงในเชิงสถาปัตยกรรมและอินทีเรียร์ มันเลยเกิดเป็นโบสถ์ มีแสงที่เข้ามาจากทิศเหนือ ซึ่งมันเกิดจากคำถามทั้งหมด

แต่ว่าในบ้านเรา สมัยก่อนเราอาจจะโฟกัสกับความงามแบบเดียว แบบวิถีช่างศิลป์ คุณต้องวาดรูป ต้องปั้นรูปให้เหมือน พอไปเรียนเรารู้เลยว่าที่เราเรียนมามันไม่เหมือนกับที่คนอื่นเขาเรียน ที่ทุกคนมานั่งเถียงกันว่าทำไมงานนี้สวยหรือไม่สวยซึ่งเรางง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเขาก็สั่งให้เลือกวิชาเลือกที่เป็น fine art ผมก็ไปลงเรียนป๊อปคัลเจอร์ อาจารย์ที่สอนเป็นคนทำนิตยสาร ArtReview เขาก็มาสอนวิจารณ์หนัง ผมต้องไปเรียนวิจารณ์เพลงด้วย ซึ่งมันทำให้เรามองเห็นตลาดกว้างขึ้น เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าวันหนึ่งเราเป็นสถาปนิกเราอาจจะต้องมีลูกค้าที่เป็นนักร้อง

มีงานชิ้นไหนที่เปลี่ยนตัวคุณไหม

งานทีสิสที่นั่นเปลี่ยนผมเหมือนกัน เราตั้งคำถามกับสังคมยุโรป พูดถึงเมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ที่ประสบความสำเร็จเรื่องการเงินแต่ทำไมคนถึงติดเหล้าและฆ่าตัวตาย แปลว่าค่า GDP ไม่ได้แปรผันตรงกับความสุขของคนในเมือง ดังนั้นในฐานะสถาปนิกผังเมือง คุณสามารถแก้ปัญหาเมืองนี้ได้ยังไงบ้าง

คำถามนี้ทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Fun Factory กลาสโกว์เป็นเมืองอุตสาหกรรมมาก่อน คนไม่ได้ใช้พื้นที่สาธารณะเพราะอากาศหนาวมาก ฝนตกทั้งวัน คนเลยต้องเข้าไปอยู่ในอาคารและกินเหล้า ผมเลยออกแบบโรงงานที่เริ่มผลิตโปรดักต์ตอนห้าโมงจนถึงสามทุ่มเล่นกับช่วงเวลาหลังเลิกงาน ด้านในโรงงานมีอาร์ตแกลเลอรี มีลานกีฬา มีสระว่ายน้ำอุ่น หรือกิจกรรมที่ให้คนทุกเจเนอเรชั่นเข้าไปทลายกำแพงกันได้

ภาพงาน 3D design ของโรงงานจะดูหดหู่มาก เป็นการส่อเสียดเมืองอุตสาหกรรมว่ามันใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ เครื่องจักร จนเหมือนลืมไปว่าทุกคนไม่มีความสุขเลย แต่คนที่ดูงานแฮปปี้มาก คนที่นั่นชอบกันแบบปรบมือให้

จำได้ว่าวันที่เราจะเรียนจบ อาจารย์กับสภาสถาปนิกที่สกอตแลนด์เขาก็พูดว่า เขามองว่าเด็กเอเชียถือไพ่เหนือกว่าคนยุโรปตรงที่ว่าเรามีฝีมือในการวาด เพราะเราโดนเทรนมาแบบนั้น พอวันหนึ่งเรามีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็คือลูกผสมระหว่างสองวัฒนธรรมและจะอยู่รอดในทุกๆ ที่ มันเป็นคำชมที่ดีที่สุดสำหรับผมเลย

หลังเรียนจบคุณทำงานในลอนดอนต่อก่อนจะกลับมาเปิดสตูดิโอที่เมืองไทย ตอนนั้นทำงานอะไร

ผมทำหลายอย่าง มีงานฟื้นฟู (revamp) Portobello Market ที่ Notting Hill เพราะจริงๆ ผมจบสถาปัตยกรรมผังเมืองเชิงสร้างสรรค์ มันเป็นคณะใหม่ที่ไม่ได้ศึกษาแค่ผังเมืองแต่ยังรวมถึงการเอาเมืองเก่ามาทำนู่นนี่ งานของผมทำงานร่วมกับนักลงทุนและรัฐบาล ทำอยู่ประมาณเกือบๆ 2 ปีเจ้านายก็บอกว่ามาเป็นหุ้นส่วนไหม ถ้าเป็นหุ้นส่วนต้องเป็นประชากรของที่นี่ ผมเลยกลับไทยมาขอคุยกับพ่อแม่ก่อน

จริงๆ ใจอยากอยู่ที่นั่นเกินร้อย เรารู้สึกว่ามันเป็นที่ของเราและเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่อยู่ๆ ก็ได้งานฟรีแลนซ์ที่ไทย ลูกค้าก็เข้ามาเรื่อยๆ จนผมเห็นโอกาสความเป็นไปได้ที่นี่ที่สูงเหมือนกัน ตอนนั้นอังกฤษกำลังอยู่ในช่วง Brexit พอดี ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ ผมเลยตัดสินใจอยู่เมืองไทยและเปิดสตูดิโอ Studio Act of Kindness ขึ้นมา

การทำงานที่ลอนดอนกับที่นี่เหมือนหรือต่างกันยังไง

ตอนผมทำงานที่นั่นกับทำงานที่นี่เรามีวิถีเดียวกันคือเอาความเป็น fine art มาผสมกับความคราฟต์ ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่งานดีไซน์ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าสวย เป็นพิมพ์นิยม เป็นกระแส ถ้านิยามเราคงเป็นสตูดิโอแบบอินดี้ หมายถึงว่าไม่ได้ขึ้นกับใคร ไม่ได้ขึ้นกับว่าต้องทำแบบนี้ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถและอาวุธที่เรามีในมือ และเราจะเสนออะไรให้ลูกค้าได้บ้าง

Studio Act of Kindness ทำอะไรบ้าง

หลักๆ ก็คือทำงานออกแบบภายในกับสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เป็นสเกลใหญ่ เช่น งานรีโนเวชั่นบ้าน อาคาร แต่ในทุกๆ งานมีการใช้แนวทางอย่างอื่นนอกจากสถาปัตยกรรม เราเลยเรียกตัวเองว่าเป็น multidisciplinary design คือเราไม่ได้เป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์อย่างเดียว เรามีแบ็กกราวนด์อย่างอื่น เรามีคนในทีมที่เคยทำงานกับบริษัทโฆษณา Ogilvy มาก่อน เขาจะดูเรื่องแบรนด์ดิ้ง ดังนั้นทุกๆ โปรเจกต์มันเลยมีดีเทลครบ มาหาเราที่เดียวแล้วจบ

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ Studio Act of Kindness คือการเล่นกับเทกซ์เจอร์ สี เป็นส่วนผสมของ fine art หรือเปล่า

ใช่ๆ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ผมเสพมาโดยตลอดด้วย ด้วยความโชคดีที่เราเป็นคนเข้ากับคนง่าย เรามีเพื่อนจากหลายๆ ที่ ทำให้เราเข้าใจส่วนผสมในสังคมนี้ ผมรู้สึกว่าความหลากหลายมีอิทธิพลกับงานผม ทั้งในเชิงวัสดุ เทคนิค ผมเป็นเพื่อนกับช่างภาพ ผมก็จะไปเรียนรู้วิธีถ่ายภาพเพื่อเอามาเช็กแสงเงาในสเปซเรา หรือเราชอบ fine art ตั้งแต่เด็กก็นำวิธีการเพนต์มาใช้กับการเพนต์ผนัง

เวลาทำงานแต่ละงานผมก็จะเปิดเพลงไม่เหมือนกัน มันช่วยทำให้เราเข้าใจและมองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น และสุดท้ายผมจะสวมบทบาทเป็นลูกค้าเสมอ เพราะลูกค้าที่มาหาเราเขาอยากได้การที่เราตีความโจทย์ของเขา ไม่ใช่เรื่องที่เรายัดเยียดดีไซน์ที่เราชอบไปให้ลูกค้า

จากงานที่ผ่านๆ มา เหมือนว่าคุณจะคำนึงถึงเรื่องแสงเยอะด้วย

คำนึงเยอะ ถ้างานนั้นเป็นบ้านหรือเป็นออฟฟิศ แสงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตอนที่ผมไปเรียนกลาสโกว์ก็ไม่มีแสงเลย แต่ความดีงามของโรงเรียนคือมันถูกตั้งโดยสถาปนิกชื่อดังอย่าง Charles Rennie Mackintosh เขาเป็นคนละเอียดอ่อนเรื่องการจัดการพื้นที่ด้วยแสงจนเกิดห้องเรียนที่ใช้แสงจากทิศเหนือเข้ามาทำให้ไม่เกิดเงาสะเปะสะปะในสตูดิโอ เวลาเรียนวาดหรือปั้นเลยเห็นวัตถุชัด การไปเรียนทำให้เรารู้สึกละเอียดอ่อนกับการจัดการแสงมากขึ้น เราจัดการกับแสงให้มันเกิดเป็นการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันในสเปซเราได้ แสงที่ลอดผ่านวัตถุเข้ามาแล้วถูกย้อมให้ดูเย็นๆ เราก็ทำได้ เราลองเรื่องแสงกันเยอะเหมือนกัน

คุณคิดถึงอะไรบ้างเวลาทำงานอินทีเรียร์

ปัจจัยสำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจกต์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนออกแบบสตูดิโอของออฟฟิศผม ปัจจัยหลักคือต้องพรีเซนต์ความเป็นตัวเอง ผ่านรูปทรงของอาคาร บรรยากาศ เทกซ์เจอร์ มู้ด แม้แต่ห้องโถงชั้นล่างตรงทางเข้า ถ้าเป็นคนอื่นเขาก็คงทำเป็นล็อบบี้โชว์โมเดลสถาปัตยกรรม แต่เราอยากให้คนรับรู้ว่าเราทำอย่างอื่นนอกจากอินทีเรียร์ได้ด้วยก็เลยจัดวางแจกัน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า กระเป๋า ชั้น 2 เป็นออฟฟิศที่ทุกคนทำงานด้วยกัน สามารถเดินทะลุผ่านได้ ผมก็เดินไปเจอลูกน้องแล้วค่อยเดินมาข้างบนชั้น 3

นี่คือการคิดจากโจทย์ว่าออฟฟิศต้องสะท้อนตัวผม สะท้อนวิธีการทำงาน คาแร็กเตอร์ โชว์คราฟต์สกิล โชว์เทคนิคที่เราอาจไม่ได้ทำในงานลูกค้า แต่พอเป็นโปรเจกต์อื่นๆ เราก็ต้องอ้างอิงลูกค้า เช่น บ้านนี้ทำให้ลูกค้าอยู่ในบ้านแล้วรู้สึกสงบ หรือทำร้านอาหารที่เราต้องใช้ดีไซน์เป็นเครื่องมือทำให้ธุรกิจเขาเติบโตได้ มันมีไม่กี่ปัจจัยหรอก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดจะขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละโปรเจกต์

คุณได้แรงบันดาลใจจากไหน

ผมชอบดูวิถีชีวิตของคนนะ แต่ก่อนตอนเรียนที่ยะลา การนั่งมอเตอร์ไซค์คือการอยู่กับความคิดตัวเอง ในหูมีซาวนด์อะเบาต์ ฟังเพลง ลมตี เราเห็นทิวทัศน์วิวภูเขา เห็นทุ่งนา ก่อนจะเข้าไปในเมืองก็จะเห็นความเป็นไปของคนทุกๆ วันที่ออกมาทำงานตอนเช้า ถ้าให้ผมขับมอเตอร์ไซค์ผมก็คงจะได้รับแรงบันดาลใจกับการเห็นคนในเมือง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นผมคงเอามอเตอร์ไซค์ออกไปขับในต่างจังหวัดริมทะเลที่มองเห็นอะไรอย่างอื่นที่เราคว้ามันไม่ได้บ้าง ไม่เข้าใจมันบ้าง ไม่ต้องคิดถึงมันบ้าง ผมว่าฟีลมันดีกว่ารถยนต์นะ เหมือนเราไม่มีขอบเขต และมองความเป็นไปในสปีดที่มันต่ำๆ เห็นคน ได้กลิ่นทะเล ได้กลิ่นถนน ได้ยินเสียงบรรยากาศรอบข้าง

มีงานคราฟต์ไหนที่คุณกำลังสนใจไหม

ผมกำลังสนใจฮอนด้าที่เอาโมเดลรถเก่ากลับมาคราฟต์ใหม่เป็น All New C125 ผมรู้สึกว่านี่คือวิธีการที่ผมทำงานมาโดยตลอด แต่เราทำงานกับสเปซ กับโปรดักต์ ยานพาหนะที่ถูกเอามา redesign ใหม่มันตอบโจทย์กลุ่มคนที่ชอบงานคราฟต์หรือภาพจำในอดีต แต่จะให้ไปขับรถเก่าก็คงไม่ได้ ผมชอบตรงที่ใช้วัสดุเดิม สีที่แมตช์ ผมว่ามันโชว์ได้ด้วย เป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้ เอาออกไปใช้ได้ด้วย


All New C125 คือมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ในตระกูล C ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 60 ปีที่ผ่านมา โดยโมเดลล่าสุดนี้เป็นการออกแบบใหม่อย่างประณีตภายใต้คอนเซปต์ ‘Craft Your Story’ ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนังแบบสองตอนหรือโครงสร้างวัสดุเหล็กโครเมียมทั้งคัน ขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมฟังก์ชั่นทันสมัยอย่างเครื่องยนต์ 125 ซีซี และกุญแจรีโมตอัจฉริยะที่มาพร้อมฟังก์ชั่นระบุตำแหน่งรถด้วย

#AllNewC125 #C125 #CraftYourStory #สะท้อนความคราฟต์ในตัวคุณ #CUBHouse

รับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/3gMoZ8y

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone