10 เหตุผลที่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำลายระบบการเดินเรือในแม่น้ำ

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
หลายคนอาจเห็นภาพปัญหาชัดเจนเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่จับต้องได้บนชายฝั่งเท่านั้น แต่เมื่อมองลึกลงไปในแม่น้ำเราแทบไม่รู้เลยว่าภายใต้คลื่นลมปกติที่เห็นจากภายนอกจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของเราบ้าง
จากการพูดคุยกับ สุธีย์ สุภาพร ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเรือไทย เราพบว่าผลกระทบที่ตามมาจากการรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ
คือการทำลายระบบการเดินเรือในแม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบขนส่งและการค้าของประเทศไทย
เมื่อแม่น้ำแคบลง ปัญหาจึงกว้างขึ้นและยังส่งผลกระทบไปไกลกว่าระยะทางก่อสร้าง 14 กิโลเมตรตามที่รัฐบาลกำหนด

1.
แม่เจ้าพระยากว้างโดยเฉลี่ย 200 เมตร
ตลอดเส้นทางมีความคดเคี้ยวและแคบกว้างไม่เท่ากันขึ้นกับการกัดเซาะจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำ
การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้างประมาณ 15 เมตร
(รวมระยะห่างจากชายฝั่งและทางเดิน) สองฝั่งแม่น้ำเท่ากับ 30 เมตร
ท่าเรือที่สร้างยื่นลงไปในแม่น้ำใช้ระยะอีก 30 เมตร สองฝั่งเท่ากับ 60 เมตร โครงการนี้ทำให้พื้นที่ในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำลดลง
ส่วนการจราจรทางน้ำจากเดิมที่เคยคับคั่งอยู่แล้วก็จะแออัดมากขึ้น

2.
เมื่อแม่น้ำแคบลง ระดับน้ำจะยกตัวสูงขึ้น 15 – 20 เซนติเมตร เนื่องจากการที่น้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือที่ปล่อยลงมา
เมื่อมีสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่ในลำน้ำจะลดความสามารถในการรับน้ำและระบายน้ำโดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก
โอกาสที่น้ำจะทะลักตามแนวเขื่อนและล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนก็มีมากขึ้น

3. เมื่อแม่น้ำแคบลงจะทำให้ความเร็วของกระแสน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฤดูน้ำหลาก คนเรือจะต้องเดินเครื่องยนต์แรงขึ้น
ความสึกหรอจึงมากขึ้น โดยเฉพาะเรือเล็กที่ต้องรับแรงปะทะจากคลื่นที่แรงขึ้น
และรับแรงกระแทกจากเศษวัสดุที่พัดพามากับกระแสน้ำ ส่วนกลุ่มเรือขนส่งหรือเรือโยงปัจจุบันใช้เรือลากจูงมากถึง
5 ลำในฤดูน้ำหลาก หากในอนาคต กระแสน้ำมีความเร็วเพิ่มขึ้น คนเรือก็จะต้องเพิ่มจำนวนเรือลากจูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเรือให้แรงขึ้นไปอีก

4. การเพิ่มเรือลากจูง 1 ลำ หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อบวกเพิ่มในค่าขนส่งสินค้าอาจทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้บริการขนส่งทางบกแทนเนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า
ส่วนกลุ่มเรือเล็กอย่างเรือโดยสารหรือเรือด่วนเจ้าพระยาจะมีต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงสูงขึ้นซึ่งจะกระทบกับค่าโดยสาร
หากผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้อย่างที่คิดอาจทำให้ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวและเรือหางยาวเลิกกิจการเพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โครงการนี้จึงมีแนวโน้มกีดกันเรือเล็กให้หายไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา

5. เรือท่องเที่ยวแต่ละชนิดเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่ต่างกัน กลุ่มเรือเล็กที่อาจหายไปมีผลต่อลมหายใจของการท่องเที่ยววิถีชุมชน
เพราะเรือเล็กเหล่านี้ลัดเลาะเข้าไปได้ทุกคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ช่วยเชื่อมโยงชุมชนและแม่น้ำให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเอาไว้ การพัฒนาจึงต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับชุมชนด้วย
หากเรือเข้าไม่ถึง คลองก็จะกลายเป็นพื้นที่ปิดและแม่น้ำจะเป็นเพียงหลังบ้านที่ถูกทิ้งร้างไม่มีคนสนใจ
กลายเป็นที่ทิ้งขยะหรือคลองระบายน้ำเหมือนคลองอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร

6.
ความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาที่แคบลงกระทบการเดินเรือและการกลับเรือโดยตรง
แม้ว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
(สจล.) ผู้ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเคยให้คำตอบต่อปัญหานี้ด้วยการกำหนดจุดกลับลำเอาไว้
แต่ในสภาพการจราจรจริงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะการเดินเรือต้องคำนึงถึงคลื่น
ลม และกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การตัดสินใจกลับเรือจึงเป็นหน้าที่ของคนเรือที่เผชิญหน้ากับธรรมชาติในขณะนั้น
ซึ่งต่างจากการกลับรถบนท้องถนนที่สามารถกำหนดจุดกลับไว้ได้โดยเบ็ดเสร็จ

7. แต่ละวันแม่น้ำเจ้าพระยามีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนกว่า 10,000 คน และมีจำนวนเรือท่องเที่ยวมากถึง
556 เที่ยว
สิ่งที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยาซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำ แต่การสร้างทางเดินริมแม่น้ำคือตัวการสำคัญที่ทำลายทัศนียภาพและการท่องเที่ยวทางเรือ
เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำต่ำลงจะมองเห็นเสาตอม่อเรียงรายตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตร และมีขยะเข้าไปติดใต้ตอม่อ แม้ว่าทางผู้ดูแลจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการติดตะแกรงกั้นขยะเพิ่มเติม
แต่สิ่งที่ไม่สามารถคืนให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาได้คือทัศนียภาพอันสวยงามที่ถูกบดบังจากตอม่อคอนกรีตจากทั้งสองของฝั่งแม่น้ำ

8. แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางการค้าหลักของประเทศไทยเพราะเป็นทางผ่านจากทะเลไปยังแม่น้ำสายอื่นๆ
อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องขนส่งวัตถุดิบในปริมาณมาก
เช่น ข้าว ไม้แปรรูป โลหะ หิน ดิน ปูนซีเมนต์ ฯลฯ เรือโยง 1 ลำขนส่งสินค้าได้มากถึง 250 ตัน แต่ละวันมีเรือขนส่งสินค้ามากถึง 1,200 เที่ยว การสร้างทางเดินริมน้ำทำให้เรือขนส่งขนาดใหญ่ที่พ่วงต่อกัน
3 – 4 ลำต้องเผชิญกับปัญหาแม่น้ำแคบ การจราจรแออัด
และกระแสน้ำที่เร็วขึ้น ทำให้คนเรือควบคุมเรือได้ยาก มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง และกระทบต่อจำนวนเที่ยวในการขนส่งสินค้าอีกด้วย

9. เมื่อกายภาพของแม่น้ำเปลี่ยนไป
ต้องรื้อระบบเวลาในการเดินเรือใหม่ทั้งหมดและอาจกระทบไปถึงจำนวนเที่ยวที่เคยวิ่งได้ต่อวัน เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยกลุ่มเรือขนส่ง
กลุ่มเรือโดยสาร และกลุ่มเรือเล็กที่ใช้แม่น้ำร่วมกัน เรือแต่ละประเภทมีลักษณะการใช้งานและช่วงเวลาเดินเรือต่างกัน ที่ผ่านมาจึงมีการจัดสรรทั้งเส้นทางและระยะเวลาในการเดินเรือเพื่อให้ทุกกลุ่มได้ใช้แม่น้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจึงกระทบกับคนเดินเรือทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

10.
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยายังกระทบถึงประชาชนผู้โดยสารเรือซึ่งมากถึง
40,000
คนต่อวัน เพราะรื้อถอนท่าเรือกว่า 36 ท่า ออกทั้งหมด
เพื่อวางตอม่อทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วสร้างท่าเรือใหม่หลังจากทำทางเสร็จ
นอกจากใช้งบประมาณมหาศาลแล้ว ประชาชนจำนวนมากยังได้รับผลกระทบในช่วงก่อสร้างซึ่งเรือจำเป็นต้องหยุดให้บริการแล้ว ในภาพรวม ระบบการขนส่งทางน้ำที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ
ต้องหยุดชะงักลง โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเพิ่มปัญหาใหญ่อันแสนยุ่งเหยิงให้กับผู้คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทางตรงและทางอ้อม

ร่วมลงชื่อยับยั้งการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา : chn.ge/1tlD153

ภาพ
ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR